-'@'-Journey Of Love-'@'- เมื่อหัวใจเดินทาง
space
space
space
 
พฤศจิกายน 2567
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
space
space
14 พฤศจิกายน 2567
space
space
space

ทริปเดินขาลาก ญี่ปุ่น โอซาก้า - โตเกียว 14 วัน (10)
ไปไหนก็ได้ขอแค่ให้มีรถสาธารณะไปถึง (4)
 
วันนี้ก็ตื่นแต่เช้าเช่นเคย เพราะซื้อตั๋วรถไฟ Sagano Romantic Train ไว้รอบ 10.30 น. ตั้งใจว่าจะออกจากบ้านไม่เกิน 08.30 น. แต่กว่าจะเสร็จก็เกือบ 9 โมงแล้ว มีเวลาเดินทางแค่ 1.30 ชม. ไปรอขึ้นรถบัสเสียเวลารอเกือบ 15 นาที พลาดไปรอบก่อนหน้าไปนิดเดียว กว่าจะถึงสถานีรถไฟเกียวโต แล้วยังต้องวิ่งไปที่ชานชลาหมายเลข 31 32 33 ซึ่งอยู่ไกลม๊ากกกกก (ก.ไก่ ยาวไปถึงดวงจันทร์) มันจะไม่ไกลถ้ามีเวลาเดินเพียงพอ ขบวนที่ขึ้นจะเป็น JR Sagano ยาวไปลงสุดสายที่สถานีที่อะราชิยามะ Arashiyama และด้วยความรีบร้อนไม่ดูชื่อสถานีปลายทางให้ชัดเจน บนป้ายเขียน Arashiyama ก็กระโดดขึ้นรถเลยคนเต็มขบวน ถามว่าขึ้นได้ไหม ก็ต้องบอกว่าได้แต่ยังไม่สุดสาย สถานีที่ต้องการไปคือ อุมะโฮริ Umahori
 
พอถึงสถานี Arashiyama ก็ลงจากขบวนรถ ความผิดพลาดที่ไม่อ่านตารางเวลาที่สถานีทำให้ต้องวิ่งเป็นหนูบนกระทะร้อนเสียเวลาไปอีก 5 นาที ออกผ่านเกทมาก็ตั้งใจว่าจะไปขึ้นแท็กซี่ ลงบันไดมาเห็นจอดอยู่ 1 คัน กำลังจะเข้าไปถาม ก็โดนตัดหน้าเรียบร้อย เอาไงละทีนี้ดูเวลาเหลือไม่ถึง 15 นาทีแล้ว ก็รีบออกไปถนนใหญ่เผื่อมีรถแท็กซี่ผ่าน เหงื่อตกทันไหม ตัดสินใจวิ่งกลับมาที่สถานีอีกรอบ อ้าวเฮ้ย..โง่นิ มันมีรถไฟวิ่งไปสถานี Umahori ด้วย คือ แทนที่จะยืนรอที่ชานชลาดีๆ ดันโง่วิ่งออกไปให้เหนื่อยเล่น

หลังจากขึ้นได้ก็ลุ้นๆ ต่อว่าทันไหม จากสถานี JR Arashiyama ก็จะมีจอดระหว่างทางสถานี JR Hozukyo แล้วถึงจะเป็น JR Umahori พอลงจากรถไฟมีเพื่อนร่วมทางเป็นคนไทย 1 กลุ่ม วิ่งสิคะรออะไร ถ้าเดินก็ชิลๆ ผ่านทุ่งหญ้าไม่เกิน 10 นาที แต่ตอนนี้ต้องวิ่งไปให้ถึงภายใน 5 นาที นึกสภาพการวิ่งของคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย หัวใจจะวายเอา ดีที่อากาศไม่ร้อนไม่งั้นยอมยกธงขาวแล้ว ตอนออกจากเกทเลี้ยวขวาลงบันได เจอลานจอดรถให้เลี้ยวซ้ายจะมีทางเดินถนนเล็กๆ เดินตามทางไปเรื่อยๆ แล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีจะเห็นทุ่งนา มองไปสุดสายตาสถานีสีน้ำตาลนั่นคือเป้าหมาย

ในที่สุดก็ลากสังขารถึงสถานี Torokko Kameoka (สถานี Torokko Kameoka กับ JR Kameoka คนละที่กันอย่าสับสนนะ) ไปที่เคาน์เตอร์ยื่นโทรศัพท์เปิดอีเมล์ให้เจ้าหน้าที่ แต่อินเตอร์เน็ตดันหมุนไม่หยุด เจ้าหน้าที่เลยต้องปริ้นต์ตั๋วใบใหม่แทนแล้วรีบให้วิ่งขึ้นรถ ที่นั่งจองไว้เป็น Richcar โอ๊ยทริปนี้ไม่ใช่แค่ลากขาแล้ว สังขารก็จะไม่รอด ถ้าครั้งหน้ามาอีกเผื่อเวลาออกจากบ้านไม่ต่ำกว่า 2 ชม. แล้ว ห้ามถ่วงเวลาเด็ดขาด ช่วงที่มาเป็นกลางเดือน ต.ค. ใบไม้ยังเขียวขจี ยังต้องมาแก้แค้นอีกรอบช่วงใบไม้เปลี่ยนสี
 
ถึงแม้จะเป็นตู้ Richcar ไม่มีหน้าต่างบังให้เสียบรรยากาศสดชื่น แต่ก็ถ่ายรูปลำบากเพราะติดคนนั่งหน้าต่าง อาศัยยืนเอื้อมมือถ่ายแบบเร็วๆ แทน

นั่งรถไฟจากสถานี Kameoka ย้อนมาลงที่สถานี Arashiyama Torokko ใช้เวลานั่งรถไฟชื่นชมวิวแค่ 23 นาที (สถานีสุดท้ายชื่อ Saga Arashiyama) พอออกจากรถไฟเงยหน้ามองทางออก บระเจ้า.....ขึ้นบันไดอีกแล้ว ขายังเป็นตะคริวไม่หายเลย ดูจากจำนวนคนแล้วน่าจะลงเกือบหมดขบวนที่สถานีนี้ เพราะเป็นจุดเริ่มเดินตามทางสู่ป่าต้นไผ่ที่โด่งดัง Bamboo Forest หากมีเวลาเยอะๆ และกำลังขายังแข็งแรงดีอยู่ก็เลือกเดินรอบใหญ่ได้ จะมีทางแยกขึ้นเขาไปชมวัด มีให้เลือกเป็น 10 วัดที่ทางการท่องเที่ยวโพรโมต และแน่นอนว่าเลือกเดินแค่ 1 – 2 วัดพอ วัดตัว กับ วัดใจ ให้รอดก่อน
 
แผนที่ขนาดใหญ่ ดูไปงั้นๆ สุดท้ายก็เดินตามคลื่นนักท่องเที่ยวอย่างเดียว


เดินตามๆ กันไปรับรองไม่มีหลง จะหยุดถ่ายรูประหว่างทางก็มีคนเข้าฉากเพียบ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไม่ใช้ไม้เซลฟี่ยืดยาว อาศัยใครสูงยาวก็ได้เปรียบ ถามว่าเป็นข้อบังคับห้ามใช่หรือเปล่า ก็ไม่เชิง แต่บางสถานที่ก็ห้ามเด็ดขาดโดยเฉพาะในสถานีรถไฟ และในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนจำนวนมาก นอกจากอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ขัดขวางทางเดิน และแสดงถึงความไม่มีมารยาทในการท่องเที่ยว อาศัยช่วงแขนอันเรียวยาวเท่าที่ยืดได้ ก็จะได้รูปหน้าตัวเองแบบบานๆ แอปแต่งรูปมีเท่าไรใส่ไปเดี๋ยวก็ดูดีเอง แต่ข้อดีคือ ถ่ายรูปไม่เห็นพุง

ที่เห็นคนน้อยๆ แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังคนรอถ่ายรูปเพียบ มารยาทในการถ่ายรูปคือ แบ่งปันพื้นที่กัน

สิ้นสุดทางเดินของป่าไผ่ก็จะเป็นวัดเทนริวจิ Tenryu Ji ต้องซื้อตั๋วเข้าด้านใน
ตั๋วเข้าชมสวน 500 เยน
ตั๋วเข้าชมสวน+วิหาร 800 เยน
ตั๋วเข้าเฉพาะหอพระธรรม 300 เยน (เปิดให้บริการเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รวมไปถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงที่มีกำหนดเป็นพิเศษ)
 
เนื่องจากเราเข้ามาจากทางประตูทิศเหนือ ก็เลือกตั๋วแบบชมสวน ใบไม้ยังไม่เปลี่ยนสี ดอกไม้ก็ไม่ค่อยมี แต่มีห้องน้ำบริการ เดินตามทางไปเรื่อย ๆ ชมต้นไม้ใบไม้เขียวๆ ท่องในใจ 500 เยน ต้นไม้สวยมาก
 
แวะถ่ายรูปที่สวนบ่อน้ำโซเกนจิ Sogenji Teien ที่สร้างขึ้นเมื่อเกือบเจ็ดร้อยปีก่อนโดยท่านอาจารย์ มูโซ โซเซกิ นิกายเซน (พระอาจารย์ท่านนี้มีความเกี่ยวข้องกับวัดคินคะคุจิ และวัดโชโคคุจิด้วย) ยังคงรักษารูปลักษณ์ดั้งเดิมไว้ สวนโซเกนจิเป็นสถานที่แห่งแรกในประเทศที่ได้รับการกำหนดให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และทัศนียภาพพิเศษจากรัฐบาลญี่ปุ่น มองข้ามสระน้ำไปจะเห็นหินก้อนใหญ่ตั้งเรียงกันเป็นแถว เป็นรูปน้ำตกประตูมังกร ซึ่งเป็นน้ำตกบนแม่น้ำเหลืองหรือแม่น้ำฮวงโฮในประเทศจีน ตำนานของจีนเล่าว่าปลาคาร์ปตัวใดก็ตามที่สามารถว่ายน้ำขึ้นไปบนน้ำตกและกระโดดข้ามประตูแห่งนี้ได้จะกลายเป็นมังกร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในลัทธิเซนถือเป็นการสื่อถึงการตรัสรู้ บ่อน้ำนี้ได้รับชื่อ "โซเกนจิ" ขณะที่กำลังขุดโคลนออกเพื่อให้น้ำลึกขึ้น ได้ค้นพบแผ่นหินสลักที่มีตัวอักษร "โซเกน อิตเตกิ" อันหมายถึง ความจริงของชีวิตแห่งเซน
 
ว่ากันว่า สวนเซนซ่อนปรัชญา เข้าใจเซน เข้าใจวิถีแห่งธรรมชาติและชีวิต ขนาดชีวิตตัวเองยังไม่ค่อยเข้าใจเลย ช่างห่างไกลจากความสงบเรียบง่าย
 
แต่เนื่องจากคนเยอะมากแถมเจอนักท่องเที่ยวใช้ไม้เซลฟี่ถ่ายอีก แค่ถ่ายรูปเฉยๆ ก็คงไม่เป็นไร แต่นี่ถ่ายรูปเหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวาถ่ายไม่เสร็จไม่สิ้นเดี๋ยวเรียกญาติๆ มาถ่าย คนรอบๆ ก็ต้องถอยห่างเพราะไม่งั้นโดนไม้ฟาดหัวแน่ เราก็ได้แต่เก็บวิวเท่าที่พอหาจุดแวะได้
 
เดินผ่านสวนน้ำจนถึงวิหารโทโฮเดน เป็นอาคารเก็บสมบัติและรายชื่อของจักรพรรดิบนแผ่นจารึก ภายในมีห้องที่วางรูปปั้นของจักรพรรดิโกไดโกะ Go-Daigo Emperor ในสมัยที่พระองค์ยังเป็นเจ้าชายที่ประทับอยู่กับจักรพรรดิคาเมยามะ (ค.ศ. 1249-1305) ปู่ของพระองค์ อาคารปัจจุบันสร้างขึ้นในปี 1934 โดยเจ้าอาวาสเซกิ เซเซ็ตสึ
 
ความสำคัญของจักรพรรดิโกไดโกะ คือ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครองคืนจากกลุ่ม Bafuku ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 12-19 ญี่ปุ่นปกครองแบบฟิวดัล หรือชนชั้นขุนนาง จักรพรรดิเป็นแค่สัญลักษณ์และประทับอยู่ในวังเท่านั้น
 
จักรพรรดิโกไดโกะขึ้นเป็นจักรพรรดิในขณะที่พระองค์มีอายุได้ 31 พรรษา (ปี 1318) เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 96 ของประเทศ การเคลื่อนไหวของพระองค์สร้างความโกรธแค้นให้กับผู้โชกุนผู้ครองเมืองได้มีการทำสงครามกันหลายครั้ง แต่ในสงครามครั้งที่ 3 พระองค์ถูกจับและเนรเทศไปอยู่ที่เกาะโอกิ ระหว่างที่พระองค์ยังอยู่ที่เกาะโอกิ ทหารและผู้จงรักภักดียังทำการต่อสู้เพื่อดึงอำนาจกลับมาให้พระองค์ สุดท้ายจักรพรรดิโกไดโกะสามารถหนีรอดออกจากเกาะโอกิและทำการปฏิวัติสำเร็จสิ้นสุดอำนาจสมัยรัฐบาลโชกุน เริ่มสมัยการปฏิรูปเคมมุ จักรพรรดิโกไดโกะสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1339 (คร่าวๆ ก็ประมาณนี้)
 
เกาะโอกิอยู่ฝั่งตะวันตกใกล้กับเมืองทตโตริ แต่ขึ้นกับเขตเมืองชิมะเนะ มีเรือเฟอรี่ข้ามจากท่าเรือซาไกมินาโตะ (จังหวัดทตโตริ) และท่าเรือชิจิรุอิ (จังหวัดชิมาเนะ) มีสนามบินขนาดเล็ก สามารถเดินทางจากสนามบินอิตามิ โอซาก้า หรือ สนามบินอิซึโมะ


เดินออกทางประตูใหญ่ แดดจัดมาก อากาศแห้ง ระหว่างทางเดินออกยังมีวัดเล็กๆ ด้วย ออกมาถึงหน้าวัดก็เป็นร้านอาหารเรียงกันตลอดสองข้างถนน และเป็นจุดขึ้นรถราง Keifuku Dentetsu (Randen) ก่อนจะไปต่อก็ต้องหาข้าวกลางวันกินก่อน เดินเลือกร้านไปเรื่อยๆ จนถึงสะพานโทเกทสึเคียว Togetsukyo Bridge เป็นสะพานไม้โบราณข้ามแม่น้ำคะทสึระ Katsura สะพานสร้างขึ้นในปี 836 ในขณะที่สะพานปัจจุบันสร้างเสร็จในปี 1934 แม้ว่าสะพานจะดูเหมือนทำด้วยไม้ แต่เสาและคานของสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และมีเพียงราวกันตกเท่านั้นที่ทำจากไม้สนไซเปรส


เติมพลังงานเรียบร้อยแล้วก็ไปสถานที่ถัดไป วัดศาลาทอง หรือวัดคินคะคุจิ เดินย้อนกลับมาขึ้นรถราง Keifuku Dentetsu (Randen) ค่าตั๋วเป็นแบบราคาเดียว นั่งจนถึงสถานี Kitano Hakubaicho จากนั้นต่อรถเมล์สาย 204 หรือ 205 ลงป้าย Kinkakuji-Michi แล้วเดินเข้าซอยยาวๆ ข้ามถนน เดินเลี้ยวทางเข้าวัด ก่อนถึงจุดซื้อตั๋ว จะเป็นเป็นลานจอดรถบัสด้านขวามือ แถวนั้นจะมีห้องน้ำบริการ หรือไม่ก็ต้องเข้าไปข้างในวัดจะมีห้องน้ำอีก 2 จุด
 
ค่าตั๋วเข้าวัดคินคะคุจิราคา 500 เยน ได้มาเป็นยันต์ 1 แผ่น เข้าคิวโชว์ตั๋วตามกระแสนักท่องเที่ยวเข้าไป ทางเดินแบบ Oneway หาจุดถ่ายรูปสวยๆ ยาก เพราะเป็นมุมมหาชน ได้รูปที่คิดว่าสวยมา 2-3 รูปก็เป็นอันหมดมิชชั่นของที่นี่ละ ใช้เวลาไม่ค่อยคุ้มกับค่าตั๋วเท่าไร

ทุกคนรู้จักแต่ชื่อคินคะคุจิ แต่ชื่ออย่างเป็นทางการที่น้อยคนจำได้คือ โรคุองจิ (Rokuon Temple) เป็นวัดสาขาของวัดเซนนิกายรินไซ ชื่อโรคุอง หมายถึง สวนกวาง สัญลักษณ์แห่งการปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า ส่วนวัดที่เป็นสำนักงานใหญ่ คือ วัดโชโกกุจิ ปัจจุบันเจ้าอาวาสของวัดโชโกกุจิเป็นผู้ดูแลทั้ง คินคะคุจิ (ศาลาทอง) และ งินคะคุจิ (ศาลาเงิน)

จุดโยนเหรียญเสี่ยงทาย แม่นหรือเปล่าไม่รู้ แต่กลับมาเยือนวัดนี้เกิน 10 ครั้งแล้ว 10 เยน 1 ครั้ง ตรงกลางเป๊ะเวอร์....หุ หุ หุ

ส่วนประวัติความเป็นมาคงต้องย้อนกลับไปถึงช่วงสมัยคามาคุระ ประมาณศตวรรษที่ 12 – 13 หลักๆ ในการสร้างวัดคินคะคุจิจะเกี่ยวข้องกับโชกุนอาชิคางะ โยชิมิทซึ ผู้นับถือและพฤติตนในนิกายเซน โดยเริ่มจากการสร้างพระราชวังมุโรมาฉิ Muromachi ใช้เป็นศูนย์กลางรัฐบาลโชกุน (รัฐบาลทหาร) ให้สร้างวัดโชโกคุจิติดกับที่ทำการของรัฐบาลโชกุน
 
ต่อมาวัดโชโกคุจิกลายเป็นศูนย์กลางของวรรณกรรมโกซัง ("ภูเขาทั้งห้า") ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ภาษาจีนที่ส่งเสริมโดยพระสงฆ์เซน และเจริญรุ่งเรืองในฐานะสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่สําคัญ (ถ้าไปเกียวโตคราวหน้าจะแวะเที่ยววัดนี้เพิ่ม เพราะต้องใช้เวลาเดินภายในพอสมควร ค่าตั๋วเข้าชม 800 เยน เปิด 10.00 – 16.30 น.)
 
โชกุนอาชิคางะ โยชิมิทซึอยู่ในเมืองเบื่อแล้ว ก็เลยไปสร้างใหม่โดยใช้พื้นที่คฤหาสน์เก่าของตระกูลไซอนจิ Saionji ซึ่งรู้จักกันในชื่อ คิตะยามะได (ตระกูลไซออนจิมีอำนาจมากในสมัยคามาคุระ แต่พอรัฐบาลคามาคุระล่มสลาย อิทธิพลของตระกูลก็ตกต่ำตามไปด้วย คฤหาสน์คิตะยามะไดก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง) และมีคำสั่งให้สร้างศาลาทองขนาด 3 ชั้น เพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี เจ้าแม่กวนอิม และพระธาตุ


โชกุนอาชิคางะ โยชิมิทซึ อาศัยอยู่ที่คิตะยามะได จนกระทั่งตายตอนอายุ 51 ปี และบุตรชายโยชิโมจิ โยชิมิทซึ ได้แต่งตั้งให้อาจารย์มูโซ โซโซเซกิเป็นผู้จัดการของวัดและตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่าโรคุอนจิ จากนั้นก็จะมีการเปลี่ยนโชกุน สงครามโน่น นี่ นั่น จนกระทั่งมาเป็นศาลาทองที่สวยโดดเด่นอย่างในปัจจุบัน ประวัติคร่าวๆ ก็ประมาณนี้
 
กลับมาขึ้นรถบัสสาย 12 ไปปราสาทนิโจ Nijo-jo ป้ายรถบัสอยู่ตรงข้ามทางเข้าพอดี เดินเข้าไปต่อคิวซื้อตั๋วที่เครื่องจำหน่ายตั๋ว เลือกประเภทตั๋ว
  1. เฉพาะเข้าผ่านกำแพงปราสาท แล้วไปเดินเล่นถ่ายรูปรอบปราสาทและในสวนได้ ค่าตั๋ว 800 เยน
  2. ค่าตั๋วเข้าปราสาท+Ninomaru-goten Palace ราคา 1,300 เยน
ส่วนใครที่อยากเข้า Honmaru-goten Palace ค่าตั๋ว 1,000 เยน อันนี้แนะนำให้ซื้อผ่านเว็ปล่วงหน้า เนื่องจากตั๋วจำกัดจำนวนเข้าชมในแต่ละวัน (เพิ่งเปิดในเข้าชมภายในพระราชวังนี้ตอนเดือนกันยายน 2024) ยังไม่รวมค่าเข้าปราสาทและ Ninomaru-goten Palace

ข้างในตัวพระราชวังห้ามถ่ายรูป ใช้การเดินแบบนักย่องเบาตามเส้นทางที่กำหนด หยุดเป็นช่วงตามจุดที่มีพัดลม
 
ปราสาทนิโจเริ่มสร้างขึ้นในช่วงต้นเอโดะ ประมาณต้นศตวรรษที่ 17 (ค.ศ. 1603) ใช้เป็นที่พักของโชกุนโทกุกาวะ อิเอยาสุ เป็นโชกุนรุ่นแรกของตระกูลโทกุกาวะ ซึ่งปกครองประเทศเป็นเวลามากกว่า 200 ปี โดยจงใจสร้างให้อยู่เหนือพระราชวังเกียวโต เพื่อแสดงถึงอำนาจที่โชกุนมีอยู่เหนือจักรพรรดิที่มีอำนาจลดน้อยลง และมีชื่อเสียงที่สุดในการออกแบบสร้างพื้นระเบียงไม้ด้วยระบบกลไกที่ล้ำสมัย ที่เรียกว่าทางเดินไนติงเกล เมื่อเดินแล้วจะเป็นเสียงแผ่นเหล็กกับตะปูกระทบกัน และภาพวาดกว่า 3600 ภาพ ใช้เวลาเดินชมภายในไม่นานเพราะมีแต่ห้องเปล่าๆ กับภาพบนผนังเขียนสีทอง และมีหุ่นจำลองการเข้าเฝ้านิดหน่อยพอให้เห็นภาพ เวลาเหลือเยอะ เดินให้รอบสวนเอาให้คุ้ม อากาศแจ่มใส แดดสวย อุณหภูมิประมาณ 28 องศา รับวิตามินให้เต็มที่

ค่ารถเมล์ในเกียวโตเป็นราคาเดียวตลอดสาย 230 เยน แต่ถ้ามีแพลนว่าจะใช้บริการมากกว่า 5 ครั้ง แนะนำให้ซื้อตั๋วเกียวโตพาส 1 วัน ราคา 1,100 เยนได้ ใช้ได้ทั้งรถไฟใต้ดิน เกียวโตซิตี้บัส เกียวโตบัส และเคฮังบัส
 
หมดโปรแกรมสำหรับวันนี้ ที่ 30,000 ก้าว

จบมื้อค่ำที่ Aeon Mall อยู่หลังสถานีรถไฟเกียวโต ด้วยเมนู ขันโตกสไตล์ญี่ปุ่น ร้าน Katsuya มีโฆษณาไว้ว่าถ้วยที่ใส่ซุปข้นสีขาว (ไม่ใช่หัวไชเท้าบด) เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ชุด Tonkatsu tororo โทโรโระ เป็นมันเทศดิบบด มีเส้นใยพืชที่ละลายน้ำได้ ฤทธิ์ช่วยย่อยอาหาร ซึ่งช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมในลำไส้และปกป้องเยื่อเมือกในกระเพาะอาหาร วิธีการทานคือ ราดใส่ข้าว คลุกๆ แต่ลองชิมแล้วมันแปลกๆ หนืดๆ ข้นๆ เลยไม่กล้าคลุกข้าว ร้านนี้ข้าวกับกะหล่ำปลีฝอยเติมไม่อั้น เดินไปตักเอง



Create Date : 14 พฤศจิกายน 2567
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2567 17:59:43 น. 0 comments
Counter : 228 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณhaiku, คุณนายแว่นขยันเที่ยว


ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

Poonchayapich-N
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Welcome to My Home...L'Amour De Ma Vie

space
space
[Add Poonchayapich-N's blog to your web]
space
space
space
space
space