ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ

เซียงยอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เซียงยอด's blog to your web]
Links
 

 
หมวดธงประจำตำแหน่ง (ตอนที่ 1)

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธงราชทูต


รูปที่ ๗๑ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น (ธงราชทูต)


บัญญัติขึ้นใช้เป็นครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) มีลักษณะคือ พื้นธงสีแดง กลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา ที่มุมธงข้างบนมีโล่ตราแผ่นดิน และมีรูปจักรมงกุฎอยู่ข้างบน ใช้สำหรับราชทูตไทยประจำต่างประเทศ ข้าหลวงใหญ่ไปราชการพิเศษ ซึ่งผู้ที่ได้รับราชการไปนั้นอยู่ในสถานตำแหน่งผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินหรือผู้แทนรัฐบาลจึงจะใช้ได้ เป็นที่หมายของยศผู้ที่รับราชการนั้นชักขึ้นที่เสาหน้าเรือ สมัยนี้เรียกชื่อว่า “ธงช้างเผือกยืนแท่น” (รูปที่ ๗๑)


รูปที่ ๗๒ ธงราชทูต พ.ศ. ๒๔๕๕


ธงราชทูตนี้แม้จะมีพระราชบัญญัติธงฉบับใหม่ออกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีก ๒ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติธง ร.ศ. ๑๑๖ และ ร.ศ. ๑๑๘ แต่ลักษณะที่ปรากฏก็ไม่เปลี่ยนแปลง ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนรูปโล่ตราแผ่นดิน จักรี และพระมหามงกุฎข้างบน เป็นรูปวงกลมสีน้ำเงินแก่ ภายในเป็นรูปครุฑกางกรและมหามงกุฎ (รูปที่ ๗๒)

พ.ศ. ๒๔๖๐ หลังจากที่ได้เปลี่ยนธงชาติจากธงช้างเป็นธงไตรรงค์แล้ว ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงทหารเรือ ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ กำหนดลักษณะธงหมายตำแหน่งราชทูตและกงสุลใหม่ คือเป็นธงไตรรงค์มีรูปช้างเผือกอยู่ตรงกลาง


รูปที่ ๗๓ ธงราชทูต พ.ศ. ๒๔๖๐


ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงทหารเรืออีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ เปลี่ยนแปลงลักษณะธงหมายตำแหน่งราชทูต คือเรียกว่า “ธงสถานทูต” ลักษณะพื้นธงเหมือนธงไตรรงค์ มีวงกลมสีขาบขอบจดขอบสีแดงของพื้นธงอยู่กลาง ภายในวงกลมนั้นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา สำหรับชักที่สถานทูต (รูปที่ ๗๓)

พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้มี พระราชบัญญัติธง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ลงวันที่ ๙ ออกบังคับใช้ โดยให้ยกเลิกมาตรา ๖ แห่ง พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๖๐ และแก้ไขใหม่สำหรับธงสถานทูตนั้นให้คงเดิม


รูปที่ ๗๔ ธงราชทูต พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นมา


พ.ศ. ๒๔๗๙ มี พระราชบัญญัติธง ออกประกาศใช้อีกฉบับหนึ่ง เรียกว่า พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ธงที่เกี่ยวกับทูตในที่นี้เรียกว่า “ธงอัครราชทูต” มีลักษณะและสัณฐานเหมือนธงชาติ ที่กึ่งกลางพื้นธงมีวงกลมสีขาบ เส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับ ๔/๖ ของความกว้างของธง คือขอบวงกลมจะจดของสีแดงของพื้นธงพอดี ภายในมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา ลักษณะทั้งหมดนี้เหมือนเดิม (รูปที่ ๗๔)



ธงกงสุล


รูปที่ ๗๕ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น (ธงกงสุล)


บัญญัติใช้เป็นครั้งแรกพร้อมกับธงราชทูต พ.ศ. ๒๔๓๔ เรียกชื่อว่า “ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น” ลักษณะเป็นธงพื้นแดง กลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา ที่มุมธงข้างบนมีรูปโล่ตราแผ่นดิน ใช้สำหรับกงสุลประจำราชการต่างประเทศ (รูปที่ ๗๕)


รูปที่ ๗๖ ธงกงสุล พ.ศ. ๒๔๕๔


พ.ศ. ๒๔๕๔ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนธงราชทูตนั้น ธงกงสุลก็เปลี่ยนด้วยเช่นกัน คือใช้ธงรูปกลมสีน้ำเงินแก่ ภายในมีรูปครุฑกางกรแทนรูปโล่ตราแผ่นดินที่มุมธงด้านบนหน้าช้าง (รูปที่ ๗๖)


รูปที่ ๗๗ ธงกงสุล พ.ศ. ๒๔๖๐


พ.ศ. ๒๔๖๐ หลังจากการเปลี่ยนธงชาติจากธงช้างเป็นธงไตรรงค์ ได้มีการเปลี่ยนธงกงสุลด้วยคือ ให้พื้นธงเหมือนธงไตรรงค์ ตรงกลางธงมีรูปช้างเผือก (รูปที่ ๗๗) ตามประกาศกระทรวงทหารเรือ ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๐


รูปที่ ๗๘ ธงกงสุล พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นมา


ภายหลังได้มีประกาศเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ให้พื้นธงเป็นธงไตรรงค์ กลางธงมีวงกลมสีขาบ ขอบวงจดขอบสีแดงของธง ภายในวงกลมมีรูปช้างเผือกไม่ทรงเครื่องยืนหันหน้าเข้าเสา (รูปที่ ๗๘) เป็นธงที่ใช้ชักที่สถานกงสุลไทย ถึง พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้มี พระราชบัญญัติธง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ซึ่งว่าด้วยแบบอย่างของธงราชการออกบังคับใช้ ส่วนธงกงสุลนั้นยังคงมีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลง และถึงแม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติธงฉบับใหม่ออกประกาศใช้ในพ.ศ. ๒๔๗๙ ลักษณะธงกงสุลก็ยังคงเดิมและใช้ต่อมา



ธงผู้ว่าราชการเมือง

เริ่มบัญญัติใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ (ร.ศ. ๑๑๐) เรียกในขณะนั้นว่า “ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น” มีลักษณะคือพื้นธงสีแดง กลางธงเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงข้างบนมีวงกลมสีขาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับครึ่งของความกว้างของธงกลางวงกลมมีตราตำแหน่งของผู้ไปราชการนั้น ถ้าเป็นผู้ว่าราชการเมืองก็ให้ใช้ตามนามเมืองในวงกลมนั้น

ตัวอย่างการใช้ธงนี้มีหลักฐานชัดเจนในรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้มีประกาศกระทรววงทหารเรือ เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ธงเครื่องหมายตำแหน่งราชการ ลงวันที่ ๕ กันยายน ออกประกาศให้ทราบทั่วกัน ตามความในประกาศปรากฏว่าโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้ธงนี้สำหรับหมายตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา มุมธงมีเครื่องหมายในวงกลมเป็น ๕ ช่อง ช่องบนเป็นรูปปราสาท ภายในมีพานแว่นฟ้ารองสังข์ทักษิณาวัตร หลังปราสาทมีรูปต้นหมันช่องกลางข้างขวาเป็นรูปอ่างทอง ข้างซ้ายเป็นรูปเขาแก้ว ช่องล่างข้างขวาเป็นรูปสิงห์หมอบแท่น ข้างซ้ายเป็นรูปศร ๓ เล่ม ส่วนผู้ว่าราชการเมืองก็ใช้ตราตามเมืองในวงกลมนั้น เช่น



รูปที่ ๗๙ ธงผู้ว่าราชการเมือง (ธงผู้ว่าราชการเมืองอยุธยา)


- ผู้ว่าราชการเมืองอยุธยา เครื่องหมายเป็นรูปปราสาท ภายในมีพานแว่นฟ้ารองสังข์ทักษิณาวัตร หลังปราสาทมีรูปต้นหมัน (รูปที่ ๗๙)
- ผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง เครื่องหมายเป็นรูปอ่างทอง
- ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรี มีเครื่องหมายแบ่งเป็น ๒ ช่อง ช่องบนเป็นรูปสิงห์หมอบบนแท่น ช่องล่างข้างขวาเป็นรูปพระอินทร์เป่าสังข์ ข้างซ้ายเป็นรูปพระพรหมถือสมุดกับศร
- ผู้ว่าราชการเมืองลพบุรี เครื่องหมายรูปศร ๓ เล่ม
- ผู้ว่าราชการอำเภอพระราชวัง เมืองพระนครศรีอยุธยา เครื่องหมายเป็นรูปอสุนีบาตตกถูกพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์
- ผู้ว่าราชการอำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี เครื่องหมายเป็นรูปพระอินทร์เป่าสังข์
- ผู้ว่าราชการอำเภอพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี เครื่องหมายเป็นรูปพระพรหมถือสมุดและศร
- ผู้ว่าราชการอำเภอสิงห์บุรี เมืองสิงห์บุรี เครื่องหมายเป็นรูปสิงห์หมอบบนแท่น
- ผู้ว่าราชการอำเภอพระพุทธบาท เมืองสระบุรี เครื่องหมายเป็นรูปมณฑปพระพุทธบาท
- ธงประจำตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง หรือข้าราชการฝ่ายปกครองอื่น ๆ นี้ ต่อมาได้ยกเลิกไม่มีการใช้อีก




ธงเสนาบดี


รูปที่ ๘๐ ธงเสนาบดี


ธงนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นในพ.ศ. ๒๔๔๐ มีลักษณะเป็นธงพื้นสีขาบ กลางธงมีรูปสมอไขว้กับจักรสีเหลือง ข้างบนมีมหามงกุฎใช้สำหรับตัวเสนาบดีหรือรองเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เมื่อชักธงขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือลำใด ให้พึงเข้าใจว่าเสนาบดีหรือรองเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้อยู่ในเรือลำนั้น ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระอัครมเหสี หรือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมารก็ดี ได้ประทับอยู่ในเรือหลวงลำใดลำหนึ่งอันได้ชักธงมหาราช ธงราชินี หรือธงเยาวราชขึ้นไว้บนเสา และได้ชักธงเสนาบดีไว้บนเสาหน้าด้วยแล้ว ก็ให้เจ้าหน้าที่ในเรือรบและป้อมทั้งปวงยิงสลุตตามประเพณี ถ้ามีแต่ธงมหาราชหรือธงราชินี หรือธงเยาวราชชักขึ้นบนเสาใหญ่ ไม่มีธงเสนาบดีบนเสาหน้า ให้งดการยิงสลุต

ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงเป็นเครื่องหมายสำหรับตัวเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ สำหรับชักขึ้นไว้ ณ ที่ทำการของเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และใช้ชักขึ้นที่ยอดเสาใหญ่ในเรือเป็นเครื่องหมายว่าเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้อยู่ในเรือลำนั้น อนึ่งในเวลาที่ชักธงมหาราชใหญ่หรือราชินีใหญ่ขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือลำใด ให้ชักธงเสนาบดีขึ้นที่เสาหน้าเรือลำนั้นด้วยเสมอไป ธงเสนาบดีนี้ใช้ต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ (รูปที่ ๘๐)




ธงจอมทัพบก


รูปที่ ๘๑ ธงจอมทัพบก


มีรูปพระคทาและพระแสงกระบี่ไขว้กัน มีจักรและมหาพิไชยมงกุฎสีขาวบนพื้นแดง สร้างขึ้นในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ สำหรับตำแหน่งจอมทัพบก (รูปที่ ๘๑)



ธงผู้บัญชาการทหารเรือ


รูปที่ ๘๒ ธงผู้บัญชาการทหารเรือ


ใช้สำหรับผู้บัญชาการทหารเรือ ธงเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นสีขาบ ตรงกลางมีรูปสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๙

พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้มี พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ออกบังคับใช้ โดยให้ยกเลิกความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๙ และใช้ข้อความที่เปลี่ยนแปลงใหม่ แต่ในส่วนที่ว่าด้วยลักษณะธงผู้บัญชาการทหารเรือนั้น ยังคงมีลักษณะเหมือนเดิม (รูปที่ ๘๒)



ธงผู้บัญชาการกองเรือรบ



รูปที่ ๘๓ ธงผู้บัญชาการกองเรือรบ


มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการทหารเรือ คือ มีพื้นสีขาบ กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน ตรงกลางมีรูปสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎ ผิดกันที่ธงผู้บัญชาการกองเรือรบนี้ปลายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ของส่วนยาว ธงนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๙ และใช้ตลอดมา แม้ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ จะมี พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓ แก้ไขเพิ่มเติมความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๙ แต่ลักษณะธงผู้บังคับการกองเรือรบก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง (รูปที่ ๘๓)




ธงผู้บังคับการเรือ


รูปที่ ๘๔ ธงผู้บังคับการกองเรือ


บัญญัติขึ้นใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ตามความในมาตรา ๙ แห่ง พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นธงที่มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการทหารเรือ คือ เป็นธงสี่เหลี่ยม กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นสีขาบ ตรงกลางมีรูปสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง แต่ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซวลึก ๑ ใน ๓ ของความยาวนั้นเป็นสีขาว (รูปที่ ๘๔)





Create Date : 12 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 30 มิถุนายน 2551 1:17:58 น. 1 comments
Counter : 8469 Pageviews.

 


โดย: เธเธฒเธฃเธˆเธฑเธ”เธ—เธณเนเธœเธ™เธ›เธเธดเธšเธฑเธ•เธดเธฃเธฒเธŠเธเธฒเธฃเธ„เธทเธญ... IP: 125.26.108.164 วันที่: 29 มีนาคม 2565 เวลา:11:26:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.