Freilich, mit dem Flugzeug kannst du nicht zu einem anderen Planet gehen.

 
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
5 มกราคม 2549
 

ส่องศิลปะเยอรมันชน

  1. ส่องศิลปะเยอรมันชน



- สนธยา ทรัพย์เย็น เรื่องและภาพ -

(* ยกเว้นภาพเทวดาผู้หญิงและภาพเขียนของ อันเซล์ม คีเฟอร์)

“เมื่อใดที่เรามีโรงละครแห่งชาติ เมื่อนั้นเราจะเป็นชาติ”

ฟรีดริช ฟอน ชิลเลอร์

ว่าด้วยการเถลิงอำนาจของ คีเฟอร์ ในนามแห่งอารยธรรมเยอรมนี

ช่วยไม่ได้เลยที่คำว่า ‘อำนาจ’ กลายเป็นคำที่น่าเกรงขาม ฟังดูมีน้ำหนักจริงจัง สมน้ำสมเนื้อกับเจ้ายักษ์ตัวใหญ่เพียงไม่กี่ประเทศในโลกเท่านั้น และสำหรับผมแล้ว ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในดินแดนที่ความหมายของคำว่า ‘อำนาจ’ ฝังลึกอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะในเชิงอำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจทางเทคโนโลยี หรือ อำนาจทางวัฒนธรรม ลำพังเพียงสามอย่างแรกนั้น คงไม่ต้องกล่าวขวัญกันอีกว่าชนชาวโลกรู้ซึ้งดีเพียงไหนในคุณประการและพิษสงเด็ดขาด แต่กับอย่างหลังสุดที่เป็นผลกระทบทางคลื่นอากาศ มีรูปธรรมล่องลอยบางเบา คงต้องใช้ระยะเวลาสังเกตพิสูจน์กันเนิบนาน

แท้จริงคำว่า ‘วัฒนธรรม (เยอรมัน)’ หรือ ‘KULTUR’ นั้นก็เป็นคำที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์เอาการ มันกินความครอบคลุมได้ตั้งแต่ การศึกษารอบรู้ทั้งในเชิงวรรณศิลป์ ปรัชญา วิชาการ อันแสดงถึงวุฒิปัญญาของปราชญ์ผู้มีรสนิยม พร้อมซึ่งคุณธรรมและอุดมคติเพื่อการพัฒนาทางจิตวิญญาณ คนเยอรมันนั้นภาคภูมิใจนักหนากับการเป็นผู้นำในด้านพลังปัญญา ต่อให้พวกเขาจะประชันสมองและยุทธมาตรากับชาวฝรั่งเศสมาตลอด อีกทั้งมีปมด้อยในการรวบรวมแว่นแคว้นกว่าจะเป็นชาติและสาธารณรัฐเยอรมัน แต่อย่างหนึ่งที่พวกเขาไม่มีทางยอมรับว่าด้อยกว่าก็คือ ‘ศักดิ์ศรีทางวัฒนธรรม’ เพราะสิ่งที่มหาบุรุษชาวเยอรมันหลายท่าน อาทิ มหากวีเกอเธ่, ชิลเลอร์, พระเจ้าฟรีดริชมหาราช และคีตกวี โมสาร์ท ต่างเห็นพ้องต้องกันก็คือ พวกเขาเชื่อว่า หนทางสู่ความเป็นชาติเยอรมันในทางการเมือง ต้องมาจากรากฐานทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เป็นตัวของตัวเอง

จินตกวียุคคลาสสิค อย่าง ชิลเลอร์ เคยกล่าวว่า “เกียรติยศของชาติเยอรมันกับลักษณะประจำชาติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชะตากรรมทางการเมืองของประเทศ” แก่นความหมายของคำกล่าวที่แล้วมาก็คือ ความเป็นปึกแผ่นของสาธารณรัฐเยอรมัน หรือ “รัฐชาติ” ซึ่งสมบูรณ์ด้วยเอกภาพทางการเมืองนั้น ไม่สำคัญเท่าความหมายของเยอรมนีในฐานะของ “รัฐวัฒนธรรม” ที่ประกอบด้วยหมู่บ้านและแคว้นเล็กย่อยต่าง ๆ ซึ่งยังคงเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุด (นับจากโบราณกาล) ก็ย่อมหมายถึง ภาษาเยอรมัน ซึ่งรวมรสตั้งแต่ ปรัชญา วรรณคดี ดนตรี ศาสนา กฎหมาย ตลอดจนศิลปะแขนงต่าง ๆ

โดยเฉพาะในด้านศิลปกรรม อันเซล์ม คีเฟอร์ (Anselm Kiefer) เป็นศิลปินรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเปล่งสามารถอันเอกอุ สำรวจมายาคติขัดแย้งของทุกอย่างซึ่งประกอบขึ้นเป็น ‘เยอรมัน’ ผลงานที่เจาะก้นทะลุออกปากถึงรากเหง้าของชนชาติ ร้อยรวงตำนาน เทพปกรณัม วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ในลักษณะเปรียบเปรยถึงบุคลิกแนวคิดนิสัย อีกทั้งยังฉายภาพสภาวะจิตของอารยธรรมยุโรปและโลกปัจจุบัน โดยทาบซ้อนร่มเงาแห่งกาลเวลา เพื่อจะหันกลับไปมองต้นธารอย่างมีสติ

ในบรรดางานหลาย ๆ ชิ้นของ คีเฟอร์ ที่ผมสนใจเป็นพิเศษ ก็เช่น ภาพที่เกี่ยวข้องกับปีกเทพ ซึ่งประกอบด้วยภาพ Fallen Angel (ปี1979), Icarus-March Sand (ปี 1981), Palette with Wings (ปี 1981) และ ผลงานปี 1982 ที่ชื่อ Wayland’s Song (with Wing) งานกลุ่มนี้เขาใช้วัสดุหลายอย่างมาประกอบกับการวาดสีน้ำมัน ซึ่งรวมถึงภาพถ่าย, เส้นฟาง และตะกั่ว (นำมาทำรูปปีก) โดย 2 ภาพแรกนั้น คีเฟอร์ อ้างอิงถึงตำนานเทพไอคารัส ซึ่งเมินเฉยต่อคำเตือนของคุณพ่อคือ แดดาลัส – นักประดิษฐ์ผู้สร้างปีกขึ้นมาจากขนนกและขี้ผึ้ง โชคร้ายที่ ไอคารัส บินเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไป เปลวไฟอันร้อนแรงจึงแผดเผาปีกของเขาจนร่วงตกลงมาตาย



ผลงาน Book with Wings ของ Anselm Kiefer

ฉากท้องฟ้าเหนือพื้นดินในแคว้นบรานเดนบัวร์กได้กลายเป็นฉากหลังที่ คีเฟอร์ นิยมใช้เป็นฉากหลังของงานศิลปะหลาย ๆ ภาพ รวมทั้งภาพโศกนาฏกรรมของไอคารัส เพราะผืนดินบรานเดนบัวร์ก ซึ่งอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเยอรมนี พรมแดนติดกับโปแลนด์ เคยเป็นเป้าสะท้อนอุดมคติสูงศักดิ์ต่อมาตุภูมิและธรรมชาติในสายตาของนักเขียนและจิตรกรเยอรมันยุคก่อนหน้า (ยุคโรแมนติค) แต่แล้วดินแดนที่ว่านี้ในศตวรรษต่อ ๆ มามันกลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเดินทัพ รอยแพ้อัปยศต่อรัสเซีย และการแบ่งประเทศเป็น 2 ส่วน อีกทั้งยังบอกใบ้ถึงบาปอัปลักษณ์ของพรรคนาซี ตามค่ายกักกันชาวยิวบนเส้นทางดังกล่าว

แท้จริงแล้ว คีเฟอร์ ยังไม่เคยไป บรานเดนบัวร์ก ตอนที่เขาวาดภาพ Icarus-March Sand ด้วยซ้ำ รวมทั้งเขาก็ไม่ได้สนใจทิวทัศน์ที่นั่นในแง่ความสมจริง เขาปรุงแต่งให้มันเป็นแผ่นดินแห่งความแห้งแล้ง เวิ้งว้างเว้าแหว่ง หาความชิดใกล้ในแบบชอุ่มเขียวขจีไม่ได้เลย

จานสี (Palette) ของศิลปินที่กำลังติดปีกนั้น เป็นส่วนที่ถูกวาดขึ้นเพื่อทดแทนส่วนที่เดิมควรจะเป็นลำตัวของ ไอคารัส โดย คีเฟอร์ ใช้ตัวจานสี (สังเกตรูปทรงคล้ายแอปเปิ้ลที่มีรู) เป็นตัวแทนของตัวศิลปินในการสวมร่างเข้าไปในบทของ ไอคารัส ตามท้องเรื่อง อุดมคติสูงส่งของคนวัยหนุ่มซึ่งอาจจะดูโง่เขลาและคึกคะนองในสายตาของผู้ใหญ่ อาจเปรียบได้กับความฝันของศิลปินที่พยายามจะสร้างงานซึ่งจรรโลงโลก และยกระดับจิตใจของมวลมนุษย์ขึ้นอีกระดับ

ความเชื่อในบทบาทของศิลปะต่อการชำระล้างจิตใจมนุษย์เป็นสิ่งที่ คีเฟอร์ เชื่อเช่นเดียวกับที่ปราชญ์และศิลปินเยอรมันในยุคก่อนเคยประกาศ แต่สำหรับคนที่เกิดปี 1945 ปีที่สงครามโลกครั้งที่สองยุติ และเยอรมนีแพ้สงคราม อุดมคติของ ฮิตเลอร์ ที่ก่อกรรมกระหายโหด แต่ก็สามารถอ้างการฟอกบริสุทธิ์ให้เผ่าพันธุ์ของตัวเอง ด้วยการอ้างอิงกลับไปหาตำนานโบราณ และดนตรีของคีตกวี ริชาร์ด ว้ากเนอร์ นี่จึงทำให้คนทุกวันนี้ยังครั่นเนื้อครั่นตัวไม่หาย เมื่อหวนนึกถึงคราบไคลที่ศิลปะและวรรณคดีเหล่านั้นเคยเป็นตัวแทนรำลึก

ถ้าเป็นศิลปินคนอื่น คงเลี่ยงที่จะไม่ใช้ภาพและสัญลักษณ์ซึ่งเคยพลาดท่าเสียบริสุทธิ์ แต่สำหรับ คีเฟอร์ จำเลยหลงผิดเหล่านั้นเป็นประหนึ่งดังคำท้าทาย ที่สามารถนำกลับมาใช้ซักโจทก์ ตั้งคำถามกับตัวตนของชาติเยอรมันได้ดีกว่าสิ่งไหน ๆ




Nero Paints

การย้อนกลับไปมองหน้าประวัติศาสตร์อัปยศของเยอรมันอย่างไม่ครั่นคร้าม กลายเป็นเอกลักษณ์ในงานของคีเฟอร์ เขาไม่กลัวที่จะอ้างถึงศาสนา คัมภีร์โบราณ หรือตำนานต่าง ๆ เช่น ตำนานนีเบลุงเง่น (Nibelungen) ตำนาน พาร์ซีฟาล (Parceval) พร้อมกับโยงไยไปหาต้นสายธารของวัฒนธรรมเยอรมัน วรรณคดีโบราณของไอซ์แลนด์ ตำนานโอซิริส-ไอซิริส ของอียิปต์ เรื่อยมาถึงฝันฟุ้งของจอมจักรพรรดิ เนโร และฮิตเลอร์ โดย คีเฟอร์ นั้นได้เคยเปรียบภาพ 2 ภาพจากปี 1974 ที่ชื่อว่า Painting = Burning (การวาดภาพคือการจุดไฟเผา) และ Nero Paints (จักรพรรดิ เนโร วาดรูป) เป็นเหมือนการทำลายล้าง งาน 2 ชิ้นนี้มีลักษณะร่วมคล้ายกันคือเป็นรูปจานสีขนาดยักษ์ลอยฟ้า ในภาพหนึ่งผืนแผ่นดินที่อยู่เบื้องหลังนั้นกำลังถูกไฟลามไหม้เกือบทั่ว ปลายพู่กันที่เสียบคู่กับจานสีดูเหมือนจะทำหน้าที่แทนต้นเพลิงเสียเอง ส่วนอีกภาพนั้นต้นไม้และพื้นหญ้าก็มอดดำแห้งสนิททั่วทั้งผืนผ้าใบ

คีเฟอร์กล้าเล่นล้อสถานะของตัวเองทั้งในคราบของผู้สร้าง (งานศิลปะ) และผู้ทำลายล้าง (โลก) อุดมคติสูงส่งของศิลปินซึ่งกระตุ้นให้ตัวเองก้าวร้าวไม่ต่างจาก เนโร และ ฮิตเลอร์ เขานำเอาสัญลักษณ์ของ แม่น้ำ ไฟ ดาบ ไม้ ผืนแผ่นดิน สถาปัตยกรรมเยอรมันแห่งลัทธินาซี และอื่น ๆ มาเปรียบเปรยถึงซากเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร กว้างขวางทางวัฒนธรรม และยาวนานทางประวัติศาสตร์ อันสามารถเสื่อมและพลาดพลั้งได้เช่นเดียวกับยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่เมื่อสองแขนล้นอำนาจ ก็มักจะหลงเข้าใจไปเอง ว่าตนกำลังใช้เผด็จการเพื่อรับใช้ “ความตั้งใจงาม”

ตั้งแต่ก่อนที่ คีเฟอร์ จะประสบความสำเร็จโด่งดังอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เขาเคยหยอกเอินแรง ๆ กับประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าภูมิอกภูมิใจนักหนาของคนเยอรมันมาแล้ว อย่างเช่นการที่เขาแต่งเครื่องแบบทหารนาซีแล้วไปยืนทำท่าคารวะท่านผู้นำเสียเกือบทั่วยุโรป โดยเฉพาะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นสนามกีฬาโคลีเซี่ยม และสุสานโรมันในอิตาลี่ อนุสาวรีย์วีรบุรุษในฝรั่งเศส หรือแม้แต่ยืนคารวะบนอ่างอาบน้ำในบ้าน และริมทะเล (จงใจจัดภาพให้อ้างอิงถึงงานของจิตรกรเยอรมันยุคโรแมนติคอย่าง คาสปาร์ ดาวิด ฟรีดริช – ซึ่งผมจะกล่าวถึงต่อไป) โดยธุรกรรมการคารวะ ฮิตเลอร์ ของ คีเฟอร์ ในลักษณะนี้ ช่างน่าเย้ยหยันและน่าขบขันสุดประมาณ



นอกเหนือจากงานภาพเขียน ประติมากรรม ศิลปะประเภทจัดวางแล้ว การทำศิลปกรรมบนรูปเล่มของหนังสือก็เป็นงานอีกรูปแบบหนึ่งที่ คีเฟอร์ ทำได้ดี และงานในอดีตที่เคยเป็นที่กล่าวขวัญอย่างมากก็คือ งานหนังสือ 2 เล่มที่มีชื่อเหมือนกันว่า The Flooding of Heidelberg (น้ำท่วมเมืองไฮเดลแบร์ก) ภายในเล่มนั้น คีเฟอร์ แต่งเรื่องอุปโลกน์เกี่ยวกับเขื่อนของแม่น้ำเด็คการ์ที่พังทลาย ทำให้กระแสน้ำไหลเข้ามาท่วมเมือง โดยภาพหน้าคู่ชุดสำคัญ มีภาพของห้องประชุมพรรคนาซีอยู่ตรงข้ามกับภาพบรรยากาศในห้องทำงานของศิลปิน (เห็นจานสีและเครื่องมือวาดภาพ) ส่วนในภาพหน้าคู่อีกชุดหนึ่งมีภาพตุ๊กตาทหารเด็กเล่น (แบบที่เด็กผู้ชายทุกคนรู้จักดี) ตีคู่กับภาพหน้าตรงข้ามที่เป็นงานประติมากรรมร่างผู้หญิงเปลือย ซึ่งเขาถือกันว่าเป็นอุดมคติของสรีระชาวอารยัน

ดูเหมือนว่า คีเฟอร์ พยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการทำลายล้างบางอย่าง ที่ศิลปินก็มีส่วนรับผิดชอบอยู่ไม่น้อย อุดมคติทางความงามที่คลับคล้ายว่าจะต้องมาเคียงคู่กับความรุนแรงเสมอ นอกจากนั้นในเล่มยังมีภาพจากมุมสูงที่เห็นตัวเมืองจมน้ำ ซึ่งน่าจะเป็นภาพที่ถ่ายจากมุมบนของ ปราสาทไฮเดลแบร์ก แต่ที่ร้ายกว่านั้นภาพปิดเล่มเป็นภาพของทหารคนหนึ่งที่ยืนมองดูเหตุการณ์ทั้งหมดจากที่ไกล ในมือของเขาที่กำลังไขว้หลังอยู่ถือดอกไม้ ดูเหมือนเขาจะมีความสบใจอยู่ลึก ๆ ในชะตากรรมของคนเบื้องล่าง

เมื่อถูกถามถึงชะตากรรมของคนในเมืองที่จมน้ำตาย คีเฟอร์ บอกว่าไม่ใช่ธุระกงการของเขา ศิลปินไม่ควรห่วงถึงภาพพจน์การแสดงบทเป็นคนใจมาร ถ้าจะมีใครรับไม่ได้กับท่าทีทางจริยธรรม หรือศีลธรรมที่หมิ่นเหม่ของศิลปิน นั่นก็ถูกต้องแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าน่าจะเป็นการกระตุ้นอดีตสำนึกให้เพิ่มพูนขึ้น เพราะการจดจำย่อมดีกว่าการเพิกเฉยบาปในอดีต

ว่าด้วยกระเหรี่ยงไทยในปราการอารยัน

ความสนใจของผมต่องานของ คีเฟอร์ นั้นเริ่มมาได้ประมาณ 10 ปีนับแต่แรกเห็นงานของเขาในหน้าหนังสือศิลปะที่สถาบันเกอเธ่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมคาดฝันว่างานของเขาจะมาเกี่ยวข้องกับปราสาทเยอรมันที่ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวโดยบังเอิญ ก็ต่อเมื่อผมได้อ่านเรื่องราวจากหนังสือชื่อ Anselm Kiefer ที่ผมซื้อกลับมานี่แหละ ที่ทำให้สะพานเชื่อมไทย-เยอรมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ วิชาการด้านวิศวกรรม การทหาร หรือแพทย์ศาสตร์ เฉกเช่นในรัชกาลก่อน ๆ แม้ว่าเราจะอยู่ในมิติต่างทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อย่างเหลือแสน

แต่ไหนแต่ไร ภาพของปราสาทราชวังนั้นฝังใจผมเสมอมา ทั้งความแปลกตา แปลกถิ่นเอ็กโซติก้า ทั้งตำนานลึกลับที่ติดตัวมันมาล้วนมีเสน่ห์เย้ายวน ครั้นพอสบโอกาสสถาบันเกอเธ่ส่งผมไปร่วมเทศกาลหนังเมืองมันน์ไฮม์-ไฮเดลแบร์ก ครั้งที่ 53 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมก็ได้ทีวางแผนชมปราสาทไฮเดลแบร์กล่วงหน้า




ภาพจากด้านบนของปราสาทไฮเดลแบร์ก

เยอรมนีนั้นเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยปราสาทราชวังจำนวนมหาศาล แค่นั่งรถไฟผ่านริมแม่น้ำไรน์ (ที่ยาวเป็นอันดับสามของยุโรป) ก็สามารถเห็นปราสาทบนเนินเขาอยู่เป็นระยะ ๆ บางแห่งเขาสงวนไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว บางแห่งจัดสรรเป็นโรงแรมที่พัก ทุกแห่งดูน่าตื่นตาน่าสนใจสำหรับผมไปเสียหมด ไม่ต้องไปถึงปราสาทเทพนิยายของกษัตริย์ลุดวิก ขอเพียงได้เหยียบย่ำในปราสาทเหล่านั้นสักแห่งผมก็พอใจแล้ว

เมืองไฮเดลแบร์กที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเด็คการ์บรรจบกับแม่น้ำไรน์เป็นเมืองที่มีเสน่ห์มากเมืองหนึ่งโดยเฉพาะด้านการผสมรวมความเก่าแก่โบราณเข้ากับเทคโนโลยีล้ำสมัย พรั่งพร้อมไปด้วยพิพิธภัณฑ์ โบสถ์ ห้องสมุด มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1386 เพียงแค่ย่างเข้าจตุรัสบิสมาร์คตัดเข้าถนนทางเดินเท้าผมก็พบกับร้านหนังสือมือสองที่ถูกใจ ได้เจอบทหนังที่ขาดตลาดไปนานอย่าง The Ghost ของ แฮร์แบร์ท อัคช์แทรนบุช (Herbert Achternbusch) กับบทหนัง Malina ที่ อิซาแบล อูปแปร์ต (Isabelle Huppert) ราชินีหนังฝรั่งเศสแสดงนำในหนังของ แวร์เนอร์ ชรือเตอร์ (Werner Schroeter) โดยมีว่าที่นักเขียนรางวัลโนเบลในเวลาต่อมาคือ เอลฟรีเด เยลีเน็ค (Elfriede Jelinek) ดัดแปลงบทจากนิยายอิงชีวประวัติของ อิงเกบอร์ก บาคมันน์ (Ingeborg Bachmann) นักเขียนอารมณ์เดือดผู้ถูกไฟเผาตายคล้ายนางเอกในเรื่อง บังเอิญผมกำลังจะนำฟิล์มเรื่องนี้ของสถาบันเกอเธ่ไปจัดฉายตอนกลับเมืองไทยอยู่พอดี มันน่าแปลกที่หนังสือบางเล่มเหมือนรอเราอยู่ยังงั้นแหละ

เดินไปสุดถนนจากร้านค้าตกแต่งคริสต์มาส ผ่านร้านแผ่นเสียงเก่า ๆ ออกไปทางตลาดข้าวโพด ผมก็พบสถานีรถเคเบิ้ลคาร์ที่จะนำผมขึ้นภูเขาตามที่หนังสือท่องเที่ยวบอกไว้ ปัญหาก็คือฤดูนี้เป็นช่วงที่เขาปิดซ่อมแซม ผมต้องหันไปใช้บริการรถเมล์แทน แต่แล้วหลังจากรออยู่ครึ่งชั่วโมง จึงค่อยตรัสรู้ว่าเฉพาะวันนั้นเขาปิดบริการตอน 12.30 น. พอดี ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ผมเพิ่งมาถึง ทางเลือกที่เหลือเพียงอย่างเดียวของผมก็คือ...เดิน

315 ขั้นบันไดตามที่คู่มือเขาบอก มันน่าจะง่ายกว่าเส้นทางที่ผมใช้เดินขึ้น กว่าจะรู้ตัวว่าทางเดินลาดชันของผมมันน่าจะเป็นเส้นทางเดินลงเสียมากกว่าก็เหนื่อยแฮก ตลอดทางตะกายขึ้นเห็นต้นไม้สีเหลืองสูงเป็นแนวตลอดทาง ความกลัวแต่แรกที่ว่าปราสาทโอฬารซึ่งเห็นไกล ๆ ตอนอยู่ข้างล่างนั้น เราอาจจะไม่มีวันเข้าถึงได้เลยแบบในนิยายชื่อ ‘ปราสาท’ (Schloss) ของ ฟรานซ์ คาฟก้า (Franz Kafka) ค่อย ๆ จางหายไป เมื่อผมเห็นแนวกำแพงด้านใน และความยิ่งใหญ่ตระการตาจากภายใน

ก่อนหน้านั้นปราสาทแห่งเดียวในชีวิตที่ผมเคยเข้าชมก็มีแค่ ปราสาทวอร์วิค (Warwick Castle) ในอังกฤษ แต่นั่นมันก็นานร่วม 20 ปีมาแล้ว โดยตัวโครงสร้างนั้นทั้งสองแห่งแตกต่างกันลิบลับ ปราสาทวอร์วิคเขาเปิดให้ดูห้องโถง ห้องบรรทมของกษัตริย์ มเหสี ขุนนาง เกราะอัศวิน ซอกหลืบ ประตูลับ ทางเดินแคบรอบป้อมสูง โชว์คูคลองให้เดินสำรวจตรวจตรามากกว่า รูปทรงก็เป็นแนวตั้ง ต่างกันมากมายกับปราสาทไฮเดลแบร์กที่กินพื้นที่กว้างใหญ่ในแนวนอน ปราสาทเยอรมันนั้นดูยิ่งใหญ่เช่นกันก็จริง แต่กลับเต็มไปด้วยมุมสงวน ไม่เผยข้าวของเครื่องใช้ การเก็บรักษาห้องหับที่ทำให้เราได้เรียนรู้หรือเห็นภาพการใช้ชีวิตของคนสมัยก่อนเลย



ปราสาทไฮเดลแบร์ก

ปราสาทไฮเดลแบร์กมีประวัติศาสตร์เก่าแก่มานานนมไม่ต่ำกว่า 800 ปี เฉพาะการเริ่มสร้างอาคารรวมถึงการต่อเติมอาคารแต่ละฝั่งฟากก็กินเวลากว่า 400 ปี ผ่านสงครามถูกพวกฝรั่งเศสบุกก็หลายครั้ง ตึกเก่าใหม่ต่างสมัยก็มีแนวดีไซน์ที่ห่างกันลิบลับ จากโกธิคยันบาโร้ค แต่ก็ผสมผสานให้ผนังหินสีอมแดงมีลักษณะไม่โดดเด่นขัดทิศทางจนน่าเกลียด หลายบริเวณไม่เปิดให้เข้าชม (น่าจะมีห้องอีกเป็นร้อยที่ปิดตาย) กำแพงด้านที่ทรุดโทรมบางส่วนเขากำลังซ่อมกันใหม่ให้คืนรูปเดิม แต่บางส่วนก็ดัดแปลงให้เป็นพื้นที่พิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะงานด้านเวชภัณฑ์เยอรมันที่สะสมอุปกรณ์ ขวดยา เคาน์เตอร์ จำลองลักษณะร้านขายยาและของใช้จำเป็นที่แสดงวิถีชีวิตประจำวันของหมอตี๋ (ฝรั่ง) สมัยก่อนไว้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ในห้องใต้ดินของอาคารฝั่งตรงข้ามยังมีถังเก็บไวน์ขนาดยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มันจุไวน์ได้เป็นแสนลิตรขนาดใหญ่โตเกือบเต็มห้อง ผู้เข้าชมสามารถเดินชมรอบๆ ถังไวน์ตามบันไดเวียนได้เต็มตา

ผมเดินไปทะลุออกประตูหอคอยด้านหน้าที่เป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุด ทอดสายตามองลงมาจากยอดกำแพงมองเห็นเมืองไฮเดลแบร์กที่อยู่ด้านล่าง อีกด้านหนึ่งของปราสาทมีคนงานกำลังซ่อมแซมกำแพงด้านนั้นอยู่ เป็นแนวปราการที่โอ่อ่าบรรเจิดสุดถ้ามองจากตลาดข้าวโพดด้านล่าง คนงานในกลุ่มนั้นโบกมือให้ผม ผมโบกมือตอบ หายากนะครับที่คนเยอรมันจะทักทายใครก่อน ยิ่งคนแปลกหน้าที่ไม่ใช่ฝรั่งด้วยกัน

หลังจากถ่ายรูปขอลายเซ็นของ เอ็ดการ์ ไรทซ์ (Edgar Reitz) และ วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) สองผู้กำกับคนโปรดของผมในเทศกาล ผมก็จากลาเมืองไฮเดลแบร์กและเมืองมันน์ไฮม์ ก่อนมุ่งหน้าไปแวะเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์เมืองแฟรงค์เฟิร์ธ (Deutsches Filmmuseum Frankfurt) นี่คือหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ 8 แห่งที่ตั้งเรียงรายขนานกับแม่น้ำ ถ้าไม่มีพิพิธภัณฑ์ริมน้ำพวกนี้ แฟรงค์เฟิร์ธ (หรือ ฟรังค์ฟรุธ) คงเป็นเมืองที่ตัวโตแข็งแรงแต่จิตใจแห้งแล้งสิ้นดี เพราะแม้ว่ามันจะเป็นเมืองบ้านเกิดของ เกอเธ่ ก็จริง แต่เมืองนี้ก็ต้องแข่งขันทางอุตสาหกรรม เก็บค่าเช่าพื้นที่ค้าขายแพงลิบ ทุกชุมสายธารเศรษฐกิจและการคมนาคมทุกรูปแบบต้องมารวมตัวกันแอ้งแม้งที่นี่ ณ ชุมทางรถไฟสายหลัก ก่อนแยกย้ายไปตามภาคต่าง ๆ

เสียสตางค์ค่าเข้าชมเสร็จ ผมก็เริ่มออกตรวจตราเข้าโชว์รูม ‘เทวดาบนแผ่นฟิล์ม’ (Engel im Film) ก่อนอื่นใด นิทรรศการนี้อยู่ในห้องแสดงงานประเภทหมุนเวียน เขาจับหัวข้อของเทวดาที่ปรากฏตัวในหนังทุกรูปแบบ ทุกชนชาติ ตั้งแต่ฮอลลีวู้ดยันบอลลีวู้ด ประเภทที่เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเทวดาอย่างตรงไปตรงมา หรือแบบที่เกี่ยวกับเทวดาเพียงผิวเผิน ส่วนที่ตัวละครแต่งแฟนซีเป็นเทวดาก็นับว่าเข้าข่าย แต่ก็มีผลดีประการหนึ่งคือ ได้เห็นภาพสวย ๆ จากหนังที่มีตัวละครใส่ปีกมีอิทธิฤทธิ์เรียงรายไปตลอดแนวผนัง เช่น ทาเคชิ คาเนชิโร่ จากหนังฮ่องกงเรื่อง Lavender ก็ได้เคียงบ่าเคียงไหล่คู่ไปกับหนัง เจน ฟอนด้า เรื่อง Barbarella หรือหนัง ไมเคิล เพาเวลล์ เรื่อง A Matter of Life and Death หนัง Hail Mary ของ ฌอง-ลุค โกดาร์ หรือ Teorema ของ ปิแอร์ เปาโล พาโซลีนี่ ที่ เทอร์เร้นซ์ แสตมป์ นำแสดง (น่าจะรวมรูป พงษ์พัฒน์ จากละครทีวีเรื่อง เทวดาตกสวรรค์ ด้วยนะ)



สำหรับแฟนหนัง วิม เวนเดอร์ส อย่างผม ชุดเสื้อโค้ทเทวดาใน Wings of Desire กับ Faraway, So Close! พร้อมป้ายประวัติย่อ ๆ ก็มีไว้โชว์ล่อหูตา เสียดายว่าผมถ่ายภาพปีกเทวดาที่ นาตาชา คินสกี้ สวมใส่ใน Faraway, So Close! ได้เพียงภาพเดียวก่อนที่คุณป้าเจ้าที่จะมาห้ามถ่ายรูป เธอบอกว่าของที่หมุนเวียนมาแสดงในห้องแสดงงานสัญจรเขาห้ามถ่ายรูปนะจ๊ะ ห้องอื่นถ่ายได้จ๊ะ

ทว่าสิ่งที่ผมประทับใจที่สุดในห้องนี้ไม่ใช่ภาพสวย ๆ หรือมอนิเตอร์ที่ฉายหนังเก่าเกี่ยวกับเทวดา หรือของประดับพวกนั้น แต่เป็นเสียงที่ออกมาจากหูฟังของเครื่องเล่นประกอบงานชิ้นหนึ่ง คือมีดีไซน์เนอร์ด้านเสียงคนหนึ่ง (ลืมจดชื่อมาแฮะ) จำลองเสียงปีกเทวดาในจินตนาการของเขาออกมา เป็นเสียงขนปีกเทวดาที่เหมือนกำลังต้านลมแรงสูงขณะกำลังบินผึบผับในอากาศ สอดแทรกด้วยเสียงใสแกร๊งกร๊างที่ผมบรรยายไม่ถูกคล้ายเป็นเสียงเศษแก้ว นับเป็นเสียงที่ทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ

ความจริงของจัดแสดงพวกนี้ไม่ใช่ของเลิศเลอ แต่เป็นการปรับใช้วัสดุที่หาง่ายใกล้มือ ผนวกกับการส่งเสริมให้ศิลปินท้องถิ่นสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ในการนำเสนอรูปแบบต่าง ๆ ของเทวดาตั้งแต่แรกมีมาในประวัติศาสตร์ ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่เฉพาะเรื่องหนัง เพราะไล่กันมาโน่นตั้งแต่คัมภีร์ไบเบิ้ลทีเดียว ซึ่งการโยงศิลปะภาพเขียน บทกวี คีตกวีเข้ามาก็ถือว่าคอนเซ็ปท์ฝรั่งเขาเชื่อมโยงกันได้หมด เพราะแม้แต่กวีดัง ๆ อย่าง ไรเนอร์ มาเรีย ริลเค่ เอง (Rainer Maria Rilke / ผู้แต่ง ‘จดหมายถึงกวีหนุ่ม ’) กวีบางบทของเขาก็เป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งให้กับหนังเทวดาทั้ง 2 เรื่องของ วิม เวนเดอร์ส ด้วยเหมือนกัน



พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์เมืองแฟรงค์เฟิร์ธ

ภาพลักษณ์ของเทวดาในหนังของ เวนเดอร์ส อย่าง Wings of Desire และ Faraway, So Close! นั้นแตกต่างจากหนังส่วนใหญ่ (รวมทั้ง City of Angels ของเทวดาหน้าโศก นิโคลาส เคจ ที่หลงรักหมอสาว เม็ก ไรอัน) ก็ตรงที่พวกเขาเป็นพยานรู้เห็นทางความเป็นไปของจักรวาล (โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เยอรมันที่ส่งต่อความทรงจำของคนเยอรมันต่างวัย ต่างยุคสมัย แถมยังฝังตัวตามหนังสือในหอบันทึกจดหมายเหตุ และซ่อนกายอยู่ใต้การ รีเมค อดีตกาลในยุคนาซีผ่านกล้องถ่ายหนัง อันรวมถึงอดีตเทวดาที่ปัจจุบันกลายเป็นนักแสดง) พวกเขาทอดสายตาอ่อนโยนมาที่เหล่ามนุษย์เดินดิน อดไม่ได้ที่จะประทับใจและเต็มตื้นกับชะตาชีวิตที่ทั้งเศร้าสุข และน่าตลกขบขัน บางครั้งพวกเขาก็อยากจะลองลิ้มรสของความเป็นมนุษย์ดูบ้าง หัดรู้สึกรู้สมกับรสกาแฟ ผิดหวังเจ็บปวด สนุกสนานในหัวใจ เรียนรู้รับผิดชอบต่อตัวเองและหน้าที่ทางสังคม แทนที่จะมีแต่กายทิพย์หรือจิตที่นิ่งสงบ

แต่แล้วเมื่อพวกเขามีโอกาสที่จะจำแลงกายเป็นมนุษย์บ้าง พวกเขาก็พบว่ามันไม่ง่ายที่จะรักษาคุณธรรมความดีในโลกซึ่งเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีแบบต่าง ๆ ดังที่จะเห็นได้ชัดจากบทบาทของเทวดา คาสเซียล ในหนังภาค 2 คือ Faraway, So Close!




ปีกเทวดาใน Faraway, So Close!

อันความสัมพันธ์ระหว่างเทพกับคนนั้นนับว่ามีมานานนัก ไม่ว่าเทพจะหลงรักคน หรือเป็นเทพหลงอบายมุขที่ถูกอัปเปหิมาจากสวรรค์ ทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่พ้นตำนานความเชื่อที่เล่าต่อ ๆ กันมา เพียงแต่ละชาติพันธุ์ก็ให้คำอธิบายต้นตอต่างกันไปตามกรอบความเชื่อของศาสนาตน ว่าแล้วน่าจะได้เวลาทำนิทรรศการเทวดาในภาพยนตร์ไทยบ้าง พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ศรีกรุงย่านศาลายาอาจจะทำได้ ของสะสมที่คุณ โดม สุขวงศ์ เสาะแสวงหามาก็มีอยู่พอสมควร แต่คงต้องขยายบริเวณเพิ่ม ถ้าเพียงแต่มีใครจะเห็นคุณค่าบ้างล่ะนะ ฝรั่งก็ยังงี้ เขาขายกันเป็นแพ็คเกจ เพราะรู้ว่าหากขายแยก มันก็ดูไม่มีค่าอะไรนัก

นอกจากนั้นหนังทั้งหลายที่มีรูปแสดงในนิทรรศการ เขาก็มีจัดฉายให้ดูกันแบบเต็มเรื่องด้วย แต่ต้องตรวจเช็คเวลาเข้าชมกันให้ดี งานนี้ใครซื้อสูจิบัตรที่เขาตีพิมพ์อย่างดีก็จะได้เก็บภาพหนังเทวดาสวย ๆ ข้างในมีทั้งภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ ผมเสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้ซื้อ ติดเรื่องราคาและการเดินทางแบกของนี่แหละ เพราะขากลับก็แวะร้านหนังสือภาพยนตร์ของเขา แล้วซื้อหนังสือเพิ่มมาอีก โดยเฉพาะเล่มใหญ่ยักษ์รวมภาพหนังของผู้กำกับอิตาเลี่ยน มิเคลันเจโล่ อันโตนีโอนี่ (Michelangelo Antonioni) ราชาหนังแห่งความอ้างว้าง (เดียวดายแต่ไม่โรแมนติค) กับหนังสือ โรซ่า ฟอน เพราไฮม์ (Rosa von Praunheim) ราชา (หรือราชินีกันแน่) ของหนังเกย์เยอรมัน

ผมนึกออกแล้วว่าสูจิบัตรเทวดาเนี่ยเห็นมีขายที่เมืองมันน์ไฮม์ด้วย มารู้ทีหลังว่านิทรรศการหมุนเวียนแบบนี้เขาจะทัวร์ไปตามแคว้นต่าง ๆ หลายเมือง ตอนแรกที่เดินผ่านพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งซึ่งแสดงงานประเภททัศนศิลป์หรือประติมากรรม (จำไม่ได้แล้ว) เขาก็จัดในหัวข้อ “เทวดาในงานศิลปะ” ด้วยเหมือนกัน นับว่าแยบยลมากครับที่คณะสมาชิกสมาคมพิพิธภัณฑ์ทั้งหลาย เขานัดแนะกันมาล่วงหน้าแบบนี้เลย ยิงหนึ่งได้โยชน์ พี่ไทยอย่าลืมล่ะ ของดีที่ควรเลียนแบบย่อมดีกว่าฝ่าเท้าคอยยำครู (ว่าไปแล้ว ที่เมืองมันน์ไฮม์เขาก็การตลาดเหมือนกัน ช่วงเทศกาลหนังมีหนังสือออกใหม่ เป็นรวมอัลบั้มภาพบุคคลสำคัญของเมือง หาจุดขายของความเป็นท้องถิ่นได้สวยด้วยนั่นด้วยนี่ รวมทั้งมีแกลเลอรี่ และพิพิธภัณฑ์มากมาย ต่อให้เมืองมันน์ไฮม์จะขาดเอกลักษณ์ทางโบราณสถานไปเยอะ เพราะโดนบอมบ์หนักช่วงสงคราม)

ด้านห้องนิทรรศการถาวรนั้นประกอบไปด้วยประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ตั้งแต่โบราณกาล เริ่มมาจากการที่คนเราพยายามตัดกระดาษประกอบภาพระบายสีจัดวางให้ดูมีความชัดลึก เสร็จแล้วก็อยากให้ภาพนิ่งขยับได้ อย่างในศตวรรษที่ 16 ลีโอนาโด้ ดา วินชี่ (Leonardo da Vinci) เขาทำ คาเมร่า ออบสคูร่า (Camera Obscura / ห้องมืด) เจาะรูในกล่องให้แสงเข้าแล้วใช้กระจกเก็บภาพธรรมชาติได้ภาพกลับหัว ต่อมาก็มีคนทดลองเพิ่มกระจกอีกบานมาสะท้อนภาพกลับหัวให้เป็นปกติ แล้วก็หัดทำ โคมเมจิค แลนเทิร์น (The Magic Lantern) ส่องไฟดูภาพเขียนสีบนแก้วแบบภาพสไลด์ พอเริ่มมีเลนส์รวมแสงขึ้นมา จิตรกรอย่าง แฟร์เมียร์ (Vermeer) หรือ เอ็ดเวิร์ด มุ้งค์ (Edward Munch) ก็หัดใช้เหลี่ยมมุมชัดลึกแบบภาพกล้องไวด์แองเกิ้ล มาประกอบการวาดภาพ เช่นภาพ ‘หญิงสาวสวมใส่สร้อยมุกข้างหน้าต่าง’ ของ แฟร์เมียร์ เป็นต้น

ส่วนนักค้นคว้าอีกสายหนึ่งก็ผสมแนวคิดการเล่นล้อหมุนที่มีช่องมองด้านข้าง ภายในใส่ม้วนกระดาษที่วาดภาพการ์ตูนเป็นช่อง ๆ เมื่อหมุนแล้วก็เกิดปรากฏการณ์มองเห็นภาพเคลื่อนไหวขึ้นมา เครื่องเล่นแบบนี้ที่ประยุกต์เข้าด้วยกันกลายเป็นต้นตระกูลของหนังทั้งหลายทั้งปวง และเป็นแรงบันดาลใจให้เรื่องลึกลับของความสว่างความมืดที่เชือดเฉือนกันในนิยาย Flicker ของ ธีโอดอร์ รอสแซ็ค เจ้าล้อหมุนที่มีอายุไม่น้อยกว่าค.ศ. 1834 นี้มีชื่อว่า โซโทรป (Zoetrope) ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า อดีตก็อดฟาเธอร์ ต้นตำรับหนังไตรภาค ก็เคยเอาไปตั้งเป็นชื่อบริษัทของเขาว่า American Zoetrope ตอนนี้ก็ยังใช้อยู่เป็นชื่อเว็บไซต์ และออกหนังสือรวมเรื่องสั้นปั้นนักเขียนน้องใหม่ด้วย




โซโทรบ ที่พิพิธภัณธ์ภาพยนตร์เมืองแฟรงค์เฟิร์ธ

ถ้าใครอยากเห็น ตู้ถ้ำมองของ เอดิสัน ของแท้สมัยปี 1899 เขาก็มีให้ดู สมัยนั้น เอดิสันไม่เชื่อในอนาคตของภาพยนตร์ ซ้ำยังมองมันเป็นแฟชั่นชั่วคราวไร้ค่า หาความจีรังถาวรไม่ คนดูหนังยุคนั้นต้องคอยหยอดเหรียญก้มดูภาพในตู้ที่เป็นหนังสั้น ทางพิพิธภัณฑ์ก็หัวการค้า หลอกให้ผู้เข้าชมหยอดเหรียญดูเอง ตามแบบบรรยากาศเก่า ๆ ตู้ดูหนังพวกนี้แบบฟรีก็มีแต่ต้องใช้มือโยกคานหมุนเอง ที่ผมจำได้ก็มีภาพสาวอินเดียเต้นระบำหมุนไปมาพร้อมส่าหรีสะบัดกระจายเปลี่ยนสีไปได้เรื่อย ๆ เข้าใจว่าเป็นฟิล์มเก่าของแท้ ผมจำได้อยู่ว่าเคยเห็นในหนังสือประวัติศาสตร์หนังเหมือนกัน

ใครเคยดูหนังจีนเรื่อง Shadow Magic ไหม มีฉากที่ฝรั่งคนหนึ่งเอาหนังไขลานไปบุกเบิกฉายเป็นครั้งแรกในปักกิ่ง ครั้นพอคนจีนเห็นภาพรถไฟวิ่งเข้าชานชาลาก็รีบหมอบกันชุลมุน หนังเก่าเรื่องนั้นของ พี่น้องลูมิแยร์ (Lumiere Brothers) ที่ตำนานเขาเล่าว่าเคยทำให้คนดูหนังโรงกลุ่มแรกของโลกตกใจสุดขีดเมื่อเดือนธันวาคม 1895 ก็มีฉายให้ดู ส่วนกล้องถ่ายหนังรุ่นแรก ๆ ที่สองพี่น้องจดลิขสิทธิ์ไว้ก็มีของจริงโชว์อยู่ในตู้

ในหนัง Lumiere and Company (1995) สร้างเพื่อเฉลิมฉลอง 100 ปีภาพยนตร์โลก ที่ ซาร่า มูน เชิญผู้กำกับ 40 คนจากทุกทวีปมาทดลองถ่ายกล้องนี้ เพื่อย้อนรำลึกถึงก้าวแรกของภาพยนตร์และหวนคืนสู่ความสามัญ เราก็จะเห็นผู้กำกับรุ่นใหญ่ทั้งหลายใช้กล้องนี้กัน ทั้ง มิฆาเอล ฮาเนเก้, อังเดร คอนชาลอฟสกี้, วิม เวนเดอร์ส, อับบาส เคียรอสตามี่, ฌ้าคส์ รีแวตต์, เดวิด ลิ้นช์, ยูเซฟ ชาฮีน, จางอี้โหมว, เฮลม่า-ซานเดอร์ บราห์มส์, อาร์เธอร์ เพ็นน์ เรื่อยไปถึง โยชิดะ โยชิชิเงะ ต้องถ่ายหนังเงียบขาวดำภายในความยาว 52 วินาทีเป็นการบูชาครู ไม่น่าเชื่อว่ากลไกภายในมันเบสิคมาก เหมือนแค่กล่องสี่เหลี่ยม เลนส์ตัวเดียวกับกลักฟิล์มสั้น ๆ ที่ไม่มีแม้แต่ช่องวิวไฟน์เดอร์



หุ่นสาวแสนสวยใน Metropolis

นักเรียนนักศึกษาร่างยักษ์ (แต่ใจเด็ก) ที่มาเป็นหมู่คณะเข้าแวะชมพิพิธภัณฑ์เป็นระยะ ๆ นอกจากพวกเขาจะฟังคุณครูอธิบายด้วยสายตาวอกแวกแล้ว เขาและเธอก็ลองเล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ เป็นที่สนุกสนาน ดูกล้องถ่ายหนังสมัยต่าง ๆ ทดลองเล่นซ้อนภาพในฉากขับรถหรือเหาะเหินอากาศ เสร็จแล้วก็วิ่งไปดูฉากจำลองหนังเก่าเอ็กซ์เพรสชั่นนิสท์คลาสสิค เช่นภาพประตู หน้าต่างหรือทางเดินที่บิดเบี้ยวผิดส่วนแบบหนัง หมอ คาลิการี่ ที่รักษาคนไข้โรคจิตในเรื่อง The Cabinet of Dr. Caligari ส่วนเจ้าหุ่นสาวแสนสวยในหนังไซ-ไฟคลาสสิค Metropolis เขาก็ยังมีเก็บไว้ให้ชม เรื่องนี้คนไทยคงคุ้นกันดีเพราะเคยเข้าฉายที่โรงหนังอีเอ็มไอแถวอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิสมัยที่ จอร์จิโอ้ โมโรเดอร์ (Giorgio Moroder) นำกลับมาย้อมสีใส่เพลงร็อคร่วมสมัยของ เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่ (Freddy Mercury) ส่วนฉบับหนังเงียบขาวดำดั้งเดิมนั้นหรือ เคยมาฉายเหมือนกันในเทศกาลเวิล์ดฟิล์มพร้อมบรรเลงเพลงออร์เครสตร้าที่ศูนย์วัฒนธรรม ฯ

จากนั้นผมมุ่งหน้าสู่เบอร์ลิน ณัฐ เพื่อนผู้คล่องแคล่วช่วยแนะแนวการขึ้นรถเมล์รถใต้ดินให้ผมเอาตัวรอดได้ในรายวัน วันหนึ่งก็ตะลุยตามพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเฉพาะในเบอร์ลินอาจมีเป็นร้อย! ว่าแล้วก็มุ่งหน้าไป พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ (Nationalgalerie) เดิมอาคารนี้ตั้งอยู่ในเขตเยอรมันตะวันออก ถ้าใครได้ดูหนัง Faraway, So Close! อาจจะจำได้ว่า มีฉากที่เทวดา คาสเซียล ได้เข้าไปชมภาพเขียนแล้วเกิดอาการจิตหลอนย้อนอดีตไปสู่สมัยที่นาซีกำลังจัดแสดงภาพศิลปะประเภทนอกรีต (Degenerate Art) งานครั้งนั้นต่างจากโชว์ปกติก็คือ จัดขึ้นมามิใช่เชิดชู แต่เพื่อเหยียดหยาม เพราะศิลปินกลุ่มนั้นเป็นพวกก้าวหน้าหัวคอมมิวนิสต์ ชอบทำงานศิลปะประเภทที่รัฐบาลถือว่าไม่เข้าแบบแผนอันถูกต้องตามขนบ บ้านเกิดเมืองนอนแสนงาม ของชนเผ่าแกร์มาเนน (ต้นตอชาติเยอรมัน) อีกทั้ง ฮิตเลอร์ ที่เคยมีปมด้อย สอบเข้าไม่ผ่านสถาบันสอนศิลปะ ก็ประกาศอ้างอำนาจชอบธรรมเผด็จการรสนิยมทางศิลปะ ด้วยการตีความงานของ เกอเธ่, อุปรากรของ ว้ากเนอร์ และคำกล่าวของ นิทเช่อ ให้รับใช้แนวคิด ‘บุคคลเหนือมนุษย์’ และ ‘สงครามในฐานะบิดาของสรรพสิ่ง’




ภาพเขียนของ คาสปาร์ ดาวิด ฟรีดริช

ผมมาที่นี่เพื่อชมภาพเขียนของ คาสปาร์ ดาวิด ฟรีดริช (Caspar David Friedich) ให้สมใจอยาก คนอะไรวาดภาพทิวทัศน์ได้วิเวกอลังการดีแท้ เรียกได้ว่างานของ แวนโก๊ะ / ฟองก๊อก (Van Gogh) หรือ เรมบรังด์ท (Rembrandt) ที่ว่าสุดยอดก็ไม่อาจจะจับบรรยากาศพลบคล่ำ อาทิตย์อัสดง หรือยามสนธยาแสงสลัวได้หม่นใจเพียงนี้ ทิวทัศน์แบบที่เขาเนรมิตมันอาจพิสดารเกินความจริง แต่วาดและลงแสงอย่างวิเศษล้ำ โดยเฉพาะภาพปี 1808-1810 ชื่อ The Abbey in the Oakwood ที่ผมอยากชมมานานแล้ว มันได้กลิ่นความตายวังเวงอันยิ่งใหญ่เหนือคำอธิบาย ผมดูภาพนี้ไปหนึ่งรอบ แล้ววนกลับมาใหม่หลังจากซื้อโปสการ์ดที่ระลึกรูปเดียวกัน ของเทียมในรูปดูสว่างมากไป ความมืดที่ตัดกับแสงสว่างคอนทราสต์สูงมันเพี้ยนไปหมด อันนี้แหละคือมหัศจรรย์ของภาพเขียนที่ศิลปะอื่นไม่อาจทดแทน จะมีประโยชน์อะไรถ้าการวาดรูปเก่งคือการก็อปปี้ธรรมชาติให้เหมือนจริงอย่างภาพถ่าย

ผมลองแวะมา พิพิธภัณฑ์หนังของเมืองเบอร์ลิน (Film Museum Berlin) ดูบ้าง งานนี้ถึงจะอลังการที่ทางเข้ามีภาพวิดีโอหนังคลาสสิคต่าง ๆ มาดักประตูเงินประตูทอง แต่ก็ดูเน้นหนักไปที่การแสดงภาพขยายใหญ่ยักษ์เสียมากกว่า นอกจากหนังเงียบเยอรมันก็มีการให้ความสำคัญกับดาราอย่าง มาร์ลีน ดีทริค (Marlene Dietrich) , โรมี่ ชไนเดอร์ (Romy Schneider) ดาราหญิงสองคนที่รู้จักกันดีทั่วโลก คนแรกอพยพไปเป็นดาราแถวหน้าของหนังฮอลลีวู้ดเล่นหนังอมตะหลายเรื่อง ส่วนคนหลังเน้นไปทางหนังเยอรมันกับหนังฝรั่งเศสเสียมากกว่า (ผมชอบ โรมี่ ใน Clair de Femme ของ คอสต้า-กราฟาส) ทั้งสองคนนี้ชาวยุโรปรู้จักกันดีถึงขนาดมีห้องแสดงภาพ สะสมเสื้อผ้าจากบทบาทดัง ๆ ที่น่าแปลกก็คือมีห้องแสดงงานอนิเมชั่นยุคสต็อปโมชั่น โดยเฉพาะงานของ เรย์ แฮรี่ เฮาเซ่น (Ray Harryhausen) คนที่ทำหนังสเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็คท์ฮอลลีวู้ด จำพวกการผจญภัยของซินแบ็ด หรือไดโนเสาร์ประจัญบานโลกล้านปี (มิน่าล่ะ ชื่อลงท้ายว่า เฮาเซ่น ที่แท้หมอนี่ก็มีเชื้อสายเยอรมันนี่เอง)

ที่น่าผิดหวังก็คือ ผู้จัดนิทรรศการมองข้ามคนทำหนังเยอรมันฝีมือดีรุ่น New German Cinema หลายคน เท่าที่ดูก็มีแต่โชว์ตุ๊กตาหมีทองรางวัลเทศกาลหนังเบอร์ลินของ ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ (Rainer Werner Fassbinder) หรือรูปหนังเมืองคานส์ของ เวนเดอร์ส หรือหนังออสการ์แบบ The Tin Drum พอเป็นพิธีเท่านั้น เสร็จแล้วก็รวบรัดตัดข้ามไปสรุปด้วยหนังยุคมิลเลนเนี่ยมขวัญใจวัยโจ๋ Run Lola Run ของ ทอม ทิคแวร์ (Tom Tykwer) ซึ่งชาวไทยรู้จักดีพอสมควร นับจากเรื่อง Heaven ที่เข้าฉายโรง และกระแสจากหนังใหม่ Perfume (สร้างจากนิยายเรื่องดัง) ที่อาจจะมาแรงในปีหน้า




พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์เมืองเบอร์ลิน

ณัฐ เป็นไกด์ที่ดีพาผมไปหย่อนตามร้านหนังสือ คะยั้นคะยอให้ผมไปเที่ยว พิพิธภัณฑ์ชาวยิว (Judisches Museum Berlin) ซึ่งช่างน่าสยดสยองปนสลดใจเหลือเกินกับการดูภาพอ่านประวัติของคนยิวคนนั้นคนนี้ที่ถูกจับตัวไปรมควันหรือกักขัง อาคารของเขาก็ช่างออกแบบได้ซิกแซ็กแสนพิสดารจนไม่รู้จะดูตรงไหนก่อนดี ทางขึ้นทางลงก็ไม่เหมือนชาวบ้าน ตรงกลางอาคารดูเหมือนรูปตัว V ที่หัวสองขั้วเชื่อมกับตัว Z สองตัวซึ่งหันหลังชนกัน พื้นทางเดินชมงานในอาคารก็ลาดเอียงไม่ได้ระดับราบตามปกติ ผมเดินไปหยุดหน้าประตูที่พนักงานสาวคนหนึ่งเฝ้าอยู่แล้วถามเธอว่าเข้าไปดูได้ไหม เธอไม่พูดอะไร เปิดประตูให้ ผมก้าวเข้าไปในความมืดเพียงลำพัง ขณะที่ประตูกำลังจะปิดสนิทนั้นเอง ผมพบว่าตัวเองกำลังอยู่ในห้องที่มืดสนิท มองไม่เห็นมือเท้า รอบข้างรู้สึกได้แต่ผนังเยือกเย็น (ของฤดูหนาว) ที่ว่างเปล่า ผมขนลุกกรู นึกถึงผีก่อนเป็นอันดับแรก รีบเคาะประตูขอออกจากห้องแทบไม่ทัน เอาเถอะต่อให้มันมีแสงรำไรอยู่บนเพดานสูงลิบลิ่วโน่น ผมก็ทนอยู่ในห้องนั้นอีกไม่ได้แล้ว ห้องนั้นมีชื่อเรียกว่า Holocaust Turm หรือ หอคอยโฮโลคอสต์ เขาทำเอาไว้ให้เรารับรู้ว่าความวังเวงของคนยิวใกล้ตายนั้นเป็นอย่างไร

ยังมีมุมเร้นลับในตึกอีกหลายจุดที่เล่าประวัติศาสตร์ยาวนานของชนชาวยิวที่จาระไนความได้ไม่หมด เช่นสวนเสาคอนกรีตสูงชันปลูกหญ้าหัวกระเซิงนอกอาคารที่เรียกว่า Garden of Exile แต่ส่วนแสดงงานศิลปะของศิลปินที่ชื่อ Menashe Kadishman ก็มีความพิเศษเฉพาะตัวมาก เขาทำงานแสดงชื่อ Fallen Leaves คล้ายห้องโลหะผนังสูงลิบ มีทางเดินยาวเข้าไปสู่ช่องทางที่เริ่มมืดเข้าไปเรื่อยๆ ส่วนบนพื้นห้องที่ผู้เข้าชมงานต้องเหยียบเข้าไปนั้น เขาทำเป็นเหล็กหล่อกลมหนารูปใบหน้าคนอมทุกข์ ตลอดย่างก้าวที่เราเหยียบย่ำจะมีเสียงกร็อกแกร็กหยาบหูของใบหน้าเศร้าหมองนี้กระทบกัน คุณศิลปินเขาต้องการให้เราร่วมรับฟังความทรมานทรกรรมของชาวยิวด้วยการสวมบทบาทเป็นฝ่ายผู้กระทำในทุกย่างก้าว

ณัฐ เล่าให้ผมฟังว่า ดาเนี่ยล ลีเบอสคินด์ คนออกแบบอาคารนี้ได้รับเลือกให้เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบตึกใหม่ซึ่งจะสร้างรำลึกถึงตึกเวิล์ดเทรดที่นิวยอร์ค ว่ากันว่าคอนเซปท์การออกแบบงานของเขาแต่ละชิ้นมีความหมายไม่ใช่ธรรมดา ทุกแง่มุมของนิทรรศการมีความหมายที่คาดไม่ถึง แน่นอนว่าถ้าตึกใหม่ได้รับอนุมัติให้สร้างจริง การรำลึกถึงผู้เสียชีวิตชาวอเมริกันคงจะถูกจัดวางอย่างมีความหมายสมเกียรติ ไม่แพ้ชาวยิวที่ตายไปแน่ๆ เพราะลำพังแค่สมัยอาคารพิพิธภัณฑ์ยิวแห่งนี้เพิ่งสร้างเสร็จ ชาวเมืองเบอร์ลินก็พออกพอใจจนบอกว่าสมบูรณ์ดีแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องเอาของโชว์มาลง

หลังจากบรรดาเทศกาลงานเที่ยวที่เล่ามายืดเยื้อ ผมก็ฉุกคิดได้ว่าเวลาแห่งการหลงระเริงกับวัฒนธรรมของคนบ้านอื่นนั้นคงเหลือไม่มาก มีเวลาชมเมืองได้อีกนิดเดียว พอคว้าได้หนังสืองานศิลปะของ คีเฟอร์ ที่อยากได้มานานหลายปี ก็รีบแพ็คกระเป๋าควบรถไฟไปเมืองดึสเซลดอร์ฟ (Dusseldorf) เยี่ยมนิ้มเพื่อนรัก และหลานสาวทั้งสามของผม วัยสดใสของหลานตัวน้อยเตือนผมแล้วว่าเวลาของคนที่พ้นวัยเด็กคือเวลาของความรับผิดชอบ ไม่ใช่เวลามาเที่ยวเล่น คืนนั้นเราเล่นเกมม้าหลังหักเหมือนเด็กซนบ้า ๆ 4 คน รวมทั้งถ่ายรูปเป็นที่ระลึกทิ้งท้าย ก่อนผมนั่งเครื่องบินกลับบ้านในวันถัดไป

19 ธันวาคม 2548

(บทความนี้เป็นการบันทึกประสบการณ์ของผู้เขียนที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547)

ข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์บางส่วนอ้างอิงจาก :

1. ANSELM KIEFER แต่งโดย Mark Rosenthal, สำนักพิมพ์ The Art Institute of Chicago and the Philadelphia Museum of Art, 1987

2. สองยุคแห่งวัฒนธรรมไวมาร์ แต่งโดย พรสวรรค์ วัฒนางกูร, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543

แหล่งที่มา //www.onopen.com/2006/editor-spaces/151 (5 ม.ค.2549)


Create Date : 05 มกราคม 2549
Last Update : 5 มกราคม 2549 17:54:57 น. 0 comments
Counter : 1950 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

Jingjo72
 
Location :
Baden-Württemberg Germany

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Ich geh mit dir wohin du willst
auch bis ans Ende dieser Welt
am Meer, am Strand, wo Sonne scheint-
will ich mit dir alleine sein
ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ : Es geht nichts über die Gesundheit Blog Counter
Source language Target language
  
Translations by Majstro Aplikaĵoj
[Add Jingjo72's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com