นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 
ความสำคัญของ อรรถกถา (๑)

พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า
พวกเธอควรสนใจทั้งในการศึกษาพุทธพจน์พร้อมทั้งอรรถกถา ดังที่แสดงว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌายะพึงสงเคราะห์ อนุเคราะห์
สัทธิวิหาริก ด้วยสอนบาลีและอรรถกถา ด้วยให้โอวาทและอนุศาสนี.
//www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=1679&Z=1776

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์
เป็นผู้สนใจในการเรียนบาลี ในการเรียนอรรถกถา
ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่า
เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี"
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=2764&Z=2875

--------------------------------------------------

คำว่า "การเรียนบาลี" ในบทนี้ มาจากคำว่า "อุเทศ" ได้แก่ พระพุทธพจน์
คำว่า "การเรียนอรรถกถา" นี้ มาจากคำว่า "ปริปุจฉา" เช่น การให้อรรถธิบายต่างๆ
เพื่ออธิบายขยายความ พระบาลีหรือพระพุทธพจน์ ที่มี อรรถะอันลึก

ปริปุจฉา หรือ อรรถกถา ในที่นี้อาจจะแบ่งออกเป็น ๔ อย่าง ได้แก่


1. "ปริปุจฉา" ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอง (เรียก "พุทฺธสํวณฺณิตอฏฺฐกถา")
ตัวอย่าง //84000.org/tipitaka/read/?1/32-37
ดูที่ข้อ ๓๓ ถึง ๓๗ ซึ่งเป็นการให้ อรรถาธิบาย ด้วยพระองค์เอง
เป็นการอธิบายถึง "อุเทศ" ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในบทก่อน


2. "ปริปุจฉา" ที่พระมหาเถระทั้งหลาย มีพระสารีบุตร พระมหากัสสปปะ พระกัจจายนะเป็นต้น
อธิบายไว้ (เรียก "อนุพุทฺธสํวณฺณิตอฏฺฐกถา")
เช่น ในขุททกนิกาย มหานิทเทส, จูฬนิทเทส
//84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=29&A=0&Z=486
พระสารีบุตรได้ยกพระพุทธพจน์ขึ้นตั้งแล้ว ได้ให้อรรถาธิบายต่อไปเป็นลำดับ

นอกจากนี้ พระมหากัสสัปปะ พระอุบาลี พระอานนท์ ภายหลังจากปฐมสังคายนาเสร็จสิ้น
ท่านก็ได้สังคายนาปกิณกเทศนา อันเป็นคำอธิบายขยายความพระไตรปิฎกนั้น ต่อ
โดยเรียกว่า “มหาอรรถกถา” ซึ่งสืบทอดกันมาด้วย "มุขปาฐะ" คือ การทรงจำด้วยปากเปล่า
จากเหล่าพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ อัฏฐสาลินีอรรถกถา ที่อธิบายขยายความ พระอภิธรรมปิฎก
คัมภีร์แรกนี้ พระมหากัสสปะ ได้เป็นผู้ร้อยกรองก่อนแต่ครั้งนั้น พระอรรถกถาจารย์
ในภายหลังก็ได้ใช้เป็นแนวในการร้อยกรองสืบต่อมา


3. อรรถกถาที่พระสาวกทั้งหลายทรงจำจาก ข้อ1 และ ข้อ2
และสั่งสอนสืบต่อกันและได้รับการรวบรวมผ่านการสังคายนา 3 ครั้ง
แล้วพระมหินทเถระนำพระไตรปิฎกรวมทั้งอรรถกถา
ไปสั่งสอนที่เกาะสิงหล (เรียก "โปราณอรรถกถา")


4. อรรถกถาที่พระพุทธโฆสาจารย์ลงไปแปลจากอรรถกถา
ภาษาสิงหลกลับเป็นภาษามคธ ซึ่งได้รับนำสืบต่อมาถึงปัจจุบัน
และเป็นอรรถกถาส่วนใหญ่ที่เราได้ศึกษากันอยู่ (เรียก "อภินวอรรถกถา")
(หรือ เรียก “สังคหัฏฐกถา” อรรถาธิบายประมวลความ)


--------------------------------------------------------
ตัวอย่างนึงที่เห็นได้ง่ายที่สุดของความสำคัญของอรรถกถาก็ได้แก่

ชาดกต่างๆ เช่น
ชาดก พระเวสสันดร
//84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=28&A=6511
อรรถกถา ชาดก พระเวสสันดร
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=1045

ถ้าเราตัดอรรถกถาทิ้งแล้ว ผู้ที่อ่านครั้งแรก จะไม่มีทางรู้เรื่องเลย
ว่าแต่ละคาถานี้ใครเป็นผู้กล่าว

--------------------------------------------------------

อีกอย่าง อรรถกถา คือ คำอธิบายขยายความนั้นจะมีขึ้นก็แต่ในช่วง พันปีแรก
ซึ่งศาสนายังตั้งมั่นอยู่ด้วยอำนาจของพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

--------------------------------------------------------

พระสัทธัมโชติกะ ผู้ก่อตั้ง อภิธรรมโชติกวิทยาลัย
อันเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยขณะนี้
ท่านได้เคยอธิบายไว้ว่า

เมื่อจะทำการค้นคว้าหาความรู้ธรรมะในพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางอย่างถูกต้องได้นั้น
จะศึกษาความรู้เฉพาะแต่ในบาลี(อุเทศ)อย่างเดียวนั้น ไม่มีทางที่จะได้รับความรู้อย่างกว้างขวางถูกต้องได้
จำเป็นจะต้องทำการศึกษาพระไตรปิฎกที่เป็นอรรถกถาและฎีกา
พร้อมกับได้ฟังคำอธิบายจากอาจารย์ที่มีวิทยฐานะโดยถูกต้อง
จึงจะช่วยทำให้มีความรู้ที่ถูกต้องอย่างกว้างขวางได้

ที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่าพระบาลีนั้นแสดงแต่หลักสำคัญๆ
ท่านอรรถกถาจารย์ก็ช่วยแสดงข้อธรรมที่ลึกซึ้งที่ยังมิได้ขยายนั้น
ทำให้แจ่มกระจ่างพร้อมกับชี้แจงแนะนำอีกด้วย
ท่านฎีกาจารย์ก็อธิบายขยายความในพระอรรถกถาที่ยังไม่แจ่มแจ้ง
ให้แจ่มแจ้งชัดเจนกว้างขวางยิ่งต่อไปอีก

อนึ่งท่านอรรถกถาจารย์และฎีกาจารย์ทั้งสองพวกนี้
เมื่อจะว่ากันในด้านวิทยฐานะก็ดี
ในด้านความประพฤติและนิสัยใจคอก็ดี
หาใช่เหมือนกันกับพวกเราในทุกวันนี้ไม่
กล่าวคือ เป็นผู้มีความรู้อย่างแตกฉานใน
พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม และบาลีไวยากรณ์
ความประพฤติทางกาย วาจา ก็ตั้งอยู่ในสิกขาบทอย่างเคร่งครัด
เป็นสุปปฏิปันนะ อุชุปฎิปันนะ ญายปฎิปันนะ สามีจิปปฎิปันนะ
เป็นที่น่าเคารพ น่านับถือ น่าเลื่อมใส น่าเชื่อถือในพุทธศาสนิกชนทั้งหลายทั่วไป
จิตใจก็สูงไม่อยู่ใต้อำนาจ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อิสสา มัจฉริยะแต่ประการใด
ทั้งนี้ก็เพราะว่าบางท่านก็เป็นพระอริยะบางท่านก็เป็นทั้งพระอริยะและฌานลาภี อภิญญาลาภี
สำหรับบางท่านแม้ว่าจะมิใช่เป็นพระอริยะและมิใช่เป็นฌานลาภี อภิญญาลาภีก็จริง
แต่จิตใจนั้นคงตั้งอยู่ในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นฝ่ายปริยัติอย่างเดียว มิได้แลเหลียว
ถึงเรื่องทางโลกและกามคุณอารมณ์แต่ประการใด ดังนั้น ปกรณ์พระอรรถกถาและฎีกา
จึงมีเนื้อความที่ประกอบไปด้วยสิ่งที่น่าเชื่อ น่าเลื่อมใส ความรู้ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
ไม่มีข้อความที่จะต้องแก้ไขเท่าใดนัก คล้ายๆกับจะไม่มีเสียเลยก็ว่าได้


Create Date : 10 เมษายน 2554
Last Update : 25 สิงหาคม 2554 16:11:54 น. 1 comments
Counter : 1770 Pageviews.

 
(พระไตรปิฎกเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ?)

พระไตรปิฎก เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว (อยู่ในรูปของ มุขปาฐะ)

พระพุทธเจ้าและเหล่าพระมหาสาวก พระอรหันตสัมภิทาทั้งหลาย
ท่านมีความทรงจำเป็นเลิศ จึงไม่จำเป็นต้องบันทึกเป็นหนังสือ
หรือลงในคอมพิวเตอร์

สิ่งที่ท่านกล่าวสาธยาย สังคายนาร่วมกันในปฐมสังคายนานั้น
ก็เปรียบเหมือน การบันทึกลงฮาร์ดดิส คือความทรงจำอันเป็นเลิศ
ของเหล่าพระอรหันต์ในกาลนั้นนั่นเอง

ต่อมาในภายหลังจึงได้เริ่มมีการบันทึกลงในหนังสือและคอมพิวเตอร์

ดังนั้นคำว่า พระไตรปิฎก จึงไม่ได้หมายถึง "หนังสือสามเล่ม"
แต่หมายถึง คำสอนทั้งสามหมวด อันได้แก่

"พระวินัยปิฎก"
"พระสุตตันปิฎก"
"พระอภิธรรมปิฎก"

(ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของ ความทรงจำ มุขปาฐะ การจดบันทึก การเซฟลงใน USB stick ก็ตาม
สิ่งที่สำคัญอยู่ที่เนื้อหา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นั่นเอง คือตัวพระไตรปิฎก)

-------------------------------------------------

พระอภิธรรมนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ ครั้งพุทธกาลแล้ว

การเสด็จจำพรรษาของพระพุทธเจ้า ๔๕ พรรษานั้น ในพรรษาที่ ๗ ทรงเสด็จ
ประทับอยู่ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา
ต่อจากนั้น ก็ได้นำมาตรัสสอนแก่ พระธรรมเสนาบดี คือพระสารีบุตร
(พระอัครมหาสาวกผู้เป็นเลิศทางปัญญา)


จะขอนำความจาก พระไตรปิฎกอรรถกถา ฉบับมหามกุฏ ๙๑ เล่ม
มาแสดงประกอบไว้ดังนี้นะครับ

----------------------------------


(พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 37)
จริงอยู่ ในกาลอันเป็นส่วนอื่น พระตถาคตเจ้าประทับนั่งท่ามกลาง
เหล่าเทพหมื่นจักรวาลเหนือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ควงไม้ปาริชาต ใน
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อทรงแสดงธรรมทรงทำพระพุทธมารดาให้เป็นกายสักขี
ก็ทรงย่อแล้ว ๆ ซึ่งลำดับธรรมจากระหว่างธรรมแล้วแสดงโดยส่วนแห่งร้อย
โดยส่วนแห่งพัน โดยส่วนแห่งแสน เทศนาที่พระองค์ให้เป็นไป ติดต่อกัน
สามเดือน เป็นอนันตเทศนาประมาณมิได้ ประดุจคงคาในอากาศที่ไหลลงมา
อย่างเร็ว และประดุจสายน้ำที่ไหลออกจากหม้อน้ำที่คว่ำปาก ฉะนั้น.

(พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 38)
.....ทรงเสวยแล้วเสด็จไปป่าไม้จันทน์ เพื่อทรงพักผ่อนกลางวัน.
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระก็ไปในที่นั้น กระทำวัตรต่อ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น พระ-
ศาสดาจะทรงประทานนัยแก่พระเถระ จึงตรัสบอกว่า ดูก่อนสารีบุตร ธรรม
ที่ตถาคตแสดงแล้วมีประมาณเท่านี้. เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทาน
นัยอย่างนี้ การประทานนัยแก่พระอัครสาวกผู้ถึงปฏิสัมภิทาแล้ว เป็นเช่น

(พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 39)
บุคคลผู้ยืนอยู่ที่สุดฝั่งแล้วเหยียดมือชี้ให้ดูมหาสมุทร ฉะนั้น ธรรมที่พระผู้มี
พระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ย่อมปรากฏชัดแม้แก่พระเถระโดยร้อยนัย พันนัย
แสนนัย.
//www.thepalicanon.com/91book/book75/001_050.htm

----------------------------------


(พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 64)

ธรรมดาว่า พระอภิธรรมนี้เป็นวิสัยของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลาย
เท่านั้น ไม่ใช่วิสัยของคนเหล่าอื่น จริงอยู่ การเสด็จหยั่งลงสู่พระครรภ์ของ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายปรากฏแล้ว อภิชาติก็ปรากฏ อภิสัมโพธิก็ปรากฏ
ธรรมจักกัปปวัตตนะก็ปรากฏ ยมกปาฏิหาริย์ก็ปรากฏ การเสด็จไปสู่ที่อยู่ของ
เทวดาก็ปรากฏ ความแสดงธรรมในเทวโลกก็ปรากฏ การเสด็จลงจากเทวโลก
ก็ปรากฏ.

ขึ้นชื่อว่า การขโมยช้างแก้ว หรือม้าแก้วของพระจ้าจักรพรรดิแล้ว
เทียมยานน้อยไป นั่นไม่ใช่ฐานะ มิใช่เหตุ หรือว่า ชื่อว่า การขโมยจักรรัตนะ
แล้วห้อยไว้ที่เกวียนบรรทุกฟางเอาไป ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่เหตุที่เป็นไปได้
หรือว่า ชื่อว่าการขโมยมณีรัตนะที่สามารถส่องแสงไกลประมาณโยชน์ใส่
ไว้ในกระเช้าฝ้ายแล้วใช้สอย ก็ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่เหตุที่เป็นไปได้ เพราะ
เหตุไร ? เพราะเป็นภัณฑะสมควรแก่พระเจ้าจักรพรรดิ ข้อนี้ฉันใด เพราะ
พระอภิธรรมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ใช่วิสัยของชนเหล่าอื่น เป็นวิสัยของ
พระสัพพัญญูพุทธเจ้าเหล่านั้น
//www.thepalicanon.com/91book/book75/051_100.htm




(พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 67)

คำถามว่า พระอภิธรรมนี้ ให้เจริญมาด้วยอะไร

มีคำตอบว่า ให้เจริญมาด้วยศรัทธามุ่งไปสู่ปัญญาเครื่องตรัสรู้.


คำถามที่ว่า ให้งอกงามไว้ในที่ไหน ?

มีคำตอบว่า ให้งอกงามในชาดก ๕๕๐.


คำถามที่ว่า บรรลุแล้วในที่ไหน ?

มีคำตอบว่า ที่ควงไม้โพธิ์.


คำถามที่ว่า บรรลุในกาลไร

มีคำตอบว่า ในวันเพ็ญเดือนหก.


คำถามว่า ใครบรรลุ

มีคำตอบว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้า.


คำถามว่า วิจัยที่ไหน

ตอบว่า ที่ควงไม้โพธิ์.


คำถามว่า วิจัยแล้วในกาลไร

ตอบว่า ในเวลาตลอด ๗ วัน ณ เรือนแก้ว.

คำถามว่า ใครวิจัย


ตอบว่าพระสัพพัญญูพุทธเจ้า.


คำถามว่า แสดงที่ไหน

ตอบว่า ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.


คำถามว่า แสดงแล้ว เพื่อประโยชน์แก่ใคร

ตอบว่า แก่เทวดาทั้งหลาย.


คำถามว่า แสดงแล้ว เพื่ออะไร

ตอบว่า เพื่อออกไปจากโอฆะ ๔.


คำถามว่า ใครรับไว้

ตอบว่า พวกเทพ.


คำถามว่า ใครกำลังศึกษา

ตอบว่า พระเสขะและกัลยาณปุถุชน.


คำถามว่า ใครศึกษาแล้ว

ตอบว่า พระอรหันต์ขีณาสพ.


คำถามว่า ใครทรงไว้

ตอบว่า เป็นไปแก่ชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นย่อมทรงจำไว้.


คำถามว่า เป็นถ้อยคำของใคร

ตอบว่า เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.


คำถามว่า ใครเป็นผู้นำมา

ตอบว่า อันอาจารย์นำสืบต่อกันมา.


จริงอยู่ พระอภิธรรมนี้ อันพระเถระทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ
พระสารีบุตรเถระ
พระภัททชิ
พระโสภิต
พระปิยชาลี
พระปิยปาละ
พระปิยทัสสี พระโกสิยบุตร พระสิคควะ พระสันเทหะ พระโมคคลิบุตร พระ
ติสสทัตตะ พระธัมมิยะ พระทาสกะ พระโสนกะ พระเรวตะเป็นผู้นำมาจน
ถึงกาลแห่งตติยสังคีติ ต่อจากนั้น ศิษยานุศิษย์ของพระเถระเหล่านั้นนั่นแหละ
นำมาแล้วโดยสืบต่อกันมาตามอาจารย์ ในชมพูทวีปอย่างนี้ด้วยอาการอย่างนี้
ก่อน.
//www.thepalicanon.com/91book/book75/051_100.htm


----------------------------------

ดังนั้น จาก ความที่ได้ยกมาแล้ว ก็จะได้เห็นว่า

พระพุทธองค์เป็นผู้ตรัสรู้พระธรรมทั้งหลาย เป็นผู้ตรัสสอนอภิธรรมทั้งหลาย
และพระสารีบุตรและพระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้นำสืบต่อกันมา

อนึ่ง แม้ พระอานนท์ก็ย่อมเป็นผู้ได้เคยฟัง พระอภิธรรม ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
จากพระพุทธเจ้าด้วย เพราะเคยได้ตรัสขอพรไว้แล้วก่อนเป็นพุทธอุปัฏฐากว่า
เมื่อพระพุทธองค์ได้แสดงธรรมแก่ใครที่ไหน ก็ขอให้มาแสดงธรรมนั้นแก่ตนด้วย

ดังความใน อานันทเถรคาถาว่า

พระอานนทเถระได้เรียนธรรมจาก
พระพุทธเจ้ามา ๘๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ได้เรียนมาจากสำนักภิกษุมีพระธรรม
เสนาบดีเป็นต้น ๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ จึงรวมเป็นที่คล่องปากขึ้นใจ
๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์
//www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=8134&Z=8214







_____________________________________________________________

สำหรับเรื่องอรรถกถา

ในความเป็นจริงแล้ว อรรถกถานั้นคือสิ่งที่มีมาตั้งแต่พุทธกาล

และโบราณาจารย์ทั้งหลายก็ได้นำสืบทอดต่อๆกันมา ดังความว่า


อรรถกถาใดอันพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์สังคายนา
แล้วแต่ต้น และสังคายนาต่อมา เพื่อประกาศเนื้อความ
ของทีฆนิกาย ซึ่งกำหนดหมายไว้ด้วยสูตรขนาดยาว
ละเอียดลออ ประเสริฐกว่านิกายอื่น ที่พระพุทธเจ้า และ
พระสาวกสังวรรณนาไว้ มีคุณค่าในการปลูกฝังศรัทธา
แต่ภายหลัง พระมหินทเถระนำมาเกาะสีหล ต่อมาได้
เรียบเรียงด้วยภาษาสีหล เพื่อประโยชน์แก่ชาวสีหล
ทั้งหลาย.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=1#คนฺถารมฺภกถา


โดย: ชาวมหาวิหาร IP: 137.226.129.115 วันที่: 3 สิงหาคม 2555 เวลา:16:17:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.