ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ

เซียงยอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เซียงยอด's blog to your web]
Links
 

 

หมวดธงประจำพระองค์

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์


รูปที่ ๖ ธงจอมเกล้า


คือธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ เริ่มมีเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงพระราชดำริว่า เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคมีเรือขบวนหลายลำ คนทั่วไปไม่มีที่สังเกตว่าประทับอยู่เรือลำใด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำธงประจำพระองค์ขึ้น มีลักษณะคือพื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางธงเป็นรูปพระมหาพิไชยมงกุฎ มีเครื่องสูง ๗ ชั้นอยู่สองข้าง ใช้สำหรับชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่ง เป็นเครื่องหมายว่าเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำนั้น และโปรดเกล้าฯ ให้ชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวังด้วย เมื่อไม่ได้ประทับอยู่ในพระนครก็ลดธงสำหรับพระองค์ลง ชักธงไอยราพตขึ้นแทน ธงรูปพระมหามงกุฎนี้เรียกกันในขณะนั้นว่า “ธงจอมเกล้า” (รูปที่ ๖)


รูปที่ ๗ ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ หรือ ธงมหาราช


ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้ธงประจำพระองค์ คือ ธงจอมเกล้านี้ต่อมา โดยเพิ่มรูปโล่ตราแผ่นดินลงภายใต้พระมหาพิไชยมงกุฎด้วย ปรากฏลักษณะอยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยธงต่างๆ ฉบับแรกของไทย ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม รัตนโกสินศก ๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔) คือ พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางธงเป็นรูปโล่ตราแผ่นดินมีจักรและตรีไขว้กันอยู่บนโล่ มีพระมหาพิไชยมงกุฎสวมอยู่บนจักรและตรีอีกทีหนึ่ง สองข้างโล่เป็นรูปเครื่องสูง ๗ ชั้น ภายในโล่ตราแผ่นดินแบ่งออกเป็น ๓ ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพตสามเศียรบนพื้นเหลือง หมายถึงแผ่นดินสยามเหนือ กลางและใต้ ช่องล่างข้างขวาเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นชมพู หมายถึงประเทศลาว ช่องล่างข้างซ้ายเป็นรูปกริชสองอันไขว้กันบนพื้นแดง หมายถึงแผ่นดินฝ่ายมลายู มีแท่นรองรูปโล่และเครื่องสูง ๗ ชั้นพื้นเหลือง ธงนี้มีชื่อว่า “ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์” ใช้สำหรับชักขึ้นบนเรือพระที่นั่ง และชักขึ้นที่เสาในพระบรมมหาราชวังเมื่อเวลาเสด็จประทับอยู่ในพระนคร



ธงมหาราช

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้เปลี่ยนชื่อ ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ เป็น “ธงมหาราช” ส่วนลักษณะที่ปรากฏในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ นั้นยังคงเดิม ธงนี้เมื่อทหารคลี่เชิญไปในกระบวนใด เป็นที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั่น ในกรณีที่เป็นเรือพระที่นั่งหรือเรือรบ ต้องเชิญขึ้นบนเสาใหญ่เสมอ (รูปที่ ๗)

ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติธงออกประกาศใช้อีกฉบับหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘ แบบอย่างธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ยังคงใช้ธงมหาราชแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และคงใช้เรื่อยมาจนกระทั่งสิ้นรัชกาล

พ.ศ.๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙” ตามประกาศลงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓ มีผลใช้ยังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ (ขณะนั้นนับเดือนเมษายนเป็นเดือนเปลี่ยนศักราชใหม่) เป็นต้นไป และยกเลิกพระราชบัญญัติธงฉบับก่อนหน้านี้ทั้งหมด พระราชบัญญัติธงฉบับนี้ได้เปลี่ยนลักษณะธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ใหม่กำหนดเป็น ๒ ขนาด คือ ธงมหาราชใหญ่ และ ธงมหาราชน้อย

ธงมหาราชใหญ่


รูปที่ ๘ ธงมหาราชใหญ่


พื้นสีเหลือง ขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๓ ส่วน (รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส) ตรงกลางเป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดง ใช้เป็นธงประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อนายทหารคลี่เชิญไปในกระบวนใด เป็นที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนนั้น หรือเชิญขึ้นในที่แห่งใดก็เป็นที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าประทับอยู่ ณ เรือพระที่นั่งลำใด ให้เชิญธงมหาราชขึ้นไว้ที่ยอดเสาใหญ่เป็นเครื่องหมาย

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.๒๔๗๙ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน มีผลบังคับใช้เมื่อครบ ๓๐ วัน หลังจากประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เรียกว่า “พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙” พระราชบัญญัตินี้ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติธงก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น แต่ในหมวดธงหมายพระอิสริยยศนั้น ธงมหาราชใหญ่ยังมีลักษณะและการใช้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และยังคงใช้มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ (รูปที่ ๘)

ธงมหาราชน้อย


รูปที่ ๙ ธงมหาราชน้อย


ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนกับธงมหาราชใหญ่ กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ปลายกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น รวมทั้งธงมีความยาว ๑๔ ส่วน ชายธงตัดเป็นรูปแฉกอย่างหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่สองของด้านยาว ธงนี้ใช้สำหรับเชิญขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งลำใดลำหนึ่ง เช่นเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่ถ้าเวลาใดที่โปรดเกล้าฯ ให้ชักธงมหาราชน้อยแทนธงมหาราชใหญ่แล้ว ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวายคำนับ

ใน พ.ศ. ๒๔๗๙ เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติธงออกบังคับใช้ใหม่ ธงมหาราชน้อยยังมีลักษณะคงเดิม แต่ได้บอกขนาดไว้ชัดเจนคือ ตอนต้นกว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ส่วนยาวโดยตลอดเป็น ๘ เท่า ของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ของส่วนยาว การใช้ก็คงเดิม คือถ้าชักขึ้นแทนธงมหาราชใหญ่ หมายความว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดยิงสลุต (รูปที่ ๙)




ธงชัยราชกระบี่ยุทธ และธงชัยพระครุฑพ่าห์


รูปที่ ๑๐ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ



รูปที่ ๑๑ ธงชัยพระครุฑพ่าห์


นอกจากธงมหาราชแล้วยังมีธงที่ใช้เนื่องในองค์พระมหากษัตริย์อีก ๒ อย่าง คือ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ และธงชัยพระครุฑพ่าห์น้อย

ธงชัยราชกระบี่ยุทธ มีรูปวานรทรงเครื่องบนพื้นผ้าแดง
ธงชัยพระครุฑพ่าห์ มีรูปครุฑสีแดงบนพื้นผ้าเหลือง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๓ เนื่องจากเมื่อเสด็จไปทรงสมโภชพระปฐมเจดีย์ และพระราชมณเฑียร ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ในวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ราษฎรขุดได้แผ่นสัมฤทธิ์รูปกระบี่ ๑ รูป ครุฑ ๑ รูป ซึ่งเป็นของประจำธงชัยสำหรับกษัตริย์แต่โบราณ เจ้าพระยาศรีชัยชนินทร์ (ชม สุนทราชุน) เมื่อยังเป็นพระยาสุนทรบุรี สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงคิดเครื่องประกอบเป็นธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์น้อยขึ้น ให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเทียร (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้ตักทำให้ทันงานพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ในวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ซึ่งเป็นวังตั้งน้ำวงด้ายเริ่มการพระราชพิธี โปรดให้ตั้งราวไว้ข้างข้างพระแท่นมณฑลสำหรับจะได้เชิญขึ้นผูกเสาพระแท่นมณฑลเข้าพระราชพิธีพร้อมกับพระฤกษ์จุดเทียนชัย (ธงพระกระบี่ธุชพระครุฑพ่าห์ใหญ่ของเดิมผูกเสาหลัง สำหรับน้อยนี้ผูกเสาหน้า)

ธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์น้อยนี้ ภายในธงแนบผ้าขาวลงยันต์และอักษรตามแบบธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์ของเดิม พระครูสุทธธรรมสมาจารย์ วัดประดู่ ได้ทำพิธีลงยันต์และอักษรที่วัดตูม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คันธงใช้ไม้ชัยพฤกษ์ ยอดหอกคร่ำทองกาบธงผูกหางนกยูงเป็นรูปแพน สอดลงในแผ่นกระบี่และพระครุฑพ่าห์ของโบราณนั้นเหมือนกันทั้งคู่

เมื่อเสด็จพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เชิญธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์ไปถวายสมเด็จกรมพระวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อทรงจารึกแผ่นสัมฤทธิ์ด้านหลังรูปพระกระบี่และพระครุฑพ่าห์ สมเด็จกรมพระวชิรญาณวโรรสทรงประกอบพิธีจารึกคาถาภายในพระอุโบสถพระพุทธชินสีห์ พระสงฆ์สวดชัยมงคล มีโหรพราหมณ์และการประโคม เสร็จแล้วเจ้าพนักงานเชิญกลับพระมหาราชวัง
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชองครักษ์เชิญธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์น้อย นำเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนราบทหารบกธงพระกระบี่ธุชไปทางขวา ทหารเรือเชิญธงพระครุฑพ่าห์น้อยไปทางซ้าย แต่ถ้าเสด็จเป็นกระบวนรถม้าจึงให้ราชองครักษ์ทหารบกเชิญทั้งสองนาย (รูปที่ ๑๐, ๑๑)

ถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงวังได้กราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติระเบียบการเชิญธง โดยอ้างว่าสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานพระกระแสว่า ธงพระกระบี่ธุชควรอยู่ซ้าย ธงพระครุฑพ่าห์น้อยควรอยู่ขวาโดยถือหลักประเพณีเดิมซึ่งปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของโคลงพระราชพิธีทวาทศมาศ เมื่อความกราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่า เมื่อได้ความแน่ชัดถึงประเพณีเดิมแล้วก็ให้เปลี่ยนเสียให้ถูก กระทรวงวังจึงถือเป็นหลักปฏิบัติสืบมา และเรียกว่า “ธงชัยราชกระบี่ยุทธ” และ “ธงชัยพระครุฑพ่าห์”




ธงราชินี


รูปที่ ๑๒ ธงราชินี


เป็นธงประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีและพระอัครมเหสี เดิมใช้ธงพระเยาวราชธวัช ต่อมาเมื่อตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ ออกบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ แล้ว จึงมีธงประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีขึ้นเป็นครั้งแรก มีลักษณะ คือ พื้นนอกสีแดง ขนาดกว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกอย่างหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว พื้นในถัดมุมแฉกเข้ามาส่วนหนึ่งนั้นสีขาบ ขนาดกว้าง ๖ ส่วน ยาว ๘ ส่วน รูปเครื่องหมายในพื้นสีขาบเหมือนธงมหาราช คือ ตรงกลางเป็นรูปรูปโล่ตราแผ่นดินซึ่งแบ่งเป็น ๓ ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราสามเศียรอยู่บนพื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือ กลาง และใต้ ช่องบ่างขวาเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นชมพูหันหน้าเข้าข้างเสา เป็นสัญลักษณ์ถึงประเทศลาว ช่องล่างข้างซ้ายของโล่เป็นรูปกริชคดและตรงไขว้กันอยู่บนพื้นแดง เป็นสัญลักษณ์ของดินแดนฝ่ายมลายู เบื้องบนโล่มีรูปจักรและตรีไขว้กัน มีรูปพระมหาพิไชยมงกุฎอยู่เบื้องบน สองข้างโล่เป็นรูปเครื่องสูง ๗ ชั้นมีแท่นรองรับโล่และเครื่องสูงด้วย ธงนี้ใช้เป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์สมเด็จพระอัครมเหสี สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่ง ซึ่งสมเด็จพระอัครมเหสีได้เสด็จโดยพระอิสริยยศ เป็นที่หมายว่าได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ ขึ้นใช้ โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธงฉบับเก่า ในส่วนที่ว่าด้วยธงประจำพระองค์สมเด็จอัครมเหสีนั้น ยังคงใช้ธงราชินีและมีลักษณะเหมือนเดิมทุกประการ (รูปที่๑๒)

ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธงเดิมทั้งหมด และตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ ขึ้นใช้แทนเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระราชบัญญัติธงฉบับนี้ได้เปลี่ยนลักษณะธงประจำพระองค์สมเด็จพระราชินี และแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ



ธงราชินีใหญ่


รูปที่ ๑๓ ธงราชินีใหญ่


พื้นสีเหลือง ขนาดกว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว ที่กึ่งกลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดงเหมือนกับธงมหาราช ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งเมื่อเสด็จโดยพระราชอิสริยยศ ให้เป็นที่หมายว่าได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น (รูปที่ ๑๓)



ธงราชินีน้อย


รูปที่ ๑๔ ธงราชินีน้อย


พื้นสีเหลือง กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีชายต่อสีแดงเป็นรูปยาวเรียวปลายขนาดกว้างปลายธงเท่ากับครึ่งหนึ่งของความกว้างตอนต้น (๓๐ เซนติเมตร) ชายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว สัดส่วนอย่างอื่นเหมือนกับธงมหาราชน้อย ธงนี้ใช้แทนธงราชินีใหญ่ซึ่งที่โปรดเกล้าฯ มิให้มีการยิงสลุต (รูปที่ ๑๔)

ภายหลังพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ลักษณะธงราชินีใหญ่และราชินีน้อยที่ปรากฏในพระราชบัญญัติใหม่ยังคงเหมือนเดิมที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติเดิมทุกประการ และยังคงใช้ธงทั้งสองแบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน




ธงประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗


รูปที่ ๑๕
ธงประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗


สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ในระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทางใช้ธงราชินีเป็นธงประจำรถหรือเรือพระที่นั่ง

ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบันก็ยังคงมีสิทธิใช้ธงราชินีและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอื่นๆ เหมือนเดิมทุกประการ แต่ทรงพระราชดำริว่าซ้ำกับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่คนทั่วไป ดังนั้นจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ธงประจำพระองค์โดยเฉพาะ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕(1) มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีชมพูตามสีวันอังคารซึ่งเป็นวันพระราชสมภพ กลางธงปักอักษรพระปรมาภิไธยย่อ รพ. ไขว้กัน สีชมพูขลิบเขียว มีชฎาพระมหากฐินสีเหลืองอยู่เบื้องบน (รูปที่ ๑๕)




--------------เชิงอรรถ----------------

1) สำเนาหนังสือหม่อมเจ้าผ่องสัมผัสมณี จักรพันธุ์ ราชเลขานุการประจำพระองค์สมเด็จพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ถึงเลขาธิการพระราชวัง ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๒





 

Create Date : 25 มิถุนายน 2550    
Last Update : 30 มิถุนายน 2551 1:15:29 น.
Counter : 5782 Pageviews.  

ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติ

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ตั้งแต่สมัยที่ยังใช้ธงพื้นแดงนั้น ใช้ชักบนเรือสินค้าของราษฎรไทยทั่วไป ภายหลังเมื่อประกาศใช้ธงช้างเป็นธงชาติครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ส่วนใหญ่มักใช้ในเรือที่เดินทางค้าขายกับต่างประเทศ นอกจากนี้ก็มีการชักขึ้นตามป้อม วังเจ้านาย บ้านเรือนข้าราชการและราษฎร ร้านค้า และสถานีราชการ ตลอดจนใช้ประดับตกแต่งในงานพิธีต่างๆ ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวแต่อย่างใด จนกระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมีระเบียบเกี่ยวกับธงชาติออกประกาศใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๙ เรียกว่าระเบียบการชักธงชาติสยาม


ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๑๗-๒๐ บทบังคับทั่วไปได้กล่าวถึงระเบียบการชักธงชาติและข้อควรปฏิบัติต่อธงชาติ และในบทกำหนดโทษท้ายพระราชบัญญัติในมาตรา ๒๑-๒๓ ก็ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับมีทั้งปรับเป็นเงิน จำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ หนักเบาแล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำ



ต่อมาได้มีระเบียบการชัดธงชาติออกบังคับใช้ตามลำดับ คือ

๑.ระเบียบการชักธงชาติสยาม แก้ไขเพิ่มเติม (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ภาคที่ ๑ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ หน้า ๘๓๘)

๒.กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ หน้า ๑๑๙๓-๑๑๙๔)

๓.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการชักธงชาติสยาม ออกประกาศวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๔ ภาคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๐ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ หน้า ๖๖๗)

๔.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ ๔ เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ออกประกาศวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๒ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖ ภาคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๒ วันที่ ๙ กันยายน หน้า ๑๖๑๑) มีใจความโดยย่อว่า รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่าธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพจากชาวไทย ฉะนั้นเมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้นหรือลงจากยอดเสาตามสถานที่ราชการในเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลง ให้ทุกคนแสดงความเคารพตามระเบียบเครื่องแบบของตนหรือประเพณีนิยม เมื่อได้ยินเพลงชาติซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการ หรือบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรืออยู่ในวงงานนั้นแสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

๕.พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓ ตรา ณ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๔ ว่าด้วยข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติต่อธงชาติ ๖ ประการ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗ แผนกฤษฎีกา ภาค ๒ วันที่ ๑๕ ตุลาคม หน้า ๕๐๘-๕๑๓)

๖.ระเบียบการชักธงชาติ ออกประกาศวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ศกเดียวกันเป็นต้นไป (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗ พ.ศ. ๒๔๘๓ ภาค ๒ วันที่ ๓๑ ธันวาคม หน้า ๓๒๒๒-๓๒๒๘)

๗.พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๕ ตรา ณ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙ พ.ศ. ๒๔๘๕ แผนกฤษฎีกา ภาค ๑ ตอนที่ ๓๓ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม หน้า ๑๐๘๓-๑๐๘๕) มาตรา ๓,๔

๘.กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙ พ.ศ. ๒๔๘๕ แผนกฤษฎีกา ภาค ๑ หน้า ๑๐๘๖-๑๐๘๘)

๙.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๘ ออกประกาศวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นไป ให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ ออกประกาศวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ และฉบับวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖ กับบรรดาคำสั่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการชัดธงชาติและมีข้อความขัดกับประกาศฉบับนี้ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ พ.ศ. ๒๔๘๗ แผนกฤษฎีกา ภาค ๑-๒ ตอน ๗๒ วันที่ ๓๑ ธันวาคม หน้า ๑๒๙๐-๑๒๙๓)

๑๐.คำแนะนำในการปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบการชักธงชาติ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ พ.ศ. ๒๔๘๗ แผนกฤษฎีกา ตอนที่ ๗๙ วันที่ ๓๑ ธันวาคม หน้า ๑๒๙๔-๑๒๙๕)

๑๑.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๑ ประกาศวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ยกเลิกข้อความในข้อ ๘ แห่งระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๘ และใช้ข้อความตามที่แก้ใหม่ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ที่ ๖๕ พ.ศ. ๒๔๙๑ แผนกฤษฎีกา ตอนที่ ๕๙ วันที่ ๕ ตุลาคม หน้า ๕๙๘-๕๙๙)

๑๒.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๓ ออกประกาศวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๗ ภาค ๔พ.ศ. ๒๔๙๓ ตอนที่ ๖๗ วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ หน้า ๖๓๗๓-๖๓๗๔) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งแก้ไขข้อความในข้อ ๘ แห่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ. ๒๔๘๘ และแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใหม่

๑๓.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๔ ออกประกาศวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๘ ภาค ๒ เล่ม ๑ ตอนที่ ๔๔ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม หน้า ๒๘๐๙-๒๘๑๑) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งแก้ไขข้อความในข้อ ๘ แห่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ. ๒๔๘๘ และแก้ไขข้อความใหม่

๑๔.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแก้ไขการชักและประดับธงชาติในวันเฉลิมพระชนมพรรษา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๔ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๘ ภาค ๒ เล่ม ๓ ตอนที่ ๗๖ วันที่ ๑๘ ธันวาคม หน้า ๕๖๖๘)

๑๕.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๕ ออกประกาศวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๕๔ วันที่ ๙ กันยายน หน้า ๒๙๑๗-๒๙๑๙) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๔) แก้ไขข้อความใหม่

๑๖.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๐๑ ออกประกาศวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๕ ภาค ๒ เล่ม๑ ตอนที่ ๕๗ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม หน้า ๒๑๒๙-๒๑๓๐) ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๕) และแก้ไขข้อความใหม่

๑๗.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๓ ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๕๑ วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓ หน้า ๑๕๖๖) ยกเลิกข้อความในข้อ ๘ ซ.

๑๘.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๐๓ ลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๘๓ วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ หน้า ๒๑๔๐) แก้ไขข้อความในข้อ ๕ ข. ของประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธง พ.ศ. ๒๔๘๘

๑๙.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ มีข้อความแก้ไขข้อความในข้อ ๕ กำหนดเวลาชักธงขาติขึ้นลงแห่งระเบียบการชักธงชาติ พ.ศ. ๒๔๘๘ ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ปรับปรุงแก้ไขกำหนดเวลาการชักธงชาติขึ้นลงและการเคารพธงชาติใหม่ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเกิดความผูกพันทางจิตใจ และมีความตื่นตัวเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของบ้านเมืองยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษากันแล้วลงมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตึงดำเนินการแก้ไข และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกบังคับใช้ดังกล่าวมาแล้ว

ตามประกาศทั้งหลายดังกล่าว เป็นผลให้ประเทศไทยมีระเบียบว่าด้วยการชักธงชาติดังต่อไปนี้



การชักธงชาติในเวลาปกติ

๑. สถานที่และยานพาหนะของราชการฝ่ายทหาร ให้ชักธงชาติตามระเบียบ และข้อบังคับของทหาร
๒. สถานที่ราชการพลเรือนให้ชักธงชาติทุกแห่ง ถ้าในบริเวณเดียวกันมีสถานที่ราชการหลายแห่ง จะสมควรชักธงชาติ ณ ที่ใดให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าผู้ปกครองสถานที่นั้น
๓. โรงเรียนทุกประเภท ให้ชักธงชาติตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการได้วางไว้
๔. เรือเดินทะเล ให้ชักธงชาติไทยโดยปฏิบัติตามธรรมเนียมของชาวเรือที่นิยมกันอยู่ทั่วไป
๕. ที่สาธารณสถาน และสถานที่ของเอกชน ถ้าจะชักธงชาติ ให้ปฏิบัติตามระเบียบนี้ด้วยอนุโลม
๖. ยานพาหนะอย่างอื่นนอกจากที่ระบุไว้ข้างต้น ในเวลาปกติไม่ควรชักธงชาติ



กำหนดเวลาชักธงชาติขึ้นลง

๑. ให้กำหนดเวลาชักธงขึ้นสู่ยอดเสาเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา โดยใช้ชักธงขึ้นตามเสียงเพลงชาติที่บรรเลงต่อจากการเทียบเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
๒. สำหรับโรงเรียนทั้งของรัฐและโรงเรียนราษฎร์นั้นให้เลือกชักธงชาติได้ทั้งเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา หรือเวลาที่โรงเรียนเข้า ซึ่งอาจจะเป็นเวลาที่เลยจากเวลา ๘.๐๐ นาฬิกาไปแล้ว ทั้งนี้ให้ปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ หรือทบวงมหาวิทยาลัย
๓. ให้กำหนดเวลาเชิญธงชาติลงจากเสาเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา โดยฟังเสียงเพลงชาติจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือในเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกาตรง ตามเวลาของสถานที่นั้น ๆ ในกรณีที่ไม่มีเสียงวิทยุ สำหรับโรงเรียนให้ปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ หรือทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
๔. ให้สถานที่ราชการทุกแห่งเปิดวิทยุรับฟังเพลงชาติจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา และเชิญชวนให้ข้าราชการหยุดยืนเคารพธงชาติในเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ ให้สถานที่ราชการทุกแห่งมีและใช้ธงชาติที่มีสภาพดีและเรียบร้อย โดยไม่ปล่อยให้ธงชาติที่ใช้อยู่ในสภาพที่ขาดวิ่น หรือสีสันซีดจนมองไม่ออกว่าเป็นธงชาติไทย



การทำความเคารพในขณะชักธงชาติ

๑. ทหาร ให้ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของทหาร
๒. ให้ปฏิบัติตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการวางไว้ ดังนี้

(๑) การชักธงชาติขึ้นสู่เสาของสถานศึกษา ให้เชิญธงชาติขึ้นสู่เสาเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา หรือเวลาเข้าเรียนในตอนเช้า ตามความเหมาะสม ส่วนการลดธงลงในตอนเย็น ให้ลดธงลงในเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา
(๒) ให้นักเรียนร้องเพลงชาติในขณะชักธงชาติขึ้นสู่เสาด้วยตนเอง ห้ามใช้วิทยุหรือแผ่นเสียง แต่ถ้าสถานศึกษาจะใช้แตรวงบรรเลงประกอบการร้องของนักเรียนด้วยก็ให้กระทำได้
(๓) สำหรับการลดธงลงในตอนเย็นให้ฟังเสียงเพลงชาติจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และให้จัดครูเวรสองคนแต่งกายแบบสุภาพเป็นผู้ลดธงลง
(๔) สำหรับการเชิญธงชาติขึ้นสู่เสาเฉพาะภายในกระทรวงศึกษาธิการ จะมีการชักธงชาติเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา โยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะจัดเวรข้าราชการรับผิดชอบการชักธงเป็นประจำ ข้าราชการดังกล่าวขอให้แต่งกายสุภาพ และข้าราชการที่ได้ยินเสียงร้องเพลงชาติ หรือได้เห็นการชักธงชาติจะต้องหยุดทำความเคารพด้วย แม้กำลังนั่งอยู่ในรถก็ตาม การชักธงลงในตอนเย็นใช้เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา
สำหรับกรมพละศึกษาและกรมศิลปากร ให้ดำเนินการเช่นเดียวกัน(1)

๓. บุคคลนอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ ๑ และ ๒ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่ชักธง หรือเห็นหรือได้ยินสัญญาณการชักธง ให้แสดงความเคารพตามระเบียบการเคารพประเพณีนิยม จนเสร็จการชักธงชาติ



การลดธงชาติครึ่งเสา

กรณีที่จะชักธงชาติครึ่งเสาเป็นเวลานานเท่าไร ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป
วันพิธีที่ทำการชักธงและประดับธงชาติ

๑. วันขึ้นปีใหม่ วันที่ ๓๑ ธันวาคม และวันที่ ๑,๒ มกราคม ๓ วัน
๒. วันมาฆบูชา ๒ วัน
๓. วันจักรี วันที่ ๖ เมษายน ๑ วัน
๔. วันสงกรานต์ วันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายน ๓ วัน
๕. วันฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม ๑ วัน
๖. วันพืชมงคล ๑ วัน
๗. วันวิสาขบูชา ๑ วัน
๘. วันอาสาฬหบูชา ๑ วัน
๙. วันเข้าพรรษา ๑ วัน
๑๐. วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๑ วัน
๑๑. วันสหประชาชาติ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๑วัน
๑๒. วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕, ๖, ๗ ธันวาคม ๓ วัน
๑๓. วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ ๙, ๑๐, ๑๑ ธันวาคม ๓ วัน

นอกจากนี้สุดแต่ทางราชการจะประกาศให้ทราบ ส่วนงานพิธีอื่นๆ ตามประเพณีนิยม หากจะชักธงและประดับธงชาติก็ทำได้ แต่ต้องการกระทำไปด้วยความสุภาพ



ข้อแนะนำในการชักธงชาติ

๑.ขนาดธงชาติควรมี ๒ ขนาด ขนาดหนึ่งเป็นขนาดเล็กไว้ใช้ในวันปกติ และอักขนาดหนึ่งเป็นขนาดใหญ่ใช้ในวันพิธี
๒.เสาธงชาติ จะมีขนาดสูงต่ำใหญ่เล็กเพียงไร และควรจะอยู่ ณ ที่ใดให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ปกครองสถานที่จะพึงพิจารณาให้เหมาะสม เป็นสง่างามแก่อาคารสถานที่นั้นๆ
๓.การเก็บรักษาและเชิญธงชาติ เนื่องจากธงชาติเป็นสิ่งสำคัญแสดงถึงความเป็นเอกราชของประเทศ การเก็บรักษาหรือเชิญไปมา จำเป็นต้องกระทำด้วยอาการเคารพ คือต้องเก็บหรือวางธงชาติบนพาน มิใช่ถือไปมาด้วยมือ ผู้เชิญธงชาติต้องแต่งกายสุภาพ หรือถ้าเป็นข้าราชการก็ต้องแต่งเครื่องแบบให้ถูกต้อง(2)
๔. วิธีชักธงชาติ ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

๔.๑ ก่อนถึงกำหนดเวลาชักธงชาติขึ้น ให้เตรียมธงชาติผูกติดกับเส้นเชือกให้เรียบร้อย
๔.๒ เมื่อถึงกำหนดเวลา ให้คลี่ธงออกเต็มผืน แล้วค่อยๆ ดึงเชือกให้ธงขึ้นช้าๆ ด้วยความสม่ำเสมอและเส้นเชือกตึงจนถึงจุดยอดเสาธง แล้วผูกเชือกไว้ให้ตึงไม่ให้ธงลดต่ำลงมาจากเดิม
๔.๓ เมื่อชักธงลง ให้ค่อยๆ ดึงเชือกให้ลงช้าๆ ด้วยความสม่ำเสมอและเส้นเชือกตึงถึงระดับเดิมเมื่อชักขึ้น
๔.๔ ในกรณีที่มีเพลงบรรเลง หรือมีสัญญาณในการชักธงขึ้นหรือลง จะต้องชักธงขึ้นหรือลงให้ถึงจุดที่สุดพร้อมกับจบเพลงหรือสัญญาณนั้นๆ

๕.การชักธงชาติครึ่งเสา ในกรณีที่ทางราชการประกาศใช้ชักธงชาติครึ่งเสา ให้ปฏิบัติการในการชักธงขึ้นเช่นเดียวกับในข้อ ๔.๒ เมื่อธงถึงยอดเสาแล้วจึงลดมาโดยเร็วให้อยู่ในระดับความสูง ๒ ใน ๓ ส่วน และเมื่อจะลดธงลง ให้ชักขึ้นโดยเร็วจนถึงยอดเสาก่อน แล้วจึงลดลงตามที่กล่าวไว้ในข้อ ๔.๓



ข้อบังคับเกี่ยวกับธงชาติ

ภายในประเทศไทยใช้ชักได้แต่ธงชาติไทย ธงชาติของต่างประเทศชักได้ในกรณีต่อไปนี้
๑. ชักสถานทูต หรือสถานกงสุลตามธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ
๒. ชักธงบนเรือต่างประเทศ หรืออากาศยานต่างประเทศตามธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ
๓. ชักธงในโอกาสที่ประมุขแห่งรัฐหรือผู้แทนเดินทางมาเยือนประเทศไทย
๔. ชักในโอกาสที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง หรือในโอกาสที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พระราชบัญญัติธง ประกาศให้ชักได้ หรือในโอกาสที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
๕. การชักธงชาติในข้อ ๓,๔ ต้องชักตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง คือ

๕.๑ ต้องชักธงชาติไทยไว้กับธงต่างประเทศนั้นด้วย
๕.๒ ถ้าชักธงต่างประเทศ ประเทศเดียว ต้องให้ธงชาติไทยเคียงคู่อยู่ข้างขวาของธงชาติต่างประเทศ ดูจากภายในสถานที่ที่ชักธง
๕.๓ ถ้าชักธงชาติต่างประเทศมากกว่าประเทศเดียว ซึ่งรวมกับธงชาติไทยเป็นจำนวนคี่ต้องให้ธงชาติไทยอยู่กลาง
๕.๔ ถ้าชักธงชาติต่างประเทศมากกว่าประเทศเดียว ซึ่งรวมกับธงชาติไทยเป็นจำนวนคู่ต้องให้ธงชาติไทยอยู่กลางข้างขวา ดูจากภายในสถานที่ที่ชักธง
๕.๕ ธงชาติไทยที่ชักอยู่กับธงต่างประเทศนั้น ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่าธงต่างประเทศและต้องอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าธงชาติต่างประเทศที่ชักขึ้น ทั้งต้องมีลักษณะบริบูรณ์ ไม่ขาดวิ่นเลอะเลือน

๖. ข้อบังคับซึ่งกล่าวมานี้ ห้ามมิให้ใช้บังคับภายในห้องของบ้านหรือโรงเรียน
๗. ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการต่อไปนี้

๗.๑ ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ นอกจากที่อนุญาตไว้ใน พระราชบัญญัติธง หรือกฎหมายอื่น ลงบนธงชาติ
๗.๒ ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ ลงในแถบสีธงชาติโดยไม่ควร
๗.๓ ใช้ ชัก หรือ แขวนธงชาติ หรือแถบสีธงชาติที่ได้ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ อันต้องห้ามในข้อ ๗.๑ และ ๗.๒ ลงไว้ แม้ว่าจะเป็นรูปหรือเครื่องหมายที่ปรากฏหรือมีอยู่ก่อนวันประกาศใช้ พระราชบัญญัติธง
๗.๔ ใช้ ชัก หรือ แขวนธงชาติ หรือแถบสีธงชาติไว้ ณ สถานที่อันไม่สมควร หรือวิตถารวิธี
๗.๕ แสดงกิริยา วาจา หรืออาการอย่างหนึ่งอย่างใด หยาบคายต่อธงชาติหรือแถบสีธงชาติ
๗.๖ ประดิษฐ์สีธงชาติ หรือแถบสีธงชาติลง ณ สถานที่หรือสิ่งของใด ๆ โดยไม่สมควร หรือแสดงหรือใช้สถานที่หรือสิ่งของอันยังมีรูปธงชาติหรือแถบสีธงชาติ ซึ่งประดิษฐ์ลงไว้โดยไม่สมควรนั้น แม้ว่ารูปธงชาติหรือแถบสีธงชาติเช่นว่านั้นจะปรากฏหรือมีอยู่ก่อนวันใช้ พระราชบัญญัติธง



บทกำหนดโทษ
๑.ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในข้อบังคับ ๑-๕ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท จำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
๒.ผู้ใดชักธงชาติหรือแสดงธงอย่างในอย่างหนึ่งในพระราชบัญญัติ โดยไม่มีสิทธิ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท จำคุกไม่เกิน ๒ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
๓.ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งข้อ ๗ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ





-----------------------------
เชิงอรรถ
1) บันทึกที่ ศธ. ๐๒๐๑/๒๒๕๒๕ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ เรื่องการชักธงชาติไทย
2) มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ จากสำเนารายงานการประชุมอธิบดีเกี่ยวกับการชักธงชาติ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ กระทรวงศึกษาธิการ





 

Create Date : 17 มิถุนายน 2550    
Last Update : 30 มิถุนายน 2551 1:14:42 น.
Counter : 3624 Pageviews.  

ธงชาติ

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ตามหลักฐานต่างๆ ปรากฏว่าตั้งแต่สมัยโบราณไทยเรายังไม่มีธงชาติโดยเฉพาะ เมื่อเวลาจัดกองทัพไปทำสงคราม จะใช้ธงสีต่างๆ ประจำทัพเป็นเครื่องหมายทัพละสี ต่อมาเมื่อการเดินเรือค้าขายกับต่างประเทศทางตะวันตกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ใช้ธงสีแดงติดเป็นเครื่องหมายว่าเป็นเรือสินค้าของไทย จดหมายเหตุของชาวต่างประเทศกล่าวว่า ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีเรือฝรั่งเศสแล่นเข้ามาสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงป้อมของไทย ไทยชักธงชาติฮอลันดาขึ้นรับเรือฝรั่งเศส เพราะไม่มีธงชาติของตนเอง แต่เรือฝรั่งเศสไม่ยอมสลุตรับธงฮอลันดาเพราะเคยเป็นอริกันมาก่อน และถือว่าไม่ใช่ธงชาติไทย ฝ่ายไทยจึงแก้ไขโดยนำธงแดงขึ้นชักแทนธงชาติ เรือฝรั่งเศสจึงยอมสลุตคำนับ ตั้งแต่นั้นมาธงสีแดงจึงกลายเป็นธงชาติของไทยเรื่อยมา


รูปที่ ๑ ธงชาติสมัยแรก


ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังใช้ธงแดงเกลี้ยงชักเป็นเครื่องหมายประจำเรือค้าขายกับต่างประเทศอยู่ ธงแดงนี้ใช้ชักขึ้นทั้งในเรือหลวงและเรือราษฎร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎรควรมีเครื่องหมายให้เห็นแตกต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำรูปจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงเป็นเครื่องหมายใช้เฉพาะเรือหลวง ส่วนเรือการค้าของราษฎรทั่วไปยังคงใช้ธงแดงเกลี้ยงกันอยู่

ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ช้างเผือกสามเชือกซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรในเรือธงหลวงด้วย(1) สมัยนี้ธงเรือสินค้าของราษฎรก็ยังใช้ธงแดง

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตกใน พ.ศ.๒๓๙๘ มีเรือสินค้าของประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาเดินทางเข้ามาค้าขายมากขึ้น และมีสถานกงสุลตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สถานที่เหล่านั้นล้วนชักธงชาติของตนขึ้นเป็นสำคัญ จึงจำเป็นที่ไทยจะต้องมีธงชาติที่แน่นอน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ธงสีแดงซึ่งเรือสินค้าของไทยใช้กันอยู่นั้นซ้ำกับประเทศอื่น ยากแก่การสังเกต ไม่ควรใช้อีกต่อไป ควรจะใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดให้เอารูปจักรออกเสียเพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง




รูปที่ ๒ ธงช้างเผือก


ในระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงหลายครั้ง คือพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก ๑๑๖ และพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก ๑๑๘ ทุกฉบับได้ยืนยันถึงลักษณะของธงชาติว่าเป็นธงพื้นแดง กลางเป็นรูปช้างเผือกไม่ทรงเครื่องหันหน้าเข้าเสาทั้งสิ้น ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ไกลจะมีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการเท่าไร และรูปช้างเผือกที่อยู่กลางธงก็ไม่งดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๙ แก้ไขลักษณะธงชาติเป็น “ธงพื้นแดง กลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหลังเข้าเสา” ประกาศนี้ให้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๙ เป็นต้นไป (ขณะนั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นเดือนเริ่มศักราชใหม่) (รูปที่๓)




รูปที่ ๓ ธงชาติ พ.ศ. ๒๔๕๙


ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้มีการแก้ไขลักษณะธงชาติอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยได้ประกาศตนเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อรบกับเยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การประกาศสงครามครั้งนี้นับเป็นความเจริญก้าวหน้าขั้นหนึ่งของประเทศ สมควรจะมีสิ่งเตือนใจสำหรับวาระนี้ไว้ในภายหน้า สิ่งนั้นควรได้แก่ธงชาติ ทรงเห็นว่าลักษณะที่ได้แก้ไขไปแล้วใน พ.ศ.๒๔๕๙ นั้นยังไม่สง่างามพอ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เพิ่มแถบสีน้ำเงินขึ้นอีกสีหนึ่งเป็นสามสี ตามลักษณะธงชาติของนานาประเทศที่ใช้อยู่โดยมากในขณะนั้น เพื่อให้เป็นเครื่องหมายว่าประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อต่อต้านปราบปรามฝ่ายอธรรม อีกประการหนึ่งสีน้ำเงินก็เป็นสีประจำพระชนมวารเฉพาะพระองค์ด้วย จึงเป็นสีที่สมควรจะประกอบไว้ในธงชาติไทยด้วยประการทั้งปวง


รูปที่ ๔ ธงชาติแบบทดลอง

การเปลี่ยนธงชาติครั้งนี้ จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ซึ่งรับราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทในขณะนั้น ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนธงช้างเป็นธงแถบสี เพราะทรงเห็นความลำบากของราษฎรที่ต้องสั่งซื้อธงผ้าพิมพ์รูปช้างมาจากต่างประเทศ และบางครั้งเมื่อเกิดความสะเพร่าติดธงผิด รูปช้างกลับเอาขาชี้ขึ้นเป็นที่น่าละอาย หากเปลี่ยนเป็นธงแถบสี ราษฎรก็สามารถทำธงใช้เองได้ และจะช่วยขจัดปัญหาการติดผิดพลาด ได้ทรงพยายามเลือกสีที่มีความหมายทางความสามัคคีและมีความสง่างาม ก่อนออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ ได้ทรงทดลองใช้ธงริ้วขาวแดงติดอยู่ที่สนามเสือป่าหลายวัน(2) ภายหลังจึงตกลงพระทัยใช้สีน้ำเงินแก่เพิ่มขึ้นอีกสีหนึ่ง (รูปที่ ๔) การเพิ่มสีน้ำเงินนี้ปรากฏพระราชหัตถเลขาในบันทึกส่วนพระองค์ วันเสาร์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๖๐(3) ว่า ได้ทอดพระเนตรบทความแสดงความเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า “อแคว์ริส” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ได้ทรงแปลข้อความนั้นลงในบันทึกด้วย มีความโดยย่อว่า เพื่อนชาวต่างพระเทศของผู้เขียน (อแคว์ริส) ได้ปรารภถึงธงชาติแบบใหม่ว่ายังมีลักษณะไม่สง่างามเพียงพอ ผู้เขียนก็มีความเห็นคล้อยตามเช่นนั้น และเสนอแนะด้วยว่าริ้วตรงกลางควรจะเป็นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าเปลี่ยนตามนี้แล้วธงชาติไทยก็จะประกอบด้วยสีแดง ขาว น้ำเงิน มีสีเหมือนกับธงสามสีของฝรั่งเศส ธงยูเนียนแจ็คของอังกฤษ และธงดาวของอเมริกา ประเทศพันธมิตรทั้ง ๓ คงเพิ่มความพอใจประเทศไทยยิ่งขึ้นเพราะเสมือนกับยกย่องเขา ทั้งการที่มีสีของพระมหากษัตริย์ในธงชาติ ก็จะเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระองค์ในวาระที่ประเทศไทยได้ได้เข้าสู่เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เมื่อทรงทดลองวาดภาพธงสามสีลงในบันทึก ทรงเห็นว่างดงามดีกว่าริ้วขาวแดงที่ใช้กันอยู่ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยารามราฆพ (ขณะนั้นเป็นยังเป็นพระยาประสิทธิศุภการ) ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำแบบธงไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงเห็นชอบ รับสั่งว่าถ้าเปลี่ยนในขณะนั้นจะได้เป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระยาศรีภูริปรีชาร่างประกาศแก้แบบธงชาติ และได้ทรงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดีเพื่อฟังความเห็น ที่ประชุมลงมติเห็นชอบธงสามสีตามแบบที่คิดขึ้นใหม่

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ มีผลบังคับภายหลังวันออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ๓๐ วัน ลักษณะธงชาติมีดังนี้ คือ เป็นธงรูปสีเหลี่ยมรี ขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง ๑ ใน ๓ ของความกว้างของธงอยู่กลาง มีแถบสีขาวกว้าง ๑ ใน ๖ ของความกว้างของธงข้างละแถบ แล้วมีแถบแดงกว้างเท่ากับแถบขาวประกอบข้างนอกอีกข้างละแถบ และพระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์” (รูปที่ ๕) ส่วนธงรูปช้างกลางธงพื้นแดงของเดิมนั้นให้ยกเลิก ความหมายของธงไตรรงค์คือ สีแดงหมายถึงชาติและความสามัคคีของคนในชาติ สีขาวหมายถึงศาสนาซึ่งเป็นเครื่องอบรมสั่งสอนจิตใจให้บริสุทธิ์ สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ




รูปที่ ๕ ธงไตรรงค์


พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรงพระราชดำริว่า ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบธงชาติมาหลายครั้ง คือ จากธงพื้นแดงเกลี้ยงมาเป็นธงแดงมีช้างเผือกไม่ทรงเครื่องอยู่กลาง ธงพื้นแดงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นและธงไตรรงค์ แม้ว่าธงไตรรงค์จะให้ความสะดวกในการใช้และกรสร้างขึ้นใช้ แต่ธงไตรรงค์ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของต่างประเทศโดยทั่วไปอย่างแพร่หลายว่าเป็นธงชาติไทยเช่นธงช้าง นอกจากนี้ธงไตรรงค์ยังมีสีคล้ายกับธงชาติของบางประเทศและคล้ายกับสีของธงบริษัทต่างประเทศบางแห่ง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ผิดกับธงช้างซึ่งไม่ซ้ำกับธงชาติใดเลย เพื่อไม่ให้ต้องเปลี่ยนธงชาติบ่อยๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขาธิการบันทึกพระราชกระแสพระราชทานไปยังองคมนตรี ด้วยมีพระราชประสงค์จะทรงฟังความเห็นส่วนมากประกอบพระราชวินิจฉัย บันทึกฉบับนี้ลงวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๐ กำหนดให้องคมนตรีทั้งหลายทูลเกล้าฯ ถวายคามคิดเห็นภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่ได้รับบันทึก(4) มีข้อควรพิจารณาดังนี้

(๑) เลิกธงไตรรงค์แล้วใช้ธงช้างแทน
(๒) ใช้ธงช้างเป็นธงราชการ ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติ
(๓) ใช้ธงช้างเป็นธงราชการและธงชาติ ใช้ธงไตรรงค์เป็นสีสำหรับประเทศ คือ ใช้ตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริง เป็นต้น
(๔) ใช้ธงไตรรงค์ผสมกับธงช้างพื้นแดงเป็นธงเดียวกัน
(๕) คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติตามเดิมดังที่เป็นอยู่ขณะนั้น

เมื่อองคมนตรีได้ทำหนังสือแสดงความเห็นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ปรากฏว่า ความเห็นทั้งหมดแตกต่างกันและไม่ได้ชี้ขาดลงไป ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป ตามพระราชวินิจฉัยวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐

ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ตราพระราชบัญญัติธงเป็นฉบับแรกในรัชกาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ในส่วนที่ว่าด้วยธงชาตินั้นยังคงใช้ธงไตรรงค์ แต่ได้อธิบายลักษณะธงให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น คือ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง ๖ ส่วน ยาว ๙ ส่วน ด้านกว้าง ๒ ใน ๖ ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ (น้ำเงินเข้ม) ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ ๑ ใน ๖ ส่วนเป็นแถบสีขาว ต่อสีขาวออกไปทั้ง ๒ ข้างเป็นแถบสีแดง พระราชบัญญัติธงฉบับต่างๆ ที่ออกในสมัยต่อมา ไม่มีข้อความใดเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงชาติอีก ธงไตรรงค์จึงเป็นธงชาติไทยสืบมาจนปัจจุบัน



-----------------------
เชิงอรรถ
1) ข้อความในเรื่อง “อธิบายเรื่องธงไทย” พระนิพนธ์ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้เรือหลวงใช้ช้างเผือกในวงจักรสีขาวเติมลงกลางธงพื้นแดง ผิดกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติธง ซึ่งกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้ทำรูปจักรสีขาวลงกลางธงแดงใช้กับเรือหลวงก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงเติมรูปช้างเผือกลงในวงจักรสีขาว
2) อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จมื่น พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๖ องค์การค้าคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, ๒๕๑๒ เรื่อง “ เหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนธงชาติ” หน้า ๑-๓๐
3) พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ม.จ.ชัชชวลิต เกษมสันต์ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๗ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า ๑๙๔-๑๙๖
4) ประชุมกฏหมายประจำศก เล่ม ๔๐ กฎหมาย พ.ศ.๒๔๗๐ โรงพิมพ์เดลิเมล์, ๒๔๗๗ “บันทึกเรื่องธงชาติ” หน้าพิเศษ ๓๐๙-๓๑๑. และ “พระบรมราชวินิจฉัยเรื่องธงชาติ” หน้าพิเศษ ๓๑๒




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2550    
Last Update : 30 มิถุนายน 2551 1:14:32 น.
Counter : 10501 Pageviews.  

บทนำ

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธง ตามความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึงผืนผ้าที่มีสีและลวดลายต่างๆ ใช้เป็นเครื่องหมายบอกชาติ ตำแหน่งราชการ ใช้เป็นอาณัติสัญญาณตามแบบสากลนิยม และใช้เป็นเครื่องหมายเรือเดินทะเล หมู่คณะ สมาคม อาคารร้านค้า และอาณัติสัญญาณอื่นๆ

เชื่อกันว่าธงต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เดิมมีกำเนิดมาจากธงที่ใช้ในลัทธิพิธีทางศาสนาก่อน ขั้นแรกเป็นเครื่องหมายแสดงข้อธรรมหรือลัทธิพิธีที่กระทำ แล้วจึงกลายมาเป็นเครื่องบูชาซึ่งมีใช้กันอยู่แทบทุกศาสนา จากนั้นจึงเกิดธงสัญญาณ ธงประจำทัพ ธงประจำตัวบุคคล และธงชาติตามลำดับ



ในประเทศไทยยังมีประเพณีการใช้ธงเป็นเครื่องบูชาปรากฏอยู่ เข้าใจว่าคตินี้ได้แบบอย่างมาจากอินเดีย ประเทศอินเดียมีวัตถุที่นิยมใช้ในเครื่องบูชาสำหรับงานพิธี ๓ ชนิด คือ









ธงปลายเสา (ธชะ)

ธงปฏาก หรือธงตะขาบ หรือตุง

ธงราว (โตรณะ)



- ธชะ หรือ ธวชะ ได้แก่ธงผ้าหรือกระดาษรูปสี่เหลี่ยม หรือสามเหลี่ยม ใช้ปักบนปลายไม้หรือปลายเสา
- ปฏากะ หรือ ปตากา ได้แก่ธงปฏากหรือธงตะขาบ คือวัตถุเป็นแผ่นใช้ห้อยลงโดยผูกติดกับปลายไม้หรือปลายเสา
- โตรณะ ได้แก่ธงราวสามเหลี่ยม ทำด้วยกระดาษ ใบมะม่วง หรือใบโศก ใช้โยงผูกระหว่างเสา ๒ ต้นหรือขึงที่ข้างฝา ยางทีก็ใช้โยงลงมาติดกับวัตถุที่บูชาเช่นเดียวกับการขึงสายสิญจน์ผูกติดกับองค์พระพุทธรูปของไทย

บางนิกายยังถือว่าธงเครื่องประดับบูชาทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นเครื่องหมายแสดงขอบเขตของตัวคนด้วย โดยเปรียบเทียบดังนี้ ส่วนสูงตั้งแต่คอขึ้นไปเป็นธชะหรือธวชะ ส่วนต่ำตั้งแต่คอลงมาถึงเท้าเป็นปฏากะหรือปตากา ส่วนกว้างคือแขนที่กางออกไปสองข้างเป็นโตรณะ การตกแต่งพิธีบูชาด้วยธงทั้งสามอย่างนี้ จึงเท่ากับนำตัวเองเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพิธีนั้น เพื่อความสวัสดีมีชัย



อักษรเทวนาครีเขียนคำว่า โอมฺ ตามแบบอินเดียฝ่ายเหนือ

ธงไทยที่ใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้แก่ธงปฏากหรือธงตะขาบ หรือเรียกตามภาษาท้องถิ่นภาคเหนือว่า “ตุง” ชาวอินเดียใช้ธงปฏากะประกอบพิธีบูชาเทพเจ้า ใช้ผ้าหรือกระดาษรูปสีเหลี่ยมผืนผ้า ปลายเป็นแฉกบ้าง ปลายแหลมบ้าง หรือสามเหลี่ยมบ้าง ที่เบื้องบนเขียนอักษรว่า “โอมฺ” บ้าง เขียนเป็นรูปเทพเจ้าบ้าง หรือบางครั้งก็ไม่ได้เขียนอะไรเลย สีธงนิยมใช้สีสมมุติตามสีกายของเทพเจ้า หรือตามสีวันทั้ง ๗ เวลามีการบูชาจะปักธงปฏากผืนใหญ่ไว้กลางพิธีมณฑล ผู้พบเห็นจะรู้จากสีของธงปฏากทันทีว่าเทพเจ้าองค์ใด ถ้าเป็นพิธีทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันใช้ธง ๖ สีตามฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้า ในประเทศจีนและธิเบตก็ใช้ธงปฏากในพิธีทางพุทธศาสนาเช่นกัน

เวลามีการบำเพ็ญกุศลในวัด ไทยจะใช้ธงปฏากผืนใหญ่ยาว ๓ หรือ ๔ วาห้อยไม้ลำใหญ่ปักไว้หน้าวัด นอกจากนั้นยังใช้ธงปฏากเขียนรูปจระเข้ผูกติดไว้ที่หน้าวัดหลังจากพิธีทอดกฐินแล้ว และเขียนรูปพระพุทธรูป พุทธประวัติ เจดีย์ เลขยันต์ต่างๆ เช่น ที่เรียกว่า “พระบฏ” ห้อยไว้บูชาอีกด้วย ธงปฏากหรือตุงนี้ทางภาคเหนือนับถือกันมาก งานพิธีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามักใช้ตุงประดับเป็นพื้น ตุงดังกล่าวทำด้วยผ้าบ้าง ทำด้วยเส้นด้ายขึงดอกสลับสีกันเป็นลายต่างๆ บ้าง ตามวัดสำคัญๆ ที่หน้าวิหารหรือในวิหารหน้าพระประธานมักมีตุงทำด้วยไม้สลักเป็นรูปพญานาค ๒ ตัวเกี่ยวพันกันเป็นกรอบนอกของตุง ติดไว้ข้างประตูวิหารหรือตั้งเสาไว้หน้าพระประธาน วันนักขัตฤกษ์เช่นวันสงกรานต์มักมีตุงขนาดเล็กทำด้วยกระดาษยาวประมาณ ๖-๑๐ นิ้ว หรือเล็กกว่านี้ ผู้ติดต้นไม้และปักประดับไว้ตามพระเจดีย์ทรายจำนวนมาก พิธีเทศน์มหาชาติก็ใช้ธงเป็นเครื่องบูชา และในการนำศพไปป่าช้าของภาคเหนือก็ใช้ตุงกระดาษสาขนาดยาว ๑ ศอก ทำเหมือนรูปคน ถือนำศพ นอกจากทำด้วยไม้ กระดาษ และผ้าแล้ว พังพบตุงที่ทำด้วยวัสดุมีค่าอื่นๆ เช่น เงินและทองอีกด้วย ธงจึงรวมอยู่ในเครื่องบูชาทางศาสนาของไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ถือปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นประเพณี



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่าธงที่มีลักษณะเป็นแบบไทยแท้มี ๓ ลักษณะ คือ

- ธง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีต่างๆ บางผืนก็ลงยันต์ใช้สำหรับนำขบวนต่าง ๆ เช่น แห่เข้าพิธีตรุษ เป็นต้น
- ธงชัย เป็นรูปสามเหลี่ยมตัดทแยงมุมทำนองเดียวกับธงมังกรของจีน ผิดกันแต่ที่ของจีนเอาด้านยาวไว้ข้างล่างและมีครีบเป็นรูปเปลวตลอดผืน ส่วนของไทยเอาด้านยาวไว้ข้างบน ครีบทำเพียง ๓ หรือ ๕ ชาย ใช้สำหรับทำขบวนขนาดใหญ่ เช่น ขบวนเสด็จพยุหยาตรา เป็นต้น ธงกระดาษที่ใช้ประดับตกแต่งในพิธีทางศาสนาก็ทำเป็นรูปธงชัย
- ธงปฏาก หรือ ธงจระเข้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แขวนห้อยลงโดยใช้ทางด้านกว้างผูก ใช้เป็นเครื่องบูชาอย่างเดียว ไม่ใช้นำขบวนแห่ ที่เรียกว่าธงจระเข้เพราะทำด้วยผ้าขาวเขียนรูปจระเข้



การถวายธงเป็นเครื่องบูชาพิธีทางศาสนา มีคำถวายธงดังนี้

มยํ ภนฺเต อิมานิ ธชปฏาเกน รตนตฺตยํ อภิปูเชม อยํ ธชปฏาเกน รตนปูชา อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย สํวตฺตุ

นอกจากธงในพิธีทางศาสนาแล้ว ประเทศไทยสมัยโบราณไม่มีการกำหนดระเบียบ หรือแบบแผนอย่างการใช้ธงไว้อย่างแน่นอน แต่ใช้วิธีจดจำกันต่อๆ มา(1) เพิ่งจะมีระเบียบแน่นอนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง สมัยแรก ๆ ยังมีธงไม่กี่ประเภทจึงแม้แต่พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ใช้ธงนั้นๆ ในกรณีใดบ้าง เป็นต้นว่าใช้ธงพื้นแดงเป็นธงชาติ และใช้ธงแดงมีรูปจักรสีขาวตรงกลางเป็นธงเรือหลวง ต่อมาเมื่อกำหนดแบบอย่างธงไว้ใช้มากขึ้น จึงเกิดความจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อกำหนดแบบอย่างและระเบียบการใช้ธงแต่ละประเภทให้แน่นอน ประชาชนทั่วไปจะได้ยึดถือปฏิบัติให้ถูกต้องพร้อมเพรียงโดยทั่วกัน เริ่มมีพระราชบัญญัติธงออกประกาศบังคับใช้เป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ “พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม” ซึ่งตราเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๑๐ หรือ พ.ศ.๒๔๓๔ ภายหลังได้มีธงประเภทต่าง ๆ ตามมา เพื่อความเหมาะสมกับกาลสมัย พระราชบัญญัติธงฉบับหลังสุดก็คือ “พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๕” ซึ่งตราเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ อันเป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แต่แบบอย่างธงต่างๆ ส่วนมากที่ใช้ในปัจจุบันยึดถือตามความในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ธงที่ใช้กันแพร่หลายนั้นอาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ธงในพระราชบัญญัติประเภทหนึ่ง และธงนอกพระราชบัญญัติอีกประเภทหนึ่ง ธงในพระราชบัญญัติหมายถึงธงซึ่งกำหนดลักษณะและวิธีใช้ไว้ในพระราชบัญญัติธง ธงนอกพระราชบัญญัติคือธงที่หน่วยงานราชการหรือเอกชนสร้างขึ้นใช้ โดยได้รับการอนุญาตจากทางราชการ ทั้งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏชื่ออยู่ภายในพระราชบัญญัติธงฉบับใดเท่านั้น



พระราชบัญญัติธงเป็นกฎหมายบ้านเมืองอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในพระราชบัญญัติธงฉบับต่าง ๆ ดังนี้

๑. ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๔- ๒๔๔๒ ไม่มีการแต่งตั้งหน่วยงานราชการใดโดยเฉพาะ แต่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยราชการซึ่งต้องใช้ธง เป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโดยเคร่งครัด หากหน่วยงานราชการหรือเอกชนใดต้องการเพิ่มตราอย่างใดลงในธง เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายเฉพาะของตนต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต โดยประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงถือว่าใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย

๒. ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๗๘ กระทรวงทหารเรือมีหน้าที่เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติธง หากหน่วยงานราชการหรือเอกชนใดต้องการสร้างธงเป็นเครื่องหมายของตน อันนับว่าเป็นธงนอกพระราชบัญญัติ ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพร้อมด้วยแบบธงเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้แจ้งแก่กระทรวงทหารเรือทราบเพื่อลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน

๓. ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นต้นมา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศ เป็นเจ้าหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติธง มีอำนาจออกกฎกระทรวง หรือตั้งเจ้าพนักงานกระทำการอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัติธง กฎกระทรวงเหล่านี้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ หน่วยราชการหรือเอกชนที่ต้องการธงเป็นเครื่องหมาย ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทราบก่อน เมื่อได้รับอนุญาตและจดทะเบียนถูกต้องเป็นทางราชการแล้ว จึงใช้ได้ตามกฎหมาย



-------เชิงอรรถ-------

(1) ในสมุดภาพริ้วขบวนพยุหยาตราเพชรพวง รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา มีธงชัย ๙ ชาย และ ๖ ชาย สมุดภาพตำรานี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อุปนายกหอพระสมุดวชิรญาณ โปรดให้จำลองจากต้นฉบับของ ม.จ.ปิยะภักดีนาถ ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ห้องหนังสือตัวเขียน ชั้น ๔ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร




 

Create Date : 12 เมษายน 2550    
Last Update : 30 มิถุนายน 2551 1:14:23 น.
Counter : 6121 Pageviews.  

ข้อแถลงก่อนอ่าน!!!

ข้อความในหน้านี้ ข้าพเจ้าคัดลอกมาจากหนังสือ "ธงไทย" ของ ฉวีงาม มาเจริญ จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2520 (ภายหลังกรมศิลปากรได้ปรับปรุงและจัดพิมพ์ใหม่ในชื่อ "ธงไทย เล่ม 1" และจะมีการจัดพิมพ์ "ธงไทย เล่ม 2" ซึ่งเป็นฉบับที่เพิ่มเติมข้อมูลจากเล่ม 1 ในอนาคตอันใกล้นี้) ซึ่งถือได้ว่าเป็หนังสือคู่มือหลักในการศึกษาเรื่องธงต่างๆ ของไทยอีกเล่มหนึ่ง นอกจากพระอธิบายเรื่องธงไทยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (สามารถอ่านพระอธิบายได้ที่ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&group=9)


ท่านสามารถหาอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ตามห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ และในหอสมุดแห่งชาติ

อนึ่ง ภาพประกอบในหมวดหมู่นี้ข้าพเจ้าของลงตามภาพที่ปรากฎในหนังสือไว้ทุกประการ แม้บางภาพข้าพเจ้าได้สอบทานกับคำบรรยายในหนังสือแล้วจะพบว่า มีการตีพิมพ์ภาพประกอบผิดไปจากที่บรรยายบ้างก็ตาม เพื่อให้หลักฐานที่คัดลอกมาตรงตามต้นฉบับเดิม




 

Create Date : 12 เมษายน 2550    
Last Update : 17 มิถุนายน 2550 20:07:35 น.
Counter : 944 Pageviews.  

1  2  3  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.