|
ตะลุยเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ 2548 (ตอนที่ 1)
Bad Education / Hari Om
 
24-25 ม.ค. 2548 รวบยอด 2 วันสุดท้ายนะครับ กับเรื่องแรก Bad Education คงต้องบอกว่า อัลโมโดวาร์ รักษามาตรฐานอันสูงส่งของตัวเองไว้ได้อีกครั้งครับ ว่ากันว่า Bad Education ถือเป็นหนังที่เหมือนบันทึกส่วนตัวบทหนึ่งของอัลโมโดวาร์ หนังเกี่ยวกับเด็กนักเรียนชายในโบสถ์ที่ถูกบาทหลวงล่วงเกินทางเพศ และพบรักกับนักเรียนชายอีกคน จนกระทั่งบาทหลวงจับได้เลยไล่นักเรียนคนหลังออกไป กาลต่อมา คนแรกเติบโตขึ้นเป็นกระเทยแปลงเพศ ส่วนคนหลังเป็นผู้กำกับหนัง และอัลโมโดวาร์ตัวจริง ก็เคยเป็นเด็กนักเรียนในโบสถ์ โดยที่เค้าบอกว่าไม่ชอบระบบการศึกษาแบบนั้นที่บาทหลวงเป็นใหญ่ และเมื่อดูจนจบแล้ว ผมยิ่งเชื่อเข้าไปใหญ่ว่าเค้าคงใช้ชีวิตจริงมาเป็นแรงบันดาลใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว เรื่องนี้มีสิ่งที่ผมสังเกตเห็นหลังหนังจบไปแล้วว่า ตัวละครในเรื่อง แทบจะเป็นเกย์ล้วนๆ!!! และมีฉากที่ล่อแหลมมากๆหลายฉาก แม้จะไม่มีการเปิดเผยให้เห็นอวัยวะส่วนตัวจะๆเลยก็ตาม ในอเมริกาหนังจึงได้รับเรต NC-17 ซึ่งเป็นเรตหนังแรงที่สุด กล่าวคือห้ามเด็กต่ำกว่า 17 ปีเข้าชม เอกลักษณ์สำคัญของอัลโมโดวาร์ยังคงอยู่ในหนังเรื่องนี้ครับ นั่นคือการเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจ และการทำหนังที่ต้องเรียกว่านุ่มนวลมากๆ ทั้งๆที่เนื้อหารุนแรงขนาดนั้น แถมตัวหนังเรียกว่าเป็นฟิล์มนัวร์ตั้งแต่ฉากเปิดเลย ซึ่งฉากเปิดนี่แหละที่ทำออกมาได้เยี่ยม และเรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างดี พูดๆไปแล้ว นอกจากเนื้อหาที่รุนแรง ซึ่งไม่เหมาะกับหลายๆคน และอีกหลายๆคนอาจจะรับเรื่องอย่างนี้หรือฉากหลายๆฉากในเรื่องไม่ได้ ผมหาที่ติหนังเรื่องนี้ไม่เจอจริงๆครับ การแสดงจัดว่ายอดเยี่ยมทุกคน โดยเฉพาะ เกล กาเซียร์ เบอร์นัล ที่ผมเพิ่งผ่านตามาจาก The Motorcycle Diaries เรื่องนี้นี่ กลายมาเป็นกระเทยแปลงเพศได้อย่างเนียนมาก แถมยังมีฉากที่ได้โชว์การร้องเพลง Quizas, Quizas, Quizas ซึ่งทำให้ต่อไปนี้ทุกครั้งที่ได้ยินเพลงนี้ ผมคงไม่ได้นึกถึงภาพสโลว์โมชันการเดินเยื้องย่างผ่านกันของพระเอกนางเอกใน In the Mood for Love แต่เพียงอย่างเดียวอีกแล้ว และนอกจากนั้น Bad Education ยังสมควรได้รับคำชมอย่างมากในเรื่องบท และดนตรีประกอบ ที่ลงตัวกันกับแต่ละฉาก ซึ่งบทสรุปหลังจากที่ได้ดูเรื่องนี้ก็คือ ผมแทบจะรอดูหนังเรื่องต่อไปของอัลโมโดวาร์ไม่ไหวแล้วล่ะครับ
สุดท้ายเป็นการตามเก็บหนังรางวัลที่ยังไม่ได้ดู ซึ่งเรื่องที่ประจวบเหมาะก็คือ Hari Om หนังอินเดียที่ได้รับรางวัลหนังของผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม หรือรางวัลชนะเลิศในสาย New Voice นั่นเอง ขึ้นชื่อว่าหนังอินเดีย สิ่งแรกที่ผมคิดถึงก็คือพระเอกนางเอกเต้นระบำประกอบเพลงเกี้ยวพาราสีกันไป แล้วจะเพราะว่าผมไม่ค่อยชอบหนังลักษณะอย่างนั้นหรืออย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผมจึงแทบไม่ได้ดูหนังอินเดียเลย น้อยขนาดว่านับเรื่องด้วยนิ้วมือข้างเดียวได้และการได้ดู Hari Om ก็นับว่าทำให้ความคิดของผมที่มีต่อหนังอินเดียเปลี่ยนไปมากทีเดียว Hari Om เป็น Road Movie ที่เน้นแก่นทางจิตวิญญาณของประเทศอินเดียและความหอมหวานและทุกข์ระทมของความรัก เมื่อคู่รักนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสมาที่อินเดีย และด้วยความผิดพลาดบางประการทำให้ฝ่ายชายเดินทางไปสู่อีกเมืองแต่เพียงผู้เดียวโดยทิ้งฝ่ายหญิงไว้เพียงลำพัง เธอจึงเปลี่ยนใจจากการรีบเดินทางตามฝ่ายชายไปเป็นการถือโอกาสท่องเที่ยวอินเดียไปกับรถสี่ล้อของอินเดียซึ่งขับโดย Hari Om ชายหนุ่มผู้หนีหนี้พนันจากแก๊งค์อิทธิพลของอินเดีย ผู้กำกับ-เขียนบท Ganapathy Bharat ถ่ายทอดเรื่องราวท้องถิ่นและเรื่องราวเกี่ยวกับความรักออกมาได้เป็นอย่างดี โดยสิ่งที่เราได้เห็นตลอดการเดินทาง และได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนางเอกก็คือปรัชญาชีวิตรวมทั้งแนวคิดต่างๆของคนอินเดีย ซึ่งหลายๆเรื่องราวอาจจะทำให้คนดูถึงกับอึ้ง หรือน้ำตาไหล โดยเฉพาะฉากอันทรงพลังช่วงกลางเรื่องที่นางเอกได้ไปเยี่ยมชมวิหารหลังหนึ่งที่มีชายชราอาศัยอยู่เรื่องเล่าของชายชราที่เนื้อหาเหมือนจะเป็นเรื่องเล่าที่เราธรรมดาๆที่เราเคยได้ยินกันบ่อยแล้ว เมื่อสอดแทรกอยู่กับเนื้อเรื่องที่กลมกลืนด้วยจังหวะที่ลงตัว กลับก่อให้เกิดความรู้สึกรุนแรงยิ่ง ความพิเศษของหนังเรื่องนี้นอกเหนือจากนั้นก็คือ เราจะมีความรู้สึกอยู่เกือบตลอดเวลาว่ามีความรักและความสวยงามที่ไม่สามารถจะอธิบายด้วยคำพูดได้คล้ายเวทมนตร์บางอย่างล่องลอยอยู่ในอากาศ แม้จะมีบางช่วงที่หนังอาจจะให้ความรู้สึกเขินๆแปลกๆบ้าง แต่ด้วยบทโดยรวมที่เป็นธรรมชาติและลงตัว พร้อมกับการแสดงที่น่าชื่นชมโดยเฉพาะพระเอกเจ้าของชื่อเรื่อง Hari Om ที่รับบทได้เหมาะสมโดย Vijay Raaz ทำให้ Hari Om ซึ่งในครั้งแรกที่เห็นไม่ได้เป็นพระเอกหล่อเหลาหรือน่ารักเหมือนพระเอกทั่วๆไป แต่มีหน้าตาแบบแขกชาวบ้านๆดีๆนี่เอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนดูกลับตกหลุมรักตัวละครตัวนี้ได้ไม่ยาก รวมถึงบท Isa ที่แสดงโดย Camille Natta ซึ่งสวยหวานและได้โชว์หุ่นให้คนดูแอบเอาไปฝันกันอย่างพอเหมาะ แถมเราจะได้เห็นเธอทำท่าเป็นทั้งลิงและไก่อีกด้วย (จังหวะที่ทำท่าลิงตอนแรกผมอึ้งไปเลย ไม่คิดว่าเค้าจะกล้า) องค์ประกอบทั้งหมดนี้ได้พาคนดูไปสัมผัสกับทั้งกลิ่นหอมหวานของความรักและประเทศอินเดียที่สวยงามตรึงใจ จนกลายเป็นความประทับใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการดูหนังเทศกาลครั้งนี้ครับ (ขอแซวหน่อย ล่าสุด official site ของหนังเรื่องนี้รวดเร็วมากครับ เอาขึ้นหน้าแรกเรียบร้อยแล้วว่าได้รางวัลจากเทศกาลเรา แถมข้างในยังมีรูปตอนรับรางวัลอีก)
Don't Move / Being Julia / Bonjour Monsieur Shlomi / The Sea Inside
 
 
22 ม.ค. 2548 กับการดูหนังแบบเต็มโปรแกรม 4 เรื่องอีกครั้ง (เหนื่อยเหมือนกันนะเนี่ย) เรื่องแรก Don't Move คงต้องบอกว่าถ้าผมได้ดูเรื่องนี้ในช่วงแรกๆของเทศกาล อาจจะรู้สึกดีกับมันมากขึ้น แต่กับการดูในขั้นปลายๆโปรแกรม ซึ่งทำให้ผ่านตาหนังมากมายติดๆกัน ทำให้ผมรู้สึกไม่ดีกับเมโลดรามาเรื่องนี้เท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะผมไม่เห็นว่ามีสิ่งใดโดดเด่นถึงขั้นยอดเยี่ยมในหนังเรื่องนี้เลยก็ได้ Don't Move เกี่ยวกับเรื่องของศัลยแพทย์ที่เปิดเรื่องมาก็พบว่าลูกสาวตัวเองประสบอุบัติเหตุทางรถจนถึงขั้นต้องผ่าตัด และความเป็นความตายนั้นก้ำกึ่งกันนิดเดียว เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระเอกย้อนคิดไปถึงอดีตหลายปีก่อน กับความลับของตัวเองต่อหญิงสาวบ้านนอกคนหนึ่ง สิ่งที่ดีที่สุดของ Don't Move น่าจะเป็นการแสดงของพระเอก เซอร์จิโอ คาสเตลลิโต ซึ่งควบตำแหน่งกำกับและเขียนบทด้วย และนางเอก เพเนโลปี ครูซ แต่สำหรับผมแล้ว การระเบิดการแสดงที่เกรี้ยวกราดหรือฟูมฟายในบางฉาก แม้จะทำได้ดีมากแต่มันก็ไม่เท่าการสวมวิญญาณเป็นตัวละครและแสดงทุกๆรายละเอียดเล็กๆแบบที่ผมเพิ่งผ่านตามาจาก Vera Drake หรือแม้แต่ Clean ได้ บทภาพยนตร์น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมไม่ค่อยจะประทับใจหนังเรื่องนี้เท่าไหร่นัก เพราะมันเป็นหนังประเภทที่เหมือนผมจะเคยดูมาแล้วเป็นสิบเรื่อง และข้อเสียเปรียบก็คือ มันเป็นหนังที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกดี หรือมีความรู้สึกอะไรโดดเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ (จะเห็นว่าผมยังชอบหนังที่แม้จะมีบทเดิมๆ แต่ทำให้รู้สึกดีหรือสนุกสนานไปด้วยอย่าง Les Choristes ได้) ส่วนอื่นๆของหนัง รวมทั้งโปรดักชัน การถ่ายภาพ และการแสดงของนักแสดงสมทบอื่นๆ นับว่าทำได้ดีในแบบที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่ก็ไม่ได้มีอะไรที่ต้องติกัน น่าเสียดายที่ความดีในระดับธรรมดาของทุกส่วนดังที่กล่าวมานั้นทำให้ผมรู้สึกว่า 124 นาทีในหนังอิตาเลียนที่ทำเงินสูงสุดแห่งปีในบ้านเกิดเรื่องนี้ มันยาวเกินไปมาก ถือเป็นความผิดหวังในสายประกวดของผมครับ
Being Julia นับเป็นเซอร์ไพรส์ในแง่ที่ว่า ผมคาดหวังว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังดรามาเครียดๆ แทรกมุกตลกเล็กน้อย โดยโฟกัสทุกอย่างที่นางเอก แอนเน็ต เบนนิ่ง ผู้กวาดรางวัลมาจากหลายสถาบัน และเป็นชื่อที่จะต้องห้ำหั่นกับ อีเมลดา สตอนตัน จาก Vera Drake และ ฮิลารี สแวงค์ จาก Million Dollar Baby ในสาขานำหญิงบนเวทีออสการ์... สิ่งที่เป็นไปตามคาดคือการโฟกัสทุกอย่างที่นางเอก ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่ามีเธอในเกือบทุกฉากมากกว่า 80 % ของหนัง แต่สิ่งที่แปลกใจคือ ถึงมันจะเป็นดรามา แต่มันไม่ได้เครียด แต่กลายเป็นหนังที่ตลกที่สุด และได้ยินเสียงหัวเราะดังๆหลายรอบที่สุดของเทศกาลภาพยนตร์ที่ผมดูมา เรียกว่าถ้าใครจะบอกว่ามันเป็นหนังตลก ผมก็ไม่เถียง ถึงแม้ภาษาอังกฤษแบบไร้ subtitle จะเป็นอุปสรรคเล็กน้อยอีกครั้งในการชมเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผมสนุกกับมันได้น้อยลง คงเพราะมันไม่ได้ฟังยากเท่าไหร่ด้วย ก่อนอื่นต้องขอชมบทภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยบทพูดที่คมคาย และสนุกสนานเหลือเกิน ไม่น่าแปลกใจเลยที่แอนเน็ต เบนนิ่งจะเป็นหนึ่งในตัวเต็งออสการ์นำหญิงครั้งนี้จากหนังเรื่องนี้ เพราะเธอให้การแสดงที่ยอดเยี่ยม และอยู่กับแทบจะทุกส่วนของเรื่องราวในหนังจนยากที่จะแยกการแสดงของเธอออกจากองค์ประกอบอื่นๆในหนังได้ มีคนตั้งข้อสังเกตว่าแอนเน็ต เบนนิ่ง จะให้การแสดงที่ดีเยี่ยมออกมาก็ต่อเมื่อรับบทที่มีความ'ชั่วร้าย'ในระดับหนึ่ง บทก่อนหน้านี้ที่ทำให้เธอได้รับคำชมและรางวัลมากมายก็คือบทหญิงวัยกลางคนจอมปลอมในครอบครัวแตกสลายของ American Beauty ซึ่งนับเป็นบทที่มีด้านมืดมากๆในตัว แต่กับ Being Julia แอนเน็ต เบนนิ่งทำได้เยี่ยมกว่าเดิมซะอีก กับการรับบทนางเอกละครเวทีที่อยู่บนจุดสูงสุดของชีวิตในด้านชื่อเสียงที่ได้รับ แต่กลับมีชีวิตรักที่จืดชืดจนได้พบกับเด็กหนุ่มอายุรุ่นลูกที่เข้ามาจุดประกายความรักของเธออีกครั้ง แต่ภายหลังกลับออกลายกับเธอ จนนำมาซึ่งเรื่องราวในฉากไคลแมกซ์ คือการแก้แค้นของเธอกลางเวทีละครที่มีคนดูมากมาย เบนนิงให้การแสดงที่เหมือนกับว่าเธอเกิดมาเพื่อรับบทเรื่องนี้ และบทก็หนุนเธอเป็นอย่างยิ่งด้วยการเปิดทางให้เธอมีทั้งฉากที่แสดงอารมณ์ทุกข์เศร้า แสดงอารมณ์สุขสม และที่สำคัญที่สุดแสดงความ...เอ่อ...ตอแหลชั่วร้ายที่คนดูเกลียดไม่ลง โดยเฉพาะในฉากไคลแมกซ์ ที่หลังจากนั้นคำพูดที่สามีของเธอ ผู้เป็นผู้อำนวยการการแสดงละครเวที รับบทโดย เจเรมี ไอออนส์ เข้าไปบอกกับเธอหลังการแสดง เป็นบทสรุปของผู้หญิงคนนี้ที่ดีที่สุด เอาเป็นว่ากับเรื่องนี้ คงมีโอกาสได้ชมกันในโรงภาพยนตร์เมืองไทย ก็อยากจะชวนให้ทุกคนไปดูกันล่ะครับ เพราะนอกจากการแสดงฟ้าประทานของแอนเน็ต เบนนิ่งแล้ว หนังเรื่องนี้มันสนุกสนานครื้นเครงเสียจริงๆ ตัวผมเองคงไปดูแบบมี subtitle พร้อมอีกรอบเหมือนกัน
เซอร์ไพรส์ต่อมากับ Bonjour Monsieur Shlomi หนังที่ว่ากันว่าเป็นขวัญใจผู้ชมในเทศกาลต่างๆทั่วโลก และอาจจะเป็นเพราะเสียงแนะนำปากต่อปากหรืออย่างไรไม่ทราบจากรอบแรก ทำให้รอบที่ผมดู บัตรขายหมดไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว ถึงจะฉายในโรงเล็กก็เถอะ (ฉากที่ลิโด) ถ้าผมจำไม่ผิด น่าจะมีแค่เรื่องนี้กับ Bad Education ที่ไม่ได้อยู่ในสายประกวดใดๆ และไม่ได้เป็นโปรแกรมพิเศษ (เช่นพวก Ray, Phantom of the Opera, Elektra, 2046) ที่บัตรขายหมด แล้วหนังก็เฉลยตลอดความยาว 94 นาทีว่าทำไมมันถึงเป็นขวัญใจของผู้ชม Bonjour Monsieur Shlomi เป็นหนัง feel-good ที่ feel-very-very-good จริงๆ ผมรู้สึกมีความสุขอิ่มเอมกับหนังเรื่องนี้มากๆ ซึ่งก็คงจะเป็นไปตามความตั้งใจที่ชัดเจนของผู้สร้างนั่นเอง หนังเป็นเหมือน Good Will Hunting ของอิสราเอล ที่ตัดอารมณ์ดรามาออกไปนิดหน่อย แล้วเพิ่มความวุ่นวาย ความตลก และความใกล้ชิดต่อตัวละครของผู้ชมให้มากขึ้น เรื่องราวว่าด้วย Shlomi เด็กหนุ่มที่ไม่ได้เฉลียวฉลาดโดดเด่นอะไรในโรงเรียน คะแนนสอบเค้าไม่ดีในขนาดที่เกือบโดนไล่ออกอยู่หลายๆครั้ง แต่เค้ามีจิตใจที่ดีงาม เห็นได้จากการที่ Shlomi ทำทุกอย่างเพื่อคนอื่นตลอดเวลา เค้าสนิทใกล้ชิดกับปู่ ที่ชอบพูดภาษาฝรั่งเศสกับเค้า ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่อง และเป็นคนเดียวที่ใส่ใจพูดคุยกับปู่ผู้ชอบเล่าเรื่องสงครามในความฝันของตัวเองให้เค้าฟังโดยที่คนอื่นไม่สนใจ Shlomi เป็นตัวกลางที่ประสานความสัมพันธ์ทุกอย่างในครอบครัว ทั้งระหว่างแม่ผู้จู้จี้จุกจิกขี้บ่นเป็นที่สุด กับพี่ชายที่ฝันเฟื่องเรื่องเพศ เพื่อนสาวสวยข้างบ้านที่เพิ่งย้ายเข้ามา พี่สาวที่วิตกจริตเรื่องทารกแฝดของตัวเองและความประพฤติของพี่เขยเป็นบางคร้ง และพ่อที่ถูกแม่ไล่ออกจากบ้านเพราะเผลอไปมีอะไรกับเพื่อนสนิทเชื้อสายโมรอคโกของเธอเอง ตลอดเรื่องเราจะได้เห็นทุกตัวละครเรียกใช้ Shlomi ให้ทำยังงั้นยังงี้ตลอดเวลา และนอกจากนั้น เค้าชอบทำอาหารโดยเฉพาะสูตรเด็ดขนมหวานและเค้กรูปดาว และเค้าก็ทำอาหารเก่งมากๆอีกด้วย จนกระทั่งวันหนึ่งที่มีคนค้นพบความไม่ธรรมดาในตัวของ Shlomi และเค้าจะต้องตัดสินใจว่าชีวิตของตัวเองจะไปในทางไหนต่อไป เห็นได้ชัดว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้รู้ดีว่าตัวเองจะเล่าเรื่องอะไร เค้าน่าจะมีไอเดียเริ่มต้นง่ายๆในแบบที่เหมือนว่า...เรามาทำหนัง feel-good กันเถอะ แล้วเค้าก็ทำมันไปในแบบที่ตัวเองถนัด ไม่พยายามทำอะไรที่ยากหรือซับซ้อนเกินตัว ผมเชื่อว่าผู้กำกับน่าจะมีความสนใจเรื่องปรัชญาพอสมควรเลยทีเดียว เห็นจากฉากเล็กๆที่สอดแทรกในหนัง แต่เราจะเห็นว่าเค้าไม่ได้ตีความ ขยายความหลักปรัชญาพวกนั้นให้เราฟัง แต่ไปเน้นที่เรื่องราวของตัวเอกกับ theme ว่าด้วยการทำอะไรเพื่อคนรอบข้าง และการทำอะไรเพื่อตัวเองบ้าง อย่างเหนียวแน่น นี่เป็นหนังแบบที่ผมหวังจริงๆจังๆว่า ประเทศไทยเราจะมีคนทำออกมาได้ในระดับเดียวกันภายใน 3-4 ปีนี้เป็นอย่างช้า (ผมดีใจที่แอบเห็นผู้กำกับหนังไทยบางคนไปดูกันแล้วแนะนำให้เพื่อนผู้กำกับเหมือนกันไปดู) การถ่ายภาพ และเทคนิคต่างๆของหนัง เรียกได้ว่าไม่ได้ดีมากนัก แต่คุณจะลืมจุดบกพร่องเล็กๆน้อยๆเหล่านั้นไปหมดสิ้นเลยเมื่อติดตามหนังเรื่องนี้ไปได้ซักพัก เพราะเรื่องราวและเสน่ห์เล็กๆน้อยๆที่เติมเต็มหนังเรื่องนี้ คือจุดสำคัญที่ได้หัวใจจากคนดู การแสดงของตัวละครทุกคนก็นับว่าไม่มีใครที่ต้องติกัน เราอาจจะรู้สึกได้เลยว่าตัวละครพวกนี้ช่างเหมือนกับคนรอบๆตัวของเราจัง หลังหนังจบพร้อมกับเสียงปรบมือดังสนั่นของคนดู เราพบว่าพระเอกของหนังเรื่องนี้มาเข้าร่วม Q&A ด้วย ซึ่งก็เรียกทั้งเสียงปรบมือที่ดังยาวนานกว่าเดิมและเสียงโห่ร้องชื่นชมจากคนดูได้ แถมนอกจากจะเป็นตัวละคนที่ได้ใจคนดูในหนังแล้ว พระเอกตัวจริงยังมีเสน่ห์ กะตือรือร้น และเป็นมิตรมากๆ ทำให้เป็นการ Q&A ที่คนดูสนุกสนานที่สุดถึงกับว่ามีเสียงปรบมือให้ได้ยินกันอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเค้ากล่าวว่าเค้าภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในหนังเพื่อความรักเรื่องนี้ และมันก็มากเกินพอแล้วกับการสู้รบบนโลกนี้ (อย่าลืมว่าหนังเรื่องนี้มาจากอิสราเอล) มีประโยคหนึ่งเกี่ยวกับเหตุผลของการทำอาหารของพระเอกที่ผมโดนใจมากๆตั้งแต่ตอนดู และก็ดีใจที่เค้านำมากล่าวถึงอีกครั้งในช่วงนี้ แต่ผมอยากให้ไปหาดูกันเอาเองมากกว่า ไม่เขียนแล้วกัน หลังจากนั้นมีคนยกมือเพื่อที่จะชื่นชมยกย่องหนังเรื่องนี้แล้วร้องเพลงสั้นๆมอบให้พระเอกในฐานะตัวแทนของผู้สร้างทุกคน และมีคนถามคำถามง่ายๆว่าทำอาหารเก่งจริงๆรึเปล่า แล้วหยอดต่อว่า มีแฟนรึยัง (ซึ่งพระเอกบอกว่าไม่มี เรียกเสียงฮือฮาในหมู่คนดูสาวๆได้อีกระลอกหนึ่ง) หลัง Q&A พระเอกไปยืนหลังโรงหนัง แล้วก็ถูกรุมขอลายเซ็นและถ่ายรูปจากคนดูกลุ่มเบ้อเริ่ม ผมก็เลยผสมโรงไปขอลายเซ็นด้วย แล้วก็ได้พบอีกครั้งว่าเค้าช่างเป็นมิตรจริงๆ หลังจากเซ็นให้ผมแล้ว ผมกล่าวแสดงความยินดี แล้วเค้าก็ยื่นมือมาให้จับพร้อมมองหน้าผมและยิ้มดีใจในขณะที่กล่าวขอบคุณไปด้วย ก่อนจะต้องไปให้สาวๆรุมถ่ายรูปขอลายเซ็นต่อ :)
คงมีหลายๆสาเหตุที่ต้องบอกก่อนว่าน่าจะทำให้ The Sea Inside เป็นหนังที่ผมไม่ถึงกับชอบมากแต่อย่างใด อย่างแรกคือปัญหาในการปรับอารมณ์จาก Bonjour Monsieur Shlomi อีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อมีเวลาแค่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และหนังสองเรื่องนี้เรียกว่าเนื้อหาอยู่คนละขั้วกันโดยสิ้นเชิง อย่างที่สองคือความคาดหวังที่ผมดันมีต่อ The Sea Inside ในระดับสูงมาก และก็คาดหวังว่ามันจะเป็นยังนั้นยังนี้ตามใจตัวเองไปหน่อย และอีกส่วนเล็กๆอาจเป็นเพราะเรื่องนี้ใช้ภาษาที่ค่อนข้างยากและพูดกันเร็วจนบางครั้งตาม subtitle ภาษาอังกฤษไม่ทัน The Sea Inside เป็นหนังว่าด้วยประเด็นการุณยฆาต (Mercy Killing) ทั้งเรื่องจะเหมือนการวิเคราะห์ประเด็นนี้โดยเน้นที่มุมมองของ รามอน ซัมเปรโด ผู้ประสบอุบัติเหตุจากการกระโดดน้ำในทะเลจนหัวกระแทกพื้นทะเล ทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไป โดยมีความรู้สึกและขยับได้เฉพาะส่วนหัว ทำให้ต้องนอนอยู่บนเตียงอย่างเดียวถึงเกือบ 30 ปี ตลอดเวลาเราจะเห็นว่ารามอนเรียกร้องที่จะปลิดชีวิตตัวเองโดยพยายามโน้มน้าวให้ทั้งคนรอบข้างและผู้มีอำนาจในการออกกฏหมายเห็นด้วย โดยความเชื่อเหนียวแน่นว่า การตายอย่างมีเกียรติคือทางเลือกที่เหมาะสมยิ่งกว่าการอยู่อย่างไร้เกียรติเช่นนี้ หนังฉลาดในการให้รายละเอียด, ความเห็น, ปฏิกิริยา ต่อประเด็นนี้ในทุกรูปแบบ เราจะได้เห็นตัวละครที่มีความเห็นแตกต่างกัน ทั้งพี่สะใภ้ที่คอยดูแลรามอนและรักรามอนเหมือนลูกตลอดเวลา ซึ่งเคารพในความเห็นของรามอน โดยที่ไม่แสดงออกชัดเจนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย พี่ชายที่คัดค้านรุนแรงถึงกับห้ามใครช่วยรามอนในบ้านของเค้าเด็ดขาด และมีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกับรามอนบ่อยๆ หลานชายที่คอยช่วยเหลือรามอนเหมือนกับว่านั่นเป็นหน้าที่ และพร้อมจะช่วยในสิ่งที่รามอนปรารถนา โดยที่ไม่ทราบความรู้สึกตัวเองจนถึงฉากหลังๆของเรื่อง พ่อที่ต้องเศร้ากับทั้งอาการและเจตจำนงของลูกชาย เพื่อนสาวของรามอนที่ให้ความช่วยเหลือมานานในทุกๆอย่างที่รามอนต้องการ และผู้หญิงสองคนที่เรียกได้ว่าพบรักกับรามอน คนหนึ่งคือทนายที่มีโรคประจำตัวที่น่าจะไปสิ้นสุดที่จุดคล้ายๆกับรามอน ซึ่งตั้งใจมาช่วยรามอนในทางกฏหมาย และในระหว่างนั้นเกิดความเข้าอกเข้าใจลึกซึ้งและความรู้สึกดีๆต่อกัน ส่วนอีกคนหนึ่งคือหญิงม่ายทำงานโรงงานและจัดรายการวิทยุที่ผิดหวังกับความรักมาหลายครั้ง กลายเป็นผู้หญิงที่สับสนว่าจะเอายังไงกับชีวิต จนกระทั่งได้เจอรามอนซึ่งเป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้ชีวิตของเธอ ซึ่งเธอเข้ามาเพื่อพยายามเปลี่ยนใจให้รามอนอยากมีชีวิตอยู่ ตัวละครแต่ตัวมีอย่างน้อยก็หนึงฉากที่เปิดให้แสดงความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเองที่มีอยู่เต็มที่ และเป็นไปในแบบที่คนดูคงเข้าใจเหตุผลและความรุ้สึกของทุกคนได้ นอกจากนั้นยังมีปฏิกิริยาเล็กๆจากผู้คนภายนอก และบาทหลวงที่เป็นโรคลักษณะเดียวกับรามอนแต่ต่อต้านเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเจ้าของฉากโต้เถียงกับรามอน ที่น่าจะเปิดให้เราได้เข้าใจและเข้าถึงการตัดสินใจของรามอน และยังเข้าใจตัวพี่สะใภ้ได้มากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่หนังทำได้ดีมากๆก็คือการเลือกที่จะให้ความสำคัญแก่ชีวิตก่อนอุบัติเหตุของรามอนแค่เล็กน้อย โดยเหมือนจะแค่เกริ่นเท่านั้นว่าก่อนนั้นรามอนเป็นอย่างไร ถ้าเป็นหนังเรื่องอื่นๆ เหตุการณ์ก่อนหน้าอุบัติเหตุครั้งนั้นอาจจะกินเวลาเกือบครึ่งนึงของเรื่องราว หรืออาจจะมากกว่า แต่ผู้สร้างหนังเรื่องนี้คงพิจารณาแล้วว่านั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และกลับมายึดประเด็นเรื่องการุณยฆาตอีกครั้ง สิ่งที่ฉลาดอีกอย่างคือการทำฉากในจินตนาการหรือความฝันของรามอนออกมาได้อย่างชาญฉลาด เราน่าจะเข้าใจรามอนมากขึ้นว่าถึงเขาอยากจะตาย แต่จริงๆแล้วเขาโหยหาชีวิตคนปกติที่ตนเองไม่สามารถมีได้ขนาดไหน ดนตรีประกอบ และการถ่ายภาพทั้งหมดของหนังเรื่องนี้ อยู่ในระดับยอดเยี่ยม และหัวใจของหนังเรื่องนี้คือ ฮาเวียร์ บาร์เด็ม ผู้รับบทรามอน ที่แทบจะทั้งเรื่องสามารถแสดงได้โดยใช้แค่สีหน้า แต่บาร์เด็มให้การแสดงที่ยอดเยี่ยมมากๆในแบบที่นักแสดงชายในหนังเรื่องอื่นๆที่ผมได้ดูในเทศกาลไม่มีใครเลยอยู่ในระดับใกล้เคียง บาร์เด็มถ่ายทอดทุกอารมณ์ความรู้สึกของรามอนออกมาทางสีหน้าและแววตาได้อย่างไร้ที่ติจริงๆ ส่วนที่กันไม่ให้ผมชอบหนังเรื่องนี้มากอย่างที่คาดหวังไว้ ก็คงจะเป็นเพราะประเด็นซึ่งเหมือนจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของหนังนั่นเอง แน่นอนว่าผมเห็นว่ามันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และการวิเคราะห์ประเด็นนั้นของหนังก็ทำได้อย่างโดดเด่น แต่ผมยังรู้สึกค่อนข้างห่างไกลกับประเด็นนี้มากไปหน่อย ยิ่งเมื่อเทียบกับเรื่อง ความรักและชีวิตของ Bonjour Monsieur Shlomi ที่เพิ่งผ่านตามา มันยิ่งเป็นประเด็นที่ห่างไกลกันมากเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม ผมไม่ปฏิเสธว่าหนังเรื่องนี้มีคุณภาพดีเยี่ยม และยังคงแน่ใจว่ามันเป็นเต็งหนึ่งในโอกาสที่จะได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนี้ในฐานะตัวแทนของสเปน และถึงแม้จะเป็นในปีที่มีแต่คู่แข่งหินๆนี้ ฮาเวียร์ บาร์เด็ม ยังมีสิทธิ์เข้าชิงในสาขานำชายจากหนังเรื่องนี้อยู่พอสมควรทีเดียว
Reconstruction / Les Choristes / Vera Drake
 

21 ม.ค. 2548 ได้ดูถึง 3 เรื่อง คงต้องบอกว่า น่าจะเป็นหนังที่เล่าเรื่องได้'เก๋'ที่สุดในเทศกาลที่ผมได้ดูแล้วล่ะครับ กับเรื่อง Reconstruction หนังที่มีรางวัลจาก Cannes การันตี และยังสร้างชื่อในเทศกาลอื่นๆอีกมาก นี่เป็นหนังที่ผมไม่กล้าจะตีความจริงๆ และก็ไม่คิดว่าควรจะมีใครกล้าฟันธงด้วยว่าเนื้อเรื่องเป็นอะไรยังไง เพราะมันเป็นหนังในแบบที่ถ้าให้คนนึงอธิบายให้ฟังว่าไอ้ที่เห็นบนจอทั้งหมดนั่นแปลว่าอะไร คุณคงจะได้รับคำอธิบายที่แตกต่างกันไปกับของอีกคนหนึ่ง...และอีกคนหนึ่ง.... Reconstruction เป็นหนังว่าด้วยความสัมพันธ์และความรักระหว่างชายหญิง 2 คู่ เมื่อตัวพระเอกที่มีแฟนอยู่แล้ว กลับไปพบรักกับภรรยาของนักเขียน เรื่องราวหลังจากนั้นเกิดขึ้นในโคเปนเฮเกน ซึ่งจะกลายเป็นเหมือนเขาวงกต...และไม่สามารถสรุปได้ว่าจริงๆเป็นยังไง และถ้าสรุปได้ ผมก็ไม่อยากสรุปด้วย มันคงทำให้คุณดูหนังเรื่องนี้สนุกน้อยลงเยอะ นี่เป็นหนังในแบบที่แต่ละคนควรจะไปดูแล้วสรุปเอาเองในใจ และหลายๆคนรวมทั้งผม คงอยากที่จะดูซ้ำอีกรอบหนึ่งแล้วล่ะ ในเมื่อผมจะไม่เล่าเรื่องอะไรมากไปกว่านั้น ก็มาพูดกันเรื่องอื่นๆที๋โดดเด่น คงต้องเรียกว่านี่เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ได้ใจผมไปตั้งแต่ฉากเปิด เมื่อเสียงเพลง Night and Day ดังขึ้นมา แล้วตั้งแต่เริ่มเรื่อง เราก็ได้รับทราบกันไปเดี๋ยวนั้นเลย ว่าหนังเรื่องนี้จะต้องมีสไตล์โก้เก๋ และมีเรื่องให้สมองคิดตามตามมาอีกมากมาย ก่อนจะเข้าใจผิด ผมขอบอกก่อนว่า Reconstruction อาจจะเรียกว่าเป็นหนังที่มีบทซับซ้อน และอาศัยการตีความจากคนดูแต่ละคน แต่มันเป็นหนังที่เรียกได้ว่าดูสนุกมากเรื่องนึงทีเดียว อีกทั้งนักแสดงนำทั้งชายหญิงก็เป็นหนุ่มหล่อสาวสวย งานด้านภาพสวยงามโดดเด่นด้วยสไตล์ที่ทำให้ภาพเมืองโคเปนเฮเกนทั้งมีเสน่ห์และลุ่มลึก และมีการใช้เทคนิคที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกไปด้วยหลายอย่าง แถมบทหนังที่ซับซ้อน และผมก็ไม่ได้เข้าใจดีนัก แต่บอกได้เลยว่าบทไม่ได้มั่วแน่ๆ...แล้วก็อยากจะตะโกนออกมาว่า 'มันคิดได้ยังไงเนี่ย' กับหลายๆฉากทั้งเรื่อง ขอสรุปไปเลยแล้วกันว่า ผู้กำกับ-นักเขียนบท คริสตอฟเฟอร์ โบ ซึ่งยังไม่ได้มีผลงานออกมามากนัก เป็นบุคคลที่น่าสนใจจะต้องติดตามงานต่อๆไปอย่างยิ่ง จากหนังเรื่องนี้แสดงถึงความทะเยอทะยานในระดับสูงกว่าปกติของเขาเป็นอย่างดี และน่าสนใจมากๆที่ความทะเยอทะยานนั้นให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าแก่การดู และดูซ้ำเหลือเกิน
เวลาบ่ายกับ Les Choristes หนังฝรั่งเศสทำเงินสูงสุดในรอบปี ซึ่งเหมือนการผ่อนคลายที่เต็มอิ่มของเทศกาลหนังครับ หนังเรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกสดชื่นขึ้นเยอะ เพราะว่าพูดไปแล้ว Les Choristes นับเป็นงานที่'ตลาด'ที่สุดเรื่องนึงแล้วในเทศกาลครับ เรื่องของครูกับนักเรียนในแบบที่เคยถูกนำมาเล่าผ่านจอภาพยนตร์หลายๆครั้งแล้ว และครั้งนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ Les Choristes พูดถึงคุณครูใหม่ที่เข้ามาสอนดนตรีในแก๊งค์เด็กแสบที่แต่ละคนเหมือนเด็กเหลือขอ มีตัวละครเด็กตัวหลักๆที่มีปมต่างๆกันแต่ละตัว แล้วคุณครูก็ใช้เวลาและความพยายามรูปแบบใหม่ๆในโรงเรียนที่ผู้มีอำนาจแสนเผด็จการและเต็มไปด้วยกฎคร่ำครึ โดยใช้ดนตรีกล่อมเกลาจิตใจจนแก๊งค์เด็กแสบที่ว่ากลายเป็นวงขับร้องประสานเสียงที่ในที่สุดได้แสดงความสามารถเป็นที่ประจักษ์ และหนังก็ไม่ลืมที่จะใส่พล็อตรองเพิ่มเติมลงไป ซึ่งก็เป็นเรื่องเดิมๆอีกนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นความรักเล็กๆที่คุณครูมีต่อแม่ของเด็กคนหนึ่ง หรือเรื่องราวอื่นๆที่เกิดขึ้นในโรงเรียนก็ตาม ในความจำเจของเรื่องนั้น สิ่งที่นับว่า Les Choristes ทำได้ดีก็คือการคุมความรู้สึกของคนดูให้ไปตามที่หนังต้องการเหมือนหนังฮอลลีวู้ดดีๆเรื่องนึง แต่หนังก็ฉลาดในการสงบเสงี่ยมเจียมตัว เพราะแต่ละฉาก ไม่ได้มาด้วยอารมณ์ที่มากรุนแรง หนังเหมือนจะย่อสเกลการบีบคั้นอารมณ์จากหนังน้ำเน่าหลายๆเรื่อง ลงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เห็นได้จากฉากสำคัญๆแทบทุกฉากของหนัง ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ได้กระชากอารมณ์จนดูเหมือนจงใจ แต่กลับเกิดขึ้นง่ายๆ สบายๆ แต่คนดูยิ้มตาม หัวเราะตาม หรือแม้แต่เศร้าตามไปด้วย แถมนักแสดงที่เล่นแต่ละคนก็ดูเหมาะสมกับบทดี ผมชอบเด็กที่เป็นตัวเอกของหนัง และเป็นคนร้องโซโล่ของวงเป็นพิเศษ คงต้องบอกว่าผมดีใจมากครับที่ในเทศกาลยังมีหนังย่อยง่ายๆอย่างนี้ให้ดู และน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีของคนที่ปกติดูแต่หนังฮอลลีวู้ดตามตลาดทั่วไป จะสามารถดูเรื่องนี้ และอยากจะหาเรื่องอื่นๆที่อาจจะย่อยยากขึ้นมาดูต่อๆไป แถมเหมาะกับการไปดูกันเป็นครอบครัวด้วยนะครับเนี่ย
ปิดท้ายวันนี้ด้วยหนังรางวัลสิงโตทองคำจากเวนิซเรื่อง Vera Drake ของไมค์ ลีห์ ซึ่งกวาดรางวัลและการเข้าชิงทั้งตัวผู้กำกับ และนักแสดงนำหญิงมาจากเทศกาลมากมายทั่วโลก ผมเคยดูหนังไมค์ ลีห์ เรื่องเดียวครับ คือ Secrets & Lies ที่ได้ชิงออสการ์ ซึ่งผมจำไม่ค่อยได้แล้ว สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีหนังนอกกระแสให้ดูเท่าไหร่เลย แถมได้ดูในโรงหนังด้วย แต่ที่รู้ก็คือผมชอบ Vera Drake มากกว่าเรื่องนั้นแน่ๆ อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างที่หนังไม่มีซับเนื่องจากพูดภาษาอังกฤษ แถมยังเป็นสำเนียงอังกฤษ แต่เรื่องราวโดยเฉพาะตอนหลังๆต้องบอกว่าง่ายแก่การเข้าถึงครับ ก่อนอื่นผมขอบอกว่าที่จะเขียนนี่มีการเปิดเผยเรื่องเกือบทั้งเรื่อง แต่ผมคิดว่ามันไม่น่าจะทำให้เสียอรรถรสในการชมเท่าไหร่ เพราะหนังเรื่องนี้ ไม่ได้เน้นเนื้อเรื่อง แต่เน้นความรู้สึกที่เรามีไปพร้อมๆกับการดำเนินเรื่องมากกว่า เชื่อว่าถ้าได้อ่านเรื่องย่อ ก็น่าจะรู้หรือคาดเดาเรื่องราวได้ทั้งเรื่องอยู่แล้ว Vera Drake เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอังกฤษราวๆ 50 ปีก่อน ในยุคที่การทำแท้งผิดกฏหมาย หนังว่าด้วยเรื่องของหญิงชราคนหนึ่งตามชื่อเรื่อง ซึ่งมีครอบครัวชั้นแรงงาน ซึ่งฐานะไม่ค่อยดี แต่มีความสุขและเรียกได้เลยว่าเป็นครอบครัวที่อบอุ่น คนดูจะได้เห็นทั้งเรื่องว่าเวร่าเป็นผู้หญิงที่ใจดีขนาดไหน เธอช่วยเหลือทุกคนที่ช่วยได้ เธอรักครอบครัวและคนรอบข้าง และปฏิบัตืหน้าที่ต่างๆอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง หลังจากเรื่องดำเนินไปได้ไม่นาน เราจะได้เห็นชีวิตอีกด้านหนึ่งที่ไม่มีใครอื่นในครอบครัวรู้ เธอตระเวณไปตามบ้านเพื่อทำแท้งให้ผู้หญิงที่ท้องแต่ไม่อยากจะมีลูก เธอทำเพราะเธอเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือผู้หญิงเหล่านั้น และเธอก็ไม่ได้เรียกร้องเงินทองแต่อย่างใด แต่ในเมื่อมันผิดกฏหมาย และในเมื่อมีผู้เดือดร้อน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกืดเหตุการณ์อย่างตอนท้ายเรื่อง ไมค์ ลีห์ เหมือนจะสร้างหนังทั้งเรื่อง โดยมีประเด็นที่เด่นชัดขึ้นมาได้แก่การทำแท้งเถื่อน และวิเคราะห์ประเด็นนั้นโดยละเอียด โดยไม่ได้สรุปอะไรเด็ดขาดทั้งสิ้น หนังบอกเราถึงเหตุผลที่ทำให้เกิดการทำแท้ง หนังบอกผลที่ตามมา มีทั้งตัวละครที่เกี่ยวข้อง เข้าใจ ไม่เข้าใจ ต่อต้าน ประเด็นนี้ รวมถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ แต่ก็มีหัวใจ ในช่วงหลังของเรื่อง ตำรวจที่จับเวร่า ไม่ได้ถูกเสนอภาพด้านเดียวที่จะทำให้เป็นผู้ร้ายในใจผู้ชม แต่เราจะได้เห็นกันชัดๆว่าคนเหล่านั้นไม่ได้มีความสุขกับอำนาจหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำเลย อีเมลดา สตอนตัน สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะกวาดรางวัลนักแสดงมาจากเทศกาลต่างๆมาขนาดนั้น เพราะเธอเหมือนจะไม่ได้เล่นเป็นเวร่า แต่สวมวิญญาณเป็นเวร่าไปเลยด้วยซ้ำ ฉากที่ผมว่าน่าตื่นตะลึงที่สุดคือการโคลสอัพใบหน้าของเธอเมื่อตำรวจบุกเข้ามาในงานปาร์ตี้ที่บ้าน แล้วเธอรู้ทันทีว่าพวกเขามาที่นั่นเพราะอะไร ฉากแบบนี้ถ้านักแสดงไม่เก่งพอจะดูไม่มีความสำคัญเลย อีเมลดาทำให้ฉากนี้ติดตาอย่างยิ่งด้วยการแสดงของเธอ และการเปรียบเทียบเวร่าก่อนหน้าและหลังจากเหตุการณ์นั้น ยิ่งตอกย้ำความเก่งกาจของอีเมลดาเป็นอย่างดีว่าเธอตีบทบาทของเวร่าได้แตกกระจายขนาดไหน มันดูเหมือนไม่ใช่การแสดงเลยด้วยซ้ำ และแค่เธอก็ทำให้การดูหนังเรื่องนี้คุ้มค่าเวลาและเงินที่จ่ายไปโดยไม่ต้องพูดถึงความ'เชี่ยว'และการเอาอยู่ของผู้กำกับเลยก็ยังได้
ต่อตอนที่สองด้วยนะครับ :)
Create Date : 26 มกราคม 2548 |
Last Update : 26 มกราคม 2548 1:26:14 น. |
|
5 comments
|
Counter : 1229 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: it ซียู วันที่: 26 มกราคม 2548 เวลา:8:45:25 น. |
|
|
|
โดย: asta IP: 61.90.25.238 วันที่: 27 มกราคม 2548 เวลา:1:09:15 น. |
|
|
|
โดย: warsaw apartments IP: 72.32.59.213 วันที่: 11 ธันวาคม 2549 เวลา:17:28:48 น. |
|
|
|
โดย: aomzon วันที่: 12 ตุลาคม 2554 เวลา:13:42:01 น. |
|
|
|
โดย: lalular (lalular ) วันที่: 29 ตุลาคม 2554 เวลา:8:08:28 น. |
|
|
|
| |
|
|
เสียดายไม่ได้ดูในเทศกาล :(