Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
25 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 

จากกรมเชื้อเพลิง สู่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)






































ประวัติของธุรกิจน้ำมันในประเทศไทย

สถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ ที่พบเห็นในปัจจุบันนี้ มีกำเนิดมาไม่ต่ำกว่า 90 ปี แล้ว โดยมีกำเนิดหลังจากที่ได้มีผู้ประดิษฐ์รถยนต์คันแรกขึ้นมา เมื่อประมาณปี 2443 โดยมีผู้ตั้งร้านค้าขายน้ำมันเพื่อเปิดบริการสำหรับเจ้าของรถ โดยกรรมวิธีแบบง่าย ๆ คือ เวลาเจ้าของรถจะมาเติมน้ำมันเชื้อเพลิงก็เทน้ำมันจากถังที่เก็บ ซึ่งมีขนาดเล็กไปสู่ถังน้ำมันของรถ และมีการพัฒนากรรมวิธีจำหน่ายน้ำมันตามเทคโนโลยีดังที่เราพบเห็นในปัจจุบัน




จะกล่าวถึงความเป็นมาของบริษัทผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเฉพาะรายใหญ่ ๆ ได้แก่ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด และบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด และลักษณะของการแข่งขัน ความต้องการ และการจัดหาของตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง และช่องทางการจัดจำหน่ายของน้ำมันเชื้อเพลิง



ความเป็นมาของบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ก่อนปี พ.ศ. 2435 น้ำมันที่จำหน่ายในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นน้ำมันก๊าดที่มาจากรัสเซียเพียงแห่งเดียวจนกระทั่งปี 2435 ก็เริ่มมีการสั่งน้ำมันก๊าดจากเกาะสุมาตรามาจำหน่ายควบคู่ไปกับน้ำมันก๊าดจากรัสเซีย น้ำมันก๊าดจากรัสเซียนี้มีชื้อว่า “น้ำมันก๊าดตรามงกุฎ”



การค้าน้ำมันทั้ง 2 ชนิดนี้รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในปี พ.ศ. 2440 และได้ประกอบขึ้นเป็นรากฐานแห่งกลุ่มน้ำมันตราหอย โดยที่มีบริษัทบอร์เนียว จำกัด เป็นผู้แทนขายนำมันตราหอยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 เป็นต้นมา




จนกระทั่งปี พ.ศ. 2457 กลุ่มบริษัทตราหอยจึงตั้งบริษัทเอเชียติคปิโตรเลียม (สยาม) จำกัดขึ้น เพื่อดำเนินกิจการค้าน้ำมันด้วยตนเอง โดยมีสำนักงานแห่งแรกอยู่ที่ตรอกโอเรียนเต็ล ซึ่งตึกสำนักงานแห่งแรกของบริษัทฯ ก็ยังคงอยู่ตราบจนทุกวันนี้ ต่อมาบริษัท ฯ ได้ย้ายไปเปิดสำนักงานใหญ่ขึ้นที่บ้านหวาย แต่ตัวตึกถูกระเบิดทำลายไปเสียแล้วในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2



ในปี พ.ศ. 2488 บริษัทเอเชียติคปิโตรเลียม (สยาม) จำกัด ได้เปิดสำนักงานใหญ่ที่ถนนเจริญกรุง ตอนบนถนนสุรวงศ์ และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 ต่อมาอีก 10 ปี คือ พ.ศ. 2499 กิจการส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ได้ย้ายไปตั้งสำนักงานอยู่ ณ ชั้นหนึ่งถึงชั้นสามของตึกแกรนด์โฮเต็ล ถนนพระรามที่หนึ่งหน้ากรีฑาสถานแห่งชาติและบางส่วนยังคงอยู่ ณ สำนักงานเดิมจนกระทั่ง พ.ศ. 2504 จึงย้ายไปรวมกัน ณ ตึกเลขที่ 1 ถนนพัฒนพงษ์ สุรวงศ์



และอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 12 ปี จึงย้ายสำนักงานมาอยู่ที่ อาคารเชลล์ เลขที่ 140 ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร และครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายน 2525 บริษัทฯ ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่ เลขที่ 10 ถนนสุนทรโกษา คลองเตย กรุงเทพมหานคร



จนถึงปัจจุบัน เชลล์ได้จัดระบบการขนส่งและสำรองน้ำมันเพื่อสนองความต้องการน้ำมันของประเทศ โดยจัดสร้างคลังน้ำมันทั่วประเทศ 17 แห่ง สถานีบริการน้ำมันอีก 537 แห่ง และได้สร้างข่ายงานส่งเพื่อลำเลียงน้ำมันป้อนคลัง และสถานีบริการเหล่านี้ทั้งทางรถไฟ ทางรถ และทางเรือ โดยที่ปัจจุบัน จำนวนพนักงานของเชลล์ทั้งหมดมีถึงประมาณ 829 คน



ความเป็นมาของบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด มีที่ทำงานใหญ่ คือ บริษัทเอสโซ่อีสเทอร์น จำกัด ตั้งอยู่ที่เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทในเครือของบริษัทซอนคอร์ปอเรชั่น (Exxon Corporation) อันเป็นบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก



บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ได้เริ่มประกอบธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยใช้ชื่อว่า บริษัทแสตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์ค (Standard Oil of New York) มีสำนักงานอยู่ที่ตรอกธนาคารชาร์เตอร์ เขตบางรัก และมีคลังเก็บนำมันเล็ก ๆ อยู่ที่อำเภอราษฎร์บูรณะ นับเป็นเพียงกิจการเล็ก ๆ เนื่องจากปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในประเทศในขณะนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โรงงานอุตสาหกรรมและประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ยังคงใช้ฟืนและถ่านเป็นเชื้อเพลิง



กิจการของบริษัทฯ ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นลำดับ ตามปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาปี พ.ศ. 2503 บริษัทฯ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดอีสเทอร์นประเทศไทย จำกัด (Esso Standard Eastern Ltd.) สาขาประเทศไทยและลาว และในปี พ.ศ. 2508 บริษัทได้จดทะเบียนเป็นบริษัท จำกัด ดำเนินกิจการค้าน้ำมันในประเทศ ใช้ชื่อใหม่ว่า บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด (Esso Standard Thailand Ltd.) นับแต่นั้นมา กิจการด้านธุรกิจการค้าน้ำมันได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ



ปัจจุบันบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 1016 ถนนพระราม 4 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร มีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีคลังน้ำมัน 613 แห่งทั่วประเทศไทย โดยที่จำนวนพนักงานของบริษัททั้งสิ้น ประมาณ 1,000 คน




ช่วงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยต้องสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ ผ่านบริษัทต่างประเทศซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย ในขณะนั้นมีอยู่ 2 บริษัท คือ บริษัทแสตนดาร์ดแวคคัมออยล์ของอเมริกา (ปัจจุบัน คือ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด) และบริษัทรอยัลดัทช์ปิโตรเลียมของอังกฤษกับฮอลแลนด์ (ปัจจุบัน คือ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด)





บริษัททั้งสองมีสัญญาส่วนแบ่งการตลาดต่อกัน คือบริษัทของอเมริกามีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจีนและญี่ปุ่นร้อยละ 80 บริษัทของอังกฤษกับฮอลแลนด์มีส่วนแบ่งร้อยละ 20 แต่บริษัทอังกฤษกับฮอลแลนด์มีส่วนแบ่งในประเทศแถบอินโดจีน คือ ไทย แหลมมลายู พม่า และอินเดีย ร้อยละ 80




ส่วนบริษัทของอเมริกามีส่วนแบ่งร้อยละ 20 บริษัททั้งสองจึงรักษาระดับราคาเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ทำให้บริษัทของคนจีน หรือของคนไทยที่ตั้งขึ้นต้องล้มไปเพราะ ไม่สามารถสู้สองบริษัทดังกล่าวนี้ได้ ดังนั้น ราคาน้ำมันในประเทศไทยจึงถูกผูกขาดโดยบริษัท ดังกล่าวที่จะตั้งราคาขายเท่าใด ทางราชการและประชาชนก็ต้องซื้อในราคานั้น ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศในช่วงนั้นแพงมากเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันในตลาดโลก



ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเห็นว่าเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญของประเทศ จึงมอบหมายให้ นายวนิช ปานะนนท์ เป็นผู้ดำเนินการจัดการเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง นับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา และหลังจากที่ได้มีการติดต่อกับต่างประเทศและเตรียมงานมาประมาณ 1 ปี



รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมดูแลเรื่องกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจัดตั้ง "แผนกเชื้อเพลิง" ขึ้นในกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2476 และกระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้นายวนิช ปานะนนท์ เป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ให้แก่ส่วนราชการ ทำให้สามารถซื้อน้ำมันได้ถูกลงและประเทศสามารถประหยัดเงินได้ประมาณปีละแสนเศษ



การจัดการเรื่องน้ำมันของแผนกเชื้อเพลิงดำเนินการมาด้วยดี คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้ยกฐานะแผนกเชื้อเพลิงขึ้นเป็น "กรมเชื้อเพลิง" เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2480 มีอาคารตั้งอยู่ ข้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อธิบดีคนแรก หรือสมัยนั้นเรียกว่าเจ้ากรม คือ นายวนิช ปานะนนท์ ผู้ซึ่งดูแลเรื่องน้ำมันมาตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั่นเอง โดยกรมเชื้อเพลิงได้เปิดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ประชาชนด้วย



ต่อมาเมื่อสถานการณ์โลกส่อเค้าว่าจะเกิดสงครามขึ้น รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องสำรองน้ำมันไว้ใช้ จึงได้ศึกษาดูงานในประเทศที่ไม่มีแหล่งน้ำมันของตัวเอง เช่น ญี่ปุ่น และได้ตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2481 มีสาระสำคัญอยู่สองประการ คือ 1) ผู้ขายจะต้องมีน้ำมันสำรองไว้จำนวนกึ่งหนึ่งของน้ำมันที่ขายไปในหนึ่งปี และ 2) ให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนด ราคาขายน้ำมัน เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวออกมาสร้างความไม่พอใจให้กับบริษัทค้าน้ำมัน ต่างชาติทั้งสองบริษัท โดยเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับบริษัททั้งสองก็หยุดดำเนินการไป




ในปี พ.ศ. 2483 กรมเชื้อเพลิงได้สร้างโรงกลั่นน้ำมันขึ้นที่ช่องนนทรีย์ มีกำลังการกลั่น 1,000 บาร์เรล/วัน เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 จนกระทั่งเกิดสงครามโลก ครั้งที่สอง และสงครามมหาเอเชียบูรพา กรมเชื้อเพลิงก็สามารถจัดหาน้ำมันให้แก่หน่วยงานราชการและประชาชนได้ด้วยความเรียบร้อย ถึงแม้จะต้องมีการปันส่วนน้ำมันกันบ้างก็ตาม สงคราม สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ทหารฝ่ายสหประชาชาติได้เดินทางเข้ามาประเทศไทย ในฐานะผู้ชนะสงคราม




ในจำนวนนี้มี นายเจ. เอ. อีแวน ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และนายอี. พี. เจ. ผู้จัดการบริษัทแสตนดาร์ดแวคคัมออยล์ จำกัด เป็นเจ้าหน้าที่น้ำมันเชื้อเพลิงของสหประชาชาติร่วมเดินทางมาด้วย และได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อเจรจาเรื่องการค้าน้ำมันเสรี จนมาถึงปี พ.ศ. 2489 สมัยที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี บริษัทน้ำมันต่างชาติได้ขอเข้ามาทำการค้าในประเทศและขอให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติ น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2481 โดยอ้างว่าไม่เป็นการค้าเสรี



ในที่สุดก็มีการตกลงยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ออกหนังสือรับรองให้กับบริษัทต่างชาติทั้งสองมีสาระสำคัญว่า 1) รัฐบาลจะไม่ถือว่าบริษัทหรือผู้แทนขาย น้ำมันโดยไม่มีใบอนุญาตในขณะนั้นมีความผิด 2) รัฐบาลจะไม่เข้าหุ้นส่วนค้าน้ำมันกับบริษัท ค้าน้ำมันต่างประเทศ และ 3)





การซื้อน้ำมันของรัฐบาลต้องให้บริษัทมีสิทธิเข้าเสนอขายด้วย ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยุบเลิกกรมเชื้อเพลิง โดยกระทรวงกลาโหมได้ลงนามสัญญาซื้อขาย ทรัพย์สินของกรมเชื้อเพลิงที่ช่องนนทรีย์และร้านค้าของเอกชนทั้งหมดกับบริษัททั้งสองเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2489 พร้อมทั้งให้เช่าที่ดินมีกำหนด 30 ปี และเมื่อหมดสัญญาให้ต่อได้อีก 30 ปี ในปีเดียวกันนี้เองบริษัท คาลเท็กซ์ จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการค้าน้ำมันเพิ่มอีก 1 ราย




อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมเห็นว่าน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีความจำเป็นในทางการทหาร จึงเห็นควรให้ตั้งแผนกเชื้อเพลิงขึ้นใหม่เพื่อกิจการของทหาร โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2492 ยืมเงินทุนจากกระทรวงการคลัง 15 ล้านบาท ใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับซื้อน้ำมันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ตามความต้องการของกองทัพ และหน่วยราชการ พร้อมกันนั้นได้มีการสร้างคลังและถังเก็บน้ำมันขึ้นที่ท่าเรือริมคลองพระโขนงซึ่งมีที่ดิน ติดต่อกับท่าเรือคลองเตย และแผนกเชื้อเพลิงได้จัดซื้อน้ำมันจากบริษัทน้ำมันอิสระที่ไม่ขึ้นอยู่กับสหรัฐอเมริกา





ในการจัดตั้งแผนกเชื้อเพลิง และสร้างคลังน้ำมันดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติ ด้วยเกรงว่าแผนกเชื้อเพลิงจะขายน้ำมันให้แก่เอกชนและประชาชน บริษัทน้ำมันทั้ง 3 บริษัท จึงยื่นคำขอให้แผนกเชื้อเพลิงส่งรายชื่อผู้ซื้อน้ำมันให้บริษัททราบด้วย เหตุการณ์เป็นเช่นนี้มาจนถึงสมัยที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมียศเป็นพลโทในขณะนั้นและดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมได้นำเรื่องการถูกบีบบังคับจากบริษัทน้ำมันต่างชาติเข้าสู่คณะรัฐมนตรี




และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2495 ให้กระทรวงการต่างประเทศรับไปเจรจาให้มีการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้โดยเสรี โดยขอยกเลิกข้อผูกพันที่มีอยู่เดิม และให้กระทรวงกลาโหมจัดตั้ง "องค์การเชื้อเพลิง" ขึ้นเพื่อดำเนินการจัดซื้อน้ำมันโดยเปิดประมูลทั่วไป และให้บริษัทน้ำมันต่างชาติมีโอกาสเข้าประมูลด้วย



ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2496 แผนกเชื้อเพลิงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรม เรียกว่า "กรมการพลังงานทหาร" มีพันเอกณรงค์ สาลีรัฐวิภาค เป็นเจ้ากรมคนแรก สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และมีหน้าที่ควบคุมดูแลองค์การเชื้อเพลิง ซึ่งในขณะนั้นองค์การเชื้อเพลิงยังไม่สามารถจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่พ่อค้าและประชาชนได้ จนกว่าจะยกเลิกสัญญาที่มีอยู่กับบริษัทน้ำมันต่างชาติ



การเจรจาขอแก้ไขสัญญาสามารถตกลงกันได้และมีการแก้ไขสัญญาใหม่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 จึงทำให้รัฐบาลไทยสามารถค้าน้ำมันได้โดยเสรี และในปี พ.ศ. 2502 รัฐบาลได้ก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันบางจากขึ้น มีกำลังการกลั่น 5,000 บาร์เรล/วัน โดยเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2507 ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้ให้บริษัทซัมมิทอินดัสเตรียล คอร์ปอเรชั่น เช่าดำเนินการและจำหน่ายน้ำมันให้องค์การเชื้อเพลิง



นอกจากนี้กรมการพลังงานทหารยังได้รับอนุมัติให้ขยายงานออกไปจัดตั้ง "กองสำรวจและผลิตน้ำมัน" ขึ้นแทนหน่วยสำรวจน้ำมันฝาง สังกัดกรมโลหกิจ (กรมทรัพยากรธรณี) เพื่อทำหน้าที่สำรวจ ขุดเจาะ และผลิตน้ำมัน โดยสร้างโรงกลั่นน้ำมันขึ้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2502 ขนาดกำลังผลิต 1,000 บาร์เรล/วัน




และต่อมาในปี พ.ศ. 2503 องค์การเชื้อเพลิงได้ถูกยกฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2503 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการค้าน้ำมันเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและช่วยเหลือการครองชีพของประชาชน (ดูภาคผนวกที่ 1)





ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2503 รัฐบาลได้ออกประกาศเชิญชวนให้มีการสร้างและดำเนินกิจการโรงกลั่นน้ำมันครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าการนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่น ณ โรงกลั่นในประเทศน่าจะเป็นผลดีแก่ประเทศมากกว่าการซื้อน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาโดยตรง เพราะน้ำมันดิบในขณะนั้นมีราคาถูกประมาณ 30 บาท/บาร์เรล





และยังสามารถกลั่นผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่าง ๆ สนองความต้องการของตลาดได้ด้วย ซึ่งถูกกว่าการสั่งซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศโดยตรง ในปี พ.ศ. 2505 จึงมีการสร้างโรงกลั่นของเอกชนขึ้น คือ โรงกลั่นของ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันไทย จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด) และโรงกลั่นของบริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด (ปัจจุบันใช้ชื่อ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด)




โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานควบคุมดูแลโรงกลั่นน้ำมันในประเทศและราคาน้ำมันสำเร็จรูปของ โรงกลั่นตามเงื่อนไขของสัญญาระหว่างรัฐบาลและบริษัทที่ดำเนินกิจการ และในปี พ.ศ. 2509 ได้มีการตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2509 กำหนดให้ผู้ผลิตและค้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง





ในปี พ.ศ. 2516 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประเทศ ผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง หรือ กลุ่มโอเปค สามารถแย่งอำนาจในการควบคุมการผลิตและจำหน่ายน้ำมันดิบไปจากบริษัทค้าน้ำมันที่ดำเนินกิจการอยู่ในหลายๆ ประเทศได้เป็นผลสำเร็จ ก่อให้เกิดการใช้อำนาจทางการเมืองในการตัดสินเรื่องราคาและน้ำมันดิบที่จะส่งออก





ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันของประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรุนแรง รวมทั้ง ประเทศไทยด้วย รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาพิจารณาราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น และราคาขายปลีกของประเทศให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้ธุรกิจน้ำมันของประเทศสามารถดำเนินการต่อไปได้ และไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนมากนัก




ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้เร่งให้มีการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในทะเลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา และพบว่ามีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบในอ่าวไทย จึงได้มีการจัดตั้ง "องค์การ ก๊าซธรรมชาติ" ขึ้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2520 เพื่อสำรวจ ขอรับสัมปทานการผลิต การขนส่ง การเก็บรักษา การซื้อขาย และการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ








ช่วงที่มีการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เมื่อกลุ่มโอเปคเข้ามามีอำนาจในการ ควบคุมการผลิตและกำหนดราคาน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคา 5.12 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในปี พ.ศ. 2516 มาเป็น 24 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในปลายปี พ.ศ. 2522 และก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีเพียงองค์การ เชื้อเพลิงที่ทำหน้าที่จัดหาน้ำมันซึ่งได้จากโรงกลั่นที่มีอยู่ภายในประเทศเท่านั้น ยังไม่สามารถสร้างเครือข่ายในการจัดหาน้ำมันจากตลาดภายนอกประเทศได้





รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน และใช้เป็นอำนาจต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ ดังนั้นจึงได้มีการ จัดตั้ง "การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย" ขึ้น สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 โดยให้โอนองค์การเชื้อเพลิงซึ่งสังกัดกรมการพลังงานทหาร และองค์การก๊าซธรรมชาติ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไปเป็นของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือเรียกโดยย่อว่า "ปตท." เพื่อให้ ปตท. เป็นองค์กรเดียวที่เป็นกลไกของรัฐในการแก้ไขภาวะการขาดแคลนน้ำมัน พัฒนาอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ และพัฒนาอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี




ในการแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำมัน ปตท. ได้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ รับไปเจรจากับบริษัทน้ำมันต่างชาติของประเทศต่างๆ รวมทั้งการใช้ความสัมพันธ์ในฐานะสมาชิกกลุ่มอาเซียน (Association of South East Asian Nations : ASEAN) ในการขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกเพื่อจัดหาน้ำมันมาสนองตอบความต้องการใช้ภายในประเทศ ซึ่งในขณะนั้นมีประเทศสมาชิกเพียง 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย นอกจากนี้ เพื่อให้ ปตท. มีศักยภาพในการกลั่นน้ำมัน จึงให้รวมโรงกลั่นน้ำมันบางจากเข้ามาเป็นของ ปตท. และให้ ปตท. เข้าถือหุ้นในบริษัทไทยออยล์ จำกัด ในอัตราร้อยละ 49





ในปี พ.ศ. 2528 ปตท. ได้จัดตั้ง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด หรือเรียกโดยย่อว่า ปตท.สผ. ขึ้นเป็นบริษัทลูก เพื่อทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและนอกประเทศ ปตท.สผ. จึงมีบทบาทสำคัญในการสำรวจและพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนองตอบความต้องการพลังงานของประเทศ





"...ตอนที่ตั้ง ปตท.สผ. ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อต้องการกำไร ในตอนแรกต้องการให้เป็นบริษัทน้ำมัน ที่ต้องทำ up stream ให้ได้ แล้วจึงถ่ายโอนเทคโนโลยีมาให้สามารถยกระดับตัวเองได้ เพื่อเป็น ตัวผลักดันบริษัทน้ำมันแห่งชาติ และเพื่อเข้าไปจัดการกับการลงทุนทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ เพราะแทนที่จะให้ฝรั่งทำทั้งหมด เราก็เข้าไปทำเองบ้าง ..."

นายวิเศษ จูภิบาล
ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย






ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2533 เกิดเหตุการณ์อิรัคบุกยึดคูเวต ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลกมีปริมาณสูงกว่าปกติ เนื่องจากผู้บริโภคเกิดความตื่นกลัวจึงกักตุนและเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ สหประชาชาติได้มีมติให้ปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่ออิรัค และ คูเวต ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในส่วนที่เป็นโควต้าของทั้ง 2 ประเทศ หายไปจากตลาดโลกส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว





ปตท. ในฐานะกลไกของรัฐได้เข้ามามีบทบาทในการจัดหาน้ำมันเพื่อสนองตอบความต้องการใช้น้ำมันของประเทศอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการจัดหาน้ำมันจากประเทศแถบเอเชียให้มากขึ้น และการใช้สิทธิซื้อน้ำมันจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ภายใต้ข้อตกลง ASEAN Petroleum Security Agreement (APSA) รวมทั้ง การจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า





"...ช่วงขาดแคลนน้ำมันครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ผมคิดว่ารัฐบาลตกอยู่ในสถานะลำบาก เพราะว่าเราขาดแคลนพลังงานและแหล่งในการจัดหาจึงมีความคิดว่าน่าจะจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้น ซึ่งก็เป็นแนวโน้มทั่วโลกในสมัยนั้นที่จัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติกันหมด เช่น อาหรับ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยในระยะแรกๆ แนวคิดของรัฐคือ สร้างมือขึ้นมาเพื่อใช้ในการจัดหาพลังงานและแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลน รวมทั้งใช้เป็นอำนาจต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ..."

ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์
อดีตผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย






ต่อมา รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้การจัดหาน้ำมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพ รวมทั้ง ให้กิจการกลั่นน้ำมันของประเทศมีประสิทธิภาพสูง เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการจัดหาน้ำมันของประเทศให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น จึงได้ดำเนินการปรับปรุงการขอและออกใบอนุญาตผู้ค้าน้ำมันเพื่อให้ผู้ค้าน้ำมันประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบมากขึ้น ยกเลิกการควบคุมการนำเข้าน้ำมันเบนซินและน้ำมันก๊าด รวมทั้ง ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการกลั่นน้ำมันมากขึ้น




ตลอดจน ส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการค้าน้ำมันมากขึ้นด้วย เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันในประเทศในที่สุด โดยเมื่อกลางปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลได้ประกาศใช้ระบบราคาน้ำมันลอยตัว ทำให้มีผู้ค้าน้ำมันรายใหม่เข้ามาลงทุนในธุรกิจน้ำมันมากขึ้น ปตท. ได้เข้ามามีบทบาทเป็นผู้คานอำนาจผู้ค้าน้ำมันเอกชนไม่ให้มีการ รวมตัวกันกำหนดราคาน้ำมันเอาเปรียบผู้บริโภค




เมื่อภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ตลาดน้ำมันในประเทศมีการแข่งขันกันมากขึ้นและเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการสำรวจและพัฒนาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ การขยายและเพิ่มขีดความสามารถในการกลั่น การขยายสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และการเข้าร่วมทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บทบาทของ ปตท. ในฐานะกลไกของรัฐและการเป็นแกนนำในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ๆ เริ่มมีความจำเป็นน้อยลงตามลำดับ




แต่กลับมีความจำเป็นต้องปรับบทบาทให้เป็นไปในเชิงธุรกิจมากขึ้น เนื่องจาก ปตท. จำเป็นต้องแข่งขันกับบริษัทน้ำมันคู่แข่ง และจะต้องสามารถตัดสินใจลงทุนได้ ในเชิงธุรกิจอย่างแท้จริง ประกอบกับแนวโน้มในหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้พัฒนาบริษัทน้ำมันแห่งชาติให้มีบทบาทในเชิงธุรกิจ สถานการณ์ดังกล่าวได้นำมาสู่แนวคิดในการปรับเปลี่ยนบทบาทและโครงสร้างองค์กรของ ปตท. ให้มีบทบาทในเชิงพาณิชย์และมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2534 ให้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้าง ปตท. โดยให้พิจารณาว่าควรจัดโครงสร้างในรูปแบบใดจึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด








ช่วงแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ ปตท. เริ่มจากการปรับโครงสร้างองค์กรให้ ปตท. เป็น รัฐวิสาหกิจที่ดีก่อนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2535 เป็นต้นมา และต่อมา ปตท.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company Inc. ดำเนินการศึกษาการปรับโครงสร้าง ปตท. ผลการศึกษา มีข้อเสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเป็นแบบหน่วยธุรกิจที่ดำเนินกิจการครบวงจรเบ็ดเสร็จใน ตัวเอง คล้ายรูปแบบบริษัทในเครือ โดยมี ปตท. สำนักงานใหญ่เป็นผู้กำกับดูแลกลยุทธ์หลักขององค์กร และให้จัดตั้งสายธุรกิจ 4 สาย ดูแลธุรกิจในแต่ละสาย ได้แก่ สายธุรกิจสำรวจและผลิต ก๊าซธรรมชาติ สายธุรกิจการกลั่น สายธุรกิจน้ำมัน และสายธุรกิจปิโตรเคมี รูปแบบดังกล่าวสามารถดำเนินการได้เร็วโดยไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย






ในปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญปัญหาถึงขั้นวิกฤต ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมาก และเกิดการเก็งกำไรในค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลในสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้ประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเป็นระบบลอยตัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง อย่างต่อเนื่อง สถาบันการเงินและธุรกิจขาดสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการลงเป็นจำนวนมากรัฐบาลจึงได้ขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF)





สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยเร่งให้มีการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เร็วขึ้น โดย ได้มีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.)" เพื่อทำหน้าที่กำหนดกรอบการดำเนินงานและกำกับดูแลการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้ง เร่งดำเนินการออกกฎหมายทุนของรัฐวิสาหกิจให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางการขายหุ้นของรัฐที่ดำเนินการได้เร็ว ได้แก่ การขายหุ้นของ ปตท. ในบริษัท ปตท.สผ. และบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) การขายหุ้นของกระทรวงการคลังในบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทบางจากฯ และการขายหุ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด




ในเดือนมิถุนายน 2541 ได้มีการขายหุ้นของ ปตท. ในบริษัท ปตท.สผ. ให้แก่ผู้ลงทุนทั้ง ในและนอกประเทศ ประกอบด้วย หุ้นเดิมของ ปตท. 16.5 ล้านหุ้น และเป็นหุ้นเพิ่มทุนอีก 16 ล้านหุ้นรวมเป็น 32.5 ล้านหุ้น ในราคา 300 บาท/หุ้น คิดเป็นเงินจากการขายหุ้นประมาณ 9,750 ล้านบาท จากการขายหุ้นครั้งนี้ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท. ลดลงเหลือร้อยละ 62





เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดทำแผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อใช้เป็นกรอบในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในสาขาต่างๆ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 สำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสาขาพลังงาน แบ่งออกเป็น 3 สาขา คือ สาขาไฟฟ้า สาขาก๊าซธรรมชาติ และสาขาน้ำมัน ซึ่ง จะต้องดำเนินการปรับโครงสร้างให้ไปสู่โครงสร้างที่มีการแข่งขันเสรีในอนาคต




การดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค เนื่องจากเกิดกระแสคัดค้านการขายหุ้นให้แก่ต่างชาติ โดยเฉพาะจากพนักงานรัฐวิสาหกิจได้พยายามปลุกกระแส การต่อต้าน โดยอ้างประเด็นรัฐมุ่งหวังที่จะขายทรัพย์สินของประเทศให้กับต่างชาติโดยมีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง รวมทั้ง ไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรรายได้จากการขายทรัพย์สินและขายหุ้นเข้ากองทุนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง รัฐบาลจึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับพนักงานรัฐวิสาหกิจและประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ส่งผลให้การดำเนินการตามแผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต้องล่าช้าออกไป




สำหรับการขายหุ้นของ ปตท. และกระทรวงการคลัง ซึ่งถือหุ้นในบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 48 และ 24 ตามลำดับ ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 ได้เห็นชอบในหลักการให้หาพันธมิตรร่วมทุนเข้ามาซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าว แต่เนื่องจากเกิดกระแสคัดค้านการขายหุ้นให้แก่ชาวต่างชาติด้วยเกรงว่าชาวต่างชาติจะไม่สนับสนุนกิจกรรมทางสังคมซึ่งบริษัทฯ ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.)







จึงได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยผลการประชุมเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2542 ได้มีมติให้ ปตท. และธนาคารกรุงไทยขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทบาทจากฯ คิดเป็นร้อยละ 32 ของหุ้นทั้งหมด แบ่งเป็น ร้อยละ 16 ขายให้แก่พันธมิตร่วมทุน และอีกร้อยละ 16 ขายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยในขั้นแรกให้ดำเนินการขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปก่อน และหากไม่เพียงพอกับความต้องการให้พิจารณาขายหุ้นเพิ่มให้ครบตามจำนวนที่ประชาชนแสดงความจำนง โดยอาจขายหุ้นเพิ่มทุนหรือขายหุ้นเดิมของกระทรวงการคลังทางใดทางหนึ่ง




ในส่วนของการออกกฎหมายได้มีการตราพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2542 กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือของรัฐในการเปลี่ยนสถานะรัฐวิสาหกิจจากรูปแบบเดิมให้เป็นรูปแบบบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด แต่ยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทหนึ่ง โดยมีการเปลี่ยนทุนจากรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นทุนของบริษัทที่รัฐถือหุ้นทั้งหมดและยังคงให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดิม รวมทั้ง ให้พนักงานมีฐานะเป็นเช่นเดียวกับที่เคยเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินกิจการและเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบต่อไป





ในเดือนมีนาคม 2544 สมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการพัฒนาตลาดทุน และได้มีการกำหนดแผนเตรียมความพร้อมในการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในจำนวนนี้ได้กำหนดให้นำ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างช้าภายในเดือนพฤศจิกายน 2544




เนื่องจากสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงได้มีการพิจารณาปรับปรุงแนวทางการปรับโครงสร้าง ปตท. ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยให้แปรสภาพ ปตท. เป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และให้โครงสร้างมีความสอดคล้องกับนโยบายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น การค้าเสรีในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และโครงสร้างกิจการ ก๊าซธรรมชาติในระยะยาวที่จะเปิดให้มีการแข่งขันเสรี





ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ได้มีการแปลงสภาพ ปตท. โดยจัดตั้ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขึ้น เพื่อรับโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด สินทรัพย์ ส่วนของทุน ตลอดจนพนักงานและลูกจ้างทดลองงานมาทั้งหมด มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย หุ้นจำนวน 2,000 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และในวันที่ 2 ตุลาคม 2544 ได้เพิ่มทุนอีก 8,500 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่ จำนวน 850 ล้านหุ้น





ในการจัดสรรหุ้นให้กับนักลงทุนได้กำหนดสัดส่วนในการขายหุ้นให้แก่ประชาชนและนักลงทุนในประเทศร้อยละ 60 และนักลงทุนต่างประเทศร้อยละ 40 สำหรับนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ ใช้วิธีประกวดราคาแบบสะสม (Book Building) ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถจองซื้อหุ้นผ่านธนาคารพาณิชย์ ในราคาหุ้นละ 35 บาท รวมจำนวนหุ้นที่ขายไปทั้งหมด 920 ล้านหุ้น เป็นเงิน 32,200 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2544 หุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา





สำหรับบริษัทที่อยู่ในเครือของ ปตท. จะมีการบริหารจัดการดังนี้ 1) คงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ปตท.สผ. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและเพื่อให้บริษัท ปตท.สผ. เป็นกลไกของรัฐในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ 2) ให้โรงกลั่นไทยออยล์ เป็น โรงกลั่นหลักที่จะสนับสนุนภาคการตลาดธุรกิจน้ำมันของ ปตท. 3) ให้ขายหุ้นของ ปตท. ในบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เมื่อโอกาสอำนวย เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางธุรกิจ รวมทั้ง ทยอยลดสัดส่วนการถือหุ้นในโรงกลั่นระยองและโรงกลั่นสตาร์ และ 4) ทยอยลดสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทในเครือที่ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงเชิงธุรกิจ เช่น บริษัทปุ๋ยแห่งชาติเมื่อโอกาสอำนวย





อย่างไรก็ตาม การลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมีการลงทุนสูงและเป็นภาระทางด้านการเงินการคลังแก่ภาครัฐ จึงทำให้มีแนวคิดในการส่งเสริมภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนมากขึ้น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้เป็นเชิงพาณิชย์เพื่อให้สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการแปลงสภาพ ปตท. เป็นบริษัทจำกัดมหาชน และนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กิจการปิโตรเลียมก็ได้กลายสภาพเป็นกิจการของภาคเอกชนในที่สุด
































 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2551
5 comments
Last Update : 25 กรกฎาคม 2551 1:58:28 น.
Counter : 5964 Pageviews.

 

ข้อมูลแน่นเช่นเคยฮันนี่
ขอบคุณค่ะ

 

โดย: โอน่าจอมซ่าส์ 25 กรกฎาคม 2551 9:20:46 น.  

 

แค่ภาพก็กินขาด ส่วนใหญ่รูปไม่เคยเห็นทั้งนั้นเลย

 

โดย: น้ำเค็ม IP: 118.173.127.198 25 กรกฎาคม 2551 18:27:41 น.  

 

แต่ละภาพดูแล้วไม่เคยเห็นที่ไหนสุดยอดเลย

 

โดย: ยูกิ IP: 202.149.24.161 31 กรกฎาคม 2551 8:14:46 น.  

 

อยากทราบว่าพนักงาน ปตท. มีโค้วต้าเติมน้ำมันฟรีเปล่าค่ะ?

 

โดย: little ccffee IP: 118.173.163.213 24 สิงหาคม 2552 16:09:02 น.  

 

น้ำมันถูกมาก

 

โดย: บาส IP: 101.109.180.214 3 พฤษภาคม 2555 23:05:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


นอกลู่นอกทาง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]








ภาพถ่ายดาวเทียมด้านอุตุนิยมวิทยา
ภาพสดๆจากที่ต่างๆทั่วมุมโลก
Ban Na Song BKK, Thailand
Karon Beach , Phuket , Thailand
Federal Highway, Angkasapuri ,Pantai Valley , Malaysia
Delta Estate , Singapore
Malate ,Manila , Philippines
Bandar Seri Begawan , Brunei
Guangxi Guilin, China
달빛무지개분수(Banpo Bridge Fountain )Sin’gilsa-dong , Seoul , South Korea
Hong Kong skyline from Admiralty, China
Shiomidai , Kanagawa , Japan
Cable Beach, Broome, Western Australia, Australia
Keahua Hawaii , USA
Sacramento California, USA
Washington D.C., USA
Manhattan , New York , USA
McCulloch Kelowna, Canada
Niagara Falls , Ontario , Canada
Panama Canal , Bella Vista , Panama
Santiago de Chile , Región Metropolitana , Chile
Fairbanks, Alaska Forecast Arctic
Mar del Plata Buenos Aires , Argentina
Tasiilaq , Østgrønland , Greenland
London Skyline from the Sheraton Park Tower , Knightsbridge , United Kingdom
Trafalgar Square , London , United Kingdom
Eiffel Tower Paris, France
Harstad Nordland , Norway
Halsum , Svalbarð , Iceland
Amsterdam , Netherlands
Vatican City State, Saint Peter's Basilica Borgo , Italy
Berlin, Germany
Чебоксарский залив, Yakimovo, Chuvashia , Russia
Udaipur Lake Pichola , Rājasthān , India
Mount Everest , Junbesi , Sagarmāthā , Nepal
Cape Town Sanddrift, South Africa
Orpen , Richmond , South Africa
Abū Hayl Dubai , United Arab Emirates
Kairo, Egypt
Medhufushi, Maldives
Mawson station Antarctica

Profile Visitor Map - Click to view visits
หนังทุกเรื่องหรือเพลงทุกเพลงในบล็อกนี้ เป็นเจ้าของ ของลิขสิทธินั้นๆตามเจ้าของเดิม นำมาเพื่อแบ่งปันชมกันในหมู่เพื่อนพ้อง ชาวบล็อกแก้งค์เท่านั้นครับ....
ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ 2539 หากผู้ใดคิดจะ ลอกเลียน หรือนำส่วนใดส่วนหนื่ง ของข้อความใน Blog แห่งนี้ไปเผยแพร่ ให้นำไปได้เลย โดยไม่ต้องขออนุญาต จขบ. แต่ต้องคัดลอกแจกจ่ายให้ครบ 50 ก็อปปี้ ไม่เช่นนั้น จะมีอันเป็นไป ต่างๆนานา ถึงขั้นชีวิตตกอับ อิอิ หากแต่ว่า..นำชื่อ จขบ. ไปใช้ในทางเสียหายหรือประจาน จะถูกดำเนินคดี ตามที่ กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด นะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add นอกลู่นอกทาง's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.