นิดหนึ่งนี้อุทิศแด่ชาวนา ผู้ต่ำต้อยน้อยหน้าเหลือแสน ลำบากยากจนข้นแค้น ไป่แม้นชาวฟ้ามหานคร

“ฟู้ด ดีเฟนส์” เกี่ยวข้องอะไรกับทิศทางระบบการเกษตรของไทย

บางท่านอาจจะสงสัยว่า “ฟู้ด ดีเฟนส์” คืออะไร ก็ขออนุญาตแปลแบบงู ๆ ปลา ๆ ให้พี่น้องชาวเกษตรปลอดสารพิษได้รับทราบพอเป็นกระสัยกันนะครับ “ฟู้ด ดีเฟนส์” แปลตรงตัวก็คือการป้องกันหรือปกป้องตัวเองจากอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอาหารการกิน หรือถ้าจะแปลให้ตรงกับสถานการณ์ของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและ อียู ก็แปลว่าขณะนี้พวกเขากำลังอกสั่นขวัญผวาอย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้าย จนถึงขั้นต้องออกมาตรการในการป้องกันอันตรายจากอาวุธเชื้อโรค หรืออาวุธชีวภาพที่อาจปนเปื้อนมากับอาหาร พืชผัก ผลไม้เพื่อมาบ่อนทำลายทำร้ายประชาชนภายในประเทศของเขา โดยทางอียูและสหรัฐอเมริกาเกรงว่าผู้ก่อการร้ายที่มีเงินทุนน้อยอาจจะนำเอาวิธีการนี้มาใช้โจมตีเขาอีกครั้งในรูปแบบกองโจรเหมือนเมื่อครั้งที่ได้เกิดขึ้นกับตึก WorldTrade วันที่ 11 กันยายน 2544 ในอเมริกา จึงได้คิดงอกมาตรการนี้ออกมาทำให้ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายที่ยังไม่ปรับปรุงนิสัยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มัวแต่ทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนไม่เป็นอันทำการทำงานบริหารบ้านเมืองได้อย่างเป็นปรกติสุข จะต้องมีเรื่องวุ่นวายที่ต้องปวดหัวเพิ่มเข้ามา ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีมาตรการในการแก้ไขปรับปรุงระบบการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเรื่องราวร้ายๆ ที่ได้เกิดขึ้นกับประเทศเรานั้น นับวันก็จะยิ่งเพิ่มทวีมากยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนดินพอกหางหมูเข้าไปทุกวัน ดังคำโบราณที่เขาพูดกันไว้ว่า “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” อะไรอย่างนั้นเชียว ทีนี้รัฐบาลของไทยเราจะต้องมีโนโยบายที่สร้างความชัดเจนและทิศทางของภาคการเกษตรให้มากขึ้น เพราะในอดีตที่ผ่านมามัวแต่ปล่อยให้เกษตรกรทำกันแบบตามมีตามเกิด ซึ่งต่อไปวิธีการแบบเมื่อนี้คงจะใช้ไม่ได้ เพราะจะยิ่งทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำย่ำแย่ลงไปอีก เพราะทำแล้วขายไม่ได้ ไม่มีใครต้องการ เพราะคุณภาพและมาตรฐานยังไม่ได้ตามที่ อียูและสหรัฐต้องการ (ปัจจุบันสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นลูกค้ารายใหญ่หรือจัดว่าเป็นลูกค้าอันดับต้น ๆ ที่ช่วยในเรื่องการส่งออกของไทย) มีทั้งสารเคมีตกค้าง มีทั้งเชื้อโรคปนเปื้อน และปัญหาต่าง ๆ อีกเยอะแยะมากมาย

ถ้าเรามองอีกแง่มุมหนึ่งก็อาจจะดูเหมือนเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ในฐานะของประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย มักจะนำวิธิีการในลักษณะนี้มาใช้เป็นข้ออ้างกับประเทศที่ไม่มีขีดความสามารถในการต่อรองเพื่อใช้เป็นกำแพงภาษีในการกีดกันการค้า ซึ่งเราต้องยอมรับกันนะครับ เพราะปัจจุบันเรายังต้องงอนง้อให้เขาซื้อสินค้าจากเราอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หมู ไก่ และผักผลไม้อื่นๆ อันนี้เป็นเรื่องจริงที่เราจะต้องยอมรับ จนกว่าเราจะมีรัฐบาลที่ทำมาค้าขายเก่งและหาตลาดใหม่ ๆ กระจายกันไปทั่วทั้งโลกไม่ต้องมัวมาง้อประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียว ถ้าทำได้อย่างที่ว่า วันนั้นแหละเราจึงจะมีอิสรภาพมากขึ้นทางด้านการจำหน่ายสินค้าเพื่อการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก




ในปัจจุบันวิธีการผลิตเกษตรแบบปลอดสารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์ก็มีอยู่หลากหลายวิธีและหลากหลายหน่วยงานที่ให้คำแนะนำปรึกษา แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะในภาคปฏิบัติในระดับประเทศ ระบบการเกษตรแบบปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์ของไทยเรายังแผ่ขยายไปไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ ดังจะเห็นได้ในต่างจังหวัด ซึ่งมีอยู่ในหลายๆ พื้นที่ยังคงทำการเกษตรแบบโบราณ คือยังคงใช้สารเคมียาปราบศัตรูพืช ใช้ยาฆ่าหญ้า ใช้เคมีที่กำจัดหอยเชอรี่ซึ่งมีผลกระทบต่อปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย จะมีบ้างก็เพียงแต่กลุ่มเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ ที่มุ่งมั่น ขยันขันแข็งทำเกษตรในรูปแบบปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์กันด้วยความลำบากยากเย็นแสนเข็ญ แต่ผลิตผลที่ได้ออกมาก็ได้ราคาที่ไม่แตกต่างจากผลผลิตแบบที่ใช้ปุ๋ยยาปราบศัตรูพืชกันสักเท่าไร ทำให้กำลังและแรงจูงใจในการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษนั้นลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ ในใจลึกๆ ของพี่น้องเกษตรกรจึงได้แต่หวังว่า สักวันหนึ่งอาจจะมีผู้นำหรือรัฐบาลที่จริงใจให้ความสนใจหรือมีนโยบายที่ให้ความสำคัญแก่ภาคเกษตรอย่างจริงจัง โดยออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์และเอื้ออำนวยต่ออาชีพของเขาบ้างสักครั้งหนึ่งก็ยังดี

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com



Create Date : 13 มีนาคม 2555
Last Update : 13 มีนาคม 2555 17:34:38 น. 0 comments
Counter : 414 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

mont20
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เกษตรปลอดสารพิษวันละนิด ชีวิตจะแจ่มใส
[Add mont20's blog to your web]