ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ

เซียงยอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เซียงยอด's blog to your web]
Links
 

 
บทนำ

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธง ตามความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึงผืนผ้าที่มีสีและลวดลายต่างๆ ใช้เป็นเครื่องหมายบอกชาติ ตำแหน่งราชการ ใช้เป็นอาณัติสัญญาณตามแบบสากลนิยม และใช้เป็นเครื่องหมายเรือเดินทะเล หมู่คณะ สมาคม อาคารร้านค้า และอาณัติสัญญาณอื่นๆ

เชื่อกันว่าธงต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เดิมมีกำเนิดมาจากธงที่ใช้ในลัทธิพิธีทางศาสนาก่อน ขั้นแรกเป็นเครื่องหมายแสดงข้อธรรมหรือลัทธิพิธีที่กระทำ แล้วจึงกลายมาเป็นเครื่องบูชาซึ่งมีใช้กันอยู่แทบทุกศาสนา จากนั้นจึงเกิดธงสัญญาณ ธงประจำทัพ ธงประจำตัวบุคคล และธงชาติตามลำดับ



ในประเทศไทยยังมีประเพณีการใช้ธงเป็นเครื่องบูชาปรากฏอยู่ เข้าใจว่าคตินี้ได้แบบอย่างมาจากอินเดีย ประเทศอินเดียมีวัตถุที่นิยมใช้ในเครื่องบูชาสำหรับงานพิธี ๓ ชนิด คือ









ธงปลายเสา (ธชะ)

ธงปฏาก หรือธงตะขาบ หรือตุง

ธงราว (โตรณะ)



- ธชะ หรือ ธวชะ ได้แก่ธงผ้าหรือกระดาษรูปสี่เหลี่ยม หรือสามเหลี่ยม ใช้ปักบนปลายไม้หรือปลายเสา
- ปฏากะ หรือ ปตากา ได้แก่ธงปฏากหรือธงตะขาบ คือวัตถุเป็นแผ่นใช้ห้อยลงโดยผูกติดกับปลายไม้หรือปลายเสา
- โตรณะ ได้แก่ธงราวสามเหลี่ยม ทำด้วยกระดาษ ใบมะม่วง หรือใบโศก ใช้โยงผูกระหว่างเสา ๒ ต้นหรือขึงที่ข้างฝา ยางทีก็ใช้โยงลงมาติดกับวัตถุที่บูชาเช่นเดียวกับการขึงสายสิญจน์ผูกติดกับองค์พระพุทธรูปของไทย

บางนิกายยังถือว่าธงเครื่องประดับบูชาทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นเครื่องหมายแสดงขอบเขตของตัวคนด้วย โดยเปรียบเทียบดังนี้ ส่วนสูงตั้งแต่คอขึ้นไปเป็นธชะหรือธวชะ ส่วนต่ำตั้งแต่คอลงมาถึงเท้าเป็นปฏากะหรือปตากา ส่วนกว้างคือแขนที่กางออกไปสองข้างเป็นโตรณะ การตกแต่งพิธีบูชาด้วยธงทั้งสามอย่างนี้ จึงเท่ากับนำตัวเองเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพิธีนั้น เพื่อความสวัสดีมีชัย



อักษรเทวนาครีเขียนคำว่า โอมฺ ตามแบบอินเดียฝ่ายเหนือ

ธงไทยที่ใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้แก่ธงปฏากหรือธงตะขาบ หรือเรียกตามภาษาท้องถิ่นภาคเหนือว่า “ตุง” ชาวอินเดียใช้ธงปฏากะประกอบพิธีบูชาเทพเจ้า ใช้ผ้าหรือกระดาษรูปสีเหลี่ยมผืนผ้า ปลายเป็นแฉกบ้าง ปลายแหลมบ้าง หรือสามเหลี่ยมบ้าง ที่เบื้องบนเขียนอักษรว่า “โอมฺ” บ้าง เขียนเป็นรูปเทพเจ้าบ้าง หรือบางครั้งก็ไม่ได้เขียนอะไรเลย สีธงนิยมใช้สีสมมุติตามสีกายของเทพเจ้า หรือตามสีวันทั้ง ๗ เวลามีการบูชาจะปักธงปฏากผืนใหญ่ไว้กลางพิธีมณฑล ผู้พบเห็นจะรู้จากสีของธงปฏากทันทีว่าเทพเจ้าองค์ใด ถ้าเป็นพิธีทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันใช้ธง ๖ สีตามฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้า ในประเทศจีนและธิเบตก็ใช้ธงปฏากในพิธีทางพุทธศาสนาเช่นกัน

เวลามีการบำเพ็ญกุศลในวัด ไทยจะใช้ธงปฏากผืนใหญ่ยาว ๓ หรือ ๔ วาห้อยไม้ลำใหญ่ปักไว้หน้าวัด นอกจากนั้นยังใช้ธงปฏากเขียนรูปจระเข้ผูกติดไว้ที่หน้าวัดหลังจากพิธีทอดกฐินแล้ว และเขียนรูปพระพุทธรูป พุทธประวัติ เจดีย์ เลขยันต์ต่างๆ เช่น ที่เรียกว่า “พระบฏ” ห้อยไว้บูชาอีกด้วย ธงปฏากหรือตุงนี้ทางภาคเหนือนับถือกันมาก งานพิธีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามักใช้ตุงประดับเป็นพื้น ตุงดังกล่าวทำด้วยผ้าบ้าง ทำด้วยเส้นด้ายขึงดอกสลับสีกันเป็นลายต่างๆ บ้าง ตามวัดสำคัญๆ ที่หน้าวิหารหรือในวิหารหน้าพระประธานมักมีตุงทำด้วยไม้สลักเป็นรูปพญานาค ๒ ตัวเกี่ยวพันกันเป็นกรอบนอกของตุง ติดไว้ข้างประตูวิหารหรือตั้งเสาไว้หน้าพระประธาน วันนักขัตฤกษ์เช่นวันสงกรานต์มักมีตุงขนาดเล็กทำด้วยกระดาษยาวประมาณ ๖-๑๐ นิ้ว หรือเล็กกว่านี้ ผู้ติดต้นไม้และปักประดับไว้ตามพระเจดีย์ทรายจำนวนมาก พิธีเทศน์มหาชาติก็ใช้ธงเป็นเครื่องบูชา และในการนำศพไปป่าช้าของภาคเหนือก็ใช้ตุงกระดาษสาขนาดยาว ๑ ศอก ทำเหมือนรูปคน ถือนำศพ นอกจากทำด้วยไม้ กระดาษ และผ้าแล้ว พังพบตุงที่ทำด้วยวัสดุมีค่าอื่นๆ เช่น เงินและทองอีกด้วย ธงจึงรวมอยู่ในเครื่องบูชาทางศาสนาของไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ถือปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นประเพณี



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่าธงที่มีลักษณะเป็นแบบไทยแท้มี ๓ ลักษณะ คือ

- ธง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีต่างๆ บางผืนก็ลงยันต์ใช้สำหรับนำขบวนต่าง ๆ เช่น แห่เข้าพิธีตรุษ เป็นต้น
- ธงชัย เป็นรูปสามเหลี่ยมตัดทแยงมุมทำนองเดียวกับธงมังกรของจีน ผิดกันแต่ที่ของจีนเอาด้านยาวไว้ข้างล่างและมีครีบเป็นรูปเปลวตลอดผืน ส่วนของไทยเอาด้านยาวไว้ข้างบน ครีบทำเพียง ๓ หรือ ๕ ชาย ใช้สำหรับทำขบวนขนาดใหญ่ เช่น ขบวนเสด็จพยุหยาตรา เป็นต้น ธงกระดาษที่ใช้ประดับตกแต่งในพิธีทางศาสนาก็ทำเป็นรูปธงชัย
- ธงปฏาก หรือ ธงจระเข้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แขวนห้อยลงโดยใช้ทางด้านกว้างผูก ใช้เป็นเครื่องบูชาอย่างเดียว ไม่ใช้นำขบวนแห่ ที่เรียกว่าธงจระเข้เพราะทำด้วยผ้าขาวเขียนรูปจระเข้



การถวายธงเป็นเครื่องบูชาพิธีทางศาสนา มีคำถวายธงดังนี้

มยํ ภนฺเต อิมานิ ธชปฏาเกน รตนตฺตยํ อภิปูเชม อยํ ธชปฏาเกน รตนปูชา อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย สํวตฺตุ

นอกจากธงในพิธีทางศาสนาแล้ว ประเทศไทยสมัยโบราณไม่มีการกำหนดระเบียบ หรือแบบแผนอย่างการใช้ธงไว้อย่างแน่นอน แต่ใช้วิธีจดจำกันต่อๆ มา(1) เพิ่งจะมีระเบียบแน่นอนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง สมัยแรก ๆ ยังมีธงไม่กี่ประเภทจึงแม้แต่พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ใช้ธงนั้นๆ ในกรณีใดบ้าง เป็นต้นว่าใช้ธงพื้นแดงเป็นธงชาติ และใช้ธงแดงมีรูปจักรสีขาวตรงกลางเป็นธงเรือหลวง ต่อมาเมื่อกำหนดแบบอย่างธงไว้ใช้มากขึ้น จึงเกิดความจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อกำหนดแบบอย่างและระเบียบการใช้ธงแต่ละประเภทให้แน่นอน ประชาชนทั่วไปจะได้ยึดถือปฏิบัติให้ถูกต้องพร้อมเพรียงโดยทั่วกัน เริ่มมีพระราชบัญญัติธงออกประกาศบังคับใช้เป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ “พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม” ซึ่งตราเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๑๐ หรือ พ.ศ.๒๔๓๔ ภายหลังได้มีธงประเภทต่าง ๆ ตามมา เพื่อความเหมาะสมกับกาลสมัย พระราชบัญญัติธงฉบับหลังสุดก็คือ “พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๕” ซึ่งตราเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ อันเป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แต่แบบอย่างธงต่างๆ ส่วนมากที่ใช้ในปัจจุบันยึดถือตามความในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ธงที่ใช้กันแพร่หลายนั้นอาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ธงในพระราชบัญญัติประเภทหนึ่ง และธงนอกพระราชบัญญัติอีกประเภทหนึ่ง ธงในพระราชบัญญัติหมายถึงธงซึ่งกำหนดลักษณะและวิธีใช้ไว้ในพระราชบัญญัติธง ธงนอกพระราชบัญญัติคือธงที่หน่วยงานราชการหรือเอกชนสร้างขึ้นใช้ โดยได้รับการอนุญาตจากทางราชการ ทั้งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏชื่ออยู่ภายในพระราชบัญญัติธงฉบับใดเท่านั้น



พระราชบัญญัติธงเป็นกฎหมายบ้านเมืองอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในพระราชบัญญัติธงฉบับต่าง ๆ ดังนี้

๑. ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๔- ๒๔๔๒ ไม่มีการแต่งตั้งหน่วยงานราชการใดโดยเฉพาะ แต่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยราชการซึ่งต้องใช้ธง เป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโดยเคร่งครัด หากหน่วยงานราชการหรือเอกชนใดต้องการเพิ่มตราอย่างใดลงในธง เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายเฉพาะของตนต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต โดยประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงถือว่าใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย

๒. ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๗๘ กระทรวงทหารเรือมีหน้าที่เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติธง หากหน่วยงานราชการหรือเอกชนใดต้องการสร้างธงเป็นเครื่องหมายของตน อันนับว่าเป็นธงนอกพระราชบัญญัติ ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพร้อมด้วยแบบธงเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้แจ้งแก่กระทรวงทหารเรือทราบเพื่อลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน

๓. ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นต้นมา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศ เป็นเจ้าหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติธง มีอำนาจออกกฎกระทรวง หรือตั้งเจ้าพนักงานกระทำการอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัติธง กฎกระทรวงเหล่านี้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ หน่วยราชการหรือเอกชนที่ต้องการธงเป็นเครื่องหมาย ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทราบก่อน เมื่อได้รับอนุญาตและจดทะเบียนถูกต้องเป็นทางราชการแล้ว จึงใช้ได้ตามกฎหมาย



-------เชิงอรรถ-------

(1) ในสมุดภาพริ้วขบวนพยุหยาตราเพชรพวง รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา มีธงชัย ๙ ชาย และ ๖ ชาย สมุดภาพตำรานี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อุปนายกหอพระสมุดวชิรญาณ โปรดให้จำลองจากต้นฉบับของ ม.จ.ปิยะภักดีนาถ ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ห้องหนังสือตัวเขียน ชั้น ๔ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร




Create Date : 12 เมษายน 2550
Last Update : 30 มิถุนายน 2551 1:14:23 น. 0 comments
Counter : 5806 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.