ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ

เซียงยอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เซียงยอด's blog to your web]
Links
 

 
หมวดธงประจำกอง

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธงชัยเฉลิมพล



รูปที่ ๓๒ ธงชัยเฉลิมพลในรัชกาลที่ ๕

สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม พ.ศ. ๒๔๓๔ (ร.ศ. ๑๑๐) เป็นธงพื้นสีต่างๆ ตามแต่ทหารจะเห็นสมควร ที่มุมธงข้างบนมีแพรแดงเป็นรูปธงโตหนึ่งในหกส่วนของธงใหญ่ มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่พื้นธงนอกจากธงช้างที่มุมมีตราสำหรับกองทหารนั้น เป็นธงสำหรับใช้เมื่อมีการรับเสด็จในเวลามีพระราชพิธีใหญ่สำหรับเกียรติยศตามที่จะโปรดเกล้า ฯ ให้รับและใช้ เมื่อกองทหารจะไปปราบศัตรูก็ใช้ธงนี้ไปในกองทัพด้วย ธงนี้ใช้มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงเลิกโดยพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ (รูปที่ ๓๒)

การยกเลิกธงชัยเฉลิมพลครั้งนี้มิได้หมายความว่าเลิกใช้ธงเฉลิมพลโดยสิ้นเชิง เพียงแต่เลิกแบบธงชัยเฉลิมพลที่ใช้ใน พ.ศ. ๒๔๓๔ เท่านั้น กองทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพของไทย สมัยต่อมามีธงชัยเฉลิมพลประจำกององตน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำนินทรงตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพลและบรรจุเส้นพระเจ้า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชทานธงให้แก่กองทหารที่มีอัตรากำลังพลตั้งแต่กองพันขึ้นไปที่ยังไม่มีธงในโอกาสอันสมควร มีประเพณีของทหารใหม่ที่จะต้องทำพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลของกองทหารที่ตนประจำราชการอยู่ และในวันที่ ๒๕ มกราคม ซึ่งเป็นวันกองทัพไทย จะมีพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลของกองทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพเป็นประจำทุกปี ลักษณะของธงชัยเฉลิมพลมีกำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติธง แต่เรียกชื่อว่าธงประจำกองทัพบก ธงประจำกองทหารเรื่อ ธงประจำกองทหารอากาศ ขอให้ดูรายละเอียดในหัวข้อนั้นๆ



ธงประจำกองทัพบก



รูปที่ ๓๓ ธงประจำกองทัพบก หรือ ธงจุฑาธุชธิปไตย

เป็นธงพื้นสีแดงขอบมีจักรสีขาวสามด้าน กลางเป็นรูปตราแผ่นดิน โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ และได้พระราชทานแก่กองทหารซึ่งมหาอำมาตย์เอก จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อยังเป็น นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ แม่ทัพ ได้ใช้ธงนี้นำทัพไปปราบฮ่อ ซึ่งเข้ามาก่อการจลาจลในเขตหัวพันห้าพกและสิบสองปันนา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ภายหลังพระราชทานนามธงนี้ว่า “ธงจุฑาธิปไตย” (รูปที่ ๓๓)

ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดให้สร้างธงมหาไพชยนต์ธวัช พื้นนอกสีแดง พื้นในสีดำ กลางมีรูปพานแว่นฟ้าสองชั้นรองรับวชิราวุธ มีเครื่องสูง ๕ ชั้นข้างละ ๑ องค์ ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงสำหรับแผ่นดิน แต่ก็ไม่ได้เลิกธงจุฑาธิปไตย



ธงประจำกองทหารบก



สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางธงมีรูปพระมหาพิไชยมงกุฎ และเครื่องสูง ๗ ชั้น ๒ ข้าง ดังได้กล่าวมาแล้วในหมวดธงประจำพระองค์ ใช้เป็นธงประจำกองทหารรักษาพระองค์ปืนทองปราย ซึ่งมีอยู่แล้วตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ กองหนึ่ง กองทหารรักษาพระองค์เป็นปืนทองปลายหอกข้าหลวงเดิมใช้ซึ่งตั้งขึ้นในคราวเดียวกันนี้กองหนึ่ง กองทหารปืนใหญ่ซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๓๙๔ กองหนึ่ง กองทหารล้อมวังซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ กองหนึ่ง และกองทหารอย่างยุโรปซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ กองหนึ่ง รวม ๖ กอง ใช้ในเวลาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระนคร และถ้ามิได้เสด็จประทับอยู่ในพระนครแล้ว ถ้ากองทหารมีการจำเป็นที่จะใช้ธงประจำกอง โปรดให้ใช้ธงสำหรับแผ่นดินรูปช้างไอยราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแทน หันหน้าเข้าข้างเสา มีบุษบกทรงอุณาโลมอยู่ภายใน ตั้งอยู่บนหลังมีเครื่องสูง ๗ ชั้นอยู่หน้าหลัง ข้างละ ๒ องค์ ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงสำหรับแผ่นดิน เป็นธงประจำกองแทนธงสำหรับพระองค์



รูปที่ ๓๔ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๔๓๕


ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เปลี่ยนธงสำหรับพระองค์ใหม่ ใช้ธงพื้นนอกสีแดงพื้นในสีขาบ กลางเป็นรูปโล่ตราแผ่นดิน มีจักรและตรีไขว้กันอยู่บนโล่ มหาพิชัยมงกุฎอยู่บนจักรี มีเครื่องสูง ๗ ชั้น ๒ ข้าง ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงประจำพระองค์แทน ส่วนธงประจำแผ่นดินคงใช้ไอยราพตอย่างรัชกาลที่ ๔ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้เปลี่ยนตราธงประจำกองทหารบกต่างๆ ที่ใช้อยู่ในเวลานั้นเป็นธงตราแผ่นดินบนพื้นผ้าแดง ได้พระราชทานแก่กองทหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ คือกองทหารม้าใน (ม้าหลวง) กองทหารปืนใหญ่นอก (ปืนใหญ่หลวง) กองทหารราบในมหาดเล็ก กองทหารราบนอกรักษาพระองค์ หองทหารราบนอกล้อมวัง กองทหารราบนอกฝีพาย รวม ๖ กอง (รูปที่ ๓๔)



รูปที่ ๓๕ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๔๕๑


พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อทำการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก โปรดให้เปลี่ยนธงประจำกองทหารบกใหม่ ใช้ธงรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง ที่มุมธงข้างหน้าช้างมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ. สีเหลืองแก่ ป. สีน้ำเงิน ร. สีแดง และมีรัศมีจุลมงกุฎสีเหลืองอยู่เบื้องบน เป็นธงประจำกองทหารบก กรมต่างๆ รวม ๑๒ กรม (รูปที่ ๓๕)



รูปที่ ๓๖ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๔๕๔


ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้เปลี่ยนธงประจำกองทหารบกใหม่ ใช้ธงรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง ที่มุมธงข้างหน้าช้างมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ วปร. สีน้ำเงินมีรัศมีและมหาพิไชยมงกุฎเบื้องบนสีเหลืองได้พระราชทานแก่ทหารบกกองต่างๆ เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (รูปที่ ๓๖) เข้าใจว่าธงนี้ใช้ต่อมาจนสิ้นรัชกาล ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจะเปลี่ยนอักษรพระปรมาภิไธยย่อที่มุมธงบนหน้าช้างตามรัชกาล

พ.ศ. ๒๔๗๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับใหม่เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน เรียกว่า พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ กำหนดลักษณะธงประจำกองทหารบกว่า มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงไตรรงค์ แต่ที่ศูนย์กลางธงเป็นรูปอุณาโลมทหารบก ธงนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ธงชัยเฉลิมพล” (รูปที่ ๓๗)



รูปที่ ๓๗ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๔๗๙


พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้มีกฎกระทรวงกลาโหมออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ กำหนดลวดลายลักษณะส่วนประกอบธงประจำกองทหารบก ดังนี้





รูปที่ ๓๘ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๔๘๒


ยอดคันธง เป็นซุ้มเรือนแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน ทำด้วยโลหะสีเหลือง

ใต้ฐานซุ้มชิดกับมุมบนของธงด้านเสา มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสองข้าง มีส่วนยาวเลยมุมธงด้านล่าง ชายแถบทั้งสองเป็นครุย

พื้นธงมุมบนด้านคันธง มีพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลสีเหลือง ภายใต้มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริบสีเหลือง รัศมีสีฟ้า

กึ่งกลางธงมีรูปเหมือนตราหน้าหมวกทหารบกสีเหลือง แต่ส่วนที่เป็นรูปจักรสีขาว ลายจักรสีเหลือง ช่องระหว่างซี่จักร อักษร ตลอดจนเครื่องหมายขึ้นระหว่าง “สละชีพ” กับ “เพื่อชาติ” และพื้นอุณาโลมสีแดง กับแจ้งนามกองทหารด้วยอักษรสีแดง ขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้งโอบใต้รูปดังกล่าว

รอบคันธง ตอนที่ตรงกับแถบธง เป็นสีแดงรอบคันธง ริมชายธงด้านชิดเสาเป็นเกลียวเชือกแดงสลับดำ ส่วนริมชายธงด้านอื่น ๆ เป็นแถบสีเหลืองแกมเขียว กว้าง ๒ เซนติเมตร
(รูปที่ ๓๘)

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้มีประกาศกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ว่าด้วยวัตถุที่ทำเป็นลวดลายในพื้นธง และส่วนประกอบธงเป็นประจำกองทหาร โดยให้ยกเลิกกฎกระทรวงกลาโหม ซึ่งออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ แล้วใช้ข้อความตามประกาศใหม่นี่แทน คือ


รูปที่ ๓๙ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๕๐๕



ยอดคันธง เป็นซุ้มเรือนแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน ทำด้วยโลหะสีทอง

คันธง ระหว่างซุ้มเรือนแก้วกับมุมบนของธง มีแถบธงชาติผูกเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสองยาวเลยมุมธงด้านล่าง ปลายชายแถบทั้งสองเป็นครุย

พื้นธงมุมบนด้านคันธง มีพระมหามงกุฎและเลขหมายรัชกาลสีเหลือง ภายใต้มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริบสีเหลือง รัศมีสีฟ้า

พื้นธงมีนามกองทหาร อักษรย่อสีแดง ขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้ง โอบใต้รูปอุณาโลมทหารบก

คันธงตอนที่ตรงกับธง มีสักหลาดสีแดงต่อกับริมธงหุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีทอง ๕ หมุด หมุดที่ ๑ เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่สองเป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่สามเป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่สี่เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดต่อไปเป็นรูปเครื่องหมายกองทัพบก หมุดที่ ๑ อยู่บนสุด หมุดต่อไปเรียงลงมาตามลำดับ

ริมธงด้านชิดคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแบสีเหลือง กว้าง ๒ เซนติเมตร

ทั้งนี้ให้มีส่วนและขนาดพองาม
ธงนี้ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน(รูปที่ ๓๙)





Create Date : 18 สิงหาคม 2550
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 14:29:02 น. 0 comments
Counter : 3923 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.