เมื่อตะวันยอแสง..เรี่ยวแรงก็เริ่มอ่อนล้า..พักลงตรงนี่ที่เดิมแล้วหลับตา..
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
5 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 

ลูกของแม่ พ่อของแผ่นดิน













ในโอกาสปีมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จัดนิทรรศการและการแสดง แสง เสียง และสื่อผสม ผ่านจอม่านน้ำ “ลูกของแม่ พ่อของแผ่นดิน ๘๐ พรรษา นฤบดินทร์ของปวงไทย” เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรี ในวันเสาร์ที่ 21 ต.ค. นี้ เวลา 18.00-20.00 น. ณ สวนเบญจกิติ โดย พล.ต.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก รองหัวหน้าส่วนกิจการพลเรือน ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ คมช.ในฐานะฝ่ายเลขาธิการคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า นำเสนอพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ รวมทั้งความรัก ความใกล้ชิด และความผูกพัน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อสื่อให้ผู้ชมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ในส่วนเนื้อหานิทรรศการแบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนที่ ๑ พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ จนถึงการเป็นพระราชชนนีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีสองพระองค์และพระราชกรณียกิจ อาทิ โครงการการปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่น, การจัดหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ไปยังถิ่นทุรกันดาร, โครงการแม่ฟ้าหลวง, การออกเยี่ยมเยียนราษฎร รวมทั้งตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น รวมถึงพระราชจริยวัตรและคำสอนในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นต้นแบบที่ดีแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ส่วนที่ ๒ พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว และหลักทศพิธราชธรรมในการปกครองประเทศ รวมถึงนำเสนอพระราชอัจฉริยภาพด้านอื่น ๆ อันได้แก่ ดนตรี วรรณกรรม วรรณศิลป์ และกีฬา ในส่วนของพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งป่า น้ำ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งโครงการหลวง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

สำหรับการแสดง แสง เสียง และสื่อผสม ผ่านจอม่านน้ำ ชุด “ลูกของแม่ พ่อของแผ่นดิน ๘๐ พรรษา นฤบดินทร์ของปวงไทย” เป็นเทคนิคพิเศษ ผสมผสานกับการแสดง แสง เสียง และสื่อผสมฉายบนม่านน้ำ ในเวลา 30 นาที ประกอบด้วย 3 องก์แสดง ได้แก่ สังวาลย์ โอบฟ้าอุ้มดิน พระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี การอบรมเลี้ยงดูหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ที่มีจิตใจดี และมีคุณธรรม องก์ที่ ๒ พระบารมีล้นเกล้า พระราชประวัติพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ ไม่เคยทอดทิ้งราษฎร ดั่งพระราชปณิธาน “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้งประชาชนอย่างไรได้” และองก์ที่ ๓ ลูกของแม่ พ่อของแผ่นดิน พระมหากรุณาธิคุณแห่งความเป็น พ่อของแผ่นดิน ซึ่งนับเป็นบุญของประเทศไทยที่มีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “แม่ฟ้าหลวง” ผู้พระราชทาน พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น “พ่อของแผ่นดิน” แก่ปวงชนชาวไทย.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สืบแทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จสู่สวรรคาลัยโดยกะทันหัน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ รัตนโกสินทร์ศก ๑๔๖ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซทท์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๓ พระนามเดิมว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช” ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระเชษฐภคินี ๑ พระองค์ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ๑ พระองค์ มีพระนามเดิมและพระอิสริยยศต่อมาตามลำดับ ดังนี้

หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงได้รับการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ให้ทรงมีพระยศทรงกรมว่า กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

หม่อมเจ้าอานันทมหิดล ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลจึงได้ทูลเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์เป็น พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ทรงพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ทรงได้รับการสถาปนามีพระยศทรงกรมว่า กรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้เสด็จทรงศึกษาวิชาการแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงสำเร็จวิชา แพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาลจากโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙ ต่อจากนั้นทรงได้รับทุนการศึกษาของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไปทรงเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๐ ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมราชชนก ขณะดำรงพระยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๓

เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาได้ ๑ พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับประเทศไทย ครั้งนั้นได้ประทับที่วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อีกหนึ่งปีต่อมา ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงพระประชวร และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ในปีเดียวกัน

เมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงรับพระราชภาระแห่งความเป็นแม่อย่างใหญ่หลวง เพราะต้องทรงอภิบาลพระโอรสธิดาองค์น้อยๆ โดยลำพังถึง ๓ พระองค์ และที่นับว่าเป็นพระราชภาระที่หนักยิ่งกว่าภาระของแม่ใดๆ ก็เพราะว่าพระโอรสธิดาที่ทรงอภิบาลรับผิดชอบนั้นต่อมาเป็นพระประมุขของประเทศถึง ๒ พระองค์ เพราะฉะนั้น การอภิบาลรักษาและการถวายการอบรมสั่งสอน จึงมีความยากและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

พระราชจริยาวัตรในเชิงสร้างสรรค์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงสอนพระโอรสธิดา ให้เรียนรู้เรื่องแผนที่และการใช้แผนที่ กล่าวคือ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ โรงเรียนเพาะช่างในสมัยนั้นจัดทำแผนที่ประเทศไทยโดยผลิตเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีกล่องไม้พร้อมฝาปิดเปิดสำหรับใส่เพื่อให้พระโอรสธิดาทั้ง ๓ พระองค์ ทรงเล่นเป็นเกมส์สนุกคล้ายการต่อรูปต่างๆ เป็นการสอนให้รู้จักประเทศไทย และรู้จักการดูการใช้แผนที่ไปพร้อมๆ กัน จึงกล่าวได้ว่าพระราชดำริสร้างสรรค์เหล่านี้ ประกอบกับคุณธรรมอีกหลายประการได้มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงต่อการที่ทรงอภิบาลและฝึกสอนพระโอรสธิดา ดังจะเห็นได้ว่าพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยาวัตรอันงดงามหลายประการในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ส่งผล ไปถึงพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยาวัตรของพระโอรสธิดา อาทิ พระราชอัธยาศัยโปรดการถ่ายรูปและถ่ายภาพยนตร์ ได้สืบทอดมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างครบถ้วน ดังจะเคยได้เห็นการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ใดจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์ คือ ทรงมีแผนที่ กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบด้วย เวลาทรงงานจะทรงใช้ยางลบเสมอ เมื่อทรงพบเห็นอะไรก็จะทรงขีดเขียนบนแผนที่ เช่นเดียวกับพระบรมราชชนนีที่ทรงกระทำมาก่อน บางครั้งจะทรงพบว่า ณ จุดทรงงานนั้นเป็นสถานที่บนภูเขาแต่ตามระวางของกรมแผนที่ระบุไว้ว่าเป็นธารน้ำ จึงดูคล้ายกับน้ำไหลขึ้นสูง และได้พระราชทานข้อสังเกตนี้แก่กรมแผนที่ซึ่งกรมแผนที่ได้สำรวจใหม่จึงพบว่าเป็นเรื่องผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เอง กลายเป็นน้ำไหลกลับขึ้นที่สูง จากนั้นกรมแผนที่ได้เขียนเป็นเอกสารถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักแผนที่ผู้ชำนาญพระองค์หนึ่งด้วย

พุทธศักราช ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ พรรษา ได้เสด็จทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา ๑ ปี หลังจากนั้นได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชไม่ทรงแข็งแรง จำเป็นต้องประทับในสถานที่ซึ่งอากาศดีและไม่ชื้น พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระปิตุลา ทรงแนะนำให้เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเอกอลเมียร์มองต์ (Ecole Mieremont) เมืองโลซานน์ พร้อมด้วยพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อจบชั้นประถมศึกษาแล้ว ก็ทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนเอกอล นูแวล เดอ ลาซืออิส โรมองด์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) เมืองแชลลี ซูร โลซานน์ (Chailly-sur-Lausanne)

พุทธศักราช ๒๔๘๑ ทรงจบการศึกษาจากโรงเรียนยิมนาส คลาสสิค กังโตนาล (Gymnase Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ แล้วทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ โดยเสด็จ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช หลังจากเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยชั่วคราวครั้งที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑ ครั้งหลังนี้ได้เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวังจนกระทั่งถึงวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน คณะรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในวันเดียวกัน

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชภารกิจในการศึกษาต่อ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนมิถุนายนของปีนั้น รวมเวลาที่เสด็จประทับในประเทศไทยได้ ๖ เดือน ในการทรงศึกษาต่อครั้งนี้ ทรงเลือกเรียนวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่แต่เดิมก่อนเสด็จนิวัตประเทศไทย

เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ผู้ซึ่งต่อมา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคลและในพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมมีพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ

พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทย ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลในเดือนมีนาคม ปีเดียวกัน

วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเดือนต่อมา

ข้อมูลส่วนแรกจาก

ข้อมูลส่วนที่สองจาก

มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช
อาคารเฉลิมพระเกียรติ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
โทร. ๐-๒๓๕๖๐๐๕๐-๕๒, ๐-๒๓๕๖๐๒๐๓ โทรสาร. ๐-๒๓๕๖๐๐๕๑-๒.
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เมล์ foundation@au.edu


ขอขอบคุณข้อมูลทั้งสองส่วนค่ะ









 

Create Date : 05 ธันวาคม 2550
1 comments
Last Update : 5 ธันวาคม 2550 0:04:19 น.
Counter : 1021 Pageviews.

 

ทรงพระเจริญ

 

โดย: ดุ๊ค IP: 125.26.160.31 5 ธันวาคม 2550 21:26:06 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สาว17
Location :
ลูกสาวเมืองสิงห์ Germany

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Color Codes ป้ามด







เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตครอบครัว
มีบางครั้งที่เราต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
มีบ้างบางครั้งที่เราต้องเลิกทำในสิ่งที่ชอบ
เพื่อความก้าวหน้าของชีวิตครอบครัว
มีบ่อยครั้งที่เราต้องรู้จักใช้สติ
ต้องรู้จัก อดทน และให้อภัย
ดูอย่างต้นไม้ซิ
มันไม่เคยที่จะผืนลิขิตของฤดูกาล
มันไม่คิดจะขัดธรรมชาติ
เมื่อถึงคราวต้องทิ้งใบก็ยินยอมแต่โดยดี
อดทนและอดทน
เพื่อผลิใบ และดอกผลเมื่อฝนมา
เพราะเมื่อเวลามาถึงทุกสิ่งจะดำเนินไป
ชีวิตที่เรียบง่ายคือชีวิตที่มีสุข








Free Hit Counter ทีเว็บมาสเตอร์ รวมพลคนทำเว็บ
Google
New Comments
Friends' blogs
[Add สาว17's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.