<<
กันยายน 2566
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
5 กันยายน 2566
 

เรียนไปเที่ยวไป: เส้นทางภาคเหนือ - Part III : วัดศรีชุม จ.สุโขทัย

ความเดิมตอนที่แล้ว 

รถบัสคันที่ 1 และ คันที่ 2 ขับตามกัน พาคณะผู้เข้าอบรม วิทยากร และเจ้าหน้าที่เข้าจอดที่จุดหมายสุดท้าย ของการเรียนในวันแรกของทริป วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566
 วัดศรีชุม ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกเมืองสุโขทัยโบราณ และเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 



ที่ผ่านมา 3 จุดนั้น พวกเราใช้เวลาเก็บรายละเอียดกันนาน เพราะอาจารย์จะเล่าตั้งแต่ประวัติความเป็นมา รูปแบบศิลปกรรมของสถาปัตยกรรมและรูปเคารพ (ถ้ามี) เพื่อกระตุ้นความทรงจำพวกเรา เพื่อนหลายคนไม่ได้มีพื้นความรู้ด้านประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลป์ แม้จะเรียนในห้องมาก่อนแล้ว ก็ต้องให้เวลานึกคิดพิจารณาตามคำบรรยาย บางทีอาจารย์ก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เป็นเกร็ดในแบบของคนทำงานด้านโบราณคดีมาเล่าด้วย 

ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เคยทำงานในพื้นที่ภาคเหนือมานาน ทั้งการขุดค้น ทำวิจัย สอนนักศึกษา ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาจนกระทั่งเกษียณ อาจารย์จึงมีเรื่องเล่ามากมาย และตั้งใจถ่ายทอดความรู้ให้พวกเราเต็มที่  แบบเรียกได้ว่า "หมดเปลือก"

อาจารย์ให้เต็มที่ พวกเราเองก็ตั้งใจรับเต็มที่เช่นกัน ความสงสัยตอนฟังบรรยายในห้องเรียน เมื่อมาถึงพื้นที่จริง ก็มีคำถาม แล้วก็ "เอ๊ะ" จากนั้นก็ "อ๋อ" เป็นระยะ  กำหนดการแต่ละจุดจึงขยับออกไป  พวกเราจึงฟังบรรยายกันที่หน้าประตูวิหารนั่นแหละ 





วัดศรีชุม โด่งดังและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว เพราะมี "พระอจนะ" พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยองค์นี้นั่นเอง ...ภาพถ่ายที่เราเห็นบ่อยคือ ภาพนักท่องเที่ยวยืนพนมมึอ อยู่ใต้ปลายนิ้วพระหัตถ์ ...เหมือนเป็นท่าบังคับที่ "ทุกคนต้องถ่าย" ยังไงยังงั้น แต่พวกเราอดได้ภาพแบบนั้น 



เมื่อเข้าไปถ่ายภาพมุมกล้องยอดนิยมไม่ได้ ก็ตั้งอกตั้งใจฟังอาจารย์บรรยายอย่างสงบเสงี่ยมกันไปแล้วกัน 

เริ่มจากชื่อวัดศรีชุม บ้างก็ว่ามาจาก "ฤาษีชุม" แต่เราค่อนข้างเชื่อตามข้อสันนิษฐานของอาจารย์ว่ามาจากคำว่า "ต้นศรี" ซึ่งก็คือต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ชาวล้านนามักใช้เรียก "ต้นโพ" ซึ่งดูจะมีเค้ามากกว่า  หรือว่าสมัยสุโขทัยมี ฤาษีชีไพรมากมายจริง? ก็น่าคิด น่าค้นหาหลักฐานมาสนับสนุนความเชื่อนี้อยู่นะ

ส่วนชื่อองค์พระใหญ่นั้น ว่ากันตามจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงว่า "เบื้องตีนนอน...มีพระอจนะ" ก็จึงยึดถือกันว่าชื่อนี้แหละ  แต่...มีแต่ก็หมายความว่า มีหลักฐานอื่นพอจะหักล้างความเชื่อที่ว่าพระพุทธรูปนี้คือ "พระอจนะ" อยู่ 2 สิ่ง 

สิ่งแรกคือ จารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม (จารึกที่พบเป็นลำดับที่ 2) ซึ่งเป็นหลักฐาน "ติดที่" คือพบ ณ แหล่งโบราณคดีนี้โดยยังไม่มีการเคลื่อนย้าย และสิ่งต่อมา คือ ช่องอุโมงค์พระมณฑปที่พบจารึกหลักนั้น บนเพดานมีการจารภาพลายเส้น เล่าเรื่องชาดกในชุด 500 พระชาติ  ทั้งนักอ่านจารึกและนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ต่างก็ใช้พัฒนาการตัวอักษรและรูปแบบศิลปกรรม วิเคราะห์ กำหนดอายุจารึกวัดศรีชุมและมณฑปหลังนี้ ว่าสร้างขึ้นในปีพุทธศตวรรษที่ 20 หลังจากรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง 



ข้อสันนิษฐานอีกประการคือ การสร้างอาคารมณฑปขนาดใหญ่ โดยมีผนังซ้อน 2 ชั้นเพื่อเดินประทักษินขึ้นไปถึงชั้นหลังคาได้ แล้วประดับภาพจิตรกรรมพุทธประวัติและชาดกแบบนี้ เป็นงานที่นิยมสร้างในศิลปะลังกาและศิลปะพุกาม แสดงให้เห็นว่าเมืองสุโขทัยมีความสัมพันธ์กับลังกาและพุกาม  นั่นก็ เป็นช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 20  จึงรับเอาคติการใช้มณฑปเป็นประธานหลักของวัดแทนเจดีย์มาเป็นรูปแบบการสร้างวัดนี้ด้วย 



เป็นอันว่า ...มีเรื่องให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ต้องศึกษาหาหลักฐานทางโบราณคดีมาอ้างอิง เชื่อมโยง หรือหักล้างกันได้อีกต่อไป  ซึ่งก็เป็นหลักในการทำงานประวัติศาสตร์ ณ ปัจจุบันนี้ เราก็เชื่อกันไปก่อนว่า พระพุทธรูปใหญ่องค์นี้ ชื่อ "พระอจนะ" และพระอจนะองค์นี้บูรณะใหม่ให้ชั้นหลัง ไม่ได้องค์แรกสร้างนะ 



เอาล่ะ ...ได้เวลาเดินทางเข้าที่พักไปกินมื้อเย็นกันได้ ...ทีมงานเลือกที่พักคืนแรกที่ โรงแรมสุโขทัย เฮอริเทจ รีสอร์ท  ซึ่งพวกเราไม่ได้คาดหวังว่าคณะทำงานจะที่พักระดับนี้ให้กับผู้เช้าอบรมด้วยซ้ำ ...ที่จริงก็ประทับใจตั้งแต่ร้านอาหารมื้อกลางวันแล้วด้วยนะ 



ภาพบรรยายกาศที่โรงแรมนี้ เราถ่ายตอนเช้านะ ...ตอนเช็คอินเข้าที่พัก มัคคุเทศก์ประจำวันมีหน้าที่แจ้งเมนูอาหาร กำหนดการวันรุ่งขึ้น และเลขที่ห้องพักแก่เพื่อน ลงจากรถมาก็แจกกุญแจห้องพักพร้อมแนะนำสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพัก แล้วจึงแยกย้ายกันเข้าห้องพัก ล้างหน้าล้างตา แล้วลงมากินมื้อเย็นแบบบุฟเฟ่ตที่ห้องจัดเลี้ยง 





กินอิ่มแล้ว ก็อานน้ำ แล้วก็นอน ...พวกเราใช้ชีวิตแบบ 6-7-8 คือ Morning Call 6 โมงเช้า กินมื้อเช้า 7 โมง แล้วล้อหมุน 8 โมงตรง....มัคคุเทศก์ต้นแบบและอาจารย์กำชับเรื่อง "การตรงต่อเวลา" มากที่สุด เพราะทริปเรียนรู้ในคอร์สนี้ พวกเราต้องเก็บให้ครบถ้วน ไม่อาจเว้นสถานที่ใดสถานที่หนึ่งไปได้ เพราะเป็นเส้นทางบังคับจากกรมการท่องเที่ยว เป็นข้อกำหนดที่สถานที่อบรมต้องปฏิบัติตามด้วย เพื่อผลผลิตที่ได้ในท้ายที่สุดคือ มัคคุเทศก์คุณภาพที่เป็นเสมือนตัวแทนประเทศไทยให้การต้อนรับและดูแลนักท่องเที่ยวนั่นเอง 

ติดตามตอนต่อไป : คลิก

 
คลิปจากช่องภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยลัยศิลปากร 
เผยแพร่เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2563

----------------------------
เพื่อสอบทานข้อมูลที่เราเรียบเรียงจากความทรงจำที่นำมาเขียนเล่าได้ข้างต้น





 

Create Date : 05 กันยายน 2566
2 comments
Last Update : 7 กันยายน 2566 16:47:25 น.
Counter : 706 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณนายแว่นขยันเที่ยว

 
 
 
 
ไปจังหวัดนี้ ต้องไปตรงนี้.. กว้างขวางรมรื่นดี...

เสียดายเขาไม่ให้เข้าตรงทางเข้า ใกล้(หัวเข่่าองค์พระ).. เมื่อก่อนเข้าได้
เดินไต่บันใดแคบ ๆ สู่ตรงคอองค์พระเป็นทางลับ.. คนโบราณสร้างผนัง
สองชั้น... เขาว่าพม่าไม่รู้ว่ามีสองชั้น...
 
 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 6 กันยายน 2566 เวลา:4:55:54 น.  

 
 
 
@ไวน์กับสายน้ำ
เราไปถึงตอนปิดประตู จึงได่เข้าใกล้องค์พระ ไม่ได้เข้าอุโมงค์ด้วย ..เอาไว้ไปเองอีกรอบ ถ้ามีโอกาส
 
 

โดย: นัทธ์ วันที่: 6 กันยายน 2566 เวลา:11:52:02 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

นัทธ์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]





รักที่จะอ่าน รักที่จะเขียน
เปิดพื้นที่ไว้ สำหรับแปะเรื่องราว
มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ณ ที่นี้



สงวนลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539

ห้ามผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่ายและ/หรือข้อความต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมดใน Blog แห่งนี้ไปใช้
และ/หรือเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

New Comments
[Add นัทธ์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com