|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 |
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | |
|
|
|
อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี - เจ้าชายน้อย Le Petit Prince |
|
เจ้าชายน้อย Le Petit Prince
เขียนและวาดเรื่อง โดย อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดย คุณอำพรรณ โอตระกูล สำนักพิมพ์จินด์ (ฉบับครบรอบ 70 ปี) พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2556 สำนวนแปลโดยคุณอำพรรณ โอตระกูล ถือเป็นสำนวนไทยสำนวนแรก เป็นสำนวนที่ผมอ่านเสมอมา
จำได้ว่าตอนแรกที่ซื้อไม่ใช่ฉบับนี้ แต่ก็ยังคงเป็นสำนวนโดยคุณอำพรรณ ซึ่งเป็นสำนวนที่แพร่หลายที่สุดเท่าที่ผมเข้าใจ ตอนนั้นกระดาษจะหนา มัน ภาพและตัวอักษรพิมพ์ออกมาสวย ผมเอาปากกาเน้นข้อความสีเขียวอ่อนสะท้อนแสงขีดเน้นประโยคที่ชอบ จนหนังสือเลอะเทอะไปหมด บางวันที่ผมเครียดจนนอนไม่หลับ ผมต้องอ่านเล่มนี้จนจบถึงเข้าสู่ห้วงนิทราได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพียงสองสามครั้งเมื่อนานมาแล้ว ผมเห็นหนังสือเจ้าชายน้อยในวัยที่ยังอ่านไม่รู้เรื่อง ส่วนตัวแล้วมองว่าเป็นปรัชญาเสียมากกว่า
ผมมาสนใจอ่านก็ตอนภาพยนตร์เรื่องเพื่อนสนิทดัง (ภาพยนตร์ของพี่เอส คมกฤษ ตรีวิมล ที่เค้าโครงบทประพันธ์มาจากหนังสือเรื่อง กล่องไปรษณีย์สีแดง ที่เขียนโดยคุณอภิชาติ เพชรลีลา) แล้วในนั้นก็มีการกล่าวไปถึงหนังสือของเจ้าชายน้อยด้วย ผมก็เลยตัดสินใจมาอ่านจริงๆ จังๆ
พอมันถึงเวลาที่เหมาะสม มันก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นมาได้เอง ที่ผมชอบแรกๆ เลยก็คือคำอุทิศ ชอบตรงที่เขาเปลี่ยนคำอุทิศ ‘แด่ เลออง แวร์ท’ มาเป็น ‘แด่ เลออง แวร์ท สมัยเมื่อเขายังเป็นเด็กน้อย’ รูปช้างที่อยู่ในตัวงูเหลือมที่นักบินตัวเอกในเรื่องวาดขึ้น มันค่อยๆ ทำให้ผมได้เข้าใจมุมมอง ผู้ใหญ่เขามองอย่างนั้นจริงๆ แหละ...ผมคิด แล้วบางทีพอเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เด็กก็อาจจะมองเราแบบนั้นก็ได้ อยู่ที่ว่าเราจะมองตัวเองออกหรือไม่ก็เท่านั้น...
แล้วนักบินก็ได้พบกับเจ้าชายน้อย “กรุณา...วาดแกะให้ฉันตัวหนึ่งเถอะ” ตอนที่นักบินวาดกล่องแล้วบอกว่าแกะอยู่ในนั้น ผมก็เริ่มชอบเจ้าชายน้อยขึ้นมาในทันที
เจ้าชายน้อยค่อยๆ เล่าเรื่องราวของเขา พูดถึงเรื่องต้นไทรและอันตรายของมัน ผมชอบตอนที่เจ้าชายน้อยพูดถึงเรื่องอาทิตย์อัสดงมาก “ในวันหนึ่งๆ ฉันเห็นดวงอาทิตย์ตกตั้งสี่สิบสามครั้ง” และผมก็ชอบดาวดวงเล็กของเขา ไม่ว่าผมจะอ่านสักกี่รอบ ผมไม่รู้สึกว่าการดูพระอาทิตย์อัสดงเป็นเรื่องเศร้า มันเป็นเรื่องที่ผมคิดว่างดงามเสียด้วยซ้ำ ไอ้นี่แหละส่วนที่ผมชอบ...มันตีความแยกได้หลายความหมาย การอ่านแต่ละรอบมันให้ข้อคิดต่างกัน ความรู้สึกก็ยังต่างกัน
“หนามมีไว้ทำไมนะ?” ประเด็นในส่วนดอกไม้ก็มีแง่มุมให้ขบคิด ที่ผมชอบประโยคหนึ่งแล้วอ่านมันซ้ำบ่อยๆ ก็คือ... “ถ้าใครคนหนึ่ง รักดอกไม้ดอกหนึ่งซึ่งมีเพียงดอกเดียวเท่านั้นในดวงดาวนับพันล้านดวง เพียงแต่เขาได้มองดูมันเท่านั้นก็ทำให้เขามีความสุขพอแล้ว” มันทำให้เราเริ่มมีความรู้สึกตามไปกับหนังสือ อยากรู้จักเจ้าชายน้อยมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ความสัมพันธ์ของเจ้าชายน้อยกับดอกไม้ มีหลายแง่มุมให้เราขบคิด พร้อมๆ กับอักษรที่รังสรรค์ความละมุนในบางแง่มุมที่ได้รับจากผู้เขียน พร้อมๆ กันกับที่เราได้แง่คิดของความไม่แน่นอนในบางมุม
เจ้าชายน้อยลาจากดอกไม้ ลาจากดวงดาวของเขา ได้ออกเดินทางไปยังดาวต่างๆ เห็นผู้คนในรูปแบบแปลกๆ แล้วในแต่ละรูปแบบก็ดูไม่ต่างไปจากผู้คนบนโลกใบนี้ที่เรารู้จักเลย
เมื่ออ่านซ้ำๆ สิ่งที่ผมยังรู้สึกเหมือนเดิมก็คือดวงดาวของคนจุดโคม มันสวยงามและมีความหมายทุกครั้งที่อ่าน ดาวดวงที่มีอาทิตย์อัสดงถึง 1440 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
ผู้คนส่วนใหญ่จะอินหรือมีความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องสุนัขจิ้งจอก เรื่องราวตอนที่เจ้าชายน้อยไปพบกับสุนัขจิ้งจอกนั้นจะพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ มันทำให้เจ้าชายน้อยคิดไปถึงเรื่องดอกไม้บนดาวของเขา แล้วเรื่องนี้แหละ ที่ภาพยนตร์ชอบนำไปเปรียบเทียบในแง่ของความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่อง อาจจะตีความกันได้หลายแบบ แต่หลักๆ แล้วเราก็ประทับใจไปกับบทนั้น
“สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา”
ในบทท้ายๆ ผมอ่านแต่ละครั้งให้ความรู้สึกไม่เหมือนกันนะ บางครั้งผมก็เศร้า บางครั้งผมก็สุข บางครั้งผมก็คิดว่างูคือตัวร้าย บางครั้งผมก็คิดว่างูคือผู้ทำให้เจ้าชายน้อยเป็นอิสระ
ภาพดาวดวงหนึ่งในท้ายบท ให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแต่ละครั้งที่ได้อ่าน บางครั้งผมคิดว่ามันจบแบบเศร้า บางครั้งพออ่านจบแล้ว ก็คิดถึงเจ้าชายน้อย และบางครั้ง...ผมกลับรู้สึกว่า Happy Ending เจ้าชายน้อยกลับไปหาดอกไม้ของเขาแล้ว...
ผมรู้สึกว่า...เจ้าชายน้อย เป็นหนังสือที่ดูเหมือนทำให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เขียนอย่างใกล้ชิดที่สุด แม้ว่าเราจะเป็นเพียงผู้อ่านบทประพันธ์ของเขาแต่เพียงฝ่ายเดียว ซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม...
Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2566 |
|
0 comments |
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2566 22:06:59 น. |
Counter : 698 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|