กันยายน 2551

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี : ลูกคู่ทุกข์คู่ยากในรัชกาลที่ ๕


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ บุนนาค) ประสูติเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงได้รับพระกรุณายกย่องพระเกียรติยศไว้ยิ่งกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่นหลายประการและสมเด็จพระบรมชนกนาถถึงกับรับสั่งว่าพระองค์เป็น "ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก"

พระองค์ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถให้ทำหน้าที่ดูแลพระเจ้าน้องที่ยังทรงพระเยาว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์ได้รับพระราชทานเกียรติให้เป็นผู้สั่งพระกนิษฐาให้เป็นสาว เนื่องจากตามธรรมเนียมการเป็นสาวของสตรีในพระราชสำนักฝ่ายในนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่ก่อน นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งอุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย) ร่วมกับเจ้านายฝ่ายในอีกหลายพระองค์

พระองค์เป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 พระองค์แรกและเป็นพระเจ้าลูกเธอ ชั้นพระองค์เจ้าในรัชกาลที่ 5 พระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าต่างกรมที่ "กรมขุนสุพรรณภาควดี" ซึ่งภายหลังจากการทรงกรมเพียง 1 ปี พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ลง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดการพระราชทานเพลิงพระศพที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดนิเวศธรรมประวัติ โดยให้ตั้งพระศพทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระราชวังบางปะอิน

พระประวัติ
พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ บุนนาค) และเป็นหลานปู่ของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 พระองค์ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกพระองค์ว่า "เจ้าหนู" พระเจ้าน้องทั้งหลายทรงเรียกว่า "พี่หนู" และชาววังเรียกว่า "เสด็จพระองค์ใหญ่"

พระองค์ทรงมีพระขนิษฐาที่ประสูติร่วมพระมารดาอีก 2 พระองค์ ซึ่งมีพระนามที่คล้องจองกัน ได้แก่ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ พระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลยพรรณ และพระองค์เจ้าบัณฑรวรรณวโรภาส

พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 4 ประทับอยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อหม่อมแพใกล้จะคลอดพระหน่อ จึงต้องหาสถานที่คลอดนอกพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากตามพระราชประเพณีนั้น นอกจากจะประสูติพระราชโอรสและพระราชธิดาแล้ว จะให้หญิงใดคลอดลูกภายในพระบรมมหาราชวังไม่ได้[1] โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดวังนันทอุทยาน พระราชทานให้เป็นสถานที่ในการคลอดพระหน่อ

หม่อมแพทรงครรภ์เพียง 7 เดือนก็ประสูติพระหน่อก่อนกำหนด เมื่อประสูตินั้นพระองค์ยังอยู่ในกระเพาะ ทำให้หมอเข้าใจว่าพระองค์คงสิ้นพระชนม์ จึงให้หาหม้อขนันจะเอาใส่ไปถ่วงน้ำตามประเพณี แต่เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ขรัวตาอยากรู้ว่าเป็นพระองค์หญิงหรือพระองค์ชายจึงให้ฉีกกระเพาะออก พบว่ายังหายพระทัยอยู่ จึงช่วยกันประคบประหงมเลี้ยงดูจนสามารถมีพระชนม์อยู่ได้[2][3] ต่อมา หม่อมแพและพระหน่อจึงย้ายกลับเข้ามาประทับ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบตามเดิม เมื่อแรกประสูตินั้นพระองค์ทรงเป็น หม่อมเจ้าศรีวิไลยลักษณ์ ต่อมาจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี

พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวที่พระองค์ทรงประสบปัญหาต่าง ๆ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในระยะแรก ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงรับสั่งว่าพระองค์ทรงเป็น "ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก"

พระองค์ได้รับพระกรุณายกย่องพระเกียรติยศไว้ยิ่งกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่นหลายประการ เช่น ทรงมีสร้อยพระนาม คือ "สุนทรศักดิกัลยาวดี" ซึ่งตามปกติแล้วสร้อยพระนามมักจะมีแต่ในพระนามของเจ้าฟ้าที่ประสูติแต่พระภรรยาเจ้า[4] และในพิธีโสกันต์ยังโปรดให้ทำพิธีเขาไกรลาสใหญ่เช่นเดียวกับเขาไกรลาสของเจ้าฟ้า เป็นต้น

พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2447[5] พระชันษา 37 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระราชวังบางปะอิน โดยใช้พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์เป็นที่ประดิษฐานพระศพ และโปรดให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ[6]

ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปในงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพของกรมขุนสุพรรณภาควดี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ ก็ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ ด้วยพระอาการไข้พิษ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448[7][8] ซึ่งในสี่แผ่นดินกล่าวว่า "ต้องเชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอองค์หนึ่งลงมา แล้วเชิญพระศพของอีกพระองค์ขึ้นไป"[9]

พระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน
ในการพระราชพิธีทวีธาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชดำริว่า "ในการพระราชพิธีทวิธาภิเศกสมโภชศิริราชสมบัติครั้งนี้ การทั้งปวงได้จัดเป็นคู่ ๆ กันมา ได้พระราชทานพระเกียรติยศพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่งแล้ว ควรจะพระราชทานพระเกียรติยศแก่พระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งให้เป็นคู่กัน ตามราชประเพณีแต่ก่อนก็เคยมีตัวอย่าง" ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2446 มีพระนามว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี"[10]

การที่พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในที่ "กรมขุน" นั้นเป็นการทรงกรมเท่ากับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ชั้นเจ้าฟ้า ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้รับพระราชทานจากพระบรมราชชนกเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากตามธรรมเนียมการทรงกรมของพระเจ้าลูกเธอ ชั้นพระองค์เจ้านั้น จะเริ่มทรงกรมที่ "กรมหมื่น" และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ชั้นเจ้าฟ้าจะเริ่มทรงกรมที่ "กรุมขุน"[4] นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 พระองค์แรกและเป็นพระเจ้าลูกเธอ ชั้นพระองค์เจ้าในรัชกาลที่ 5 พระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าต่างกรม

เนื่องจากพระองค์เป็นที่เคารพรักแก่พระเจ้าน้อง ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในนั้น พระเจ้าน้องนางเธอทั้งหลายต่างพากันยินดีและได้ทรงเข้าเงินกันทำสร้อยพระกรประดับเพชรถวายพระองค์ด้วย และในงานฉลองการทรงกรมในครั้งนั้น เป็นที่กล่าวขานถึงความสนุกสนานและยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการการจัดงานนิทรรศการและการประกวดตลับงาซึ่งมีผู้ส่งตลับงาเข้าร่วมงานครั้งนี้หลายร้อยใบ[2]

งานพระเมรุ
พระเมรุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี บริเวณวัดนิเวศธรรมประวัติหลังจากพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดีสิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักภายในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชทานน้ำสรงพระศพ และพระบรมวงศานุวงศ์สรงน้ำพระศพ แล้วจึงโปรดให้เจ้าพนักงานทรงเครื่องพระศพและเชิญลงพระลองในประกอบพระโกศกุดั่นใหญ่ แล้วจึงเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานแว่นฟ้า 3 ชั้น ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์

ส่วนการพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ต้นศรีมหาโพธิ์ซึ่งพระองค์ทรงได้พืชพันธุ์มาจากพุทธคยา แล้วทรงเพาะและปลูกไว้ที่วัดนิเวศธรรมประวัติเป็นวันเดียวกับวันประสูติของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ดังนั้น พระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดการพระราชทานเพลิงพระศพที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดนิเวศธรรมประวัติ โดยให้ตั้งพระศพทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระราชวังบางปะอิน

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 เจ้าพนักงานได้เชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีออกจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ออกไปทางประตูศักดิไชยสิทธิ์ขึ้นประดิษฐานบนรถพระศพ แล้วประกอบพระลองในด้วยพระโกศทองเล็กห้อยเฟื่อง แล้วจึงเชิญพระศพไปยังสถานีรถไฟเพื่อเชิญพระศพไปยังพระราชวังบางปะอินต่อไป


พระเมรุของกรมขุนสุพรรณภาควดี


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบางปะอินก่อนล่วงหน้า 1 วัน เมื่อพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีมาถึงสถานีรถไฟบางปะอินในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ รอรับพระศพ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้าในเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยเพื่อเชิญพระศพไปยังพระราชวังบางปะอิน การจัดขบวนเรือครั้งนี้ โปรดฯ ให้จัดขบวนเรือยาวอย่างขบวนเรือถวายผ้าพระกฐิน หลังจากขบวนเรือถึงพระราชวังบางปะอินแล้ว เจ้าหน้าที่เชิญพระศพขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เหนือแว่นฟ้าทองคำ 1 ชั้น มีฐานเขียวรอง มีบัวกลุ่มรองพระโกศ ห้อยฉัตรตาดทอง 5 ชั้น แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี เป็นเวลา 3 วัน

ต่อมา วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพออกจากพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์นำไปประดิษฐานบนเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยเพื่อเชิญไปพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ เมื่อถึงวัดนิเวศธรรมประวัติ เจ้าพนักงานเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธารยอดพระเกี้ยว ประกอบพระโกศจันทน์ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจุดเพลิงพระราชทานพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี วันรุ่งขึ้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเก็บพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระอัฐิลงประดิษฐานเหนือบุษบกเรือพระที่นั่งชลวิมานไชย แล้วจึงเชิญขึ้นประดิษฐานในบุษบกทองคำ ณ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เพื่อบำเพ็ญพระกุศลพระอัฐิ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ซุ้มเรือนแก้วขึ้นภายในวัดนิเวศธรรมประวัติเพื่อใช้บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี

ในงานพระศพครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์สีขาว ซึ่งถือว่าเป็นการถวายพระเกียรติแก่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้อย่างสูง เนื่องจากโดยทั่วไปพระมหากษัตริย์จะทรงฉลองพระองค์สีขาวเฉพาะงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชบุพการี[11] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลนิทานนิบาตชาดกตอนต้น เพื่อพิมพ์เป็นหนังสือสำหรับแจกในงานพระศพครั้งนี้ ซึ่งแต่เดิมนั้นหนังสือสำหรับแจกในงานศพจะเป็นบทสวดมนต์หรือหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า หนังสือแจกซึ่งเป็นพระธรรมปริยายที่ลึกซึ้งคนไม่ชอบอ่าน ดังนั้น พระองค์จึงเปลี่ยนเป็นนิทานชาดกแทน พร้อมกันนี้ทรงแนะนำไว้ในคำนำตอนต้นว่า หนังสือแจกควรพิมพ์เรื่องที่คนชอบอ่าน[12]

พระกรณียกิจ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระองค์มีหน้าที่ดูแลพระเจ้าน้องที่ยังทรงพระเยาว์ ถึงแม้พระองค์จะประสูตินอกเศวตฉัตรแต่พระองค์ก็ทรงเป็นที่เคารพและรักใคร่ของพระเจ้าน้องที่ประสูติในพระเศวตฉัตรทุกพระองค์ ในการดูแลพระกนิษฐานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเกียรติให้พระองค์เป็นผู้สั่งพระเจ้าน้องทั้งหลายให้เป็นสาว ซึ่งตามธรรมเนียมการเป็นสาวของสตรีในพระราชสำนักฝ่ายในนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่ก่อน เมื่อพระเจ้าลูกเธอหลายพระองค์ทรงโสกันต์แล้ว ยังคงแต่งพระองค์ด้วยเสื้อคอกระเช้ามีริบบิ้นร้อยรอบพระศออยู่ สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงรับสั่งว่า "เจ้าหนูเมื่อไหร่จะมีพระบรมราชโองการให้น้อง ๆ เป็นสาวเสียที เป้งเล้งเป็นเมียฝรั่งไปตาม ๆ กัน" ซึ่งพระองค์ก็จะทรงสั่งให้พระกนิษฐาเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นทรงสะบัก[2]

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้รับตำแหน่งให้เป็นอุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทยในปัจจุบัน) ร่วมกับเจ้านายฝ่ายในอีกหลายพระองค์[13]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พระองค์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้[14]

- เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
พระองค์ได้รับพระราชทาน ม.จ.ก. เมื่อวันพุธ เดือน 9 แรม 8 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1244 (พ.ศ. 2425) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พระราชทาน ม.จ.ก. สำหรับฝ่ายหน้าและฝ่ายใน การพระราชทานในครั้งนั้น พระองค์เป็นพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 5 ที่ได้รับพระราชทานเพียงพระองค์เดียว โดยฝ่ายในที่ได้รับพระราชทานในครั้งนั้น ประกอบด้วย
1. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
2. สมเด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
3. พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี
4. พระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี
5. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน
6. พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสงี่ยม
7. พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์
8. พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี
9. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์


สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในรุ่นแรก


- เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า
พระองค์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ซึ่งพระองค์นับเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในรุ่นแรกที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้พร้อมกับเจ้านายฝ่ายในและเจ้าจอมมารดาในพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์ ได้แก่
(แถวหน้า เรียงลำดับจากซ้าย)
1. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล
2. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร
3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์
4. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
5. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
6. พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
7. พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี
8. พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค
9. พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
(แถวหลัง เรียงลำดับจากซ้าย)
1. พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี
2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน ใน ร.2
3. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ใน ร.3
4. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์
5. เจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมี
6. เจ้าคุณจอมมารดาแพ

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้รับพระราชทานเหรียญราชอิสริยาภรณ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวเมื่อครั้งได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "กรมขุนสุพรรณภาควดี" ได้แก่ เหรียญจักรพรรดิมาลาและเหรียญรัตนาภรณ์[15]

อ้างอิง
1. จุลลดา ภักดีภูมินทร์ , วังนันทอุทยาน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2585, ปีที่ 50, ประจำวันอังคารที่ 4 พฤษภาคม 2547
2. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, ลูกแก้ว เมียขวัญ, พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551 (ISBN 974-02-0107-6)
3. เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ จาก เว็บไซต์ รักบ้านเกิด.คอม
4. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เจ้านายฝ่ายใน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2668 ปีที่ 52 ประจำวันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2548
5. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์, เล่ม ๒๑, ตอน ๓๑, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๕๔๙
6. ราชกิจจานุเบกษา, การพระเมรุพระเจ้าลูกเธอกรมขุนสุพรรณภาควดี ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ, เล่ม ๒๑, หน้า ๘๘๒ , ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๗
7. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์, เล่ม ๒๑, ตอน ๔๘, ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๘๙๓
8. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้า ในรัชกาลที่ ๕ -- กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2548. (ISBN 974-322-964-7)
9. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ , สกุลไทย, ฉบับที่ 2669 ปีที่ 52 ประจำวันอังคาร 13 ธันวาคม 2548
10. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกรมพระเจ้าลูกเธอฝ่ายใน สถาปนาพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี ขึ้นเป็นกรมขุนสุพรรณภาควดี, เล่ม ๒๐, ตอน ๔๒, ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๖, หน้า ๗๒๙
11. ณรงค์ บุญเสถียรวงศ์, เจ้านายลูกเธอในรัชกาลที่ 5 : ชื่อจังหวัดและมณฑล
12. ชนา ชลาศัย, หนังสืองานศพ, ข่าวสดรายวัน, ปีที่ 18, ฉบับที่ 6424, 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
13. อุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง จาก เว็บไซต์สภากาชาดไทย
14. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานเครื่องราชอิศริยาภรณ์สยาม, พระนคร, โสภณพิพรรฒธนากร, 2468.
15" ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งกรมเจ้าพระยาลูกยาเธอฝ่ายใน กำหนดการสถาปนาพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์, เล่ม ๒๐, ตอน ๔๒, ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๖, หน้า ๗๒๖



Create Date : 20 กันยายน 2551
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 17:54:10 น.
Counter : 9462 Pageviews.

9 comments
  
ขอบคุณสำหรับข้อมูล ได้รับความรู้มากค่ะ


 HAPPY NEW YEAR 2009
เป็นบล็อกที่น่าสนใจจริงๆ เสียดายที่เพิ่งพบ
โดย: nathanon วันที่: 27 ธันวาคม 2551 เวลา:4:28:09 น.
  
คิดถึงท่านจัง ทำไมถึงไม่สามารถหยุดเวลาอดีตกาลได้ ไม่อยากให้มีปัจจุบัน อยากหยุดเวลา แล้วบอกว่า รักท่านจัง
โดย: pppooooonnnnn IP: 124.120.196.251 วันที่: 22 มิถุนายน 2552 เวลา:15:04:31 น.
  
จงทำปัจจุบันในสิ่งที่ถูกต้องมีคุณธรรมและคิดถึงอนาคตที่ทำให้ชีวิตของเราและคนรอบตัวเราประเทศชาติของเราดีอย่างไรอดีตคืออดีตไม่สามารถเป็นปัจจุบันและอนาคตได้น่ะจ๊ะ
โดย: kkkkkkkkkkkkk IP: 125.24.78.245 วันที่: 19 มกราคม 2553 เวลา:15:38:22 น.
  
ขอบคุณมากค่ะสําหรับข้อมูล พอจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านอีกบ้างมั้ยคะ ถ้าพอจะมีขอความกรุณาด้วยค่ะ
โดย: pui IP: 110.164.88.13 วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:1:41:08 น.
  
ท่านใดมีข้อมูลของท่านมากกว่านี้อีกบ้าง...เช่นชีวิตในวัง...แล้วท่านมีคู่ครองไหม...จะเป็นพระคุณยิ่ง
โดย: minnie IP: 58.9.185.229 วันที่: 22 เมษายน 2553 เวลา:12:06:56 น.
  
เคยได้ยินว่าท่านเคยไปพำนักที่ประเทศเยอรมัน...ท่านใดมีข้อมูลบ้าง
โดย: minnie IP: 58.9.185.229 วันที่: 22 เมษายน 2553 เวลา:12:14:46 น.
  
ชีวิตในรั้วในวังที่ทุกคนคิดว่าสวยหรู...แต่คงมีอีกด้านที่ทรมาน...เหรียญ 2 ด้าน...คนเราเกิดแต่กรรม...ถ้าทุกคนระลึกชาติได้คงดี...หลายสิ่งการย้อนไปก็เจ็บปวด...กิเลส ตัณหาคน ไม่มีที่สิ้นสุด...ฉันอยากร้องไห้กับสิ่งต่างๆที่ผ่านมาจวบจนเพลานี้...แต่ฉันก็ยินดี ที่ยังมีวันดีๆที่ได้มาพบกัน...ถึงแม้มันจะไม่สมบูรณ์ทุกประการ
โดย: JERRY IP: 58.9.197.31 วันที่: 3 กรกฎาคม 2553 เวลา:10:05:04 น.
  
ท่านเคยไปอยู่เยอรมันกับแม่แพ และพี่ชาย ที่เป็นลูกนอกเศวตฉัตรเช่นท่าน ที่เกิดกับพระพี่เลี้ยงสมัยเสด็จพ่อท่านยังไม่ครองราช พี่ชายท่านนี้เป็นคนเบื้องหลังปิดทองหลังพระ ตลอดมา...
ประวัติศาสตร์ไทยเขียนไว้เฉพาะผู้มีอำนาจ...คงต้องไปหาหนังสืออ่านที่เยอรมันหรือฝรั่งเศส
โดย: JERRY IP: 58.9.220.40 วันที่: 3 กรกฎาคม 2553 เวลา:10:11:56 น.
  
ท่านใดมีชื่อหนังสือหรือหนังสือแปลที่คุณJERRYบอกหรือไม่...แล้วในเมืองไทยไม่มีอีกหรือค้ะ...ทราบว่าท่านและพี่ชายท่านนี้ลำบากมาก
โดย: minnie IP: 58.9.217.112 วันที่: 10 พฤศจิกายน 2553 เวลา:20:16:49 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อยากขอบใจสักครั้งหนึ่ง
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]