<<
กันยายน 2566
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
11 กันยายน 2566
 

เรียนไปเที่ยวไป: เส้นทางภาคเหนือ - Part XIII : วัดเจดีย์หลวง-วัดเชี่ยงมั่น จ.เชียงใหม่

ความเดิมตอนที่แล้ว 

ระยะทางไม่ไกล ..ใช้เวลาไม่นานก็ลงรถอีกครั้งที่ วัดเจดีย์หลวง  (วัดเจดีย์หลวงโชติการาม)  เจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา ใช้คำว่า "มหึมา" ก็ได้  ซึ่งยอดหักพังเพราะแผ่นดินไหว 



เจดีย์หลวง ตามตำนาน (อีกตามเคย) กล่าวว่าเริ่มสร้างโดยพระเจ้าแสนเมืองมา เพื่ออุทิศถวายแด่พระเจ้ากือนา พระราชบิดา แต่พระองค์สวรรคตก่อน พระมเหสีของพระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อในรัชกาลพระเจ้าสามฝั่งแถน  


แต่เจดีย์ที่เราเห็นอยู่ตรงหน้านี้ สถาปนาขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราชในปีพ.ศ.2022 ซึ่งมีหลักฐานเอกสารกล่าวถึง ว่าโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ โดยแปลงแบบเดิม ให้ใหญ่ขึ้น เพิ่มช้างประดับบนลานประทักษิณ และเปลี่ยนยอดเป็นแบบยอดเดียว ...แล้วมาหักโค่นลงเพราะแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนแม่ทาในสมัยของพระนางจิระประภา พ.ศ.2088 

รูปแบบของเจดีย์หลวง พิจารณาจากหลักฐานที่เหลืออยู่ จัดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา ส่วนฐานเพิ่มลานประทักษิน ประดับด้วยช้างล้อมซึ่งเป็นคติช้างค้ำจุนจักรวาล ส่วนเรือนธาตุอยูในผังเพิ่มมุม ประดับซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ ส่วนของชั้นหลังคาเห็นการทำชั้นหลังคาแบบเอนลาน ส่วนยอดตามบันทึกระบุว่าเป็น "กระพุ่มยอดเดียว" 

ลวดลายประดับตกแต่งเรือนธาตุ ได้แก่ ซุ้ม ลายกาบบน กาบล่าง ลายประจำยามอก  และลวดลายที่เศียรนาคประดับราวบันไดทางขึ้น  โดยหลักฐานเก่าจะอยู่ทางด้านทิศเหนือ (ตามในภาพ) ส่วนด้านอื่นนั้นบูรณะใหม่เมื่อพ.ศ.2535-2536 

 
ลายเครือล้านนา เป็นลายพรรณพฤกษา ประกอบด้วยกรอบลายที่หยักโคกหลายหยัก ภายในประดับด้วยดอกไม้และใบไม้ที่มีช่อดอกก้านและใบคดโค้งประกอบกับเต็มพื้นที่ เป็นหลายฉลุโปร่ง และลักษณะดอกไม้เป็นดอกโบตั๋น ซึ่งรับอิทธิพลจากลายเครื่องถ้วยจีน  ลวดลายนี้เริ่มเป็นนิยมในสมัยพระเจ้าติโลกราชในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 แล้วสืบเนื่องตลอดมาในศิลปะล้านนา 



วัดเจดีย์หลวง เคยประดิษฐานพระแก้วมรกต ซึ่งพระเจ้าติโลกราชโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญขึ้นมาจากเมืองลำปาง  และพระเจ้าไชยเชษฐา พระอุปราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งมาปกครองล้านนาในระหว่างปีพ.ศ.2089-2090 นั้น ได้อัญเชิญกลับไปเมืองหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้าง เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จกลับไปครองเมืองต่อจากพระราชบิดาซึ่งสวรรคต  

ปัจจุบัน เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมืองเชียงใหม่ ก็ประดิษฐานในวิหารทรงจตุรมุขในวัดเจดีย์หลวง โดยจะมีพิธีบูชาเสาอินทขิล ที่เรียกว่า "ประเพณีเข้าขิล" ในช่วงเดือนพฤษภาคมทุกปี 



ขึ้นรถ ...ลงรถอีกครั้งที่วัดเชียงมั่น เพื่อมาดู "ยอดเจดีย์หลวง"  

ตามตำนาน -อีกที- เล่าว่าพญามังรายประทับที่นี่ เมื่อครั้งสร้างเมืองเชียงใหม่ พอสร้างเมืองเสร็จ ก็ทรงสร้างวัดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ ให้ชื่อว่า "วัดเชียงมั่น"  ที่หน้าอุโบสถมีจารึกหลักสำคัญกล่าวถึงความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์ คือ พญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา พญางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา และพระร่วมแห่งอาณาจักรสุโขทัย  ..แต่ทว่า จารึกนี้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21 ไม่ได้ร่วมเหตุการณ์สร้างเมืองในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 แต่อย่างใด 





เจดีย์ประธานของวัดเชียงมั่น มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา ใกล้เคียงกับเจดีย์หลวงแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก 

มาทวนรูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทล้านนาอีกรอบ  วิวัฒนาการเกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยส่วนฐานประดับด้วยช้างล้อมตามคติ "ช้างค้ำจุนจักรวาล"  ส่วนเรือนธาตุประดับจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูุป ส่วนชั้นหลังคาแสดงชั้นหลังคาแบบเอนลาด 2 ชั้น ต่อด้วยองค์ระฆังเป็นบัวคว่ำ 3 ฐานในผังแปดเหลี่ยม ส่วนยอดเป็นกระพุ่มยอดเดียว 

หมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า ...ศาสนสถานใดก็ตาม หากมีการใช้งานต่อเนื่อง นั่นหมายความว่ามีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตลอด หลายครั้งเข้าก็อาจทำให้รูปแบบศิลปกรรมเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามความนิยมของยุคสมัยที่มีการซ่อมแปลงนั้น 

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดเชียงมั่น ที่ไม่ควรพลาด คือ พระเสตังคมณี และ พระพุทธรูปปางทรมานช้างนาฬาคีรี ประดิษฐานในพระวิหาร ...ด้วยความสำคัญและศักดิ์สิทธินี้เอง ทำให้เราต้องสักการะท่านผ่านลูกกรง 

 

พระเสตังคมณี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างจากหินสีขาว พุทธลักษณะเป็นศิลปะล้านนา คือ พระพุทธรูปขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ เรียวยาว พระวรกายบอบบาง นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน และมีสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวลงมาจรดพระนาภิ ซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะอยุธยา   มีตำนานของพระพุทธรูป เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของพญามังรายผู้สถาปนาเมืองเชียงใหม่ เมื่อครั้งพระองค์เสด็จไปรบกับเมืองหริภุญชัย แล้วธนูเพลิงตกต้องหอพระที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนี้ แต่ไม่ไหม้  ด้วยความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ พญามังรายจึงอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น 

พระพุทธรูปปางทรมานช้างนาฬาคีรี เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก สลักจากหินทราย ศิลปะอินเดียแบบปาละ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-17 เป็นพระพุทธรูปประทับยืน มีช้างมอบด้านข้าง ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในการแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า พระองค์นี้นำเข้ามาจากประเทศอินดีย



เมื่อได้ชมเจดีย์ 2 องค์นี้ต่อเนื่องกัน ก็จะเห็นรูปแบบศิลปกรรมเจดีย์แบบล้านนายอดเดียวชัดเจน  สิ่งใด ที่ใด ที่เราได้เห็น ได้ชม และได้ฟัง ซ้ำ ๆ ก็จะจดจำได้แม่นยำขึ้น  เมื่อนำมาบันทึกเล่าเรื่องไว้ จึงเป็นการวิธีการทบทวนบทเรียนของเราเป็นอย่างดี 

ว่าแล้ว เราก็ต้อนเพื่อน ๆ ขึ้นรถ เหลืออีก 1 วัดก็จะได้เวลากินมื่้อเย็นกันแล้ว 

ติดตามตอนต่อไป : คลิก
 




 

Create Date : 11 กันยายน 2566
2 comments
Last Update : 12 กันยายน 2566 20:16:52 น.
Counter : 622 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณเริงฤดีนะ, คุณhaiku, คุณtoor36, คุณnewyorknurse

 
 
 
 
มาเชียงใหม่อย่างน้อยช่วงกนุดยาววันพ่อ
ไม่ก็ลอยกระทง
ปีละ 1 ครั้ง..
กราบเจดีย์หลวงเสมอ
เพราะต้องกราบพระวัดพระสิงห์
ที่อยู่ละแวกเดียวกัน
ต้องบอกกล่าวไหว้เสาหบักเมืองด้วย
งดงามอลังการณ์
วัดเชียงมั่นเช่นกัน
แต่ไม่เคยไหว้จำเพาะเจาะจงกับ..

พระเสตังคมณี และ
พระพุทธรูปปางทรมานช้างนาฬาคีรี
ประดิษฐานในพระวิหาร ...


กราบตรงนี้ก่อนนะคะ..

ขอบคุณที่บันทึก ฝากกัน
 
 

โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 11 กันยายน 2566 เวลา:18:09:39 น.  

 
 
 
อัปแบบรวดเดียวเลย แถมอัปต่อเนื่องด้วย

ถ้าไม่ได้รักจริงๆ เรียนทางนี้ยากครับ ต้องรักจริงๆ เมืองไทยเรามีอะไรให้ต้องศึกษาอีกมาก เพียงแต่เราจะเจาะหรือลงไปดูในส่วนนั้นมากน้อยแค่ไหน แต่เอาเข้าจริงๆ เราก็ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติเยอะเหมือนกัน
 
 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 11 กันยายน 2566 เวลา:23:00:25 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

นัทธ์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]





รักที่จะอ่าน รักที่จะเขียน
เปิดพื้นที่ไว้ สำหรับแปะเรื่องราว
มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ณ ที่นี้



สงวนลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539

ห้ามผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่ายและ/หรือข้อความต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมดใน Blog แห่งนี้ไปใช้
และ/หรือเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

New Comments
[Add นัทธ์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com