กรรมของชาวนาไทย "ภัยแล้ง เสื้อแดง เพลี้ยกระโดด บอลโลก น้ำท่วม"
"กสิกรแข็งขัน เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจ เพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม" หลายๆท่านที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมคงเคยได้ยินเพลงที่มีเนื้อร้องบางช่วงดังข้างบนนะครับ ประเทศไทยของเราแต่ก่อนนี้เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก ถึงขนาดที่ว่าบนผืนแผ่นดินสยามนี้ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" แต่ปัจจุบันประเทศของเราได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในน้ำมีสารเคมีและยาฆ่าแมลง ส่วนในนามีแต่ควายเหล็ก ความที่กินหญ้าไม่เป็น กินเป็นแต่น้ำมัน ส่วนในตลาดก็มีแต่ยาบ้า ตามตรอกซอกซอยก็มีแต่ผีพนันและขี้ยา หาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแทบไม่เจอแต่ชาวนาไทยก็ต้องทนอดและอดทนต่อไป ชั่วนาตาปี เริ่มต้นปีมาแล้วที่มีการเตือนจากทางราชการไทยว่าปีนี้ฝนจะแล้ง ให้งดทำนาปรังไปพลางก่อน จากนั้นพอเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งก็เป็นจริงอย่างที่เขาบอก คือน้ำไม่มีทำนา ครั้นจะไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็ไม่ได้ เพราะรัฐบาลก็แทบเอาตัวไม่รอด วันๆยุ่งอยู่กับการ "ขอคืนพื้นที่" "กระชับวงล้อม" จนหน้าตาของโฆษก ศอฉ. เหมือนกับคนเมากระทิงแดง สงสัยวันๆไม่ได้หลับไม่ได้นอนแหงๆ พอได้พื้นที่คืนเรียบร้อย ชาวนาไทยก็เจอปัญหาเพี้ยกระโดดสีน้ำตาล เล่นงานจนข้าวตายคานา ส่วนที่รอดมาก็เจอกับปัญหาการประกันราคาที่ไม่เป็นไปตามที่ประกันเอาไว้ กล่าวคือประกันไว้ที่เกวียนละหมื่น แต่พอเอาไปขายจริงได้ไม่ถึงแปดพัน บางที่ให้แค่หกพัน โอ้ ชีวิตหนอชีวิตตอนนี้ชาวนาไทยเริ่มกลับมาคึกคักอีกรอบเพราะเริ่มเข้าฤดูทำนาปี แต่ชีวิตต้องมาพลิกผันอีกรอบ เนื่องจากทางราชการบอกว่าปีนี้ฝนแล้ง น้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย ไม่พอที่จะแจกจ่ายชาวบ้านให้เอาไปทำนาได้ นอกจากนี้ฝนอาจจะทิ้งช่วงไปอีกหนึ่งถึงสองเดือน หรืออาจจะสามเดือน สี่เดือน ห้าเดือน สุดแท้แต่ฝน ยากจะคาดเดาได้ จึงมีประกาศให้ชาวนาไทย เลื่อนการทำนาปีออกไปก่อน หากใครไม่ฟังก็ตัวใครตัวมันมาถึงตอนนี้ ชาวนาไทยเลยได้ที พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ไหนๆก็พึ่งรัฐบาลไม่ค่อยได้อยู่แล้ว เลยขอหยุดการทำนาเอาไว้ชั่วคราว เอาที่นาไปจำนองแล้วเอาเงินมาเล่นพนันฟุตบอลโลกแทน สนองนโยบายของรัฐบาล คาดว่าพอจบบอลโลก ก็จะเอาเงินไปไถ่ที่นา ซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าแมลง เตรียมตัวทำนากันอีกรอบแต่ในใจของชาวนาก็ได้แต่ภาวนาว่า "สาธุ ปีนี้น้ำอย่ามาตามปกตินะเจ้าขา" เพราะไม่เช่นน้ันนาที่ทำเอาไว้ คงไม่ได้เก็บเกี่ยวแน่ เพราะต้องเจอน้ำน้ำท่วมอ่วมอรทัยกันพอดีพอมาถึงตรงนี้ กระผมขอฟันธงได้เลยว่า อัตตหิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน อย่าไว่ใจทาง อย่าวางใจรัฐบาล เกิดมาชาติหน้าฉันใด ขออย่าได้เกิดเป็นชาวนาไทย ก็แล้วกัน ปล. ปีนี้เผาหลอกนะขอรับ เรื่องภัยแล้ง แต่ปีหน้าเผาจริง โปรดเตรียมตัวเสียแต่เนิ่นๆ ถ้ายังไม่ได้เจาะน้ำบาดาล ก็ไปกู้เงินมาเจาะซะดีๆ กู้เถ้าแก่โรงสีก็ได้ ยอมเสียดอก ดีกว่าไม่มีข้าวกินนะขอรับ
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คิดได้ พูดได้ แต่ .......ทำไม่ได้
ทรัพยากรน้ำ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของทุกสรรพสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ เพราะน้ำคือชีวิต ทุกชีวิตล้วนต้องพึ่งพาอาศัยน้ำในการดำรงชีพทั้งนั้น ในโลกของเรามีน้ำอยู่อย่างมากมายมหาศาล เพราะสองในสามของผิวโลกถูกปกคลุมด้วยน้ำ แต่ทว่าน้ำในโลกของเราส่วนใหญ่ร้อยละ 97.5 จะเป็นน้ำเค็มในมหาสมุทร ส่วนน้ำจืดมีเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น นอกจากนี้ถ้าเราแบ่งปริมาณน้ำจืดในจำนวนอันน้อยนิด (2.5%) บนโลกของเราออกเป็นสัดส่วน จะเห็นได้ว่าน้ำจืดดังกล่าวถูกกักเก็บในรูปของภูเขาน้ำแข็งและหิมะถึงร้อยละ 68.9 เป็นน้ำผิวดินเพียงแค่ร้อยละ 0.3 ที่เหลือร้อยละ 30.8 คือน้ำใต้ดิน ปัจจุบันทรัพยากรน้ำของประเทศไทยกำลังถูกคุกคามจากปัญหาต่างๆ เช่นสภาวะโลกร้อน (Global warming) ปรากฏการณ์เอลนิญโย (Elnino) ทำให้เกิดพิบัติภัยธรรมชาติต่างๆ เช่นภัยแล้งและน้ำท่วม หลายพื้นที่ประสบพิบัติภัยเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่เหล่านั้นได้รับผลกระทบอย่างเป็นวงกว้าง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการลดลงของระดับน้ำบาดาลอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีการสูบน้ำบาดาลมาใช้มากเกินสมดุล และปัญหาการปนเปื้อนจากสารพิษต่างๆในน้ำก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำเสื่อมคุณภาพลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำของประเทศเป็นอย่างมาก การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าถ้าเราไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ปริมาณและคุณภาพของทรัพยากรน้ำของเราที่มีอยู่ก็จะหมดไปหรือไม่ก็เสื่อมคุณภาพจนไม่สามารถนำไปใช้ได้อีก แต่ปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ขาดการบูรณาการ กล่าวคือต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิด และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมายังคงอยู่ในบริบทของน้ำผิวดินแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนและฟื้นฟูความเสียหาย จึงมีความจำเป็นในการติดตามสถานการณ์พิบัติภัยต่างๆ รวมไปถึงภาคการใช้น้ำ (Demand side) และภาคแหล่งน้ำต้นทุน (Supply side) เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีระบบและรวดเร็ว สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที แต่คำถามคือ แล้วใครจะทำ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ส่วนข้างล่างนี้คือหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำของประเทศไทยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทรวงคมนาคม กรมอุตุนิยมวิทยากระทรวงพลังงานกระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษการประปานครหลวงการประปาส่วนภูมิภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วเมื่อไหร่ประเทศไทยถึงจะมีหน่วยงานกลางที่เรียกว่า กระทรวงทรัพยากรน้ำ ที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลน้ำทั้งระบบ ของประเทศไทย มีกฎหมาย มีสำนักงาน มีรัฐมนตรีว่าการที่สามารถนำเสนอนโยบายและแผนต่อครม.ได้โดยตรงน้ำคือชีวิต ถ้าประเทศไทยบริหารน้ำไม่ได้ ก็เท่ากับว่าบริหารชีวิตไม่ได้เช่นเดียวกัน
การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการและติดตามสถานการณ์ด้านน้ำบาดาล
หลายคนอาจจะมีคำถามที่ค้างคาใจอยู่ว่าทำไมต้อมีการตั้งการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการและติดตามสถานการณ์ด้านน้ำบาดาลขึ้นมา แล้วศูนย์นี้มีหน้าที่ทำอะไร แล้วศูนย์นี้จะไปรอดไหม แล้วศูนย์นี้คือ zero หรือ center กันแน่ หลากหลายคำถามที่ต้องการคำตอบ แต่ถ้าจะตอบทุกคำถามคงเป็นเรื่องยาว แต่ที่แน่ๆคือศูนย์ปฏิบัติการและติดตามสถานการณ์ด้านน้ำบาดาล มีหน้าที่ในการรวมรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและสถานการณ์ที่เกี่ยวกับน้ำบาดาลในสภาวะฉุกเฉินหรือเร่งด่วน เช่นในยามที่เกิดพิบัติภัยธรรมชาติและอุบัติภัยปนเปื้อนในน้ำบาดาล แล้วคาดการณ์หาพื้นที่ที่จะเกิดผลกระทบต่อระบบน้ำบาดาลและผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน ห้วงระยะเวลาที่จะเกิด จากนั้นก็แจ้งเตือนให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เช่น อีกภายในสองถึงสามเดือนข้างหน้าอาจจะมีวิกฤติการณ์ด้านน้ำเกิดขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิคมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลทำให้เกิดภาวะภัยแล้งและอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นต้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคการใช้น้ำไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติการณ์ดังกล่าว โดยจะต้องหาแหล่งน้ำสำรองเอาไว้ใช้เสียแต่เนิ่นๆ ซึ่งแหล่งน้ำสำรองดังกล่าวคือน้ำบาดาลนั่นเองเนื่องจากภารกิจหลักของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลคือบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศไทยให้อยู่ในสภาวะสมดุลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ แต่การบริหารจัดการน้ำบาดาลมีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนก็เพราะน้ำบาดาลเป็นทรัพยากรที่อยู่ใต้ดินและคนเราทั่วไปมองไม่เห็น เลยนึกภาพไม่ออกว่าจะบริหารจัดการมันอย่างไร ซึ่งต่างกับน้ำผิวดินที่คนทั่วไปมองเห็น น้ำขึ้นน้ำลง น้ำเน่าน้ำเสีย ก็สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั้งสองข้าง ซึ่งการบริหารจัดการน้ำผิวดินจึงเป็นเรื่องค่อนข้างง่าย อย่างไรก็ตามแม้ว่าการบริหารจัดการน้ำบาดาลในสภาวะปกติที่นับว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่ที่ยากกว่าคือการบริหารจัดการน้ำบาดาลในยามฉุกเฉิน เร่งด่วนหรือในสภาวะวิกฤติที่ยิ่งยากกว่าหลายเท่าตัว ดังนั้นในยามที่เกิดวิกฤติศูนย์ปฏิบัติการและติดตามสถานการณ์ด้านน้ำบาดาลก็จะเข้ามามีบทบาทในการเป็นตัวช่วยให้กับผู้บริหาร(ที่มีอำนาจตัดสินใจ)ในการสั่งการและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆจะเกิดในห้วงเวลาใดและกินเวลายาวนานเท่าไหร่ ถ้าเกิดในช่วงระยะเวลาสั้นๆก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดขึ้นเป็นช่วงระยะเวลายาวนานและแผ่วงออกไปอย่างกว้างขวาง รับรองว่างานเข้าศูนย์นี้อย่างแน่นอนที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ข้าพเจ้าก็ได้แต่ภาวนาว่าอย่าได้เกิดเหตุเพศภัยใดๆกับประเทศไทยของเราเลย ไม่ใช่กลัวว่าจะรับมือไม่ไหวหรือไม่อยากทำงานนะครับ แต่เป็นเพราะว่าผลกระทบมันอาจจะรุนแรงเกินกว่าที่ชาวบ้านตาดำๆจะรับไหวต่างหากครับปล.ท่านสามารถเข้าไปเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการและติดตามสถานการณ์ด้านน้ำบาดาล ได้ที่//gomc.dgr.go.th/
ระบบกักเก็บน้ำใต้ดิน หนทางแก้วิกฤติการขาดแคลนน้ำรูปแบบใหม่
เกาะสมุยเปรียบประดุจอัญมณีที่ล้ำค่าของประเทศไทยเพราะทำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่า 10,000 ล้านบาท และทุกๆปีจะมีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวอยู่เป็นประจำ ก่อให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชน แต่ปัจจุบันเกาะสมุยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบที่จะนำมาผลิตเป็นน้ำประปาเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ซึ่งความต้องการการใช้น้ำบนเกาะสมุยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าแล้ง ล่าสุด พ.ศ. 2550 ความต้องการการใช้น้ำของเกาะสมุยอยู่ที่ 5.46 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งความต้องการดังกล่าวมีมากที่สุดในช่วงหน้าแล้ง ประมาณ 120 วัน และคิดเป็นปริมาณความต้องการน้ำดิบที่จะใช้ผลิตน้ำประปาที่ 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ การประเมินศักยภาพแอ่งน้ำบาดาลบริเวณเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกแอ่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพสูงสุดและเหมาะสมที่สุด ทั้งในแง่กายภาพและเศรษฐศาสตร์ โดยกำหนดพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างระบบกักเก็บน้ำใต้ดิน และนำน้ำบาดาลที่ได้จากระบบกักเก็บน้ำใต้ดิน มาใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นน้ำประปาในช่วงขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง และป้องกันปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาล ในระหว่างที่มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้จากการศึกษาและเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพของแอ่งน้ำบาดาลที่มีอยู่บนเกาะสมุยจำนวน 5 แห่ง คือ 1) แอ่งบ้านเขาแพง 2) แอ่งบ่านบ่อผุด 3) แอ่งบ้านเฉวง 4) แอ่งบ้านละไม และ 5) แอ่งบ้านมะเร็ต ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าบริเวณที่เหมาะสมที่สุดที่จะสามารถก่อสร้างระบบกักเก็บน้ำใต้ดินและป้องกันปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาล คือ บริเวณแอ่งบ้านมะเร็ต ตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัด สุราษฎร์ธานี เนื่องจากบริเวณดังกล่าวรองรับด้วยแอ่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะสมุย และยังไม่มีการขยายเขตแหล่งชุมชนและสถานที่รองรับท่องเที่ยวในบริเวณแอ่งน้ำใต้ดินมากนักทำให้โอกาสของการปนเปื้อนของสิ่งสกปกลงสู่น้ำใต้ดินมีน้อยกว่าบริเวณอื่นของเกาะสมุย แอ่งน้ำบาดาลดังกล่าวประกอบไปด้วยชั้นน้ำบาดาลแบบไร้แรงดัน (Unconfined aquifer) ที่ประกอบไปด้วยชั้นน้ำบาดาล 2 ชนิด คือ ชั้นน้ำบาดาลตะกอนกรวดทราย และชั้นน้ำบาดาลหินแกรนิตผุ ซึ่งแอ่งน้ำบาดาลดังกล่าวมีความกว้างประมาณ 3.0 กิโลเมตร ยาวประมาณ 5.0 กิโลเมตร และลึกเฉลี่ยประมาณ 30 เมตร และมีค่าสัมประสิทธิ์ในการกักเก็บเฉลี่ยประมาณ 0.036 และสามารถกักเก็บน้ำบาดาลไว้ได้ทั้งหมดประมาณ 13.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถทำการสูบขึ้นมาใช้ได้วันละ 4,000 6,000 ลูกบาศก์เมตร ในช่วงฤดูแล้งที่ขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา โดยไม่ส่งผลกระทบกับแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิม ซึ่งถือว่ามากที่สุดในจำนวนแอ่งน้ำบาดาลทั้งหมด ที่มีอยู่บนเกาะสมุย
การใช้น้ำร่วมกันระหว่างน้ำผิวดินและน้ำบาดาลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบันปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมนับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าปัญหาโลกร้อนนั่นเอง มนุษย์เรายิ่งเจริญก็ยิ่งรักความสบาย เลยเนรมิตสิ่งอำนวยความสะดวกสารพัดสารพัน โดมมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวคือให้ตัวเองสบาย จนบางครั้งลืมว่า ความสบายของตัวเองนั้นอาจจะทำให้เพื่อนร่วมโลกอีกหลายชีวิตกำลังลำบาก หมีขาวที่ขั้วโลกหากินยากขึ้น ปลาจำนวนมากต้องอพยพจากแหล่งอาศัยเดิม และแน่นอนครับว่าคนเราก็ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากเราลองสังเกตดีๆจะพบว่าปัจจุบันเมืองไทยเราประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติถี่ขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วม ภัยแล้ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้บางครั้งไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น การแก้ไขต้องอาศัยการศึกษา วิจัย เรียนรู้เพื่อให้เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งก็ต้องอาศัยระยะเวลา กว่าที่เราจะเอาชนะธรรมชาติได้ปัจจุบันพืชผลทางการเกษตรกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่สามารถนำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ เช่นอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม เป็นต้น จึงทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเหล่านี้กันอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจัยสำคัญพื้นฐานของการเพาะปลูกคือ"น้ำ"ยังไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเมื่อน้ำไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ดีและเป็นระบบ จึงเป็นที่มาของปัญหาต่างๆเช่น น้ำท่วม เนื่องจากฝนที่ตกมามากแต่ระบบกักเก็บน้ำไม่เพียงพอ และป่าไม้ถูกทำลาย การชะลอน้ำจึงไม่มี น้ำที่ตกลงมาเมื่อไม่สามารถซึมต่อลงไปในดินได้ เนื่องจากว่าดินอิ่มตัวไปด้วยน้ำ จึงทำให้น้ำไหลมารวมกันอย่างรวดเร็วและไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนผู้คนที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มปัญหาอีกอย่างที่เกิดขึ้นคือปัญหาภัยแล้ง ในยามที่ฝนไม่ตกเราก็ไม่มีน้ำกินน้ำใช้กัน ส่วนน้ำที่จะนำไปเพาะปลูกก็อย่าได้ไปหวัง รับรองว่าไม่พอแน่ๆ เพราะขนาดจะกินยังไม่มี แล้วจะเอาที่ไหนไปปลูกพืชเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าประเทศไทยของเรา มัวแต่มุ่งพัฒนาน้ำผิวดินเพียงอย่างเดียว หรือไม่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับน้ำบาดาลหรือน้ำที่อยู่ใต้ดินของเรา ในต่างประเทศหลายๆประเทศ เขาขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อนำมาใช้ในการเกษตรกันอย่างแพร่หลาย และทำกันมาหลายสิบหลายร้อยปีมาแล้ว และบางประเทศก็จะมีระบบบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่างเช่นประเทศอังกฤษ เขาจะสูบน้ำจากผิวดินลงไปเก็บไว้ใต้ดินในยามหน้าฝน แต่พอฤดูแล้งมาเยือนเขาก็จะสูบเอาน้ำบาดาลมาใช้ ทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมทุเลาเบาบางลง ไปอย่างเห็นได้ชัดดังนั้นประเทศไทยเราควรหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเสียทีก่อนที่จะไม่มีน้ำดีๆให้เราบริหาร