a whispering star
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




คุณแม่น้องเจเจ-จ๊ะจ๋าค่ะ ^^
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
2 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add a whispering star's blog to your web]
Links
 

 
What is Political Life ? คำถามที่ต้องตอบของปรัชญาการเมือง และประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง (3)

2.คำถามนี้สำคัญอย่างไรต่อการทำความเข้าใจบทความเรื่อง What is Political Philosophy? และสำคัญอย่างไรต่อองค์ความรู้ Political Philosophy


ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นของรายงานว่า ความหมายหลักของคำว่าชีวิตทางการเมืองที่ใช้ในรายงานฉบับนี้ จะใช้ตามที่ Strauss ได้ใช้ในบทความเรื่อง What is Political Philosophy? ดังนั้น การทำความเข้าใจความหมายของคำว่าชีวิตทางการเมืองในที่นี้ จึงน่าจะทำให้เรามีความเข้าใจในความหมายของประโยค และประเด็นที่บทความต้องการจะสื่อสารมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย


อย่างไรก็ดี หากเราต้องการจะรู้ลึกลงไปอีกว่า การที่นักคิด หรือแม้แต่ตัวเราเองซึ่งเป็นผู้มีความสนใจศึกษาหาความรู้ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ มีความจำเป็นที่จะต้องถาม และแสวงหาคำตอบให้กับคำถามว่า ชีวิตทางการเมืองคืออะไร นั้น มีความจำเป็น และมีความสำคัญอย่างไรต่อสาระสำคัญของบทความเรื่อง What is Political Philosophy? และองค์ความรู้ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) เราก็ควรที่จะได้พิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่า ข้อความสำคัญ และประเด็นหลักที่ Strauss ตั้งใจจะนำเสนอต่อผู้อ่านบทความเรื่อง What is Political Philosopy? คืออะไร และสิ่งที่เราเรียกว่า องค์ความรู้ปรัชญาการเมืองนั้น มีลักษณะอย่างไร รวมทั้งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชีวิตทางการเมืองอย่างไรบ้าง


สาระสำคัญของบทความเรื่อง What is Political Philosophy ของ Strauss แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ปัญหาของปรัชญาการเมือง (The Problem of Political Philosophy) แนวทางในการแก้ไขปัญหาของนักคิดในยุคคลาสสิก (The Classic Solution) และ (หลาย)แนวทางในการแก้ไขปัญหาของนักคิดในยุคสมัยใหม่ (The Modern Solutions) ทั้งนี้ ในส่วนแรกสุดของบทความ Strauss ได้นำเสนอเกี่ยวกับต้นกำเนิดของปรัชญาการเมือง ความจำเป็น และบทบาทของปรัชญาการเมืองในชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตทางการเมืองของมนุษย์ แนวทางการศึกษาการเมืองในรูปแบบของปรัชญา ตลอดจนข้อแตกต่างของวิธีการศึกษาแบบอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง (History of Political Thoughts) ทฤษฎีการเมือง (Political Theory) และเทววิทยาการเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ Strauss ได้วิพากษ์ความพยายาม และวิธีการที่จะศึกษารัฐศาสตร์โดยการนำแนวทางการศึกษาของวิทยาศาสตร์ และปฏิฐานนิยมมาใช้ เพื่อส่งเสริมความคิดเกี่ยวกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของศาสตร์ โดยกล่าวอ้างว่า จะเป็นการทำให้รัฐศาสตร์ได้รับการยอมรับในคุณค่ามากยิ่งขึ้น


ข้อความสำคัญที่ Struass ได้นำเสนอในส่วนนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นประเด็นหลักที่บทความนี้ต้องการนำเสนอ ก็คือ เราไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องนำแนวทางของวิทยาศาสตร์ หรือ ปฏิฐานนิยมมาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ และทำความเข้าใจองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการเมือง เพียงเพื่อเหตุผลที่ว่า จะเป็นการทำให้การศึกษาเกี่ยวกับการเมือง หรือวิชารัฐศาสตร์ รวมทั้งสังคมศาสตร์แขนงอื่น ๆ ได้รับการยอมรับในความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากวิธีการดังกล่าวไม่ได้มีความเหมาะสมกับลักษณะขององค์ความรู้ หรือขัดกับธรรมชาติขององค์ความรู้เกี่ยวกับการเมือง เช่น การพยายามศึกษาโดยไม่ให้มีการประเมินเชิงคุณค่า (value judgment) และโดยเนื้อแท้แล้ว รัฐศาสตร์ รวมทั้งสังคมศาสตร์แขนงอื่น ๆ ต่างก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์อยู่แล้ว ทั้งนี้ Strauss เห็นว่า วิธีการศึกษาที่เหมาะสมที่สุดกับองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการเมืองนั้น จะต้องเป็นวิธีการศึกษาในรูปแบบของปรัชญาการเมืองเท่านั้น ซึ่งในส่วนที่ 2 และ 3 ของบทความเรื่อง What is Political Philosophy? Strauss ก็ได้แสดงให้เห็นว่า วิธีการ และการวิเคราะห์ในเชิงปรัชญาการเมือง สามารถทำให้เราทำความเข้าใจแนวคิด และข้อเสนอต่าง ๆ ในการหาคำตอบให้กับปัญหาในทางการเมืองของนักคิดในยุคคลาสสิก เช่น Plato และ Aristotle เปรียบเทียบกับนักคิดในยุคสมัยใหม่ เช่น Machiavelli, Hobbes และ Rousseau เป็นต้น ได้อย่างไร และทำไมแนวทางในการหาคำตอบทั้ง 2 แบบ จึงไม่เหมือนกัน โดยไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องตัดสินว่า แนวทางไหนที่ถูก หรือผิด
จากข้อเสนอของ Strauss ว่าด้วยวิธีการศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเมืองที่มีความเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะขององค์ความรู้ ซึ่งจะต้องเป็นการศึกษาในรูปแบบของปรัชญาการเมืองเท่านั้น ทำให้เรามองเห็น ประเด็นอภิปรายหลักของบทความเรื่อง What is Political Philosophy? ก็คือ องค์ความรู้เกี่ยวกับการเมือง หรือที่เราเรียกว่าเป็นวิชารัฐศาสตร์นั้น เกิดขึ้น และสั่งสมมาได้อย่างไร ทำให้มีลักษณะอย่างไร และมีเป้าหมายเพื่ออะไร จึงทำให้มีความเหมาะสมกับการศึกษาในรูปแบบปรัชญาการเมือง


วิธีการศึกษาในรูปแบบปรัชญาการเมืองนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร และองค์ความรู้เกี่ยวกับการเมืองมีลักษณะเฉพาะอย่างไร จึงทำให้เหมาะสมกับการศึกษาในรูปแบบปรัชญาการเมืองเท่านั้น? สำหรับในประเด็นนี้ หากเรากลับไปพิจารณาข้อความในช่วงต้น ๆ ของบทความเรื่อง What is Political Philosophy? ซึ่งเป็นส่วนเดียวกับที่ Strauss ได้อธิบายเกี่ยวกับชีวิตทางการเมืองนั้น Strauss ได้อธิบายเกี่ยวกับวิธีการศึกษาในแบบปรัชญาว่า “...เป็นวิธีการปฏิบัติ(ต่อความรู้ทางการเมือง) ซึ่งลงลึกถึงรากถึงโคน(ของความรู้) และครบถ้วนรอบด้าน” นอกจากนี้ ยังได้อธิบายถึงความหมายของปรัชญาว่า “…คือการแสวงหาองค์ความรู้ หรือภูมิปัญญา (wisdom) เป็นการแสวงหาความรู้ที่เป็นสากล (และ) เป็นความรู้เกี่ยวกับองค์รวม การแสวงหานั้นจะไม่มีความจำเป็นเลยถ้าหากว่าความรู้นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี การที่เรายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับองค์รวมนั้น ไม่ได้หมายความว่า มนุษย์ไม่ได้มีความคิดเกี่ยวกับองค์รวม: (ก่อนที่จะมี)ปรัชญานั้นจะต้องมีความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์รวมมาก่อน ดังนั้น มันจึงเป็นความพยายามที่จะแทนที่ความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์รวม ด้วยความรู้เกี่ยวกับองค์รวม” ส่วน นักปรัชญาหรือผู้ที่ศึกษาในทางปรัชญา ในทัศนะของ Strauss จะต้องเป็นผู้ที่ “…เขารู้ตัวว่าเขาไม่รู้อะไรเลย และจากความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับการที่เราไม่ใส่ใจต่อสิ่งที่มีความสำคัญนี้เอง ทำให้เขาต้องใช้ความพยายามที่จะหาความรู้ (เกี่ยวกับสิ่งนั้น) เขาจะเลิกเป็นนักปรัชญาทันทีที่หลีกเลี่ยงจากคำถามเหล่านี้ หรือละเลยไม่ใส่ใจเพราะเห็นว่ามันไม่สามารถหาคำตอบได้”


ในทัศนะของ Strauss องค์ความรู้ปรัชญาการเมือง ในฐานะที่เป็นองค์ความรู้ปรัชญาสาขาหนึ่ง ก็คือ ความพยายามที่จะแทนที่ความคิดเห็นเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง (political things) ด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และด้วยความที่ธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีความเป็นกลาง หากแต่เป็นสิ่งที่เราสามารถเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย เลือกหรือปฏิเสธ หรือชื่นชม หรือตำหนิก็ได้ เราจึงไม่สามารถทำความเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่งทางการเมืองได้อย่างที่มันเป็น หากไม่มีการตัดสินเชิงคุณค่าว่ามันดีหรือเลว หรือ ยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งหมายความว่า เราจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการตัดสินในเชิงคุณค่า ดังนั้น ในการที่จะตัดสินประเมินคุณค่าของสรรพสิ่งทางการเมืองอย่างชอบธรรมได้ ปรัชญาการเมืองจึงต้องพยายามแสวงหามาตรฐานที่ถูกที่ควร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ปรัชญาการเมืองนั้น ไม่เพียงแต่พยายามที่จะแสวงหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของสรรพสิ่งทางการเมือง เท่านั้น หากจะยังมุ่งที่จะหา ระเบียบทางการเมืองที่ถูกต้องและดีงาม อีกด้วย


Strauss เน้นย้ำว่า ในการที่จะแสวงหาความรู้ และระเบียบดังกล่าวได้ เราจะต้องมี ความรู้ทางการเมือง (political knowledge) อยู่บ้าง เช่น ความรู้เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี เจ้าหน้าที่ตำรวจ กฎหมาย สงคราม สันติภาพ และอื่น ๆ อยู่บ้าง แม้ว่าระดับความรู้ของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ซึ่งเขาได้นำเสนอเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของความรู้ที่เกี่ยวกับการเมืองว่า “... ถูกล้อมรอบ และมีความคิดเห็นทางการเมืองกระจัดกระจายร่วมด้วยอยู่ทั่วไป” ซึ่ง ความคิดเห็นทางการเมือง (political opinion) ในที่นี้หมายถึง “... สิ่งที่(จะต้องแยกแยะ) จากความรู้เกี่ยวกับสรรพสิ่งทางการเมือง ได้แก่ ข้อผิดพลาด การคาดเดา ความเชื่อ อคติ การทำนาย และอื่น ๆ” ทั้งนี้ Strauss เห็นว่าความรู้ทางการเมืองของคนเรานั้น ย่อมต้องถูกกระทบด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม ในอดีตนั้น คนอาจได้รับความรู้ความเข้าใจทางการเมืองจากการฟังมาจากผู้รู้ โดยการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ โดยสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างไรก็ดี วิธีการเช่นนี้ นับว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้เราได้มาซึ่งความรู้ทางการเมืองในสังคมปัจจุบัน ที่มีความสลับซับซ้อน และมีความเปลี่ยนแปลงอันเป็นพลวัตรสูง การได้มาซึ่งความรู้ทางการเมืองในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องยาก และล้าสมัยเร็วกว่ายุคก่อน ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ที่อุทิศตนให้กับการเก็บสะสม และย่อยความรู้เกี่ยวกับสรรพสิ่งการเมืองโดยเฉพาะ อันเป็นกิจกรรมที่ทุกวันนี้เราเรียกว่าเป็น วิชารัฐศาสตร์ (Political Science)


ในส่วนนี้ Strauss ยังได้กล่าวถึง ความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ และความคิดเห็นทางการเมือง กับชีวิตทางการเมือง ว่า “... สาระสำคัญของชีวิตทางการเมืองนั้น จะต้องถูกชักนำด้วยส่วนผสมระหว่างความรู้ทางการเมือง และความคิดเห็นทางการเมือง ดังนั้น ชีวิตทางการเมืองทุกชีวิต จึงต้องมีความอุสาหะพยายามที่จะแทนที่ความคิดเห็นทางการเมือง ด้วยความรู้ทางการเมืองตามแต่ความเหมาะสมกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา แม้แต่รัฐบาลที่มีความรู้มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป ก็ยังต้องมีการว่าจ้างสายลับ”


เมื่อพิจารณาความเชื่อมโยงในจุดนี้ ร่วมกับคำอธิบายของ Strauss เกี่ยวกับองค์ความรู้ปรัชญาการเมืองที่เราอาจสรุปได้ว่าเป็น ความพยายามที่จะแทนที่ความคิดเห็นเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง (political things) ด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยพยายามแสวงหามาตรฐานที่ถูกที่ควร หรือ ระเบียบทางการเมืองที่ถูกต้องและดีงาม และความเข้าใจของเราเกี่ยวกับชีวิตทางการเมืองตามความหมายของ Strauss ว่าเป็น ชีวิตที่ประกอบด้วยกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกชี้นำด้วยความรู้ และความคิดเห็นต่าง ๆ ทางการเมือง เพื่อที่จะนำไปสู่ชีวิตและสังคมที่ดี หรือความดีงามทางการเมืองที่สมบูรณ์ เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมโนคติทั้ง 2 ได้อย่างชัดเจนว่า ทั้งองค์ความรู้ปรัชญาการเมือง และชีวิตทางการเมืองนั้น ต่างก็มีเส้นทาง และเป้าหมายที่คล้ายคลึงกัน และทับซ้อนกันอยู่อย่างที่แยกไม่ออก กล่าวคือ ไม่ว่าเจ้าของชีวิตทางการเมืองนั้น ๆ จะรู้ตัวหรือไม่ ในขณะที่คนเราประกอบกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ นั้น ก็ย่อมต้องมีการคัดกรอง และเลือกที่จะเชื่อตามความคิด (thoughts/ opinions) ที่เราเห็นว่าน่าจะเป็นความรู้ที่แท้จริง (knowledge) อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งการคัดกรองและเลือกของเรานั้น ก็ย่อมต้องมีหลักการ และหลักเกณฑ์ / บรรทัดฐานในการเลือก ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า สิ่งที่เราเลือกนั้น จะนำเราไปสู่ชีวิตที่ดีได้ในปั้นปลาย หรืออย่างน้อยที่สุดก็ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวสรุปความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างคำถามทั้ง 2 ได้ว่า ผู้ที่ต้องตอบคำถามว่า ชีวิตทางการเมือง (ตามความเข้าใจ และความเชื่อของตน) คืออะไร (What is Political Life ?) ก็ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องตอบคำถามว่า ปรัชญาการเมือง (ตามความเข้าใจ และความเชื่อของตน) คืออะไร (What is Political Philosophy?) ซึ่งเป็นสาระสำคัญของบทความเรื่อง What is Philosophy? ของ Strauss ด้วยเช่นกัน



Create Date : 02 กรกฎาคม 2551
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 11:36:14 น. 0 comments
Counter : 1175 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.