อาตาปี สัมปชาโน สติมา
 
คิริมานนทสูตร ฉบับธรรมิกราช (ต่อ) ครูที่ดี

ครูที่ดี

ตทน นฺตรํ ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า อานนฺท ดูกรอานนท์ อันว่าบุคคลทั้งหลายผู้ปรารถนาซึ่งพระนิพพาน ควรแสวงหาซึ่งครูที่ดี ที่อยู่เป็นสุขสำราญมิได้ประมาท เพราะพระนิพพานไม่เหมือนของสิ่งอื่น อันของสิ่งอื่นนั้น เมื่อผิดไปแล้วก็มีทางแก้ตัวได้ หรือไม่สู้เป็นอะไรนัก เพราะไม่ละเอียดสุขุมมาก ส่วนพระนิพพานนี้ละเอียดสุขุมที่สุด ถ้าผิดแล้วก็เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์เป็นนักหนา ทำให้หลงโลกหลงทางห่างจากความสุข ทำให้เสียประโยชน์เพราะอาจารย์ ถ้าได้อาจารย์ที่ถูกที่ดี ก็จะได้รับผลที่ถูกที่ดี ถ้าได้รับอาจารย์ที่ไม่รู้ไม่ดีไม่ถูกต้อง ก็จักได้รับผลที่ผิดเป็นทุกข์พาให้หลงโลกหลงทาง พาให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลนาน เปรียบเหมือนผู้จะพาเราไปในที่ตำบลใดตำบลหนึ่ง แต่ผู้นั้นไม่รู้จักตำบลนั้น แม้เราเองก็ไม่รู้ เมื่อกระนั้น ไฉนเขาจึงจะพาเราไปให้ถึงตำบลนั้นได้เล่า ข้ออุปมานี้ฉันใด อาจารย์ผู้ไม่รู้พระนิพพาน และจะพาเราไปพระนิพพานนั้น ก็จะพาเราหลงโลกหลงทางไปๆ มา ๆ ตายๆ เกิดๆ อยู่ในวัฏสงสารไม่อาจจะพาไปถึงพระนิพพานได้ เหมือนคนที่ไม่รู้จักตำบลที่ไป และเป็นผู้พาไป ก็ไม่อาจจะถึงได้ มีอุปไมยฉันนั้น






ดูกรอานนท์ เมื่ออยากรู้จักนรก สวรรค์ และพระนิพพาน ก็ควรให้รู้เสียในเวลาก่อนที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่ออยากพ้นทุกข์ในนรก ก็รีบออกให้พ้นเสียแต่เมื่อยังไม่ตาย เมื่ออยากได้สุขในมนุษย์ หรือสวรรค์ หรือในนิพพานก็ให้รับขวบขวายหาสุขเหล่านั้นไว้แต่เมื่อยังไม่ตาย จะถือว่าตายจึงจักพ้นทุกข์ในนรก ตายแล้วจึงจักไปสวรรค์ไปพระนิพพานดังนี้ เป็นอันใช้ไม่ได้ เสียประโยชน์เปล่า อย่าเข้าใจว่า เมื่อมีชีวิตอยู่สุขอย่างหนึ่ง เมื่อตายไปแล้วมีสุขอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้เป็นความที่เข้าใจผิดโดยแท้ เพราะจิตมีดวงเดียว เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จิตดวงนี้ เมื่อตายไปแล้วก็จิตดวงนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้รับทุกข์ฉันใด เมื่อตายไปแล้วก็ได้รับทุกข์ฉันนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีความสุขฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้วก็ได้รับความสุขฉันนั้น ไม่ต้องสงสัย เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่รู้ไม่เห็นซึ่งความทุกข์และความสุข มีสภาวะปานดังนี้ เมื่อตายไปแล้วยิ่งจะซ้ำร้าย จะมีทางรู้ทางเห็นด้วยอาการอย่างไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ด้วยประการฉะนี้ฯ

ดูกรอานนท์ ถ้าอยากได้สุขอันใด ก็ควรรู้จักสุขอันนั้นก่อนจึงจะได้เมื่ออยากได้สุขในพระนิพพาน ก็ควรรู้จักสุขในพระนิพพาน อยากได้สุขในมนุษย์และสวรรค์ ก็ให้รู้จักสุขในมนุษย์และสวรรค์นั้นเสียก่อนจึงจะได้ ถ้าไม่รู้จักสุขอันใด ก็ไม่สามารถยังความสุขอันนั้นให้เกิดขึ้นได้ ไม่เหมือนทุกข์ในนรก อันทุกข์ในนรกนั้น จะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม ถ้าทำกรรมที่เป็นบาปแล้ว ผู้ที่รู้หรือผู้ที่ไม่รู้ก็ตกนรกเหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักนรก ก็ยิ่งไม่มีเวลาพ้นจากนรกได้ แต่มิใช่ว่าทำบุญให้ทานมิได้บุญ ความสุขที่ได้จากการทำบุญนั้นมีอยู่ แต่ว่าเป็นความสุขที่ยังไม่พ้นจากทุกข์ในนรก เมื่อยังไม่รู้ไม่เห็นนรกตราบใด ก็ยังไม่พ้นจากนรกอยู่ตราบนั้น ครั้นได้เข้าถึงนรกแล้ว เมื่อได้รู้ทางออกจากนรกแล้ว ปรารถนาจักด้นจากนรกก็พ้นได้ เมื่อไม่อยากพ้นก็ไม่อาจพ้นได้ ต้องรู้จักแจ้งชัดว่านรกอยู่ที่ในนั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้นๆ และควรรู้จักทางออกจากนรกให้แจ้งชัด ทางออกจากนรกนั้นก็คือ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลพระปาติโมกข์นั่นเอง เมื่อรู้แล้วอยากจะออกให้พ้นนรกก็ออกได้ ไม่อยากจะออกให้พ้นก็พ้นไม่ได้ ผู้ที่รู้กับผู้ที่ไม่รู้ย่อมได้รับทุกข์ในนรกเหมือนกัน ส่วนความสุขในมนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพานนั้น ต้องรู้จักจึงจะได้ ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจไม่ได้เลย มีอาการต่างกันอย่างนี้ฯ
ตทนนฺตรํ ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า อานนฺท ดูกรอานนท์ อันว่าบุคคลผู้จะสอนพระนิพพานนั้น ต้องให้รู้แจ้งประจักษ์ชัดเจนว่า พระนิพพานมีอยู่ในที่นั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้นๆ ต้องให้รู้แจ้งชัด จะกล่าวแต่เพียงวาจาว่านิพพานๆ ด้วยปาก แต่ใจไม่รู้แจ้งชัดเช่นนั้น ไม่ควรเชื่อถือเลย ต้องให้รู้แจ้งชัดในใจก่อน จึงควรเป็นครูเป็นอาจารย์สอนท่านผู้อื่นต่อไป จะเป็นเด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม ถ้ารู้แจ้งซึ่งพระนิพพานแล้ว ก็ควรเป็นครูเป็นอาจารย์ และควรนับถือเป็นครูเป็นอาจารย์ได้ แม้จะเป็นผู้ใหญ่สูงศักดิ์สักปากใดก็ตาม ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจแล้ว ไม่ควรนับถือเป็นครูเป็นอาจารย์เลยฯ
ดูกร อานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้พระนิพพาน ไม่ควรเป็นครูสั่งสอนท่านผู้อื่นในทางพระนิพพานเลย ต่างว่าจะสั่งสอนเขา จะสั่งสอนว่ากระไรเพราะตัวไม่รู้ เปรียบเหมือนบุคคลไม่เคยเป็นช่างวาดเขียนหรือช่างต่างๆ มาก่อน แล้วอยากจะเป็นครูสั่งสอนเขา จะบอกแก่เขาว่ากระไร เพราะตัวเองก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ จะเอาอะไรไปบอกไปสอนเขา จะเอาแต่คำพูดเป็นครูทำตัวอย่างให้เขาเห็นเช่นนั้นไม่ได้ จะให้เขาเล่าเรียนอย่างไร เพราะไม่มีตัวอย่างให้เขาเห็นด้วยตา ให้รู้ด้วยใจ เขาจะทำตามอย่างไรได้ ตัวผู้เป็นครูนั้นแลต้องทำก่อน ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ควรเป็นครูสอนเขา ถ้าขืนเป็นครู ก็จักพาเขาหลงโลกหลงทาง เป็นบาปเป็นกรรมแก่ตัวนักหนาทีเดียว พระพุทธเจ้าตรัสแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แลฯ
ผู้คบครูอาจารย์ที่ ไม่รู้ดีและได้ผลที่ไม่ดี มีในโลกมิใช่น้อย เหมือนดังพระองคุลีมาลเถระ ไปเรียนวิชาในสำนักครูผู้มีทิฏฐิอันผิด ได้รับผลที่ผิดคือเป็นมหาโจรฆ่าคนล้มตายเสียนับด้วยพัน หากเราตถาคตรู้เห็น มีความสงสารเวทนามาข้องข่ายสยัมภูญาณ จึงได้ไปโปรดทรมานให้ละเสียซึ่งพยศอันร้าย เป็นการลำบากมิใช่น้อย ถ้าไม่ได้พระตถาคตแล้ว พระองคุลิมาลก็จักได้เสวยทุกข์ในวัฏสงสารสิ้นชาติเป็นอันมากฯ


Create Date : 08 เมษายน 2556
Last Update : 8 เมษายน 2556 8:59:07 น. 0 comments
Counter : 554 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

สติมา
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




อาตาปี สัมปชาโน สติมา
เพียรเผากิเลสด้วยความรู้สึกตัวมีสติ
[Add สติมา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com