space
space
space
 
กุมภาพันธ์ 2567
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
14 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

โปรยธรรมบนเส้นทางสู่ที่ปรินิพพาน โปรยธรรมบนเส้นทางสู่ที่ปรินิพพาน ก) ทางเสด็จ: ราชคฤห์ ถึง ก
โปรยธรรมบนเส้นทางสู่ที่ปรินิพพาน



โปรยธรรมบนเส้นทางสู่ที่ปรินิพพาน
 
 ก) ทางเสด็จ:   ราชคฤห์ ถึง กุสินารา    
 
     มหาปรินิพพานสูตรนี้   เป็นพระสูตรใหญ่   เล่าเรื่องเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า นับตั้งแต่เริ่มเสด็จมาสู่ที่จำพรรษาที่เมืองเวสาลีนั้นเป็นต้นมา เล่าถึงเส้นทางเสด็จพุทธดำเนินมาโดยตลอดทีเดียว แต่รายละเอียดนั้นไม่อาจจะมาพูดกันในที่นี้ได้
 
     เพื่อให้เห็นภาพเส้นทางพุทธกิจช่วงสุดท้ายที่จะปรินิพพานนี้   ขอเล่าถึงสถานที่ต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จผ่าน ตามที่ท่านบรรยายไว้ในมหาปรินิพพานสูตร
 
     ก่อนเสด็จพุทธดำเนิน  พระพุทธเจ้าประทับที่เขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์  ณ  ที่นั้น วัสสการพราหมณ์  ได้มาเฝ้าตามพระบัญชาของพระเจ้าอชาตศัตรูและพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการ
 
     จากนั้น  เสด็จพุทธดำเนินไปตามลำดับ ผ่านราชอุทยานอัมพลัฏฐิกา  แล้วเสด็จต่อยังเมืองนาลันทา  ประทับที่ปาวาทิกัมพวัน ณ ที่นั้น  พระสารีบุตรเข้าเฝ้า
 
     จากนั้น  เสด็จสู่ปาฏลิคาม   ทรงพบกับมหาอำมาตย์สุนีธพราหมณ์ และวัสสการพราหมณ์  ที่มาสร้างปาฏลิคามนั้น ให้เป็นเมืองหน้าด่าน ป้องกันพวกวัชชี (ซึ่งต่อมากลายเป็นเมืองปาฏลีบุตรที่พูดข้างต้น)
 
     จากนั้น เสด็จสู่โกฏิคาม แล้วเสด็จต่อสู่นาทิกคาม จากนั้นเสด็จ เข้าเขตเมืองเวสาลีประทับที่สวนมะม่วง (อัมพวัน) ของนางอัมพปาลี แล้วเสด็จต่อไปยังเวฬุวคาม
 
     ณ เวฬุวคามนี้ พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาสุดท่าย เมื่อเข้าพรรษาแล้ว พระองค์ประชวรหนักใกล้สิ้นพระชนม์ ทรงพระดำริว่าควร จะลาภิกษุสงฆ์ก่อนจะปรินิพพาน จึงทรงระงับอาพาธด้วยพระวิริยะแล้ว อธิษฐานชีวิตสังขารดำรงพระชนม์อยู่ก่อน
 
     เจ็ดเดือนต่อมา ณ วันเพ็ญเดือน ๓ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลีแล้ว ทรงชวนพระอานนท์ไปยังปาวาลเจดีย์
 
     ณ ที่นั้น ทรงปลงพระชนมายุสังขารว่า ต่อจากนั้น ๓ เดือนจะ เสด็จดับขันธปรินิพพาน
 
     พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากเมืองเวสาลี  ทอดพระเนตรเมืองเวสาลี  เป็นปัจฉิมทัศน์แล้ว
 
     เสด็จไปยังภัณฑคาม   แล้วเสด็จผ่านต่อไปยังหัตถีคาม   อัมพคาม  ชัมพุคาม และโภคนครตามลำดับ
 
     จากนั้น เสด็จเข้าเขตเมืองปาวา  ประทับที่สวนมะม่วง (อัมพวัน)  ของนายจุนทะ  บุตรช่างทอง นายจุนทะถวายสูกรมัทวะ ซึ่งเป็นเหตุให้ทรงอาพาธอย่างแรง   แต่ทรงอดกลั้นเวทนาไว้  เสด็จต่อไป   ระหว่างทางลงสรงสนานในแม่น้ำกกุธา
 
     ท้ายสุด  เสด็จเข้าสู่เมืองกุสินารา  โดยทรงข้ามแม่น้ำหิรัญวดี   แล้วประทับที่ใต้ร่มสาละคู่ในสาลวันของมัลลกษัตริย์ อันเป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่เราได้มากระทำพุทธบูชากันแล้วนี้
 

ข) ธรรมหลักใหญ่ ที่เป็น พหุลานุศาสนี
 
     ณ โอกาสนี้ควรจะกล่าวถึงหลักธรรมสำคัญบางอย่าง  ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้บนเส้นทางสู่ที่ปรินิพพานนี้  ซึ่งพุทธศาสนิกชนควรจะรำลึกไว้  เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
 
     ตามเส้นทางพุทธดำเนินมายังกุสินาราสู่ที่ปรินิพพาน พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมสำคัญหมวดหนึ่งอยู่เสมอ  ที่เรียกว่าเป็นพหุลานุศาสนี (คำสอนที่ตรัสบ่อยมาก) คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นตัวหลักแท้ๆ ของพระธรรมที่ทรงแสดงในวันมาฆบูชาว่า ไม่ทำชั่ว ทำดีทำใจให้ผ่องใส
 
     ที่ว่านี้เรากำลังพูดถึงเหตุการณ์ใกล้พุทธปรินิพพาน จึงพูดเฉพาะลงไป  แต่ที่จริง ศีล สมาธิ  ปัญญา เป็นพหุลานุศาสนีทั่วไป คือตรัสสอนอยู่เสมอเรื่อยมา
 
     ดังที่ท่านเล่าไว้ในสุภสูตรว่า หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ครั้งหนึ่งสุภมาณพได้ถามพระอานนท์ว่า  พระพุทธเจ้ามีปกติตรัสชื่นชมคุณค่าของหลักธรรมพวกไหน ทรงส่งเสริมให้ประชาชนตั้งอยู่ในธรรมอะไร
 
     พระอานนท์ตอบว่า  พระพุทธเจ้าตามปกติตรัสชื่นชมคุณค่าของหลัก ธรรม ๓ หมวด คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และทรงส่งเสริมให้ประชาชนตั้งอยู่ใน ธรรม ๓ หมวดนั้น  (ที.สี.๙/๓๑๗)
 

ค) พุทธบริษัท ๔ มีคุณสมบัติอย่างไร จึงจะรักษาพระพุทธศาสนาได้
 

     เหตุการณ์ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในช่วงนี้ก็คือ  พอเสด็จมาถึงปาวาลเจดีย์ ตอนนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน ๓ อีก ๓ เดือนจะปรินิพพาน  พระพุทธเจ้าได้ทรงปลงพระชนมายุสังขาร  
 
     ในการปลงพระชนมายุสังขาร  ที่ตรัสว่า  ต่อแต่นี้ไป ๓ เดือน เราจะปรินิพพานนั้น สิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนควรจะได้จำไว้เป็นหลักปฏิบัติ  ก็คือ พระองค์ได้ทรงแสดงคุณสมบัติของพุทธบริษัท ๔ ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ที่จะดำรงรักษาพระพุทธศาสนาได้
 
     พระองค์ตรัสว่า พุทธบริษัททั้ง ๔ ต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ แล้ว พระองค์จึงจะปรินิพพาน  หมายความว่า  เมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ มี คุณสมบัติ ๓ ประการนี้  จะสามารถสืบต่ออายุพระศาสนาแทนพระองค์ได้
 
     พูดอีกนัยหนึ่งว่า   พระพุทธองค์จะทรงไว้วางพระทัยพุทธบริษัท ๔ ได้  ก็ต่อเมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ นั้น มีคุณสมบัติ  ๓ ประการ
 
     ตอนนั้น   พระพุทธเจ้าได้ทรงปลงพระชนมายุสังขาร  ก็เพราะทรงเห็นว่า พุทธบริษัททั้ง ๔ ในเวลานั้น มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้แล้ว จะช่วยกันสืบพระพุทธศาสนาได้ต่อไป  คุณสมบัติ ๓ ประการ  นั้นคือ  (ที.ม. ๑๐/๑๐๒; เคยพูดไว้แล้วในเรื่องที่ ๓)
 
     ประการที่ ๑  พุทธบริษัททั้ง ๔ เอง  นั้น จะเป็นภิกษุก็ตาม   ภิกษุณีก็ตาม   อุบาสกก็ตาม  อุบาสิกาก็ตาม   เป็นผู้รู้เข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตามได้ถูกต้อง คือ ทั้งรู้เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติได้ถูกต้อง มี  ๒ ส่วนสำหรับตนเอง
 
     ประการที่ ๒  สัมพันธ์กับผู้อื่น   โดยที่ว่าทั้งมีความสามารถ และมีน้ำใจ  ที่จะเอาธรรมที่ตนได้รู้เข้าใจแล้วนั้น ไปสั่งสอนแนะนำผู้อื่นได้
 
     ประการที่ ๓  ในแง่หลักการของพุทธศาสนา   พุทธบริษัทนั้นจะต้องมีความมั่นใจชัดเจนในหลักการของพระพุทธศาสนา  จนกระทั่งว่า  เมื่อใครมากล่าวติเตียน กล่าวจ้วงจาบ หรือกล่าวแสดงคำสอนผิดพลาดไป  ก็สามารถกล่าวแก้ไขชี้แจง เรียกว่า กำราบปรัปวาทได้
 
     นี่แหละคือคุณสมบัติ ๓ ประการ ที่พุทธบริษัททุกคน  ควรจะต้องทำให้เกิดให้มีขึ้นในตน เพื่อจะได้ช่วยกันสืบต่อพระศาสนาไปได้
 

ง) ถ้ามรรคมีองค์ ๘ ยังมีการปฏิบัติอยู่  ผู้เป็นอรหันต์ก็ยังมีได้
 
     หลังจากได้ปลงพระชนมายุสังขารแล้ว ก็มีเรื่องราวตามลำดับมาในพุทธประวัติ จนกระทั่งเสด็จมาถึงกุสินารา  อันเป็นที่ปรินิพพาน  แม้จะปรินิพพานอยู่แล้ว ขณะบรรทมอยู่บนเตียงปรินิพพาน พระองค์ก็ยังไม่ละการบำเพ็ญพุทธกิจ ทั้งๆที่ประชวรอย่างหนัก  อาพาธมากแล้ว
 
     ตอนนั้นก็มีสุภัททปริพาชก ซึ่งมีข้อสงสัยอะไรบางอย่าง  ต้องการจะรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า  เพื่อแก้ความสงสัยของตน  เมื่อได้ยินว่า  พระพุทธเจ้าประชวรหนัก  ก็กลัวจะเสียโอกาส  จึงเข้ามาจะเฝ้าทูลถาม  พอเข้ามา  พระอานนท์เกรงว่าจะเป็นการรบกวนพระพุทธเจ้าก็ห้ามไว้
 
     พระพุทธเจ้าได้ทรงสดับเสียงพระอานนท์ กับ สุภัททปริพาชก โต้ตอบกันไปกันมา  ก็ตรัสถามว่าอะไรกัน  เมื่อพระอานนท์ทูลให้ทราบ   พระองค์ก็ประทานโอกาสให้สุภัททปริพาชกเข้าไป ทั้งๆ ที่ประชวรหนักแล้ว  นี้ก็แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ
 
     เมื่อสุภัททปริพาชกเข้าไปเฝ้าทูลถาม  พระองค์ก็ได้ตรัสตอบ  ทรงแสดงหลักธรรมโปรดปริพาชกนี้ จนกระทั่งได้เป็นพระสาวก   ที่เรียกว่า  ปัจฉิมสาวก  คือสาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธเจ้า   เรียกว่า   เป็นสักขิสาวก  องค์สุดท้าย  แปลว่า เป็นสาวกที่ทันเห็นพระพุทธเจ้าองค์สุดท้าย และก็ได้เป็นพระอรหันต์ด้วย   
 
     มีธรรมอยู่ส่วนหนึ่ง   ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้   ซึ่งชาวพุทธควรจะยึดถือไว้เป็นหลัก  คือ  พระองค์ได้ตรัสว่า  ตราบใด ที่ยังมีการประพฤติปฏิบัติ  ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ตราบนั้น โลกก็ยังไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์  
 
    นี้เป็นพุทธพจน์ที่สำคัญครั้งหนึ่ง  ซึ่งเป็นการย้ำว่า  ตราบใด  ที่ยังมีการนำเอาธรรม คือ มรรคมีองค์ ๘ ประการ มาประพฤติปฏิบัติกัน   ก็ยังมีโอกาสที่จะมีการบรรลุมรรคผลนิพพาน
 
     ดังนั้น   การที่จะทำให้พระพุทธศาสนา  และธรรมยังปรากฏอยู่ในโลก  ก็อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน

 
จ) พระพุทธเจ้าล่วงลับไป ชาวพุทธมีธรรมวินัย เป็นศาสดา
 
     ต่อจากนี้ที่สำคัญ คือการที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว พระธรรมวินัย ที่พระองค์ได้ทรงแสดงและบัญญัติไว้  จะเป็นศาสดาของพุทธบริษัททั้งหลาย
 
     พุทธพจน์นี้  เป็นการประทานหลักการสำคัญของสถาบันพระศาสนา และตัดความเป็นห่วงว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ใครจะมาทำหน้าที่แทนพระองค์  เป็นผู้นำของพุทธบริษัทต่อไป
 
     พระพุทธเจ้าไม่ทรงตั้งบุคคลผู้ใด  แต่ได้ทรงประกาศว่า ธรรมวินัย คือ คำสั่งสอนของพระองค์นี่แหละ จะเป็นศาสดาของชาวพุทธ เพราะฉะนั้น ชาวพุทธก็จะต้องนับถือธรรมวินัย มั่นในธรรมวินัยอยู่เสมอ จะต้องมีสติรำลึกเตือนตัวเองให้ศึกษาว่า ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั้น เป็นอย่างไร แล้วประพฤติปฏิบัติกันให้ถูก
 
     ไม่ใช่เพียงแค่ว่า คอยเชื่อคอยฟังตามกันไป อย่างที่เรียกว่า ปรัมปรา ต่อไปนานๆเข้า ก็จะคลาดเคลื่อน  แต่จะต้องมีการศึกษาอยู่เสมอ  ให้รู้ชัดว่า พระธรรมวินัยนั้น คืออย่างไร ว่าอย่างไรกันแน่

 
ฉ) พระวาจาสุดท้าย ที่ตรัสฝากไว้ ชาวพุทธจะต้องใส่ใจ ถือเป็นยอดสำคัญ
 
     ในที่สุดพระองค์ก็ตรัสพุทธพจน์สำคัญ  คือ ปัจฉิมวาจา  ได้แก่  พระวาจาสุดท้ายก่อนปรินิพพาน ซึ่งหลังจากนั้นแล้วไม่ตรัสสอะไรอีกเลย
 
     ปัจฉิมวาจานี้ก็คือ พระบาลีที่ว่า:
 
        หนฺททานิ  ภิกฺขเว  อามนฺตยามิ  โว,  วยธมฺมา  สงฺขารา, อปฺปมาเทน  สมฺปาเทถ
 
     “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอพูดกับเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”
 
     นี้เป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  มารดาบิดาจะสิ้น จะจากลูกไป ก็มีการสั่งเสีย วาจาสั่งเสียของบิดามารดานั้น  เราย่อมถือว่ามีความสำคัญมาก
 
     พระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย  พระองค์ตรัสปัจฉิมวาจานี้ไว้   เราจะต้องให้ความสำคัญเหมือนกับเป็นวาจาสั่งเสียของพ่อแม่  เพราะทรงเป็นพระบิดาของพระศาสนาทั้งหมด  วาจาที่ตรัสเตือนให้ไม่ประมาทนี้จะต้องนำมาประพฤติปฏิบัติกันอย่างจริงจัง
 
     ปัจฉิมโอวาทในเรื่องความไม่ประมาทนี้  บางทีเราไม่ค่อยได้นึกกันว่า มีความสำคัญเพียงไร  แต่ที่จริง เป็นหลักธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง  แต่วันนี้ยังไม่มีโอกาส จึงจะเพียงกล่าวพาดพิงอ้างอิงไว้ก่อน  เมื่อใดได้จังหวะก็จะอธิบายอีก เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก  มีความสำคัญอย่างยิ่ง
 

ช) อนิจจัง เพื่อให้ไม่ประมาท ต้องประกบอนิจจัง ที่ปลงให้สบายใจ
 
     ตอนนี้จะพูดไว้แต่เพียงว่า หลักความไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้า ตรัสไว้โดยสัมพันธ์กับความเป็นอนิจจัง
 
     ก่อนจะทรงเตือนให้ไม่ประมาท   พระองค์ได้ตรัสว่า  สังขารทั้งหลาย  มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา  ก็คือ  ตรัสถึงความเป็นอนิจจัง 
 
     เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้  เราจะมัวนิ่งนอนใจวางใจ อยู่ไม่ได้จึงต้องไม่ประมาท
 
     พระพุทธเจ้าตรัสหลักสำคัญนี้ไว้  แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกัน  ระหว่างความเป็นอนิจจัง กับ ความไม่ประมาท คือ เพราะสิ่งทั้งหลาย ไม่เที่ยง  เราจึงต้องไม่ประมาท  และเมื่อไม่ประมาทแล้ว   เราก็จะสามารถใช้ความไม่เที่ยงให้เป็นประโยชน์ได้อีกด้วย
 
     เป็นที่รู้กันดีว่า   คนไทยชอบใช้อนิจจัง  เพื่อปลงใจให้ผ่อนสบาย   คลายโศก  หรือหายทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องของการรู้เท่าทันความจริง  ที่ทำให้ปล่อยวางสลัดความยึดติดถือมั่นลงได้

     การรู้เท่าทัน และความสบายใจหายทุกข์ได้นั้นดีแน่ แต่ก็ต้องระวัง ไว้อย่างยิ่งทีเดียวว่า ถ้าสบายใจแล้วก็ปล่อยอะไรๆ ไปเรื่อยๆ สิ่งที่ควรแก้ไขจัดทำ  ก็ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย ถ้าอย่างนี้ก็กลายเป็นความประมาท  ผิดหลักพุทธโอวาทที่เป็นปัจฉิมวาจานี้เต็มที่ ชาวพุทธจะต้องไม่ทำเป็นอันขาด
 
     ควรระลึกตระหนักว่า   “ปล่อยวางได้”   คือใจที่อยู่ด้วยปัญญารู้เท่าทันแล้วไม่ยึดติดถือมั่น แต่ “ปล่อยปละละเลย” คือความประมาท
 
     ส่วนที่ว่าความไม่เที่ยงนี้ จะใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราได้อย่างไร  จะได้กล่าวในโอกาสอื่นข้างหน้า  แต่ในวันนี้  เราได้มาถึงสถานที่ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสพุทธโอวาทนี้ไว้แล้ว ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ขอให้เราน้อมรำลึกถึงหลักคำสอนของพระองค์ดังได้กล่าวมา
 
     การที่พระองค์ตรัสเรื่องความไม่ประมาท   โดยโยงมาหาอนิจจัง ในกรณีนี้ เป็นการโยงไปถึงความเป็นอนิจจังที่ปรากฏแก่พระองค์เองทีเดียว คือ ความไม่เที่ยงแห่งสังขารของพระพุทธเจ้าว่า:
 
     บัดนี้   แม้แต่พระองค์เองซึ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังต้องจากพุทธบริษัทไป เพราะว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา   พระวรกายของพระองค์นั้น   ก็จะต้องแตกดับไปตามคติธรรมดาของสังขาร ที่มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลาย อื่นๆ โดยทั่วไป
 
     ด้วยพุทธพจน์นี้    พุทธบริษัทก็จะมองเห็นความเป็นอนิจจัง   โดยนึกถึงพระชนมชีพพของพระพุทธเจ้า  เป็นเครื่องเตือนใจเราแล้วก็จะทำให้เกิดสังเวช  คือ  ความสังเวช   เหมือนอย่างในคำที่บอกว่า เป็นสังเวชนียสถาน นี้แหละ
 

) อนิจจัง ให้สังเวช จะได้แข็งขันไม่ประมาท
 
     การที่เราเดินทางมานี้ เป็นการปฏิบัติตามที่พุทธเจ้าได้ตรัสแนะนำไว้ว่า ให้มานมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ และสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ก็ มาจบ ณ ที่ปรินิพพาน
 
     เมื่อเรามาถึงสังเวชนียสถาน  คือสถานที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช แห่งที่ ๔ เราก็มากล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากไปตามธรรมดา แห่งความไม่เที่ยง
 
     การที่เราได้คติแห่งความไม่เที่ยง แล้วปลงใจให้เกิดความสังเวช จึงเป็นที่ชัดเจนที่สุด ณ ที่ปรินิพพานนี้
 
     แต่สังเวช  นั้น  คืออย่างไร  ต้องขอโอกาสทำความเข้าใจกันอีก
 
     สังเวช  คือ เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจ กระตุ้นเตือนใจอย่างไร คือ กระตุ้นเตือนใจให้ได้คิด ให้ได้สำนึก
 
     สำนึกอะไร  ก็คือให้ได้คิดให้ได้สำนึกถึงความจริงนั่นเอง กล่าวคือ ความจริงแห่งพระไตรลักษณ์  อันได้แก่   ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอย่างนี้
 
     เมื่อเราได้เครื่องเตือนใจ กระตุ้นให้ได้ความคิด ให้ได้ความสำนึก โดยโยงไปหาหลักความจริง แล้วจะเกิดอะไรต่อไป
 
     ก็ทำให้เกิดความตื่นตัว  เห็นความสำคัญ และเกิดแรงกำลังที่จะปฏิบัติธรรม คือเกิดความรู้สึกเข้มแข็งแรงกล้า เอาจริงเอาจัง ที่จะนำคำสอนของพระองค์มาประพฤติปฏิบัติ หรือดำเนินชีวิตให้ดีงาม ให้ชีวิตนี้มีคุณค่า  จนบรรลุถึงธรรมสูงสุด
 
     คำว่า “สังเวช” นั้น ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า  ไม่ได้มีความหมายว่า   ให้สลดหดหู่ใจ   ถ้าไปสลดหดหู่ใจแล้ว ก็กลายเป็นนิวรณ์  ซึ่งเป็นอกุศล  ไม่ถูกต้อง  เป็นพวกถีนมิทธะ   
 
     การที่สังเวชนั้น  ไม่ใช่สลดหดหู่ใจ  แต่เป็นการทำให้เกิดกำลังใจ  พอเราได้คิด  คือเราเห็นอนิจจัง  เห็นความจริงของสังขารว่า พระพุทธเจ้าเองก็ยังต้องเสด็จจากไป   ถึงแม้ตัวเราเอง และสิ่งทั้งหลายทุกอย่างก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน
 
     เมื่อเราเห็นความจริงนั้นแล้ว   ก็เกิดความรู้สึกกระตุ้นเตือนให้ไม่ประมาท ว่าชีวิตคนนี่สั้นนัก  เวลาก็น้อย  ต้องเร่งใช้ให้คุ้มค่าเป็นประโยชน์  ถ้ากำลังหลงระเริงเพลิดเพลินมัวเมา หรือทำความชั่วอะไรอยู่  ก็ฉุกใจได้คิดขึ้นมา แล้วหยุดได้  เลิกได้หันมาขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำ   นี่แหละ ที่ว่าสังเวชเกิดกำลัง  ก็คือจะได้ไม่ประมาท
 
     เราเกิดกำลังใจขึ้นมาจากการกระตุ้นเตือนของความสำนึกเห็นความจริงว่า  โอ้   ความจริงเป็นอย่างนี้  ชีวิตของเราก็จะอยู่ตลอดไปไม่ได้    สิ่งทั้งหลายก็ไม่สามารถอยู่ไปตลอดกาล   จะต้องมีความพลัดพรากจากกัน  เพราะฉะนั้น  เวลาที่มีอยู่นี้  เราจะต้องรีบใช้ให้เป็นประโยชน์
 
     ด้วยการกระตุ้นเตือนของความสำนึกนี้  เราก็เกิดกำลังความเพียรทำจะรีบขวนขวายปฏิบัติ   โดยไม่นิ่งนอนใจ  ไม่ละเลย ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า   ตอนนี้แหละ   เราจะได้ความกระตือรือร้น  และความตั้งใจจริง
 
      คัมภีร์ต่างๆ เช่น วิสุทธิมรรค และอรรถกถา-ฎีกาทั้งหลาย  มักแสดงให้เห็นว่า “สงฺเวช-” มีความหมายเท่ากับคำว่า “สมุตฺเตช-” ซึ่ง แปลว่า ปลุกเร้า คึกคัก เกิดกำลังขึ้น แข็งขัน แกล้วกล้า (เช่น วิสุทธิ. ๓/๒๙๙; ปฏิสํ.อ.๒/๑๘๖)
 
     ถ้าเรารำลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติ   ตลอดจนกระทั่งการปรินิพพานนี้ให้เป็นเครื่องเตือนใจเรา ให้รำลึกต่อไปถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย และเกิดกำลังความเข้มแข็งจริงจังที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์  อันนี้คือความสังเวชที่ถูกต้อง
 
     ดังนั้น   ตอนนี้เป็นโอกาสแล้ว   เหตุการณ์ที่เสด็จปรินิพพานในที่นี้  เป็นเครื่องเตือนใจเรา  ให้สำนึกถึงความจริงของสังขาร  จึงขอให้เราได้เกิดปัญญามองเห็นความจริง และด้วยปัญญานี้เราจะไม่สลดหดหู่ใจ ไม่เกิดความเศร้า
 
     ถึงแม้ถ้าจะมีความรู้สึกเป็นความเศร้าเกิดขึ้น ก็เอาความเศร้านั้น มาเป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจของเรา ให้เกิดกำลังใจเข้มแข็งขึ้นว่า เราจะต้องแสดงความระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยการนำเอาธรรมของพระองค์มาปฏิบัติ
 
     พระพุทธเจ้าจากเราไปแล้ว แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้สูญสิ้นไปด้วยธรรมก็ยังคงอยู่ เราจะต้องเป็นลูกศิษย์ที่ดี  เราจะต้องตั้งใจ  ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ต่อไป  เราชาวพุทธนี่ละ จะช่วยกันรักษาธรรม รักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่ยั่งยืนต่อไป
 



Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2567 8:02:43 น. 0 comments
Counter : 44 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 7881572
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 7881572's blog to your web]
space
space
space
space
space