<<
กันยายน 2566
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
4 กันยายน 2566
 

เรียนไปเที่ยวไป: เส้นทางภาคเหนือ - Part II : วัดศรีสวายและวัดพระพายหลวง จ.สุโขทัย

ความเดิมตอนที่แล้ว  

ในตอนนี้เรายังอยู่ในอาณาบริเวณของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 
วัดที่ 2 ที่อาจารย์เดินนำมาคือ วัดศรีสวาย  เรามาดูวัฒนธรรมเขมรในเมืองสุโขทัย 
ในช่วงเวลาที่อาณาจักรสุโขทัยก่อร่างสร้างเมือและพัฒนาความเจริญทางศิลปะนั้น  ในดินแดนสุวรรณภูมินี้ มีเมืองพระนคร อาณาจักรเขมรที่เข้มแข็งมากในช่วงเวลานั้น ซึ่งกษัตริย์เขมรก็แผ่พระราชอำนาจมาถึงเมืองสุโขทัยด้วยเช่นกัน 

โบราณสถานที่อยู่ตรงหน้าเรานั้น คือ ประจักษ์พยานที่เป็นรูปธรรม  รูปแบบการก่อสร้างปรางค์ปราสาท 3 หลังติดกันนี้ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ช่างเมืองสุโขทัย น่าจะได้รับอิทธพลมากจากปราสาทเขมร ซึ่งนิยามสร้างอาคารทรงปรางค์ไว้ประดิษฐานรูปเคารพ  แต่ปรางค์อิฐ 3 องค์บนฐานนี้ มีส่วนยอดเป็นเรือนซ้อนชั้น 7 ชั้น ต่างจากศิลปะเขมรที่สร้างเพียง  5 ชั้น และประดับด้วยบรรพแถลง นาคปัก และกลีบขนุนเพิ่มขึ้นมา 

 


งานประติมากรรมที่ประดับตกแต่งนั้น มีลักษณะผสมผสาน ระหว่างศิลปะเขมรและศิลปะลังกา เราจะเห็นทั้งครุฑยุดนาก เทวดา นางอัปสรา และยังมีลวดลายดอกไม้เป็นแบบดอกโบตั๋นอย่างศิลปะจีน ที่ช่างสุโขทัยอาจจะเห็นลวดลายจากเครืองถ้วยจีนที่มีเข้าซื้อขายแลกเปลี่ยนในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน  

เมื่อพิจารณาจากรูปแบบศิลปะนี้แล้ว นักประวัติศาสตร์ศิลปะจึงกำหนดอายุปราสาท 3 หลังนี้ไว้ที่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18  เป็นยุคแรกเริ่มของศิลปะสุโขทัย และน่ามีการบูรณะเพื่อใช้งานในยุคหลังต่อมา ในราวพุทธศาสตร์ที่ 20 ช่วงสมัยอยุธยาตอนต้นด้วย  

นอกจากนี้ ยังพบแท่นวางรูปเคารพที่อาจระบุได้ว่า ก่อนจะเป็นศาสนสนานของศาสนาพุทธ ที่นี่ก็อาจเคยเป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ฮินดูมาก่อนได้



จากนั้น เดินทางออกจากมุ่งหน้าไปต่อไปยัง วัดพระพายหลวง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือ นอกกำแพงเมืองสุโขทัยโบราณทาง ระหว่างทางเราได้เห็นคูน้ำ คันดิน และกำแพงเมืองที่สร้างจากศิลาแลง



วัดพระพายหลวงแห่งนี้ ถือว่าเป็นหลักฐานทางศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมรที่ปรากฎก่อนสถาปนากรุงสุโทัยที่ยังหลงเหลือให้ศึกษาอยู่จนถึงปัจจุบัน
มีระบบผังแบบวัฒนธรรมเขมร คือ มีปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง มีคูน้ำล้อมรอบชั้นในและชั้นนอก และมีสระน้ำล้อมรอบนอกอีกชั้น และยังมีบารายขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออก แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของศาสนสถานแห่งนี้เป็นอย่างมาก  แน่นอนว่า เราไม่ได้เห็นด้วยตาทั้งหมดหรอก เพราะเรานั่งรถเข้ามาจนถึงชั้นใน 


ปัจจุบัน เหลือปราสาทให้ดูลวดลายได้แค่หลังเดียว อีก 2 หลังนั้นพังทลายไปแล้ว  แค่หลังเดียว พวกเรามองตามจุดที่อาจารย์ชี้แทบไม่ทัน ...จะยังไม่ทันเห็นชัด ๆ อาจารย์ก็เปลี่ยนจุดอธิบายไปแล้ว 

การก่อปราสาทหินสามหลังนี้ เป็นเทคนิคแบบเขมรศิลปะบายน ได้แก่ การใช้ศิลาแลงขนาดใหญ่ แต่อาจารย์ศักดิ์ชัยบอกว่า เทคนิคการก่อสร้างไม่ดี  รูปแบบปราสาทมีฐานเตี้ย เรือนธาตใช้ระบบเพิ่มมุม มีมุมประธาน มีเรือนซ้อนชั้นขึ้น แต่ละชี้นมีส่วนของเสาตั้งคานทับ มีช่องวิมาน ซุ้มวิมานและบรรพแถลง ที่มุมแต่ละชี้นประดับนาคปัก กรอบซุ้มวิมานเป็นลายกลีบบัวและลายกระหนกแบบเขมร  ซึ่งน่าจะผ่านการซ่อมโดยช่างท้องถิ่นสุโขทัย จึงไม่สมมาตรแบบฝีมือช่างเขมร  



ปราสาทสามหลังนี้ เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธมหายาน เพื่อประดิษฐานรูปเคารพ 3 องค์ คือ พระพุทธรุปนาคปรก อยู่กลาง เบื้องขวาของพระพุทธรูปคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวน และเบื้องซ้ายคือ นางปรัชญาปารมิตตา  หน้าบันปราสาทประธานทิศเหนือที่เหลือนี้ ประดับปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนออกบวช - ตรัสรู้ - มารผจญ

เดินวนไปดูเจดีย์และอาคารหลังอื่นกันบ้าง เราจะพบว่ามีรูปแบบศิลปะหลากหลาย ตอกย้ำความสำคัญของวัดนี้ที่มีการใช้งานต่อเนื่องยาวนาน จึงมีการสร้างอาคารเพิ่มบ้าง ซ่อมแซมอาคารเดิมบ้าง 




เจดีย์สี่เหลื่ยม องค์นี้ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผังสี่เหลี่ยม ที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะหริภุญชัย  ซึ่งเราจะได้ดูเปรียบเทียบกับเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ในวันรุ่งขึ้น  อาจารย์อธิบายว่า  มีการบรูณะเจดีย์โดยการก่อครอบให้เป็นเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม  เราสังเกตุดี ๆ จะเห็นพระพุทธรูปและเทวาปูนปั้น ศิลปะสุโขทัยอยู่ด้วย 

ลัดเลาะซากเจดีย์ตามอาจารย์มายังวิหารพระพุทธไสยาสน์และมณฑปพระพุทธรูปลีลา ซึ่งเป็นอาคารหลังเดียวกัน  ด้านหน้าคือวิหารพระนอน ซึ่งเหลือแต่กำแพงอิฐ พอจะมองเห็นร่องรอยเดิมบ้าง 


อีกด้านเป็นมณฑปพระลีลา มีแกนก่ออิฐถือปูนเพื่อประดับพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ เป็นพระพุทธรูปลีลา ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับภาพประดับอื่น ๆ ก็อาจสรุปได้ว่านี่คือ ปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ด้วยด้านซ้ายและขวามีร่องรอยว่าเป็นงานปูนปั้นพระพุทธรูปนั่งและยืน จึงกล่าวกันว่าน่าจะเป็นต้นแบบการสร้างพระพุทธรูปสี่อริยบท คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ในสมัยหลังต่อมาก็เป็นได่ 




อาจารย์เสริมว่า ถ้ามีภาพให้เห็นเพียงพระพุทธรูป เราจะเรียกกันว่า อริยาบท หากมีองค์ประกอบอื่นในภาพ เช่นมีต้นโพธิ มีเทวดา มีพุทธสาวก เราอาจบอกว่าเป็น ปางหรือตอนใดในพุทธประวัติ  เช่น ประสูติ ตรัสรู ปฐมเทศนา ปรินิพพาน เป็นต้น ...ต้องเรียนรู้และหัดสังเกตุ อีกทั้งจดจำเรื่องพุทธประวัติไว้ด้วย ...นี่จะเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไว้เล่าเสริมให้น่าสนใจขี้นได้


เร่งทำเวลากันอีก  จุดหมายสุดท้ายของวันแรก ถ้าโอ้เอ้ประตูปิด ก็จะได้ฟังบรรยายกันด้านนอก 
เพื่อนมัคคุเทศก์เวรประจำวันจึงต้องเร่งต้อนเพื่อน ๆ ที่มัวแต่ถ่ายรูปเก็บรายละเอียดและถ่ายรูปที่ระลึกให้ขึ้นรถบัส แจกน้ำ แจกผ้าเย็นกันให้สดชื่น เพื่อมุ่งหน้าจุดต่อไป 

ติดตามตอนต่อไป >> คลิก
 

คลิปจากช่องภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยลัยศิลปากร 
เผยแพร่เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2563

----------------------------
เพื่อสอบทานข้อมูลที่เราเรียบเรียงจากความทรงจำที่นำมาเขียนเล่าได้ข้างต้น



 




 

Create Date : 04 กันยายน 2566
0 comments
Last Update : 7 กันยายน 2566 16:47:48 น.
Counter : 716 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณnewyorknurse

 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

นัทธ์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]





รักที่จะอ่าน รักที่จะเขียน
เปิดพื้นที่ไว้ สำหรับแปะเรื่องราว
มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ณ ที่นี้



สงวนลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539

ห้ามผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่ายและ/หรือข้อความต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมดใน Blog แห่งนี้ไปใช้
และ/หรือเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

New Comments
[Add นัทธ์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com