บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
<<
กันยายน 2562
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
12 กันยายน 2562
 
All Blogs
 

นครเดลี 3 (Delhi 3) จากราชปติ ภวัน ถึง สุสานหุมายูน

Rajpath เป็นจุดหมายแรกของวันนี้ในกรุงเดลีค่ะ เมื่อไปถึงก็เห็นอาคารหนึ่งที่อยู่ไกลลิบ ๆ นั่นคือ ราชปติ ภวัน เห็นแล้วก็ต้องถอนหายใจเฮีอกใหญ่ อดโมโหตัวเองไม่ได้ หาข้อมูลทำเนียบอยู่เป็นนาน เช็ควันที่เปิดให้จองเข้าชมทำเนียบก็แล้ว ลืมดูไป 3-4 วัน เข้าไปที่เว็บไซต์อีกครั้ง รอบที่ตั้งใจจะจอง เต็มเสียแล้ว (ความจริงในแต่ละวัน ก็มีหลายรอบ แต่ถ้าเปลี่ยนเวลา ก็ต้องไปเปลี่ยนรายการอื่นอีก ก็เลยต้องสละสิทธิ์ค่ะ)
สนใจรายละเอียดของราชปติ ภวัน เข้าไปดูในลิงค์
  
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=payaichow&month=10-2018&date=05&group=9&gblog=4  (Rashtrapati Bhavan (ราชปติ ภวัน) ทำเนียบประธานาธิบดีอินเดีย)
เป็นตอนที่ 2 ของอินเดีย (อีกครั้ง) ค่ะ



Rajpath เดิมชื่อ King's Way (ทางของกษัตริย์)  สร้างขึ้นในช่วงการปกครองของอังกฤษ เพื่อใช้ในพิธีการสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ในเดลี  เป็นเส้นทางจากทิศตะวันตกไปตะวันออก เริ่มจากราชปติ ภวัน - ทำเนียบประธานาธิบดี ที่ตั้งอยู่บนเนิน Raisina ผ่านจตุรัสวิชัย (Vijay Chowk)  ประตูอินเดีย (India Gate) พิพิธภัณฑ์สงคราม จนถึงสนามกีฬาแห่งชาติ ตลอดเส้นทางงดงามไปด้วยสนามหญ้า ทิวไม้ใหญ่ ลำคลอง และลานน้ำพุ นับเป็นถนนที่สำคัญที่สุดในอินเดีย





เมื่ออินเดียได้รับเอกราช ได้แทนชื่อ King's Way ในภาษาอังกฤษ เป็น Rajpath ในภาษาฮินดี ทั้ง 2 คำ มีความหมายคล้ายคลึงกัน คือ "เส้นทางของกษัตริย์"

กิจกรรมที่สำคัญ ๆ ของประเทศ จะจัดหรือเริ่มต้นที่ถนน Rajpath แห่งนี้ เช่นการจัดขบวนพาเรดวันสาธารณรัฐของประเทศ ที่ตรงกับวันที่ 26 มกราคม ของทุก ๆ ปี  






ภาพจาก  www.eventshigh.com/detail/delhi/80afcba16a12235d0a0e4393729849a2-january-26-parade-rajpath-new delhi


ขบวนพาเรดที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด ในพิธีเฉลิมฉลองวันชาติอินเดีย ที่ Rajpath มีราชปติ ภวัน และอาคารสำนักเลขาธิการเป็นฉากหลังค่ะ 

  การคาราวะและเทิดเกียรติผู้นำทางการเมืองที่สำคัญ ๆ ของประเทศ เช่น การแห่ศพ ก็ดำเนินการที่ถนน Rajpath แห่งนี้ด้วยเช่นกัน







ภาพจาก alamy stock photo https://www.quora.com/What-movies-have-the-most-movie-extras


ภาพจริงขบวนแห่ ที่ Rajpath รำลึกถึงการสิ้นชีพของท่านมหาตมคานธี  ครบ 33 ปี มกราคม ปี 1981 ใช้เป็นฉากเปิดของภาพยนตร์เรื่อง "คานธี" (Gandhi)  ด้วยค่ะ ต้องไปดูภาพยนตร์เรื่อง Gandhi อีกครั้งแล้ว 

อาคารต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ Rajpath ส่วนใหญ่ออกแบบโดย Sir Edwin Lutyens และ Sir Herbert Baker  สุดปลายด้านตะวันตก เป็น อาคารราชปติ ภวัน ถัดมา คือ
อาคารสำนักงานเลขาธิการ (Secretariat Building)  ทั้งตึกเหนือและตึกใต้ 
(เหมือนกันมากค่ะ ถ้าข้อมูลผิดก็ขออภัยมาด้วยค่ะ) 








ตึกเหนือของอาคารสำนักงานเลขาธิการ (บน)





ตึกใต้ของอาคารสำนักงานเลขาธิการ (บน)

  ทั้ง 2 อาคาร เป็นที่ตั้งกระทรวงต่าง ๆ ของรัฐบาลอินเดีย รวมถึงอาคารรัฐสภา และอาคารอื่น ๆ  นอกจากนั้น ในอาณาบริเวณ Rajpath นี้ ยังมี 2 มหาวิหารอันงดงามของนิกายแองกลิกัน และคาทอลิค อีกด้วย 

ถนนที่ตัดกับ Rajpath คือ Janpath  หมายถึง People's Way (เส้นทางของประชาชน)  เชื่อมถนนใต้สุด (South End Road - ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Rajesh Pilot Marg) กับ Connaught Place - ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของเดลี




จาก Rajpath เดินตรงไปเรื่อย ๆ จนสุดตะวันออก จะเป็น Indian Gate ค่ะ




ลุงกับน้านีกำลังเดินไป India Gate เห็น India Gate อยู่ลิบ ๆ ค่ะ


Indian Gate (ประตูอินเดีย) หรือชื่อเดิม All Indian War Memorial (อนุสรณ์สถานแห่งสงครามอินเดียทั้งปวง)  รัฐบาลอังกฤษสร้างประตูอินเดียขึ้น ในปี 1921 เพื่อเป็นเกียรติและเป็นอนุสรณ์สถาน แก่ทหารอินเดีย ข้าราชการอินเดียและอังกฤษ ผู้เสียชีวิตในสงครามโลก ครั้งที่ 1 (1941 - 1921) และทหารที่พลีชีพในสงครามชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และสงครามแองโกล-อัฟกัน ครั้งที่ 3 รวมทั้งหมดกว่า 70,000 ชีวิต





ซุ้มประตูมีความสูง 42.3 เมตร สร้างด้วยหินทรายแดง เป็นแท่งทึบ ส่วนโค้งของซุ้มกว้าง 9.1 เมตร สูง 22.8 เมตร  ออกแบบโดย Sir Edwin Lutyens   ตั้งอยู่สุดด้านตะวันออกของถนนราชบถ  

ถึงแม้จะเป็นอนุสรณ์สถานสงคราม แต่ก็มีสถาปัตยกรรมรูปแบบ ประตูชัยคอนสแตนติน (Arch of Constantine) ในโรม และมักถูกเปรียบเทียบกับประตูชัยฝรั่งเศส (L' Arc de Triomphe) ปารีส  และประตูสู่อินเดีย (Gateway of India) ในมุมไบ  


 
 
 
 
 



หลังสงครามปลดปล่อยบังคลาเทศ ในปี 1972 ..ใต้หินโค้งของซุ้ม มีการสร้างแท่นหินอ่อนสีดำ ที่มีโครงสร้างเรียบง่าย พร้อมด้วยปีนไรเฟิลกลับด้าน  แท่นหินนี้มีจารึกเป็นภาษาฮินดีว่า Amar Jawan Jyoti  มีความหมายว่า Flame of Immortal (เปลวไฟของทหารที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล) 







แต่นั้นมา ประตูอินเดียแห่งนี้ได้ทำหน้าที่เป็นสุสานของทหารนิรนามของอินเดีย นับเป็นอนุสรณ์สถานสงครามที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย...ทุกวันสาธารณรัฐ นายกรัฐมนตรีอินเดียจะเยือนสถานที่แห่งนี้ เพื่อแสดงความเคารพแก่ Amar Jawan Jyoti  หลังจากนั้น ขบวนพาเรดวันสาธารณรัฐจึงเริ่มขึ้น


 

 
 
 













 



เดินตัดสวนไปยังถนนใหญ่ เด็กนักเรียนเล็ก ๆ มาด้วยรถบัสคันใหญ่ ยืนเรียงเป็นแถว รอคุณครูพาไปทัศนศึกษาที่ India Gate

ขณะนั่งรถประจำทางไป
สุสานหุมายูน (Humayun's Tomb) จะผ่านถนนในเดลีที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้

 



 



 สุสานหุมายน (Humayun's Tomb)  เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสถาปัตยกรรมยุคแรก ๆ ของราชวงศ์โมกุล ใช้หินทรายแดงเป็นวัสดุหลัก  สร้างโดย Haji Begum มเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าหุมายูน จักรพรรดิองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์โมกุล เพื่อเป็นสุสานของพระองค์ เริ่มก่อสร้างใน ปี 1565 ใช้เวลาร่วม 10 ปี แล้วเสร็จในปี 1575  







สุสานหุมายูนเป็นสุสานที่มีสวนเป็นแห่งแรกของอนุทวีป โดยการออกแบบได้อย่างโดดเด่น ของสถาปนิกเชื้อสายเปอร์เชียจากอัฟกานิสถาน ชื่อ Mirak Mirza Ghiyas โดยจินตนาการถึงสวรรค์ จึงได้สร้างสวนขึ้นภายในสุสาน เพื่อผู้ตายจะได้อยู่ในสถานที่น่ารื่นรมย์ดั่งสวรรค์
 

 



สวนนี้ในภาษาฮินดีเรียกว่า จาร์บาค (Charbagh) หรือจตุรภาค คือ สวนที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส แบ่งภายในเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสหลายผืนต่อกัน อยู่ภายในสี่เหลี่ยมใหญ่ 1 ผืน






ดังนั้น เมื่อผ่านกำแพงเข้าไป จะเห็นส่วนหนึ่งของสวนทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ทางเดินปูพื้นกว้างขวาง เพื่อแบ่งส่วนสนามหญ้า ตรงกลางทางเดิน มีช่องทางน้ำแคบ ๆ  สื่อความหมายถึง แม่น้ำสี่สายที่กล่าวกันว่าไหลอยู่ใน Jannah (Jannah ในศาสนาอิสลาม หมายถึง "สวรรค์ หรือ สวน"  เป็นที่พำนักชีวิตหลังความตาย ที่มีแต่สันติภาพ และความสุขนิรันดร์) 






ผ่านทางเดิน และช่องทางน้ำ ก็จะนำไปสู่ตัวอาคารสุสาน 3 ชั้น  ชั้นบนสุดมีโดมขนาดใหญ่ตรงกลาง มีฉัตรขนาดเล็กลงมาล้อมรอบ


 



ภายในโถงมีหลุมฝังพระศพของพระเจ้าหุมายูน (พระเจ้าหุมายูนสิ้นพระชนม์ ในปี 1556 เมื่อสุสานแล้วเสร็จ จึงได้ย้ายพระองค์มาไว้ ณ ที่นี้)  รวมทั้งหลุมพระศพของมเหสีทั้งหลาย ราชวงศ์อีกหลายองค์ และช่างตัดผมคนโปรดด้วย 






ด้วยความงดงามและยิ่งใหญ่ด้วยศิปละผสมแบบโมกุลกับอิสลาม พระเจ้าชาห์ จาฮัน จึงได้แรงบันดาลใจไปสร้างใหม่ที่อัครา เพื่อเป็นสุสานสำหรับพระนางมุมตัส


 


สุสานหุมายูนนี้เคยเป็นที่ลี้ภัยของจักรพรรดิโมกุลองค์สุดท้าย คือ พระเจ้าบาฮาดูร์ ชาห์ที่ 2 พระองค์ถูกปลดโดยอังกฤษ จับกุมตัว และส่งไปกักขังที่ย่างกุ้ง  หลังจากเกิดกบฏซีปอย ในปี 1857 (Sepoy Mutiny) 







เดิมสุสานหุมายูนมีการตกแต่งงดงามมาก  แต่เมื่อพระเจ้าอัคบาร์ - พระโอรสของพระเจ้าหุมายูน ได้ย้ายเมืองหลวงไปอัครา ทำให้สุสานขาดการดูแลที่ดี เริ่มมีสภาพทรุดโทรม ชาวบ้านเข้าไปอาศัยอยู่  เมื่ออังกฤษเข้าครอบครองเดลี จึงมีการบูรณะ ปรับให้ใกล้เคียงกับของเดิม ..สวนจึงกลับมางดงามอีกครั้งหนึ่ง

ปี 1947 เมื่อคราวอินเดีย - ปากีสถานแบ่งแยกประเทศ รัฐบาลอินเดียใช้ป้อมบูรณขีลและสุสาน ฯ เป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวมุสลิม 
ที่จะย้ายไปปากีสถาน เป็นเวลาร่วม 5 ปี พื้นที่ภายในสุสานและสวนอันงดงามเสียหายมากมาย  กรมสำรวจโบราณคดีได้เข้าฟื้นฟูสถานที่ในเวลาต่อมา






ปี 1993 สถานที่แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก และตั้งแต่นั้นมาจึงได้เริ่มการบูรณะอย่างจริงจังซึ่งยังคงดำเนินถึงปัจจุบัน จึงได้เป็นสภาพที่เห็นในปัจจุบัน

การเที่ยวในเดลีในแต่ละวัน ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อยู่  บางครั้ง บางอารมณ์ ก็แวะเวียน เอ้อระเหยไปเรื่อย ช๊อปปิ้งบ้าง นั่งเล่น ดูผู้คนอยู่นาน ๆ  บางครั้งก็หลงทาง ถูกหลอกบ้าง  แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นมิตรดีตามสไตล์อินเดีย 

บล๊อคหน้าที่อยากพาไปคือ
วัดสวามินารายัน อัคชาร์ดาม  (Swaminarayan  Akshardham)  แม้การเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ จะไม่ให้เอาอะไรเข้าไปเลย นอกจากเอกสารสำคัญ และกระเป๋าใส่สตางค์ รูปถ่ายเองไม่มีเลย นอกจากรูปจาก Google photos แต่มีข้อมูลที่เตรียมไว้ก่อนไป มาบอกกล่าวกัน เป็นสถานที่ที่งดงาม และยิ่งใหญ่จริง ๆ ค่ะ


บล๊อคย้อนหลังค่ะ
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=payaichow&month=07-2019&date=31&group=9&gblog=13(นครเดลี 2)

https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=payaichow&month=07-2019&date=13&group=9&gblog=12 (นครเดลี 1)

 

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย และ

หนังสือหน้าต่างสู่โลกกว้าง ฉบับ "อินเดีย" พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2547 

https://lutyensdelhi.blogspot.com/2014/05/lutyens-delhi_18.html




 

Create Date : 12 กันยายน 2562
0 comments
Last Update : 18 กันยายน 2562 16:17:45 น.
Counter : 892 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.