a whispering star
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




คุณแม่น้องเจเจ-จ๊ะจ๋าค่ะ ^^
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
2 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add a whispering star's blog to your web]
Links
 

 
What is Political Life ? คำถามที่ต้องตอบของปรัชญาการเมือง และประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง (4)

3.คำถามดังกล่าวนี้สำคัญอย่างไรต่อองค์ความรู้ที่เรียกว่า History of Political Thoughts และจากสายตาขององค์ความรู้ดังกล่าว จะมองและตอบคำถามเรื่อง What is Political Life ? อย่างไร


จากคำถามในข้อที่ผ่านมา เราพบว่า คำถามที่ว่า ชีวิตทางการเมืองคืออะไร (What is Political Life?) เป็นคำถามที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับคำถามว่า ปรัชญาการเมืองคืออะไร (What is Political Philosophy?) และองค์ความรู้ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของเป้าหมาย เนื่องจากทั้งชีวิตทางการเมือง และปรัชญาการเมือง ต่างก็มุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน อันได้แก่ชีวิตที่ดี สังคมที่ดี และความดีงามทางการเมืองที่สมบูรณ์ ซึ่งคำตอบในข้อนี้ ได้นำไปสู่คำถามต่อเนื่องว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว สำหรับองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง (History of Political Thoughts) ที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากองค์ความรู้ปรัชญาการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของเป้าหมาย หรือจุดมุ่งหมายในการศึกษาหาความรู้ คำถามว่าชีวิตทางการเมืองคืออะไรนี้ จะยังคงมีความสำคัญอยู่หรือไม่ อย่างไร และจากสายตาขององค์ความรู้ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง จะมองและตอบคำถามนี้อย่างไร


ในการตอบคำถามข้อนี้ เราควรจะได้มีการทำความเข้าใจเสียก่อนว่า องค์ความรู้ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองนั้นแตกต่างจากองค์ความรู้ปรัชญาการเมืองอย่างไร ? โดยก่อนอื่นอาจต้องเริ่มจากการแยกแยะว่า คำว่า ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง (History of Political Thoughts) นั้นประกอบด้วย 2 ส่วนคือคำว่า ประวัติศาสตร์ (history) ซึ่งหากเปรียบเทียบโดยใช้วิธีการเดียวกันกับที่ Strauss ใช้วิเคราะห์คำว่าปรัชญาการเมือง ก็น่าจะหมายถึงวิธีการในการศึกษา และคำว่า ความคิดทางการเมือง (political thoughts) ซึ่งน่าจะหมายถึงสิ่งที่นำมาศึกษาวิเคราะห์


ในบทความเรื่อง What is Political Philosophy? Strauss ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เราควรจะต้องแยกความแตกต่างระหว่าง ความคิดทางการเมือง (Political Thoughts) และ ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) ออกจากกัน โดยเสนอว่า “... สำหรับคำว่า ความคิดทางการเมืองนั้น เราเข้าใจว่าหมายถึงการสะท้อน หรือการแสดงออกถึงความคิด/ แนวคิดทางการเมือง (political ideas) และความคิด / แนวคิดทางการเมืองนั้น อาจหมายความรวมถึงภาพลวง ข้อสังเกต หรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในความคิดของเรา ที่มีพื้นฐานมาจากการเมือง ดังนั้น ปรัชญาการเมืองทั้งหมด (ในฐานะที่เป็นความคิดทางการเมืองที่ได้รับการเลือกสรรแล้วว่าถูกต้อง) จึงเป็น (หรือเคยเป็น) ความคิดทางการเมือง ในขณะที่ความคิดทางการเมืองไม่ใช่ว่าจะเป็นปรัชญาการเมืองไปเสียทั้งหมด ความคิดทางการเมืองนั้นไม่แยกระหว่างความคิดเห็นและความรู้ ในขณะที่ปรัชญาการเมืองมีความพยายามที่จะแทนที่ความคิดเห็นด้วยความรู้เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา...”


วิธีการศึกษาในรูปแบบประวัติศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร? สิ่งที่น่าสนใจสำหรับคำถามข้อนี้คือ วิธีการทางประวัติศาสตร์ เป็นวิธีการที่ Strauss เห็นว่าเป็นวิธีการที่ขัดแย้งกับวิธีการทางปรัชญาอย่างชัดเจน ซึ่งในประเด็นนี้ Strauss ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ในบทความเรื่อง Political Philosophy and History ว่า ปรัชญาการเมืองนั้นไม่ใช่วิชาด้านประวัติศาสตร์ กล่าวคือ คำถามในเชิงปรัชญา (philosophic question) เกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งในทางการเมือง ความดีงาม ความยุติธรรม และระเบียบแบบแผนที่ดีนั้น แตกต่างกันอย่างชัดเจนจาก คำถามในเชิงประวัติศาสตร์ (historical question) ที่มักจะเกี่ยวข้องกับปัจเจกบุคคล กลุ่มปัจเจกบุคคล ความสำเร็จ อารยธรรม หรือขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาอารยธรรมในบริบทเฉพาะบุคคล


จะเห็นได้ว่า คำถามเชิงประวัติศาสตร์นั้น ให้ความสำคัญ และเน้นบทบาทของ บริบท เป็นพิเศษ จึงทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่า การศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์นิยม (historicism) นั้น ก็คือการทำความเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการกระทำทางการเมืองการกระทำหนึ่ง ในฐานะที่เป็นผลผลิตของบริบทสถานการณ์ ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น การที่เราจะตัดสินว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง หรือการกระทำใดการกระทำหนึ่งนั้นดีงาม หรือถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่า สิ่งนั้น บุคคลผู้นั้น หรือการกระทำนั้น ๆ อยู่ในบริบทสถานการณ์ ช่วงเวลา หรือสถานที่ใด ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าดีงาม และถูกต้องเหมาะสมในบริบทแบบหนึ่ง อาจเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย ไม่ดี หรือไม่ถูกต้องเหมาะสมในอีกบริบทหนึ่งก็ได้ เช่น ในขณะที่การสละชีพของทหารหาญในสงครามระหว่างรัฐในยุคโรมันถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่และเป็นวีรบุรุษ สมควรได้รับการแตงบทกวีชื่นชมยกย่อง ในขณะที่การเสียชีวิตของทหารเพราะถูกรมแก๊สพิษในสงครามโลกครั้งที่1 กลับถูกมองว่าเป็นการสิ้นชีวิตที่น่าเวทนา


นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองได้อธิบายถึงความจำเป็นในการนำแนวทางการศึกษาในรูปแบบประวัติศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์นิยมมาใช้ในการศึกษาความคิดทางการเมืองว่า บริบททางประวัติศาสตร์นั้น ถือว่ามีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยให้เราเข้าใจแนวความคิด การตัดสินใจ การกระทำ ตลอดจนการใช้ภาษาในการสื่อสารความคิดของนักคิด และคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่มีความแตกต่างจากสังคมของผู้ที่ศึกษามาก ๆ หรือเป็นสังคมต่างยุค ต่างสมัย เช่น ในกรณีที่นักวิชาการ หรือนักเรียนนักศึกษาในสาขาวิชารัฐศาสตร์ในปัจจุบันต้องศึกษาแนวคิดของนักปรัชญาในยุคกรีกหรือโรมันโบราณ ทั้งนี้ เป็นเพราะมนุษย์ย่อมถูกให้ความหมาย และตัดสินว่าเป็นคนดีหรือไม่จากบริบทสังคมที่เขาอาศัยอยู่ อันได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และศาสนา เป็นต้น ซึ่งหากเราละเลยบริบทต่าง ๆ เหล่านี้ ในบางครั้งก็อาจทำให้เข้าใจผิดไปเป็นตรงกันข้าม เช่น การรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิของระบบวรรณะที่ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในปรัชญาฮินดู อาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดและไม่เป็นประชาธิปไตยในบริบทของตะวันตก


โดยพิจารณาจากแนวคิดดังที่กล่าวมานี้ องค์ความรู้ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง จึงน่าจะหมายถึง การศึกษา และพยายามทำความเข้าใจทั้งความคิดเห็นและความรู้เกี่ยวกับสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง (โดยไม่แบ่งแยกระหว่างความคิดเห็นและความรู้ – และเรียกรวม ๆ ว่าเป็น ‘ความคิดทางการเมือง’) ทั้งหมด โดยพิจารณาความถูกต้องและเหมาะสมตามบริบทที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การมองประเด็นใด ๆ จากมุมมองของแนวคิดประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง จึงต้องมีการพิจารณาบริบทที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยเป็นสำคัญ และการที่จะตอบคำถามใด ๆ ในทางการเมือง นักประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองจึงจะต้องมีความตระหนักอยู่เสมอว่า เราไม่สามารถสรุปเอาเองได้เลยว่า จะต้องมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียวเสมอไป


สำหรับคำถามเกี่ยวกับชีวิต และสังคมที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นคำถามหลักที่ปรัชญาการเมืองพยายามหาคำตอบ รวมทั้งเป็นเป้าหมายของปรัชญาการเมืองและชีวิตทางการเมืองด้วยนั้น Strauss กล่าวว่า แนวคิดเชิงประวัติศาสตร์นิยมนั้น ปฏิเสธคำถามเรื่องสังคมที่ดีที่เป็นหนึ่งเดียว (‘the’ good society) ซึ่งก็หมายความว่า ชีวิต และสังคมที่ดีในทัศนะของแนวคิดประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองนั้น อาจมีได้หลากหลายรูปแบบแตกต่างกันออกไป โดยไม่มีรูปแบบใดที่เหมาะสม ใช้ได้กับทุกสังคม ที่ถือว่าเป็นความดีทางการเมืองสูงสุดดังเช่นที่องค์ความรู้ปรัชญาการเมืองเชื่อ


เมื่อพิจารณาลักษณะขององค์ความรู้ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง ร่วมกับลักษณะของชีวิตทางการเมืองตามความหมายของ Strauss อาจทำให้เรามองเห็นมุมมองที่ขัดแย้งกันอยู่บ้างในทีแรก เนื่องจาก Strauss เห็นว่า ชีวิตทางการเมืองนั้นมุ่งเป้าไปที่ชีวิตที่ดี สังคมที่ดี และความดีงามทางการเมืองที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์ความรู้ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้าง และจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท อย่างไรก็ดี หากเราพิจารณาดูให้ดีอีกครั้ง จะเห็นได้ว่า องค์ความรู้ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง ในฐานะที่เป็นการศึกษาความรู้ และความคิดเห็นต่าง ๆ รวมทั้งบริบทของความรู้ และความคิดเห็นนั้น ๆ อันเป็นสิ่งที่มีผลกระทบ และอิทธิพลต่อการกระทำทางการเมืองต่าง ๆ ในสังคมใดสังคมหนึ่ง เพื่อที่จะนำไปสู่การตอบคำถามว่า การกระทำดังกล่าว หรือชีวิตทางการเมืองในบริบทเช่นนั้น จะนำไปสู่ ‘ชีวิตที่ดี หรือสังคมที่ดี’ ในรูปแบบใด และเพราะอะไรรูปแบบนั้น ๆ จึงถือว่าเป็นชีวิตและสังคมที่ดีในบริบทนั้น ๆ ก็อาจถือได้ว่า เป็นความพยายามที่จะตอบคำถามว่าชีวิตทางการเมืองคืออะไรได้เช่นกัน


สรุป


รายงานฉบับนี้ ได้พิจารณาถึงความสำคัญของคำถามที่ว่า ชีวิตทางการเมืองคืออะไร ? (What is Political Life?) ซึ่งเป็นคำถามหนึ่งที่เชื่อว่าน่าจะต้องเกิดขึ้นในใจของผู้ที่ได้อ่านบทความเรื่อง What is Political Philosophy? ของ Leo Strauss เป็นครั้งแรก และยังคงเป็นหนึ่งในคำถามอันเป็นอมตะในทางปรัชญาการเมือง ที่นักคิดผู้ทรงอิทธิพลหลาย ๆ ท่านได้พยายามหาคำตอบมาตั้งแต่ในอดีต มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน รวมทั้งความสำคัญของคำถาม และแนวทางในการมองและตอบคำถามดังกล่าวในมุมมองขององค์ความรู้ปรัชญาการเมือง และองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง
แม้ว่าในรายงานฉบับนี้ ข้าพเจ้าจะได้ให้ความหมายของคำว่าชีวิตทางการเมืองตามความเข้าใจของตนเองไว้ตั้งแต่ตอนต้นของรายงานเพื่อความสะดวกในการอ้างอิงถึงในภายหลัง รวมทั้งได้ข้อค้นพบจากการทำรายงานว่า ไม่ว่าเราจะมีชีวิตทางการเมืองตามธรรมชาติหรือไม่ จะเป็นผู้อาศัยอยู่ในรัฐ หรือปฏิเสธรัฐ หรือจะศึกษาวิชารัฐศาสตร์ด้วยมุมมองขององค์ความรู้แบบใดก็ตาม คำถามนี้ก็เป็นคำถามที่เราควรจะต้องตอบให้ได้ อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่งที่ได้จากการทำรายงานก็คือ สำหรับคำถามที่ว่า ชีวิตทางการเมืองคืออะไร? นี้ ดูเหมือนว่า ความพยายามที่จะตอบ จะมีความสำคัญมากกว่าคำตอบที่ถูกต้อง ของคำถาม ดังจะเห็นได้จากการที่นักคิดท่านต่าง ๆ รวมทั้งองค์ความรู้ทางด้านการเมืองในทั้ง 2 รูปแบบ ต่างก็มีแนวทางในการตอบคำถามนี้แตกต่างกันไป โดยไม่มีใครที่จะสามารถบอกได้ (และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบอก)ว่า คำตอบแบบไหนที่เรียกว่า ถูก หรือผิดสำหรับคำถามนี้


เราตอบคำถามว่า – ชีวิตทางการเมืองคืออะไร- เพื่ออะไร ? นักคิดแนวรัฐนิยมอาจตอบเพื่อยืนยันถึงความสำคัญของรัฐ ในขณะที่ผู้เชื่อในลัทธิอนาธิปไตยอาจตอบเพื่อยืนยันว่ารัฐนั้นเป็นความชั่วร้ายที่ไม่จำเป็น นักปรัชญาการเมืองอาจตอบเพื่อแสดงให้เห็นว่าชีวิตที่ดี สังคมที่ดี และความดีงามทางการเมืองที่สมบูรณ์นั้นเป็นมโนคติที่จำเป็น ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองอาจตอบเพื่อแสดงให้เห็นว่า ชีวิตที่ดีนั้นมีได้หลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามบริบท สิ่งที่สำคัญในการตอบคำถามข้อนี้ก็คือ มันเป็นการเปิดโอกาสให้นักคิด หรือเจ้าขององค์ความคิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ได้มีโอกาสแสดงให้เห็น รวมทั้งยืนยันความสำคัญ และความมีตัวตนของตนเองในโลกแห่งความรู้ทางการเมืองนั่นเอง



บรรณานุกรม


ไชยันต์ ไชยพร, รศ. ดร. (2548) “หน่วยที่ 2 แนวคิดทางการเมืองและสังคมของตะวันตก” ใน ประมวลสาระชุดวิชาแนวคิดทางการเมืองและสังคม หน่วยที่ 1-7. คณะกรรมการกลุ่มผลิตและบริหารชุดวิชาแนวคิดทางการเมืองและสังคม. บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

สมบัติ จันทรวงศ์, ดร. (2546) ปรัชญาการเมืองเบื้องต้น: บทวิเคราะห์โสเกรตีส. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

Barclay, Harold. (1982) People without Government: An Anthropology of Anarchy. London: Kahn & Averill.

Coleman, Janet. (2000) A History of Political Thoughts. London: Blackwell.

Graham, Robert.(1989) “The role of contract in anarchist ideology” in For Anarchism : History, Theory and Practice. Edited by David Goodway. London: Routledge.


Gildin, Hilail. (1989) “Introduction” in An Introduction to Political Philosophy: Ten Essays by Leo Strauss edited by Hilail Gildin. Detroit: Wayme State University Press.


Haworth, Alan. (2004) Understanding the Political Philosophers. London: Rouledge.

Hobbes, Thomas.(1985) Leviathan. Reprinted. London: Penguins.
Locke, John. (1690) Two Treatises of Government. Chapter II: Of the State of Nature.//www.fordham.edu/halsall/mod/1690locke-sel.html accessed 01/02/2550.


Strauss, Leo. (1973) “Political Philosophy and History” in What is Political Philosophy? And Other Studies. Westport, Connecticut: Greenwood Press, Inc.


_________________“What is Political Philosophy” in What is Political Philosophy? And Other Studies. Westport, Connecticut: Greenwood Press, Inc.


Wikipedia, the free encyclopedia. (2007) Anarchism. //en.wikipedia.org/wiki/Anarchism accessed 15/03/2550

___________________________. (2007) Anarchy. //en.wikipedia.org/wiki/Anarchy accessed 15/03/2550

___________________________. (2007) Leo Stauss. //en.wikipedia.org/wiki/Leo_Strauss accessed 28/3/2550



Create Date : 02 กรกฎาคม 2551
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 11:41:56 น. 9 comments
Counter : 5729 Pageviews.

 
ขอโทษนะค่ะ คือหนูอยากทราบประวัติทางการเมืองไม่ทราบว่าคุณได้เคยอ่านงาน Politics as a vocation ของ weber รึยัง ถ้าหากว่าเคยหนูขอรบกวนให้ช่วยสรุปให้หนูสักหน่อยได้ไหมค่ะ หนูได้ส่งอีเมลล์เข้าไปอีเมล์ของคุณแล้ว(จากที่ปรากฎอยู่ที่ profile ของคุณ) ผลเป็นอย่างไรกรุณาตอบกลับอีเมลล์หนูด้วยได้ไหมคะ
ขอบคุณค่ะ


โดย: เด็กน้อยชุดสีชมพู วันที่: 5 กรกฎาคม 2553 เวลา:0:00:47 น.  

 
พี่ไม่เห็นเมลของน้องเลยค่ะ ^^"

By the way พี่เคยอ่าน Politics as a vocation ของ webber เมื่อนานมาแล้ว ลืมไปหมดแล้วค่ะ สงสัยว่าจะช่วยอะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีคำถามอะไรที่คิดว่าพี่น่าจะพอช่วยได้ก็ลองถามมาแล้วกันนะคะ ^^

ปอลอ น้องเรียนอยู่ที่ไหนคะ


โดย: a whispering star วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:9:02:24 น.  

 
คือ หนูยังไม่เข้าใจระบบราชการ ของ weber หนูไม่เข้าใจว่า professional politician และ the ethic of ultimate ends คืออะไร เลยอะค่ะ

ปล. เรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ค่ะ

ขอบคุณที่ตอบข้อความของหนูนะค่ะ


โดย: เด็กน้อยชุดสีชมพู (เด็กน้อยชุดสีชมพู ) วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:59:20 น.  

 
Professional Politician = นักการเมืองอาชีพ คือ ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรอำนาจ และโครงสร้างอำนาจทางการเมือง Weber ใช้คำนี้เพื่อแยกนักการเมืองจากคนทั่วไป เพราะเขาถือว่า เราทุกคนย่อมต้องเป็นนักการเมืองกันในบางครั้ง (occational politician) เวลาที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดสรรอำนาจค่ะ เช่น เป็นคณะกรรมการตัดสินอะไรบางอย่าง หรือตัดสินใจในครอบครัว ในกลุ่มเพื่อน อะไรงี้

The ethics of ultimate ends ถ้าจำไม่ผิด น่าจะแปลว่า หลักการที่มุ่งจุดหมาย - บั้นปลายเป็นหลัก โดยไม่สนใจกระบวนการ (The end justifies the means = ถ้าผลที่ได้รับถูกต้อง จะด้วยวิธีการอะไรก็ไม่ต้องสนใจ) เช่น ถ้าทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองได้ แม้ว่าจะด้วยการทำรัฐประหารมา / ฆ่าคนมากมาย/ ไม่สนใจสิทธิมนุษยชน ก็ถือว่าเป็นผู้ปกครองที่ดีค่ะ

ส่วนเรื่องระบบราชการ พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะ แหะ แหะ ^^"


โดย: a whispering star วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:14:53:34 น.  

 
ขอบคุณพี่มากๆๆ เลยนะค่ะที่ตอบข้อสงสัยของหนู

หนูขอออกตัวก่อนเลยว่าหนูอ่าน Politics as a vocation ไม่จบเนื่องมาจากหนูไม่เก่งภาษาอังกฤษอะค่ะ...ทำให้หนูยังสงสัยอยู่ว่า Politics as a vocation (การเมืองในฐานะอาชีพ) weber ได้กล่าวว่าอย่างไรบ้างค่ะ

ขอบคุณค่ะ ^^

ปล.หนูขอโทษด้วยนะค่ะที่รบกวนเวลาของพี่แต่หนูไม่รู้จะทำยังไงดีแล้ว


โดย: เด็กน้อยชุดสีชมพู (เด็กน้อยชุดสีชมพู ) วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:20:45:07 น.  

 
อ่านเฉพาะตรง para ที่ขึ้นต้นว่า There are two ways of making politics one's vocation: Either one lives 'for' politics or one lives 'off' politics.... ก็น่าจะได้นะคะ

โดยสรุปคือ การที่คน ๆ หนึ่งใช้ชีวิตอยู่เพื่อ "การเมือง" (คือการจัดสรรอำนาจ -- ในตอนต้น ๆ weber จะอธิบายว่า การเมืองคืออะไร เกี่ยวข้องกับรัฐอย่างไรก่อน -- จึงจะมาถึงจุดนี้ เพราะงั้นถ้าอยากเข้าใจว่าการเมืองคืออะไรควรจะอ่านช่วงก่อนหน้านี้ค่ะ) หรือใช้ "การเมือง" เป็นที่มาของรายได้ในการยังชีพ -- ซึ่งคนที่จะทำอย่างนี้ได้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจและความคุ้นเคยในเรื่องของอำนาจเป็นอย่างดี -- เหมือนถ้าน้องจะทำการประมงเป็นอาชีพ น้องก็จะต้องรู้เรื่องปลาและทะเลเป็นอย่างดี อะไรงี้ -- ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การเมืองมักจะกลายมาเป็นอาชีพของชนชั้นนำที่มีความคุ้นเคยกับอำนาจอยู่ก่อนแล้วค่ะ -- เป็นคำอธิบายว่า ทำไมลูกชาวบ้านธรรมดา ตาสีตาสา จึงก้าวขึ้นสู่อาชีพทางการเมืองได้ยาก -- ตามความเข้าใจของพี่นะคะ

ช่วงหลัง ๆ จากนี้ จะเป็นการยกตัวอย่างของเยอรมัน น้องอ่านข้าม ๆ ไปบ้างก็น่าจะได้นะคะ ^^


โดย: a whispering star วันที่: 15 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:09:45 น.  

 
ขอบคุณพี่อีกครั้งนะค่ะ...ขอบคุณมากๆ


โดย: เด็กน้อยชุดสีชมพู (เด็กน้อยชุดสีชมพู ) วันที่: 15 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:55:10 น.  

 
พอดีเคยเรียนในวิชาความคิดทางการเมืองไทยน่ะค่ะ แต่ก็จำไม่ค่อยได้เหมือนกัน ไว้ว่าง ๆ จะเอาการบ้านที่ทำในวิชานั้นมาแปะไว้ให้ดูนะคะ (รู้สึกจะมีเรื่องนี้ด้วย) จะได้เป็นการแบ่งปันกัน

อ. ที่สอน(มาจาก ม. เกษตร) บอกว่าบทความเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักเรียนรัฐศาสตร์ควรจะได้อ่านค่ะ ^^


โดย: a whispering star วันที่: 15 กรกฎาคม 2553 เวลา:14:30:15 น.  

 
ขอบคุณอีกครั้งนะค่ะ...
บทความเรื่องนี้โหดน่าดูเลยอ่า


โดย: เด็กน้อยชุดสีชมพู (เด็กน้อยชุดสีชมพู ) วันที่: 15 กรกฎาคม 2553 เวลา:22:25:20 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.