Group Blog |
พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ พระบวรราชวัง เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2325 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พร้อม ๆ กับการสร้างพระบรมมหาราชวัง โดยใช้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ตลอดมา โดยมีพื้นที่ตั้งแต่ทิศเหนือของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์จนถึงคลองคูเมืองเดิม เมื่อมีการยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลลง พระราชวังบวรสถานมงคลก็ไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังหน้าอีกต่อไป ปัจจุบัน พื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคลเปลี่ยนแปลงเป็นสนามหลวง และเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ โรงละครแห่งชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ประวัติ สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และทรงโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าพระยาสุรสีห์ ขึ้นเป็น ''กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท'' ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่า ''สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท'' ได้มีการย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพมหานคร และโปรดเกล้าให้สร้างพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นในคราวเดียวกัน พระราชวังบวรสถานมงคลนั้นเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของผู้ดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงมีความสำคัญมาก พระราชวังแห่งนี้ใช้เวลาสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จและมีการฉลองพระราชวังพร้อมกับการสมโภชพระนครและฉลองพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. 2328 พระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อแรกสร้างนั้นเป็นเครื่องไม้ทั้งสิ้น ในการสร้างพระบรมมหาราชวังในระยะแรกนั้นได้ถ่ายแบบมาจากพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่พระราชวังบวรสถานมงคลนั้นไม่มีหลักฐานว่าถ่ายแบบมาจากพระราชวังจันทรเกษมซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ในการสร้าง พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ซึ่งเป็นท้องพระโรงนั้น ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันออกของสระน้ำ ได้ถ่ายแบบมาจากพระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น จึงมีบางคนเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งทรงปืน พระราชมณเฑียรภายในพระราชวังสถานมงคลนั้น สร้างเป็นพระวิมาน 3 หลังเรียงติดกัน ได้แก่ 1. พระที่นั่งวสันตพิมาน 2. พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ 3. พระที่นั่งพรหมเมศรังสรรค์ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระวิมานนั้น สร้างเป็นพระราชมณเฑียรขวางตลอดแนวพระวิมานทั้ง 3 หลัง โดยด้านหน้าพระวิมานถัดจากพระที่นั่งวายุสถานอมเรศนั้น มุขหน้าเป็นท้องพระโรงหน้า เรียกว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์ ส่วนมุขหลังเป็นท้องพระโรงหลัง โดยมี พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข และพระที่นั่งอุตราภิมุข ล้อมรอบพระราชมณเฑียรทั้ง 4 ด้าน โดยชื่อพระที่นั่งทั้ง 4 นั้น มีขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ นอกจากนี้ ยังมี พระพิมานดุสิตา ซึ่งพระองค์โปรดให้สร้างถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา และเมื่อ พ.ศ. 2330 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้สร้าง พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่ได้อัญเชิญลงมาหลังจากเสด็จขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ บริเวณด้านเหนือของพระราชวัง พระองค์โปรดให้สร้าง วัดหลวงชี ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จำศีลของนางชีนามว่า นักนางแม้น ซึ่งเป็นมารดาของนักองค์อีธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งเป็นพระสนมเอกในพระองค์ พระองค์ทรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลด้วยความประณีต ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชสวรรคต ถึงเวลาพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ จะเสด็จประทับอยู่พระราชวังบวรฯ ตามแบบอย่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไม่เสด็จลงมาอยู่วังหลวง ครั้นเมื่อพระองค์ทรงพระประชวรใกล้สวรรคตนั้น พระองค์มีรับสั่งว่า พระราชมณเฑียรสถานได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โตมากมายเป็นของปราณีตบรรจง ประชวรมาช้านานไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นให้รอบคอบ จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย ดังนั้น จึงโปรดฯ ให้เชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนยไปโดยรอบพระราชมณเฑียร โดยการเสด็จในครั้งนี้มีบางคนกล่าวว่า พระองค์ทรงบ่นว่า ''ของนี้อุตส่าห์ทำขึ้นด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนานๆ ก็ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นวันนี้เป็นที่สุด ต่อนี้ไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น'' และเล่าอีกอย่างหนึ่งว่า พระองค์มีรับสั่งว่า ''ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุนให้แรง ก็สร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอให้ผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข'' ซึ่งมีปรากฏในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ภายหลังการเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระราชวังบวรสถานมงคลก็ถูกปล่อยให้รกร้าง เนื่องจากกรมพระราชวังสถานมงคลพระองค์ต่อมา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรนั้น ไม่ได้เสด็จเข้าประทับที่พระราชวังแห่งนี้ แต่ยังคงประทับที่พระราชวังเดิม ของพระเจ้ากรุงธนบุรี สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ขึ้นเป็น ''กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์'' ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่า ''สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์'' พระองค์ทรงสมรสกับพระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และได้เสด็จเข้าประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล ในสมัยของพระองค์นั้น ไม่ได้มีการสร้างสิ่งใดเพิ่มเติมภายในพระราชวังบวรสถานมงคล แต่มีการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมลง พระองค์ทรงให้รื้อพระพิมานดุสิตาลง โดยนำไม้ที่ได้จากการรื้อไปใช้ในการสร้างวัดชนะสงคราม รื้อกุฎิวัดหลวงชีซึ่งชำรุด ทำเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย นอกจากนี้ ภายในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระองค์ทรงย้ายปราสาทปรางค์ 5 ยอด ซึ่งเดิมสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ แต่ภายหลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานภายในพระบรมมหาราชวังแล้ว พระองค์จึงทรงให้ตั้งพระที่นั่งเศวตฉัตรแทน เพื่อเป็นที่เสด็จออกแขกเมืองและพระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2360 ณ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และไม่มีการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นอีกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ขึ้นเป็น ''กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ'' ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่า ''สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ'' หลังจากนั้น พระองค์ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคลตลอดพระชนม์ชีพ โดยพระองค์ได้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงพระราชวังบวรสถานมงคลมากมาย พระองค์ทรงซ่อมแซมพระราชมณเฑียรทั้ง 3 หลัง และต่อมุขบริเวณด้านหลังพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เรียกว่า พระที่นั่งปฤษฎางค์ภิมุข และมุขด้านหน้า เรียกว่า พระที่นั่งพิมุขมณเฑียร พร้อมทั้งขนานนามพระที่นั่งที่ที่ล้อมรอบพระราชมณเฑียรทั้ง 4 มุมว่า พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข และพระที่นั่งอุตราภิมุข พระองค์ยังให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ต่อจากพระที่นั่งพิมุขมณเฑียรเพื่อใช้เป็นท้องพระโรง เรียกว่า พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งสร้างเลียนแบบ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภายในพระบรมมหาราชวัง และเปลี่ยนนามพระที่นั่งพรหมเมศรังสรรค์เป็นพระที่นั่งพรหมเมศธาดา เพื่อให้คล้องจองกับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย รวมทั้ง เปลี่ยนนามพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ด้วย นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงให้สร้างพระที่นั่งเครื่องไม้ ขนานนามว่า พระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลก ขึ้นบริเวณสระน้ำที่เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งพิมานดุสิตา ภายหลังหักพังเสียหมด และสร้าง '''วัดพระแก้ววังหน้า''' ขึ้น โดยโปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก มาประดิษฐานที่พระอุโบสถของวัด ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า วัดบวรสถานสุทธาวาส สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 โดยไม่มีการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นอีกตลอดรัชกาล ทำให้พระราชวังสถานมงคลว่างลงอีกครั้ง สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลรับพระบวรราชโองการ พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 มีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้ง โปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระราชวังบวรสถานมงคลว่า พระบวรราชวัง ขณะที่วังหลวง เรียกว่า พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าประทับในพระบวรราชวังซึ่งอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก ดังนั้น ในสมัยนี้จึงมีการปรับปรุง ซ่อมแซม พระบวรราชวังครั้งใหญ่เพื่อให้สมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีต้นแบบมาจากพระบรมมหาราชวังเป็นส่วนใหญ่ พระองค์ทรงสร้างพระที่นั่งคชกรรมประเวศเป็นองค์แรก บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งใช้เป็นพระที่นั่งในการเกยช้าง พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง และโปรดให้สร้างพระที่นั่งบริเวณมุมข้างใต้และเหนือของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย นามว่า พระที่นั่งมังคลาภิเษก และ พระที่นั่งเอกอลงกฎ สร้างตามแบบพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระที่นั่งทั้ง 2 องค์มีที่เกยสำหรับทรงพระราชยาน รวมทั้ง ยังสร้างพระที่นั่งสนามจันทร์ และสร้างพลับพลาสูงตามแบบพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท เหมือนอย่างพระราชวังหลวง และทรงย้ายตำหนักแดงจากพระราชวังเดิม มาปลูกไว้ที่พระบวรราชวังด้วย พระองค์โปรดให้สร้าง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งเป็นตึกแบบฝรั่ง 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระองค์ และเสด็จเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังโปรดให้สร้างพระที่นั่งบริเวณหน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ แต่พระองค์เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนสำเร็จ พร้อมทั้งพระราชทานนามพระที่นั่งว่า พระที่นั่งบวรบริวัติ เมื่อพระองค์จัดตั้งทหารวังหน้าขึ้น จึงมีการสร้างสถานที่สำหรับการทหารขึ้นภายในพระบวรราชวัง เช่น โรงปืนใหญ่ โรงทหาร คลังสรรพาวุธ เป็นต้น รวมทั้ง ยังสร้างโรงช้างต้น และ ม้าต้น ตามแบบพระบรมมหาราชวังอีกด้วย นอกจากนี้ พระองค์ยังได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังการเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทนั้น กลับมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ดังเดิม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีกตลอดรัชกาล สมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการปรับปรุงพระบวรราชวังครั้งใหญ่ และยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณื ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีการสร้างพระที่นั่งใหม่มากนัก พระองค์ทรงสร้าง พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส ต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนแล้วเสร็จและเสด็จเข้าประทับในพระที่นั่งองค์นี้ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 หลังจากนั้น ก็ไม่มีการสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดที่ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จุดสิ้นสุดของพระราชวังบวรสถานมงคล หลังจากการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้สถาปนาเจ้านายพระองค์ใดในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก แต่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. 2429 ทำให้ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถูกยกเลิกไป ดังนั้น พระราชวังบวรสถานมงคลจึงไม่ได้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนับตั้งแต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ดัดแปลงสนามวังหน้าเป็นส่วนหนึ่งของสนามหลวง และรื้อป้อมปราการที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1|ป้อมปราการต่าง ๆ ลง และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานไปไว้ที่ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ใน พ.ศ. 2430 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมู่พระวิมานในพระราชวังบวรสถานมงคลจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครใน พ.ศ. 2469 ปัจจุบัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วิทยาลัยช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ โรงละครแห่งชาติ และท้องสนามหลวงตอนเหนือฟากตะวันตก สิ่งก่อสร้างที่ยังคงเหลือในปัจจุบัน หมู่พระวิมาน หมู่พระวิมาน เป็นหมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างเป็นหมู่พระที่นั่งประกอบกัน และมีการซ่อมแซมและปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใช้เป็นสถานที่ที่จัดแสดงนิทรรศการ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นพระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เดิมมีนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เดิมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อทำการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีตรุษสารท พระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ เป็นต้น หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2330 พระองค์เสด็จไปยังเชียงใหม่ และไดัอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมา พระองค์จึงทรงพระราชอุทิศพระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ปัจจุบัน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเพื่อใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกขุนนาง และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล การสร้างพระที่นั่งองค์นี้ถ่ายแบบพระที่นั่งมาจากพระที่นั่งทรงปืนที่พระราชวังหลวง สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น จึงมีบางคนเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งทรงปืน อย่างไรก็ตาม เมื่อหมู่พระวิมานสร้างแล้วเสร็จ พระที่นั่งองค์นี้ก็ใช้เป็นเพียงสถานที่เสด็จทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ดังนั้น บางครั้งจึงเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งทรงธรรม พระที่นั่งแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ตั้งพระศพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทด้วย ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นโดยมีลักษณะเป็นตึกฝรั่ง เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระองค์ ภายหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์จัดเป็นห้องพระบวรราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งคชกรรมประเวศ พระที่นั่งคชกรรมประเวศ เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นพระที่นั่งทรงปราสาทองค์แรกที่สร้างขึ้นภายในพระบวรราชวัง ตั้งอยู่บริเวณหน้ามุขพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งมีลักษณะคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทภายในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระที่นั่งที่สร้างโดยเครื่องไม้มีเกยสำหรับขึ้นทรงช้างด้วย เนื่องจากพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นจากเครื่องไม้ ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปจึงเกิดการผุกร่อนและชำรุดมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์นี้ออก คงเหลือแต่ฐานปราสาทและที่เกยช้างที่ยังคงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน พระที่นั่งมังคลาภิเษกและพระที่นั่งเอกอลงกฎ พระที่นั่งมังคลาภิเษกและพระที่นั่งเอกอลงกฎ สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ให้ปรับปรุงและก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ภายในพระบวรราชวังเพื่อให้สมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์โปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งโถงคู่กันบนกำแพงแก้วหน้าท้องพระโรงบริเวณด้านเหนือ นามว่า พระที่นั่งเอกอลงกฎ และด้านใต้นามว่า พระที่นั่งมังคลาภิเษก ปัจจุบัน พระที่นั่งมังคลาภิเษกได้รื้อลงแล้วเนื่องจากชำรุดเสียหายมาก คงเหลือเพียงพระที่นั่งเอกอลงกฎเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระบุว่า ปัจจุบัน คงเหลือแต่พระที่นั่งมังคลาภิเษก ส่วนพระที่นั่งเอกอลงกฎนั้นได้รื้อลงแล้ว ตำหนักแดง ตำหนักแดง สร้างขึ้นภายในพระบรมมหาราชวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อพระราชทานเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางพระองค์น้อยในพระองค์ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรื้อพระตำหนักฝ่ายในภายในเขตพระราชฐานชั้นในเพื่อเปลี่ยนเป็นตำหนักตึกทั้งหมด ดังนั้น จึงโปรดให้รื้อตำหนักแดงไปปลูกที่พระราชวังเดิม เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โดยตำหนักแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกนั้นเป็นที่ประทับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา ปัจจุบัน ตำหนักส่วนนี้ได้ถูกรื้อไปปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี ส่วนที่สองเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อ้างอิง 1. จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน, กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท,ปีที่ ๕, ฉบับที่ ๕๔, พฤศจิกายน ๒๕๓๘ 2. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) , โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525 3. สุนิสา มั่นคง, วังหน้า รัตนโกสินทร์, สำนักพิมพ์มติชน, 2543, ISBN 974-322-030-5 4. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 13, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท พระยาศรีสรราชภักดี ป.ช., ป.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 17 มีนาคม 2509, พระนคร : โรงพิมพ์ตีรณสาร 5. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, พระที่นั่งสุทธาศวรรย์, สกุลไทย, ฉบับที่ 2584, ปีที่ 50, 27 เมษายน 2547 6. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 7. ราชกิจจานุเบกษา, คำกราบบังคมทูล ในการเปิดพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร, เล่ม ๔๓, ตอน ง, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๙, หน้า ๓๐๓๘ 8. รูปภาพจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อ่านเพิ่มเติม 1. ตำนานวังหน้า โดย คุณกัมม์ ชอบเรื่องเก่าๆ เวียงวัง เจ้านาย สารพัด เหมือนกันเลยครับ
จะตามอ่านนะครับ ขออนุญาต add เป็นเพื่อนนะครับ โดย: doo_wop_boy วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:11:21:59 น.
ได้รับความรู้มากค่ะ ขอบคุณที่อธิบายโดยละเอียด
โดย: ต้นแสงจันทร์ (nathanon ) วันที่: 27 มีนาคม 2551 เวลา:19:36:55 น.
ได้ความรู้มากเลย ชอบเรื่องประวัติเก่า ๆแบบนี้คะ
โดย: a IP: 58.136.94.54 วันที่: 7 มิถุนายน 2551 เวลา:11:19:50 น.
|
อยากขอบใจสักครั้งหนึ่ง
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?] |
จะตามอ่านนะครับ ขออนุญาต add เป็นเพื่อนนะครับ