<<
สิงหาคม 2557
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
26 สิงหาคม 2557
 

แลไปข้างหน้า : ภาคปฐมวัย : ศรีบูรพา

ถ้าคุณเอก - คนขับช้า ไม่ชวนไปดูละครร้อง เรื่อง "ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา" 
เราก็คงไม่คิดหยิบหนังสือของ "ศรีบูรพา"  นักเขียนแห่งยุคสุภาพบุรษขึ้นมาอ่าน 
ในช่วงที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้าเฟื่องฟู ได้จัดพิมพ์หนังสือในโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก
ของนักเขียนรุ่นสุภาพบุรุษหลายท่านและหลายเรื่อง  ในจำนวนหลายๆ ท่านนั้น
เราตามเก็บงานของ "ยาขอบ" และ "ศรีบูรพา"  มากที่สุด  

พอถึงคราวจะดูละครเวที ที่นำเอาชีวิตของ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" หรือ "ศรีบูรพา" 
มาจัดทำเป็นละครเวที ก็เลยไปเลือกหยิบนิยายบนชั้นหนังสือลงมา 
และนี่คือ หนังสือที่เราเลือกมาอ่าน 

แลไปข้างหน้า : ภาคปฐมวัย : ศรีบูรพา


สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม 2531 
จำนวนหน้า 224 หน้า / ราคา 48 บาท 
ซื้อเมื่อ : 6 กันยายน 2533
อ่านจบ : 24 สิงหาคม 2557 

::  โปรยปกหลัง ::

นวนิยายของศรีบูรพา
จาก... ลูกผู้ชาย พ.ศ. 2431
         สงครามชีวิต พ.ศ.2475
         ข้างหลังภาพ พ.ศ.2480 
         จนกว่าเราจะพบกันอีก พ.ศ.2493 
มาถึง... แลไปข้างหน้า พ.ศ.2498

ล้วนรู้จักกันดีว่าเป็นนวนิยายที่ต้องพิมพ์แล้ว พิมพ์อีก
และได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริก มาแล้ว

กล่าวเฉพาะ "แลไปข้างหน้า" เมื่อแรกลงในนิตยสาร "ปิยะมิตร" 
ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องนำมาสนทนากันอย่างตื่นเต้นชื่นชมทุกสัปดาห์ 

ทรงคุณค่า-บำรุงปํญญา-เจริญอารมณ์


นิยายเรื่อง "แลไปข้างหน้า" ของ "ศรีบูรพา" เป็นหนึ่งในร้อยหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน 
ตามโครงการวิจัยของวิทยากร เชียรกูร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 
นิยายเรื่องนี้ เป็นนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิตการประพันธ์ของ "กุหลาย สายประดิษฐ์" เจ้าของนามปากา
ซึ่งสำนักพิมพ์ดอกหญ้าแบ่งพิมพ์ออกเป็น ภาคปฐมวัย และ ภาคมัชฌิมวัย 

จากถ้อยแถลงของสำนักพิมพ์เล่าว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนิยายเรื่องนี้ขณะติดคุกบางขวาง
เมื่อคราวต้องคดีการเมือง "กบฏสันติภาพ" โดยส่งมาลงในนิตยสารปิยะมิตรวันอาทิตย์ รายสัปดาห์ 
เริ่มลงตั้งแต่ฉบับที่ 406 ปีที่ 8 ของวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2498 เรื่อยมาถึงตอนที่ 15 
ในฉบับที่ 419 ของอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2598 เป็นอันจบภาค
ซึ่งก่อนจะมีการตีพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสารก็เขียนโปรยล่วงหน้าอยู่หลายฉบับ 

"...เป็นเรื่องการผจญชีวิตแปลกใหม่ในเมืองหลวงของเด็กชายชาวบ้านนอก
ผู้มาจากหมู่บ้านที่ยากจนข้นแค้นกันดาร เขาได้ผ่านชีวิตของเด็กวัด ชีวิตบ่าวในบ้านขุนนางผู้ใหญ่
และชีวิตในโรงเรียนของเด็กผู้ดีชั้นสูง เขาได้พบเห็นชีวิตเหล่านั้นมาอย่างไร และชีวิตเหล่านั้น
ได้สอนอะไรแก่เขา  ศรีบูรพาได้บรรยายไว้อย่างน่าตื่นใจและจับใจ..." 

และนิยายเรื่องนี้ก็มีการจัดพิมพ์รวมเล่มหลายต่อหลายครั้ง โดยฉบับที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้าจัดพิมพ์นี้
ได้นำภาพประกอบเรื่องเมื่อครั้งตีพิมพ์ ในนิตยสารมาอนุรักษ์ไว้ด้วย 


นานๆ จะหยิบนิยายของนักเขียนรุ่นเก่า มาอ่าน ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากสำนวนการเขียนของนักเขียนรุ่นหลังๆ มากเลย
สำนวนของนักเขียนรุ่นสุภาพบุรุษ จะมีการบรรยายความรู้สึกนึกคิดค่อนข้างเยอะ บทสนทนาไม่มา 
หรือถ้ามีก็จะเป็นการโต้ตอบกันด้วยข้อความยาวๆ พออ่านไปสักระยะหนึ่งเริ่มคุ้นเคยแล้ว ก็จะอ่านได้ลื่นขึ้น 

เรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตของเด็กชายจันทา โนนดินแดง ลูกชาวนาที่จากบ้านมาเป็นเด็กวัด
แล้วได้เข้าไปเป็นบ่าวเด็กในบ้าน "ท่านเจ้าคุณ" ซึ่งส่งเสียในเรียนหนังสือในโรงเรียนเดียวกับลูกชายท่าน 
จันทา ได้พบเพื่อนวัยเดียวกันแต่ต่างฐานะ ต่างศักดิ์กันไป ทั้งลูกเจ้า ลูกเสนาบดี ลูกพ่อค้า และลูกเจ็ก 
ได้เห็นชีวิตที่มีการแบ่งแยก "ผู้ดี" และ "ไพร่"  แต่ในขณะเดียวกันก็มีเพื่อนนักเรียนบางคนให้ความสนิทสนม
โดยไม่แยกไพร่-ผู้ดี แต่นิยมชมชอบอัธยาศัยไมตรีซึ่งกันและกัน นิทัศน์ คือชื่อของเพื่อนสนิทคนนั้น
เขารู้สึกว่า ชีวิตชาวนาของจันทาเป็นชีวิตที่น่านับถือ คนในหมู่บ้านช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบ่งปันกัน 
ไม่ต้องใช้เงินซื้อหาสิ่งของหรืออาหารการกิน เพราะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์หาปลาได้เอง
กระทั่ง "เสื้อผ้าไหม" จันทาก็มีใส่ได้ เพราะที่บ้านของเขาทอผ้าเอง 
ในขณะที่ผ้าไหมในกรุงเทพฯ นั้น ราคาแพงมาก  คนจะใช้ได้มีแต่ "ผู้ดี" เท่านั้น 

นิยายเรื่องนี้ ทำให้คนอ่านได้มองเห็นชีวิตทั้งสองด้าน โดยให้น้ำหนักและความสำคัญเท่า-เท่ากัน 
ออกเป็นการเน้นย้ำให้เห้นถึงความสำคัญของ "ชาวบ้านทั่วๆ ไป" ซะมากกว่า 
ซึ่งเราว่า คงเป็นเพราะคนเขียน ต้องการเล่าเรื่องราวของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 
ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์เป็นต้นมา
เป็นการสร้างความเข้าใจในระบอบการปกครองใหม่ผ่าน "นิยาย" 
ทำให้คนอ่านซึ่งน่าจะเป็นคนหัวใหม่ เริ่มได้รับการศึกษา ได้เข้าใจ "ประชาธิปไตย" มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ก็แทรกความคิดของคนรุ่นเก่าที่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงลงไปด้วย 
แต่เรื่องราวส่วนนี้ จะไปเด่นชัดใน "ภาคมัชฌิมวัย" ซึ่งเรายังอ่านไม่จบ 

และเราก็เห็นด้วยกับผู้ทำวิจัยโครงการหนังสือดีฯ ว่า นิยายเรื่องนี้เป็นนิยายที่คนไทยควรอ่าน
โดยเฉพาะ คนไทยรุ่นที่อยู่ท่ามกลางความร้าวฉานภายในประเทศอย่างทุกวันนี้ ยิ่งสมควรอ่าน 


ตอบโจทย์ Reading Bingo Challenge 2014 >> หนังสือคลาสสิคที่ถูก (เรา) ลืม


ปล. 








 

Create Date : 26 สิงหาคม 2557
1 comments
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2557 7:34:11 น.
Counter : 5306 Pageviews.

 
 
 
 
เป็นหนึ่งในร้อยหนังสือดีที่ควรอ่าน
น่าอ่านมากเลยค่ะ
ปกน่ารัก ก็เหมาะกับเนื้อหาภาคปฐมวัยเหมือนกันนะคะ

ส่วนละครร้องก็น่าดูมากๆเลยค่ะ
เคยไปดูละครเวทีครั้งนึง เป็นละครร้องก็ชอบค่ะ ดูได้เลย
ถ้าอยู่ใกล้คงไปดูแน่ๆ

ขอบคุณสำหรับรีวิวค่า
ถ้าพลาดเสียดายแย่เลย

 
 

โดย: lovereason วันที่: 28 สิงหาคม 2557 เวลา:22:09:06 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

นัทธ์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]





รักที่จะอ่าน รักที่จะเขียน
เปิดพื้นที่ไว้ สำหรับแปะเรื่องราว
มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ณ ที่นี้



สงวนลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539

ห้ามผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่ายและ/หรือข้อความต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมดใน Blog แห่งนี้ไปใช้
และ/หรือเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

New Comments
[Add นัทธ์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com