ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ

เซียงยอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เซียงยอด's blog to your web]
Links
 

 
หมวดธงประจำพระองค์ (ต่อ)

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธงเยาวราชธวัช


รูปที่ ๑๖ ธงเยาวราชธวัช


เป็นธงสำหรับราชตระกูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๐ โดยตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ มีลักษณะคล้ายธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ คือ พื้นธงสีแดง กลางธงมีรูปโล่ตราแผ่นดินและจักรี ยกเว้นมหาพิไชยมงกุฎ เครื่องสูง แท่น และพื้นสีน้ำเงินเท่านั้น ใช้สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือรบหรือเรือพระที่นั่ง ซึ่งราชตระกูลพระองค์นั้นเสด็จไปโดยพระราชอิสริยยศทางราชการ เป็นที่หมายว่าราชตระกูลอยู่บนเรือลำนั้น ธงเยาวราชธวัชนี้ใช้สำหรับพระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินพระบรมวงศ์ที่ทรงกรม (กรมสมเด็จ กรมพระยา กรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น) และพระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ซึ่งมีราชอิสริยยศสมควรที่จะได้รับสลุตอย่างหลวง ในเรือรบทหารยืนเพลาและยิงสลุต ๒๑ นัด ทหารบกยืนแถวคลี่ธงจุฑาธิปไตย ธงชัยเฉลิมพล แตรเป่าเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายคำนับเป็นเกียรติยศเท่านั้น ราชตระกูลนอกจากนี้ถ้ามีราชการไปที่ใดต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นการพิเศษเสียก่อนจึงจะใช้ธงเยาวราชธวัชได้ (รูปที่ ๑๖)

พ.ศ.๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยกเลิกธงเยาวราชธวัช แล้งแบ่งธงประจำพระองค์ราชตระกูลตามลำดับชั้นพระอิสริยยศใหม่ สมเด็จพระราชินีนั้นมีธงราชินีดังกล่าวมาแล้ว และสถาปนาธงเยาวราชขึ้นเป็นธงประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมาร ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖




ธงเยาวราช


รูปที่ ๑๗ ธงเยาวราช


พื้นสีขาบ ขนาดกว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน รูปเครื่องหมายกลางธงเป็นโล่ตราแผ่นดิน ๓ ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพตสามเศียร หมายถึงภาคเหนือ กลาง และใต้ ช่องล่างข้างขวาเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นชมพู หมายถึงแผ่นดินผ่ายลาว ช่องล่างข้างซ้ายเป็นรูปกริชคดและกริชตรงไขว้กันบนพื้นแดง หมายถึงดินแดนฝ่ายมลายู เบื้องบนโล่เป็นรูปจักรและตรีไขว้กันภายใต้พระมหาพิไชยมงกุฎ สองข้างโล่เป็นรูปเครื่องสูง ๕ ชั้น ธงนี้ใช้ชักบนเสาเรือพระที่นั่งหรือเรือรบที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จโดยพระราชอิสริยยศ เป็นเครื่องหมายว่าได้อยู่ในเรือลำนั้น ธงนี้แม้มีพระราชบัญญัติธงอีกฉบับออกประกาศใช้ ก็ยังคงมีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลง และใช้ต่อมาจนสิ้นรัชกาล (รูปที่ ๑๗)

ปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ. ๑๒๘ ขึ้นแทนพระราชบัญญัติเก่า ทรงแยกธงเยาวราชออกเป็น ๒ แบบ คือ ธงเยาวราชใหญ่ และธงเยาวราชน้อย

ธงเยาวราชใหญ่


รูปที่ ๑๘ ธงเยาวราชใหญ่


เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นนอกสีขาบ พื้นในสีเหลือง ส่วนกว้างเท่ากับครึ่งหนึ่งของพื้นนอก กลางธงเป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดง ใช้สำหรับชักขึ้นบนเสาในเรือพระที่นั่งหรือเรือรบที่สมเด็จพระยุพราชเสด็จโดยพระราชอิสริยยศ เป็นเครื่องหมายว่าได้เสด็จโดยเรือลำนั้น (รูปที่ ๑๘)

ธงเยาวราชน้อย


รูปที่ ๑๙ ธงเยาวราชน้อย


แบ่งความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนธงเยาวราชใหญ่ กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายมีชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ปลายกว้างครึ่งหนึ่งของส่วนต้น ส่วนยาวโดยตลอดเป็น ๑๔ ส่วน ปลายธงตัดเป็นแฉกอย่างหางนกแซงแซว ลึก ๒ ส่วนของด้านยาว ใช้ชักแทนธงเยาวราชใหญ่ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ (รูปที่ ๑๙)

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๙ พระราชบัญญัติธงซึ่งตราออกใช้ในปีนี้ กำหนดลักษณะธงประจำพระองค์พระยุพราชเหมือนในพระราชบัญญัติเดิมทุกประการ และได้อธิบายขนาดธงเยาวราชน้อยไว้ชัดเจนเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น คือ ธงส่วนแรกกว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายธงกว้างครึ่งหนึ่งของส่วนต้น ความยาวโดยตลอดเป็น ๘ เท่าของความกว้างตอนต้น ปลายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก ๓ ใน ๔ ของส่วนยาว ธงเยาวราชใหญ่และน้อยนี้ยังคงใช้ในปัจจุบัน




ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราช


รูปที่ ๒๐ ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราช


ธงสำหรับพระองค์พระวรชายาแห่งพระเยาวราชนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๒ ลักษณะเหมือนธงเยาราช แต่ตัดปลายเป็นแฉกอย่างหางนกแซงแซว (รูปที่ ๒๐)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ตามข้อความในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ มาตรา ๔ ข้อ ๗ แบ่งเป็น ๒ แบบ คือใหญ่และน้อย

ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชใหญ่

มีลักษณะเหมือนธงเยาวราชใหญ่ แต่ปลายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ใช้ชักขึ้นเป็นเครื่องหมายแห่งพระวรชายาสมเด็จพระยุพราช

ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชน้อย

มีลักษณะเหมือนธงเยาวราชน้อย ผิดกันแต่ชายเป็นสีแดง ใช้แทนธงใหญ่เมื่อไม่ต้องการให้มีการยิงสลุต

ธงทั้งสองนี้ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ลักษณะคงเดิม ตามความในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๖ ข้อ ๗ และ ๘ คือ

ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน


รูปที่ ๒๑ ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน


รูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน ลักษณะ ๒ ใน ๓ ของส่วนยาวเหมือนธงเยาวราชใหญ่ ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ของส่วนยาว ใช้ประจำพระองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช

ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน


รูปที่ ๒๒ ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน


มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับธงเยาวราชน้อย ผิดกันที่ชายธงเป็นสีแดง ใช้แทนธงใหญ่ในกรณีที่โปรดให้งดการยิงสลุต

ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายในและธงเยาวราชน้อยฝ่ายในยังใช้จนถึงปัจจุบัน (รูปที่ ๒๑,๒๒)




ธงราชวงศ์


รูปที่ ๒๓ ธงราชวงศ์


หมายถึงธงสำหรับพระราชวงศ์ สร้างขึ้นใช้เป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ ตามความในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ มาตรา ๔ ข้อ ๕ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นสีขาบกลางธงเป็นรูปโล่ตราแผ่นดิน เบื้องบนโล่มีรูปจักรและตรีไขว้กันภายใต้พระมหามงกุฎ ใช้สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือรบ ซึ่งพระราชวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งเสด็จโดยพระราชอิสริยยศทางราชการ เป็นที่หมายให้ทราบว่าพระราชวงศ์ได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น พระราชวงศ์องค์ใดจะใช้ธงนี้ได้ต้องเป็นพระราชวงศ์ใหญ่ ซึ่งมีอิสริยยศสมควรที่จะได้รับสลุตอย่างหลวง ๒๑ นัด ในเรือรบมีทหารยืนเพลาใบและทหารบกยืนแถวคลี่ธงชัย แตรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายความเคารพเป็นพระเกียรติยศเท่านั้น พระราชวงศ์ที่มีอิสริยยศต่ำกว่านั้นนับเป็นพระราชวงศ์ผู้น้อย ถ้ามีราชการไปต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษก่อน จึงจะใช้ธงนี้ได้ (รูปที่ ๒๓)

พ.ศ. ๒๔๔๒ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ คือ พระราชบัญญัติธง ร.ศ. ๑๑๘ ตามความในมาตรา ๔ ข้อ ๖ ของพระราชบัญญัติธงฉบับนี้ ได้แบ่งธงราชวงศ์ออกเป็นฝ่ายหน้า (ชาย) ฝ่ายใน (หญิง) ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้ามีลักษณะเหมือนเดิม และคงใช้ชื่อเรียกว่าธงราชวงศ์เช่นเดิม

พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธงฉบับเดิม แล้วตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ. ๑๒๙ ขึ้นเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงแบ่งธงราชวงศ์ออกเป็น ๒ แบบ คือ ธงราชวงศ์ใหญ่ และธงราชวงศ์น้อย

ธงราชวงศ์ใหญ่


รูปที่ ๒๔ ธงราชวงศ์ใหญ่


พื้นสีขาบ ขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ สวน (รูปสีเหลี่ยมจัตุรัส) ที่กลางธงมีวงกลมสีเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ ๑/๒ ของส่วนกว้างของธง ภายในวงกลมมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง ใช้สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือลำใดลำหนึ่งเป็นเครื่องหมายว่า พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลใดๆ ก็ตาม เสด็จในเรือลำนั้นโดยพระอิสริยยศ (รูปที่ ๒๔)

ธงราชวงศ์น้อย


รูปที่ ๒๕ ธงราชวงศ์น้อย


แบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนต้นมีลักษณะเหมือนธงราชวงศ์ใหญ่ กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีชายต่อสีขาวแปลงเป็นธงยาวเรียว ปลายธงกว้างเท่ากับ ๑/๒ ของความกว้างตอนต้น รวมความยาวทั้งหมดเป็น ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่สองแห่งด้านยาว ใช้ชักแทนธงราชวงศ์ใหญ่ เมื่อไม่ต้องการให้ยิงสลุตถวายคำนับ (รูปที่ ๒๕)

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้มีข้อบังคับกระทรวงทหารเรือ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ออกประกาศเกี่ยวกับการใช้ธงราชวงศ์ทั้งสองแบบนี้เพื่อให้การใช้มีระเบียบยิ่งขึ้น ดังนี้

๑. เมื่อพระบรมราชวงศ์ชั้นที่ดำรงในพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมเหสี หรือสมเด็จพระเจ้าฟ้าเสด็จในเรือหลวงให้ใช้ธงราชวงศ์ใหญ่ เว้นไว้แต่มีพระประสงค์ให้ใช้ธงราชวงศ์น้อยเวลาใด จึงใช้ธงราชวงศ์น้อย
๒. พระบรมราชวงศ์ชั้นอื่น นอกจากที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๑ ถ้าเสด็จในเรือหลวงให้ใช้ธงราชวงศ์น้อย เว้นแต่ในขณะที่เสด็จเป็นพระอิสริยยศพิเศษ และมีคำสั่งกระทรวงทหารเรือเฉพาะคราวให้ใช้ธงราชวงศ์ใหญ่จึงจะใช้ได้

พ.ศ. ๒๔๗๙ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการพระราชบัญญัติเรียกว่า “พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙” เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ขึ้นใช้แทนพระราชบัญญัติธงฉบับเก่าที่ยกเลิกไป ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้าในพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังแบ่งเป็น ๒ แบบ และมีลักษณะเหมือนเดิม ได้แก่ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า และธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้านั้นได้อธิบายขนาดไว้ชัดเจนเข้าใจง่ายขึ้น คือ ตอนต้นกว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ปลายธงสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ความยาวโดยตลอดเท่ากับ ๘ เท่าของความกว้างตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ของความยาว

พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นอีกเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน เรียกว่า พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑ เพื่อยกเลิกความในมาตรา ๖ อนุมาตรา ๙ และ ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ซึ่งว่าด้วยลักษณะและการใช้ธงราชวงศ์ใหญ่ ลักษณะธงที่ปรากฏในพระราชบัญญัตินี้ยังคงเดิม แต่ผิดกันที่ระบุว่า ให้ใช้ธงราชวงศ์ใหญ่เป็นธงสำหรับองค์พระราชโอรสในพระมหากษัตริย์หรือองค์สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งร่วมสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระชนนีกับพระมหากษัตริย์ไม่ว่ารัชกาลใดๆ

ธงราชวงศ์ใหญ่และธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้านี้ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน




ธงราชวงศ์ฝ่ายใน


รูปที่ ๒๖ ธงราชวงศ์ฝ่ายใน


หมายถึงธงประจำพระองค์พระราชวงศ์ที่เป็นหญิง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๒ ตามความในพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘ มาตรา ๔ ข้อ ๗ ขณะนั้นยังเรียกว่า “ธงราชวงศ์”

ลักษณะเป็นธงพื้นสีขาบ กลางธงเป็นรูปโล่ตราแผ่นดิน เบื้องบนโล่มีรูปจักรและตรีไขว้กัน ภายใต้พระมหามงกุฎ ชายตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ได้ใช้ตลอดรัชกาล (รูปที่ ๒๖)

ต่อมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โปรดให้แบ่งธงราชวงศ์ฝ่ายในออกเป็น ๒ แบบ ตามความในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ ซึ่งตราขึ้นเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ มาตรา ๑๐ ข้อ ๔ คือ

ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน


รูปที่ ๒๗ ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน


เป็นธงพื้นสีขาบ ภายในวงกลมสีเหลือง กลางวงศ์เป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดง เหมือนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า แต่ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับพระธิดา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชกาลใดๆ ถ้าเสด็จในเรือลำนั้นโดยพระอิสริยยศ (รูปที่ ๒๗)

ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน


รูปที่ ๒๘ ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน


ลักษณะเหมือนธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า คือ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน ตอนต้นพื้นสีขาบกว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีรูปวงกลมสีเหลืองภายในมีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง ตอนปลายธงมีชายต่อเป็นธงยาวเรียวปลายสีแดง ใช้แทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายในเมื่อไม่ต้องการให้ยิงสลุตถวายคำนับ (รูปที่ ๒๘)

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ธงราชวงศ์ใหญ่และธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน ยังคงมีลักษณะเหมือนเดิม ดังปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๖ ข้อ ๑๑ และ ๑๒ แต่ได้อธิบายขนาดธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายในไว้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ มีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน ลักษณะและสัณฐานตอนต้น ๒ ใน ๓ ของส่วนยาวนั้นอย่างเดียวกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ของส่วนยาว

พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเป็นฉบับที่ ๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เรียกว่า พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑ เพื่อยกเลิกความในมาตรา ๖ อนุมาตรา ๙ และ ๑๑ อันว่าด้วยลักษณะและการใช้ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ้ายหน้าและฝ่ายใน ข้อความที่บัญญัติขึ้นใหม่นั้น ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายในคงมีขนาดและลักษณะเหมือนเดิม แต่กำหนดให้ใช้ เป็นธงสำหรับสมเด็จพระราชชนนี หรือองค์พระราชธิดาในพระมหากษัตริย์ หรือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ซึ่งร่วมเสด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระราชชนนีกับพระมหากษัตริย์ไม่ว่ารัชกาลใดๆ

ธงราชวงศ์ใหญ่และธงราชวงศ์น้อยฝ่ายในนี้ยังคงใช้สืบมาจนปัจจุบัน





Create Date : 06 สิงหาคม 2550
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 14:28:53 น. 0 comments
Counter : 3667 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.