Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
7 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 
ปัญหา “พระวิหาร” จะลงเอยอย่างไร? (ตอนที่ 6)


หลังจากพิพาทกันในศาลมา 3 ปี ศาลโลกก็มีคำตัดสิน

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 (ค.ศ.1962) โดยมีคำพิพากษา

ส่วนที่เป็นบทปฏิบัติการ (opera-tive clause) 3 ข้อ

โดย 2 ข้อแรกมีข้อความ ดังนี้

’1. ศาลโดยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า

ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา“ และ


2. ศาลโดยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้อง

ถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแล ซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำ

อยู่ที่ปราสาทพระวิหาร หรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา“


ท่านผู้อ่านต้องจำ 2 ข้อนี้ให้ดี เพราะการเสนอให้ตีความของกัมพูชาตาม

กฎหมายก็ให้ตีความ 2 ข้อนี้แหละ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า

อาณาเขตในข้อแรกต้องอยู่ภายใต้เขตแดน (frontier) ซึ่งถูกกำหนดโดย

แผนที่ภาคผนวก 1 ที่ศาลใช้ตัดสินให้กัมพูชาชนะคดี และคำว่าบริเวณใกล้เคียง

ปราสาท (its vicinity) บนอาณาเขตกัมพูชาก็แสดงว่ามีดินแดนนอกเหนือ

จากดินแดนในตัวปราสาทด้วย ซึ่งดินแดนนั้นก็คือดินแดนภายในเขตแดนที่อยู่

บนแผนที่ภาคผนวก 1 นั่นเอง


ความจริง คำขอทั้งเรื่องให้ศาลพิพากษาเรื่องสถานะทางกฎหมายแผน

ที่ภาคผนวก 1 1 : 200,000 และเส้นเขตแดนตามแผนที่นั้น ศาลไม่พิพากษา

ให้ในบทปฏิบัติการแต่ใช้เป็น “เหตุผล” ในการทำคำพิพากษาเท่านั้น !

แต่วันนี้ กัมพูชาหวนกลับมาขอให้ศาลตีความในสิ่งที่ศาลเคยปฏิเสธไปแล้ว

50 ปีให้หลัง!

ในวันนั้นศาลกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

“ในประการสุดท้าย เมื่อพิจารณาถึงคำแสดงสรุปที่คู่ความได้ยื่นต่อศาล

เมื่อตอนจบกระบวนพิจารณาภาควาจา ศาลมีความเห็นดังเหตุผลที่ได้บ่งไว้

ในตอนต้นของคำพิพากษานี้ว่า คำแถลงสรุปข้อที่หนึ่งและข้อที่สอง

ของกัมพูชาที่ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดในเรื่องสภาพทางกฎหมาย

ของแผนที่ภาคผนวก 1 และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณที่พิพาท

จะรับฟังได้ก็แต่เพียงในฐานที่เป็นแสดงเหตุผล และมิใช่เป็นข้อเรียกร้อง

ที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา”


ความจริงผู้พิพากษาศาลโลกมี 15 คน แต่ที่ตัดสินจริงวันนั้นมี 12 คน

ที่ทำคำพิพากษา และมีผู้พิพากษาที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ 1 และ 2

ที่ศาลตัดสิน 3 คน คือ ท่านผู้พิพากษา มอเรโน กินตานา (Moreno Quintana)

ผู้พิพากษา เวลลิงตัน คู (Wellington koo) และท่านผู้พิพากษา

เซอร์เพอร์ซี สเปนเดอร์ (Sir Percy Spender)


ท่านผู้พิพากษา กินตานา ซึ่งเป็นชาวอาร์เจนตินา เห็นว่า อธิปไตยเหนือปราสาท

เป็นของประเทศไทย โดยท่านผู้นี้เห็นว่าการตัดสินปัญหานี้ต้องใช้

สนธิสัญญาปี 1904 ที่กำหนดให้ใช้สันปันน้ำ และเมื่อเกิดความแตกต่าง

ระหว่างการปักปันเขตแดนกับตัวบทสนธิสัญญาต้องใช้ตัวบท เพราะ

“ยังมีหลักอันเป็นที่รับนับถือกันทั่วไปปรากฏอยู่ในข้อ 29

ของสนธิสัญญากรุงแวร์ซายส์ ลงวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1919

หลักข้อนี้มีอยู่ว่า เมื่อเกิดมีความแตกต่างกันในเรื่องการปักปันเขตแดน

ระหว่างตัวบทของสนธิสัญญากับแผนที่ ให้ถือตัวบทและไม่ใช่แผนที่เป็นสำคัญ

เมื่อเป็นดังนี้ และจนกว่าจะได้มีหลักฐานแน่ชัดแสดงว่าพระวิหารตั้งอยู่ที่ไหน

ข้อ 1 ของสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ.1904 ซึ่งระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน

ของประเทศทั้งสอง ย่อมสนับสนุนการตีความของประเทศไทยได้ดี

เช่นเดียวกับของกัมพูชา อาจจะกล่าวได้ว่า ข้อ 1 ของพิธีสารผนวกท้าย

สนธิสัญญาฉบับ ค.ศ.1907 ก็เป็นเช่นเดียวกัน พิธีสารนี้มิได้กล่าวถึง

พระวิหารเลยเช่นกัน แต่ก็กล่าวถึงสันปันน้ำ”


ท่านผู้พิพากษา กินตานา ยังกล่าวถึงแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งผู้พิพากษาข้างมาก

9 คนใช้ตัดสินให้ปราสาทเป็นของกัมพูชา เพราะเส้นเขตแดนบนแผนที่

ภาคผนวก 1 เป็นเช่นนั้น โดยท่านเห็นว่า “เส้นนี้ไม่ได้แสดงไว้เป็นรายละเอียด

ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการ เส้นนี้เพียงแต่ปรากฏอยู่บนแผนที่

ซึ่งกัมพูชาเสนอเป็นภาคผนวก 1 ท้ายคำฟ้อง และโดยผลของการวินิจฉัยที่

ไม่มีใครทราบ ได้แสดงปราสาทพระวิหารไว้ทางด้านกัมพูชา

แผนที่ฉบับนี้ไม่ได้ลงวันที่และไม่ได้ลงนามโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับมอบอำนาจ

โดยถูกต้องคนใด ยิ่งกว่านั้น ภาคีผู้ทำสนธิสัญญาฉบับใหม่

ก็ไม่ได้ลงนามไว้ด้วย แผนที่นั้น บาร์แรร์ ผู้พิมพ์เอกสารทางภูมิศาสตร์

ณ กรุงปารีสได้จัดพิมพ์ขึ้น และน่าจะได้กระทำไปในนามของ

คณะกรรมการคณะเดียวในสองคณะ คือของฝรั่งเศสกับของสยาม

ซึ่งมีหน้าที่ทำการสำรวจเส้นเขตแดน ตรงหัวมุมข้างบนด้านซ้ายของแผนที่นั้น

มีถ้อยคำแสดงไว้ว่า ร้อยเอกสองคนของกองทหารอาณานิคมฝรั่งเศส

คือ ร้อยเอก แคร์แลร์ กับ ร้อยเอก อุ่ม เจ้าหน้าที่ทางวิชาการสองคน

เป็นผู้ปฏิบัติงานบนพื้นดินผู้ซึ่งโดยหลักการเป็นผู้แทนของภาคีที่เกี่ยวข้อง

เพียงฝ่ายเดียว และผู้ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ควรจะได้บันทึกฐานะ

ที่ตนปฏิบัติการไว้บนแผนที่นั้นด้วย”


และแผนที่นั้นปกติศาลก็ดี อนุญาโตตุลาการก็ดี

ใช้เป็นหลักฐานประกอบชิ้นหนึ่งเท่านั้น แต่แผนที่จะมีค่าก็ต่อเมื่อเป็นแผนที่

ผนวก หรือแนบท้ายตราสารทางกฎหมาย โดยท่านอ้าง แม็กซ์ ฮิวเบอร์

ได้กล่าวไว้ในคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการคดีเกาะพาลมาส

(Island of Palmas Case, Pernet.Arb.1928) ว่า


“....ด้วยการใช้ความระมัดระวังอย่างมากที่สุดเท่านั้น

จึงจะยอมพิจารณาแผนที่ในการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย.....

ถ้าอนุญาโตตุลาการพึงพอใจในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในทางกฎหมายที่มีอยู่

ซึ่งขัดแย้งกับคำแถลงของผู้ทำแผนที่ซึ่งแหล่งที่มาของข้อความของเขา

ไม่เป็นที่ทราบได้แล้ว ตุลาการย่อมไม่อาจที่จะให้น้ำหนักใด ๆ แก่แผนที่นั้นได้

แม้ว่าแผนที่เหล่านั้นจะมีจำนวนมากมายและได้รับการถือว่ามีคุณค่าทั่วไป

เพียงใดก็ตาม...... แผนที่เป็นแต่เพียงเครื่องชี้บอกอันหนึ่งเท่านั้น

และเป็นเครื่องชี้บอกทางอ้อมมาก และเว้นแต่เมื่อได้ผนวกไว้ท้ายตราสาร

ทางกฎหมาย ย่อมไม่มีคุณค่าเป็นตราสารเช่นว่านั้น ซึ่งเกี่ยวพันกับการรับรู้หรือ

การสละสิทธิเลย”

(ดู U.N., Reports of International Arbitral Awards เล่ม 2 หน้า 852, 853, 854)”


เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านผู้พิพากษา กินตานา ก็ยังชี้ให้เห็นว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เอง

ไม่ได้มีความสมบูรณ์เลย เพราะคณะกรรมการปักปันเขตแดนชุดที่ 1

ซึ่งประชุมกันเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2448 (ค.ศ.1905) ได้ตกลงว่าต้องให้กรรมการ

ทั้งฝ่ายฝรั่งเศสและไทยลงนาม แต่ไม่มีการลงนามดังกล่าว โดยท่าน กินตานา

ชี้ว่า “ในกรณีนี้ ภาคผนวก 1 ท้ายคำฟ้อง มิได้เป็นภาคผนวกที่สมบูรณ์ท้าย

พิธีสาร ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบเส้นเขตแดนกัมพูชา-สยาม

ในอาณาบริเวณดงรักเหนือสิ่งทั้งปวง การลงนามภาคผนวกเป็นเงื่อนไข

ที่ขาดเสียมิได้สำหรับความสมบูรณ์ของภาคผนวกนั้น เพราะว่าดังที่ปรากฏ

จากรายงานของคณะกรรมการผสมปักปันเขตแดน ได้กำหนดไว้ในการประชุม

คณะกรรมการครั้งที่สองเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1905 ว่า

“ตามวิธีดำเนินการ ซึ่งพันตรี แบร์นาร์ด ได้เสนอในการประชุมครั้งแรก

ก่อนอื่นคณะกรรมการควรตระเวนสำรวจทั่ว ๆ ไป รวบรวมข้อความนานาชนิด

ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดจุดต่าง ๆ ณ สถานที่ซึ่งเส้นเขตแดนผ่าน

แล้วหมายเส้นเขตแดนนั้นลงบนพื้นที่ และในที่สุด หากจำเป็นก็ทำการปรึกษา

หารือกันว่าเส้นเขตแดนนั้นถูกต้องแล้ว หรือจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข

ในสาระสำคัญอย่างใดหรือไม่ เมื่อได้เป็นที่ตกลงกันแล้วจะถือได้ว่า

เส้นเขตแดนได้พิจารณากำหนดขึ้นโดยเด็ดขาดก็ต่อเมื่อสมาชิกคณะกรรมการ

ทั้งสองฝ่ายลงนามในแผนที่ที่ได้หมายเขตแดนลงไว้ (ดูภาคผนวก 12 (เอ)

ในคำให้การฟ้องของไทยหน้า 58)”


ท้ายที่สุดท่านผู้พิพากษา กินตานา ได้พูดถึงการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ

ของฝ่ายไทยซึ่งได้ไปขอให้ ศ.ดับบลิว สเกเมอฮอร์น (W.Schermerhorn)

อดีตนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญแผนที่ประจำศูนย์ฝึกอบรมระหว่าง

ประเทศ สำหรับการสำรวจทางอากาศ (I.T.C ) ณ เมืองเดลฟท์

และผู้เชี่ยวชาญอื่นไปพิสูจน์สันปันน้ำในพื้นที่จริง ไม่ใช่นั่งดูแต่แผนที่

ก็ปรากฏว่าถ้าใช้สันปันน้ำ ปราสาทจะอยู่ฝั่งไทย ดังความในความเห็นแย้งที่ว่า


“หลักฐานของผู้เชี่ยวชาญนั้นโดยจำเพาะประเทศไทยได้เสนอมามากกว่า

ซึ่งถึงแม้ว่าในหลักการเป็นรัฐฝ่ายตอบแก้ก็ได้ริเริ่มในเรื่องนี้ขึ้น

กัมพูชาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้วย

โดยการซักค้านผู้เชี่ยวชาญและพยานของอีกฝ่ายหนึ่ง พิจารณาจากทรรศนะ

ที่จะระงับกรณีนี้การซักค้านผู้เชี่ยวชาญและพยานได้ให้น้ำหนักอย่างมาก

แก่ผลของการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญ มีรายงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยว

กับเรื่องนี้อยู่สี่ฉบับ สองฉบับโดยศาสตราจารย์ ดับบลิว สเกเมอฮอร์น

(W.Schermerhorn) ซึ่งปฏิบัติงานในนามของศูนย์ฝึกอบรมระหว่างประเทศ

สำหรับการสำรวจทางอากาศ (ไอ.ที.ซี.) แห่งเดลฟท์ ลงวันที่ 8 กันยายน

ค.ศ.1961 และวันที่ 11 มกราคม ค.ศ.1962 และรายงานอีกสองฉบับ

โดยบริษัทโดริงส์เฟลด์อามูเอโด และไอวี (ดี.เอ.ไอ.)

บริษัทเอกชนที่ตั้งอยู่ที่เดนเวอร์ (โคโลราโด) สหรัฐอเมริกา

ลงวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1961 และ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1962

ในระหว่างที่มีการนั่งพิจารณา ทั้งสองฝ่ายได้มีการซักถามพยาน

หรือผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด บุคคลเหล่านั้นคือ นายซวน บอนน์

อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกำปงทมของกัมพูชา ศาสตราจารย์สเกเมอฮอร์น

ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศฮอลันดาและที่อื่นสำหรับงานของท่าน

ในด้านการสำรวจทางอากาศ นายอัครมาน (Mr.F.E Ackermann)

ซึ่งมีเสียงข้างมากในฐานะเป็นนักสำรวจระดับพื้นที่ซึ่งประจำอยู่กับศูนย์ที่เดลฟท์

เช่นเดียวกัน และคนสุดท้ายนายแฟร์สตัปเปน (Mr.Verstappen)

นักธรณีวิทยาที่มีชื่อเสียงและเป็นสมาชิกอยู่ในศูนย์นั้นเหมือนกัน

ด้วยคุณสมบัติพิเศษของนายอัครมานเขาได้ปฏิบัติการสำรวจเขตแดน

อันเป็นงานที่ได้อธิบายไว้ในพจนานุกรมถ้อยคำของกฎหมายระหว่างประเทศ

(Dictionnarie de la Terminologie du droit international) ซึ่งพิมพ์โดย

นักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเมื่อปี ค.ศ.1960 ว่าเป็น “การตรวจสอบ

ณ สถานที่ว่าเครื่องหมายเขตของเขตแดนตามความเป็นจริงอยู่ตรงจุด

ซึ่งบ่งไว้ในสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาเกี่ยวกับเขตแดน

และซึ่งได้แสดงไว้บนแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาหรือนุสัญญาเหล่านั้น”

(ดูหน้า 514) ศาลนี้ในคำพิพากษาคดีช่องแคบคอร์ฟูก็ได้ย้ำถึงคุณค่า

ของการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้กระทำไปโดยวิธีดำเนินการคล้ายคลึง

กับที่ได้ปฏิบัติไปในคดีนี้ คำพิพากษานั้นได้กล่าวว่า

“ศาลไม่อาจที่จะไม่ให้น้ำหนักอย่างมากแก่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

ซึ่งได้ทำการตรวจสอบ ณ ท้องถิ่นในทำนองที่รับประกันทุกอย่าง

ถึงความถูกต้องและไม่ลำเอียงของข้อความ”

(รายงานของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ค.ศ.1949 หน้า 21)

ในฐานะที่โดยทั่วไปผู้พิพากษาก็เป็นคนธรรมดาสามัญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ผู้พิพากษาต้องลงข้อยุติทางกฎหมายจากงานทาง

เทคนิคซึ่งรู้สึกว่ามีความเชื่อมั่นรวมอยู่ด้วยโดยทั่วๆ ไป

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและพยานของประเทศไทยได้ทำให้เกิดความรู้สึก

ประทับใจในความแม่นยำทางเทคนิคและสภาพตรรกศาสตร์ของเหตุผล

ยิ่งกว่านั้นลักษณะทางราชการของศูนย์ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์

ได้ทำให้ความเห็นของศูนย์ดูจะมีความตรงไปตรงมาและเชื่อถือได้มากกว่า

งานของบริษัทเอกชน อย่างไรก็ดี ปัญหาได้เกิดขึ้นโดยอาจเป็นไปได้ว่า

ในบริเวณสำคัญที่ได้พรรณนานั้น อาจจะมีเส้นสันปันน้ำอีกเส้นหนึ่งนอกจากที่

ได้บ่งไว้ในรายงานของศาสตราจารย์สเกเมอฮอร์น

ปัญหานี้ได้รับการเฉลยโดยงานเกี่ยวกับการวัดระดับพื้นที่ซึ่งได้กระทำ

ณ สถานที่นั้นโดยนายอัครมาน เส้นสันปันน้ำที่แท้จริง

คือเส้นที่บ่งไว้ในรายงานนั้น และถ้าแม้ว่าเส้นอีกเส้นหนึ่งจะเป็นเส้นที่แท้จริง

ก็ยังคงไม่แสดงว่าบริเวณปราสาทนั้นอยู่ในอาณาเขตกัมพูชา

และปัญหาที่เสนอต่อศาลนั้นเป็นปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาท

ไม่ใช่เรื่องอื่น น้ำในลุ่มน้ำอาจไหลมาจากชะโงกผา เช่น ผาซึ่งปราสาทตั้งอยู่

ไม่อาจไหลย้อนกลับขึ้นไปได้เลย ข้อนี้เห็นชัด”

แผนที่ซึ่งไทยอ้างฉบับหนึ่งเดียว คือ แผนที่ซึ่ง

ศาสตราจารย์ ดับบลิว สเกเมอฮอร์น (W.Schermerhorn) ทำนั้น

เราได้ใช้อ้างอิงในคำให้การต่อสู้คดีของเราว่า ท่านผู้นี้เดินสำรวจด้วยตนเอง

พร้อมผู้ช่วยนายอัครมาน (Mr. F.E Ackermann) และรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญ

ภูมิศาสตร์ นายแฟร์สตัปเปน (Mr.Verstappen) ได้เดินสำรวจในฤดูฝน

ถึง 10 วัน และได้เห็นทางน้ำไหลจริง ในขณะที่ร้อยเอก อุ่ม ที่กัมพูชาอ้าง

และศาลรับฟัง เดินสำรวจเมื่อธันวาคม อันเป็นฤดูแล้ง ดังนั้นเส้นชันความสูงใน

แผนที่ผนวก 1 ของกัมพูชาจึงผิด ทางน้ำก็ผิด สันปันน้ำก็ลากผิด

โดยศาสตราจารย์สเกเมอฮอร์น ทำรายงานว่าส่วนใหญ่เส้นสันปันน้ำอยู่ตาม

หน้าผา ไม่ใช่เส้นตามที่แผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาอ้าง

ผมพูดความเห็นแย้งตรงนี้มากหน่อย เพราะผู้พิพากษา กินตานา

อธิบายความผิดพลาดของแผนที่ผนวก 1 ไว้ โดยอ้างความเห็นผู้เชี่ยวชาญ

ซึ่ง คุณอลินา มิรง (Ms.Alina Miron) จะนำมาชี้อีกครั้งถึงความผิดพลาด

และไม่แน่นอน 50 ปีให้หลังในการแถลงด้วยวาจา

เมื่อ 17 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา!.

..................................

ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต



อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2556


Create Date : 07 พฤษภาคม 2556
Last Update : 8 พฤษภาคม 2556 6:48:16 น. 0 comments
Counter : 770 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.