|
 |
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
 |
4 ตุลาคม 2550
|
|
|
|
กระแสของการเปลี่ยนแปลง (Wind of Change)
หลายคนคิดว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้นจะนำความยุ่งยากมาสู่สังคม เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้ง หรือทำให้เพื่อนกลายเป็นศัตรูกัน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งนั้นเป็นแนวคิดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนำสิ่งที่ดีขึ้นมาสู่สังคม ตราบใดที่สังคมมีการปรับเปลี่ยนนั่นย่อมหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการที่คนเราได้เรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ทำให้ชีวิต ชุมชน และสังคมของเรานั้นดีขึ้น ก่อให้เกิดความสุขในการอยู่ร่วมกันมากขึ้นและลดปัญหาแอบแฝงที่มีอยู่ในสังคมซึ่งขาดการดูแลเอาใจใส่ เช่น การไม่คำนึงถึงความแตกต่างกันในสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เพศ โอกาสในการได้รับการศึกษาหรือเข้าถึงการศึกษา พื้นฐานครอบครัว กฎหมาย วัฒนธรรม การด้อยความสามารถทางร่างกายและจิตใจ เชื้อชาติ ความเป็นชนกลุ่มน้อย หรือการเป็นคนชายขอบของสังคม หากมองในแง่ของการมีสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในฐานะของเอกบุคคลในโลกใบนี้ เราคงต้องให้ความสนใจและไม่ใช่แค่ยินยอมให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ยังต้องสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย
ถึงแม้ในฝ่ายแรกไม่ยอมรับหรือไม่อยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงแต่ในท้ายที่สุดความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือตรงข้ามกันก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี ไม่ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะรู้สึกชอบหรือรู้สึกไม่ชอบก็ตาม การเปลี่ยนแปลงหนึ่งซึ่งเป็นตัวชี้นำสังคมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่น ๆ ตามมา นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา
การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษานั้นเป็นกระบวนของวิวัฒนาการ ที่เริ่มจากชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคมเกษตรกรรม ผ่านสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและในปัจจุบันเรากำลังเรียนรู้อยู่ในยุคที่ 3 คือยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Cain & Cain, 1997 และ Stearns, 2005) ซึ่งในยุคของสังคมการเกษตรกรรมนั้นการศึกษามักเกิดขึ้นในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นผู้ให้ความรู้ ให้การศึกษากับบุตรหลานของตนเอง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการศึกษาเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ต่อมาเมื่อสังคมเริ่มเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมส่งผลให้การดำรงชีวิตของคนเริ่มเปลี่ยนไป จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อดำรงชีวิตนั้นเปลี่ยนไปสู่การผลิตสินค้าในปริมาณมากขึ้นในโรงงานเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มชนหมู่มาก มีการนำเครื่องจักรกลเข้ามาใช้ในการผลิต มีการเรียนรู้ศึกษา และฝึกทักษะเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าทางอุตสาหกรรม มีการจัดระบบองค์กรที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น ไม่จำกัดอยู่แต่บุคคลในครอบครัว มีการจัดสรรการมีและการใช้ทรัพยากรให้เป็นระบบมากขึ้น และมีการแข่งขันในการประกอบอาชีพเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรม (Stearns, 2005) ต่อมาเริ่มมีการพัฒนาขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้ก็ถูกนำมาใช้ไม่เพียงแต่ในภาคธุรกิจแต่ยังกระจายไปสู่ผู้ใช้ในระดับบุคคล เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้คนเราเกิดการเรียนรู้และมีการศึกษามากขึ้น เช่น วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้สังคมเริ่มเข้าสู่สังคมยุคใหม่คือยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ทำให้ดูเหมือนว่าโลกจะแคบและเล็กลง เนื่องจากการสื่อสารทำได้อย่างรวดเร็ว เสมือนไร้พรมแดนนั่นเอง คนที่อาศัยอยู่ในโลกต้องเรียนรู้มากขึ้น เรียนรู้ให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมจากซีกโลกอื่นที่มีความแตกต่างจากที่ตัวเองเคยอาศัยอยู่ เพื่อที่จะทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคใหม่นี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน
ในอดีตการศึกษาเป็นการจัดการเรียนการสอนเพียงเพื่อความต้องการของท้องถิ่น ขาดมาตรฐานที่เป็นเอกภาพ ประชาชนมีโอกาสในการได้รับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันและมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามเพื่อตอบรับกับสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การศึกษาจึงต้องมีการพัฒนา และมีการปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศจะต้องหันมาเอาใจใส่ และถือเป็นเรื่องที่เร่งด่วน
ตัวอย่างของการตอบรับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เช่น ในรัฐออนตาริโอ ประเทศแคนนาดา ในอดีตนั้นการศึกษาของรัฐออนตาริโอได้มีการจัดการศึกษาที่มีความแตกต่างกันตามเขตของที่อยู่อาศัย ระบบการศึกษายังไม่มีความชัดเจนทั้งในเรื่องของมาตรฐานและความคาดหวังที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ไม่มีคณะกรรมการกลางทางการศึกษา ทำให้หลักสูตรต่างเขียนขึ้นโดยคณะกรรมการท้องถิ่นและโรงเรียน ส่วนสาธารณชนเองก็มีความคาดหวังต่อเรื่องความเป็นเลิศทางการศึกษาของบุตรหลานตนเองมากขึ้น
ความต้องการที่จะเห็นคุณภาพของการศึกษาที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ของประชาชนที่อยู่ในรัฐออนตาริโอก่อให้เกิดแรงกดดันในเรื่องของการยกระดับคุณภาพการศึกษาของรัฐ ในปี 1995 รัฐบาลของรัฐออนตาริโอได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการการศึกษา (Royal Commission on Learning) ขึ้นโดยคณะกรรมาธิการชุดนี้มีภาระกิจหลักในการให้คำแนะนำแก่รัฐในการปฏิรูปทางการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของรัฐ เพื่อให้ได้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธ์ในการเรียนเพิ่มมากขึ้น แนวคิดการปฏิรูปที่เห็นได้ชัดคือการมองภาพของการศึกษาในองค์รวมและให้ความสำคัญต่อบุคคลที่อยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ปฏิรูประบบการศึกษาให้มีมาตรฐานกลางโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ (Winter and McEachern, 2001) โดยมีหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งเน้นในประเด็นดังต่อไปนี้
1. ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่มีประสิทธิผลมากขึ้น 2. ให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนทุกคน 3. ส่งเสริมให้เกิดการเรียนร่วม 4. ส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสและความเท่าเทียมกันทางการศึกษา 5. มีมาตรฐานทางการศึกษาในระดับที่เป็นเลิศ 6. สนับสนุนให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่อสาธารณชน 7. ส่งเสริมให้การศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในสังคม จากแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว รัฐบาลของรัฐออนตาริโอคาดหวังว่าทุกโรงเรียนของรัฐจะมีมาตรฐานการศึกษาเดียวกัน ผู้เรียนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในเขตไหนของรัฐ และบนมาตรฐานที่กำหนดขึ้นใหม่เด็กในรัฐออนตาริโอจะมีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ
ในอีกมุมหนึ่งของโลกที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ การปฏิรูปทางการศึกษาก็เกิดขึ้นเช่นกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของความต้องการในการปฏิรูปเพื่อยกระดับมาตรฐานทางการศึกษา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เป็นประเภทที่มีภาษาราชการใช้อยู่ถึง 4 ภาษา และการจัดระบบการศึกษาก็มีความแตกต่างกันตามเขต ซึ่งมีอยู่มากถึง 26 เขต (McCluskey, 2006) ซึ่งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศได้กำหนดให้การศึกษาที่จัดให้ผู้เรียนนั้นต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นเพื่อที่จะประสานให้การศึกษารวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน รัฐบาลของประเทศสวิตเซอร์แลนด์จึงได้ปฎิรูปการศึกษา โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วยเพื่อให้แต่ละเขตมีการเชื่อมต่อ และเกิดการติดต่อสื่อสารกันเพื่อจัดให้ระบบการศึกษามีรูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะจัดการศึกษาในภาษาใดก็ตาม ซึ่งเทคโนโลยี ICT ที่รัฐบาลได้นำเข้ามาใช้ช่วยให้เกิดการศึกษาที่มีมาตรฐานเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น สำหรับสิ่งที่เห็นผลได้ชัดจากการนำเอา ICT เข้ามาคือการจัดฝึกอบรมครูในระดับอุดมศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำเอาเทคโนโลยี ICT มาใช้ร่วมในการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
จากตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเพื่อตอบสนองผู้เรียนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก จากสภาพสังคมเกษตรกรรมที่เน้นการเรียนรู้จากการสร้างทักษะในการทำงานมาเป็นการเรียนรู้แยกส่วนตามสายงานตามโครงสร้างทางอุตสาหกรรม จนมาถึงการศึกษาในแบบองค์รวม สำหรับสภาพสังคมในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งชี้ให้เราเห็นว่าการศึกษานั้นเป็นกระบวนการซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคมแต่ละยุคที่เปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่อาจบอกได้ว่าจะมาช้าหรือมาเร็ว เพื่อที่จะให้เท่าทันสังคม นักการศึกษาจึงควรต้องติดตามกระแสการเปลี่ยนไปของโลก เพื่อที่จะนำมาวางแผนในการจัดการศึกษาสำหรับเด็ก ๆ ที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใช้ความรู้ในอนาคต ประเทศที่มีผู้บริหารการศึกษาที่มองการณ์ได้ไกล มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า จัดการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อสังคมที่เปลี่ยนไปของโลกในอนาคต ย่อมเป็นประเทศที่ได้ปรียบในด้านการแข่งขัน ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่ควรพึงระวังของนักการศึกษาในโลกของการเปลี่ยนแปลงคือความรู้สึกต่อต้าน และขัดขืนต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และหากเรายืนยันที่จะไม่เปลี่ยนไปตามกระแสของสังคมโลก ในที่สุดโลกใบนี้แหละจะเป็นผู้เปลี่ยนเราเองโดยที่เราไม่อาจต้านทานได้
เอกสารอ้างอิง
Steanrns, P.N. 2005, Conclusion: change, globalization and childhood, Journal of Social History, summer 2005 [Online, accessed 21 Sept. 2007] URL: //findarticles.com/p/articles/mi_m2005/is_4_38/ai_n15679288/pg_2
Winter, E.C. & McEachern, W.R. 2001, Dealing with educational change: The Ontario experience, education, summer 2001 [Online, accessed 21 Sept. 2007] URL: //findarticles.com/p/articles/mi_qa3673/is_200107/ai_n8972559
Mc Cluskey, A. 2006, Handling educational change in Switzerland: The perspective of the Swiss Agency for ICT in Education, Swiss Agency for ICT in Education, September 2006 [Online, accessed 22 Sept. 2007] URL: //insight.eun.org/ww/en/pub/insight/thematic_dossiers/articles/next_curve/next_curve4.htm
Caine, R.N. & Caine G. 1997, Understanding Why Education Must Change, New Horizon for Learnings [Online, accessed 22 Sept. 2007] URL: //www.newhorizons.org/trans/caine_change.htm
บทความนี้เป็นงานเขียนร่วมกันของ บุริม โอทกานนท์ สิรินาถ จงกลกลาง ชญานิษฐ์ ธรรมธิษฐาน รัตนา แสงบัวเผื่อน ศรีวรรณ เอมราช
Create Date : 04 ตุลาคม 2550 |
Last Update : 5 ตุลาคม 2550 22:21:28 น. |
|
1 comments
|
Counter : 966 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: JazzLover วันที่: 9 ตุลาคม 2550 เวลา:21:41:21 น. |
|
|
|
| |
|
 |
Jazz-zie |
|
 |
|
|
ผมขออนุญาต add Blogครับ