ผักที่เรากินอาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงการทำงานของยีนเรา
ตามปกติเวลาที่ร่างกายเราย่อยอาหาร สารพันธุกรรมพวก DNA และ RNA (หรือที่เรียกรวมๆ ว่า "กรดนิวคลีอิก") จะถูกย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนไม่สามารถทำงานได้ก่อนที่ร่างกายจะดูดซึมเอาสารอาหารไปใช้ แต่จากการค้นพบล่าสุดของทีมวิจัยที่นำโดย Chen-Yu Zhang แห่งมหาวิทยาลัยนานกิง สาธารณรัฐประชาชนจีน กลับพบว่า เมื่อเรากินผักเข้าไป จะมีชิ้นส่วนสารพันธุกรรมบางชิ้นหลุดรอดเข้าสู่กระแสเลือดเราได้

ทีมวิจัยทดลองเจาะเลือดจากอาสาสมัครชาวจีนและจากวัว จากนั้นก็เอาตัวอย่างเลือดมาทำปฏิกิริยากับโซเดียมเพอร์ไอโอเดต (sodium periodate) ซึ่งมีคุณสมบัติออกซิไดซ์ microRNA ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะ แต่ไม่ทำอะไรกับ microRNA ของเซลล์พืช

ผลการทดลองพบว่า ในเลือดของทั้งมนุษย์และวัว มี microRNA ของพืชอยู่มากกว่า 30 รูปแบบ แต่ว่ามีอยู่สองแบบที่พบมากที่สุด คือ MIR168a และ MIR156a ซึ่งเป็น microRNA ที่พบมากในข้าวและพืชวงศ์ Brassicaceae (ตระกูลกระหล่ำ เช่น บร็อคโคลี่, กระหล่ำปลี, กระหล่ำดอก เป็นต้น) ทำให้นักวิจัยสันนิษฐานว่า microRNA เหล่านี้จะต้องมาจากข้าวและผักที่ชาวจีนกินเป็นอาหารหลักแน่นอน

microRNA เป็น RNA เส้นสั้นๆ ความยาวประมาณ 19-24 นิวคลีโอไทด์ (นิวคลีโอไทด์เป็นหน่วยย่อยของกรดนิวคลีอิก) หน้าที่หลักของมันคือจะเลือกจับกับ messenger RNA (mRNA) ที่มีรหัสเฉพาะ ทำให้ mRNA นั้นๆ ไม่สามารถแปลรหัสออกมาเป็นโปรตีนได้

Chen-Yu Zhang สงสัยต่อไปว่า microRNA ที่พบล่องลอยอยู่ในเลือดคนจะยังสามารถทำงานได้หรือไม่ ทีมวิจัยของเขาจึงเริ่มตรวจสอบจีโนมของมนุษย์และของหนูทดลองว่ามียีนใดบ้างที่ถูกปิดได้ด้วย MIR168a และก็พบว่ามีประมาณ 50 ยีนที่มีรหัสตรงตามที่พวกเขาต้องการ รวมถึงยีนที่สร้างโปรตีนในตับตัวหนึ่งชื่อ LDLRAP1 ซึ่งมีหน้าที่กำจัดคอเลสเตอรอลประเภท LDL (หรือที่เรียกกันว่า "คอเลสเตอรอลไม่ดี") ออกจากกระแสเลือด

จากนั้น พวกเขาก็ลองใส่ MIR168a ลงไปในจานเลี้ยงเซลล์ตับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผลปรากฏว่าเซลล์ตับเหล่านั้นผลิต LDLRAP1 ได้น้อยลง และเมื่อพวกเขาลองฉีด MIR168a เข้าไปในหนูทดลอง ก็พบว่าตับของหนูทดลองผลิด LDLRAP1 น้อยลง และ ปริมาณคอเลสเตอรอล LDL ในกระแสเลือดหนูก็เพิ่มสูงขึ้น

Chen-Yu Zhang สันนิษฐานว่า microRNA จากธัญพืชและผักที่เรากินเข้าไปอาจจะมีผลต่อการทำงานของพันธุกรรมมนุษย์มานมนานกาเลแล้ว ดีไม่ดีอาจจะไม่ใช่แค่ข้าวหรือพวกกระหล่ำเท่านั้น แต่เป็นพืชทุกชนิดเลยที่มนุษยชาติเอามากินเป็นอาหาร

ผลการทดลองนี้อาจจะทำให้หลายคนเสียวๆ โดยเฉพาะกรณีของพืชที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมหรือ "พืช GM" ตรงนี้ผมก็คงบอกได้แค่ให้เสียวๆ กันต่อไปเถอะครับ เพราะนักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่แน่ใจนัก เคยมีการทดลองหนึ่งระบุว่าพบยีนที่เกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมในหมูที่กินข้าวโพด GM แต่พอนักวิจัยอีกกลุ่มทำการตรวจสอบในนมวัวที่เลี้ยงด้วยข้าวโพด GM กลับไม่พบอะไร หรือในกรณีของยีนถั่วเหลือง GM ที่เคยพบในแบคทีเรียในลำไส้มนุษย์ พอนักวิจัยทดลองในห้องทดลองกลับไม่พบว่าแบคทีเรียในลำไส้ของเราดูดซึมยีนจากถั่วเหลือง GM ได้

แต่การค้นพบว่าสารพันธุกรรมจากพืชสามารถทำงานได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็มีประโยชน์ในเชิงประยุกต์เหมือนกัน วันข้างหน้าเราอาจจะมีข้าวพันธุ์พิเศษที่สามารถเพิ่มหรือลดการทำงานของยีนในร่างกายเราได้ตามใจชอบ ตัวอย่างเช่น อยากหน้าเด้ง-กินข้าวยี่ห้อนี้, อยากผมสวย-กินผักคะน้า GM

ที่มา: Jusci



Create Date : 09 ตุลาคม 2554
Last Update : 9 ตุลาคม 2554 18:38:04 น.
Counter : 436 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Momotoy
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ตุลาคม 2554

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
12
13
19
23
24
25
28
30
31
 
 
All Blog