ต้นทุนชีวิตคือการสะสมความเคยชินที่ดี
ก่อนเผชิญหน้ากับความกลัว (ก้าวข้ามความกลัวฯ 2)




วันนี้ (ณ วันนั้น) เป็นวันแรกของการฝึกปฏิบัติธรรมที่วัด นอกจากปฐมนิเทศแล้ว ตารางเวลาทั้งหมดถูกกำหนดชัดเจน เล่าไว้ตรงนี้นิดนึงก็แล้วกันนะคะ

ทำวัตรตีสี่ค่ะ (ที่กุฏิพักกันทั้งหมดห้าคน ห้องน้ำหนึ่งห้อง เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงต้องพยายามตื่นให้ได้ตอนตีสาม ฮ้าววว…ตายังปรืออยู่เลยค่ะ แต่ต้องเตรียมแย่งคิวใช้ห้องน้ำกันแล้ว)

หลังทำวัตรเช้า พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต เทศน์ให้ฟังทุกวัน ประมาณวันละสามสิบนาที (พอดีเป็นช่วงเข้าพรรษาค่ะ เลยได้ฟังเทศน์สด เนื้อหาเกี่ยวกับการฝึกปฏิบัติและการน้อมนำธรรมะไปประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตคนเมือง)

ตีห้า พระอาจารย์ทรงศิลป์ สุจิณฺโณ นำฝึกปฏิบัติค่ะ (เป็นพระอาจารย์หรือ "ครูใหญ่" ที่เยี่ยมยอดที่สุดเลย ตั้งแต่เมตตา มุทิตา กรุณา อุเบกขา ความเคร่งในวัตรปฏิบัติและอารมณ์ขันอันเหลือเฟือ…..แล้วเดี๋ยวจะทยอยเล่าสู่กันนะคะ)

หกโมงเช้า พระอาจารย์วัฒนชัย (ซึ่งอยู่ช่วยดูแลนักปฏิบัติธรรมตลอดเวลาอบรมฯ) พาเดินป่าเดินเขาค่ะ โดยเฉลี่ยประมาณสองถึงสี่กิโลเมตร แล้วแต่ว่า พระอาจารย์ทรงศิลป์ “ปล่อย” จากการปฏิบัติช้าหรือเร็ว ที่วัดป่าสุคะโตนี้มีพื้นที่ห้าร้อยไร่นะคะ วงรอบที่พระอาจารย์พาเดินมักเปลี่ยนไปไม่ซ้ำกันในแต่ละวันค่ะ

เจ็ดโมงครึ่ง ระหว่างพระตักอาหาร ท่านเจ้าอาวาสจะเดินไปตักก่อน และใช้เวลาในการตักอาหารเร็วมาก เพราะหลังจากนั้นท่านจะเทศน์ให้ชาวบ้านและนักปฏิบัติธรรมฟังระหว่างรอพระทั้งหมดตักอาหารค่ะ เวลาเทศน์โดยประมาณสิบห้านาทีนะคะ เนื้อหาโดยรวมเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการคิดไตร่ตรองเกี่ยวกับการบริโภคต่าง ๆ เมื่อเทศน์จบ พระสวดให้พรแล้ว กลุ่มนักปฏิบัติธรรมก็ทยอยกันออกมาตักอาหารและเข้าไปทานอาหารเช้าในเวลาเดียวกันกับพระค่ะ หลังอาหารเช้าก็ทำความสะอาดภาชนะใส่อาหาร จัดการธุระส่วนตัว

เก้าโมงเช้าฝึกปฏิบัติต่อจนถึงห้าโมงเช้า แล้วเดินจากหอไตร (ศาลาหอไตรลักษณ์) ซึ่งเป็นศาลาฝึกปฏิบัติมาที่ศาลาหน้าซึ่งเป็นสถานที่ที่พระฉันอาหารและทำกิจกรรมต่าง ๆ กับชาวบ้าน เดินถึงก็พอดีเกือบเพล

หลังอาหารกลางวันแล้วมักต่อด้วยกิจกรรมของการฝึกปฏิบัติแล้วแต่พระอาจารย์จะกำหนดนะคะ แล้วก้อฝึกยาวไปโน่นเลยค่ะ เย็นเลย…

สี่โมงเย็นเดินมาจากหอไตรเพื่อดื่มน้ำปานะที่ศาลาหน้า หลังจากนี้ก็ไปเข้าคิวอาบน้ำในกุฏิของแต่ละคนเอง

หกโมงตรงทำวัตรเย็น ประมาณสามสิบนาที พระไพศาลท่านเทศน์ต่ออีกประมาณสามสิบนาที

ประมาณหนึ่งทุ่มก็เป็นรายการฝึกปฏิบัติธรรมต่อกับพระอาจารย์ค่ะ จนประมาณสองทุ่มครึ่งจึงแยกย้ายกันกลับกุฏิ

วงจรชีวิตของวันเริ่มอีกครั้งเมื่อพร้อมหน้ากันที่หอไตรเพื่อทำวัตรเช้าตอนตีสี่ค่ะ

อ้อ, อบรมที่นี่ ทุกคนมี “ที่ประจำ” นะคะ ใครหาย ใครสาย หรือแม้แต่ใครขาด เป็นอันว่าอยู่ในสายตาพระอาจารย์ตลอดเวลาค่ะ ไม่เว้นแม้แต่นักฝึกกรรมฐานหลังห้อง อิ อิ

ดูตารางกิจกรรมแล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ คนเขียนเองทำตามไปโดยอัตโนมัติค่ะ เชื่อคำที่พระบอกตั้งแต่ตอนปฐมนิเทศแล้วว่า ไม่ต้องคิดอะไร อยู่ไปวัน ๆ ก็เลย อยู่ไปวัน ๆ จริง ๆ

แต่สองวันแรกนี่ อยู่ไปแบบไม่รู้อะไร แหะ แหะ คือพระท่านสอนให้ทำอะไร ก็ทำตามไม่ค่อยได้ มันคอยจะสับสน งง ๆ ผสมกับง่วง ๆ อิ อิ เอายังไงกันดีน้า..!?

ตั้งแต่วันแรก พระท่านสอนวิชากรรมฐานเลยค่ะ ท่านอธิบายว่า เป็นการฝึกปฏิบัติแบบมีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวตามแบบของหลวงปู่เทียน จิตตฺสุโภ คือนั่งยกมือแบบมีสติตามรู้รวมสิบสี่จังหวะค่ะ การนั่งนี่ให้นั่งลืมตานะคะ ให้รู้ตัวเองและรู้โลกภายนอก อยู่กับคนจำนวนมากให้เหมือนกับอยู่คนเดียว (กลับมาอยู่ในสังคมเดิมจะได้อยู่ได้เป็นปกติค่ะ) การนั่งยกมือสิบสี่จังหวะนี้ถ้าเมื่อย หรือง่วงหลับก็ให้ทำสลับกับการเดินจงกรมค่ะ คือเดินกลับไปกลับมาในเส้นทางเดิม โดยเคลื่อนไหวเฉพาะเท้า แต่มือให้ประสานนิ่งไว้กับตัว จะกอดอก ไพล่หลัง หรือจับกันไว้เบา ๆ ด้านหน้าก็ได้

สองวันแรกที่ทำ ก็ทำไปอย่างนั้นนะคะ ไม่ง่วงก็งง ที่งงก็เพราะดูจากภาพที่ติดอธิบายไว้ แล้วดูที่พระแต่ละรูปทำ ไม่เหมือนกันเลย นอกจากนั้น คนที่มาฝึกร่วมกันอีกรวมแปดสิบคน ก็ไม่เห็นมีใครเหมือนกันเลย มีเร็ว มีช้า มีสูง มีต่ำ มีตรง มีเอียง มีค้าง (เพราะคนทำหลับ เลยยกมือค้างกลางอากาศ อิ อิ)

จะเป็นอย่างไรต่อไปหนอ….ตาสอดส่ายเห็นโน่นนี่น่ะไม่เท่าไร แต่ไอ้ใจที่ล่องลอยไปคิดโน่นนี่ นี่สิน่าเป็นห่วงกว่า และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็ตรงคืนที่สามพระอาจารย์บอกว่าจะมีหนังฉายให้ดู….

อยู่วัดมีหนังฉายให้ดูมันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “อาไร้……” ใจคิดไปรอล่วงหน้าได้เลยค่ะ ก็พระอาจารย์บอกว่าตอนสอบจะให้เดินผ่านป่าช้าทีละคน สงสัยหนังที่จะให้ดูจะเป็นหนังเกี่ยวกับผีหรือซากศพ ประมาณว่า ฝึกเราเพ่งอสุภะหมู่

เอาละสิ ยิ่งกลัวยิ่งคิด ยิ่งคิด ยิ่งกลัว……

ไหน ๆ ก็ ไหน ๆ ลองดูก็แล้วกัน (ไม่ลองจะทำอย่างไรได้ กลับบ้านเองไม่ถูกนี่คะ กว่าพ่อลูกจะมารับก็อีกตั้งหลายวัน) ปลอบใจตัวเองให้สู้กับความกลัวค่ะ หนามยอกก็ต้องเอาหนามบ่งนะ อย่างน้อย ๆ พระท่านก็เมตตา จะให้ดูผีทั้งทียังให้ดูรวมหมู่ตั้งแปดสิบคนบนศาลา!

บอกตัวเองว่า สู้ ๆ ค่ะ

(แต่ตอนนี้ต้องพักหน่อยนึงก่อน เพราะต้องให้เวลาพวกผู้ชายช่วยพระท่านติดตั้งจอภาพกับตั้งเครื่องฉายดีวีดีก่อนนะคะ แล้วเจอกันใหม่ ตอนหนังพร้อมฉายค่ะ)




หมายเหตุ 1 ภาพดอกบัวด้านบน ถ่ายจากสระน้ำที่วัดป่าสุคะโตค่ะ ภาพจากวัดจะมีแค่นี้เอง เพราะเมื่อเริ่มฝึกปฏิบัติแล้ว อุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดคือใจกับกายค่ะ อย่างอื่นไม่ได้ใช้เลย พระอาจารย์ท่านบอกว่า เป็นของแสลงสำหรับการฝึกกรรมฐานค่ะ

หมายเหตุ 2 กรรมฐานเป็นของสูง แม้ตั้งใจจะนำมาเล่าถ่ายทอดสู่กันฟัง แต่ในฐานะแลกเปลี่ยนประสบการณ์หนึ่งของเพื่อนชาวบล็อกเท่านั้นนะคะ ถ้าใครสนใจอยากฝึกปฏิบัติจริง ๆ แนะนำว่าครั้งแรกควรฝึกกับครูบาอาจารย์ที่ท่านเชี่ยวชาญและสม่ำเสมอในการเจริญสติจริง ๆ ไม่อยากให้ทำเองค่ะ การเรียนรู้ธรรมะจากชีวิต จากสื่อต่าง ๆ เป็นสิ่งดีและสามารถทำได้โดยทั่วไปตามความเหมาะสมของแต่ละคน แต่ถ้าจะ "ฝึก" จริง ๆ แล้วแนะนำให้มีครูค่ะ "วิปลาส" กับ "วิปัสสนา"นี่ เส้นแบ่งมันใกล้กันมากนะคะ






Create Date : 13 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2551 9:14:58 น. 6 comments
Counter : 2313 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะพี่พี
--------------------------------------------------------
แวะมาทบทวน "ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน" (อีก) ค่ะ

ทำให้คิดถึงเมื่อครั้งไปเรียนรู้การใช้ชีวิตกับธรรมชาติ ณ วัดป่าภูผาผึ้ง จ.มุกดาหาร

มีธรรมะเป็นสะพานเพื่อข้ามพ้นกิเลส
มีพระสงฆ์ พระอาจารย์เป็นผู้แนะนำ
มีสหมิกธรรม เป็นมิตรร่วมเดินทาง
เพื่อบรรลุสู่ความสงบในชิวิตจิตใจ
------*------



โดย: สาวบ้านนอก ณ ขอนแก่น วันที่: 13 พฤศจิกายน 2551 เวลา:12:32:42 น.  

 
ฮิฮิ เคยได้ยินเหมือนกัน ว่าทำเอง พลาดไป จะกลายเป็นวิปลาสดอกบัวสวยมาเลย ถ่ายรูปได้มุมงามจริงๆค่ะ เห็นริ้วบนกลีบดอก และพื้นผิวบนใบบัวเลยเยี่ยมมาก
ได้ฟังธรรมกับพระไพศาล วิสาโล ตัวจริงด้วย ข้อยมีแต่ได้ฟังธรรมจากหนังสือ ไม่เป็นไร เหมือนกันแหละ ได้ฟังธรรมจากท่านนัชท์ ฮันห์ เล่มภาษาอังกฤษนี้ ดีมากเลย จะได้เป็นอุบายให้คุ้มอ่านด้วย เล่มนี้คงจะตั้งใจเขียนให้ย่อยง่าย ไม่เหมือนเล่ม "สู่ชีวิตอันอุดม " ที่ส.ศิวลักษณ์แปล ให้ใครยืมอ่าน เขารีบเอามาคืนทุกทีเลย ฮิฮิ แต่ข้อยชอบเล่มนั้นที่สุด อ่านแล้วอ่านอีก เยินมากสงสัยจังว่าทำไม แม่ชอบพูดถึงลูกว่าเป็นเด็กอ้วน ตอนเด็กๆ เวลาแม่พูดถึงข้อยว่าขี้ก้าง สูงโย่ง ไม่เคยรู้สึกดีเลย แล้วมันแอบอยู่ในใจตลอดเวลา จนโตเป็นผู้ใหญ่ ถึงคิดได้ว่า ถึงจะผอม จะสูง ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ให้ดูที่ข้างใน สุกใสสกาววาว

เล่าอีกนะ ทำเป็นตอนๆ ขอประสบการณ์ร่วมค่ะ


โดย: แมลงโง่ (Bug in the garden ) วันที่: 13 พฤศจิกายน 2551 เวลา:17:38:28 น.  

 
คุณสาวบ้านนอกฯ คะ
ไม่เสียทีที่อยู่บ้านนอกนะคะ ได้ไปวัดป่า ได้ฝึกอะไรที่มีคุณค่าในตัวเอง ต่อไปคงต้องชวนมาคุยที่บล็อกแข่งกับสาวชานเมืองฯ บ้างแล้ว

และถึงคุณแมลงพันชื่อค่ะ

ขอบคุณคำชมเรื่องภาพดอกบัวนะคะ เด็กชายคนถ่ายหน้าบานกว่าใบบัวแล้วค่ะ

เด็กมักถูกเรียกชื่อในลักษณะทางกายภาพอยู่บ่อย ๆ สำหรับคนที่ไม่รู้จักรู้ชื่อนะคะ

คนอื่นพูดถึงลูกอ้วนในความหมายใดไม่ทราบค่ะ แต่การที่เรียกลูกชายเป็นเด็กอ้วนในที่นี้คืออยากให้เขารับทราบและซึมซาบกับความหมายทางใจที่มากับคำว่า "อ้วน" ค่ะ เชื่อว่าลูกจะสัมผัสได้ว่า เวลาแม่เรียกว่าหมีอ้วน เด็กอ้วน ฯลฯ มีความรักความเข้าใจและมีคุณค่าของตัวเขาอยู่ในคำว่าอ้วนนั้นด้วย เมื่อเวลาคนอื่นเรียกเขาว่า "อ้วน" เขาจะได้ไม่รับเฉพาะความหมายที่กึ่งเอ็นดูกึ่งตลกขบขันจนทำให้ความอ้วนของเขาทำให้เขาต้องรู้สึกว่าตนเองเป็น "พลเมืองชั้นสอง" เหมือนที่สาวอ้วนหนุ่มอ้วนทั้งหลายรู้สึกกันอยู่แพร่หลายในปัจจุบันนี้ค่ะ (เพราะแม่เขาก็อ้วนด้วย แหะ แหะ...)

ชวนลูกลดความอ้วน ไม่ใช่เพราะค่านิยมสมัยนี้นะคะ แต่เพราะเขามีปัญหาทางสุขภาพ (เขาเริ่มมีภาวะดื้ออินซูลินแล้วค่ะ)

ไม่ได้ส่งเสริมให้ใครอ้วนหรือผอม แต่อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของตัวเองมากกว่าแรงกระทบจากค่านิยมทางสังคมเกี่ยวกับความอ้วนความผอมความสวยความงามความหล่อเท่เก๋ ฯลฯ.......

ถ้ามองทะลุภาพลักษณ์ทางกายภาพของตัวเองและคนอื่นได้ คนเราก็ทุกข์น้อยลงไปอีกเรื่องนะคะ



โดย: กังสดาล IP: 125.27.50.33 วันที่: 13 พฤศจิกายน 2551 เวลา:18:27:35 น.  

 
ภาวะดื้ออินซูลินเป็นยังไง แบบคนเป็นเบาหวานไหม ถ้ายังอายุน้อยอยู่แล้วเป็นอะไรที่หนักหนา เมื่ออายุมากขึ้น คงต้องลำบากหนักหนา ชมต่อเรื่องดอกบัว แสงก็ดีมากเลย น้องเขามีสายตาแบบศิลปินนะ ข้อยรู้จักศิลปินชาวเยอรมันอยู่คนนึง เขาเขียนรูปใบตองแห้งออกมาสวยมาก ตายละหวา ให้ยายที่บ้านนอกดู เขามองไม่เห็น แต่ศิลปินมองเห็น น้องเขามีมุมและสายตาแบบเดียวกันจริงด้วยนะ
ยังตามตื้อเรื่องผีต่อ เล่าหน่อยๆ อยากฟัง
เรื่องความคาดหวังนี่ มีเพื่อนที่รักคนนึงพูดว่า ที่เราโกรธเพราะเราคาดหวัง แล้วมันไม่เป็นตามที่เราหวัง...อีกคนนึงบอกว่าให้ตามดูความคิด ระมัดระวังกำกับให้ดี เพราะมันเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเรา และท้ายสุดผลแก่ชีวิตและจิตใจของเรา ...ข้อยเห็นด้วยกับเพื่อนสองคนนี่ ...บางครั้งเวลาทำอะไร ข้อยเห็นความเป็นของเพื่อนสองคนนี้ปรากฎ ...ตัวเราเป็นส่วนประกอบของคนอื่นๆ...ตาข่ายพระอินทร์ ...ดีจังที่ได้มีเพื่อนแลกเปลี่ยนสนทนา...ขอบคุณค่ะ


โดย: แมลงโง่ (Bug in the garden ) วันที่: 14 พฤศจิกายน 2551 เวลา:16:32:53 น.  

 
ภาวะดื้ออินซูลินคืออาการเตือนเบื้องต้นก่อนเป็นเบาหวานค่ะ มีความผิดปกติในเลือดและแสดงออกเป็นปื้นดำรอบคอ คุณหมอบอกว่า ถ้าลดน้ำหนักลงได้ จะช่วยป้องกันได้ส่วนหนึ่งค่ะ

บอกลูกชายว่ามีคนชมว่าถ่ายภาพสวย เขาอมยิ้มแล้วบอกว่า ตั้งใจจะถ่ายผึ้งที่มากินเกสรบัวต่างหาก
แต่ไหงภาพออกมาเป็นแบบนี้ แถมผึ้งก็ไม่มีด้วย...

เรื่องผีเป็นอย่างไรขออนุญาตไม่คุยผ่านบล็อกค่ะ อยากพูดถึงเฉพาะแค่ความกลัว

ยินดีที่ได้รู้จักตาข่ายพระอินทร์ และยินดีอย่างยิ่งที่ได้รู้จักคุณแมลงพันชื่อ อิ อิ สักวันคงได้รู้จักตัวนะคะ



โดย: kangsadal วันที่: 15 พฤศจิกายน 2551 เวลา:11:56:59 น.  

 
ดีนะที่ยังรู้ทัน จะได้ป้องกันได้ แล้วน้องเขารู้ไหมคะว่าอาการเบาหวานมันเลวร้ายมาก ทำให้อดกินของอร่อยๆ ตลอดไปสงสัยว่าจะเป็นวิญญานผึ้ง แฮ่ เลยถ่ายรูปออกมาไม่ติด เห็นแค่ตาเปล่า
The art of Power เขาว่า มันมีพลังดึงดูด สำหรับผู้ที่มีพืชชนิดเดียวกันเข้ามาหากัน ข้อยไม่แปลกใจที่เราคุยกันสนุก ในขณะที่ปกติ ข้อยไม่ค่อยจะคุยกับใครหรอก ฮิฮิ คนที่ไม่รู้จักข้อยจริงๆ เขามักพูดว่า ข้อยเป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย เป็นฤาษี อะไรทำนองนั้น


โดย: แมลงโง่ (Bug in the garden ) วันที่: 16 พฤศจิกายน 2551 เวลา:8:39:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kangsadal
Location :
เวียงจัน Laos

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]






พระจันทร์เต็มดวงคนมองเห็นได้บางวัน
เช่นกันกับวันที่เห็นพระจันทร์เสี้ยว
แต่ทุกวัน....
พระจันทร์เต็มดวง
online
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
13 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kangsadal's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.