Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2556
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
8 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 

ปัญหา "พระวิหาร" จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 19)


ตอนที่แล้ว ได้นำเสนอแนวทางแรกที่ศาลโลก อาจมีคำตัดสิน

ให้ยกคำร้องกัมพูชาตามที่ฝ่ายไทยได้ต่อสู้ว่าขอให้ศาลไม่รับตีความ

เพราะคำขอของกัมพูชาเกินกว่าขอบเขตแห่งคำพิพากษาเดิม

ในปี 2505 ซึ่งตัดสินเรื่องอธิปไตยหรือปราสาท

ไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดนและสถานะทางกฎหมาย

ของแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาอ้าง


อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องไม่ลืมว่ากัมพูชาเคยยื่น

ขอมาตรการชั่วคราว และศาลก็มีคำสั่งกำหนด

เขตปลอดทหารชั่วคราว (PDZ) และคำสั่งอื่น ๆ

ซึ่งเงื่อนไขที่ศาลจะออกมาตรการชั่วคราว ได้ข้อหนึ่งก็คือ

ศาลโลกมีเขตอำนาจเบื้องต้น

(prima facie jurisdiction)

นั่นคือศาลเห็นในเบื้องต้นว่ามี ข้อพิพาท (dispute)

อันเป็น ความเห็นแตกต่างกันในประเด็น ข้อกฎหมาย

หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับบทปฏิบัติการ (operative clause)

ซึ่งศาลได้พิพากษา 3 ข้อ ดังกล่าวในปี 2505

ไทยเราขอให้ยกคำร้องขอมาตรการชั่วคราว

โดยอ้างเหตุผลข้อหนึ่งว่า ศาลไม่มีเขตอำนาจเบื้องต้น

เพราะไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาปี 2505

ทั้ง 3 ข้อครบถ้วนแล้ว และคำขอมาตรการชั่วคราวดังกล่าว

ไม่มีส่วนสัมพันธ์ใดกับสาระสำคัญที่ขอให้ตีความ

แต่ศาลมีมติเอกฉันท์โดยผู้พิพากษาทั้ง 16 คน

ให้ยกคำร้องของไทย

และศาลเห็นว่าในเบื้องต้น มีข้อพิพาทอันเกิดจาก

ความเห็นที่แตกต่างกันอย่างน้อย 3 ประเด็น


ดังนั้น หากศาลพิพากษาเนื้อหาสารัตถะของคำขอตีความ

ศาลมากลับความเห็นของตนเองว่าไม่มีข้อพิพาทในท้ายที่สุด

ก็กระไรอยู่ เพราะโดยสภาพจิตวิทยาแล้ว

การให้คนกลับความเห็นตอนแรกของตนนั้น

ถ้าไม่มีเหตุสำคัญเช่นพบข้อเท็จจริงใหม่ ก็คงจะยาก


แต่อาจมีคนเถียงว่า

ก็คดีที่เม็กซิโกฟ้องสหรัฐในคดีอวีน่า (Avena)

แล้วมีการขอตีความคำพิพากษาโดยเม็กซิโก และเม็กซิโก

ก็ขอมาตรการชั่วคราวจากศาล

ศาลก็เห็นว่าตนมีเขตอำนาจเบื้องต้น

เพราะมีข้อพิพาทระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา

ในความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาแล้ว

แต่ตอนตัดสินคดีจริง ศาลกลับพิพากษาว่าตนไม่มีอำนาจ

เพราะคำขอตีความคำพิพากษาของเม็กซิโกไม่ใช่คำขอตีความ

เรื่องที่ศาลเคยตัดสินไปในคดีเดิม เมื่อ 31 มีนาคม 2547


แต่ถ้าเราดูคะแนนเสียงที่ผู้พิพากษาศาลโลกลงมติ

ในคำขอมาตรการชั่วคราว ก็จะพบข้อแตกต่างจาก

คดีพระวิหารอย่างมาก กล่าวคือ คดีอวีน่า นั้น

ผู้พิพากษาศาลโลก 7 คน มีมติให้ยกคำคัดค้านของสหรัฐอเมริกา

ที่ว่าศาลไม่มีเขตอำนาจ

แต่อีก 5 คน มีความเห็นแย้งว่าศาลไม่มีเขตอำนาจเบื้องต้น

เพราะเม็กซิโกแสดงให้เห็นไม่ได้ว่ามีความแตกต่าง

ระหว่างความเห็นของ 2 ฝ่ายในความหมาย

และขอบเขตคำพิพากษาอย่างไร

ดังนั้น คดีนี้ในการขอมาตรการชั่วคราว

เม็กซิโกชนะเพียง 2 เสียง

จึงไม่แปลกอะไรที่ในตอนตัดสินคดี

ตีความจริงในตอนสุดท้าย ผู้พิพากษา 11 คน

ลงมติว่าศาลไม่มีอำนาจ เพราะเม็กซิโกยกเรื่องที่ไม่ใช่ประเด็น

ที่ศาลเคยตัดสินไว้ในปี 2547 ในคดีอวีน่า และอีก 1 คน

ลงมติคัดค้าน มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าในการตีความคดีอวีน่านี้

เมื่อนายเมดลิน (Mr.Medellin) ถูกประหารชีวิตไปแล้ว

ตามคำพิพากษาของศาลเทกซัส ทั้ง ๆ ที่ศาลออกคำสั่งกำหนด

มาตรการชั่วคราวเพื่อมนุษย ธรรม ศาลจึงกลับมายึดหลักกฎหมาย

เพราะช่วยนายเมดลินไม่ได้ (ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราว

ให้สหรัฐอเมริกาชะลอการประหารชีวิตนายเมดลินและคนเม็กซิกัน

จนกว่าศาลโลกจะตัดสินคดีเมื่อ 16 กรกฎาคม 2551

นายเมดลินถูกประหารชีวิตวันที่ 5 สิงหาคม 2551

และศาลโลกตัดสินว่าตนไม่มีอำนาจวันที่ 19 มกราคม 2552!)


คดีพระวิหารไทย-กัมพูชานั้น ในคำขอคุ้มครองชั่วคราว

ศาลยกคำร้องไทยเป็นเอกฉันท์ทั้ง 16 คน! ดังนั้น

การจะกลับหลังหันมาพิพากษาในท้ายที่สุดว่า

ศาลโลกไม่มีอำนาจเหมือนคดีอวีน่า คงจะมีโอกาสน้อยเต็มที่

(แต่ผู้พิพากษาใหม่ 3 ท่านซึ่งไม่เคยพิจารณาคำร้องขอมาตรการชั่วคราว

เลยอาจเห็นไม่มีเหมือนกับอีก 13 คนเดิมก็ได้)

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่าในขณะแถลง การณ์ ด้วยวาจาสิ้นสุดลงนั้น

ผู้พิพากษาอับดุลกาวี อาเหม็ด ยูซูฟ (Abdulgawi Ahmed Yusuf)

ขอให้ทั้งไทยและกัมพูชา เขียน “บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร”

บนแผนที่หรือกราฟิก แล้วนำส่งต่อศาลใน วันที่ 26 เมษายน 2556

และต่างฝ่ายต่างส่งให้กันในวันที่ 3 พฤษภาคม 2556

กรณีการตั้งคำถามของศาลและขอให้คู่กรณีทำเอกสารมาให้ศาล

เมื่อการแถลงยุติลงไม่ค่อยปรากฏในการพิจารณาของศาลโลก!

บางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า นี่แสดงให้เห็นว่า ศาลอาจดู

“ความแตกต่างในความเห็น” ของทั้ง 2 ฝ่าย

ซึ่งจะนำไปสู่การรับตีความคำขอของกัมพูชานั่นเอง


คำถามจึงมีว่า ถ้าศาลรับตีความตามคำขอของกัมพูชาแล้ว

ศาลจะตัดสินอย่างไร?

วันนี้ยังไม่มีใครเดาได้ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร

แต่ถ้าจะให้คาดคะเนก็คงมีทางตัดสินได้ 3 แนวทาง คือ


1.ศาลตีความกำหนดเส้นเขตแดนบนแผนที่ภาคผนวก 1 ว่าเป็น

“บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร” อย่างที่กัมพูชาอ้าง

แต่ถ้าศาลตีความเช่นนี้ กัมพูชาได้ ไทยเสีย และศาลเอง

ก็จะต้องเผชิญปัญหาหลายประการ คือ

ประการแรก ไทยและกัมพูชาต่างอ้างว่ารอคำพิพากษา

เพื่อให้ได้ข้อยุติอันจะทำให้เกิด สันติภาพ แต่ไทยได้เตือนศาลไปแล้วว่า

วันนี้ปัญหาอาจมีอยู่บริเวณใกล้เคียงปราสาท แต่ถ้าศาลกำหนดว่า

เส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1

อาจเกิดปัญหาลามไปยังที่อื่น ๆ ที่ยังไม่พิพาทกัน

ทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นได้

ประการที่สอง ไทยชี้ให้เห็นปัญหาของการนำแผนที่ดังกล่าว

ไปขีดลงบนพื้นที่จริงว่าการใช้วิธีการแต่ละวิธีจะให้ผลที่แตกต่างกัน

และแผนที่ก็มีหลายฉบับ ซึ่งศาลต้องอธิบายให้ได้ทั้งทางเทคนิค

และข้อเท็จจริงว่าข้ออ้างของไทยไม่ถูกต้องอย่างไร

เพราะไทยอ้างผู้เชี่ยวชาญ

ประการที่สาม ที่สำคัญที่สุด คือ ศาลต้องอธิบายให้ได้ว่า

ในเดือนมีนาคม 2505 กัมพูชาเคยขอให้ศาลตัดสิน

ทั้งเส้นเขตแดน และสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1

แต่ศาลไม่ตัดสินให้ โดยศาลให้ถือว่าเป็นเหตุผล

ประกอบคำพิพากษาเท่านั้น เหตุใด 50 ปีผ่านไป

ศาลจึงพิพากษาให้กัมพูชา ตามที่กัมพูชาขอใหม่

และศาลต้องอธิบายให้ได้ว่านี่ไม่ใช่การทบทวน

ขอให้พิจารณาใหม่ (revision) อย่างไร?

และนี่ไม่ใช่การอุทธรณ์ (appeal) ซึ่งทำไม่ได้ทั้ง 2 กรณีอย่างไร?

ประการที่สี่ หากศาลเสี่ยงตัดสินตามกัมพูชาขอ

ต่อไปคดีตีความคำพิพากษาจะยึดถือตามบรรทัดฐานคดีนี้

และน่าเชื่อว่าจะมีผู้ยื่นขอตีความมากขึ้น

เพราะทำให้คนรื้อฟื้นเรื่องที่เคยปฏิเสธอย่างชัดแจ้งไปแล้วได้


2. ศาลตีความตามที่ไทยเสนอคือ ดูแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาของคู่กรณี

(subsequent facts) ว่า กัมพูชารับทราบ

การกั้นรั้วรอบพระวิหารตามมติ ครม.ไทย มาตั้งแต่ปี 2505 แล้ว

และเข้าใจตรงกันว่านั่นคือ “บริเวณใกล้เคียงปราสาท”

ถ้าตัดสินเช่นนี้ เราก็บอกว่าเราชนะ กัมพูชาแพ้

แต่ก็มีข้อน่าคิดว่าศาลโลกเคยวางบรรทัดฐานไว้

ในคดีโรงงานที่ชอร์โซ (Chorzow Factory) ค.ศ.1927

ซึ่งศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ (PCIJ)

เคยพิพากษาว่า “......ในการตีความศาลไม่พิจารณา

ข้อเท็จจริงอื่นที่นอกเหนือจากสิ่งที่ศาลได้ใช้ประกอบการพิจารณา

ในคำพิพากษาที่ศาลตีความ ดังนั้น ศาลจึงไม่พิจารณาข้อเท็จจริง

ที่เกิดขึ้นหลังจากคำพิพากษา....” ว่าข้อเท็จจริงที่เกิด

ภายหลังคำพิพากษาไม่สามารถนำมาใช้ตีความคำพิพากษาได้

การที่ไทยอ้างข้อเท็จจริงทั้งหลายหลังศาลพิพากษา

จึงไม่สามารถใช้ประกอบการตีความได้


3. ศาลตีความแบบตุลาธิปไตย (Judicial activism)

เหมือนที่ศาลกำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราว (PDZ)

โดยลากเส้นเชื่อมพิกัดในเส้นรุ้ง เส้นแวงตามใจชอบของศาลอีก

โดยในครั้งนี้ ศาลอาจตัดสินตามใจศาล ไม่ใช่ตามคำขอของกัมพูชา

หรือคำขอการต่อสู้ของไทยว่า บริเวณ 4.6 ตารางกิโลเมตรไม่ใช่ของไทย

และไม่ใช่ของกัมพู ชาทั้งคู่ และให้คู่กรณีทั้ง 2

ไปใช้กลไกที่มีอยู่โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการร่วมเขตแดนไทย-กัมพูชา (JBC)

ตาม MOU ปี 2543 ในการหาทางออกร่วมกัน


หากศาลตัดสินทางนี้ก็จะไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ

และ ดูจะเป็นทางออกที่น่าจะบังคับให้เกิดสันติภาพมากที่สุด

แต่ศาลเองจะถูกวิพากษ์อย่างหนัก ว่าไม่ได้ตัดสินโดยยึดหลักกฎหมาย

(legality) แต่ตัดสินตามอำเภอใจโดยดูความเหมาะสม

ทั้งยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอ (ultra petita) ด้วย!

ทางที่สามนี้ แม้จะดูว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น

หากศาลใช้หลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด (judicial restraint)

แต่เมื่อดูแนวโน้มจากการออกมาตรการชั่วคราวในคดีนี้แล้ว

ก็ไม่แน่ว่าศาลจะ “ไปให้สุดซอย” ก็ได้!

ตอนหน้า ผมจะสรุปให้ข้อสังเกตเป็นตอนสุดท้ายครับ.

..................................

ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต



อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2556




 

Create Date : 08 สิงหาคม 2556
0 comments
Last Update : 8 สิงหาคม 2556 22:14:23 น.
Counter : 555 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.