นิดหนึ่งนี้อุทิศแด่ชาวนา ผู้ต่ำต้อยน้อยหน้าเหลือแสน ลำบากยากจนข้นแค้น ไป่แม้นชาวฟ้ามหานคร

จุลินทรีย์น้ำทำเองได้ ไม่ต้องซื้อ

เมื่อสักเจ็ดแปดปีที่แล้วกระแสการทำปุ๋ยน้ำชีวภาพปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกเพื่อใช้สอยในครัวเรือนสำหรับผู้ที่ปลูกพืชผักสวนครัวเล็กๆน้อยๆไว้หลังบ้านเป็นที่นิยมกันอย่างมาก เพราะมีนโยบายจากรัฐบาลในขณะนั้นที่มุ่งมั่นให้ครัวไทยก้าวไกลไปสู่ครัวโลก การเกษตรเกือบทุกแขนงให้ความสนใจในการทำเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกปุ๋ยน้ำชีวภาพเพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีจึงมีบทบาทอย่างมากในขณะนั้น บางคนที่มีความชำนาญในการหมักปุ๋ยและเป็นที่ทราบในหมู่เพือนฝูงก็ต้องหมักเผื่อไว้เอื้อเฟื้อแบ่งปันญาติสนิทมิตรสหายที่มาเอ่ยปากถามไถ่ (ในอดีตเรื่องการหมักปุ๋ยน้ำชีวภาพถือเป็นเรื่องไหม่)

การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยน้ำชีวภาพสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กากน้ำตาลหรือโมลาสคือกลุ่มและชนิดจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลาย ยิ่งได้จุลินทรีย์เจ้าถิ่นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพหลากหลายสายพันธ์ุก็จะยิ่งประโยชน์ต่อการนำไปใช้ ได้จุลินทรีย์ที่มีความแข็งแรงย่อยสลายเศษอาหารอาหาร ซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นปุ๋ยเหมาะสมต่อการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว กลุ่มจุลินทรีย์ที่ใช้ทำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกจะเน้นความหลากหลายของจุลินทรีย์มีทั้งกลุ่มแอคติโนมัยซีท รา แบคมีเรีย ยีสต์หลายๆชนิดไม่เฉพาะเจาะจงชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ มักอยู่ในรูปของสปอร์ (spores)และมัยซีเลียม (mycelium) จำนวนและชนิดแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิ ความชื้น พีเอช ชนิดของดินและความตื้นลึกของดินด้วย บางครั้งอาจพบมัยซีเลียมอยู่รวมกับอนุภาคของสารต่าง ๆ ในดิน บางชนิดใช้มัยซีเลียมยึดเกาะกันและแทรกเข้าไปในเนื้อดินบางชนิดเจริญข้างในหรือด้านบนของอนุภาคอินทรียสาร เป็นต้น (ท่านที่สนใจในเรื่องนี้โดยตรงสามารถค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ปฐพีเบื้องต้น ซึ่งมีอยู่หลากหลายหรือสนใจของรองศาตราจารย์ดร.ยงยุทธ์ โอสถสภาก็ละเอียดใช้ได้)

จุลินทรีย์พวกนี้เมื่ออาศัยอยู่ในดินจะช่วยแลกเปลี่ยนสารอาหารกับพืชช่วยทำให้พืชโตเร็ว ช่วยเพิ่มสารประกอบพวกคาร์บอนและไนโตรเจน สร้างความชุ่มชื้นและช่วยย่อยอนุภาคของอินทรีย์วัตถุให้มีขนาดเล็กลงได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ดินสามารถอุ้มและกักเก็บน้ำได้ดี แล้วจะหาจุลินทรีย์เหล่านี้ได้ที่ไหน? อาจจะมีผู้อ่านที่เป็นสมาชิกรุ่นใหม่ไฟแรงของชมรมเกษตรปลอดสารพิษที่คิดในใจ จึงจะได้ช่วยชี้แจงแถลงไข ณ บัดนาว!! จุลินทรีย์เหล่านี้สามารถหาได้จากแหล่งธรรมชาติโดยทั่วไป แต่ถ้าจะให้ดีหน่อยก็ควรเลือกแหล่งที่อยู่อาศัยที่ดูดี (housing) เช่นตอซัง ฟางข้าว กอไผ่ ในผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่ที่จะนำมาแนะนำในวันนี้ในมุมมองของนักส่งเสริมที่สามารถให้เกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคสามารถเสาะแสวงหาวัตถุดิบมาใช้ง่ายที่สุด นั่นก็คือกล้วยหรือหน่อกล้วยนั่นเอง

ให้เสาะหาคัดเลือกหน่อกล้วยที่จ้ำม่ำ อวบ อ้วน สมบูรณ์สูงไม่เกินหนึ่งเมตร ชาวบ้านเรียกหน่อกล้วยขันหมากอย่าไปคัดเลือกกล้วยที่เสื่อมโทรม อมโรค ผอมแห้ง ตายพรายมาเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะกลายเป็นนำจุลินทรีย์ผู้ร้ายมาเยือนแปลงเกษตรของท่านได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำการขุดจนถึงเหง้า รากและให้ดินติดปนเปื้อนมาด้วยเล็กน้อยประมาณ 2-3 ช้อนแกง ในส่วนของดินนี้ก็เพื่อให้มีกลุ่มของแอคติโนมัยสีท แบคทีเรีย รา ยีสต์ติดมาด้วยนั่นเองทำการหั่น บด สับ ให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจำนวน 3 กิโลกรัม ร่วมกับกากน้ำตาลอีก 1 กิโลกรัม(ให้ชั่งเป็นกิโลไม่ต้องตวงเพราะความข้นหนืดและเหลวของกากน้ำตาลในปััจจุบันคุณภาพไม่แน่นอน) หมักใส่ถังขนาดที่พอดีเหมาะสมให้เหลือพื้นที่สำหรับอากาศบ้างเล็กน้อยไม่ต้องเต็มหรือล้นภาชนะหมักให้ได้ 7 - 15 วันคั้นเอากากออกและเก็บน้ำไว้ใช้เท่านี้ท่านก็จะได้จุลินทรีย์อเนกประสงค์ที่ไม่ต้องซื้อหาไว้ทำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ใส่ในเลือกสวนไร่นา ปรามโรค(ผสมกับเหล้าขาวและน้ำส้มสายชู) ฯลฯ

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:30:31 น.   
Counter : 659 Pageviews.  

ใช้จุลินทรีย์ชีวภาพทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกันดีกว่า ประหยัดเงิน ประหยัดชีวิต

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนับวันมีแต่ราคาแพงเพ่ิมสูงขึ้นอยู่เรื่อย เพราะเป็นที่นิยมของเกษตรกร มีความสะดวกสะบายง่ายต่อการนำไปใช้งาน เห็นผลทันตา แต่ในคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์เพราะสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงเหล่านี้มักจะมีสารที่เป็นอันตรายต่อผู้ฉีดพ่นด้วย ในระยะยาวอาจทำให้เจ็บป่วย ไม่สบายปากบิด มือเบี้ยว อัมพฤต อัมพาต เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือปอดหาย (เตือนภัยแคนตาลูป คนปลูกปอดหาย..! ไทยรัฐออนไลน์ฉบับวันที่ 18 มกราคม 2554 //www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/231188). หรือจะสอบถามกับญาติสนิทมิตรสหายที่เป็นเกษตรกรดูก็จะมีข้อมูลพวกนี้อยู่มากพอสมควร

ปัจจุบันพืชผักผลไม้ที่ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงก็มักไม่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน จะใส่กระเช้าเป็นของขวัญหรือหิ้วติดไม้ติดมือไปฝากเพื่อนบ้านหรือญาติผู้ใหญ่ ถ้าเขาล่วงรู้พฤติกรรมการดูแลบำรุงรักษาว่าเป็นแบบใช้ยาฆ่าแมลงก็อาจจะเกรงใจรับไว้แต่ลับหลังอาจจะโยนทิ้งใส่ถังขยะก็ได้ ยิ่งเป็นพืชจำพวกคะน้า แตงกวา ถั่วฝักยาว องุ่น แคนตาลูป แตงโม" แต่เนื่องจากความสะดวกสะบายบวกกับความเคยชินของเกษตรกรส่วนใหญ่จึงยังคงใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ เพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการไม่โดนหนอนหรือแมลงเข้าทำลาย

โดยปรกติผลผลิตเหล่านี้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดจึงต้องแอบใช้ บ้างก็หยุดฉีดก่อนเก็บทำแบบหลบๆซ่อน ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเกษตรกรอาจยังเข้าไม่ถึงข้อมูลที่มีอยู่มากมายก่ายกองในหลายๆหน่วยงานและหลายช่องทางทั้งวารสาร วิทยุ ทีวี อินเตอร์เน็ตและเคเบิ้ลทีวี มีการแนะนำส่งเสริมให้ใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูอยู่พอสมควร โดยปัจจุบันมีจุลินทรีย์บีทีกำจัดหนอน, จุลินทรีย์กำจัดเชื้อราแก้โรครากเน่าโคนเน่าอย่างไตรโคเดอร์ม่า, จุลินทรีย์ทรีย์บีเอสพลายแก้วปราบโรคแคงเกอร์ในส้มมะนาวหรือแม้แต่การปราบเชื้อราในเห็ดอย่างราดำ ราส้ม ราเมือก ราเขียวฯลฯ จุลินทรีย์ ทริปโตฝาจ กำจัดเพลี้ย, จุลินทรีย์ไมโตฟากัสกำจัดไร, จุลินทรีย์เมธาไรเซียมกำจัดปลวกหรือกลุ่มของหินแร่ภูเขาไฟอย่าวพูมิช, พูมิชซัลเฟอร์ที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่ผนังเซลล์ตั้งแต่เริ่มปลูกช่วยลดและป้องกันการเข้าทำลายของโรคและแมลงตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเก็บเกี่ยว สำหรับท่านที่สนใจการทำเกษตรปลอดสารพิษเกษตรอินทรีย์ติดต่อปรึกษาสอบถามข้อมูลได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษนะครับ 0-2986-1680-2

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:30:04 น.   
Counter : 355 Pageviews.  

จุลินทรีย์บีเอสพลายแก้ว ปราบเชื้อราศัตรูตัวสำคัญของเกษตรกรผู้เพาะเห็ด

การเพาะเห็ดในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่กำลังกลับหลังหันจากทุนนิยมสุดขั้วมาสู่แนวทางด้านการเกษตรพอเพียง เกษตรอินทรีย์หรือเกษตรปลอดสารพิษ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สะดวก ง่าย ประหยัดไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมาก ใครๆก็สามารถทำได้ (ไม่แน่ใจว่าคิดเหมือนกันทุกคนหรือเปล่า) แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันเป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยเฉพาะผู้เพาะเห็ดหน้าใหม่วัยกลางคนค่อนมาทางวัยรุ่นตอนปลายนิดหน่อย โดยค่อยๆเริ่มทำไปทีละน้อยแบบลองผิดลองถูกและค่อยๆพัฒนาไปจนเกือบครบวงจรตั้งแต่กระบวนการผลิตและหาตลาด คือมีความคิดพัฒนาไปไกลกว่าเกษตรกรรุ่นเก่าที่มักทำเพียงการเพาะเห็ดเก็บดอกเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันมีการทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำด้วยตนเอง คือการผลิตก้อนเชื้อเอง ดูแลรักษาเอง ทำการตลาดเองไปจนถึงการดูแลคุณภาพให้ปลอดภัยไร้สารพิษเพื่อเอาใจผู้บริโภค (from farm to table)

ปัญหาที่เกษตรกรผู้เพาะเห็ดรุ่นใหม่พบอยู่บ่อยๆหลังจากที่ได้เพาะไประยะหนึ่งในการเพาะเห็ดคือ ปัญหาเรื่องเชื้อรา ที่จะค่อยกักเก็บสะสมเพิ่มจำนวนมากขึ้นทีละน้อยสอดคล้อดสัมพันธ์ไปกับแหล่งอาหารที่อุดมดมสมบูรณ์ไปพร้อมกันตามกฏของอิทัปปัจจยตา การทำงานของเชื้อราแต่ละชนิดที่เข้ามาทำลายจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

1.เชื้อราดำกลุ่มแอสเพอร์จิลลัส (Aspergillus sp) ลักษณะที่พบทั่วไปของถุงเห็ด คือ บางส่วนของถุงเห็ดมีสีเขียวเข้มเกือบดำ อาจเกิดที่ส่วนบนใกล้ปากถุงแล้วลามลงไปข้างล่างหรือเกิดจากด้านล่างขึ้นไปก็ได บางส่วนของถุงเห็ดมีสีน้ำตาลเกิดขึ้นติดกับบริเวณที่มีสีเขียวเข้ม

2.เชื้อราดำโบไตรดิฟโพลเดีย (Botryodiplodia sp) จะพบว่าขี้เลื่อยในถุงเห็ดมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ซึ่งในระยะแรกเชื้อราจะมีสีขาว ต่อมาเจริญขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทิ้งไว้นาน จะเกิดก้อนเล็กๆ สีดำ ที่เป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรานูนออกมาที่ผิวของถุงพลาสติก

3.เชื้อรากลุ่มราเขียว (Trichoderma sp,Gliocladium sp) ลักษณะการปนเปื้อนจะสังเกตเห็นได้ง่าย เนื่องจากสปอร์ของเชื้อรามีสีเขียวอ่อนใส เมื่อเกิดรวมกันหนาแน่นจะเห็นเป็นหย่อมสีเขียวมะกอกหรือสีเขียวเข้มในถุงเห็ด

4.ราเขียวเพนนิซีเลียมและเพซีโลไมซีส (Penicillium sp, Paecelomyces sp) เชื้อราทั้ง 2 ชนิดนี้มีลักษณะรูปร่างทางสัญฐานวิทยาคล้ายคลึงกันมาก มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วสามารถสร้างสปอร์ได้เป็นจำนวนมาก เชื้อราเพนนิซีเลียมเป็นราที่ชอบอุณหภูมิปานกลาง ลักษณะบนถุงเห็ดจะเห็นเป็นหย่อมสีเขียวตอง่อน สีเหลืองอ่อนอมเขียว หรือสีเทาอ่อนมองดูคล้ายฝุ่นเกาะสกปรก มักเกิดบริเวณด้านล่างของถุงเห็ด ส่วนเชื้อราเพซีโลไมซีสเป็นราชอบร้อน สามารถทนต่ออุณหภูมิสูงได้ มักจะเกิดกับถุงเห็ดหอม ลักษณะที่ปรากฏ คือ มองเห็นเป็นฝุ่นสีซีด เช่น สีน้ำตาล ชีดๆ ปนเหลืองอ่อน หรือสีเหลืองชีดจางๆ สังเกตเห็นเส้นแบ่งเขตการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดและเชื้อราได้อย่างชัดเจน

5.ราสีส้มหรือราร้อน (Neurospora sp) มักเกิดเป็นกระจุกบริเวณปากถุงมีลักษณะเป็นผลสีชมพูอมส้ม หรือเป็นก้อนติดเสียก่อน

6.ราเมือก (Slime mould) จะเกิดกับถุงเห็ดที่เปิดถุงเก็บดอกไปแล้วหลายรุ่นและเป็นถุงที่อยู่ด้านล่างสุด จะสังเกตเห็นเส้นใยสีเหลืองชัดเจนบริเวณด้านข้างถุงและบริเวณปากถุงโดยมากมักจะเกิดกับถุงเห็ดหูหนูที่มีการกรีดถุงด้านข้างและรดน้ำนานๆ จนทำให้ถุงชื้นแฉะนอกจากนี้ยังเกิดได้กับถุงเห็ดฐานที่หมดรุ่นแล้วแต่ยังไม่มีการขนย้ายทำความสะอาดโรงเรือน

โรคของเห็ดถุงที่เกิดจากเชื้อราโดยทั่วไปเกิดได้ทั้งเชื้อราปนเปื้อนหรือเช้ือราแข่งขัน และเชื้อราโรคเห็ด ซึ่งเชื้อราปนเปื้อนส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีเส้นใยเจริญเร็วมาก ทำให้เส้นใยเห็ดชะงักการเจริญเติบโต สังเกตเห็นเส้นแบ่งเขตที่เส้นใยเห็ดมาบรรจบกันเส้นใยของเชื้อราปนเปื้อน การเกิดเชื้อราปนเปื้อนในถุงเพาะเห็ดมักเป็นสาเหตุให้ผลผลิตเห็ดลดลง ถ้ามีเชื้อราเหล่านี้เกิดบริเวณปากถุงก็จะเป็นเหตุให้เกิดการระบาดไปทั่วทั้งโรงเพาะเห็ดได้รับความเสียหายได้ผลผลิตลดลง

สาเหตุของการเกิดเชื้อราปนเปื้อนมีหลายประการ เช่น การทิ้งถุงก้อนเชื้อเห็ดที่เก็บดอกแล้วในบริเวณฟาร์ม ทำให้เชื้อรากระจายอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อมีฝนตก ลมพัด หรือตกลงไปในน้ำที่นำใช้รดเห็ด นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกเช่น หัวเชื้อไม่บริสุทธิ์ การนึ่งฆ่าเชื้อถุงเห็ดที่ทำลายเชื้อไม่หมด ถุงแตกหรือถูกแมลงทำลาย เป็นต้น (รายละเอียดเพิ่มเติม การเพาะเลี้ยงเห็ดในถุงพลาสติก แต่งโดยดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ)

ปัญหาสาเหตุเหล่านี้ในปัจจุบันมีจุลินทรีย์ที่ชื่อว่าบีเอสพลายแก้ว ที่พัฒนาโดยท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ อดีตนายกสมาคมผู้เพาะเห็ดแห่งประเทศไทย อดีตข้าราชการบำนาญประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยผู้ที่ค้นพบคือคุณพลายแก้ว เพชรบ่อแก ซึ่งเป็นนิสิตคณะประมงในขณะนั้นได้พบโดยบังเอิญจากกุ้งแห้งในขณะที่ได้ทำปัญหาพิเศษโดยท่านอาจารย์ดีพร้อมเป็นที่ปรึกษา จุลินทรีย์บีเอสพลายแก้วเป็นบัคเตรีที่สามารถยับยั้งทำลายเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยที่เห็ดซึ่งก็เป็นเชื้อราเหมือนกันไม่ตายตามไปด้วย เนื่องจากว่าเห็ดนั้นเป็นเชื้อราที่จัดว่าสายพันธุ์สูงกว่า เกษตรกรผู้เพาะเห็ดมือใหม่สนใจเจ้าจุลินทรีย์ตัวนี้เพื่อใช้ทดแทนสารเคมีหรือยาฆ่าเชื้อราที่ใช้ทั่วไปในท้องตลาด สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ 0-2986-1680-2 หรือ //www.thaigreenagro.com

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:29:31 น.   
Counter : 355 Pageviews.  

จุลินทรีย์ไทย ลงแปลงนาไทย เกษตรกรไทยทำเองได้ไม่ต้องซื้อ

ปัจจุบันมีการตื่นตัวเรื่องจุลินทรีย์กันมากขึ้น ทั้งจุลลินทรีย์น้ำอีเอ็ม, อีเอ็มบอล, พด.1, พด. 2. พด. 3 และอีกหลายๆ พด. เนื่องด้วยกระแสน้ำท่วมที่มีการนำจุลินทรีย์เข้ามาช่วยบำบัดน้ำเสียและกระแสการทำเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ที่มีการรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพทดแทนสารเคมี นอกจากจุลินทรีย์ย่อยสลายของเสียเหล่านั้นแล้วก็ยังมีจุลินทรีย์กำจัดโรคศัตรูทั้งในพืชและเห็ดอย่างเช่น จุลินทรีย์บีเอสพลายแก้วปราบเชื้อรา จุลินทรีย์กำจัดหนอนบีทีชีวภาพ, จุลินทรีย์กำจัดไรไข่ปลาในเห็ด ไมโตฟากัส, จุลินทรย์กำจัดปลวก เมธาไรเซียม,จุลินทรีย์ทริปโตฝาจกำจัดเพลี้ย, เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวและจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์ม่าแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน สวนส้มมะนาวและไม้ผลอื่นๆ

แต่ที่เราจะพูดคุยกันในวันนี้คือจุลินทรีย์หน่อกล้วยสายพันธุ์ไทยแท้ที่มีอยู่ทั่วทุกแห่งหนทั่วทุกตำบลในประเทศไทย เกษตรกรโดยทั่วไปสามารถผลิตด้วยลำแข้งของตนเองได้ไม่ต้องซื้อหา นึกจะทำวันเวลาไหนเมื่อไรก็ได้ มีความสะดวกสบายคล่องตัวเพราะต้นกล้วยมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยเรา ไม่ต้องคอยกังวลว่าหัวเชื้อจากญี่ปุ่นจะหนีกลับประเทศเขาเมื่อไร ไม่ต้องคอยกังวลว่าเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารกรมพัฒนาที่ดินคนต่อไปจะยังคงมีนโยบายทำจุลินทรีย์แจกพี่น้องประชาชนอยู่หรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นเกษตรกรมีเหลือเพียงกากน้ำตาล (โมลาส) เพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย แต่ถ้าเกษตรกรเรียนรู้การทำจุลินทรีย์หน่อกล้วยด้วยตนเองขอเพียงมีต้นกล้วยและกากน้ำตาลในชุมชน บ้านเรือนเป็นพอ

วิธีการทำก็ไม่ยากเย็นให้มองหาหน่อกล้วยที่สูงไม่เกินหนึ่งเมตร ชาวบ้านทั่วไปในต่างจังหวัดบางพื้นที่เรียกหน่อกล้วยขันหมาก เลือกลักษณะต้นที่อวบ อ้วน สมบูรณ์มีน้ำมีนวล ไม่ใช่ต้นที่ผอมแห้งแรงน้อย บ่งบอกถึงอาการตายพรายไส้เน่าอย่างนี้ไม่เหมาะต่อการนำมาหมักขยายทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ คัดเลือกแล้วขุดยกเหง้าให้มีดินติดปนมาเล็กน้อยประมาณ 2- 3ช้อนแกง นำมาบดสับตำให้ละเอียดจำนวน 30 กก. กากน้ำตาล 10 กก. หมักใส่ถังขนาด 100 หรือ 200 ลิตรทิ้งไว้ประมาณ 7 - 10 วัน แล้วคั้นน้ำเอากากออก หมักทิ้งไว้อีกจนครบหนึ่งเดือนก็สามารถนำมาใช้งานหมักขยายได้เหมือนจุลินทรีย์อีเอ็ม และ พด. แต่ที่ดีกว่าคือเกษตรกรสามารถทำด้วยตนเองได้ตลอดเวลา ไม่ต้องซื้อช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า แถมมีปริมาณเพียงพอต่อการใช้งานจริง เพราะบางทีของแจกจากทางภาครัฐอาจจะได้มาคนละซองสองซองไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

จุลินทรีย์หน่อกล้วย ทำมาจากหน่อกล้วยในท้องถิ่น เป็นจุลินทรีย์ท้องถิ่นจริงๆลงในแปลงนาท้องถิ่นไม่ต้องปรับตัวมาก จุลินทรีย์มีความแข็งแรง คุ้นเคยกับสภาพแว้ดล้อมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างอเนกประสงค์ ไม่ว่าจะนำไปราดรดกองปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก, ราดรดในแปลงนาหมักตอซังฟางข้าวให้ย่อยสลายเตรียมทำเทือกไม่ต้องเผาฟาง, ใช้หมักทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ, ใช้หมักกับพืชสมุนไพรไล่แมลง, ใช้บำบัดน้ำเสียได้ทั้งในรูปแบบน้ำและลูกบอล (เรียกจุลินทรีย์ BB บอลหรือบานาน่าบอล ดูทันสมัยเข้ากับยุคโซเชียลมีเดียดีเหมือนกัน ฮ่าฮ่า)

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:29:02 น.   
Counter : 465 Pageviews.  

สารเคมีกำจัดเชื้อรากับจุลินทรีย์ตัวดีในธรรมชาติ

เมื่อฤดูฝนค่อย ๆ ย่างกรายเข้ามาและนำพาความชุ่มฉ่ำมาสู่มวลมนุษย์และธรรมชาติโดยทั่วกัน ในฤดูกาลนี้ของทุก ๆ ปีมักจะมีอิทธิพลที่ส่งผลกระทบถึงเกษตรกรอยู่เสมอมา ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นปัญหาเดิม ๆ คือเรื่องของเชื้อราที่มักจะมีปัญหาอย่างมากในฤดูกาลเช่นนี้ เพราะปัจจัยและองค์ประกอบต่าง ๆ ดูสอดคล้องเหมาะสมและเอื้อต่อการเจริญเติบของจุลินทรีย์และเชื้อราต่าง ๆ อย่างมากมาย




จุลินทรีย์ทั้งหลาย ๆ ก็มีชีวิตความเป็นอยู่คล้าย ๆ กับมนุษย์เราเหมือนกัน คือมีความหลากหลายและแตกต่างกันทั้งทางด้านสายพันธุ์ อาหาร ที่อยู่อาศัย และที่สำคัญคือ มีทั้งที่เป็นชนิด “ดี” และ “ร้าย” ชนิดที่ดีคือเป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อม ส่วนชนิดร้ายก็คือ เจริญเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความสูญเสียหรือทำลายพืชผัก ไม้ผล พืชไร่ ฯลฯ รวมทั้งคนด้วยก็ด้วยเหมือนกัน คือเรื่องโรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาสร้างปัญหาให้แก่มนุษย์ เช่น โรคท้องเสีย, เชื้อราขึ้นสมอง, โรคกลากเกลื้อน เป็นต้น

ดังนั้นในการดูแลบำรุงรักษาพืชผักไม้ผลของเกษตรกร จะต้องกระทำอย่างระมัดระวังเพื่อมิให้จุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ซึ่งคอยช่วยเหลือดูแลรักษาต้นไม้ของเราสูญหายหรือถูกทำลายตายตามกันไปด้วย เพราะสาเหตุที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพี่น้องเกษตรกรที่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าเชื้อรานำมาผสมน้ำราดรดโคนต้นไม้ หรือฉีดพ่นลงไปในแปลงผัก สารพิษเหล่านี้จะฆ่าเชื้อราทั้งตัวดีและตัวร้ายตายลงไปพร้อม ๆ กัน ทำให้ระบบนิเวศน์ขาดความสมดุลย์ ดินแน่นแข็ง การระบายถ่ายเทน้ำไม่ดี ฟอสฟอรัสถูกนำมาใช้ได้ยาก พืชขาดความอุดสมสมบูรณ์

ดังนั้น! ก่อนที่จะกำจัดหรือฆ่าเชื้อราโปรดหยุดคิดและพิจารณากันสักนิดนะครับ

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555   
Last Update : 13 มีนาคม 2555 11:27:36 น.   
Counter : 388 Pageviews.  

1  2  

mont20
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เกษตรปลอดสารพิษวันละนิด ชีวิตจะแจ่มใส
[Add mont20's blog to your web]