a whispering star
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




คุณแม่น้องเจเจ-จ๊ะจ๋าค่ะ ^^
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
2 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add a whispering star's blog to your web]
Links
 

 
Enlightenment without an (Ultimate) Enlightened Age เมื่อการ(กล้า)ก้าวเดินสำคัญกว่าจุดหมาย

" หากจะถามว่า ในปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุคที่เรียกว่า ยุคแห่งการรู้แจ้งแล้ว (Enlightened Age) หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ หากแต่เราอยู่ในยุคที่เรียกว่า ยุคแห่งการตื่นรู้ ( An Age of Enlightenment) กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจากสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เรายังคงต้องเดินทางไปอีกไกล กว่าที่มนุษย์ทั้งมวลจะอยู่ในสถานะที่ (หรือถูกทำให้อยู่ในสถานะที่) จะใช้ความเข้าใจของตนเองได้อย่างมั่นใจ และใช้ได้เป็นอย่างดีในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยไม่ต้องได้รับคำแนะนำจากภายนอก แต่เราก็มีสิ่งบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า เส้นทางที่จะไปนั้น ได้ถูกทำให้โปร่งโล่งเพื่อที่มนุษย์จะเดินไปได้ และอุปสรรคที่ขัดขวางการตื่นรู้สากล (universal enlightenment) หรือการหลุดพ้นจากความอ่อนเขลาที่เกิดขึ้นจากตัวมนุษย์เองนั้น ก็มีน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ ยุคของเราจึงเรียกได้ว่า เป็นยุคแห่งการตื่นรู้ เป็นศตวรรษแห่งพระเจ้าเฟรเดอริค”


จากข้อความข้างต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง An Answer to the Question : What is Enlightenment? ของ Immanuel Kant และเป็นส่วนเดียวที่มีการกล่าวถึง ยุคแห่งการรู้แจ้งแล้ว (Enlightened Age) จะเห็นได้ว่า Kant ได้บอกอย่างชัดเจนว่า ยุคปัจจุบันในสมัยของ Kant กล่าวคือ สังคมเยอรมันในสมัยศตวรรษที่ 18 ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเฟรเดอริคนั้น ไม่ใช่ ยุคแห่งการรู้แจ้งแล้ว และการที่มนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง จะเข้าสู่ยุคที่ “..... จะใช้ความเข้าใจของตนเองได้อย่างมั่นใจ และใช้ได้เป็นอย่างดีในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยไม่ต้องได้รับคำแนะนำจากภายนอก... ” นั้น น่าจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรทีเดียว


คำถามที่น่าสนใจจากข้อความดังกล่าว ซึ่งข้าพเจ้าจะได้นำมาอภิปรายต่อไปนี้ ก็คือ ยุคแห่งการรู้แจ้ง นั้น คืออะไร ? กล่าวคือ ใช่ยุคที่มนุษย์ ที่ “..... จะใช้ความเข้าใจของตนเองได้อย่างมั่นใจ...” หรือไม่? และ กระบวนการที่ Kant เรียกว่าการตื่นรู้ (Enlightenment) และ ยุคแห่งการตื่นรู้ (Age of Enlightenment) นั้นคืออะไร และนำไปสู่อะไรหรือไม่? ซึ่งน่าจะนำไปสู่การตอบคำถามที่ว่า Kant เชื่อว่ามนุษย์จะสามารถไปถึงยุคแห่งการรู้แจ้งได้หรือไม่? ในที่สุด


ยุคแห่งการรู้แจ้ง (Enlightened Age) : ปลายทางที่(อาจจะ)ไม่มีอยู่จริง ?

ประเด็นสำคัญที่ข้าพเจ้าอยากจะชี้ให้เห็นเป็นประเด็นแรก เนื่องจากจะเป็นประเด็นหลักที่จะใช้ในการพัฒนาความคิดต่อไปในบทความนี้ ก็คือ การที่ Kant บอกว่า ยุคปัจจุบัน ไม่ใช่ ยุคแห่งการรู้แจ้ง นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องหมายความว่า Kant เชื่อว่า ยุคแห่งความรู้แจ้งนั้นมีอยู่จริง เฉกเช่นเดียวกับการที่ผู้ใหญ่บอกเด็กว่า แสงสว่างที่มักจะปรากฏอยู่หลังโอ่งตอนกลางคืนนั้นเป็นปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากกลุ่มก๊าซ ไม่ใช่ผีกระสือ ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ใหญ่คนดังกล่าวจะต้องเชื่อว่าผีกระสือนั้นมีอยู่จริงเสมอไป ดังนั้น ยุคแห่งความรู้แจ้งตามความคิดของ Kant จึงเป็นสิ่งที่อาจจะมี หรือไม่มีก็ได้ ซึ่ง Kant ก็ดูเหมือนจะไม่ได้สนใจที่จะหาคำตอบ (อย่างน้อยก็ในบทความเรื่องนี้) เนื่องจากไม่มีการกล่าวถึงคำๆ นี้ในส่วนอื่น ๆ ของบทความอีกเลย


สำหรับคำจำกัดความที่ตามมา ( “.... เรายังต้องเดินทางไปอีกไกล ...จะใช้ความเข้าใจของตนเองได้อย่างมั่นใจ....”) ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อ่านที่ไม่ระมัดระวัง หรือเลือกอ่านเฉพาะบางส่วนของบทความเข้าใจไปได้ว่า เป็นการให้คำจำกัดความของยุคแห่งความรู้แจ้งนั้น เมื่อพิจารณาให้ดี ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าน่าจะเป็นความหมายของ ยุคแห่งการตื่นรู้ ( Age of Enlightenment) มากกว่า โดยเราอาจเทียบเคียงกับการให้คำจำกัดความ และการอธิบายคำว่า Enlightenment ของ Kant ในตอนต้นของบทความ ดังนี้ :


“ การตื่นรู้ (Enlightenment) คือการที่มนุษย์โผล่พ้นขึ้นจากความอ่อนเขลาที่ตนเองเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น โดยที่ความอ่อนเขลา (Immaturity) นั้น หมายถึงการไม่สามารถใช้ความเข้าใจของตนเองโดยปราศจากการชี้แนะของผู้อื่นได้ ความอ่อนเขลานี้เป็นสิ่งที่ตัวของมนุษย์ทำให้เกิดขึ้นเอง (self-incurred) ถ้าสาเหตุของมันไม่ใช่การขาดความเข้าใจ แต่เป็นการขาดความเด็ดเดี่ยว และความกล้าที่จะใช้ความเข้าใจของตนเองโดยปราศจากการชี้แนะของผู้อื่น ดังนั้น คติของยุคแห่งการตื่นรู้ จึงได้แก่คำกล่าวที่ว่า Sapere qude ! จงกล้าที่จะใช้ความเข้าใจของตัวเอง !

การตื่นรู้ (Enlightenment) : ปรากฏการณ์ กระบวนการ หรือพันธกิจของมนุษย์ ?


ไม่ว่ายุคแห่งการรู้แจ้งแล้วจะมีจริงหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ Kant เชื่ออย่างแน่นอนว่ามีอยู่จริง และได้รับการเน้นย้ำความสำคัญอยู่เกือบจะตลอดเวลาในบทความของ Kant ก็คือ การตื่นรู้ (Enlightenment) และ ยุคแห่งการตื่นรู้ (Age of Enlightenment) อย่างไรก็ดี ในสายตาของผู้อ่านและทำความเข้าใจบทความเรื่องนี้ การให้คำจำกัดความว่า Enlightenment คืออะไรของ Kant กล่าวคือ เป็นกระบวนการ ปรากฏการณ์ หรือภารกิจที่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดในแง่ของระยะเวลาที่ชัดเจนหรือไม่ อย่างไร ตลอดจนเป็นเรื่องของบุคคล หรือของมวลชน นั้น นับว่ามีความคลุมเครืออยู่ไม่น้อย ซึ่งนักคิดคนสำคัญคนหนึ่งที่ได้พยายามทำความเข้าใจความคิดในส่วนนี้ของ Kant ในอีกประมาณ 200 ปีถัดมา คือ Michel Foucault ในบทความเรื่อง What is Enlightenment?


ในบทความดังกล่าว Foucault ได้อธิบายความหมายของคำว่า Aufklarung (Enlightenment) ซึ่งเป็นคำในภาษาเยอรมันที่ Kant ใช้จริง ๆ ในการเขียนบทความว่า มีที่มาจากคำว่าAusgang ในภาษาเยอรมันที่แปลว่า “ทางออก” ( exit หรือ way out) และกล่าวว่า Aufklarung นั้น เป็น กระบวนการ (process) ในการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความอ่อนเขลา ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นทั้งปรากฏการณ์ (phenomenon) กระบวนการที่ดำเนินอยู่ (ongoing process) ตลอดจนเป็นภารกิจ (task) หรือพันธกิจ (obligation) ที่มนุษย์จะต้องดำเนินการ เพราะสภาวะที่อ่อนเขลาของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ตัวมนุษย์เองทำให้เกิดขึ้น จึงมีแต่ตัวของมนุษย์เองเท่านั้น ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง อันจะนำมนุษย์ไปสู่การหลุดพ้นความอ่อนเขลาได้


คำถามที่ตามมาจากคำอธิบายนี้ก็คือ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว มนุษย์ทุกคน จำเป็น ที่จะต้องตื่นรู้ (enlightened) หรือ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตื่นรู้หรือไม่ ? นอกจากนี้ คำถามที่สำคัญอีกข้อหนึ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตามมาจากการอธิบายความคิดของ Kant ของ Foucault ในความตอนนี้ ก็คือ การตื่นรู้ หรือกระบวนการตื่นรู้นั้น นับเป็นพันธกิจของมนุษย์ / มวลมนุษยชาติหรือไม่ ?


สำหรับคำถามข้อนี้ Kant ได้ให้คำตอบไว้อย่างชัดเจนในบทความว่า การตื่นรู้ หรือการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตื่นรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องทำ การดำเนินการใด ๆ โดยสถาบันทางสังคมใด ๆ ก็ตาม แม้ว่าจะเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับสูง เช่น สถาบันศาสนา หรือเป็นการดำเนินการที่ทุกคนให้ความเห็นชอบร่วมกัน เช่น การทำสัญญา (contract) หากเป็นการขัดขวางการตื่นรู้ กล่าวคือ ไม่เปิดโอกาสให้คนได้ใช้เหตุผลของตนเองในการตั้งคำถามต่อหลักการ หรือการดำเนินการนั้น ๆ แล้ว จะต้องถือว่าเป็นการดำเนินการที่เป็นโมฆะทันทีแม้ว่าจะได้รับการรับรองโดยอำนาจสูงสุดใด ๆ เนื่องจาก Kant เห็นว่า “... ไม่มียุค / สมัยใด ที่จะสามารถกระทำการให้สัตย์สาบานใด ๆ (น่าจะหมายถึงการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นพันธะผูกพัน เช่น สนธิสัญญาต่าง ๆ ) ที่จะทำให้ยุค / สมัยต่อ ๆ ไปอยู่ในสภาวะที่เป็นไปไม่ได้ที่จะขยายความ และแก้ไขความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่สำคัญๆ หรือการสร้างความก้าวหน้าใด ๆ ก็ตามในการตื่นรู้ การกระทำเช่นนี้ นับว่าเป็นอาชญากรรมต่อธรรมชาติของมนุษย์ (crime against human nature) ที่มีชะตากรรมอยู่ในความก้าวหน้าดังกล่าวนั้น .......................อาจจะเป็นไปได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่มีการกำหนดชัดเจนเพื่อการรักษาระเบียบบางอย่าง จนกว่าจะมีทางออก / วิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า พลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบวช จะต้องได้รับอิสรภาพเฉกเช่นนักวิชาการในการแสดงความคิดเห็นโดยข้อเขียนว่า สถาบันที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นมีข้อจำกัดอย่างไร…. ”



นอกจากนี้ Kant ยังเห็นว่า การเลือกที่จะไม่ตื่นรู้ หรือผัดผ่อนการตื่นรู้ในเรื่องที่ตนจะต้องรู้ออกไป แม้ว่าจะเป็นการเลือกโดยตัวมนุษย์เอง ไม่ว่าจะด้วยความเกียจคร้าน หรือขลาดเขลาก็ตาม จะทำได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ทั้งนี้ Kant มองว่า การที่มนุษย์ปฏิเสธการตื่นรู้โดยสิ้นเชิง (to renounce such enlightenment completely) กล่าวคือ ปฏิเสธที่จะตั้งคำถามอย่างเปิดเผย และเป็นสาธารณะ ต่อการดำเนินการ หลักการ หรือสถาบันใด ๆ ที่มีอิทธิพลต่อตนเองอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อตัวเอง หรือเพื่อคนรุ่นหลังนั้น ถือว่าเป็น “.... การล่วงละเมิด และการกระทืบสิทธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ของมวลมนุษยชาติไว้ใต้ฝ่าเท้า”


จากข้อความเกี่ยวกับความสำคัญ และความจำเป็นของการตื่นรู้ตามความคิดของ Kant ที่ได้ยกมาในทั้ง 2 ย่อหน้าข้างต้น รวมทั้งคำอธิบายเกี่ยวกับความหมายของการตื่นรู้ของ Kant ที่ผ่านมา ทำให้เราอาจสามารถทำความเข้าใจได้ว่า แม้ว่า Kant มองว่า การตื่นรู้นั้นเป็นกระบวนการที่มีจุดเริ่มต้นค่อนข้างชัดเจน (คือเริ่มจากการมีความกล้าที่จะใช้ความเข้าใจของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การที่กล้าจะแสดงความคิดเห็น และตั้งคำถาม) แต่ไม่มีข้อความในตอนใด ๆ เลยที่จะแสดงให้เห็นว่า Kant มองว่ากระบวนการที่เรียกว่า การตื่นรู้ นั้น จะสิ้นสุดลงที่ตรงไหน ตรงกันข้าม ดูเหมือนว่า Kant จะพยายามสื่อให้เราเห็นว่า การตื่นรู้ เป็นธรรมชาติ หรือเป็นสิทธิ(อันศักดิ์สิทธิ์) ของความเป็นมนุษย์ ที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว และควรจะต้องได้นำออกมาใช้ เพื่อแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้ การดำเนินการสถาบันทางสังคมใด ๆ ตลอดจนอำนาจ หรือข้อตกลงสัญญาใด ๆ หรือแม้แต่เจตจำนงของตัวมนุษย์ผู้นั้นเองก็ตาม ที่จะเป็นการขัดขวางไม่ให้กระบวนการตื่นรู้นี้ดำเนินไป จึงถือว่าเป็นการล่วงละเมิดสิทธิ์ และเป็นอาชญากรรมต่อธรรมชาติของความเป็นมนุษย์


จากความคิดที่ว่า ความตื่นรู้ น่าจะเป็นความสามารถ และสิทธิตามธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์เอง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดโดยสังคม กฎเกณฑ์ หรือเงื่อนไขของยุคสมัย หรือกาลเวลา ดังนั้น ยุคแห่งการตื่นรู้ (Age of Enlightenment) ตามความคิดของ Kant จึงไม่น่าจะหมายถึงยุคใดยุคหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่น่าจะหมายถึง ยุคใด ๆ ก็ตามที่มนุษย์ทุกคนในสังคมมีการเริ่มต้น หรือมีความกล้าที่จะ
เริ่มต้น และสามารถใช้เหตุผลซึ่งเกิดจากความเข้าใจของตนเอง ในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนตั้งคำถามต่อความคิด ความเชื่อ การดำเนินการ หลักการ ตลอดจนสถาบันต่าง ๆ ทางสังคมได้ โดยปราศจากปัจจัยที่เป็นอุปสรรคขัดขวางใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเกียจคร้านหรือขลาดเขลาของตัวมนุษย์เอง หรือการกำหนดบังคับจากสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งการตั้งคำถามของมนุษย์ และความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาข้อกำหนด ปัจจัย กฎเกณฑ์ หลักการ และสถาบันทางสังคมของมนุษย์ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นไป ตลอดจน


ความคิด จิตใจ และความต้องการของคนในยุคนั้น ๆ ในแง่นี้เราอาจกล่าวได้ว่า การตื่นรู้ เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ความก้าวหน้า (progress) ของมวลมนุษยชาติ และเช่นเดียวกับความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือเศรษฐกิจ และการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในสังคมยุโรปขณะนั้น ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และดูเหมือนจะดำเนินไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด การตื่นรู้ หรือกระบวนการตื่นรู้ที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว ก็น่าจะต้องดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีจุดสิ้นสุดอยู่ที่ยุคใดยุคหนึ่งเช่นกัน'


สู่ยุคแห่งความรู้แจ้ง ? : คำตอบอยู่ที่ “ปัจจุบัน”


ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งในการทำความเข้าใจความคิดของ Kant เกี่ยวกับยุคแห่งการตื่นรู้ ซึ่งอาจจะเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่จำนำไปสู่การตอบคำถามว่า Kant เชื่อว่ามนุษย์เรากำลังเดินทางไปสู่ยุคแห่งความรู้แจ้งหรือไม่ ก็คือ มโนคติ (concept) ของปัจจุบัน (present ) ตามความคิดของ Kant ที่ Foucault เห็นว่ามีความแตกต่างจากข้อเขียนทั่ว ๆ ไปของนักคิดคนอื่น ๆ ซึ่งมักจะนำเสนอว่ายุคปัจจุบันนั้น เป็นช่วงเวลาที่อยู่ในยุคสมัยใดสมัยหนึ่งของโลก (belonging to a certain era of the world) ที่อาจแยกออกจากยุคอื่น ๆ ได้ด้วยเหตุการณ์บางอย่าง เป็นสัญญาณที่สื่อถึงเหตุการณ์บางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างโลกเก่าที่กำลังจะจบสิ้นลงและโลกใหม่ หรือแม้แต่งานอื่น ๆ ของ Kant เองที่เป็นงานเชิงประวัติศาสตร์ ที่มีการกล่าวถึงยุคสมัยต่าง ๆ อย่างชัดเจน ตรงกันข้าม ในการตอบคำถาม What is Enlightenment ? Kant ได้กล่าวถึงยุคปัจจุบันว่าเป็นยุคแห่งการตื่นรู้ โดยไม่ได้บอกว่าเป็นยุคที่อยู่ในยุคสมัยใดสมัยหนึ่งของโลก ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ใด ๆ ที่เป็นสัญญาณสื่อถึงความเป็นอยู่ของยุคนี้ หรือความสำเร็จใด ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น หากแต่กล่าวถึงสภาพความเป็นจริงที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน (contemporary reality) ในขณะนั้นล้วน ๆ ‘ยุคปัจจุบัน’ ตามที่อธิบายในบทความเรื่องนี้ของ Kant จึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เป็นส่วนหนึ่งของความสัมบูรณ์ (totality) ใด ๆ และไม่ใช่ช่วงเวลา หรือปรากฏการณ์ที่จะสื่อไปถึงความสำเร็จในอนาคตได้ Kant เพียงแต่อธิบายถึงความต่าง (difference) ที่เกิดขึ้น ว่า วันนี้ (หรือยุคสมัยนี้) มีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้แตกต่างไปจากเมื่อวาน (หรือยุคอื่น ๆ ก่อนหน้านี้) บ้าง เท่านั้น


ดังนั้น จากข้อเสนอของ Foucault เราจึงสามารถเข้าใจได้ว่า Age of Enlightenment ตามความคิดของ Kant ไม่น่าจะเป็นแค่เพียงยุคสมัยหนึ่งบนระนาบของเวลาที่อยู่ก่อน Enlightened age โดยที่ทั้งคู่เป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยที่เรียกว่า Era of Enlightenment รวมทั้งไม่ใช่ยุคสมัยที่เป็นสาเหตุ หรือทำให้เกิดยุคใด ๆ เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งการรู้แจ้งแล้ว หรือยุคอื่นใดก็ตาม



What Becomes of the (Age of) Enlightenment? : ยุคแห่งการตื่นรู้ จะ(พาเรา) ไปไหน
?

เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้ อาจจะมีผู้สงสัยว่า เมื่อดูเหมือนว่า Kant จะไม่ได้คิดว่ายุคแห่งการตื่นรู้ จะนำไปสู่ หรือตามมาด้วยยุคแห่งความรู้แจ้งแล้ว แล้วตกลงยุคแห่งการตื่นรู้จะพาเรา (หรือผู้อ่านในสังคมเยอรมันสมัยศตวรรษที่ 18 ของ Kant) ไปไหน? เพราะดูเหมือนว่ามันจะเป็นกระบวนการที่ไม่ได้ให้ทางออก หรือจุดจบเอาไว้เลย ?


ข้าพเจ้าคงจะตอบคำถามนี้ไม่ได้ในตอนนี้ เพราะทั้ง Kant และ Foucault ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนไว้ โดยเฉพาะ Foucault เองถึงกับบอกว่า ปรัชญาสมัยใหม่ คือปรัชญาที่พยายามที่จะตอบคำถามที่มีคนทะลึ่งตั้งขึ้นมาเมื่อ 2 ศตวรรษที่แล้วว่า ความตื่นรู้คืออะไร ซึ่งก็หมายความว่า แม้ในปัจจุบัน นักคิดทั้งหลายก็ยังคงหาคำตอบที่น่าพอใจ ซึ่งจะเป็นคำตอบสุดท้าย (ultimate answer) สำหรับเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ดี อย่างไรก็ตาม Foucault ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์เช่นนี้ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้น หรือถ้าจะพูดให้ถูก น่าจะบอกว่า ไม่เคยเกิดขึ้นซ้ำอีกในประวัติศาสตร์หลังจากยุคของ Kant เพราะ Foucault บอกว่า การพยายามทำความเข้าใจยุคปัจจุบัน หรือยุคที่ตนใช้ชีวิตอยู่ในตอนนั้น ด้วยในรูปแบบที่ Kant ทำ เป็นครั้งแรกที่นักคิด “....ทำความเข้าใจความสำคัญของงานของตน อย่างใกล้ชิด และจากภายใน โดยเชื่อมโยงกับความรู้ และภาพสะท้อนของประวัติศาสตร์ และการวิเคราะห์โดยเจาะจงช่วงเวลาที่เขาเขียนงานชิ้นนั้น และที่เกิดขึ้นเพราะข้อเขียนชิ้นนั้นของเขา มันเป็นภาพสะท้อนของ “วันนี้” ในฐานะที่มีความแตกต่างจากวันอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นที่มาของแรงบันดาลใจของงานคิดทางปรัชญา อันเป็นความใหม่ (novelty) ที่มีอยู่ในผลงานชิ้นนั้นๆ"


เมื่อมองจากมุมนี้ การที่ Kant เรียกยุคสมัยของเขาว่า ยุคแห่งการตื่นรู้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องหมายถึงช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ที่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดอย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์จริง ๆ หากแต่การตื่นรู้นั้นเป็นทัศนคติ (attitude) ที่มีอยู่ในสังคมในตอนนั้น ๆ ซึ่ง Kant ได้นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนงานชิ้นนี้ และเมื่อเป็นทัศนคติ ไม่ใช่ช่วงเวลา จึงไม่อาจบอกได้ว่าจะจบตรงไหน และน่าจะเป็นสาเหตุที่ Kant ไม่อาจตอบได้อย่างชัดเจนว่าจะนำไปสู่อะไร เนื่องจากคนเรามักจะฉลาดหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วอยู่เสมอ ใน 200 ปีให้หลัง Foucault จึงได้มองเห็นปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนว่า อาจจะ เป็นทางออก และจุดหมายปลายทางที่ยุคแห่งการตื่นรู้ หรือทัศนคติของการตื่นรู้นำเรามาถึง นั่นก็คือ เค้าร่างของสิ่งที่เราเรียกว่า ทัศนคติของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ที่เรามักจะเรียกและเข้าใจกันว่าเป็น ‘ยุคสมัย’ (age/epoch) เหมือนกับ Enlightenment นั่นเอง


อ้างอิง :

1. Kant, I. “An Answer to the Question : “What is Enlightenment?” in Kant Political Writing. Edited by Hans Reiss. Cambridge: Cambridge University Press, 1991.

2. Foucault, Michel. (1991) “What is Enlightenment?” in The Foucault Reader. Edited by Paul Rabinow. London: Penguin Books, 1991


Create Date : 02 ธันวาคม 2550
Last Update : 2 ธันวาคม 2550 9:23:40 น. 0 comments
Counter : 2408 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.