อิสระตามเส้นสี...ของชีวิต

สีน้ำกับพู่กัน
Location :
นครราชสีมา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




โลกยังหมุน ตะวันยังมี ฉ้นยังอยู่ต่อไป
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สีน้ำกับพู่กัน's blog to your web]
Links
 

 

เรื่องที่ 8 บุตรทั้ง 3 ของพราหมณ์วิษณุสวามิน



ครั้นพระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปจับเวตาลที่ต้นอโศกมาแล้วก็พาดมันไว้บนบ่า เดินกลับไปทางเดิมเพื่อจะไปพบโยคีศานติศีลที่ป่าช้า แต่ขณะที่เดินมาในความเงียบนั้นเอง เวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "แน่ะ ราชะหนทางยังอีกไกล เพื่อจะให้พระองค์ลืมภาระอันหนักนี้ โปรดเตรียมสดับปัญหาของข้าเถิด"
แต่โบราณกาล ยังมีท้องถิ่นหนึ่งเป็นสมบัติของตระกูลพราหมณ์ในแคว้นอังคะ เรียกว่า หมู่บ้านพฤกษฆัฏ ในหมู่บ้านดังกล่าวนี้มีพราหมณ์ที่ร่ำรวยคนหนึ่งมีชื่อว่าวิษณุสวามิน พราหมณ์ผู้นี้มีภรรรยาซึ่งอยู่ในตระกูลทัดเทียมกับตนด้วยชาติกำเนิด นางพราหมณีได้ให้กำเนิดบุตรชายสามคนซึ่งมีความเป็นผู้ดีหัวสูงเช่นเดียวกัน ในกาลต่อมาเมื่อเด็กทั้งสามเติบโตเป็นหนุ่มก็เป็นที่ภาคภูมิใจของบิดามารดามาก
วันหนึ่งเมื่อพราหมณ์กำลังจะกระทำยัชญพิธี(พิธีบวงสรวง) ก็เรียกบุตรชายทั้งสามเข้ามาและสั่งให้ทั้งสามคนออกไปเที่ยวหาเต่าทะเลที่ชายหาด เมื่อไปถึงฝั่งทะเลมินานก็พบเต่าตัวหนึ่ง พราหมณ์ผู้พี่ใหญ่ก็กล่าวแก่น้องชายทั้งสองว่า
"พวกเจ้าคนหนึ่งคนใดในสองคนจงแบกเต่าเอาไปให้ท่านพ่อทำยัชญพิธีเถิด ข้าคงจะแบกมันไปไม่ได้เพราะมันลื่นด้วยตะไคร่น้ำ"
เมื่อพี่ชายใหญ่กล่าวดังนี้ น้องทั้งสองก็กล่าวว่า "ถ้าพี่ลังเลใจ ไม่กล้าแบกมันไป ทำไมพวกข้าจะต้องแบกไปเล่า"
พี่ชายใหญ่ได้ฟังก็กล่าวว่า
"เจ้าทั้งสองจะต้องเอาเต่านี้ไป ถ้าเจ้าไม่ทำ เจ้าก็จะได้ชื่อว่า ขัดยัชญพิธีของพ่อ ทำให้ไม่สำเร็จ ทั้งเจ้าและท่านพ่อก็จะตกนรกด้วยกันทั้งคู่แน่ ๆ"
เมื่อเขาบอกแก่น้องทั้งสองดังนี้ คนทั้งสองกลับหัวเราะเยาะและกล่าวว่า "ถ้าพี่รู้หน้าที่ของพวกเราดังนี้แล้ว ทำไมไม่รู้ตัวเองว่าพี่ก็ต้องทำหน้าที่เช่นเดียวกัน"
พี่ชายใหญ่จึงกล่าวว่า "ข้าเป็นผู้ดีในการกิน และข้าไม่คิดว่าจะแตะต้องเจ้าเต่าตัวนี้ มันน่าขยะแขยงสิ้นดี"
น้องคนกลางได้ฟังจึงพูดว่า "ถ้าเช่นนั้นข้าก็เป็นผู้ดีที่สุด เพราะข้าเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดในเรื่องของเพศอันละเอียดอ่อน"
เมื่อได้ฟังดังนี้พี่ชายใหญ่ก็กล่าวว่า "ถ้ากระนั้นก็ให้เจ้าน้องเล็กนี่แหละนำเต่านี้ไป"
น้องคนสุดท้องได้ยินก็ขมวดคิ้วด้วยความไม่พอใจ กล่าวแก่พี่ชายทั้งสองว่า "เจ้าคนโง่ ข้าเป็นผู้ดีเรื่องเตียงนอน เพราะฉะนั้นข้านี่แหละเป็นผู้ดีมากที่สุด"
ทั้งสามพี่น้องต่างก็ทะเลากันเพราะความหยิ่งลำพองในตัวเอง ดังนั้น คนทั้งสามจึงละจากเต่าทะเล เดินทางเข้าไปในเมืองวิฏังกปุระ ซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินชื่อ พระเจ้าประเสนชิตปกครองอยู่ เพื่อจะให้ตัดสินกรณีพิพาทของตน
เมื่อสมุหราชมนเทียรขานชื่อเรียบร้อยแล้ว พี่น้องทั้งสามก็เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน และบรรยายเรื่องราวให้ทรงทราบอย่างละเอียด พระราชาฟังเรื่องราวแล้วก็ตรัสว่า "คอยอยู่ที่นี่แหละ ข้าจะให้เจ้าได้พิสูจน์ตัวเองเสียก่อน" ชายทั้งสามก็ตกลงและนั่งรออยู่ ณ ที่นั้น
ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระราชาจะเสวยภัตตาหารมื้อกลางวัน จึงเรียกให้ชายทั้งสามเข้ามาร่วมโต๊ะเสวยซึ่งมีอาหารอันโอชะปรุงแล้วอย่างดีที่สุด ส่งกลิ่นหอมฟุ้งยั่วยวนจมูก ประกอบด้วยรสต่าง ๆ ถึง ห้ารส พราหมณ์ผู้เป็นพี่ใหญ่แลเห็นแล้วก็ไม่ยอมกิน กลับเชิดหน้าอย่างหยิ่งจองหองและขยะแขยง พระราชาจึงตรัสถามว่า "อาหารบนโต๊ะเสวยนี้ล้วนแต่ของดีวิเศษทั้งสิ้น เหตุใดเจ้าจึงไม่ยอมกิน" พราหมณ์ได้ฟังก็ทูลตอบว่า
"ข้าพระบาทสังเกตเห็นว่า อาหารนี้มีกลิ่นตุ ๆ ราวกับกลิ่นซากศพ ดังนั้นข้าพระบาทจึงไม่อาจเข้าไปเฉียดใกล้อาหารพวกนี้ ไม่ว่ามันจะอร่อยสักแค่ไหนก็ตาม"
พระราชาจึงตรัสถามผู้ที่นั่งล้อมรอบโต๊ะนั้นว่ารู้สึกอย่างไร คนเหล่านั้นได้ฟังรับสั่งก็ทูลว่า "กระยาหารนี้คือข้าวขาวหอมโดยธรรมชาติ ไม่มีตำหนิอะไรเลย" แต่พราหมณ์ผู้หยิ่งในความเป็นผู้ดีอย่างยิ่งยวดในการกินก็ยังไม่ยอมแตะต้อง นั่งทำจมูกย่นอยู่ พระราชาทรงดำริว่าเรื่องนี้สมควรจะสืบสวนให้รู้เท็จจริง มนตรีจึงทูลว่า ข้าวเสวยนี้เป็นข้าวที่ปลูกในสาลีเกษตรซึ่งอยู่ใกล้กับฆาฏ(ที่เผาศพโดยมากอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา เป็นต้น) อันเป็นที่เผาศพของคนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พระราชาได้ฟังก็ประหลาดพระทัยมาก ทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง ตรัสแก่พราหมณ์ว่า "ตัวท่านนี้มีความรู้ในโภชนศาสตร์ยิ่งนัก ท่านเป็นคนเก่ง หาได้ยาก จงเลือกกินอาหารอย่างอื่นตามใจชอบเถิด"
หลังจากการกินเลี้ยงสิ้นสุดลง พระราชาก็ปล่อยให้พราหมณ์กลับไปยังที่พักของตน และส่งหญิงงามที่สุดคนหนึ่ง งามเพริศพริ้งทั้งสรรพางค์หาที่เปรียบมิได้ ตกแต่งร่างกายด้วยปิลันธาภรณ์อันแพรวพราวด้วยมณีจินดาค่าควรเมือง ส่งไปประทานแก่พราหมณ์คนรองผู้เป็นเอตทัคคะในกามศาสตร์ นางผู้เปรียบดังผู้จุดไฟของกามเทพ และเป็นผู้ที่มีพักตร์อันงามดังดวงศศีในยามเที่ยงคืน มาสู่ห้องของพราหมณ์โดยมีสาวสรรกำนัลนางแวดล้อมเป็นบริวาร
เมื่อนางผู้งามบรรเจิดมาถึงห้องพักของพราหมณ์หนุ่มผู้เลิศในโลกิยวิสัย พราหมณ์แลเห็นก็แสดงอาการเหมือนจะเป็นลม เอามือซ้ายปิดจมูกไว้และตะโกนบอกแก่เสวกผู้ติดตามนางมาว่า
"เอานางคนนี้ออกไปให้พ้น ขืนชักช้าอยู่ข้าต้องตายแน่ คนอะไรมีกลิ่นตัวเหม็นราวกับแพะ"
ราชเสวกได้ฟังก็ตกใจ มีความประหลาดใจเป็นล้นพ้น รีบพานางโฉมงามกลับไปเฝ้าพระราชา กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พระราชาจึงส่งคนนำคำสั่งไปแจ้งให้บุรุษที่คลื่นไส้นั้นมาเฝ้า ตรัสว่า "เจ้าจงบอกข้ามาซิว่า หญิงงามที่ข้าส่งไปให้เจ้ามีกลิ่นกายเหม็นได้อย่างไร นางเป็นคนสะอาด หมั่นชำระล้างร่างกายเสมอ และประทิ่นกายด้วยของหอม เช่น ผลจันทน์แดง ผงการะบูน ผงยาดำ(กฤษณา) และเครื่องหอมนานาชนิด ซึ่งนางสรรหามาจากทั่วโลก อย่างนี้ยังจะมีกลิ่นเหม็นเหมือนแพะอีกหรือ"
ถึงแม้พระราชาจะอ้างเหตุผลอย่างไร ๆ ชายผู้คลื่นไส้ก็ไม่ยอมเชื่อ พระราชาทรงคำนึงว่าเรื่องนี้น่าจะมีความเร้นลับแอบแฝงอยู่ จึงซักถามนางงามด้วยวิธีต่าง ๆ ในที่สุดนางก็ยอมรับว่า เมื่อยังเยาว์วัยนางพรากจากครอบครัวไปอยู่ที่อื่น และนางถูกเลี้ยงมาด้วยนมแพะ
เมื่อพระราชาได้ประจักษ์ความจริงดังนี้ ทรงพิศวงในความรู้แจ้งอันเร้นลับของพราหมณ์หนุ่มเป็นอันมาก จากนี้ทรงสืบสวนถึงความมหัศจรรย์ของพราหมณ์ผู้เป็นน้องสุดท้องว่า เขามีความรู้สึกซึ้งเกี่ยวกับเตียงนอนอย่างไร พระราชาโปรดให้นำเตียงนอนพิเศษสุดตัวหนึ่งมาปูลาดด้วยเสื่อเจ็ดชั้นสลับกับฟูก มีผ้าปูที่นอนอันนิ่มละมุนละไม ปูทับด้านบน เมื่อตกแต่งเรียบร้อยแล้ว ก็นำไปให้พราหมณ์หนุ่มนอนในห้องไสยาอันโอ่อ่า
เมื่อเวลาผ่านไปครึ่งยาม พราหมณ์หนุ่มก็ผุดลุกขึ้นนั่งเอามือทั้งสองบีบที่สีข้าง และเปล่งเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด บริพารของพระราชาซึ่งเฝ้าดูอยู่ในที่นั้น แลเห็นเหตุการณ์ก็เข้าไปประคองจึงแลเห็นเครื่องหมายคด ๆ งอ ๆ เป็นผื่นแดงที่สีข้างของชายหนุ่มราวกับเป็นเส้นขนที่ฝังแน่นลงไปในเนื้อ เมื่อคนเหล่านั้นกลับไปทูลพระราชา พระราชก็ตรัสแก่คนเหล่านั้นว่า "พวกเจ้าไปดูสิว่ามีอะไรอยู่ในเสื่อหรือไม่" คนเหล่านั้นจึงช่วยกันดูอย่างพินิจพิเคราะห์ตั้งแต่เสื่อผืนล่างที่สุดของเตียง ไล่ขึ้นมาทีละชั้นจนครบเจ็ดชั้น ในที่สุดก็พบขนเส้นหนึ่งอยู่กลางฟูกชั้นล่างที่สุดจึงหยิบเอามาแสดงแก่พระราชา และนำตัวพราหมณ์ผู้รู้ความลับเกี่ยวกับเตียงนอนมาเฝ้าด้วย และเมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นอาการเจ็บปวดของพราหมณ์ อันเกิดจากขนเส้นหนึ่งจากเสื่อชั้นล่างสุดเข้าไปฝังตัวใต้ผิวหนังของเขาก็ยังทรงฉงนสนเท่ห์พระทัยนัก ทรงใช้เวลาทั้งคืนเฝ้าขบคิดเรื่องปริศนาจนรุ่งสว่างก็ไม่อาจจะค้นคว้าหาคำตอบได้
เช้าวันรุ่งขึ้น พระราชาเสด็จออกท้องพระโรง ประทานรางวัลให้แก่พราหมณ์ทั้งสามคนนั้น คือเหรียญทองสามแสนเหรียญให้ไปแบ่งกัน เพราะบุรุษทั้งสามนั้นเป็นอัจฉริยบุคคลซึ่งหาได้ยากยิ่ง และบุรุษทั้งสามนั้นก็ได้อยู่ในวังของพระเจ้าแผ่นดิน มีความสุขสบายตามอัตภาพวิสัย แต่คนทั้งสามจะคิดสักนิดหนึ่งก็หาไม่ว่าเขาได้ทำบาปต่อพ่อของเขาโดยทำให้ส่วนหนึ่งในยัชญพิธีต้องขาดไป เพราะเขามิได้เอาเต่าไปให้พ่อทำพิธีนั่นเอง ส่วนเต่าทะเลซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาได้มีชีวิตอันผาสุกนั้น เขาลืมมันสิ้น
เมื่อเวตาลเล่านิทานจบลง ก็ทูลถามพระเจ้าตริวิกรมเสนว่า "โอ ราชัน ข้ามีคำถามอันชวนให้สงสัยไม่หายและไม่อาจจะหาคำตอบได้ ฉะนั้นโปรดทรงชี้แนะด้วยเถิดว่า ในจำนวนบุรุษอัจฉริยสามคนนั้นใครเป็นคนเก่งที่สุด และใครเก่งเป็นรองตามอันดับลงมา"
พระราชาได้ฟัง ลืมคิดถึงคำสัญญาที่ตกลงไว้แก่เวตาล ตรัสด้วยความรู้สึกส่วนตัวว่า
"น้องสุดท้อง คนที่ต้องเจ็บปวดเพราะเส้นผมนั่นต่างหากที่ควรนับว่าเก่งที่สุด เพราะเป็นพยานที่สำคัญที่สุด ส่วนพี่ชายอีกสองคนนั่นอาจจะได้ระแคะระคายมาจากคนอื่นแล้วก็ได้ ข้าจึงว่าไม่สู้จะอัศจรรย์อะไรนัก"
"อย่างนั้นหรือพระเจ้าข้า" เวตาลยิ้มอย่างเจ้าเล่ห์ "ถ้ากระนั้นก็โปรดเสด็จกลับมารับข้าอีกก็แล้วกัน" กล่าวจบเวตาลก็อันตรธานไปจากบ่าของพระราชา หายแวบกลับไปที่ต้นอโศกตามเดิม




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2550    
Last Update : 29 สิงหาคม 2550 14:29:23 น.
Counter : 903 Pageviews.  

เรื่องที่ 7 พระเจ้าจัณฑสิงห์ กับ สัตตวศีลผู้ซื่อสัตย์



พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศก เห็นเวตาลอยู่ที่นั่น ก็จับมันเหวี่ยงขึ้นบ่า แล้วเดินทางกลับไปทางเดิม ระหว่างที่เดินทางมาเงียบ ๆ เวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "อารยบุตรโปรดฟังหน่อย ข้ามีนิทานเรื่องหนึ่งจะเล่าให้พระองค์ฟัง เผื่อพระองค์จะได้คลายความเหน็ดเหนื่อยลงบ้าง"
มีเมืองเมืองหนึ่งตั้งอยู่บนฝั่งทะเลตะวันออกชื่อ เมืองตามรลิปติ นครแห่งนั้นมีพระราชาปกครองทรงนามว่าพระเจ้าจัณฑสิงห์ ผู้ทรงหันพระพักตร์จากภรรยาของผู้อื่น แต่ไม่เคยหันพระพักตร์หนีจากสนามรบ พระองค์ทรงกวาดต้อนทรัพย์สมบัติของอริราชศัตรู แต่ไม่เคยแตะต้องทรัพย์สินของแว่นแคว้นที่เป็นเพื่อนบ้าน
ครั้งหนึ่งมีเจ้าราชปุฏ (ชนพวกหนึ่งซึ่งอ้างตนเป็นราชบุตร โดยกล่าวว่าตนสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งในสมัยโบราณ) แห่งแคว้นแดกข่าน ชื่อว่าสัตตวศีล เดินทางมาถึงหน้าประตูพระราชวัง และประกาศตนเองให้รู้ว่าเป็นผู้ยากไร้แสนเข็ญ โดยฉีกเสื้อผ้าขี้ริ้วที่สวมใส่อยู่ต่อหน้าพระราชา พระราชาจึงโปรดให้เขาเป็นผู้รับอนุเคราะห์โดยมีฐานะเป็นข้าไทและอยู่รับใช้พระเจ้าแผ่นดินมาหลายปี แต่ก็หาเคยได้บำเหน็จรางวัลแม้แต่ครั้งเดียวไม่ เขาจึงกล่าวแก่ตัวเองด้วยความน้อยใจว่า "ถ้าเราเกิดในตระกูลกษัตริย์จริง ไฉนจึงยากจนถึงเพียงนี้เล่า ดู ๆ ไป ความยากจนนี้ก็ใหญ่หลวงเกินทน แต่เหตุใดท้าวธาดาพรหมจึงสร้างให้เราเป็นคนทะเยอทะยานใหญ่หลวงนัก เพราะถึงแม้เราจะรับใช้พระราชาองค์นี้มาอย่างขยันขันแข็ง และบริวารของเราก็เช่นเดียวกัน ต่างก็เดือดร้อนหิวโหยเหมือนกันกับเรา แต่พระราชาสิจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเราอยู่ในสายตาเลย"
ระหว่างที่เขารำพึงรำพันด้วยความน้อยใจนั้น วันหนึ่งพระราชาเสด็จเข้าไปล่าสัตว์ มีทหารม้าและทหารเดินเท้าแวดล้อมเป็นพลนิกายขบวนใหญ่ เข้าไปสู่ป่าใหญ่อันอุดมด้วยสัตว์ป่า มีเสวกผู้ต่ำต้อยวิ่งนำหน้า มือถือไม้ท่อนหนึ่ง หลังจากที่พระราชาไล่ล่าสัตว์อย่างสนุกสนานมาได้พักหนึ่งก็แลเห็นหมูป่าตัวหนึ่งวิ่งออกมาจากพุ่มไม้ตัดไปข้างหน้าก็ทรงควบม้าติดตามไปจนกระทั่งถึงป่าสูงอันรกชัฏและชุ่มชื้นร่มเย็น หมูป่าตัวนั้นก็หายไป พระราชารู้สึกเหนื่อยอ่อนและเมื่อยล้า หลงทางกับข้าราชบริพารไปแต่พระองค์เดียว มีเสวกผู้วิ่งนำหน้าม้าพระที่นั่งเท่านั้นที่อยู่เป็นเพื่อน ต่างคนต่างก็หิวโหยเต็มทีและกระหายน้ำจนคอแห้งผาก พระราชาแลดูเสวกผู้ต่ำต้อยซึ่งอุตส่าห์วิ่งมาอย่างเต็มที่ทั้ง ๆ ที่ม้าพระที่นั่งวิ่งเร็วราวกับลมพัด พระราชาตรัสถามด้วยความเมตตาว่า “เจ้าจำทางที่เรามาได้ไหม"
เสวกได้ฟังก็คุกเข่าลงกับพื้นประสานมืออัญชลีด้วยความนอบน้อมตอบว่า
"ข้าพระบาทจำทางได้ดี แต่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยเต็มที น่าจะพักอยู่ที่นี่ก่อน เพราะตอนนี้ดวงอาทิตย์ยังแผดแสงแรงกล้านัก อย่าเพิ่งเสด็จไปเลย"
พระราชาได้ยินดังนั้น ก็ตรัสแก่ชายหนุ่มอย่างอ่อนโยนว่า
"เอาเถิด เราจะพักอยู่ที่นี่ก่อน แต่ข้ากระหายน้ำเต็มที ถ้าเจ้ารู้ว่ามีน้ำอยู่ที่ไหนก็หามาให้ข้ากินเถอะ"
"ข้าพระบาทจะไปเดี๋ยวนี้" เสวกทูลรับอาสาทันที จัดแจงปีนขึ้นไปบนต้นไม้สูงต้นหนึ่ง มองไปเบื้องหน้าก็แลเห็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ไม่ไกลก็ปีนกลับลงมากราบทูลให้พระราชาทราบ และนำทางไปจนถึงแม่น้ำนั้น เมื่อไปถึงก็เอาอานม้าลง ปล่อยให้ม้ากินน้ำและนอนเกลือกกลิ้งไปมา จากนั้นก็หาหญ้าอ่อนมาให้มันกินอย่างอิ่มหนำ ทำให้มันสดชื่นขึ้นมาก ส่วนพระราชาก็เสด็จลงอาบน้ำในแม่น้ำนั้น เสวกก็ควักผลอามลกะ(มะขามป้อม) จากกระเป๋าสองสามผลถวายให้ทอดพระเนตร เมื่อพระราชาเห็นผลอามลกะก็ประหลาดพระทัย ถามว่าเขาเอามาจากไหน เสวกก็คุกเข่าลงแบมือที่มีผลอามลกะวางอยู่สองสามผล กราบทูลว่า
"พระเจ้าข้า เมื่อสิบปีมาแล้ว ข้าพระบาทยังชีพติดต่อกันมานานด้วยผลอามลกะเช่นนี้ ข้าพระบาทได้ปรนนิบัติพระราชาองค์หนึ่งด้วยความภักดี แต่พระองค์ก็มิได้พระราชทานอะไรให้เลย ข้าพระบาทต้องดำรงชีพแบบฤษี กินแต่ผลอามลกะเพื่อยังชีพไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น"
พระราชาได้ฟังก็ตรัสว่า "อย่างนี้นี่เล่า เจ้าจึงสมกับชื่อของเจ้าว่า สัตตวศีล" ทรงตื้นตันพระทัยด้วยความสงสาร รำพึงในพระทัยว่า "ช่างน่าอายนักที่พระราชาไม่ได้สอดส่องทุกข์สุขของบ่าวไพร่เช่นนั้น ไม่รู้ว่าใครเดือดร้อนแค่ไหน จะช่วยได้อย่างไร ช่างน่าอายนักที่พวกขุนนางวางน้ำทั้งหลายก็เอาแต่เสพสุขเฉพาะตน แม้จะรู้ว่าคนทุกข์ยากลำเค็ญเป็นใครก็เงียบเฉย หาได้กราบทูลพระเจ้าแผ่นดินให้ทราบไม่" พระราชาคิดดังนั้นแล้วก็เห็นใจเสวกผู้ต่ำต้อยยิ่งนัก อย่างไรก็ดี ด้วยความหิวโหย พระองค์ก็จำต้องหยิบเอาผลอามลกะไปเสวยสองผล หลังจากเสวยเสร็จและดื่มน้ำแล้ว ก็นอนพักผ่อนเอาแรงชั่วระยะหนึ่งพร้อมด้วยเสวกผู้นั้น
ครั้นตื่นขึ้น เสวกก็เอาม้าทรงมาถวาย พระราชาเสด็จขึ้นม้าเดินทางต่อไป มีเสวกวิ่งนำหน้าเพื่อนำทางเสด็จ แม้พระราชาจะเมตตาโปรดให้เขาขึ้นขี่ม้าตัวเดียวกับพระองค์ แต่เขาก็เจียมตนไม่ยอมตามพระประสงค์ ในที่สุดพระราชาก็เสด็จกลับคืนพระนคร และพบกองทหารของพระองค์มารอรับอยู่แล้ว พระราชาโปรดให้ประกาศเกียรติคุณของเสวกผู้ภักดีเป็นเลิศ และประทานทรัพย์ศฤงคารเป็นอันมากแก่เขา พร้อมด้วยที่ดินหมู่บ้านอันเป็นส่วยเลี้ยงชีวิตอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นการตอบแทนบุญคุณที่เขามีต่อพระองค์เป็นอันมาก สัตตวศีลจึงกลายเป็นคนร่ำรวยมั่งคั่งตั้งแต่นั้น และยังคงปรนนิบัติพระราชาอยู่เหมือนเดิม
วันหนึ่งพระราชาจัณฑสิงห์ทรงมอบงานสำคัญให้แก่สัตตวศีลโดยสั่งให้เดินทางไปยังเกาะลังกา เพื่อเจรจาสู่ขอพระราชธิดาของกษัตริย์พระองค์นั้น เสวกหนุ่มออกเดินทางโดยเรือเดินทะเล สัตตวศีลกระทำบวงสรวงแก่ทวยเทพผู้คุ้มครองตน แล้วออกเดินเรือไปกับพราหมณ์คณะหนึ่งซึ่งพระราชาทรงแต่งตั้งให้ร่วมทางไปด้วย เมื่อเรือแล่นไปได้ครึ่งทางก็มีธงผุดขึ้นจากทะเลเป็นที่อัศจรรย์แก่ทุกคนในเรือลำนั้น ธงนี้สูงเด่นจนยอดแตะกลุ่มเมฆ ประดับด้วยทองคำและเครื่องหมายเหมือนธงทั้งหลายที่พลิ้วสะบัดอยู่ในสายลม ในขณะนั้นเองกำแพงเมฆก็ตั้งขึ้นในท้องฟ้า เกิดสายฝนหลั่งเทลงมาอย่างหนัก และพายุพัดกระหน่ำรุนแรง จนทำให้เรือถูกบังคับให้แล่นเข้าสู่ธงทองนั้นด้วยอำนาจของลมและฝน และถูกผูกติดกัน มีลักษณะการดังควาญช้างบังคับให้ผูกขาติดกับเสาตะลุงฉะนั้น และทั้งธงทั้งเรือก็ค่อย ๆ จมลงในมหาสาครอันบ้าคลั่ง
บรรดาพราหมณ์ที่อยู่ในเรือต่างก็ตื่นตระหนกตกใจกลัวตาย และตะโกนร้องเรียกให้พระเจ้าจัณฑสิงห์ช่วย เมื่อสัตตวศีลได้ยินเสียงพราหมณ์ร้องก็คิดถึงพระราชาผู้เป็นนาย ด้วยความภักดี จึงถือดาบมือหนึ่ง พันอาภรณ์เข้ากับตนอย่างทะมัดทะแมง กระโจนลงไปในเกลียวคลื่นเพื่อติดตามหาสาเหตุแห่งภัยพิบัติ โดยดำน้ำลงไปตรงที่ธงผุดขึ้นมา และในทันทีที่เขาจมลงไป เรือลำนั้นก็ถูกกระแสน้ำและลมพัดพาไปไกล ทำให้เรือเคว้งคว้างไปมาครู่หนึ่งแล้ว ก็พาเอาทุกคนจมหายไปในทะเลลึก สู่ปากของอสูรทะเลที่กำลังกระหืดกระหือคอยทีอยู่
ส่วนสัตตวศีลเมื่อจมลงไปในท้องทะเล รู้สึกตัวว่าตกลงมาในนครแห่งหนึ่งอันงดงามโอฬาร ไม่แลเห็นทะเลอยู่ที่ใดเลย เมื่อแลดูรอบ ๆ ก็พบกับภาพอันวิจิตรสุดบรรยาย คือปราสาทราชวังที่หลังคาเป็นทองกระทบแสงอาทิตย์เป็นประกายวูบวาบ ตั้งอยู่บนเสาอันเรียงรายเป็นแถวทำด้วยเพชรมณีระยิบระยับไปทั่ว มีอุทยานแห่งหมู่ไม้และดอกไม้บานสะพรั่งใกล้กับทะเลสาบซึ่งมีน้ำใสกระจ่างราวกับแผ่นแก้ว ที่ทะเลสาบมีบันได้แก้วมณีสีต่าง ๆ ทอดลงสู่ผืนน้ำและในทะเลสาบนั้นเองมีเทวาลัยของพระทุรคาเทวีตั้งโดดเด่นเป็นสง่าราวกับภูผาพระสุเมรุ มีกำแพงหินสีงามและธงทิวเพชรพลอยเรียงรายอยู่โดยรอบ สัตตวศีลเข้าไปสู่ตีรถะของพระเทวี กระทำการบูชาด้วยใจศรัทธา กล่าวโศลกเทวีมาหาตมยันถวายบทหนึ่ง และนั่งพักด้วยความรู้สึกงงงวยราวกับตกอยู่ในความฝัน
ในระหว่างนั้น มีเทพอัปสรตนหนึ่งเปิดทวารเทวาลัยเข้ามา แผ่รัศมีสว่างโชติช่วงตรงหน้าเทวรูปพระเทวี นางมีเนตรยาวเรียวราวกับกลีบบัวอินทีวร(บัวสายสีน้ำเงินชนิดหนึ่ง) มีพักตร์เอิบอิ่มเช่นสมบูรณจันทร์ มียิ้มอันงามละมุนดังดอกไม้ มีสรีระอันแบบางละไมราวกับแท่งเทียนที่หล่อหลอมขึ้นมาจากใยรากพลับพลึง จะเปรียบความงามของนางโดยส่วนรวมก็คล้ายกับสระโบกขรณีที่เคลื่อนไหวได้นั่นเอง นางเดินผ่านฝูงนางบริวารเข้าไปสู่พระวิมาน(ส่วนลึกที่สุดในเทวาลัย เป็นที่สถิตของเทวรูป) ที่สถิตของเทวรูปและที่ที่สถิตของหัวใจสัตตวศีลในขณะเดียวกัน เมื่อนางกระทำการบูชาพระเทวีแล้วก็ออกมาจากพระวิมาน แต่หาได้ออกจากหัวใจของชายหนุ่มไม่ นางเข้าไปสู่ที่ว่างภายนอกวิหาร สัตตวศีลก็ติดตามนางไป พอออกมาพ้นเทวาลัยชายหนุ่มก็แลเห็นนครอีกแห่งหนึ่งปรากฏตรงหน้า งามโอ่อ่าคล้ายกับอุทยานอันเป็นที่รวมแห่งความบันเทิงทั้งหลาย เมื่อเข้าไปสู่อุทยานสุตตวศีลก็แลเห็นนางนั่งอยู่บนแท่นซึ่งประดับประดาด้วยเพชรพลอย เขาจึงตามเข้าไปและนั่งลงเคียงข้างนาง นัยน์ตาจับจ้องแต่ใบหน้าของนางด้วยความเสน่หาเป็นล้นพ้น ราวกับบุรุษที่ปรากฏในภาพวาดมีลักษณะแน่วนิ่งฉะนั้น เพียงแต่มีแข้งขาอันสั่นเทิ้มและโลมาอันชูชันเพราะความปรารถนานางอย่างแรงกล้า เมื่อนางแลเห็นว่าเขามองนางด้วยความหลงใหลก็ยิ้มและพยักหน้าให้บริวารของนางถอยออกไป นางผู้บริวารทั้งหลายจึงกล่าวแก่ชายหนุ่มว่า
"ท่านมาสู่ที่นี่ในฐานะอาคันตุกะของเรา ฉะนั้นจงมีใจรื่นเริงต่อทุกสิ่งที่นายหญิงของพวกข้าจะเสนอแก่ท่านเถิด จงลุกขึ้นไปอาบน้ำให้สะอาดแล้วมาบริโภคอาหาร"
เมื่อชายหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกชื่นมื่นขึ้น ค่อยลุกขึ้นอย่างมีเรี่ยวแรง เดินไปยังสระน้ำที่นางเหล่านั้นชี้ให้ และในขณะที่เขาดำลงไปในสระนั้น ก็โผล่ขึ้นแลดูโดยรอบด้วยความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่าเขาโผล่ขึ้นมากลางสระในสวนขวัญของพระราชาจัณฑสิงห์แห่งนครตามรลิปติ และทันทีที่แลเห็นเขาก็ต้องอุทานออกมาว่า
"อะโห นี่มันเรื่องอะไรกัน เดี๋ยวนี้เราอยู่ในอุทยานหลวง แต่เมื่อตะกี้เราอยู่ในนครอันงามโอฬารนี่ ความรื่นรมย์ที่มีอยู่ที่นั่นหายไป กลายเป็นความโศกเศร้าแสนศัลย์ที่นี่เพราะต้องแยกจากนางมา แต่นี่ก็มิใช่ความฝัน เพราะเราเห็นทุกอย่างในสภาพของคนที่ตื่นแล้วแท้ ๆ บัดนี้ความจริงก็แจ่มแจ้งแล้วว่า เราถูกนางในบาดาลแห่งนั้นหลอกเหมือนอ้ายโง่ตนหนึ่งนั่นเอง"
คิดดังนี้แล้ว สัตตวศีลก็ออกเดินท่องเที่ยวไปในสวนอย่างไร้จุดหมาย มีลักษณะเหมือนคนบ้า มีความเสียใจอย่างลึกซึ้งที่ต้องพรากจากนางมาโดยไม่มีทางจะได้พบกันอีก เดินพลางร่ำไห้ด้วยใจรันทดผิดหวัง
บรรดาผู้รักษาอุทยานแลเห็นชายหนุ่มเดินกระเซอะกระเซิงอยู่ในสวนมีร่างกายอันเรี่ยราดด้วยเกสรดอกไม้สีเหลืองเต็มไปทั่วเช่นนั้น ก็รีบพากันไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาจัณฑสิงห์ได้ฟังก็งุนงงในพระทัยยิ่งนัก เสด็จมาด้วยพระองค์เอง แลเห็นเสวกของพระองค์ตกอยู่ในสภาพที่น่าสงสารเช่นนั้นก็ทรงปลอบด้วยความปรานี ตรัสแก่เขาว่า
"เพื่อนรักของข้า นี่มันเรื่องอะไรกันเล่า ช่วยเล่าให้ข้าฟังทีสิ ข้าใช้ให้เจ้าเดินทางไปทำธุระในที่หนึ่ง แต่เจ้ากลับไปอีกที่หนึ่ง ลูกศรของเจ้าพลาดที่หมายเสียแล้วหรือ"
เมื่อสัตตวศีลได้ฟังรับสั่งเช่นนั้น ก็กราบทูลเรื่องราวที่เป็นมาทั้งหมดให้พระราชาฟัง พระราชาได้ฟังก็ฉงนพระทัยยิ่งนัก รำพึงแก่ตนเองว่า
"ช่างประหลาดอะไรอย่างนี้ ชายคนนี้เป็นวีรบุรุษอย่างไม่ต้องสงสัย เขาถูกความรักหลอกเล่นจนหัวปั่น แต่จะว่าไปข้ากลับยินดีด้วยซ้ำเพราะข้าได้โอกาสที่จะปลดเปลื้องหนี้แห่งบุญคุณที่เขามีต่อข้าเสียที"
ดังนั้นพระราชวีระจึงกล่าวแก่เขาว่า "เจ้าจงหยุดเศร้าโศกเสียทีเถิด ข้าจะพาเจ้ากลับไปทางเดิมเพื่อไปสู่นางอสุรีที่เจ้ารักด้วยตัวของข้าเอง" เมื่อปลอบโยนดังนี้แล้วก็รับสั่งให้เขาไปอาบน้ำและกินอาหาร เป็นการพักผ่อนเอาแรงไว้
วันรุ่งขึ้น พระราชาทรงมอบราชอาณาจักรแก่เหล่าเสนาบดีให้ช่วยดูแล แล้วเสด็จลงเรือแล่นใบไปในทะเลพร้อมด้วยสัตตวศีลซึ่งเป็นผู้นำทาง ทันทีที่เรือมาถึงครึ่งทางสัตตวศีลก็แลเห็นคันธง
มหัศจรรย์ผุดขึ้นจากน้ำทะเลพร้อมด้วยผืนธงอันสง่างามเหมือนที่เคยเห็นเมื่อครั้งก่อน จึงกราบทูลพระราชาว่า
"นั่นไงล่ะพระเจ้าข้า เสาธวัชอันยิ่งใหญ่ เครื่องหมายแห่งสมบัติอันหาค่ามิได้ผงาดโดเด่นอยู่ในทะเลอย่างสง่างาม ข้าพระบาทจะกระโดลงตรงนั้น ต่อจากนั้นพระองค์โปรดกระโดดตามข้าพระบาท ดำดิ่งลงไปตามเสาธงนี่แหละ"
ขณะที่สัตตวศีลกราบทูลอยู่นี้เรือก็แล่นเข้าไปใกล้เสาธงทอง เป็นเวลาเดียวกับที่เสาธงกำลังเริ่มจะจมลง สัตตวศีลรีบกระโดดลงไปเป็นคนแรก พระราชาเป็นคนที่สองที่กระโดดตามลงไป ในไม่ช้าก็ปรากฏว่าทั้งสองคนลงมาถึงนครอันโอฬารพร้อมกัน พระราชาทรงตื่นพระทัยเป็นล้นพ้นต่อภาพที่ปรากฏเฉพาะหน้า หลังจากเสด็จเข้าไปบูชาเทวรูปพระแม่เจ้าปารวตีแล้ว ก็เสด็จกลับมานั่งข้างสัตตวศีล
ระหว่างนั้นเองในท่ามกลางแสงทองระยิบระยับ นางโฉมงามก็ปรากฏร่างแวดล้อมด้วยบริวารจำนวนมาก สัตตวศีลแลเห็นก็รีบกราบทูลละล่ำละลักว่า นั่นแหละคือนางยอดดวงใจของตน พระราชาทอดพระเนตรแล้วรู้สึกว่า ถึงนางจะงามเพียงไร แต่หาได้ผูกมัดพระองค์ให้คลั่งไคล้ได้ไม่ ดวงหทัยของพระองค์มีแต่ความว่างเปล่าหาได้มีเยื่อใยต่อนางแม้แต่น้อยนางโฉมงามแลเห็นพระราชาผู้สง่างาม ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษอันเด่นชัดเช่นนั้นก็ประหลาดใจรำพึงแก่ตนเองว่า
"ใครหนอช่างงามสง่าถึงเพียงนี้"
แล้วนางก็กลับเข้าไปในเทวาลัย กระทำนมัสการเทวรูปพระเทวี และอธิษฐาน ฝ่ายพระราชามีความรู้สึกดูหมิ่นต่อนาง ไม่ต้องการจะเห็นนางอีก จึงพาสัตตวศีลเดินเข้าไปพักผ่อนในสวน ในเวลาไม่นานนักนางแทตย์(จากศัพท์ไทย หมายถึงอสูรพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของพระกัศปเทพบิดรกับชายาองค์หนึ่งคือนางทิติ) โฉมงามกลับออกมาจากพระวิมาน หลังจากที่ได้อธิษฐานขอสามีที่ดีต่อพระเทวีแล้ว นางเรียกบริวารคนหนึ่งเข้ามาและกล่าวว่า "เพื่อนเอ๋ย ไปหาดูสิว่า ชายผู้งามสง่าเป็นมหาบุรุษที่ข้าเห็นเมื่อตะกี้เป็นใคร แล้วเชิญให้เขาเข้ามาเพื่อเราจะได้ต้อนรับเขาให้สมเกียรติ เราจะต้องต้อนรับเขาให้ดีเพราะเขาเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ สมควรจะได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษ"
เมื่อนางบริวารได้รับคำสั่งเช่นนั้นก็รีบติดตามจนพบพระราชาอยู่ในสวนกำลังก้มลงกระทำอัญชลีอย่างนอบน้อม และนำสารของผู้เป็นนายมากราบทูลให้ทรงทราบ พระราชาผู้วีระกลับตรัสอย่างไม่แยแสด้วยเสียงอันเหยียดหยามว่า "สวนนี้ก็ให้ความรื่นรมย์แก่ข้าเพียงพอแล้ว ข้าจะปรารถนาความบันเทิงอะไรนอกเหนือไปจากนี้เล่า"
เมื่อนางบริวารนำความกลับมาแจ้งแก่นางอสูรผู้เป็นนาย นางก็คิดในใจว่าพระราชาองค์นี้ไม่ไยดีต่อเรา เพราะถือว่าพระองค์มีเกียรติยศสูงส่งยิ่งกว่าเรา ถ้ากระไรเราควรถวายการต้อนรับอย่างวิเศษสุดแก่พระองค์ดีกว่า ดังนั้นนางแทตย์จึงออกมาหาพระราชาด้วยตนเองที่อุทยาน และคิดว่าพระราชาองค์นี้ถูกส่งมาให้เป็นสวามีของนางด้วยผลบุญที่นางได้บูชาพระทุรคาเทวีนั่นเอง ขณะเมื่อนางยาตรกายเข้ามานั้น บรรดารุกขชาติต่างก็ให้เกียรติแก่นางโดยค้อมกิ่งลงต่ำ หมู่มวลปักษินชาติก็ร้องเพลงอย่างไพเราะ และลดาวัลย์ก็กวัดไกวไปมาตามสายลมอ่อนรำเพย ปรายโปรยเกสรกุสุมรสลงสู่ร่างของนางมิขาดสาย เมื่อนางดำเนินเข้ามาใกล้วีรกษัตริย์ ก็ก้มลงถวายความเคารพอย่างนอบน้อม เชิญชวนให้พระองค์ทรงรับไมตรีของนาง
พระราชาได้ฟังก็ทรงชี้ไปที่สุตตวศีล และตรัสแก่นางว่า
"ข้าเดินทางมาที่นี่ก็เพื่อถวายการบูชาแด่องค์พระทุรคาตามที่ชายคนนี้เชิญชวน ข้าก็ได้บูชาพระเทวีแล้วด้วยธวัชอันงาม หลังจากนี้แล้วก็หมดภาระของข้า เจ้ายังมีอะไรจะมาเสนอข้าอีก"
เมื่อนางได้ฟังดังนั้นก็กล่าวว่า "ถ้ากระนั้นก็ทรงมาเถิด ข้าจะพาพระองค์ไปยังนครแห่งที่สองของข้า ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในสามโลกนี้"
เมื่อได้ฟังนางกล่าวจบ พระราชาก็สรวลเสียงกึกก้อง ตรัสว่า
"โอ๊ะโอ๋ เรื่องนั้นน่ะหรือ ชายคนนี้ได้เล่าให้ข้าฟังหมดแล้ว ถึงเรื่องวังอันมหัศจรรย์พร้อมด้วยทะเลสาบที่น่าลงไปอาบของเจ้านั่นแหละ"
นางโฉมงามได้ฟังก็กล่าวว่า "อารยบุตร ขออย่าตรัสอย่างนั้น ข้ามิได้มีเจตนาจะหลอกลวงพระองค์เลย ใครเล่าจะกล้าหลอกลวงบุคคลที่น่านับถืออย่างพระองค์ได้ ข้าเป็นดั่งทาสของท่านทั้งสองอยู่แล้ว จะเกรงอะไรอีก ขอเชิญเสด็จมากับข้าเถิด"
พระราชาได้ฟังก็ทรงตกลง พาสัตตวศีลไปด้วยพระองค์ เสด็จตามนางงามเข้าไปสู่วังชั้นในของนาง เมื่อเปิดประตูเข้าไปสู่วังอันงาม ก็ทอดพระเนตรเห็นสวนขวัญอันงดงามสุดพรรณนา ดารดาษไปด้วยพฤกษชาติซึ่งมีดอกบานตระการตาทุกหนทุกแห่ง นครภายในแห่งนี้มลังเมลืองไปด้วยแสงทองแสงแก้วระยิบระยับไปหมด ราวกับยอดภูผาพระสุเมรุอันเป็นที่ตั้งแห่งเมืองฟ้า นางแทตย์เชิญชวนให้พระราชาประทับบนบรรยงก์รัตนาสน์ที่รจิตไว้อย่างสุดบรรเจิด และถวายการต้อนรับด้วยอรรฆยะ (การต้อนรับผู้เป็นแขกด้วยการมอบเมล็ดข้าว หญ้าทูรวะ ดอกไม้ และน้ำ ให้แก่แขกผู้มาเยือน) และทูลพระราชาว่า
"โอ นโรดม ข้านี้เป็นธิดาของอสุรกาลเนมี(นามอสูรหรือรากษสตนหนึ่ง เป็นลูกของอสูรวิโรจนะ ผู้เป็นหลานของพญายักษ์ หิรัณยกศิปุ ถูกพระนารายณ์ฆ่าด้วยจักรสุทรรศน์) ผู้ทรงกิตติคุณอันประเสริฐแห่งเหล่าอสูรทั้งหลาย แต่พ่อของข้าละโลกไปสู่สวรรค์แล้ว โดยอาญาของพระวิษณุ(หรือพระนารายณ์ เป็นเทพสูงสุดองค์หนึ่งในจำนวนสามองค์ ซึ่งประกอบด้วยเทพอีกสององค์คือ พระศิวะ(อิศวร) และพระพรหม) ผู้เป็นพระจักรี(ผู้ทรงจักร (ชื่อสุทรรศน์)เป็นอาวุธ หมายถึงพระวิษณุ หรือพระนารายณ์) และนครแฝดที่ทรงแลเห็นนี้ ข้าได้รับมรดกมาจากบิดาของข้า เป็นนครอันเลิศที่รังสรรค์ด้วยฝีมือของพระวิศวกรรมัน(หรือวิศวกรรม)(เทพผู้เป็นนายช่างใหญ่แห่งสวรรค์) ผู้ใดอยู่ในปุระนี้จะปรารถนาอะไรก็จะได้ดังใจ เป็นที่ซึ่งความชราและความตายมิอาจมาเยี่ยมกรายเลย มาบัดนี้ข้ามีความนับถือพระองค์ดุจดังพ่อของข้า ตัวข้าและพระนครทั้งสองนี้เป็นของใต้ฝ่าพระบาทแล้ว"
กล่าวแล้วนางก็คุกเข่าลงกราบแทบบัวบาทของพระราชาแสดงการถวายตัว พระราชาจึงตรัสแก่นางว่า "ถ้าเป็นดั่งที่เจ้าพูด ข้าก็ขอมอบเจ้าไว้แก่เพื่อนข้าคือ สัตตวศีลผู้นี้ ผู้ซึ่งข้ารักเหมือนญาติสนิท"
เมื่อพระราชาผู้ทรงสิริดังพระทุรคาเทวีในร่างมนุษย์ตรัสถ้อยคำนี้ นางก็เข้าใจและยอมรับฟังโดยดี ด้วยประการฉะนี้ สัตตวศีลก็ได้บรรลุจุดสุดยอดแห่งความปรารถนาคือ ได้นางผู้เป็นยอดดวงใจ และได้เป็นราชันครองนครทั้งสองด้วยในขณะเดียวกัน พระราชาจึงตรัสแก่เขาว่า
"แน่ะ เจ้าเพื่อนยาก บัดนี้ข้าก็ได้ให้สิ่งที่เจ้าปรารถนาแล้วเป็นเครื่องตอบแทนผลอามลกะที่เจ้าเคยให้ข้ากินผลหนึ่งในสมัยก่อน แต่ข้าก็ยังเป็นหนี้เจ้าอยู่ ข้ายังไม่ได้ให้รางวัลแก่เจ้าเป็นอย่างที่สอง"
เมื่อพระราชาจัณฑสิงห์กล่าวแก่สัตตวศีลผู้ยืนก้มศีรษะอยู่ดังนั้นแล้ว ก็หันมาตรัสแก่นางแทตยาสุรีว่า
"ทีนี้เจ้าจงแสดงหนทางที่จะนำข้ากลับพระนครเถิด"
นางอสูรได้ฟังดังนั้นก็ถวายกระบี่เล่มหนึ่งแก่พระราชาพร้อมทั้งแนะนำว่า "กระบี่วิเศษนี้ชื่อปราบสกลทิศ ไม่มีใครเอาชนะได้ พระองค์จงเอาติดตัวไปพร้อมด้วยผลไม้นี้ซึ่งมีคุณอันเลิศ ซึ่งเมื่อพระองค์ได้เสวยแล้วจะสามารถเอาชนะความแก่และความตายได้"
พระราชาทรงทราบวิถีที่นางกล่าวเป็นนัยดังนั้นแล้ว ก็กระโจนลงสู่บึงใหญ่ตามที่นางชี้ให้ และสิ่งที่เกิดตามมาก็คือ พระองค์ได้ผุดขึ้นในนครของพระองค์เองราวปาฏิหาริย์ ส่วนสัตตวศีลมิได้ติดตามไป เพราะได้เป็นราชาครองสองพระนคร ณ บาดาล พร้อมด้วยนางอสุรีโฉมงาม มีความสุขอยู่ในแดนทิพย์แห่งนั้นชั่วกาลนาน
"ข้าแต่เทวบุตร" เวตาลกล่าวหลังจากนิทานจบลงแล้วว่า "ข้ายังสงสัยอยู่ว่าใครกันแน่ระหว่างบุรุษทั้งสองนั้นที่กล้าหาญที่สุดในการโจนลงทะเล"
เมื่อเวตาลตั้งปุจฉาดังนี้ พระราชาตริวกรมเสนผู้ทรงเกรงคำสาปของเวตาลก็กล่าวว่า
"ถ้าจะให้ข้าตอบ ข้าก็ต้องบอกว่า สัตตวศีลนั่นแลคือคนที่กล้าหาญที่สุด เพราะเขากระโจนลงสู่สมุทร ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาไม่รู้ถึงเหตุการณ์ และมิได้มีความหวังใด ๆ เลย ส่วนพระราชานั้นทรงทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อดำลงไปใต้น้ำเพื่อหาอะไรที่นั่น และพระองค์ก็มิได้ตกหลุมรักนางแทตยาสุรี เพราะพระองค์หาได้มีความปรารถนานางแต่ประการใดไม่"
ฝ่ายเวตาลเมื่อได้ยินพระราชาตรัสดังนั้นเป็นการละเมิดกติกา ก็หายแวบไปจากอังสาของพระราชา กลับไปสู่ต้นอโศกตามเดิม พระราชาก็เสด็จกลับไปยังที่นั้นอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะเอาตัวมันมาให้ได้ ทั้งนี้เพราะบุรุษผู้มีความรับผิดชอบต่องานที่ตนทำ ย่อมไม่ละทิ้งไปก่อนที่งานของตนจะสำเร็จลงตามสัญญา




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2550    
Last Update : 29 สิงหาคม 2550 14:21:53 น.
Counter : 989 Pageviews.  

เรื่องที่ 6 วันฉลองพระแม่เคารี

พระราชาตริวกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศก จับตัวเวตาลพาดบ่าเสด็จมุ่งหน้าไปยังสุสานที่นัดพบกับโยคีศานติศีล ระหว่างที่เดินทางมาในความเงียบครู่หนึ่ง เวตาลก็เอ่ยขึ้นว่า "อารยบุตร ข้าสังเกตุดูพระองค์ก็เป็นคนฉลาดและกล้าหาญมิน้อย ข้าชักจะรักพระองค์แล้วสิ ฉะนั้นข้าจะเล่านิทานถวายให้ทรงฟังเล่นเพลิน ๆ สักเรื่องหนึ่ง โปรดทรงสดับเถิด"
ในอดีตกาลมีพระราชาผู้มีพระนามบันลือในพิภพองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้ายศเกตุ ครองราชสมบัติ ณ นครโศภาวดี และในนครนี้เอง มีเทวาลัยของพระเคารี(ผู้มีผิวสีเหลืองอ่อน หรือสีนวล เป็นชื่อของพระอุมามเหสีพระศิวะปางใจดี) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทวาลัย มีทะเลสาบอันงดงามชื่อ เคารีตีรถะ(ฝั่งน้ำ หมายถึงเทวาลัยริมน้ำอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของผู้จาริกแสวงบุญ) และทุก ๆ ปีจะมีการฉลองในวันขึ้นสิบสี่ค่ำเดือนอาษาฒะ (เดือน ๘ ตกราวเดือนกรกฎาคม)จะมีผู้คนทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาสระสนานกันที่นี่เป็นประจำ
ครั้งหนึ่งในวันดังกล่าวนี้ มีชายคนหนึ่งชื่อธนวละ เดินทางมาจากแคว้นพรหมสถล เขาได้เห็นสาวงามผู้หนึ่งชื่อมัทนสุนทรี บุตรของชายชื่อศุทธบฏ มีเรือนร่างเฉิดโฉมราวอัปสรสวรรค์ กำลังเล่นน้ำอยู่ในบึงนั้น หัวใจเขาก็ถูกนางยึดแน่นราวพระจันทร์ถูกเงาราหูเข้าเบียดบัง เขาพยายามสืบถามจนรู้ว่านางชื่ออะไร และอยู่ในตระกูลอะไร จากนั้นเขาก็เดินทางกลับบ้าน มีแต่ความหลงใหลในตัวนางอย่างไม่ว่างเว้น เขาคิดถึงนางจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ในที่สุดเมื่อถูกมารดาซักไซ้บ่อย ๆ เขาก็จำใจยอมเผยความจริงว่าเขาหลงรักนางมัทนสุนทรี และปรารถนานางแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น นางได้ฟังก็เล่าให้สามีของนางชื่อวิมลฟังโดยตลอด ผู้เป็นบิดาได้ทราบเรื่องก็เข้ามาหา แลเห็นลูกรักตกอยู่ในภาพเศร้าโศกท้อแท้เช่นนั้นก็กล่าวว่า
"ลูกของพ่อ ไฉนจึงเป็นทุกข์เป็นร้อนเช่นนี้ เรื่องนี้ไม่เห็นจะยากเย็นอะไรเลย ศุทธบฏจะต้องให้ลูกสาวเขาแต่งงานกับลูกแน่ ๆ ถ้าพ่อไปเจรจาต่อเขาด้วยตนเอง ทั้งนี้ก็เพราะพ่อกับเขาต่างก็มีฐานะเท่าเทียมกันทั้งทรัพย์สินและกิจการงาน พ่อรู้จักเขาและเขาก็รู้จักพ่อดี เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ยากเลยในการที่จะไปพูดกับเขา"
เมื่อปลอบโยนบุตรชายดังนี้แล้ว วิมลก็คะยั้นคะยอให้บริโภคข้าวน้ำตามปกติ และในวันรุ่งขึ้นเขาก็พาลูกชายไปยังบ้านของศุทธบฏ เจรจาสู่ขอบุตรสาวของเจ้าของบ้านให้แก่บุตรชายของตน ศุทธบฏก็ยินดีที่จะยกนางให้โดยมิตรไมตรี และเตรียมหาฤกษ์งามยามดีไว้เรียบร้อย ครั้นได้เวลาอันเป็นมงคลก็จัดการแต่งงานนางมัทนสุนทรีกับหนุ่มธนวละ เมื่อชายหนุ่มได้นางมาเป็นคู่ครองสมใจนึกแล้ว ต่อมามิช้าก็พานางเดินทางกลับมาอยู่บ้านบิดาของตนด้วยความสุข และนางทมัทนสุทนทรีก็เช่นเดียวกัน นางรักสามีตั้งแต่พบครั้งแรก จึงยินดียอมเป็นภรรยาของเขาโดยไม่มีข้อเกี่ยงงอนด้วยประการใด ๆ
วันหนึ่งขณะที่ชายหนุ่มมีความสุขด้วยครอบครัวของตนที่บ้าน พลันน้องเมียของนางมัทนสุนทรีก็เดินทางมาเยี่ยมที่บ้าน ทุกคนต่างก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี นางมัทนสุนทรีนั้นวิ่งเข้ามาสวมกอดน้องชายของนางด้วยความดีใจ พลางไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันด้วยความคิดถึง หลังจากที่ชายหนุ่มได้พักผ่อนชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว เขาก็กล่าวแก่คนเหล่านั้นว่า "บิดาของข้าให้มาเชิญนางมัทนสุนทรีกับลูกเขยไปยังบ้านของเรา เนื่องด้วยทางบ้านกำลังทำพิธีฉลองพระทุรคาเทวี"
เมื่อได้ยินดังนี้ บรรดาญาติพี่น้องของฝ่ายชายก็เห็นสมควรด้วย และเลี้ยงดูปูเสื่อชายหนุ่มในวันนั้นอย่างเต็มที่ด้วยโภชนาหารและสุราเมรัยครบถ้วน
เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ธนวละออกเดินทางไปบ้านพ่อตาพร้อมด้วยนางมัทนสุนทรีและน้องชายของนาง ทั้งหมดมาถึงเมืองโศภวดี และเห็นมหาเทวาลัยของพระทุรคาเทวีอยู่ข้างหน้า จึงเดินเข้าไปใกล้และกล่าวแก่ภรรยาและน้องชายของนางด้วยศรัทธาอันเปี่ยมล้นที่มีต่อพระเทวีว่า
"เราเข้าไปในวิหารของพระแม่เจ้ากันเถอะ"
เมื่อน้องชายของนางได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวแก่พี่เขยด้วยอาการอิดเอื้อนว่า "พวกเรามีตั้งสามคน จะเข้าไปในเทวาลัยมือเปล่าได้กระไร"
ธนวละจึงตัดบทว่า
"เอาเถอะ พี่จะเข้าไปก่อน แล้วเจ้าค่อยตามเข้าไปทีหลังก็แล้วกัน"
กล่าวจบเขาก็เข้าไปในเทวาลัย เพื่อถวายการสักการะ
เมื่อเขาเข้าไปแล้วก็กระทำอัญชลีต่อพระแม่เจ้า และกระทำสมาธิจิตเพ่งเฉพาะพระเทวีผู้มีสิบแปดกร ถืออาวุธครบครันกำลังประหารมหิษาสูรอยู่ พลันดวงจิตก็ท่วมท้นด้วยแรงศรัทธาและภักดี ชายหนุ่มเข้าไปหมอบแทบบัวบาทของนางซึ่งกำลังกระทืบทานพ (อสูรจำพวกหนึ่งในนิทาน) ร้ายอยู่ และราวกับตกอยู่ในหัตถ์แห่งชะตากรรมอันฝ่าฝืนมิได้ เขาก็กล่าวแก่ตัวเองว่า "คนทั้งหลายต่างก็ถวายพลีกรรมต่อพระเทวีด้วยสัตว์มีชีวิตต่าง ๆ ก็เราเองล่ะ เมื่อแสวงหาวิมุกติ(การเข้าถึงความหลุดพ้นในองค์พระผู้เป็นเจ้า) ในองค์พระแม่เจ้าแล้วจะรีรอเพื่ออะไรเล่า ทำไมไม่สังเวยชีวิตของเราเพื่อพระองค์ด้วยใจภักดีแท้จริง"
หลังจากใคร่ครวญดังนี้แล้ว ธนวละก็หันมองไปมาแลเห็นดาบเล่มหนึ่งซุกอยู่ข้างแท่นพระเทวี คงจะเป็นสมบัติของผู้จาริกแสวงบุญสมัยก่อนนำมาถวาย จึงหยิบดาบนั้นมาถือไว้ แล้วผูกผมเข้ากับเชือกระฆัง ยกดาบขึ้นฟันฉับศีรษะหล่นกลิ้งลงบนพื้นทันที
ฝ่ายน้องภรรยาของธนวละคอยอยู่ข้างนอกเป็นเวลานาน ไม่เห็นพี่เขยกลับออกมา จึงเข้าไปตาม แลเห็นนอนกลิ้งศีรษะขาดก็ตกใจ บังเกิดความประหลาดใจเป็นล้นพ้น และในท่ามกลางความอัศจรรย์ใจนั้นเอง ชายหนุ่มก็ตัดศีรษะของตนขาดจากร่างด้วยดาบเล่มที่ใช้ประหารธนวละนั่นเอง
ฝ่ายนางมัทนสุนทรี เห็นคนทั้งสองหายเข้าไปข้างในเทวาลัยช้านานก็ร้อนใจ ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จึงติดตามเข้าไปข้างใน และเห็นศพของสามีและน้องชายนอนกลิ้งอยู่ไร้ศีรษะ ก็ตกใจแทบชีวิตจะออกจากร่าง ร้องว่า
"ตายแล้ว เกิดอะไรขึ้นนี่ ข้าต้องถึงความฉิบหายแน่ ๆ"
นางค่อนยันกายขึ้น แลดูศพของคนทั้งสอง และร้องไห้คร่ำครวญด้วยความเสียใจ พักหนึ่งจึงตั้งสติได้ รำพึงแก่ตนเองว่า "ชีวิตนี้จะมีประโยชน์อะไรแก่ข้าต่อไปเล่า" คิดดังนี้จึงกล่าวแก่
เทวรูปพระทุรคาเทวีว่า
"โอ พระเทวีเจ้า พระผู้ทรงความสำคัญอันอุกฤษฏ์เหนือเทพอื่นใด พระผู้ทรงความบริสุทธิ์และเจ้าแห่งกฏอันศักดิ์สิทธิ์ พระผู้เป็นอรรธภาค (ครึ่งส่วน,ครึ่งหนึ่ง) แห่งพระศิวะผู้เป็นพระสวามี พระผู้เป็นสรณะแห่งสตรีทั้งมวลในสกลโลก พระผู้ขจัดความโศกศัลย์ให้สิ้นไป โอ้ พระเทวี เหตุไฉนพระองค์จึงทรงพรากน้องและสามีของข้าไปเสียเล่า พระองค์ไม่ควรทำแก่ข้าถึงเพียงนี้เลย เพราะข้าเป็นสาวกที่ซื่อสัตย์และภักดีของพระองค์ตลอดมามิเคยเปลี่ยนแปลง ขอได้โปรดฟังคำของข้าสักนิด ข้ากำลังจะละร่างนี้ซึ่งมีแต่ความเศร้าหมองอันไม่อาจจะทานทนต่อไปอีกได้ ข้าขอพระพระแม่เจ้าสักอย่างคือ ไม่ว่าข้าจะเกิดในชาติใดภพใด ขอให้คนทั้งสองนั้นไปเกิดเป็นสามีและน้องของข้าในทุก ๆ ชาติเถิด"
เมื่อกล่าวสดุดีกถาต่อเทวรูปพระเทวีดังนี้แล้ว นางก็ก้มลงกราบอีกครั้งหนึ่ง แล้วเอาเถาวัลย์มาประดิษฐ์เป็นบ่วง ชายข้างหนึ่งผูกไว้กับกิ่งอโศกแล้วยื่นคอสอดเข้าไปในบ่วง ทันใดนั้นก็มีเสียงลอยมาในอากาศว่า "อย่าทำดังนั้นเลย ลูกเอ๋ย แม่พอใจอย่างยิ่งแล้วในความกล้าหาญอันหาที่เปรียบมิได้ของลูก แม้เจ้าจะเป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งก็ตาม ขอให้บ่วงนี้จงต่อคอของสามีและน้องชายของเจ้าเข้ากับร่าง และด้วยพรของข้า ขอให้คนทั้งสองกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นอีกเถิด"
เมื่อนางมัทนสุนทรีได้ฟังดังนั้น นางก็ปล่อยบ่วงให้ตกลงบนพื้น รีบวิ่งกลับมายังศพของคนทั้งสองด้วยความดีใจ แต่ด้วยความฉุกละหุกตะลีตะลานและไม่ทันสังเกตสิ่งที่นางกำลังกระทำอยู่ ทำให้นางต่อศีรษะสามีเข้ากับร่างน้องชาย และต่อศีรษะน้องชายเข้ากับร่างสามี ทันใดคนทั้งคู่ก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมา ไม่มีร่องรอยบาดแผลใด ๆ แต่ศีรษะกับร่างนั้นสับกันเป็นคนละคน
แล้วทั้งสองชายก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ตนให้ฟังซึ่งกันและกัน และต่างก็ปลาบปลื้มยินดีที่ได้เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง และหลังจากการบูชาพระเทวีแล้ว ทั้งสามคนก็ออกเดินทางต่อไป แต่นางมัทนสุนทรีผู้เดียวมีความรู้สึกว่านางได้ทำผิดเสียแล้วในการสับหัวสับร่างบุคคลทั้งสอง และจนปัญญาไม่รู้ว่าจะทำฉันใดดี
"โอ ราชะ" เวตาลกล่าว "โปรดทรงวินิจฉันด้วยเถิดว่า คนทั้งสองที่คืนชีวิตมานั้น คนไหนเป็นน้อง และคนไหนเป็นสามีของนาง ถ้าทรงรู้แล้วแต่ไม่ยอมพูดก็โปรดทรงทราบเถิดว่า ผลลัพธ์คือคำสาปจะตกอยู่แก่ใคร"
เมื่อพระราชาตริวกรมเสนได้ฟังเรื่องราวโดยตลอด และถูกเวตาลตั้งคำถามอย่างนั้น ก็เผลอพระองค์ตรัสออกไปว่า
"ในสองคนนี้คนใดก็ตามมีศีรษะของชายผู้เป็นสามีติดอยู่ ก็คนนั้นแหละควรเป็นสามีแท้ ๆ ของนาง เพราะหัวเป็นส่วนสำคัญที่สุดของร่างกาย และเป็นสิ่งที่ทำให้คนเราจำได้ว่าใครเป็นใคร การที่จะชี้ว่าใครเป็นใครก็ต้องดูที่หัวของคนคนนั้นแหละ"
เมื่อพระราชาตรัสจบลงเวตาลก็หัวเราะด้วยความชอบใจ ผละจากอังสาของพระราชากลับคืนไปสู่ที่พำนักของตน ทำให้พระราชาต้องเสด็จกลับไปตามตัวมันอีก




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2550    
Last Update : 29 สิงหาคม 2550 12:09:19 น.
Counter : 992 Pageviews.  

เรื่องที่ 5 นางโสมประภา กับการเลือกคู่ครอง

นิทานเรื่องที่ ๕

พระเจ้าตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศก แลเห็นซากศพที่เวตาลเข้าสิงห้อยอยู่บนกิ่งไม้จึงขึ้นไปลากตัวลงมา และหลังจากที่ทรงบริภาษเวตาลแล้วก็รีบเสด็จกลับไปทางเดิมเพื่อมุ่งไปสู่จุดที่หมาย แต่ในขณะที่ดำเนินไปตามทางที่นำไปสู่สุสานของโยคีในราตรีนั้น เวตาลซึ่งเกาะอยู่บนอังสาของพระราชาก็กล่าวขึ้นว่า
"ราชะ พระองค์ช่างอดทนในภาระนี่กระไร ข้าเห็นพระองค์ครั้งแรกก็รู้สึกชอบเสียแล้ว ข้าจะเล่านิทานให้ทรงฟังสักเรื่องหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องบันเทิงพระทัย โปรดสดับเถิด"
ในพระนครอุชชยินี มีพราหมณ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังผู้หนึ่งเป็นราชเสวกและมนตรีของพระราชาปุณยเสน มีชื่อว่าหริสวามิน พราหมณ์มีภรรรยาที่เป็นหญิงมีตระกูลเสมอกันและมีบุตรชายคนหนึ่งเป็นชายหนุ่มรูปงามชื่อ เทวสวามิน ต่อมานางให้กำเนิดบุตรหญิงคนหนึ่ง เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว มีความงามอันยอดยิ่งหาผู้ใดเสมอมิได้ ชื่อ โสมประภา ครั้นสืบมานางมีวัยอันพึงมีคู่ครองได้แล้ว (คืออายุ ๑๖ ปี) นางจึงให้มารดาไปเจรจาต่อบิดาและพี่ชายของนาง โดยสั่งว่า "ลูกจะแต่งงานกับชายที่มีความกล้าหาญ หรือมีความรู้ดีเลิศ (จากศัพท์ว่า ชญานิน) หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นชายที่เรียนรู้มายาศาสตร์เท่านั้น ขออย่าบังคับให้ลูกแต่งงานกับคนอื่นนอกเหนือจากนี้ ถ้าพ่อยังเห็นว่าชีวิตของลูกยังมีค่าอยู่"
เมื่อหริสวามินผู้บิดาได้ยินดังนี้ ก็กังวลใจมาก ไม่ทราบว่าจะหาบุรุษใดมีคุณสมบัติตามข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อที่นางตั้งเงื่อนไขเอาไว้ ขณะนั้นพอดีกับที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตสันติเพื่อไปทำสัญญาไมตรีกับพระราชาแห่งเดกข่าน ซึ่งกำลังจะเข้ามารุกรานแว่นแคว้น
หริสวามินได้ทำงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และเดินทางกลับมาบ้าน ขณะนั้นเอง พราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งได้ทราบข่าวระบือในความงามอันยอดยิ่งของนางโสมประภาก็เข้ามาหา และสู่ขอนางเพื่อการสมรส หริสวามินจึงกล่าวแก่พราหมณ์ผู้นั้นว่า
"ลูกสาวข้าจะไม่แต่งงานกับใครเลย ถ้าชายนั้นมิได้มีคุณสมบัติทางด้านความกล้าหาญ ความเป็นผู้รู้เลิศ หรือเจนจบในมายาศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งไหนลองบอกมาสิว่า ท่านชำนาญทางไหนในสามอย่างนี้"
เมื่อหริสวามินกล่าวดังนี้แก่พราหมณ์หนุ่ม ชายหนุ่มก็ตอบว่า "ข้าเป็นผู้ชำนาญในมายาศาสตร์ยิ่งกว่าอย่างอื่น" หริสวามินจึงกล่าวว่า "ถ้ากระนั้นจงแสดงให้ข้าดูสิ"
ชายหนุ่มผู้มีมายาศาสตร์ได้ฟังก็เริ่มการแสดงโดยทันทีตามความชำนาญของตน คือ นำรถมาคันหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพสามารถแล่นไปอย่างรวดเร็วในอากาศ ชายหนุ่มเชิญให้พราหมณ์เฒ่าลงสู่รถแก้วแววฟ้าลอยลิ่วไปในอากาศชมสวรรค์และแผ่นดินโลกเป็นที่เพลิดเพลิน แล้วนำกลับลงมาที่พลับพลาของพระเจ้ากรุงเดกข่าน ผู้ซึ่งใช้ให้เขาไปเจรจาสู่ขอนางโสมประภาต่อบิดานางนั่นเอง หริสวามินก็ตกลงยินยอมให้ธิดาแก่ผู้ชำนาญมายาศาสตร์นั้นโดยกำหนดวันทำพิธีสมรสอีกเจ็ดวันข้างหน้า
ในระหว่างนั้น พราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งตั้งนิวาสสถานอยู่ในกรุงอุชชยินีก็มาหาเทวสวามินผู้บุตรชายของหริสวามิน และสู่ขอนางโสมประภาในฐานะที่เขาเป็นพี่ชายของนาง เทวสวามินตอบว่า "นางไม่ความประสงค์ที่จะได้สามีที่ไม่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่าง คือ มีความรู้เลิศ เจนจบในมายาศาสตร์ และเป็นวีรบุรุษ" เมื่อได้ฟังดังนั้นพราหมณ์ก็แสดงตนเป็นวีรบุรุษ แล้วแสดงการใช้อาวุธทั้งไกลตน (คือยิงธนู) และประชิดตน (คือใช้ดาบ) อย่างดีเยี่ยม จนเทวสวามินเลื่อมใส จึงสัญญาว่าจะยกน้องสาวให้ และโดยการแนะนำของโหรตามที่บิดาได้ตอบแก่ชายคนแรกที่มาสู่ขอไปว่า ฤกษ์แต่งงานจะมีในเจ็ดวันข้างหน้า เทวสวามินก็แจ้งแก่ชายคนที่สองเช่นเดียวกัน และเขาก็ตัดสินใจไปโดยที่มารดามิได้รู้เห็น
ในวันเดียวกันนั้นเอง ชายคนที่สามก็เดินทางมาถึงและเข้าไปพบกับภรรยาของหริสวามิน เจรจาเป็นส่วนตัวสู่ขอนางโสมประภาเช่นเดียวกัน นางพราหมณีได้ฟังก็ตอบว่า "ลูกสาวของข้าต้องการสามีที่ทรงคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างคือ เป็นวีรบุรุษ หรือชำนาญในมายาศาสตร์ หรือเจนจบในชญานะอย่างดีเลิศ" และหลังจากที่นางได้ถามไถ่เรื่องอดีตและอนาคตของเขาแล้ว ก็ตกลงใจรับการสู่ขอของเขา และสัญญาจะให้ธิดาของตนแต่งงานกับชญานินผู้นี้ในเวลาอีกเจ็ดวันข้างหน้า เช่นเดียวกับที่สามีและบุตรชายของนางได้ให้สัญญาแก่ชายสองคนแรก
วันรุ่งขึ้นหริสวามินกลับมาถึงบ้าน กล่าวแก่ภรรยาและบุตรชายเรื่องที่ตนได้ตกลงไว้กับเจ้าบ่าวคนที่หนึ่งว่าจะยกธิดาให้ในพิธีสมรสอีกเจ็ดวันข้างหน้า ภรรยาและบุตรชายต่างก็แจ้งให้หริสวามินทราบเรื่องที่ตนต่างก็สัญญาจะยกนางให้เจ้าบ่าวคนที่สองและที่สามในวันเดียวกันคือ อีกเจ็ดวันข้างหน้า หริสวามินได้ทราบก็ตกใจ และกลัดกลุ้มยิ่งนักเพราะเจ้าบ่าวทั้งสามต่างก็ได้รับการเชิญมาในวันสมรสวันเดียวกัน
ครั้นถึงวันสมรส ชายทั้งสามต่างก็เดินทางมาถึงบ้านของหริสวามินพร้อมกันทั้งชญานิน มายากร และวีรบุรุษ ขณะนั้นเองความมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น ปรากฎว่าเจ้าสาวคือนางโสมประภาหายไปอย่างไม่มีร่องรอย ถึงจะมีการค้นหาสักเท่าไร ๆ ก็มิได้พบเห็น หริสวามินจึงกล่าวแก่ชญานินว่า "ท่านเป็นผู้ทรงคุณวิทยา เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะอะไร ลูกสาวข้าหายไปไหน"
เมื่อชญานินหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็ตอบว่า "รากษสตนหนึ่งชื่อธูมรศิขะ เป็นผู้ลักตัวนางไปสู่ที่อยู่ของมันในป่าเชิงเขาวินธัยแล้ว"
หริสวามินได้ยินชญานินกล่าว ก็ตกใจว้าวุ่นร้องว่า "อนิจจาเอ๋ย อนิจจาเราจะตามตัวนางกลับมาได้อย่างไร แล้วนางจะแต่งงานอย่างไรเล่า"
มายากรผู้ชำนาญในมายาศาสตร์ได้ฟังก็กล่าวว่า "ทำใจให้ดี ๆ ไว้เถิด ข้าจะพาท่านไปในพริบตา เพื่อติดตามนางไปยังที่ซึ่งชญานินกล่าวถึงนั่น"
กล่าวจบมายาวินก็เตรียมงานของตนโดยนำรถแก้วเข้ามาเทียบ แล้วพาหริสวามินพร้อมด้วยชญานินและวีรบุรุษ ลงนั่งในรถเหาะลิ่วไปในอากาศ ชั่วครู่หนึ่งก็มาถึงที่พำนักของรากษสในป่าวินธัย ตามที่ชญานินบรรยายไว้ทุกประการ รากษสเมื่อเห็นดังนั้นก็วิ่งออกมาจากสำนักด้วยความโกรธ วีรบุรุษซึ่งถูกหริสวามินผลักดันให้ออกหน้าก็ตะโกนท้าทายให้รากษสมาต่อสู้กับตนตัวต่อตัว ครั้นแล้วทั้งสองฝ่ายก็ต่อสู้กันอย่างทรหดด้วยอาวุธชนิดต่าง ๆ เพื่อชิงนางมาเป็นของตน ต่อมาในช่วงเวลาอันสั้น รากษสก็เสียทีถูกตัดหัวกระเด็นด้วยฝีมือวีรบุรุษหนุ่ม เมื่อประหารรากษสแล้ว ต่างก็พานางโสมประภาลงรถแก้วแววฟ้าของมายาวินกลับสู่บ้าน
เมื่อกลับมาถึงบ้านหริสวามิน การแต่งงานก็ยังเริ่มไม่ได้ถึงแม้มหุติฤกษ์จะมาถึงและผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะเกิดการโต้เถียงกันไม่ยุติว่านางควรจะแต่งงานกับใคร ทั้งชญานิน มายาวิน และวีรบุรุษต่างก็โต้ตอบกันอย่างเผ็ดร้อน อ้างความเป็นเจ้าของนางกันทุกคนน ชญานินกล่าวว่า "ถ้าข้าไม่จับยาม ดูว่านางถูกพาไปไหน พวกท่านยังจะมีปัญญาสืบรู้ได้ละหรือ ด้วยเหตุนี้นางควรจะตกเป็นของข้าจึงจะถูก"
มายาวินได้ฟังก็กล่าวว่า "ถ้าข้าไม่ใช้รถแก้วของข้าเหาะลอยไปในอากาศเพื่อเดินทางไปสุดหล้าฟ้าเขียวอย่างป่าวินธัยโน่น พวกเจ้าจะมีปัญญาทำอะไร ข้ามิได้ทำให้เจ้าเดินทางไปกลับในชั่วอึดใจเดียวราวกับเทวดาเดินหน ป่านนี้เจ้าจะยังมะงุมมะงาหราอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เพราะเหตุนี้โสมประภาจึงควรเป็นของข้าแต่ผู้เดียว" ชายคนที่สามคือวีรบุรุษได้ยินดังนั้นก็กล่าวขึ้นบ้างว่า "ข้าเป็นคนประหารรากษสที่ร้ายกาจนั่นด้วยดาบของข้าแท้ ๆ ทำให้พวกเรารอดอันตรายพานางกลับมาได้ ฉะนั้นข้านี่ต่างหากที่ควรเป็นสามีของนาง"
ขณะที่ทุกคนโต้เถียงกันวุ่นวายอยู่นั้น หริสวามินนั่งฟังอยู่เงียบ ๆ บังเกิดความพิศวงเป็นกำลัง ไม่อาจจะตัดสินอะไรได้
เวตาลจึงกล่าวแก่พระราชาว่า "โอ ราชะ โปรดตัดสินให้ทีเถิด ใครควรจะได้เป็นสามีนางโสมประภาโดยเหตุผลอันสำคัญเป็นเครื่องชี้ขาดเล่า แต่ถ้าพระองค์รู้แล้วไม่ยอมพูดก็จงรู้ไว้เถิดว่า ศีรษะของพระองค์จะต้องแยกเป็นเสี่ยง ๆ เชียวนะ พระเจ้าข้า"
เมื่อพระเจ้าตริวิกรมเสนได้ฟังเวตาลกล่าวดังนี้ ก็ลืมพระองค์ไปชั่วขณะตรัสตอบว่า
"นางควรจะตกเป็นของวีรบุรุษต่างหาก ทั้งนี้เพราะชายกล้าหาญผู้นี้มิใช่หรือที่ต่อสู้ศัตรูอย่างเข้มแข็งเต็มกำลังความสามารถ เอาชีวิตเข้าแลกกับความตายเพื่อนางโดยแท้ ส่วนชายอีกสองคนคือ ชญานิน และมายาวินนั้น ทำตามหน้าที่ท้าวธาดาพรหมกำหนดมาให้เป็นเครื่องมือของแผนการดังกล่าวนี้ทั้งหมด คนมีความรู้ก็ดี คนถนัดในมายาศาสตร์ก็ดี ล้วนแต่เป็นตัวประกอบในวีรกรรมนี้ทั้งสิ้น"
เวตาลได้ฟังดังนั้นก็รีบรุดลงจากอังสาของพระราชาและหายลับไปในทันที โดยปราศจากร่องรอยใด ๆ ให้เห็น พระราชาทรงรู้สึกพระองค์ก็ต่อเมื่อ เวตาลอันตรธานไปแล้ว จึงต้องเสด็จไปตามตัวมันอีก




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2550    
Last Update : 28 สิงหาคม 2550 20:42:11 น.
Counter : 1051 Pageviews.  

เรื่องที่ 4 พระเจ้าศูทรกะ กับ พราหมณ์ผู้ซื่อสัตย์ชื่อ วีรวร

นิทานเรื่องที่ ๔

พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง และคว้าตัวเวตาลซึ่งสิงอยู่ในศพโดยปราศจากความหวาดกลัวถึงแม้มันจะกรีดเสียงร้องโหยหวนเพียงใดก็ตาม เมื่อจับมันได้แล้วก็ตวัดร่างมันขึ้นพาดบ่า เสด็จไปตามทางเดินอย่างเงียบ ๆ เวตาลเห็นพระราชานิ่งเงียบอยู่ ก็กล่าวทำลายความเงียบขึ้นว่า
"โอ ราชะ ข้าไม่คิดเลยว่าพระองค์จะมาเสียเวลาทำงานให้แก่อ้ายโยคีชั่วคนนั้น เพื่อประโยชน์อันใด จะว่าไปพระองค์ก็รู้ดีอยู่แล้วมิใช่หรือว่า งานที่ทรงทำนี้ย่อมไร้ผลเปล่าโดยแท้ อย่างไรก็ดีหนทางยังอยู่อีกไกล ข้าคิดว่าข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ให้พระองค์ฟังสักเรื่องหนึ่งเพื่อคลายเหงาโปรดทรงสดับเถิด"
แต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ยังมีนครใหญ่แห่งหนึ่งชื่อ โศภาวดี มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองอยู่ทรงนามว่า ศูทรกะ เป็นผู้ห้าวหาญอย่างยอดยิ่งในสงคราม ซึ่งไฟแห่งชัยชนะของพระองค์ถูกกระพือโหมให้เจิดจ้าด้วยพัดที่โบกจากหัตถ์ของนางกษัตริย์ที่ตกเป็นเชลยเพราะสวามีทั้งหลายต้องพ่ายแพ้ในสงคราม ข้าคิดว่าแผ่นดินโลกนี้มีเกียรติมหาศาลในรัชสมัยของพระราชาองค์นี้โดยแท้ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาโดยตลอด มิได้หยุดเว้นแม้แต่สักวัน คุณธรรมของพระองค์ชนะใจแม้กระทั่งแม่พระธรณี ทำให้พระเทวีลืมบุคคลอื่นโดยสิ้นเชิง แม้องค์พระรามจันทร์ผู้ยอดเยี่ยมในวีรจริตก็ตาม
สมัยหนึ่งมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ วีรวร เดินทางมาจากแคว้นมาลวะ เพื่อมารับจ้างทำงานในราชสำนักของพระราชา เพราะทราบกิตติศัพท์ว่าพระราชาผู้นี้เป็นผู้โปรดปรานคนกล้า ภรรยาของพราหมณ์ชื่อนางธรรมวดี และทั้งสองสามีภริยามีบุตรชายด้วยกันชื่อ สัตตววร และบุตรสาวชื่อวีรวดี คนทั้งสามนี้เป็นครอบครัวของเขา นอกเหนือจากลูกน้องซึ่งมีอีกสามคน วีรวรนั้นเหน็บกริชไว้ที่สีข้าง มือข้างหนึ่งถือดาบ และอีกข้างหนึ่งถือโล่
ถึงแม้ว่าเขาจะรวมกันเป็นบริษัทอันน้อยนิดเท่านี้ก็ตาม เขายังกล้าเรียกร้องค่าจ้างต่อพระราชาถึงวันละห้าร้อยเหรียญทีนาร์ (เหรียญทองโบราณชนิดหนึ่งของอินเดีย) แต่พระราชาศูทรกะก็มิได้เกี่ยงงอน ทั้งนี้เพราะพอพระทัยในรูปร่างท่าทางอันแข็งแรงของเขา จึงตกลงจ้างเอาไว้ แต่ก็ทรงพิศวงในพระทัยไม่หาย ว่าเขาเอาเงินไปทำอะไรมากมายทั้ง ๆ ที่เขาก็เลี้ยงคนเพียงไม่กี่คน พระราชาจึงสั่งให้สายลับของพระองค์ติดตามดูพฤติกรรมของเขาอย่างใกล้ชิด ความจริงปรากฎว่าทุก ๆ วัน วีรวรจะต้องเข้าเฝ้าพระราชาตอนเช้า ตอนกลางวันยืนยามอยู่หน้าประตูวัง มือถือดาบมั่นคง หลังจากนั้นก็กลับไปบ้าน จ่ายเงินหนึ่งร้อยทีนาร์แก่ภรรยาเป็นค่าอาหาร และจ่ายหนึ่งร้อยเหรียญเพื่อเสื้อผ้า วิเลปนะเครื่องลูบไล้ร่างกาย และซื้อหมากพลู เมื่ออาบน้ำแล้วเอาเงินหนึ่งร้อยเหรียญไปบูชาพระวิษณุและพระศิวะ อีกสองร้อยเหรียญสุดท้ายใช้ทำบุญแก่พราหมณ์ที่ยากจน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือการใช้จ่ายประจำวันจากเงินค่ารับจ้างห้าร้อยเหรียญต่อวัน หลังจากนี้วีรวรก็ทำการบูชายัญด้วยเนยใส และทำพิธีอื่น ๆ อีก เสร็จแล้วจึงรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็กลับไปอยู่ยามหน้าประตูวังตามเดิมตลอดถึงเวลาค่ำคืนยืนถือดาบเปลีอยอยู่
เมื่อพระราชาศูทรกะได้ทราบเรื่องจากสายลับที่ไปสืบได้ความว่า วีรวรเป็นผู้ประพฤติชอบธรรมดังนั้น ก็ทรงชื่นชมยิ่งนัก จึงโปรดให้จารบุรุษเหล่านั้นยุติการติดตามวีรวร และทรงนิยมเลื่อมใสว่าเขาช่างเป็นคนดีนี่กระไร
วันหนึ่งอากาศร้อนจัด ดวงอาทิตย์แผดแสงแรงกล้าจนแทบจะทนไม่ไหว และแล้วมรสุมใหญ่ก็เคลื่อนเข้ามาพร้อมด้วยเสียงคำรามกึกก้องในท้องฟ้า สายฝนกระหน่ำลงมาอย่างรุนแรงไม่ขาดสายทั้งกลางวันและกลางคืน แต่วีรวรก็ยังยืนนิ่งไม่สะทกสะท้านอยู่กลาง***ฝนที่ประตูพระราชวัง พระเจ้าศูทรกะทอดพระเนตรเห็นในเวลากลางวันจากยอดมนเทียร ครั้นเวลากลางคืนเสด็จขึ้นไปยอดมนเทียรอีกเพื่อดูว่าเขายังอยู่ที่เดิมหรือเปล่า จากที่นั้นพระราชาตะโกนลงไปว่า "ใครยืนอยู่ที่ประตูวังนั่น" เมื่อวีรวรได้ยินก็ตอบไปว่า "ข้าพระบาทเอง พระเจ้าข้า" พระราชาศูทรกะทรงนึกในพระทัยว่า "อา วีรวร เจ้าช่างเป็นชายที่เข้มแข็งและจงรักภักดีต่อข้ายิ่งนัก ข้าจะเลื่อนเจ้าให้มีตำแหน่งสูงขึ้นไปกว่านี้" เมื่อพระราชาทรงคิดดังนี้แล้วก็เสด็จลงจากยอดมนเทียรเข้าสู่สิริไสยาและเข้าบรรทม
ในวันรุ่งขึ้น เมฆดำในท้องฟ้าก็ยังหลั่งฝนลงมาอย่างรุนแรงตามเดิม ความมืดแผ่ซ่านไปทั่วเหมือนจะบดบังไม่ให้เห็นสวรรค์อีกต่อไป พระราชาเสด็จขึ้นไปบนยอดมนเทียรอีกครั้งด้วยความสนใจใคร่รู้ ทรงตะโกนถามลงไปด้วยเสียงอันแจ่มใสว่า "ใครยืนเฝ้าหน้าประตูปราสาทนั่น" วีรวรก็ตะโกนขึ้นไปว่า "ข้าพระบาทอยู่ที่นี่"
ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินกำลังนึกชื่นชมองครักษ์ของพระองค์อยู่นั้น พลันได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้คร่ำครวญมาแต่ที่ไกล เป็นเสียงโหยหวนเหมือนคนมีทุกข์ใหญ่ปิ่มว่าใจจะขาดรอน เมื่อพระราชาได้สดับดังนั้นก็บังเกิดความสงสารจับใจ กล่าวแก่พระองค์เองว่า "ในอาณาจักรของข้า ไม่มีใครถูกบังคับกดขี่ ไม่มีคนยากไร้ หรือมีใครเดือดร้อน ก็ผู้หญิงคนนี้เป็นใครเล่า จึงมาพิลาปร่ำไห้อยู่แต่ผู้เดียวในยามค่ำคืนเช่นนี้" คิดดังนี้แล้วพระราชาก็ออกคำสั่งแก่วีรวรผู้ยืนอยู่ข้างล่างว่า "ฟังนะวีรวร ข้าได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้ในที่ไกล จงออกไปดูว่านางคือใคร และนางร้องไห้ทำไม"
เมื่อวีรวรได้ฟังรับสั่งก็กราบทูลว่า "ข้าพระบาทจะไปสืบดู พระเจ้าข้า" แล้วออกเดินหา มือถือดาบกระชับแน่น มีกริชห้อยเอว ค่อยด้อมมองเหมือนรากษสที่ด้อมหาเหยื่อ มีแสงฟ้าแลบแวบวาบจากท้องฟ้าดูประหนึ่งแสงจากดวงตาของอสูรร้าย และเม็ดฝนซึ่งตกกราดไปทั่วนั้นเล่าก็ดูประหนึ่งก้อนหินที่มันขว้างปามาฉะนั้น พระราชาศูทรกะเมื่อแลเห็นองครักษ์หนุ่มออกวิ่งไปแต่ผู้เดียวในราตรีเช่นนั้น พระทัยของพระองค์ก็เป็นห่วง และเกิดความอยากจะรู้เหตุการณ์จึงรีบเสด็จลงจากยอดมนเทียร พระหัตถ์กุมดาบวิ่งตามหลังไปติด ๆ แต่ลำพังโดยที่เขาไม่ทันรู้
วีรวรวิ่งติดตามเสียงคร่ำครวญไปจนถึงบึงแห่งหนึ่งอยู่นอกพระนคร ณ ที่นั้น ชายหนุ่มแลเห็นหญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ในบึงกำลังเปล่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญอยู่ นางแลเห็นเขาก็กล่าวว่า "โอ ท่านผู้วีระ ท่านผู้มีเมตตา ท่านผู้มีใจอันกว้างขวาง ขอท่านจงช่วยเหลือข้าด้วยเถิด ข้าจะอยู่ได้อย่างไรเล่า
ถ้าปราศจากท่านเสียแล้ว" ฝ่ายวีรวรผู้ซึ่งพระราชาแอบติดตามมาเงียบ ๆ ได้ฟังถ้อยคำของหญิงลึกลับก็กล่าวด้วยความสนเท่ห์ว่า "เธอเป็นใครทำไมมานั่งคร่ำครวญอยู่ที่นี่"
นางได้ฟังก็ตอบว่า "วีรวรที่รัก ท่านจงรู้เถิดว่าข้านี่แหละคือแม่นางธรณี และพระราชาศูทรกะนั้นเป็นนาถะของข้า น่าเสียดายที่พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์เสียแล้วนับแต่นี้ไปอีกสามวัน ข้าจะอยู่ต่อไปได้ไฉน และข้าจะหาใครที่เป็นที่พึ่งอันวิเศษสุดเช่นพระองค์ได้ที่ไหนเล่า ด้วยเหตุนี้แหละข้าจึงเศร้าโศกและมานั่งคร่ำครวญสงสารตัวเองและพระราชาองค์นั้นด้วย"
วีรวรได้ยินนางกล่าวก็ตกใจ กล่าวละล่ำละลักว่า
"เรื่องเป็นเช่นนั้นหรือ โอ้พระปฤถิวีเทวี จะมีหนทางใดที่จะช่วยชีวิตของพระราชาไว้ได้เล่า เหตุใดพระโลกนาถจะต้องสิ้นพระชนม์ชีพด้วยเล่า"
พระธรณีนิ่งไตร่ตรองอยู่ครู่หนึ่งจึงตอบว่า
"มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นที่จะพลิกผันชะตากรรมนี้ได้ และเจ้าผู้เดียวที่จะรับภาระนี้ไป"
เมื่อได้ฟังดังน้น วีรวรก็รีบรับคำว่า "บอกมาเถิด พระแม่เจ้า บอกมาเร็ว ๆ เพื่อข้าจะได้รีบทำ ข้าเต็มใจทุกอย่างแม้จะต้องพลีด้วยชีวิตของข้าก็ตาม"
พระเมทนีได้ฟังก็กล่าวว่า "ใครเล่าจะกล้าหาญและภักดีต่อองค์พระภูบดีเหมือนเจ้า จงฟังคำของข้าให้ดี วิธีที่จะช่วยพระนฤบดินทร์ได้มีอยู่ทางเดียวคือ เจ้าต้องเอาลูกของเจ้าคือสัตตววรสังเวยต่อพระแม่เจ้าจัณฑี (ผู้ดุร้าย หมายถึงพระอุมา มเหสีของพระศิวะในปางดุร้าย ซึ่งเป็นปางที่พระเทวีมาปรากฏพระองค์เพื่อทำสงครามกับเหล่าอสูรเท่านั้น บางทีเรียกว่าเจ้าแม่กาลี) พระมหาเทวีผู้ทรงเกียรติระบือจะทรงปรากฏพระกายต่อหน้าผู้ภักดีต่อพระองค์และพร้อมจะทรงช่วยได้เสมอ พระจัณฑีผู้นี้ประทับอยู่ภายในวิหารที่อยู่ใกล้พระราชวังนี้แหละ เจ้าจงทำอย่างที่ข้าแนะและพระราชาก็จะปลอดภัย และมีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกร้อยปี ถ้าเจ้าจะปฏิบัติตามคำของข้าโดยเร็ว ข้าก็เชื่อแน่ว่าพระชนม์ชีพของพระองค์จะดำรงอยู่ แต่ถ้าเจ้ามัวแต่รีรอ ก็เชื่อเถิดว่า พระราชาจะต้องสิ้นชีวิตภายในสามวั้นนับแต่วันนี้เป็นต้นไป
เมื่อพระปฤถิวีเทวีแจ้งให้ทราบเรื่องความลับดังนี้ วีรวรก็ให้คำมั่นสัญญาว่า "ข้าแต่พระเทวี ข้าจะไปดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด" พระเทวีจึงให้พรว่า "ขอจงสำเร็จเถิด" แล้วอันตรธานหายไป ถ้อยคำทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบดังกล่าวมิได้รอดพ้นโสตของพระราชาไปได้ เพราะพระองค์แอบติดตามวีรวรมาอย่างลับ ๆ โดยที่วีรวรไม่รู้ตัว
วีรวรกลับไปบ้านของตนอย่างรวดเร็วในความมืด ส่วนพระราชาศูทรกะมีความอยากรู้ว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปอย่างไร ก็แอบย่องตามหลังชายหนุ่มไปติด ๆ โดยเขาไม่รู้สึกตัว แลเห็นวีรวรตรงเข้าไปหานางธรรมวดีผู้เป็นภรรยาและแจ้งให้นางทราบว่า ตนได้รับคำแนะนำจากพระธรณีให้มาเอาบุตรชายไปสังเวยต่อเจ้าแม่กาลี เพื่อช่วยชีวิตพระราชา เมื่อนางได้ฟังก็กล่าวว่า
"ท่านพี่ เรามีหน้าที่ต้องพิทักษ์พระชนม์ชีพของพระราชา จงอย่ารีรอเลย รีบไปปลุกลูกชายของเราเถิด และแจ้งให้เขาทราบด้วยตัวท่านพี่เอง"
วีรวรจึงปลุกลูกชายของตนให้ลุกขึ้น เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง และกล่าวว่า "สัตตววรลูกรัก จงรู้เถิดว่า ถ้าเจ้ายอมเป็นเครื่องสังเวยพระแม่เจ้าจัณฑี พระราชาก็จะรอดชีวิต แต่ถ้าเจ้าไม่ยินยอม พระราชาก็จะต้องสูญสิ้นพระชนม์ชีพภายในสามวัน"
สัตตววรแม้จะเป็นเด็กก็ตาม แต่ก็มีความกล้าหาญอย่างยอดยิ่งสมกับซื่อ สัตตววร ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้มีชื่อเสียงอันโดดเด่นเพราะความกล้าหาญ" เด็กน้อยจึงตอบบิดาว่า
"ลูกจะสังเวยชีวิตเพื่อพระราชาเอง เพื่อจะได้ตอบแทนพระคุณของพระองค์ผู้ประทานข้าวปลาอาหารเลี้ยงชีวิตของพวกเรา ฉะนั้นจะต้องลังเลทำไม เอาลูกไปวางบนแท่นสังเวยของพระแม่เจ้าเถิด ขอให้ลูกเป็นผู้รับภาระอันนี้เพื่อความผาสุกขององค์นฤบดีเถิด"
เมื่อสัตตววรกล่าวเช่นนี้ วีวรก็โล่งอก กล่าวว่า "ลูกเอ๋ย เจ้าช่างสมเป็นลูกพ่อยิ่งนัก"
ฝ่ายพระราชาผู้สะกดรอยตามมาและแอบฟังอยู่ข้างนอก ได้ยินเรื่องราวโดยตลอดก็ทรงตื้นตันพระทัยนัก ทรงรำพึงแก่พระองค์เองว่า "อา คนเหล่านี้มีความกล้าหาญเหมือนกันหมดโดยแท้"
วีรวรนำบุตรชายออกจากบ้าน ให้เด็กน้อยนั่งบนบ่า และนางธรรมวดีผู้ภรรยาก็จูงลูกสาวชื่อ วีรวดี ติดตามมาด้วย พากันไปยังเทวาลัยของพระจัณฑี ฝ่ายพระราชาก็ติดตามมาดูเหตุการณ์อย่างกระชั้นชิด
ครั้นแล้ววีรวรก็อุ้มลูกชายลงจากบ่า และวางบนแท่นสังเวยของเทวรูป เมื่อสัตตววรถูกนำมาสู่เบื้องพระพักตร์พระเทวีก็มิได้มีความหวาดหวั่นแต่ประการใด ก้มศีรษะลงอย่างนอบน้อม กล่าวว่า
"ข้าแต่พระเทวี ขอให้การสังเวยศีรษะของข้าในวันนี้จงเป็นผลยังพระราชาศูทรกะให้ดำรงพระชนม์ชีพยืนนานถึงร้อยปีด้วยเถิด ขอให้พระองค์ทรงปกครองราชอาณาจักรด้วยความเกรียงไกรไร้ผู้ต้านทานเถิด"
เมื่อสัตตววรกล่าวจบลง วีรวรก็เปล่งเสียงด้วยความยินดีว่า "ดีละ ลูกของพ่อ" พร้อมกับชักดาบออกจากฝักฟันฉับลงไปที่คอของบุตรชาย แล้วนำไปถวายเบื้องพระพักตร์พระจัณฑีเทวี และกล่าวว่า "ข้าพเจ้าได้สังเวยบุตรต่อองค์พระแม่เจ้าแล้ว ขอทรงช่วยให้พระราชารอดพ้นความตายด้วยเถิด"
ทันใดก็มีเสียงอุโฆษลอยมาในอากาศทำให้ได้ยินทั่วกันว่า "สาธุ วีรวรเจ้าช่างเป็นคนซื่อสัตย์และภักดีต่อพระราชานี่กระไร จะหาใครเสมอเหมือนเจ้าก็ยากนัก เพราะการที่เจ้าทำการสังเวยต่อข้าด้วยชีวิตของลูกชายผู้ประเสริฐดังนี้ พระราชาศูทรกะจะมีพระชนม์ชีพยาวนาน และอาณาจักรของพระองค์จะรุ่งโรจน์สืบไปชั่วกาลนาน"
ขณะนั้นเองนางวีรวดีบุตรสาวของวีรวรก็ลุกขึ้น ตรงไปสวมกอดศีรษะของพี่ชาย ซึ่งหาชีวิตไม่แล้ว สะอึกสะอื้นด้วยความรันทด และด้วยความทุกข์แสนศัลย์สุดที่จะทนทาน หัวใจนางก็แตกสลายล้มลงขาดใจตาย พระราชาทรงเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้โดยตลอดจากที่ซ่อนของพระองค์
ทันใดนั้นนางธรรมวดีผู้เป็นภรรยาของวีรวรก็ลุกขึ้นกล่าวแก่สามีว่า "เราได้ช่วยเหลือพระเจ้าแผ่นดินและอาณาจักรของพระองค์ไว้แล้ว บัดนี้ข้ามีบางสิ่งจะพูดกับท่าน ก็ตั้งแต่ลูกสาวของข้า แม้เป็นเด็กไร้เดียงสา ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย ยังต้องมาตายเพราะความโศกเศร้าถึงพี่ชาย เป็นอันว่าชีวิตของลูกทั้งสองของข้าก็สิ้นสูญไปแล้ว ชีวิตของข้าจะมีประโยชน์อันใดอีกเล่า ข้าเป็นคนโง่เองที่มิได้เสนอตัวเองเพื่อสังเวยตั้งแต่แรกเพื่อความอยู่รอดของพระราชา ฉะนั้นขอให้ข้าเข้ากองไฟตายพร้อมกับลูก ๆ ด้วยเถิด"
เมื่อนางปลงใจจะทำเช่นนี้ วีรวรก็ขัดไม่ได้ จึงกล่าวแก่นางว่า
"นางผู้เป็นภัฏฏินี (หญิงผู้เจริญ หญิงผู้ดี) ของข้า ถ้าเป็นความประสงค์ของเจ้า ก็จงทำเถิด ขอความเจริญจงมีแก่เธอ ข้ารู้ว่าข้าไม่อาจจะยับยั้งเจ้าได้ เพราะเจ้ามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำเช่นนี้ ข้ารู้ว่าเจ้าจะทนทานต่อไปอีกไม่ไหวเพราะเมื่อสิ้นลูก ชีวิตเจ้าก็พลอยสิ้นสูญไปด้วย แต่อย่าโทษว่าเป็นความผิดของตัวเองเลย เพราะเจ้าเองมิได้ถูกกำหนดให้ต้องสังเวยชีวิต ตัวข้าก็เช่นเดียวกันที่จะต้องสังเวย ถ้ามิใช่ความประสงค์ของพระแม่เจ้าที่ประสงค์เฉพาะลูกชายของข้าเท่านั้น เจ้าจงคอยอยู่ที่นี่ก่อน จนกว่าข้าจะจัดกองไฟสำหรับเจ้าด้วยฟืนเหล่านี้ และทำรั้วล้อมรอบมณฑลแห่งยัชญพิธีของพระแม่เจ้าเสียก่อน" วีรวรกล่าวจบก็ลงมือทำจิตกาธาน (ที่เผาศพ ,เชิงตะกอน) และรั้วยัชญมณฑลจนเสร็จเรียบร้อย แล้ววางศพลูกทั้งสองบนกองฟืน จุดไฟลุกโชติช่วงด้วยตะเกียง
นางธรรมวดีเห็นทุกสิ่งจัดเตรียมเรียบร้อยแล้วก็คุกเข่าลงแทบเท้าสามีกล่าวอำลา และหลังจากที่บูชาพระแม่เจ้าจัณฑีแล้ว ก็สวดมนตร์และอธิษฐานว่า "ขอให้สามีในปัจจุบันของข้าได้ไปเจอกันอีกในชาติหน้าภพใหม่ และขอให้การสังเวยชีวิตของข้าจงเป็นผลเพื่อสวัสดิภาพของพระราชานั้นทุกประการ" กล่าวจบนางผู้เลิศด้วยคุณธรรมก็โผร่างเข้าหากองไฟอันช่วงโชติในจิตกาธานซึ่งเป็นเปลวแลบเลียไปทั่วทุกทิศทุกทาง
ครั้นแล้ววีรวรบุรุษผู้วีระก็กล่าวแก่ตนเองว่า
"เราได้ทำทุกสิ่งไปแล้วเพื่อการรอดชีวิตของพระราชา และทำตามที่เสียงสวรรค์ได้เป็นประจักษ์พยานรับรู้ บัดนี้เราก็ใช้หนี้ให้แก่นายของเราผู้ให้ข้าวให้น้ำเรากินจนหมดสิ้นแล้ว บุญคุณอื่นใดเป็นอันยุติ เดี๋ยวนี้เราก็เป็นอิสระแล้ว ประโยชน์อันใดที่เราจะยึดมั่นในชีวิตนี้อีกต่อไป การมีชีวิตอยู่โดยปราศจากผู้เป็นที่รักคือลูกและเมียย่อมไร้ค่าสำหรับคนซึ่งมีหน้าที่จะต้องกระทำอย่างเรา ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ไยเราไม่สังเวยชีวิตที่เหลืออยู่นี้ให้แก่พระทุรคาเทวี(เทวีผู้เข้าถึงยาก หมายถึงพระอุมาปางดุร้าย) เล่า"
เมื่อคิดดังนี้แล้วเขาก็ก้าวเข้าไปยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระเทวี และกล่าวโศลกถวายด้วยความนอบน้อมว่า
"ขอเกียรติคุณจงมีแด่พระเทวีผู้ประหารมหิษาสูร (อสูรผู้มีร่างเป็นควาย เป็นอสูรร้ายกาจที่พระทุรคาต้องเสด็จมาปราบและทรงประหารมันได้ในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงทรงได้นามว่า มหิษาสรมรรทินี ) ในบรรพกาล พระผู้ทำลายชีพของทานพรุรุ (ทานพ ชื่อรุรุ เป็นชื่อของอสูรหรือทานพผู้หนึ่งที่ได้รับพรจากพระพรหมแล้วมีใจกำเริบ ยกทัพไปย่ำยีสวรรค์ บรรดาทวยเทพต่างก็หนีไปเฝ้าพระทุรคาหรือศักติ (มเหสีพระศิวะ) ที่ภูเขาอัญชัน และทูลขอร้องให้ช่วย พระเทวีจึงเสด็จมาปราบ อสูรรุรุ และทรงประหารอสูรด้วยเล็บพระบาท) โอ พระเทวีผู้ทรงตรีศูลเป็นเทพาวุธ ขอความรุ่งโรจน์จงมีแด่พระโลกมาตา ผู้เป็นยอดแห่งผู้เป็นมารดาทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้นำความบันเทิงสุขมาสู่ทวยเทพ และเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งโลกทั้งสาม ขอสิทธิศักดิ์จงมีแด่พระองค์ ผู้มีพระบาทอันชาวโลกทั้งมวลพึงกราบไหว้ พระเป็นที่พึ่งของสัตตวนิกรทั้งหลายผู้มาพึ่งพำนักจิตเพื่อความหลุดพ้น ขอชัยจงมีแด่พระองค์ผู้ทรงพัสตราภรณ์คือรัศมีแห่งสูรยะ ผู้ขับไล่ความมืดความวุ่นวายให้สิ้นไป โอ้ พระแม่เจ้ากาลี พระเทวีผู้ทรงสายประคำคือกะโหลกมนุษย์ และทรงประดับพระเศียรด้วยกระดูกแห่งสรีระ ขออนัตชัยจงมีแด่องค์พระศิวา (มเหสีของพระศิวะ หมายถึงพระอุมา ทุรคา กาลี จัณฑี เคารี และอื่น ๆ) ขอทรงมีพระเกียรติยิ่งยืนนาน ขอพระองค์ทรงพอพระทัยในการสังเวยศีรษะของข้า และทรงอวยพระพรให้พระราชาศูทรกะมีชนมายุยิ่งยืนนานเถิด"
หลังจากการกล่าวถ้อยคำดังนี้แล้ว วีรวรก็ตัดศีรษะของตนให้ขาดออกโดยฟันด้วยดาบเพียง
ฉับเดียว
พระราชาศูทรกะผู้เป็นสักขีในเหตุการณ์ทั้งหมด จากการแอบดูในที่ซ่อนของพระองค์ ทรงประหลาดพระทัย และรู้สึกงุนงงอย่างยิ่งจากภาพที่ได้เห็น ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ตรัสแก่พระองค์เองว่า "ชายผู้มีค่ายิ่งคนนี้พร้อมด้วยครอบครัวของเขาได้ประกอบกรรมอันยากยิ่งเพื่อช่วยเหลือเรา กรรมอันนี้เป็นที่ที่เหลือเชื่อ ยากที่ใคร ๆ ในแผ่นดินโลกจะทำได้อย่างนี้ และเขากระทำเพื่อเราโดยไม่มุ่งหวังการตอบแทนสักนิด ถ้าเรามิได้รู้ถึงบุญคุณของเขา ความเป็นราชันยะของเราจะมีคุณค่าอะไร เราก็คงจะไม่แตกต่างไปจากสัตว์ตัวหนึ่งโดยแท้"
ดำริฉะนี้แลพระวีรราชาก็ชักพระแสงดาบออกจากฝัก เสด็จเข้าไปหาพระเทวี และกล่าวอ้อนวอนด้วยความนอบน้อมว่า
"ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอได้โปรดข้าด้วยเถิด โปรดประทานพรแก่ข้า ขอให้พราหมณ์ชื่อ วีรวร ผู้นี้ซึ่งมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับชื่อของเขา ผู้เสียสละแม้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดของข้า ขอให้เขาและครอบครัวจงกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาเถิด"
เมื่อกล่าวกถาดังนี้แล้ว พระราชาเตรียมจะเชือดพระศอด้วยดาบอันคมกล้า ทันใดนั้น ก็มีเสียงลอยมาในอากาศว่า "ช้าก่อนราชะ ข้าพอใจในพลีของท่านแล้ว เอาเถอะ ข้าจะให้พราหมณ์วีรวรกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่พร้อมด้วยภรรยาและบุตรของเขา"
เมื่อได้กล่าวประกาศิตแล้วเสียงสวรรค์ก็หายไป ทันใดวีรวรก็คืนชีพขึ้นมาพร้อมด้วยบุตรชาย บุตรสาว และภรรยาของเขา พอเห็นคนเหล่านี้ฟื้นขึ้นมา พระราชาก็รีบวิ่งเข้าหาที่ซ่อนเร้น กำบังมิให้ใครเห็น ทรงจ้องดูภาพของคนเหล่านั้นด้วยความอัศจรรย์ใจ และมีอัสสุชลเปี่ยมปริ่มด้วยความยินดีเป็นล้นพ้น
ฝ่ายวีรวรเมื่อได้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง มีความรู้สึกเหมือนคนตื่นจากหลับแลไปเห็นบุตรและภรรยาต่างก็ยังมีชีวิตอยู่ ก็สับสนในใจไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จึงถามบุตรและภรรยาว่า
"พวกเจ้าถูกไฟเผาไหม้จนเป็นเถ้าถ่าน แล้วกลับฟื้นขึ้นมาอีก เป็นไปได้อย่างไร ข้าก็เหมือนกัน จำได้ว่าข้าตัดหัวตัวเองไปแล้วหลังจากที่เผาศพพวกเจ้า แล้วนี่ข้ากลับมีชีวิตขึ้นมาอีก นี่จะเป็นมายาที่หลอกตาข้าหรือไร หรือว่าพระแม่เจ้าโปรดให้เรารอดจากตายด้วยความกรุณาของพระองค์ ช่างน่าอัศจรรย์เสียจริง ๆ"
เมื่อได้ฟังดังนี้ภรรรยาและบุตรจึงกล่าวว่า "ที่เราได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งนี้ คงจะเป็นด้วยอำนาจของพระเทวีบันดาลให้เป็นไประหว่างที่เราหมดสตินั่นเอง"
วีรวรใคร่ครวญดูว่าเรื่องคงจะเป็นไปอย่างที่คนเหล่านั้นพูด มิได้มีข้อสงสัยอีกต่อไป จึงกระทำการบูชาต่อองค์พระจัณฑี แล้วพาครอบครัวกลับไปบ้านมีความยินดีว่าตนได้ปฏิบัติภารกิจเสร็จไปแล้วตามปรารถนาทุกประการ และหลังจากที่พาบุตรภรรยากลับไปบ้านแล้วก็กลับมายืนยามหน้าประตูวัง อันเป็นหน้าที่ประจำของตนในราตรีนั้นนั่นเอง ส่วนพระราชาศูทรกะผู้แลเห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็ออกจากที่ซ่อนเสด็จกลับสู่วังและขึ้นไปที่ยอดพระมนเทียร และตะโกนลงมาว่า "ใครอยู่หน้าประตูนั่น" วีรวรได้ยินก็กล่าวด้วยเสียงอันดังว่า "ข้าพระบาทอยู่ที่นี่พระเจ้าข้า โอ ราชะ ตามที่ทรงมีบัญชาให้ข้าพระบาทไปสืบเรื่องหญิงผู้นั้น แต่นางได้อันตรธานไปต่อหน้าต่อตาเมื่อข้าพระบาทแลเห็นนาง ราวกับว่านางคือรากษสี (นางรากษส หรือนางอสูรประเภทหนึ่ง) ตนหนึ่ง หาใช่เป็นคนธรรมดาไม่"
พระราชาได้ฟังคำตอบของวีรวรก็ทรงประหลาดพระทัยมาก เพราะพระองค์เป็นบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด ทรงรำพึงในพระทัยว่า "จริงแท้ทีเดียวบุคคลผู้ประเสริฐ ล้วนเป็นผู้ที่รู้จักตนเองและควบคุมจิตใจได้อย่างลึกซึ้ง เหมือนทะเลอันกว้างใหญ่และลึกสุดหยั่ง เพราะเมื่อเขาประกอบกรณียกิจอันหาใครเปรียบมิได้นั้น แทนที่เขาจะโอ้อวดตนเอง กลับนิ่งเงียบไม่กล่าวอะไรเลย" เมื่อทรงรำพึงดังนี้แล้ว พระราชาก็เสด็จลงมาจากยอดมนเทียรกลับคืนสู่ห้องบรรทมและทรงพักผ่อนตลอดคืน
ในตอนเช้าวีวรถูกตามมาเฝ้าต่อหน้าประชุมชน พระราชาผู้ทรงมีพระทัยอันเปี่ยมไปด้วยความยินดีได้ตรัสแก่ที่ประชุมมนตรีถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนโดยตลอด ทำให้ทุกคนในท้องพระโรงตื่นเต้นกันมาก ครั้นแล้วพระราชาได้ประทานของขวัญอันล้ำค่าแก่วีรวรเพื่อเป็นเครื่องตอบแทนน้ำใจอันยิ่งใหญ่ คือทรงยกดินแดนเว่นแคว้นลาฏะและกรรณาฏะให้วีวรปกครอง หลังจากนั้นพระราชาสองพระองค์คือ พระเจ้าวีรวรและพระเจ้าศูทรกะ ผู้มีอานุภาพเสมอกันก็ปกครองดินแดนของตนด้วยความสงบสุขสืบมา
เมื่อเวตาลเล่านิทานอันพิสดารสุดขีดจบลง ก็กล่าวแก่พระราชาตริวิกรมเสนว่า "โอ นฤบดี ในเรื่องที่ข้าเล่ามานี้ พระองค์ทรงเห็นว่าใครเป็นผู้ที่กล้าหาญที่สุดในจำนวนคนเหล่านั้น ถ้าพระองค์ทรงทราบและไม่พูด คำสาปที่ข้าเคยกล่าวมาแล้วแต่ต้นก็จะประสบแก่พระองค์โดยแท้"
พระราชาได้ฟังถ้อยคำของเวตาลก็ตรัสว่า "พระราชาศูทรกะนั่นแหละ เป็นผู้ที่กล้าหาญที่สุดในบรรดาคนทั้งหลาย"
เวตาลได้ฟังก็แย้งว่า "คนที่กล้าหาญที่สุดมิใช่วีรวรหรอกหรือ เพราะเขาได้ทำวีรกรรมที่ยากจะหาใครเสมอเหมือนในโลกนี้ และมิใช่ภรรยาของเขาดอกหรือที่กล้าหาญกว่า เพราะเป็นแม่ที่ต้องทนเห็นลูกชายต้องถูกสังเวยไปต่อหน้าต่อตา และมิใช่ลูกชายคือสัตตววรหรอกหรือ แม้จะเป็นเพียงเด็กแต่ก็กล้าพลีชีพของตนเพื่อพระราชาและบิดาของตน นี่ไม่เรียกว่าวีรกรรมอันยอดยิ่งดอกหรือไร ไฉนพระองค์จึงตรัสว่าพระราชาศูทรกะเป็นผู้กล้าหาญยิ่งกว่าคนเหล่านั้นเล่า"
เมื่อได้ยินเวตาลกล่าวดังนั้น พระราชาตริวิกรมเสนก็อธิบายว่า
"เจ้าอย่าพูดอย่างนั้นเลย ก็วีรวรนั้นเป็นคนตระกูลสูง จะอยู่ในครอบครัวใดก็ตาม ว่าตามจริงเขาต้องเป็นหัวหน้าที่มีความรับผิดขอบ รวมทั้งลูกและเมียของเขาก็เช่นเดียวกัน ทุกคนถือเป็นหน้าที่อยู่แล้วที่จะต้องสละขีวิตเพื่อคุ้มครองพระราชาของตน ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากวีรวรจะทำตามหน้าที่ผูกพันกับพระราชาแล้ว นางผู้เป็นภรรยานั้นเล่าก็เป็นหญิงประเสริฐที่เคารพรักสามียิ่งชีวิต หล่อนทำไปเพราะถือเป็นหน้าที่ว่าภรรยาจะต้องดำเนินรอยตามสามีด้วยใจภักดิ์ ส่วนสัตตววรผู้เป็นลูกนั้นเล่าก็เป็นเช่นเดียวกับพ่อและแม่ของตน ย่อมทำตามพ่อแม่ด้วยความรักและความผูกพันโดยแนบแน่นเหมือนเส้นด้ายที่ตีขึ้นมาจากฝ้ายฉะนั้น แต่พระราชาศูทรกะเป็นเยี่ยมเหนือกว่าคนเหล่านั้นทุกคน เพราะพระองค์เป็นผู้พร้อมที่จะพลีชีวิตเพื่อคนรับใช้ของพระองค์ เป็นการเสียสละอย่างกล้าหาญที่พระเจ้าแผ่นดินไม่มีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้นเลย"
เมื่อเวตาลได้ยินคำอธิบายจากพระโอษฐ์ของพระราชาเช่นนั้น ก็ผละจากอังสาของพระราชา หายแวบไปทันทีโดยไม่มีใครเห็น และกลับคืนไปสู่ที่เดิมด้วยอิทธิฤทธิ์ของตน ทำให้พระราชาต้องเสด็จกลับทางเดิม เพื่อไปนำตัวเวตาลกลับมาใหม่




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2550    
Last Update : 28 สิงหาคม 2550 20:40:56 น.
Counter : 586 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.