ในสัปดาห์แรกของการเรียน ลูกชายขะมักเขม้นกับการบ้านชิ้นแรกของวิชาวิทยาศาสตร์ แม่ถามว่าเกี่ยวกับอะไร คำตอบลอยงึมงำมาว่า
วันเกิดนักฟุตบอล
การบ้านของลูกทำเอางงทั้งแม่ทั้งลูก หนุ่มน้อยนั่งอ่านบทความที่ครูแจกในห้องแล้วบอกแม่ว่า
นักบอลเก่ง ๆ ในฟุตบอลโลกเกิดช่วงต้นๆ ของปี มีคำถามด้วยว่าเพราะอะไร เพราะ ก. เดือนเหล่านี้เป็นดวงนักบอล ข.เพราะเด็กเกิดหน้าหนาวปอดใหญ่เล่นกีฬาได้ดี ค. พ่อแม่มีลูกช่วงฤดูใบไม้ผลิที่มักเป็นหน้าแข่งบอล หรือ ง. ที่ตอบมาไม่ถูกซักข้อ
แม่คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยอ่านเจอเรื่องราวทำนองนี้ที่ไหนแต่ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับการเรียนวิทยาศาสตร์ของลูกอย่างไร เลยขอยืมการบ้านลูกมานั่งอ่านดู ปรากฏว่าเป็นบทความเก่าปี 2006 จากหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์คไทม์ บทความยาวขนาดสามหน้ากระดาษเอสี่ อดถามลูกไม่ได้ว่า อ่านไหวเหรอเนี่ย ลูกชายทำหน้าเหย ๆ ตอบว่าเพื่อน ๆ ในห้องอ่านกันแป๊ปเดียวก็จบแล้ว อ่านไม่ทันเพื่อนเลยต้องเอากลับมาอ่านต่อที่บ้าน
มันเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ตรงไหน
นี่คือคำถามที่ลูกอ่านไปเปิดดิคชั่นนารีไปจนจบแล้วก็ยังตอบไม่ได้
เจตนาที่แท้จริงของบทความอยู่ตรงที่ว่า แม้นักบอลดัง ๆ จะเกิดในช่วงต้นปี แต่เดือนเกิดเป็นเพียงปัจจัยแรกที่ทำให้ถูกคัดเลือกเข้าเป็นนักกีฬา เนื่องจากการแข่งบอลเยาวชนมักกำหนดอายุและใช้วันสิ้นปีเป็นตัวตัดสิน เด็กที่เกิดก่อนในช่วงปีเดียวกันโดยเปรียบเทียบแล้วย่อมโตกว่า แข็งแรงกว่า และมีวุฒิภาวะมากกว่า โอกาสการได้รับการคัดเลือกเข้าทีมย่อมมากกว่า แต่สาเหตุหลักจริง ๆ ที่ทำให้นักบอลเหล่านั้นเป็นนักบอลชั้นนำก็เพราะ พวกเขาได้รับโอกาสให้สามารถ ฝึกหนักอย่างตั้งอกตั้งใจ โดยมีโค้ชให้คำติชมและแนะนำอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ แล้วสิ่งที่ตามมาจากนั้นก็คือ ความเชื่อมั่นในตัวเอง การมีทัศนะที่ดีกับตัวเอง เมื่อรวมกับการฝึกอย่างหนักพร้อมคำแนะนำอย่างมีความหมายแล้ว นักบอลเหล่านั้นจึงสามารถก้าวไปสู่การเป็นนักบอลชั้นนำของโลกได้
ในความเห็นของผู้เขียนบทความนี้ หลักการที่สำคัญของการประสบความสำเร็จก็คือการฝึกฝนอย่างจริงจัง การได้รับผลลัพธ์พร้อมคำวิจารณ์แนะนำที่มีประโยชน์ทันที และการให้ความสำคัญกับเทคนิคการฝึกปฏิบัติมากเท่ากับผลที่ต้องการ สามสิ่งนี้ทำให้บุคคลประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ตนเองเลือกทำ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา นักดนตรี ศัลยแพทย์ นักเขียน นักพัฒนาโปรแกรมซอฟแวร์ ฯลฯ แม้ผู้เขียนบทความจะยอมรับเรื่องของพรสวรรค์ เช่นกรณีของไมเคิล จอร์แดน ว่า โดยเปรียบเทียบแล้วไมเคิลเล่นบาสได้ดีกว่านักบาสทั่วไปส่วนใหญ่ แต่เขาจะไม่มีวันเป็นไมเคิล จอร์แดนอย่างที่เขาเป็นหากขาดจากการฝึกซ้อมอย่างหนักในโรงยิม ผู้เขียนจึงยืนยันว่า A star is made, not born.
แล้วมันเกี่ยวกับการเรียนวิทยาศาสตร์อย่างไร
คำถามของลูกชายลอยไปมา เช่นเดียวกับคำตอบที่ลอยวิบวับอยู่ในหน้ากระดาษ ตรงจุดแทรกอีกหนึ่งข้อสรุปของบทความที่ว่า ความรักในสิ่งที่ทำเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ให้ การฝึกหนักอย่างตั้งอกตั้งใจ สามารถดำเนินไปได้อย่างสม่ำเสมอ แม่ถามลูกชายไปว่า ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ไหม ท่าทางพ่อหนูเหมือนไม่แน่ใจ มองบทความตรงหน้าและคงจะนึกถึงครูวิทยาศาสตร์คนใหม่ในห้องก่อนจะตอบอ่อย ๆ ว่า
ชอบเหมือนกัน แต่มันยาก ศัพท์มันยาก..
อ้าว, จากวิชาวิทยาศาสต์กลายเป็นวิชาภาษาอังกฤษไปแล้ว
ไม่เป็นไร อ่านดูแว้บ ๆ ในหนังสือแนะนำหลักสูตร IB เห็นอยู่เหมือนกันว่า ทุกวิชาเรียนมีสาระเนื้อหาของแต่ละวิชาเอง แต่ต้องเรียนอย่างมีความเกี่ยวพันกับวิชาอื่น ๆ ด้วย วันนี้ได้เห็นความเกี่ยวพันนั้นแล้วอย่างน้อย ๆ ก็อีกหนึ่งวิชา และลูกของแม่คงเริ่มเห็นแล้วด้วยว่า คำท้าทายของครูในวันปฐมนิเทศที่เพิ่งผ่านมานั้นหมายความว่าอย่างไร แกล้งย้อนถามลูกว่า รู้หรือยังว่ามันเกี่ยวกับการเรียนวิทยาศาสตร์อย่างไร ลูกชายมองตาแม่แล้วคงเดาได้ว่าจะสอนอะไรต่อเลยรีบตัดบทว่ารู้แล้ว แม่ย้ำถามว่ารู้อะไร
"อย่าขี้เกียจ!"
Note: ผู้สนใจบทความ A Star Is Made by Stephen J. Dubner and StevenD.Levitt สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ //www.nytimes.com/2006/05/07/magazine/07wwln_freak.html