Life is not too long. Do it now.
 
 

การเจาะน้ำบาดาล

หลังจากที่เราได้ทำการสำรวจและกำหนดจุดเจาะเอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดของการพัฒนาน้ำบาดาลคือการเจาะ

ทุกวันนี้โลกของเราพัฒนาไปรวดเร็วมาก และเทคโนโลยีในด้านการขุดเจาะก็เช่นกัน เมื่อก่อนการเจาะบ่อน้ำบาดาลบ่อหนึ่งอาจจะใช้เวลาเป็นแรมเดือน แต่ในปัจจุบันอาจจะใช้เวลาไม่ถึงวันด้วยซ้ำไป

ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วชาวจีนได้คิดค้นเครื่องเจาะน้ำบาดาลขึ้นเป็นเครื่องแรกของโลก ซึ่งเครื่องเจาะของชาวจีนนั้นสร้างขึ้นจากไม้และไม้ไผ่ และสามารถเจาะได้ลึกหลายร้อยเมตร และมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนฝรั่งมาเห็นก็ได้นำไปประยุกต์โดยพัฒนาจากไม้ไผ่มาเป็นเหล็ก และพัฒนามาเป็นเครื่องเจาะที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

การเจาะบ่อน้ำบาดาลนั้นต้องคำนึงถึงสภาพทางธรณีวิยาเป็นหลัก เมื่อเรารู้สภาพทางธรณีวิทยาแล้วเราก็จะสามารถกำหนดเครื่องเจาะได้ ว่าจะใช้เครื่องเจาะชนิดใดและต้องเจาะลงไปลึกเท่าไหร่ถึงจะเจอชั้นน้ำบาดาล

เครื่องเจาะน้ำบาดาลในปัจจุบันนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆดังนี้คือ

1. เครื่องเจาะแบบกระแทก เป็นเครื่องเจาะที่ใช้แรงกระแทกของหัวเจาะ ที่ปล่อยผ่านรอกจากยอดเสากระโดงลงมา โดยมีลวดสลิงเป็นตัวช่วยยึดระหว่างหัวเจาะ กับกว้าน เครื่องเจาะชนิดนี้เหมาะที่จะใช้เจาะในบริเวณที่ชั้นน้ำบาดาลเป็นหินแข็ง เช่นหินปูนเป็นต้น

2. เครื่องเจาะแบบหมุน เครื่องเจาะชนิดนี้จะอาศัยแรงบิดเพื่อหมุนให้หัวเจาะหมุนลึกลงไปในชั้นดินชั้นหินข้างล่าง เครื่องเจาะชนิดนี้เหมาะสำหรับชั้นน้ำบาดาลที่เป็นกรวดและทราย

3. เครื่องเจาะแบบผสม เครื่องเจาะชนิดนี้จะอาศัยทั้งแรงบิดและแรงกดผสมกัน และเป็นที่นิยมในปัจจุบันเพราะสามารถเจาะได้ทั้งบริเวณที่ชั้นน้ำบาดาลเป็นหินแข็ง และบริเวณที่เป็นกรวดทราย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้ทั้งน้ำ หรือลมแรงดันสูง เป็นตัวช่วยพยุงเศษดินเศษหินขึ้นมา

แล้วพบกันใหม่นะครับ

ปล. วันนี้เป็นวันเกิดของข้าเจ้าเอง อิอิ




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2549   
Last Update : 25 สิงหาคม 2549 15:18:30 น.   
Counter : 1608 Pageviews.  


การสำรวจน้ำบาดาล

หลายๆคนอาจจะสงสัยใช่ไหมครับว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำบาดาลในบริเวณที่ดินของเราอยู่ลึกแค่ไหน และเราจะสามารถสูบมาใช้ได้วันละเท่าไหร่ และเขามีวิธีการสำรวจอย่างไร

ในอดีตคนเราพยายามจะเอาชนะธรรมชาติมาโดยตลอด ซึ่งก็แพ้บ้าง ชนะบ้างเป็นธรรมดา และการหาแหล่งน้ำมาทดแทนน้ำผิวดินก็เหมือนกัน เราก็มีวิวัฒนาการมาโดยตลอด

สมัยก่อนน้ำบาดาลด่อนข้างตื้น ดังนั้นเราสามารถขุดบ่อลึกประมาณไม่ถึงสิบเมตร ก็ถึงชั้นน้ำบาดาลและเราก็มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี ปัจจุบันจำนวนคนมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นระดับน้ำบาดาลก็ลดลงไปเรื่อยๆ กล่าวคือเราต้องขุดลึกลงไปหลายสิบเมตรจึงจะเจอน้ำ และมันก็เกินกำลังของคนที่จะขุดด้วยจอบกับเสียม จึงต้องใช้เครื่องมือใหญ่ๆเข้ามาช่วย เช่นเครื่องเจาะน้ำบาดาลเป็นต้น

ทีนี้เรามาดูการสำรวจน้ำบาดาลในปัจจุบันกันดีกว่า ว่ามนุษย์เราสำรวจน้ำบาดาลกันอย่างไร

การสำรวจก็จะใช้หลักการง่ายๆคือ น้ำเป็นตัวนำไฟฟ้า ดังนั้นเราก็จะปล่อยกระแสไฟฟ้าลงไปในชั้นดินและหินข้างล่าง แล้ววัดค่าความต่างศักย์ของไฟฟ้า จากนั้นก็จะนำมาคำนวนตามสูตร V = IR (กฏของโอห์ม) เมื่อเราปล่อยกระแสไฟฟ้า (I) ซึ่งเราทราบค่า แล้ววัดความต่างศักย์ (V)ได้เท่าไหร่ เราก็คำนวนหาค่าความต้านทานไฟฟ้า (R)ได้ ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่าการสำรวจน้ำบาดาลแบบ รีซีสติวิตี้ (Resistivity Survey) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งความน่าจะเป็นของการสำรวจด้วยวิธีนี้ ก็ประมาณ 80 เปอร์เซนต์

ส่วนวิธีการอื่นๆ ก็ยังมีอยู่แต่ว่าไม่ค่อยได้รับความนิยม อีกทั้งยังมีข้อผิดพลาดสูง และไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ เช่นการนั่งทางใน การใช้กะลาครอบ การเสี่ยงทาย การใช้สมาธิ รวมไปถึงวิธีการที่เราเรียกว่า "เด้าซ์ซิ่ง" ซึ่งวิธีการเหล่านี้มีความน่าจะเป็นประมาณ 50 เปอร์เซนต์ แต่บางคนยังนิยมวิธีการเหล่านี้อยู่เพราะ ประหยัดค่าใช้จ่าย ง่าย และรวดเร็ว แต่ข้อเสียคือหาข้อพิสูจน์ไม่ได้เวลาขุดลงไปแล้วไม่เจอน้ำ





 

Create Date : 22 กรกฎาคม 2549   
Last Update : 23 สิงหาคม 2549 7:31:52 น.   
Counter : 6872 Pageviews.  


น้ำบาดาล มาจากไหน

จากบล็อกที่แล้วเราก็พอจะทราบกันคร่าวๆแล้วนะครับว่าน้ำบาดาลคืออะไร ทีนี้เราลองมาดูกันว่าน้ำบาดาลมาจากไหน

ตามวฏจักรของน้ำ น้ำบาดาลมีต้นกำเนิดส่วนใหญ่มาจากน้ำฝน และบางส่วนมาจากการเผาผลาญอาหารของต้นไม้และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในดิน

เมื่อน้ำฝนที่ตกลงมาจากฟากฟ้า ลงมาสู่พื้นดิน บางส่วนก็จะระเหยกลายเป็นไอลอยกลับขึ้นไปในอากาศ บางส่วนก็จะไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำลำคลอง และบางส่วนก็จะซึมลงสู่ใต้ดิน และน้ำที่ซึมลงสู่ใต้ดินนี้เองคือน้ำที่จะกลายเป็นน้ำบาดาลในอนาคต

เมื่อน้ำไหลซึมลงสู่ใต้ดินตามแรงดึงดูดของโลกแล้ว มันก็จะไหลลึกลงไปเรื่อยๆ และจะสะสมตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขั้นตอนการสะสมตัวนี้อาจจะใช้เวลาเป็นร้อยๆปี กล่าวคือน้ำบาดาลส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ช้ามาก ปีหนึ่งอาจจะเคลื่อนที่ได้ประมาณไม่กี่สิบเมตร

ดั้งนั้นถ้าเราสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณมากๆ เกินกว่าปริมาณที่น้ำจากผิวดินจะไปทดแทนได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่างเช่นระดับน้ำบาดาลลดลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาแผ่นดินทรุด ปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มเป็นต้น

วันนี้เอาแค่นี้ก่อนนะครับ ง่วงนอนแล้ว




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2549   
Last Update : 23 สิงหาคม 2549 7:32:14 น.   
Counter : 3672 Pageviews.  


น้ำบาดาล คืออะไร

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า "น้ำบาดาล" คืออะไร และทำไมถึงเรียกว่าน้ำบาดาล และมันต่างจากน้ำใต้ดินตรงไหน และที่สำคัญน้ำบาดาลมันสำคัญตรงไหน และมีประโยชน์อย่างไร

เอาเป็นว่าเดี๋ยวผมค่อยๆ บรรยายไปนะครับ

เริ่มจากคำนิยาม(ตามความคิดของกระผมก่อนนะครับ) น้ำบาดาลคือน้ำที่ถูกกักเก็บหรือสะสมตัวอยู่ใต้ดิน อาจจะสะสมตัวอยู่ตามรอยแตกหรือรอยแยกของชั้นหิน หรืออาจจะสะสมตัวอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดกรวด หรือเม็ดทราย ที่อยู่ใต้ดินลึกลงไป เมื่อน้ำสะสมตัวกันมากๆ จนเราสามารถเจาะบ่อน้ำบาดาลและสูบเอาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ ในบริเวณนั้นเราก็จะเรียกว่าชั้นน้ำบาดาล

แล้วทำไมเราถึงเรียกว่าน้ำบาดาล ทำไมไม่เรียกว่าน้ำใต้ดิน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า น้ำใต้ดินนั้นใช้เรียกรวมๆ ไม่เฉพาะเจาะจง แต่น้ำบาดาลนั้นเป็นชื่อเฉพาะ การที่จะเรียกว่าน้ำบาดาลได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถสูบขึ้นมาใช้ได้เท่านั้น หรืออีกอย่างอาจจะเรียกว่าน้ำบาดาลเป็นกลุ่มย่อยของน้ำใต้ดินก็ว่าได้ครับ

ส่วนประโยชน์ของน้ำบาดาลนั้นมีมากมายมหาศาลเลยทีเดียว เช่นสามารถนำไปใช้ในการอุปโภคและบริโภค ใช้ในการอุตสาหกรรม ใช้ในการเกษตรกรรม เป็นต้น

ในชนบทส่วนใหญ่ของเมืองไทย เราพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อย่างแพร่หลาย เช่นสูบขึ้นหอกักเก็บที่มีความสูงประมาณ 12 - 20 เมตร แล้วส่งผ่านท่อเพื่อเป็นประปาหมู่บ้าน

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมได้มีการใช้น้ำบาดาลกันอย่างแพร่หลายเช่นกันยกตัวอย่างอาทิโรงเบียร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นลีโอ คาลส์เบิร์ก ช้าง สิงห์ ไฮเนเก้น ก็ล้วนแต่ใช้น้ำบาดาลในการหมักเบียร์ทั้งนั้น นอกจากนี้น้ำแร่ทั้งหลายก็ล้วนแต่มาจากน้ำบาดาลทั้งสิ้น

เห็นไหมละครับว่าประโยชน์ของน้ำบาดาลนั้นมีมากมายขนาดไหน ดังนั้นเราควรช่วยกันอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลให้คุ้มค่าและยั่งยืนนะครับ




Confined Aquifer = ชั้นน้ำบาดาลที่มีแรงดัน

Unconfined Aquifer = ชั้นน้ำบาดาลที่ไร้แรงดัน

Perch Aquifer = ชั้นน้ำบาดาลปลอม


แล้วพบกันใหม่บล็อกหน้านะครับ

ปล. บล็อกนี้ขอสงวนใว้สำหรับเรื่องของน้ำบาดาลล้วนๆนะครับ




 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2549   
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2551 9:28:08 น.   
Counter : 44659 Pageviews.  


1  2  3  4  

Duke of York
 
Location :
Sheffield United Kingdom

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




If today is Monday, tomorrow will be Tuesday for sure then.
[Add Duke of York's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com