a whispering star
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




คุณแม่น้องเจเจ-จ๊ะจ๋าค่ะ ^^
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
5 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add a whispering star's blog to your web]
Links
 

 
แนวคิดเกี่ยวกับรัฐ ในปรัชญาการเมืองของ Hegel

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว คนส่วนใหญ่จะรู้จัก Hegel ในฐานะนักปรัชญาประวัติศาสตร์มากกว่านักปรัชญาการเมือง แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า แนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองของ Hegel โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดเกี่ยวกับรัฐ (State) นั้น นับเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญ และทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวงการปรัชญาการเมืองตะวันตก รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจ และจุดประกายให้นักคิดทางการเมืองในยุคต่อมาได้นำไปพัฒนาเป็นแนวคิดใหม่ ๆ เช่น แนวคิดชุมชนนิยม (Communitarianism) หรือแม้แต่นวัตกรรมการเมือง เช่น สหภาพยุโรป (the European Union) เป็นต้น


กล่าวกันว่าแนวคิดเกี่ยวกับรัฐของ Hegel นั้น เป็นแนวคิดที่มีความคลุมเครือ และเป็นที่โต้แย้งกันมากที่สุดแนวคิดหนึ่งในระบบปรัชญาของ Hegel ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีนักวิชาการจำนวนมากที่ได้ทำการศึกษา และผลิตผลงานทางวิชาการ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับแก่นแนวคิดเกี่ยวกับรัฐในทัศนะของ Hegel และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่หลอมรวมกันเข้าเป็นรัฐ เช่น ประชาสังคม (Civil society) รัฐธรรมนูญ (Constitution) และสถาบันกษัตริย์ (Monarchy) ออกมามากมายหลายชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นแนวคิดที่มีที่มาจากผลงานชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของ Hegel เรื่อง ปรัชญาสิทธิ (Philosophy of Rights) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1821 โดยใช้ชื่อว่า เค้าโครงเรื่องกฎธรรมชาติและรัฐศาสตร์ : องค์ประกอบของปรัชญาสิทธิ (National Law and Political Science in Outline : Elements of the Philosophy of Rights) ซึ่งเป็นการรวมรวมและสังเคราะห์คำบรรยายของ Hegel เกี่ยวกับปรัชญาสิทธิ และเป็นส่วนที่ขยายความจากตอนหนึ่งของผลงานรวบรวมคำบรรยายเรื่อง สารานุกรมศาสตร์แห่งปรัชญา (Encyclopedia of Philosophical Sciences) ของ Hegel ที่ได้ตีพิมพ์มาแล้วก่อนหน้านี้ในปี 1817


“ปรัชญาสิทธิ” (Philosophy of Right) :พื้นฐานความคิดอันเป็นที่มาของรัฐในทัศนะของ Hegel




อาจมีผู้สงสัยว่า แนวคิดเกี่ยวกับสิทธินำไปสู่แนวคิดที่เกี่ยวกับรัฐได้อย่างไร? ซึ่งหากเราพิจารณาเค้าโครงเรื่องของปรัชญาสิทธิ ก็จะเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างมโนคติ (concept) ทั้งสองอย่างนี้ รวมทั้งมโนคติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน โดย Hegel ได้เริ่มบทนำด้วยการกล่าวถึงมโนคติพื้นฐานของปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ ได้แก่


1) มโนคติเกี่ยวกับปรัชญาสิทธิ (Concept of the Philosophy of Right) ซึ่งเป็นสาระสำคัญในภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ ที่ Hegel กล่าวว่า จะเป็นการอธิบายถึงความคิดเกี่ยวกับสิทธิ (Idea of Rights) โดยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับมโนคติ (concept) และการแสดงออก / สิ่งแสดงออกอันเป็นรูปธรรม (actualization) ของการที่คนเรามีสิทธิ


2) เจตจำนง (the Will) ของมนุษย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นการแสดงออกที่ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดว่ามนุษย์มีสิทธิ กล่าวคือ ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เรามีสิทธิที่จะกำหนด และกระทำการใด ๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเจตจำนงของตัวเราเองได้อย่างเสรี ในแง่นี้ เสรีภาพจึงเป็นทั้งสาระสำคัญ และจุดมุ่งหมายแห่งเจตจำนงของเรา



3) เสรีภาพ (Freedom)
ของเจตจำนง เกิดจากการที่มนุษย์มีสติปัญญา (intelligence) ที่จะสามารถคิดเองได้ ซึ่งนำไปสู่การที่มนุษย์สามารถตัดสินใจเลือก (choose) ปฏิเสธสิ่งที่ตนเลือก (renounce) ตลอดจนแสวงหาตัวเลือกใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเจตจำนงของตนได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด


4) สิทธิ (Rights) เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม ที่จะทำให้เราเห็นได้ว่า เสรีภาพในเจตจำนงของเรานั้นมีอยู่จริง กล่าวคือ เราจะรู้ได้ว่าเรามีเสรีภาพที่จะเลือก หรือไม่เลือกอะไร ก็ต่อเมื่อเรามองเห็น หรือได้ใช้สิทธิที่จะเลือก หรือไม่เลือกสิ่งนั้น เมื่อมองในแง่นี้ เราก็จะเห็นได้ว่า สิทธิในเรื่องใด ๆ ก็ตามที่เรามี ย่อมมีนัยของการตระหนักรู้ถึงการมีเสรีภาพเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ของตัวเราเองอยู่ด้วยเสมอ


จากความเข้าใจพื้นฐานดังกล่าว Hegel จึงนำเราเข้าสู่สาระสำคัญของปรัชญาสิทธิ ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ สิทธิอันเป็นนามธรรม (Abstract Rights) ศีลธรรม (Morality) และชีวิตที่มีจริยธรรม (Ethical Life)
ในสาระสำคัญส่วนแรก คือ สิทธิอันเป็นนามธรรม (First Part : Abstract Rights) Hegel ได้กล่าวถึงสิทธิที่ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งเกิดมีขึ้นได้จากการที่มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพ อันได้แก่ สิทธิในการถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคล (property) และเชื่อมโยงมาสู่การทำสัญญา (contract) เพื่อเป็นเครื่องยืนยันและรับรองความมีสิทธินั้น ๆ เช่นสิทธิในการถือครองที่ดิน และความผิด (wrong) ที่เกิดจากการล่วงละเมิดสัญญาดังกล่าว


จากส่วนแรกนี้ Hegel ได้นำเราเข้าสู่ ส่วนที่ 2 : ศีลธรรม (Second Part : Morality) ซึ่งกล่าวถึงการที่คนเราพยายามที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน หรือการก่ออาชญากรรม (crime) อันอาจนำไปสู่การแก้แค้น (revenge) ที่ทำให้มนุษย์ต้องสูญเสียทรัพย์สินหรือชีวิตของตนได้


เมื่อมนุษย์ที่ต่างก็มีสิทธิและเสรีภาพต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การที่จะทำให้ทุกคนใช้สิทธิและเสรีภาพที่ตนเองมีได้โดยไม่ล่วงละเมิดผู้อื่นนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์แต่ละคนจะต้องกำหนดเป้าหมาย (purpose) ของการกระทำของตน และมีความรับผิดชอบ (responsibility) ต่อการกระทำของตัวเราเองที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคมกับเรา ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งที่เราเรียกว่า ศีลธรรม (morality) อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้โดยที่แต่ละคนต่างก็มี และสามารถใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองได้ ศีลธรรมจึงไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์มีอยู่เองตามธรรมชาติ หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และใช้สำหรับการที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเท่านั้น ความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการที่มนุษย์ต้องกระทำการต่าง ๆ โดยคำนึงถึงศีลธรรมนี้ ได้นำไปสู่ความคิดเกี่ยวกับการกระทำที่ดี (Good) และการที่คนเราจะต้องทำอะไรก็ตามด้วยความมีสติ (Conscience)


จากส่วนที่ 2 Hegel ได้เชื่อมโยงเราสู่ ส่วนที่ 3 : ชีวิตที่มีจริยธรรม (Ethical Life) ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์ใช้ชีวิต และกระทำการต่าง ๆ ที่เป็นความดี ไม่ใช่เพียงเพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น หากแต่ด้วยความตระหนักรู้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมบางอย่างที่ใหญ่กว่าตัวเราเอง ซึ่งเป็นองค์รวมที่เกิดขึ้นจากการมีเจตจำนงร่วมกัน ที่เราไม่สามารถบรรลุได้ด้วยตัวเราเองคนเดียว เมื่ออยู่ในองค์รวมดังกล่าวนี้ เราจึงต้องมีหน้าที่บางอย่างที่จะต้องกระทำ เพื่อที่จะนำองค์รวมไปการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ นอกจากนี้ เราจะต้องมีความตระหนักรับรู้ว่าการกระทำใด ๆ ของเรา ในฐานะส่วนหนึ่งขององค์รวมไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในองค์รวมเดียวกันกับเราเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลถึงการบรรลุเจตจำนงขององค์รวมดังกล่าว และองค์รวมอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกันกับเราอีกด้วย การที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยมีความตระหนักรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์รวม และกระทำความดีเพื่อนำพาองค์รวมไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามเจตจำนงร่วมกันเช่นนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการใช้ชีวิตอยู่ใน ชุมชนที่มีจริยธรรม (Ethical Community)



เพื่อให้การอธิบายชัดเจน Hegel ได้เริ่มยกตัวอย่างจากองค์รวม หรือชุมชนที่มีจริยธรรมในรูปแบบที่ง่ายที่สุดที่มนุษย์ทุกคนต่างก็เป็นสมาชิกอยู่ นั่นก็คือองค์รวมที่เรียกว่า ครอบครัว (Family) เราทุกคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว และต่างก็มีสิทธิ หน้าที่ และบทบาทในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมเล็กๆ นี้แตกต่างกันไป เช่นเป็นพ่อ แม่ ลูก ทั้งนี้ Hegel ได้อธิบายโดยเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการมีครอบครัวคือ การแต่งงาน (marriage) การบริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัวร่วมกัน (The Family Capital) มาจนถึงการให้การศึกษาอบรมแก่บุตร และการที่คนเราต้องผละออกจากครอบครัวในที่สุด (The Education of Children and the Dissolution of Family)


จากองค์รวมที่เล็กที่สุด Hegel ได้นำเรามาสู่องค์รวมที่ใหญ่กว่า ซึ่งมนุษย์ที่ออกจากครอบครัวมาแล้ว จะได้มารวมตัวกันในฐานะปัจเจก (individual) ที่มีเสรีภาพ (ไม่มีใครบังคับให้มารวมตัวกัน) เพื่อการบรรลุถึงเจตจำนงร่วมกัน อันเป็นเจตจำนงที่เราไม่สามารถบรรลุได้โดยตัวเราคนเดียว หรือครอบครัวของเราครอบครัวเดียว หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือ กำลัง และความสามารถของคนอื่น ๆ ที่มีแตกต่างไปจากเรา ในการที่จะบรรลุถึงเจตจำนงดังกล่าว มนุษย์แต่ละคนจะต้องตระหนักรู้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมนี้ มีสิทธิ หน้าที่ และบทบาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมที่จะมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมาย การรวมตัวในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ประชาสังคม (Civil Society)


เนื่องจากการกระทำใด ๆ ก็ตามของเรา ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ร่วมในประชาสังคมเดียวกับเรา ตลอดจนการบรรลุเจตจำนงของประชาสังคม และการที่ประชาสังคมจะมีปฏิสัมพันธ์กับประชาสังคมอื่น ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดกฎหมาย (Law) และกลไกที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า ทุกคนที่อยู่ประชาสังคมจะต้องมีความตระหนักรู้ และทำหน้าที่ของตนเอง ในขณะเดียวกันก็จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น กลไกเหล่านี้ได้แก่ ศาลยุติธรรม (the Court of Justice) สันติบาล (Police) และบรรษัท (Corporation) ซึ่งจะได้อธิบายในรายละเอียดต่อไป


จากประชาสังคมเดี่ยว ๆ Hegel ได้นำเรามาสู่ความคิดที่ว่า ประชาสังคมต่าง ๆ ต่างก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งในการปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว ก็ย่อมมีความขัดแย้งจากความต้องการที่ไม่ตรงกัน การต่อรอง และการประสานประโยชน์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการวิพาษวิธี (Dialectic) เพื่อนำไปสู่การหลอมรวม / สังเคราะห์ (synthesis) เพื่อนำไปสู่การกำหนดเจตจำนงร่วมกันระหว่างประชาสังคมหลาย ๆ ประชาสังคม เป็นเจตจำนงในคุณภาพใหม่ ที่เรียกได้ว่าเป็น เจตจำนงสากล (Universal Will) อันจะนำทุก ๆ ประชาสังคม ตลอดจนกระทั่งทุก ๆ คนในประชาสังคมนั้น ๆ ไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน นั่นก็คือการทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงการมีสิทธิและเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น ตลอดจนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้อย่างเต็มที่ ตราบใดที่ยังคำนึงถึง และปฏิบัติตามหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์รวม เพื่อรักษาความเป็นองค์รวมนั้นไว้ให้ดำรงคงอยู่ และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น การรวมตัวโดยมีการกำหนดเจตจำนงสากลร่วมกันนี้เองที่ Hegel เรียกว่า รัฐ (State)




รัฐ (State) ในทัศนะของ Hegel : ความหมาย องค์ประกอบ และการบริหารจัดการองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในรัฐ



Hegel ได้เริ่มต้นคำอธิบายในเรื่องรัฐ โดยการให้คำจำกัดความเกี่ยวกับรัฐว่า :


“รัฐ คือรูปแบบที่ปรากฏออกมาให้เห็นเป็นจริงของ ความคิดเกี่ยวกับจริยธรรม (the actuality of the ethical Idea) กล่าวคือ มันเป็น จิตทางจริยธรรม (ethical mind) ในฐานะที่เป็นสิ่งแสดงถึงเจตจำนง ที่ปรากฏออกมาให้เราเห็นอย่างแจ่มชัดเป็นรูปธรรม มีความตระหนักรู้ในความมีอยู่จริงของตัวมันเอง สามารถคิดเพื่อตัวเอง และดำเนินการใดๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุสิ่งที่มันรู้ (ซึ่งก็คือเจตจำนงของรัฐ) เท่าที่มันรู้ได้ (เราจะมองเห็นว่า)รัฐปรากฏอยู่ในขนบธรรมเนียม (custom) ในความตระหนักรู้ในตัวตนของปัจเจก (individual self-consciousness) ในความรู้ และในกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่ความตระหนักรู้ในตัวตน ซึ่งมีความรู้สึกผูกพันอยู่กับรัฐนั้น จะเข้าถึงเสรีภาพที่เป็นจริงได้ในรัฐ ซึ่งเป็นทั้งสาระ จุดมุ่งหมาย และผลจากการกระทำของมันเอง .......... รัฐมีเหตุผลอย่างสมบูรณ์ตราบเท่าที่มันเป็นสิ่งแสดงออกของเจตจำนงที่เป็นรูปธรรม ซึ่งมีความตระหนักในตัวตนของตนเอง ว่า เป็นความตระหนักรู้ที่ถูกยกระดับขึ้นมา(จากความตระหนักรู้เฉพาะบุคคล หรือกลุ่มคน ซึ่งเป็นผลจากสิ่งที่ Hegel เรียกว่าเป็นเจตจำนงเฉพาะ หรือ particular Will) สู่ความเป็นสากล (universality) การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เป็นรูปธรรมนี้ เป็นจุดมุ่งหมายที่เป็นที่สุด และไม่แปรเปลี่ยน ที่เสรีภาพปรากฏออกมาให้เราเห็นได้ในรูปแบบของสิทธิอันสูงสุด ในอีกแง่หนึ่ง เราสามารถกล่าวได้ว่าจุดมุ่งหมายอันเป็นที่สุดนี้มีสิทธิอันสูงสุดเหนือกว่า(สิทธิของ)บุคคล ซึ่งมีหน้าที่อันสูงสุดเหนืออื่นใดในการเป็นสมาชิก(พลเมือง) ของรัฐ....”



จากข้อความในตอนนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า Hegel ไม่ได้มองว่ารัฐเป็นเพียงแค่การที่กลุ่มคน หรือประชาสังคมจำนวนมาก ๆ มารวมกัน เพียงเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการรักษาความปลอดภัย หรือเพียงแค่การปกป้องทรัพย์สิน หรือเสรีภาพของบุคคลเท่านั้น หากแต่เป็นผลมาจากกระบวนการวิพาษวิธี ที่ทำให้เกิดองค์รวมที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีเจตจำนงร่วมกันในคุณภาพใหม่ ในแง่นี้ รัฐจึงมีความแตกต่างจากประชาสังคม เพราะปัจเจกที่เข้ามาอยู่รวมกันเป็นรัฐนั้นถือว่าได้หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐไปแล้ว จึงไม่สามารถแยกตัวออกไปได้ง่าย ๆ เจตจำนง และเสรีภาพที่บุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นสมาชิกของรัฐมี ได้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในเจตจำนง และเสรีภาพของรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นเสรีภาพของสิ่งที่เป็นสากล (freedom of the universal) เป็นจุดมุ่งหมายของการดำเนินชีวิตอันเป็นหนึ่งเดียวของรัฐ ที่ Hegel เรียกว่าเป็น ชีวิตสากล (Universal life) ดังนั้น ทุกคนที่อยู่ในรัฐ จึงเปรียบเสมือนองคาพยพส่วนหนึ่งของรัฐ ที่จะต้องตระหนักรู้ และทำหน้าที่ของตนร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเจตจำนงอันนี้


จากความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของรัฐเช่นนี้ Hegel ได้นำเราไปสู่ความคิดเกี่ยวกับรัฐ (Idea of the State) ว่าจะต้อง

1) มีสิ่งแสดงออกที่ชัดเจน และแสดงถึงความเป็นรัฐที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีกลไกที่พึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับใคร ได้แก่ รัฐธรรมนูญ (Constitution ) หรือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitutional Law)


2) มีระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ๆ หนึ่ง กับรัฐอื่น ๆ ได้แก่ กฎหมายระหว่างประเทศ (international law)


3) (ความคิดเกี่ยวกับรัฐ – ไม่ใช่แค่รัฐใดรัฐหนึ่ง) เป็นแนวคิดอันเป็นสากล ถือว่าเป็นประเภทของสิ่ง ๆ หนึ่งที่มีอำนาจเหนือกว่ารัฐต่าง ๆ และเป็นจิต (mind) ที่มีอยู่จริงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ กระบวนการประวัติศาสตร์โลก ( the process of World-History)


ในแง่นี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ Hegel ได้ให้ความสำคัญกับ รัฐธรรมนูญ (Constitution) เป็นอย่างมาก โดยกล่าวว่า “… รัฐธรรมนูญของรัฐนั้น เหนือสิ่งอื่นใดแล้วย่อมถือว่าเป็นการวางระบบการบริหารจัดการของรัฐ และกระบวนการในการดำเนินชีวิตของรัฐ โดยมีการจำแนก และจัดสรรองค์ประกอบในตัวมันเองเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดัวยตนเอง นอกจากนี้ รัฐในฐานะที่เป็นปัจเจก มีความเป็นเอกลักษณ์ และมีความแตกต่าง(จากรัฐอื่น) ย่อมต้องมีความสัมพันธ์กับรัฐอื่น ๆ จึงต้องมีการจำแนกกิจกรรมที่ตนทำ(กับรัฐอื่น ๆ) และปรับตัวเองให้สอดคล้อง (กับรัฐอื่นๆ)...”


ตามความคิดของ Hegel รัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นระบบการบริหารจัดการของรัฐ เป็นสิ่งที่รัฐจะต้องมีอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้น รัฐก็จะเป็นรัฐอยู่ไม่ได้ เราจึงไม่ควรมองว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงสิ่งที่กลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะจัดทำหรือร่างขึ้นมาได้ การเขียนรัฐธรรมนูญออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร (รวมทั้งการฉีกทิ้ง / เขียนใหม่ / ปรับ / แก้ /ออกกฎหมายลูก ฯลฯ) ในแต่ละยุค / สมัย เป็นเพียงแค่การปรับเปลี่ยน (alter) ให้เข้ากับสถานการณ์ และชุดของเหตุผลที่อาจมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละยุคสมัยเท่านั้น


ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่มีเหตุผล และจากการที่รัฐธรรมนูญสามารถกำหนดอะไรต่าง ๆ ทั้งภายในรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐได้นี้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญ เป็นศูนย์รวมอำนาจของรัฐในฐานะที่เป็นองค์ทางการเมือง (political entity) และนำไปสู่ความคิดในการจัดสรรอำนาจของรัฐในรัฐธรรมนูญ ซึ่ง Hegel เสนอว่า ควรแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1)อำนาจที่จะกำหนด และสร้างสิ่งที่เรียกว่าเป็นสากลได้ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ (the Legislature)


อำนาจนิติบัญญัติถือว่าเป็นทั้งส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ และเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดให้มีโดยรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญมีความชัดเจน และมีการใช้ได้อย่างครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้นจากการที่มีการตรากฎหมายลูกต่าง ๆ ทั้งนี้ Hegel ได้แบ่งงานด้านนิติบัญญัติ (legislative business) ออกเป็นด้านหลัก ๆ 2 ด้าน ได้แก่ 1) การจัดสรรสวัสดิการต่าง ๆ โดยรัฐ (provision by the state) เพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนในรัฐ ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่าง ๆ และสิทธิชุมชน เป็นต้น 2) การกำหนดว่าคนมีหน้าที่จะต้องทำอะไรกลับคืนให้แก่รัฐ (the exaction of services from them) ได้แก่การเก็บภาษี

ผู้ที่มีอิทธิพลในการกำหนดอำนาจนิติบัญญัติ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติได้นั้น มีอยู่ 3 กลุ่มได้แก่ 1) กษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ครองอำนาจในการตัดสินใจสูงสุดของรัฐ 2) ฝ่ายบริหาร (the executives) ของรัฐ ที่ได้รับการคัดสรรมาให้เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของกษัตริย์ 3) ผู้แทนที่ทำหน้าที่แทนกลุ่มต่างๆ ในรัฐ (Estates) ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยง และประสานผลประโยชน์ / ความต้องการเฉพาะ (particular interest) ของกลุ่ม เข้าสู่ผลประโยชน์ / ความต้องการสากล (universal interest) ของรัฐ


สำหรับความคิดเห็นสาธารณะ (public opinion) นั้น Hegel เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรรับฟังไว้บ้าง เนื่องจากเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนโดยตรงได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นดังกล่าวมักเป็นความคิดที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรอง และไตร่ตรอง จึงไม่ควรนำมาใช้ในทันที และไม่ควรให้มีอิทธิผลต่ออำนาจนิติบัญญัติ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด


2) อำนาจที่จะรวบรวมกรณีย่อย ๆ ต่าง ๆ รวมทั้งอาณาบริเวณต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นสิ่งเฉพาะ (particularity) ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้สิ่งที่เป็นสากล (the universal) ได้แก่ อำนาจบริหาร (the Executives)


Hegel ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับอำนาจบริหารว่า ครอบคลุมถึงอำนาจในการตัดสินคดีความ (judiciary) และการดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง (police) โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้าราชการ (civil servants) เป็นผู้ใช้อำนาจนี้ มีหน้าที่ในการดูแลผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวมของทุกคนในรัฐ (the state’s universal interest) ซึ่งข้าราชการแต่ละคนก็จะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป และมีลำดับขั้นที่แตกต่างกัน ข้าราชการที่อยู่ในระดับสูง และเจ้าหน้าที่ปรึกษา (higher advisory officials) จะมีบทบาทหน้าที่ที่เชื่อมโยง และใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ ในขณะที่ข้าราชการระดับล่างลงมาก็จะใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า หน้าที่ของข้าราชการเป็นหน้าที่เฉพาะที่ระบุเอาไว้แล้ว ดังนั้นใครก็ตามที่มีความรู้ความสามารถ ก็สามารถสมัครเข้ารับราชการได้กันทุกคน


3) อำนาจในฐานะที่เป็นบุคคล ๆ หนึ่ง (the power of subjectivity) – เนื่องจาก Hegel ถือว่าประชาชน หรือสมาชิกในรัฐ ได้หลอมรวมจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปแล้ว บุคคลดังกล่าวนี้มีเจตจำนง ที่สามารถจะตัดสินใจได้ อำนาจอันนี้ได้แสดงออกมาในรูปของ กษัตริย์ (the Crown) หรือ สถาบันกษัตริย์ที่เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของอำนาจทั้งหลายในรัฐที่มาหลอมรวมกันอยู่ ณ จุด ๆ เดียว ซึ่งเป็นพื้นฐานที่มาของอำนาจทั้งหมดของรัฐ


Hegel ได้อธิบายถึงพัฒนาการของการจัดสรรอำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญว่า ในอดีตนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ อำนาจกษัตริย์ (Monarchy) อำนาจของขุนนาง (Aristocracy) และอำนาจของประชาชน (democracy) ซึ่งเป็นลักษณะของการแบ่งอำนาจออกเป็นส่วน ๆ และเฉลี่ยให้กับกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในสังคม ทำให้อำนาจของรัฐขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็มุ่งแต่ผลประโยชน์ของกลุ่มของตนเอง หากแต่ในรัฐสมัยใหม่ รัฐธรรมนูญได้รวบรวมอำนาจทั้งหมดไว้ และสะท้อนออกมาอยู่ในรูปของสถาบันกษัตริย์เพียงสถาบันเดียว ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ดี สถาบันกษัตริย์ในลักษณะนี้ไม่เหมือนกับสถาบันกษัตริย์แบบพ่อปกครองลูก (patriarchal) หรือแบบอื่น ๆ ในอดีต แต่เป็นสถาบันที่ได้รับการรับรองอำนาจ และใช้อำนาจนั้นได้ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ Hegel ได้รับแนวคิดนี้มาจาก Montesquieu และได้กล่าวว่า รูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ นับได้ว่าเป็นความสำเร็จของโลกสมัยใหม่ (Achievement of the modern world) เลยทีเดียว


Hegel เห็นว่ากษัตริย์เป็นสิ่งแสดงออกของอำนาจอธิปไตย (sovereignty) ของรัฐ กล่าวคือ การที่เรามีกษัตริย์ (เป็นคนตัวเป็น ๆ) ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐนั้นมีอยู่จริง และสามารถแสดงเจตจำนงได้ โดยถือว่าเป็นเจตจำนงของรัฐ ในแง่นี้ จึงเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะให้กษัตริย์มาจากการสืบสายเลือดแทนที่จะเป็นกษัตริย์จากการเลือกตั้ง (Elective Monarchy) ซึ่งจะทำให้กษัตริย์เป็นเพียงบุคคลที่ถูกเลือกขึ้นมาจากเจตจำนง / ความต้องการเฉพาะ (particular will) ของคนบางกลุ่ม และรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นเพียงสัญญาธรรมดา ๆ ที่ได้จากการทำความตกลงร่วมกันของคนที่มาเลือกตั้งในครั้งนั้น (Compact of Election) เท่านั้น


จากรัฐ ... สู่(กระบวนการ)ประวัติศาสตร์โลก : สงคราม (War) กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) และประวัติศาสตร์โลก (World - History)



เมื่อรัฐ ๆ หนึ่ง ซึ่งมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนสามารถเรียกได้ว่าเป็นบุคคล ๆ หนึ่ง ที่มีเจตจำนงเสรีเป็นของตนเอง ต้องเผชิญหน้ากับรัฐอีกรัฐ ซึ่งก็มีเจตจำนงของตนที่อาจไม่สอดคล้องกันบนเวทีโลก สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ก็คือ สงคราม (War) ในแง่นี้ Hegel จึงไม่ได้มองว่าสงครามเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย และไม่ได้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญแต่อย่างใด (เหมือนกับถ้าเราเดินตรง ๆ มาจากหัวถนน และมีใครอีกคนเดินตรง ๆ มาจากปลายถนน โดยที่ไม่ได้มีการตกลงกันไว้ก่อนว่าจะต้องหยุด หรือหลบให้กัน แต่ละคนต่างก็ตั้งใจแค่ว่าจะเดินไปให้สุดทาง ยังไงมันก็จะต้องชนกันอยู่แล้ว -- แบบนี้เขาไม่เรียกว่าเป็นอุบัติเหตุหรอกนะ) ในแง่หนึ่ง สงครามที่ประสบความสำเร็จ (successful war) อาจมองได้ว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่คนในชาติจะได้ตระหนักรู้ และแสดงออกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือแม้แต่การสละชีพเพื่อชาติ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นหน้าที่สากล (universal duty) ด้วย


หากรัฐต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยไม่ต้องการให้สงครามเกิดขึ้น ก็จะต้องมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกัน ที่ Hegel เรียกว่าเป็น กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) ซึ่งรัฐแต่ละรัฐ ในฐานะที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเปรียบเสมือนเป็นบุคคล ๆ หนึ่ง จะต้องมาทำความตกลงกันเป็นเรื่อง ๆ ไป และเนื่องจากไม่มีธรรมนูญ (constitution) หรือการจัดสรรแบ่งบันหน้าที่ใด ๆ ระหว่างรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมอะไร ข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐนี้ จึงจัดอยู่ในระดับของสัญญาประชาคมธรรมดา ที่เกิดจากเจตจำนงเฉพาะ (particular will) ไม่ใช่เจตจำนงสากล (universal will)


ในส่วนสุดท้ายของปรัชญาสิทธิ Hegel ได้กล่าวถึง ประวัติศาสตร์โลก (World – History) โดยกล่าวว่า พัฒนาการของรัฐต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นภายใน คือการปรับระบบการบริการจัดการ หรือภายนอกเช่นสงครามหรือการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประวัติศาสตร์โลก ซึ่งก็คือกระบวนการพัฒนาการเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงเสรีภาพของจิตของโลก (The world mind) หรือจิตสากล เหตุการณ์ และยุคสมัยต่าง ๆที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ต่างก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงตัวตนของเสรีภาพนี้ การที่แต่ละยุค / เหตุการณ์สิ้นสุดลงไปแต่ละครั้งนั้น ถือว่าเป็นการปฏิเสธ (rejection) ว่ามันยังไม่ใช่สิ่งแสดงออกที่ถูกต้อง และนำไปสู่การสร้างยุค / การเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงเสรีภาพของโลกได้ชัดเจนขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประวัติศาสตร์โลก จึงอาจเปรียบได้กับจิตที่ห่อหุ้มด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั่นเอง ...


อ้างอิง


1. Pelczynski, Z.A. (1971) “ The Hegelian Conception of the State.” In Hegel’s Political Philosophy edit by Z. A. Pelczynski. Cambridge: Cambridge University Press

2. Knox, T.M. (1973) “Translator’s Foreword”. In Hegel’s Philosophy of Right trans with notes by T.M. Knox. Oxford: Oxford University Press.

3. Hegel, G.W.F (1973) Hegel’s Philosophy of Right trans with notes by T.M. Knox. Oxford: Oxford University Press.


Create Date : 05 ธันวาคม 2550
Last Update : 5 ธันวาคม 2550 7:50:26 น. 1 comments
Counter : 4102 Pageviews.

 
อ่า บทความดีจัง


โดย: ตี๋ ธีรนร (tirannor ) วันที่: 5 ธันวาคม 2550 เวลา:11:36:57 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.