space
space
space
 
กุมภาพันธ์ 2567
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
15 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะโยนิโสมนสิการ ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องดงคสิริ อีกครั้งหนึ่ง ที่ดงค
พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะโยนิโสมนสิการ
 
     ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องดงคสิริ  อีกครั้งหนึ่ง  ที่ดงคสิรินั้นถือกันว่า  เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และเราก็ได้ขึ้นไปแล้ว  บนเขาที่เราขึ้นไปนั้นเป็นถ้ำเล็กๆ
 
     โยมหลายท่านไม่ได้ขึ้นไป เพราะเหน็ดเหนื่อยร่างกาย  บอบซ้ำ  จากการเดินเท้าทางไกล ขึ้นไปกันเพียงสักไม่ถึงครึ่ง เพราะฉะนั้น   ท่านที่เหลือส่วนใหญ่จึงไม่มีโอกาสได้เห็นว่าสภาพที่ถ้ำนั้นเป็นอย่างไร
 
     แต่ที่จริงก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเห็นหรอก   สำหรับอาตมาไปดูก็ดีไปอย่าง  คือทำให้เห็นว่า  ที่เขาเชื่อกันว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วที่แท้ถ้ำนั้นเป็นอย่างไร เท่านั้นเอง
 
     สำหรับอาตมานั้น  เห็นว่าไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะต้องไปประทับ  ประจำอยู่ที่ถ้ำนั้น  อาจจะเป็นเพียงจุดหนึ่งในหลายจุด เพราะว่าพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญเพียรอยู่บริเวณนั้น  เป็นเวลายาวนานมาก
 
     หลังจากเสด็จออกบรรพชาแล้ว  ก็บำเพ็ญเพียรใช้เวลาตั้ง ๖ ปี  เบื้องแรก  พระองค์เสด็จไปเรียนฝึกปฏิบัติในสำนักของอาฬารดาบส  กาลามโคตร  (บาลีเรียก อาฬารกาลามะ) จบความรู้ของอาจารย์แล้ว  ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์บริหารคณะด้วย
 
     แต่พระโพธิสัตว์เห็นว่ายังไม่บรรลุจุดหมาย  ก็เสด็จไปเรียนในสำนักของ อุททกดาบส  รามบุตร  (บาลีเรียก อุททกะรามบุตร)  จนจบความรู้อาจารย์   ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์เสมอกับท่านอุททกะรามบุตร
 
     แต่ทรงเห็นว่ายังไม่บรรลุจุดหมาย  จึงเสด็จปลีกออกมาหาที่บำเพ็ญเพียร  จนมาถึงบริเวณแถบใกล้ดงคสิรินี้ี้  ที่เรียกว่าอุรุเวลาเสนานิคม  ทรงเห็นเป็นที่เหมาะ จึงหยุดประทับเพื่อบำเพ็ญเพียร
 
     สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับบำเพ็ญเพียรนี้   ตามคำพรรณนาที่จารึกไว้ในพุทธประวัติ  ปรากฏในพระไตรปิฎก เป็นพุทธดำรัสตรัสไว้เอง   มีข้อความทำนองนี้ว่า  พระองค์ได้เสด็จไปที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วทอดพระเนตรเห็นว่า

        “ถิ่นนี้มีภูมิภาคอันรื่นรมย์  มีหมู่ไม้ร่มรื่นทำใจให้สดใสชื่นบาน   ทั้งมีแม่น้ำไหลผ่าน   น้ำใสไหลเย็น และมีท่าน้ำ คือชายหาดที่ราบเรียบ  ทั้งหมู่บ้านที่จะภิกขาจารก็มีอยู่โดยรอบ  นับเป็นสถานที่ควรบำเพ็ญเพียร” (เช่น ม.มู.๑๒/๔๑๓)
 
     จะเห็นได้ว่า สถานที่พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยบำเพ็ญเพียรนั้น คือที่บริเวณฝั่งน้ำ ซึ่งมีป่ามีหมู่ไม้ร่มรื่น  ไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปอยู่ที่ถ้ำแต่อย่างใด  นี้ก็เป็นหลักฐานอย่างที่หนึ่ง  เป็นไปได้ว่าพระพุทธเจ้าคงจะเสด็จอยู่แถวๆ บริเวณนั้น ทั่วๆ ไป
 
     ยิ่งกว่านั้น  อีกแห่งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงการบำเพ็ญเพียรของพระองค์ว่า พระองค์ประทับอยู่ในป่าทึบเปลี่ยว เป็นป่าที่รกชัฎ   กลางคืนน่ากลัว   พระองค์เสด็จไปบำเพ็ญเพียรใหม่ๆ หลังจากที่เคยอยู่  แต่ในรั้วในวัง  เวลาเข้าไปประทับในป่านั้นก็น่าหวาดหวั่นพรั่นพรึง
 
     ตอนนั้นพระองค์ก็ยังเป็นปุถุชนอยู่  พระองค์ก็จะทรงฝึกพระองค์เอง  โดยทรงทดลองไปเผชิญกับความกลัว  ก็เสด็จไปประทับในที่ที่น่าหวาดกลัว  น่าขนลุกขนพองมาก ๆ
 
     เมื่อเข้าไปประทับในที่นั้นยามค่ำคืน    บางครั้ง   พอได้ยินเสียงกรอบแกรบ เช่น   ลมพัดใบไม้ไหว  พระองค์จะทรงตื่นตัวรับความกลัว โดยทรงดำริว่าได้พบแล้วกับสิ่งที่ต้องการรอพบอยู่ และทรงฝึกพระองค์เองให้หายกลัว
 
     พระองค์ทรงใช้วิธีการแก้ความหวาดกลัวว่า ความกลัวเกิดขึ้นในที่ใด ในอิริยาบถใด  จะยังไม่ยอมเคลื่อนย้ายออกไปจากที่นั้น และอิริยาบถนั้น   จนกว่าจะกำจัดความกลัวนั้นได้   อันนี้คือวิธีของพระพุทธเจ้า  (ม.มู.๑๒/๓๐-๔๕)
 
     เรื่องนี้เป็นเครื่องแสดงว่า  บริเวณที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปบำเพ็ญเพียรนั้นเป็นป่าทึบ  แต่ปัจจุบันนี้เราแทบมองไม่เห็นป่าเลย   ที่เราเดินกันไปนั้น    มีต้นไม้ไม่กี่ต้น    แม้แต่ภูเขา   ก็เป็นภูเขาที่แทบจะโล้นเลย   มีแต่ก้อนหิน นี่คือความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติแวดล้อม
 
     ทีนี้ลองมามองดูแถวๆ นี้ ณ ลุมพินีวัน  ก็เช่นเดียวกัน  ในสมัยที่พระพุทธเจ้าประสูติเป็นดงสาละ
 
     คำพรรณนาในคัมภีร์  พูดถึงเมืองกบิลพัสดุ์  ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ตอนทรงพระเยาว์คือเมืองของพระพุทธบิดา
 
     เมืองกบิลพัสดุ์นั้น  ตามคัมภีร์บรรยายว่า นอกเมือง  เป็นป่าใหญ่   ต่อเนื่องไปจนจรดเขาหิมพานต์   แต่มาบัดนี้   มองดูเมืองกบิลพัสดุ์เรื่อยออกไปทางภูเขาหิมาลัย  เท่าที่เราผ่านเห็นได้แทบไม่มีต้นไม้เลย
 
     นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติแวดล้อม  สถานที่บริเวณนี้  เคยร่มรื่นเป็นป่า เป็นพงพี ก็ไม่มีเหลือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร ที่ทำทุกรกิริยาก็เช่นเดียวกัน
 
     กล่าวต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าทรงได้บำเพ็ญเพียรไปจนถึงที่สุดแล้ว  ทรงเห็นว่าไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้  พระองค์ก็ได้ทรงมีโยนิโสมนสิการ  โดยได้ทรงดำริว่า หนทางอื่นคงจะมีอีก
 
     นี่คือทรงตัดสินพระทัยว่า  การบำเพ็ญทุกรกิริยาทรมานพระองค์นั้น จะต้องไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง  สิ่งที่เขาบำเพ็ญปฏิบัติกัน ในการบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานตนเองนั้น พระองค์ได้ทรงทำอย่างเต็มที่ ไม่มีใครทำได้ยิ่งกว่านั้นแล้ว  แต่ก็หาทำให้บรรลุผล คือ การตรัสรู้ไม่
 
     เมื่อพระองค์ลงพระวินิจฉัยแล้ว   ก็ทรงพระดำริว่า   “หนทางอื่นคงจะมี”  และในตอนนั้น   ก็ทรงหวนรำลึกไปถึงเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์   คราวหนึ่งมีพิธีแรกนาขวัญ   พระองค์ประทับอยู่ใต้ต้นหว้า ขณะที่พี่เลี้ยงพากันไปดูพิธี  พระองค์ทรงอาศัยความสงบสงัด ตั้งพระทัยถูกทาง  และได้บรรลุปฐมฌาน
 
     พระองค์ทรงดำริว่า อันนั้นอาจจะเป็นเบื้องต้นของหนทางในการ ที่จะเข้าสู่จุดหมายที่ถูกต้องได้ พระองค์จึงทรงเปลี่ยนวิธีการใหม่  เลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา และทรงหันมาใช้วิธีปฏิบัติที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเป็นวิธีการแห่งปัญญา
 
     ในการปฏิบัติตามทางสายกลางนั้น  เรื่องราวไปปรากฏอยู่ในพระสูตรโน้นบ้าง   พระสูตรนี้บ้าง กระจายออกไป เช่น บางแห่งทรงเล่าถึงการที่พระองค์ได้ตรวจสอบการเกิดขึ้นแห่งธรรม   ทั้งฝ่ายกุศลธรรม  และอกุศลธรรมในพระทัยของพระองค์เองว่า เมื่อพระองค์มีสภาพจิตอย่างนั้นอย่างนี้   สภาวะนั้นๆ เกิดจากเหตุอะไร  จะแก้ไขให้หมดไปได้อย่างไร
 
     อีกตัวอย่างหนึ่ง ทรงสืบสาวว่า  สภาพจิตที่เกิดขึ้นเวลานี้ที่เป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วพระองค์ก็ทรงสืบสาวหาเหตุปัจจัยด้วยการตั้งคำถามแก่พระองค์เองแล้วค้นหาสังเกตว่า   ที่เวทนานี้เกิดขึ้นนั้น เพราะอะไรมี  เวทนานี้จึงมี   เมื่อทรงพิจารณาสืบสาวไป   ก็ทรงเห็นว่า เพราะผัสสะมี   เวทนาจึงมี   จากนั้นพระองค์ก็ทรงตั้งคำถามแก่พระองค์เองต่อไปอีกว่า  แล้วที่ผัสสะนี้มีล่ะ เพราะอะไรมี   ผัสสะนี้จึงมี   ฯลฯ   พระองค์ตรวจสอบสังเกตตามดูความเป็นไปในพระทัยของพระองค์เอง สืบสาวต่อไปๆ จนค้นพบความจริงตลอดสายของมัน
 
     นี้เป็นตัวอย่างวิธีการต่างๆ ที่พระองค์ใช้ในการที่จะค้นพบสัจธรรม  จนกระทั่งในที่สุดพระองค์ก็ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
 
     เรื่องนี้นำมาเล่า เพื่อจะให้เห็นคติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม   โยงไปหาหลักธรรม   หรือสัจธรรมต่างๆ
 
     สิ่งที่ต้องการย้ำในที่นี้  ก็คือ ธรรมที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ  การที่พระพุทธเจ้า ตอนเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงแก้ไขความหวาดกลัว  ยามเสด็จประทับอยู่กลางป่า ด้วยการทำใจให้พร้อม และเผชิญหน้าหาความจริง  วิธีการอย่างนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ
 
     เมื่อครั้งที่พระองค์ได้บำเพ็ญทุกรกิริยาจนเต็มที่แล้ว   ไม่มีใครทำได้ยิ่งกว่านั้นแล้ว  พระองค์วินิจฉัยว่า  นี่ไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้  แล้วทรงพระดำริว่า  “หนทางอื่นคงจะมี”   (สิยา นุ  โข อญฺโญ   มคฺโค   โพธาย - ม.มู. ๑๒/๔๒๕)  หมายความว่า ความเป็นไปได้อย่างอื่นคงจะมี   ไม่ติดตันอยู่แค่นั้น
 
     การที่พระองค์ไม่ติดอยู่แค่นั้น  แต่คิดหาทางออกว่า   อาจจะมีทางอื่น   อย่างนี้ก็เรียกว่า โยนิโสมนสิการ เหมือนกัน
 
     การที่พระองค์ได้ทรงพิจารณาค้นหาความจริง   เช่น   ตรวจสอบพระหฤทัยของพระองค์เองว่า เมื่อสภาพจิตอันนี้เกิดขึ้นมานั้น    มันเกิดขึ้นได้อย่างไร    อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นปัจจัย และมันหมดหายไปอย่างไร   เพราะอะไร  การพิจารณาอย่างนี้ก็เรียกว่า โยนิโสมนสิการ
 
     โยนิโสมนสิการ   นี่แหละ  เป็นปัจจัยสำคัญในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จนกระทั่งพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ มี ๒ ประการ  ได้แก่
 
        ๑. ปัจจัยภายนอก  คือ ปรโตโฆสะ    แปลว่า   เสียงจากผู้อื่น เสียงบอกเล่า คำแนะนำชี้แจง  เช่น  จากกัลยาณมิตร
 
        ๒. ปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการ
 
     สำหรับคนทั่วไป จะต้องอาศัยปรโตโฆสะเป็นสำคัญ   คนทั่วไปที่จะโยนิโสมนสิการเองนั้น  เป็นไปได้ยาก  ส่วนมากต้องอาศัยการบอกเล่า  คำแนะนำสั่งสอนจากคนอื่น   มีเพียงบุคคลพิเศษจำนวนน้อย  เช่น  พระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่เป็นแบบอย่างในการค้นพบความจริงด้วยโยนิโสมนสิการ
 
     เริ่มตั้งแต่ก่อนที่จะเสด็จออกบรรพชา   พระพุทธเจ้าครั้งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ  ประสูติมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกับคนอื่น   เจ้านายในวังก็ดี   ประชาราษฎรทั้งหลายก็ดี   เกิดมาอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกับพระองค์ เขาก็เห็นความเป็นไปในโลก   ความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย และความเป็นไปของชีวิตผู้คน เขาก็ไม่เห็นอะไรแปลก เขาก็อยู่กันมาอย่างนั้น
 
     แต่เจ้าชายสิทธัตถะ ทั้งที่มองเห็นสิ่งเดียวกับที่คนอื่นเห็น   มองเห็นความเป็นไปในชีวิตของคนต่างๆ ในสังคมนี้ อย่างเดียวกับที่คนอื่นเขาประสบ แต่พระองค์มีความคิดที่แปลกกว่าคนอื่น
 
     ความคิดที่แปลกกว่าคนอื่น ที่มองเห็นความจริงซ้อนลึกลงไป และเห็นแง่มุมต่างๆ อย่างอื่น ที่เขาไม่เห็นกันนี่แหละ ทำให้พระองค์เสด็จออกบรรพชา  ความคิดอย่างนี้ก็เรียกว่า โยนิโสมนสิการ
 
     ท่านว่า  คนที่จะมีโยนิโสมนสิการขึ้นมาอย่างนี้  ต้องเป็นคนพิเศษเช่นอย่างพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า การตรัสรู้จึงจะเกิดขึ้นได้
 
     แต่สำหรับคนทั่วไป  เมื่อได้อาศัย ปรโตโฆสะ เสียงแนะนำชักจูงจากคนอื่นแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดโยนิโสมนสิการขึ้นมาในตนได้
 
     เมื่อได้รับคำแนะนำให้รู้จักคิดพิจารณา   เราเอาคำบอกเล่าสั่งสอนของท่านผู้อื่น  เช่น  อย่างของพระพุทธเจ้า  มาพิจารณาไตร่ตรอง ก็เกิดโยนิโสมนสิการของตนเอง   แล้วเราก็สามารถเข้าใจ  บรรลุธรรมได้
 
 


Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2567 7:30:40 น. 0 comments
Counter : 18 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 7881572
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 7881572's blog to your web]
space
space
space
space
space