ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ

เซียงยอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เซียงยอด's blog to your web]
Links
 

 
หมวดธงแผ่นดิน

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธงไอยราพต


รูปที่ ๒๙ ธงไอยราพต


ธงประจำแผ่นดินหมายถึงธงประจำแผ่นดินพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างธงรูปพระมหามงกุฎขึ้นเป็นธงประจำพระองค์ และชักขึ้นที่เสาในบรมมหาราชวังเวลาเสด็จประทับอยู่ในพระนคร ภายหลังเมื่อไม่ได้เสด็จประทับอยู่ในพระนครต้องลดธงประจำพระองค์ลง เสาธงว่างอยู่เป็นการไม่สมควร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำธงไอยราพตอย่างพระราชลัญจกรไอยราพตประจำแผ่นดินขึ้น สำหรับชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวังในเวลาที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ในพระนคร

ลักษณะธงเป็นธงพื้นแดง มีรูปช้างไอยราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา มีบุษบกประดิษฐานอุณาโลมตั้งอยู่บนหลัง และมีเครื่องสูง ๗ ชั้น อยู่ทางหน้าและหลัง ข้างละ ๒ องค์ ธงไอยราพตนี้ได้ใช้ต่อมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ (รูปที่ ๒๙)



พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงลักษณะธงไอยราพตเล็กน้อย พระราชทานนามใหม่ว่า “ธงจุฑาธิปไตย” ใช้เป็นธงประจำแผ่นดิน ดังปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ข้อ ๒ ดังนี้




ธงจุฑาธิปไตย


รูปที่ ๓๐ ธงจุฑาธิปไตย


พื้นสีแดง มีรูปช้างไอยราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา มีบุษบกอยู่บนหลัง ภายในบุษบกมีอักษร จปร. หมายถึงจุฬาลงกรณบรมราชาธิราชไขว้กัน และมีรูปจุลมงกุฎหรือพระเกี้ยวยอดอยู่เหนืออักษรพระนาม ด้านหน้าและด้านหลังข้างมีเครื่องสูงข้างละ ๒ องค์ ธงจุฑาธิปไตยนี้ใช้สำหรับชักขึ้นในพระนครเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และใช้เป็นราชธวัชสำหรับพลหลวงที่เรียกว่าทหารกรมต่างๆ ถ้าทหารกรมหนึ่งกรมใดจะไปราชการสงคราม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินในกองทัพนั้น ต้องใช้ธงนี้เป็นที่หมายสำคัญแทนพระองค์ หรือเวลาที่ออกยืนแถวรับเสด็จหรือเวลาเจ้านายต่างประเทศเสด็จ ให้เป็นเกียรติยศ (รูปที่ ๓๐)

ธงจุฑาธิปไตยนี้ใช้ต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงเปลี่ยนไปใช้ธงไอยราพตเป็นธงแผ่นดินตามแบบรัชกาลที่ ๔ ความใน พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ มาตรา ๔ ข้อ ๒ ใช้สำหรับชักขึ้นในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จประทับอยู่ในพระนคร พระราชบัญญัติธง ซึ่งตราขึ้นหลังจากนี้ ๒ ปีก็ยังคงใช้ธงไอยราพตเป็นธงแผ่นดินเช่นกัน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาธงแผ่นดินขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ธงมหาไพชยนต์ธวัช”




ธงมหาไพชยนต์ธวัช


รูปที่ ๓๑ ธงมหาไพชยนต์ธวัช


มีลักษณะพื้นนอกสีแดง พื้นในสีดำ กลางธงมีรูปพานแว่นฟ้าสองชั้นรองรับวชิราวุธ มีฉัตร ๕ ชั้นสองข้าง เหตุที่สร้างธงนี้ด้วยทรงพระราชปรารภว่า รูปครุฑสัมฤทธิ์หุ้มทองของโบราณที่ขุดได้ ณ ตำบลโคกพระ ในดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนยุรี ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีน นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงเมืองปราจีน ในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น เป็นโบราณวัตถุที่สันนิษฐานว่าจะเป็นยอดธงสำหรับนำทัพของพระราชาธิบดีในสมัยโบราณ การที่มีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวายก็นับว่าเป็นวิ่งประกอบสวัสดิด้วยมงคล และธงจุฑาธุชธิปไตยอันเป็นธงสำคัญสำหรับประจำกองทัพบกนั้น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างขึ้นบรรจุเส้นพระเจ้า (ผม) แล้วพระราชทานไว้เพื่อประจำกองทัพบกสืบมา เป็นประเพณีอันดีงามควรที่จะปฏิบัติตามพระบรมชนกนาถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมรูปครุฑโบราณนั้นให้งดงามเพื่อติดบนยอดคันธง และโปรดให้ปักธงเป็นธงลายเหมือนพระราชลัญจกรประจำพระองค์ บนพื้นดำทับบนพื้นแดงอีกทีหนึ่ง พระราชทานนามว่า “ธงมหาไพชยนต์ธวัช” ตามนามแห่งธงท้าวอมรินทราธิราช ซึ่งได้ใช้นามเทพเสนาไปปราบอสูรเหล่าร้ายพ่ายแพ้แก่พระบารมี ใช้เป็นธงประจำกองทัพบกเพิ่มขึ้นอีกธงหนึ่ง อย่างธงจุฑาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รูปที่ ๓๑)



ธงประจำแผ่นดินของไทยมีเพียง ๓ รัชกาลดังกล่าวมาแล้ว หลังจากรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังไม่ปรากฏว่ามีธงประจำแผ่นดินอีก





Create Date : 06 สิงหาคม 2550
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 14:30:28 น. 1 comments
Counter : 3229 Pageviews.

 
มาติดตามให้กำลังใจอยู่เช่นเดิมครับ คุณ เซียงยอด


โดย: กัมม์ วันที่: 17 สิงหาคม 2550 เวลา:16:38:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.