บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
<<
กันยายน 2562
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
28 กันยายน 2562
 
All Blogs
 
จาก วัดอัคชาร์ดาหม (Swaminarayan Akshardham) ถึงชัยปุระ


วัดอัคชาร์ดาห์ม ชื่อเต็มว่า สวามินารายัน อัคชาร์ดาม (Swaminarayan Akshardham) หมายถึง สถานที่พำนักอันเป็นนิรันดร์ของท่าน Bhagwan สวามินารายัน (1781 - 1830)  ผู้นำด้านจิตวิญญาณด้านวัฒนธรรมอินเดีย ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี  บนพื้นที่ 100 เอเคอร์ (253 ไร่) ณ ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ...จัดแสดงประวัติศาสตร์ชนชาติอินเดีย ประวัติท่านสวามิ ฯ  รวมทั้งศิลปะประเพณีวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง  ภูมิปัญญา สถาปัตยกรรม และความเชื่อจิตวิญญาณ  การก่อสร้างได้รับแรงบันดาลใจจากสาวก เพื่อเติมเต็มความหวังของท่านศาสดา วางศิลาฤกษ์ วันที่ 8 พย. 2000 และเริ่มพิธีสร้างวันที่ 6 พย. 2005


 
 
ตั้งแต่ปี 2005 นั้นมา ได้เกิดศาสนสถานฮินดูแห่งใหม่ในเดลี ที่มีขนาดใหญ่มาก คำว่า "อัคชาร์ดาห์ม" (Akshardham)  หมายถึง ศาสนสถานนิรันดร์กาลของพระเจ้าสูงสุด ตามที่ปรากฏในพระเวทของศาสนาฮินดู สนใจรายละเอียดอื่นของวัด ตามลิงค์นี้เลยค่ะ  https://newdelhi.thaiembassy.org/th/2011/07/อักชาร์ดาห์ม


วัดอัคชาร์ดาห์ม ใหญ่โตและรุ่งเรืองได้ ด้วยเหล่าผู้มีจิตศรัทธาและอาสาสมัคร ท่าน Satish Gujaral (จิตรกรประติมากรรมฝาผนัง และนักเขียนชาวอินเดีย ยุคหลังเอกราช ได้รับรางวัล Padma Vibhushan ในปี 1999  ซึ่งเป็นรางวัลพลเรือนสูงสุดอันดับสองของประเทศอินเดีย  พี่ชายของท่าน Inder Kumar Gujral เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของอินเดีย)   กล่าวว่าสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ต้องใช้เวลาสร้าง 50 ปี  ไม่น่าเชื่อว่าจะสร้างเสร็จภายใน 5 ปี  เป็นอัศจรรย์งานก่อสร้างจริง ๆ 

 อัศจรรย์งานสร้าง โครงสร้างของวัดประกอบด้วยก้อนหินแกะสลักกว่า 300,000 ก้อน  เป็นหินจากเหมือง Bansipahadpur ห่างจากเดลี 400 กม.  นำมาแกะสลักที่เมือง Pindvada และ Sikandra ห่างจากเดลี  600 และ 250 กม. ตามลำดับ 

จากนั้น จึงเคลื่อนย้ายมาที่เดลี ประกอบกันเหมือนจิกซอร์  ใช้เวลาแกะสลักเป็นล้านชั่วโมง ด้วยการทำงานอย่างหนักโดยสาธุ อาสาสมัคร ช่างฝีมือ กว่า 11,000 คน  โดยมีแนวคิดให้เป็นทั้งอนุสรณ์สถาน การจัดนิทรรศการ  จึงมีห้องจัดแสดงนิทรรศการ 3 ห้อง และห้องฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติของท่านสวามิ ฯ  ลานแสดงน้ำพุดนตรี สวน ประเพณีวัฒนธรรม ประตูอันงดงาม  ศูนย์อาหาร ร้านขายของที่ระลึกของวัด

สถานที่สำคัญในวัดอัคชาร์ดาม มีดังนี้



 รายการที่ 1 - 2 - 3 - 4

 

1. Das Dwar (The Ten Gates)  ประตูทั้งสิบ  เป็นประตูต้อนรับ   สิบประตูเป็นสัญลักษณ์สิบทิศทาง  ที่อธิบายไว้ในวัฒนธรรมอินเดีย  สะท้อนถึงความรู้สึกยอมรับทุกสิ่งที่ดีเป็นมงคลจากทุกทิศทาง ดังคำกล่าวใน Rigveda   (ฤคเวท  Rigveda เป็นคัมภีร์เล่มแรกในวรรณคดีพระเวท แต่งขึ้นเมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นตำราทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ประกอบไปด้วยบทสวด ที่วางท่วงทำนองในการสวดไว้อย่างตายตัว กล่าวถึงบทสรรเสริญคุณ อำนาจแห่งเทวะ และประวัติการสร้างโลก  รวมถึงหน้าที่ของพระพรหมผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่ง ซึ่งจะใช้ในพิธีการบรวงสรวงเทพเจ้าต่าง ๆ ของชาวอารยัน)    ที่ว่า "ให้ความคิดอันสูงส่งมาหาเราจากทุกทิศทาง และเป็นแรงบันดาลใจ ในการดำรงชีวิตของเรา - May good thoughts come to us from all directions and inspire our lives"

 

2. วิหาร Bhakti Dwar (Gate of Devotion) ประตูแห่งความจงรักภักดี    เป็นสัญลักษณ์ของการถวายบูชาที่บริสุทธิ์ - ความจงรักภักดี ต่อรูปลักษณ์ทั้งสองของพระเจ้าและผู้ศรัทธา โดยจะพัฒนาการทำคุณงามความดีขึ้นไปเรื่อย ๆ   ประตูนี้แกะสลักอย่างประนีต มีประติมากรรมรูปศักดิ์สิทธิ์ถึง  208 รูป

 

3. วิหาร Mayur Dwar (The Peacock Gates)  ประตูนกยูง   นกยูงเป็นสัตว์ประจำชาติอินเดีย เรียกว่า Mayur ในภาษาสันสกฤต เป็นสัญลักษณ์ของความสวยงาม ความบริสุทธิ์ และความสนุกสนานในยามที่มีการเฉลิมฉลอง มักมีการกล่าวถึงนกยูงในงานศิลปะของวัด บทกวี ดนตรี และวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ที่วัดอัคชาร์ดาม ประตูนกยูงทั้งสองสร้างจากหินทรายสีชมพู มีรูปนกยูงแกะสลักอย่างสวยงาม ในอิริยาบทต่าง ๆ ถึง 869 ภาพ

 

4. Charnarvind (รอยเท้าศักดิ์สิทธิ์ - Sacred Footprints) หินอ่อนขนาดใหญ่ที่เป็นแบบจำลองรอยเท้าศักดิ์สิทธิ์ ของท่านสวามิ ฯ อยู่ระหว่างนกยูงทั้งสอง เปรียบเสมือนการเริ่มต้นท่านบนโลกนี้ ภายในรอยเท้ามีเครื่องหมายทางจิตวิญญาณทั้ง 16 (เท้าขวา 9 ภาพ เท้าซ้าย 7 ภาพ) ของศาสนาฮินดูด้วย
 


รายการที่ 5 - 6


5. Akshardham Mandir วิหารหลักอันเป็นหัวใจของวัดอัคชาร์ดาม คือ ที่พำนักอันเป็นนิรันดร์ของท่านสวามิ ฯ สถานที่แห่งการอุทิศตนอย่างแท้จริงที่สวยงาม และสงบสุขทางจิตวิญญาณ ณ วิหารนี้ ใจที่สงบนิ่ง จะนำจิตวิญญาณเชื่อมต่อกับเทพเจ้า

ภายในวิหาร แบ่งออกเป็น 9 mandapams หรือพื้นที่เฉพาะ แต่ละพื้นที่จะมี murtis (เทพ) และเสาที่แกะสลักซับซ้อน โดม และเพดานที่แตกต่างกัน การออกแบบและการแกะสลักสะท้อนถึง ความสวยงามที่ไม่หลอกลวงของพระเจ้า และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์

ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบฮินดูดั้งเดิม สร้างด้วยหินทรายสีชมพู และหินอ่อน กว้าง 316, สูง 356 และกว้าง 141 ฟุต ประกอบด้วยหินแกะสลักอย่างปรานีตงดงาม จำนวน 300,000 ก้อน  แกะโดยช่างแกะสลัก และอาสาสมัคร  ทั้งวิหารมีเสา 234 ต้น ..9 โดม..20 ยอด และรูปปั้นแกะสลัก 20,000 รูป

 
6. Murti (เทพ - Deities)   ภายในตรงกลางเป็นรูปปั้นสีทองอร่ามของท่านสวามิ ฯ  สูง 11 ฟุต และสาวก ฯ รวมทั้งเหล่ามหาเทพ เช่น พระราม-นางสีดา หนุมาน พระกฤษณะ พระลักษมี พระศิวะ - พระแม่ปาราวตี พระคเณศ เป็นต้น



รายการที่ 7 - 8 - 9

 
7. Sacred Relics   จัดแสดงพระธาตุและของใช้ที่ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของท่านสวามิ ฯ ด้วย คือ เสื้อผ้าและภาพประทับรอยเท้า รองเท้าแตะไม้ เล็บ ผม ด้ายศักดิ์สิทธิ์ และเถ้า ผ้านุ่งและผ้าคลุ่มไหล่ สายประคำและสร้อยคอไม้
 
8.  Mandovar (External Mandir Wall- กำแพงด้านนอกของวัด)   มีรูปแกะสลักทั้งหมด 4 ชั้น  Mandovar นี้ เป็นกำแพงแกะสลักทีี่ใหญ่ที่สุดในช่วงเวลา 800 ปี ที่ผ่านมา มีความยาว 611 ฟุต สูง 25 ฟุต ประกอบด้วยรูปแกะสลัก 4,287 รูป ซึ่งเป็นรูปปั้นเทพผู้ยิ่งใหญ่  200 รูป ฤษี และนักปรัชญา ในวัฒนธรรมอินเดีย  รวมทั้งรูปปั้นพระคเณศใน อิริยาบทต่าง ๆ 48 รูป ส่วนอีก 180 ฟุต อุทิศแก่การบรรยายชีวิตศักดิ์สิทธฺิ์ของท่านสวามิ ฯ ทำจากโลหะที่สวยงาม 
 
 9. Gajendra Peeth (Elephant Plinth - ฐานรูปสลักช้าง)    ฐานของวิหาร มีความยาว 1,070 ฟุต เรียงรายด้วยรูปช้างแกะสลัก ทีี่มีน้ำหนักถึง 3,000 ตัน รวมถึงรูปช้างสมือนจริง 148 เชือก ในฉากที่แสดงภูมิปัญญา และนิยายอันทรงคุณค่าของอินเดียโบราณ 3 เรื่องราว คือ ช้างกับธรรมชาติ  ช้างกับมนุษย์  และช้างกับเทพเจ้า  ทั้งหมดนี้ใช้เวลาแกะสลักถึง 4 ปี 



นิทรรศการ แสดงในอาคารโถงใหญ่ 3 ห้อง (Hall 1 , 2 และ 3) เป็นแหล่งศึกษา ข้อมูล และแรงบันดาลใจ
เป็นการผสมผสานศิลปะ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ  




รายการที่ 10 - 11 - 12


 
10. Hall 1 : Sahajanand Darshan - Hall of Values โถงแห่งคุณค่า   นำไปสัมผัสโลกแห่งคุณค่าสากล ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของตนและโลก  คุณค่าสากล คือ ความรัก อหิงสา ความกล้าหาญปราศจากความกลัว  การรับใช้ การถ่อมตน ความเมตตา จิตสำนึกของจิตใจ ความซื่อสัตย์ ความเป็นหนึ่งเดียว และสันติสุข  จัดแสดงผ่านนิทรรศการ ภาพ และวิดิโอสั้น ๆ   (โถงนี้แบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ หลายห้อง พอชมห้องหนึ่งใกล้จบ ผู้ชมก็พากันลุกพรึบพรับ เพื่อไปจองที่นั่งในห้องต่อ ๆ ไป เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ  และเป็นที่ครื้นเครงกันทั่วหน้าค่ะ)
 
 
11. Hall 2 : Neelkanth Yatra Darshan - โถง 2 -การเดินทางของ Neelkanth  (วัยเด็กของท่านสวามิ ฯ)     ชมภาพยนตร์จอยักษ์ ร่วมสำรวจและชมความสวยงามของเทือกเขาหิมาลัย ป่าในแคว้นอัสสัม ตามรอยท่านสวามิ ฯ  ที่เดินทางข้ามประเทศเป็นเวลาถึง 7 ปี ระยะทาง 12,000 กม. รำลึกถึงการเสียสละและการรับใช้ ความฉลาด ของจิตภายใน และพลังของความซื่อสัตย์ของท่าน ได้ช่วยเหลือชาวอินเดีย และเผยแผ่คำสอนของท่านอย่างไร

ภาพยนตร์ Neelkanth Yatra  เป็นภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ที่ดำเนินการเป็นครั้งแรก โดยองค์กรอินเดีย  สร้างโดย  BAPS Swaminarayan Sanstha พร้อมความรู้ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญ และอาสาสมัคร
ข้อมูลที่น่าสนใจบางประการ  -- คือ ถ่ายทำในสถานที่ต่าง ๆ ถึง 108 แห่ง  มีผู้ร่วมแสดงกว่า 45,000 คน การแต่งกาย เสื้อผ้า ผม เป็นแบบของอินเดียใน ศต. 18   มีการสร้างวัดที่ขนาดเท่าจริงหลายแห่ง  ผู้ร่วมงาน ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ที่เสียสละเวลา ความรู้ โดยไม่ได้รับค่าแรงใด ๆ 

 
12. Hall 3 : Sanskruti Vihar    การชมนิทรรศการห้องนี้  เป็นการนั่งเรือล่องไปเรื่อย ๆ  ย้อนกลับไปยังอดีต กว่า 10,000 ปี ชมประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของอินเดีย ในแง่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เครื่องนุ่งห่ม อาหารการกิน สังคมวัฒนธรรม ดนตรี  การติดต่อค้าขาย นิทรรศการ 2 ฝั่งน้ำ มีขนาดเท่าจริง ทำให้มรดกอันรุ่งโรจน์ของอินเดียในอดีต กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง 





รายการที่ 13 - 14 - 15 - 16

 
13. Yagnapurush Kund & Sahaj Anand Water Show   คือ ลานน้ำพุทรงดอกบัว เป็นแบบจำลองของ Yagna Kund แบบดั้งเดิม  ทุก ๆ เย็นจะมีการแสดงน้ำพุดนตรี  แสดงเรื่องราวประวัติ และการสวดมนต์บูชาท่านสวามิ ฯ ณ ที่นี้ 

14. Narayan Sarovar (Holy Pond)   สระศักดิ์สิทธิ์ล้อมรอบวิหารหลัก Akshardham Mandir  3 ด้าน  น้ำในสระเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจาก แม่น้ำ ทะเลสาบ และบ่อน้ำโบราณ 151 แห่งของอินเดีย นำมาเติมในสระนี้เป็นระยะ ๆ
 
15. Abhishek Mandir : Abhishek   เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่มีการสวดมนต์ และขอพร โดยสวดบทกวีในพระคัมภีร์ ขณะที่รินน้ำลงบนรูปศักดิ์สิทธิ์ของท่าน Shri Neelkanth Vami 

 
 
16. Parikrama (Colonnade)   ทางเดินแบบ Colonnade ที่น่าประทับใจ  เป็นแนวยาว  2 ชั้น มีหลังคา สร้างด้วยหินสีแดง ล้อมรอบ วิหารหลัก Akshardham Mandir คล้ายพวงมาลัยกุหลาบ แต่ละชั้นยาว 3,000 ฟุต มีเสาค้ำทั้งหมด 590 ต้น ชั้นล่างมีหน้าต่าง 145 บาน



 
รายการที่ 17 - 18 และ 19
17. Yogihriday Kamal (Lotus Garden)   สวนทรงดอกบัว 8 กลีบ ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าที่เขียวขจี สวนนี้มีสาส์นเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ และปัญญา ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ จากคัมภีร์ ปราชญ์ และนักคิดที่ยิ่งใหญ่ของโลก



Lotus Garden  - สวนทรงดอกบัว


ท้ายสุดก็เป็นศูนย์อาหาร (18)  ร้านหนังสือและสินค้าที่ระลึก  (19)  ที่เป็นของวัด รายได้นำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ทั่วโลก โดยองค์กร BAPS ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก



 
นอกจากนั้นก็มี สวนอินเดีย (Bharat Upvan - Garden of India) (20)   อยู่ตรงข้ามวิหารหลัก (Akshardham Mandir)  สร้างเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เสียสละเพื่อประเทศชาติ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และสตรี ผู้ซึ่งร่วมกันก่อให้เกิดเป็นประเทศอินเดีย ทั้งด้านจิตวิญญาณและสังคม ให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงเหล่าวีรบุรุษและวีรสตรีเหล่านั้น  และยังมีจุดถ่ายรูป 2 จุด (21)  ไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังได้รูปขนาดใหญ่กลับบ้าน เพื่อเป็นที่ระลึกการมาเยี่ยมชมวัดอัคชาร์ดาห์มอีกด้วยค่ะ 

ในเอกสารยังมีประวัติย่อของท่าน Pramukh Swami Maharaj ผู้เป็นแรงบันดาลใจ และผู้สร้าง วัดอัคชาร์ดาห์ม หรือชื่อเต็มว่า สวามินารายัน อัคชาร์ดาม (Swaminarayan Akshardham)

เพียงมีโอกาสเข้าไปชม ก็จะเห็นความสวยงาม ประนีต ของศิลปะอินเดีย ที่ยิ่งใหญ่อลังการ  สำเร็จได้ด้วยความศรัทธา ความร่วมมือ ร่วมใจ ของชาวอินเดียทั้งหลาย จนไม่ทราบจะบรรยายอย่างไรค่ะ (ต้องไปเห็นด้วยตาตนเอง) การจัดการตั้งแต่ภายนอกถึงภายในวัด เป็นระบบระเบียบเรียบร้อย ห้องน้ำสะอาดสะอ้าน แม้จะมีผู้เข้าไปเยืยนเป็นพัน ๆ ในแต่ละวัน ...   เปิดตั้งแต่วันอังคาร - อาทิตย์  เวลา 9.30 น.  -  18.30 น. แต่สามารถอยู่ได้จนถึงรายการชมน้ำพุดนตรีค่ะ 


จากเดลี สว ทั้ง 3 ก็ต่อไปเมืองชัยปุระ ชมสถานที่สำคัญของเมือง และกลับไทยจากชัยปุระ  เนื่องจากความโด่งดังและความสวยงามของเมืองชัยปุระ ซึ่งทำให้เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศอินเดีย มีผู้ให้ข้อมูลไว้มากมาย จึงขอสรุปไว้เพียงย่อ ๆ ในบล๊อคสุดท้ายนี้เลยค่ะ

ชัยปุระ หรือ จัยปูร์ (Jaipur – เมืองแห่งชัยชนะ)  ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 7 จากนักท่องเที่ยวที่มาอินเดีย แหล่งท่องเที่ยวในตัวเมือง  มีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่ต่ำกว่า 300 ปี โดยมหาราชาไสว จัย ซิงห์ที่ 2 (Maharaja Sawai Jai Singh ll) ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้าง มหานครสีชมพู แห่งนี้  มีรับสั่งให้ประชาชนทาสีชมพูทับสีปูนเก่าของบ้านเรือนต้อนรับการมาเยือนของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด แห่งเวลส์ นคราที่เสด็จเยือนชัยปุระอย่างเป็นทางการ  ซึ่งสีชมพูนั้นก็ยังคงไว้จนถึงปัจจุบันและได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของเมืองจนทุกวันนี้ 





พระราชวังสายลม (Hawal Mahal) 
 
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์  คือ   
1. พระราชวังหลวง (City Palace)   
2. หอดูดาวจันทาร์ มานทาร์ (Jantar Mantar)   
3. พระราชวังสายลม (Hawal Mahal)   
4. ป้อมแอมเบอร์ (Amber Fort) 
5. พระราชวังฤดูร้อน (Jal Mahal) 

 
นอกจากนี้ ชัยปุระยังมีตลาดที่คึกคักที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ให้เลือกซื้อส่าหรี เสื้อผ้า  ผ้าคลุมเตียง ฯลฯ ที่สวยงาม ดอกไม้ ของชำ โดยเฉพาะอัญมณี เพราะชัยปุระเป็นเมืองที่เลื่องลือในด้านเพชรพลอยและอัญมณีที่มีค่าต่าง ๆ ค่ะ  ใครที่ยังมีแรงก็จับจ่ายกันที่นี่แหละค่ะ

แล้ว ทั้ง 3 สว. ก็จากลาอินเดียจากชัยปุระ  หลังจากผ่านมา 7 เมือง 19 วัน 
ขอบคุณทุก ๆ คนที่เข้ามาเยี่ยมชมบล๊อคค่ะ
 

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย และ

https://newdelhi.thaiembassy.org/th/2011/07/อักชาร์ดาห์ม 



 




Create Date : 28 กันยายน 2562
Last Update : 30 สิงหาคม 2564 12:29:17 น. 0 comments
Counter : 3154 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.