Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
1 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
เศรษฐกิจ.ไทยใต้เงาวิกฤตโลก ปีมังกรจะยุ่งหรือจะรุ่ง

"เห็นได้ชัดว่าเมฆตั้งเค้าทะมึนที่ขอบฟ้าโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหภาพยุโรปและในสหรัฐ วิกฤตหนี้ที่กำลังดำเนินอยู่ในยุโรปส่งผลให้ลู่ทางเศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน แม้ความพยายามแก้วิกฤตกำลังมุ่งไปถูกทิศทางก็ต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นอีกมาก ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐก็กำลังชะลอตัว ต้องดิ้นรนหาหนทางกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและแก้ไขอัตราว่างงานสูงเรื้อรัง เหตุปัจจัยเหล่านี้ประกอบกันเป็นภัยคุกคามใหญ่ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก"

"เศรษฐกิจของเอเชียนับว่าแข็งแกร่ง แต่ต้องเตรียมตัวรับพายุใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น เราไม่ควรหลงผิดว่าเอเชียมีภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามดังกล่าว"

คำกล่าวของ คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ขมวดภาพของเศรษฐกิจโลกทั้งใบทั้งในปัจจุบันและในปีหน้าได้อย่างชัดเจน

กล่าวสำหรับเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งใบบุญเศรษฐกิจโลกเกือบจะเต็มตัว รายได้หลักมาจากส่งออกถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ตลาดหลักสินค้าไทยคือ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น หากเศรษฐกิจทั้ง 3 ประเทศยักษ์ใหญ่มีอันเป็นไปย่อมส่งผลถึงประเทศไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง



ยุโรปโคม่า-อเมริกาถังแตก

ฉุดเศรษฐกิจโลกสะดุด

ขณะที่ไทยต้องเผชิญกับมหาอุทกภัยร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี อีกซีกโลกหนึ่ง สหภาพยุโรปหรืออียูกำลังประสบกับปัญหา "วิกฤตการเงินและหนี้สาธารณะ" จนถึงวันนี้ยังหาทางออกไม่เจอ ล่าสุดถึงขั้นมีการออกมาตรการห้ามประเทศสมาชิกขาดดุล งบประมาณเกิน 0.5% หากทำผิดกติกาต้องรายงานให้คณะกรรมาธิการยุโรปเข้าไปตรวจสอบและอาจถูกลงโทษได้

นั่นแสดงว่าอาการของยุโรปกำลังอยู่ในสภาพ "ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี" เลยทีเดียว

ปัญหาของยุโรปปะทุขึ้นมา 2-3 ปีแล้ว เริ่มจากกรีซที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนหนี้แตะระดับ 180% ของจีดีพี ยังลุกลามไปไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน รวมทั้งอิตาลีที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 3 ของยุโรป มีหนี้สาธารณะ สูงถึง 120% ของจีดีพี

เหนือสิ่งอื่นใด มาตรการที่สมาชิกอียูทั้งหมดตกลงร่วมกันโดยเร่งเดินหน้าลดการขาดดุล งบประมาณ ทำให้ต้อง "รัดเข็มขัดและขึ้นภาษี" ย่อมหมายถึงเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปเติบโตยากขึ้น

ขณะที่สหรัฐสาหัสพอๆ กัน หนี้สาธารณะพุ่งสูงถึง 15 ล้านล้านเหรียญ คิดเป็น 100% ของจีดีพี หรือเท่ากับจีดีพีทั้งประเทศ นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่าสหรัฐแก้ปัญหาผิดทางโดยปล่อยให้ขาดดุลถึง 8% ของจีดีพี ทำให้จีดีพีโตเพียง 2% เท่านั้น ยังต้องประสบปัญหาคนว่างงานที่พุ่งสูงถึง 9% อีกด้วย

น่าเป็นห่วงตรงที่หากปล่อยให้การขาดดุลมากกว่าจีดีพี หรือปล่อยให้มีการใช้จ่ายเกินตัวมากกว่ารายได้ที่หามาได้ โดยไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อยอดหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย



จีนชะลอ-ญี่ปุ่นป่วย

"เอเชีย"ไร้เสถียรภาพ

หลังสิ้นยุคทองในทศวรรษที่ 60-80 ญี่ปุ่นก็ตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก รายงานขององค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ระบุว่าปัญหาการแข็งค่าของเงินเยน ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนค่าเงินเยนพุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่น รวมถึงทำให้ผลกำไรและยอดส่งออกของบริษัทญี่ปุ่นลดลงอย่างมาก

ทศวรรษที่ผ่านมาแทบจะเรียกว่าญี่ปุ่นอยู่ในสภาพทรงกับทรุด ประกอบกับเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาต้องเผชิญกับวิกฤตจากภัยธรรมชาติ สึนามิถล่ม แผ่นดินไหวและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่ว ส่งผลกระทบโรงงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วน เหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับบริษัทญี่ปุ่นทั่วโลก

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก หลังจากนั้นอีก 7 เดือนต่อมาน้ำท่วมใหญ่ในไทยบริษัทญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โรงงานราว 838 โรงเสียหายหนักกว่าเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่นเสียอีก

เครดิตสวิส สถาบันการเงินชื่อดังเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นต้องกลับมาขาดดุลการค้าในเดือนต.ค.หลังจากที่ได้ดุลในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยตัวเลขขาดดุลอยู่ที่ 3,560 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดการส่งออกลดลง 3.7% ขณะที่ตัวเลขนำเข้า 17.9% เพิ่มขึ้น 22 เดือนติดต่อกัน

ในฟากของจีนที่เคยเติบโตในอัตราเฉลี่ย 10.1% ติดต่อกันถึง 30 ปี จนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ แต่กำลังได้รับผลพวงจากเศรษฐกิจยุโรปที่อ่อนแอลง ทำให้การส่งออกในเดือนต.ค.หดตัวลงจากเดือนก.ย. 17.1% เหลือ 15.9% นักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจยุโรปตกต่ำ

นอกจากนี้ คาดกันว่าในระยะสั้นและระยะปานกลางอัตราการเติบโตของจีนจะเหลือแค่ 7% ต่อปีเท่านั้น



โลกร้อนปัจจัยเสี่ยงใหม่

น้ำท่วมไทยศก.พินาศ

ผลของโลกร้อนส่งผลให้สภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ภาวะแล้งจัด วาตภัย รวมถึงทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สิ่งเหล่านี้กำลังกลายเป็นภัยพิบัติคุกคามเศรษฐกิจโลก

ข้อมูลจากรายงานองค์กรเฝ้าระวังและติดตามภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโลกต้องเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติเฉลี่ยปีละ 350 ครั้งต่อปี โดยแต่ละครั้งสร้างความเสียหายหนักขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชีย จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศสะดุดบ่อยครั้ง

ผลที่ตามมาโดยทางตรงภัยพิบัติทางธรรมชาติได้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมและภาคพลเรือน ขณะที่รัฐบาลก็ต้องทุ่มเวลาไปกับการเยียวยาผู้เดือดร้อน แล้วจึงค่อยหันมาพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เรียกได้ว่าเสียโอกาสในทางเศรษฐกิจที่จะพัฒนาไปข้างหน้า

ขณะที่โลกร้อนได้กลายเป็นเงื่อนไขให้ประเทศผู้นำเข้าใช้เป็นมาตรการ "กีดกันทางการค้าแบบแอบแฝง" มากขึ้น โดยเฉพาะวาทกรรมสีเขียว เช่น การเก็บค่ารีไซเคิลสินค้านำเข้า จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับประเทศที่ส่งออกมากขึ้นอย่างเอเชียรวมทั้ง ไทยด้วย



ภัยพิบัติ-การเมือง-ศก.โลก

ปัจจัยชี้ขาดศก.ไทยปี"55

มหาอุทกภัยเป็นปัจจัยเสี่ยงในโค้งสุดท้ายของปี 2554 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะที่ดิ่งเหว ธนาคารโลกได้ปรับลดจีดีพีในปี 2554 ลงจาก 3.6% เหลือเพียง 2.4% คาดว่าจะปรับลดในปีหน้าเหลือแค่ 4%

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดจีดีพีปี 2554 เหลือเพียง 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 3.5-4% ส่วนแนวโน้มในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.5-5% อย่างที่รู้กันว่าน้ำท่วมทำให้ภาคการผลิตเสียหายอย่างหนัก คิดเป็นสัดส่วน 1% ของจีดีพีเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกมองว่าปัจจัยที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะมาจากนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน การจ่ายเงินเยียวยาจากภาครัฐที่กระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ การลงทุนเครื่องจักรของภาคเอกชนเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่เสียหาย

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์มองว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้ามีความเสี่ยง ผลจากน้ำท่วมทำให้ภาคการผลิตจะเริ่มเดินเครื่องอย่างเต็มที่จริงๆ คงต้องรอถึงไตรมาส 2 ในปี 2555 แม้หลายฝ่ายจะมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตสูงจากการที่ภาคอุตสาหกรรมต้องลงทุนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หลังน้ำลดก็ตามจะมีผลในช่วงต้นปีเท่านั้น แต่ในครึ่งปีหลังจะชะลอตัว โดยเฉพาะหากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้

การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนไม่ได้หมายความว่าจะทำให้จีดีพีเติบโต แต่เพราะประชาชนต้องนำเงินออมมาซ่อมแซมบ้าน ทำให้เงินในกระเป๋าน้อยลง ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยสินค้าอื่นๆ ลดน้อยลงตามไปด้วย ทำให้เศรษฐกิจไม่มีแรงส่งจากการกระตุ้นการบริโภค

นักวิเคราะห์บางคนจึงมองว่า ปี 2555 ไม่ได้เพริศแพร้วอย่างที่คาด เนื่องจากวิกฤตหนี้ในยุโรปจะส่งผลกระทบต่อการค้าของโลก เศรษฐกิจ ยุโรปมีสัดส่วน 25% ของเศรษฐกิจโลกเฉพาะอย่างยิ่งภาคการ ส่งออก

กล่าวสำหรับตลาดส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นมูลค่ารวมๆ เกือบร้อยละ 40% ของจีดีพี สินค้าส่งออกจะเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และอาหาร นับได้ว่าสินค้าส่งออกของไทยยังต้องพึ่งพาตลาดหลักค่อนข้างสูง ประกอบกับเศรษฐกิจจีนได้ชะลอตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปเช่นเดียวกัน อีกทั้งสินค้าไทยไม่สามารถปรับตามการเปลี่ยนแปลงของจีนที่มุ่งเน้นไปยังสินด้านนวัตกรรมมากขึ้น

สินค้าเกษตรก็พลอยโดนหางเลขจากวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกัน เพราะสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังตลาดยุโรป สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2555 ไม่แจ่มใส เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น จีนประสบกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งทำให้ชะลอรับซื้อ เฉพาะ อย่างยิ่งข้าวต้องเจอคู่แข่งตัดราคา

ดังนั้น คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวไม่เกิน 10% เท่านั้น ทั้งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งรายได้จากการส่งออกมากถึง 70% ของจีดีพี

จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน ล่าสุดคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประชุม เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมาตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.25% จาก 3.50% เหลือ 3.25% การปรับลดลงของดอกเบี้ยสะท้อนถึงความวิตกกังวลจากปัญหาน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่วนอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าจะเป็นขาลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหนเพียงใด

ขณะเดียวกัน ปัจจัยการเมืองก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน หากรัฐบาลมีเสถียรภาพ ไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่การก่อจลาจลจนต้องมีการปราบปรามย่อมเป็นผลดีกับเศรษฐกิจเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยว กรณีปิดสนามบินสุวรรณภูมิ หรือการเผาอาคารร้านค้าในย่านราชประสงค์ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยกเลิกการเดินทางมาเที่ยวในไทยจำนวนมาก

ด้านการค้าการส่งออกก็พลอยถูกกระทบไปด้วย เพราะคู่ค้าไม่มั่นใจว่าจะส่งมอบสินค้าได้ทันจึงตัดสินใจไปซื้อที่อื่นแทน ส่วนนักลงทุนก็ต้องรอดูสถาน การณ์ หากยืดเยื้อก็จะตัดสินใจหันไปลงทุนที่อื่นที่การเมืองมั่นคงกว่า

เมื่อก่อนการเมืองเป็นจุดแข็งที่นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุน แต่หลังจากเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่ความวุ่นวายจึงกลายเป็น "จุดอ่อน" อันเปราะบางในสายตานักลงทุน

มหาอุทกภัย วิกฤตเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการเมืองจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ซึ่งเป็นปีมังกร มิอาจหลีกเลี่ยงได้


Create Date : 01 มกราคม 2555
Last Update : 1 มกราคม 2555 7:47:51 น. 0 comments
Counter : 450 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

JitJai
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add JitJai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.