Life is not too long. Do it now.
 
 

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล

สวัสดีครับพี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ ทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขออภัยที่ห่างหายจากการเขียนบล็อกไปนาน ตอนนี้กลับมาเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่เมืองไทยได้ประมาณ 2 เดือนกว่าๆแล้วครับ กลับมาใหม่ๆ อะไรๆก็ยังไม่เข้าที่เข้าทางดี ทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องงาน สารพัดเรื่องที่จะต้องทำ เวลามันช่างเดินเร็วเสียนี่กะไร อิอิ

เข้าเรื่องเลยดีกว่า ตอนนี้ไปไหนมาไหนมักจะได้ยินวลีเด็ดของผู้ร่วมงานอยู่เป็นประจำว่า "ทรัพยากรน้ำบาดาลต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นธรรม" ก็เลยทำให้ข้าพเจ้าฉุกคิดขึ้นมาว่า "ใช่ - แต่จะทำอย่างไรหละ อิอิ"

คำว่าการบริหารจัดการอย่างเป็นธรรม ฟังดูผิวเผินอาจดูเหมือนการจัดการทั่วๆไป เช่นการบริหารจัดการข้าวของ เงินทองที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจจะต้องนำเงินบางส่วนไปฝากธนาคาร บางส่วนแบ่งไปซื้อหุ้น บางส่วนซื้อทองเก็บเอาไว้ บางส่วนก็ปล่อยให้เขากู้ร้อยละ 10 ส่วนทรัพย์สินเช่นที่ดิน คอนโด อาจจะแบ่งให้เขาเช่า เพื่อให้เกิดรายได้หรือประโยชน์สูงสุด อย่างนี้เป็นต้น นี่คือการบริหารจัดการอย่างง่ายๆ กับของใกล้ตัวที่เรามีอยู่ มองเห็น แตะต้องสัมผัสได้

ทีนี้ลองย้อนกลับมาถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำบาดาลดูบ้าง หลายๆคนคงอาจจะงงและหลายๆคนคงนึกภาพไม่ออก ว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะนึกไม่ออกว่าน้ำบาดาลมันอยู่ตรงไหนบ้าง มีปริมาณกักเก็บอยู่เท่าไหร่ แล้วเราสามารถนำขึ้นมาใช้ได้เท่าไหร่ ใช้ไปแล้วแผ่นดินจะทรุดไหม แล้วน้ำบาดาลที่ว่าคุณภาพมันเป็นอย่างไร โอ้ยสารพัดคำถามที่ตามมาติดๆ แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ใช่ไหมครับ อิอิ

การบริหารจัดการสิ่งที่เรามองไม่เห็น(เพราะมันอยู่ใต้ดิน) แตะต้องสัมผัสไม่ได้(ถ้าไม่ได้เจาะบ่อและสูบเอามันขึ้นมา) ช่างเป็นเรื่องที่ลำบากเสียนี่กะไร แต่ไม่เป็นไรครับ ค่อยๆอ่านไปเรื่อยๆ บางทีท่านอาจจะมีข้อเสนอแนะ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมก็ได้นะขอรับ

น้ำบาดาลต่างจากน้ำผิวดินก็ตรงที่ว่า น้ำผิวดินเรามองเห็นและรู้ว่าอยู่ตรงไหน คุณภาพเป็นอย่างไร เช่นอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ส่วนปริมาณก็เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลเช่นหน้าแล้งก็แห้งขอด ส่วนหน้าฝนก็ไหลเข้าท่วมบ้านเรือน ไร่นา ของประชาชน อย่างนี้เป็นต้น แต่น้ำบาดาลหลายท่านก็ยังนึกไม่ออกอยู่ดีว่าหน้าแล้งมันแห้งไหม แล้วหน้าฝนหละมันจะล้นเอ่อเข้าบ้านเรือน ไร่นาของชาวบ้านไหม ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าน้ำบาดาลกับน้ำผิวดิน เขาเป็นญาติกัน หน้าแล้งน้ำผิวดินก็จะไหลเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาล ส่วนหน้าฝนน้ำบาดาลก็จะไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไป จนเป็นวัฎจักรของมัน

ทีนี้พอจะนึกภาพออกหรือยังครับว่าเราควรจะบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างไร ถ้ายังนึกไม่ออกก็ไม่เป็นไรครับ เพราะของอย่างนี้มันต้องใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบ ตามคติที่ว่า "ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม" อิอิ

การบริหารจัดการควรเริ่มจากการแบ่งพื้นที่เสียก่อน เช่นอาจจะแบ่งพื้นที่ตามสภาพอุทกธรณีวิทยาออกเป็นแอ่งน้ำบาดาลต่างเช่น แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน แอ่งเชียงราย-พะเยา แอ่งลำปาง แอ่งแพร่ แอ่งน่าน แอ่งพิษณุโลก-พิจิตร-กำแพงเพ็ชร แอ่งเจ้าพระยา แอ่งมูล-ชี แอ่งสกลนคร แอ่งสงขลา แอ่งนครศรีธรรมราช อย่างนี้เป็นต้น จากนั้นก็จัดตั้งคณะอนุกรรมการแอ่งน้ำบาดาลขึ้นมา เพื่อมีหน้าที่กำกับดูแลแอ่งน้ำบาดาลดังกล่าว

ทีนี้อาจจะเรื่มเห็นภาพขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ แต่คำถามก็จะตามมาอีกว่าแล้วจะเสนอชื่อใครเข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการบ้าง คำตอบก็คือตามหลักการบริหารจัดการที่ดีนั้นต้องนำเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีอำนาจ คนกลาง และเจ้าของพื้นที่เข้ามาร่วมเป็นคณะอนุกรรมการแอ่งน้ำบาดาล

คำถามก็จะตามมาอีกว่าแล้วผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือใคร คำตอบก็คือผู้ใช้น้ำบาดาลนั่นเอง อาจจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม โรงเบียร์ โรงงานน้ำอัดลม-น้ำดื่ม เกษตกรที่ใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก ปศุสัตว์ รีสอร์ท โรงแรม สนามกลอฟ โรงเกลือ การประปาส่วนภูมิภาค ประปาหมู่บ้าน และภาคส่วนอื่นๆที่ใช้น้ำบาดาล อย่างนี้เป็นต้น โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้จัดตัวแทนมาอย่างละคนเพื่อเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ

ส่วนเจ้าของพื้นที่ซึ่งก็คือชาวบ้านก็ให้จัดตัวแทนมาอย่างน้อย 3 คน อาจจะเอาผู้นำชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้านก็ได้ เข้ามาร่วมเป็นคณะอนุกรรมการแอ่งน้ำบาดาล

ส่วนผู้เชี่ยวชาญก็แต่งตั้งจากอาจารย์ ผู้ประกอบการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล หรือเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าเป็นคณะอนุกรรมการ

ส่วนคนกลางก็อาจจะเชิญตุลาการที่มีหน้าที่ในการพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ

ส่วนผู้มีอำนาจก็เชิญนายก อบจ. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ

จากนั้นก็จัดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการแองน้ำบาดาล โดยการประชุมควรจัดให้บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย เปิดอกคุยกันอย่างที่เขาเรียกว่า "Knowledge Management" ทุกคนควรยอมรับฟัง ปัญหาของแต่ละภาคส่วน ร่วมกันคิดและแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำบาดาลในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งต้องช่วยกันร่างนโยบาย และกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำบาดาลในพื้นที่ของตน เพื่อนำเข้าคณะกรรมการน้ำบาดาลกลางอีกที จากนั้นคณะกรรมการกลางมีหน้าที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศเป็นพระราชบัญญัติหรือกฎหมายต่อไป

พอมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะฉุกคิดว่าแล้วคณะกรรมการกลางคือใคร คำตอบคือคณะกรรมการกลางต้องประกอบไปด้วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีตัวแทนจากหลายๆหน่วยงานเข้ามาเป็นกรรมการ และต้องมีอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นกรรมการและเลขานุการ

พอมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมึน เพราะอ่านมาเยอะแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ไม่เป็นไรครับข้าพเจ้าเองก็มึนเหมือนกัน



แล้วเจอกันใหม่นะครับ




 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2551 23:19:42 น.   
Counter : 994 Pageviews.  


"น้ำแร่" ที่แท้ก็น้ำบาดาล

น้ำแร่หลายคนคงรู้จักดี และหลายๆคนที่มีกะตังมากหน่อยก็จะหาซื้อไว้ดื่มเป็นประจำ แต่ว่าคนยากคนจนอย่างเราๆเล่า จะมีปัญญาไปหาเงินที่ไหนมาซื้อน้ำแร่มาดื่ม เพราะลำพังเงินซื้อข้าวมากินเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดไปวันๆ นั้นแทบจะไม่มี

ทำไมคนเราต้องดื่มน้ำแร่ น้ำแร่ธรรมชาติอย่างที่เขาโฆษณานั้นมีประโยชน์จริงหรือ แล้วคนที่ดื่มน้ำประปากับคนที่ดื่มน้ำแร่เป็นประจำ ใครฉลาดกว่ากัน นี่เป็นเพียงตัวอย่างของหลากหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องหาคำตอบกันต่อไป

แต่ก่อนอื่นกระผมขออนุญาตินำเสนอแง่คิดเล็กๆน้อยๆ สำหรับทุกท่านเผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง ความจริงก็คือ"น้ำแร่ธรรมชาติ"ที่บรรจุขวดขายกันในปัจจุบันนี้มันมีต้นกำเนิดมาจากน้ำบาดาลนั่นเอง กล่าวคือทางบริษัทที่บรรจุน้ำแร่ขาย เขาก็จะเลือกหาแหล่งน้ำบาดาลที่มีความสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนจากมลพิษต่างๆ โดยจะเลือกบริเวณใกล้กับเทือกเขาสูง ที่มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี อย่างเทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอแลนด์ เป็นต้น จากนั้นเขาก็จะเจาะบ่อน้ำบาดาล แล้วสูบเอาน้ำบาดาลหรือที่เราเรียกว่าน้ำแร่ธรรมชาติขึ้นมา ผ่านกระบวนการทำให้ปลอดเชื้อโดยการใช้แสงอุลตร้าไวโอเลต และนำมาบรรจุขวดขายกัน

ตามหลักแล้วน้ำแร่ธรรมชาติจะต้องไม่มีการปรุงแต่งเพิ่มเติมใดๆทั้งสิ้น เพราะถ้ามีการปรุงแต่งเพิ่มเติมจะไม่ถือว่าเป็นน้ำแร่ธรรมชาติ และจะใช้โมษณาไม่ได้ (ยกเว้นการฆ่าเชื้อโรคโดยกระบวนการผ่านแสงอุลตร้าไวโอเลต)

ส่วนแร่ธาตุสำคัญที่เขาโมษณาไว้นั่นก็คือแคลเซี่ยม แมกนีเซี่ยม โซเดียม โปแตสเซี่ยม ซัลเฟต คลอไรด์ ไนเตรท ซิลิก้า และไบคาร์บอเนต เป็นต้น ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้นี่เองที่เป็นประโยชน์สำหรับร่างกายของคนเรา ซึ่งสรรพคุณก็เขาจะเขียนไว้ข้างขวดเช่นทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล สุขภาพแข็งแรงและที่สำคัญป้องกันไม่ให้สามีไปมีภรรยาใหม่ (อันนี้ล้อเล่น อิอิ)

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแร่ธาตุเหล่านี้จะมีอยู่ในน้ำบาดาลโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่จะมีมากหรือมีน้อยก็ขึ้นอยู่กับลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่นแถวพิจิตรส่วนที่ติดกับเพชรบูรณ์ (ทับคล้อ และ ชนแดน) แถวนั้นจะมีแร่ยิปซั่มอยู่มาก เวลาเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้น้ำก็จะเป็นน้ำกระด้างถาวรเพราะมีซัลเฟตสูง จึงไม่เหมาะที่จะนำมาดื่ม หรือบางที่แถวลำพูนบางอำเภอเช่นอ.แม่ทา หรือแถว อ. สันกำแพง เชียงใหม่ น้ำจะมีปริมาณฟลูออไรด์สูง และไม่เหมาะที่จะนำมาดื่มเช่นกัน หรือแถว อ. ปากช่องและ อ.มวกเหล็ก ก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำกระด้าง เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเขาหินปูน จึงมีคาร์บอเนต และ ไบคาร์บอเนตสูง ถ้าจะนำมาบริโภคต้องต้มก่อน เป็นต้น

ดังนั้นไม่ว่าน้ำบาดาลหรือน้ำแร่ธรรมชาติ ต่างก็มีที่มาอย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่าน้ำแร่ธรรมชาติที่เขาบรรจุขวดขายในราคาแพงนั้นก็เพราะว่ากว่าเขาจะเลือสรรพื้นที่ในการเจาะน้ำบาดาลได้นั้น มันไม่ใช่ของง่าย อีกทั้งจะต้องวิเคราะห์คุณภาพน้ำตัวอย่างก่อน ว่าเป็นไปตามมาตรฐานน้ำดื่มหรือไม่ และต้องเสียค่าโฆษณา ค่านางแบบอีกหลายตัง มันเลยแพง อิอิ

ดังนั้นท่านจะเลือกดื่มน้ำบาดาลหรือน้ำแร่ ก็ขึ้นอยู่กับกระเป๋าตังของท่านแล้วหละที่นี้ แต่ขอฝากไว้นิดหนึ่งว่าน้ำบาดาลที่จะนำมาดื่มได้นั้น ต้องนำมาวิเคราะห์คุณภาพเสียก่อนนะขอรับ ว่าดื่มได้หรือเปล่า ไม่ใช่เจาะเสร็จแล้วจะนำมาดื่มทันที เดี๋ยวชัก(ติดใจ)ขึ้นมา จะหาว่าไม่เตือน อิอิ เพราะของบางอย่างหากมีมากเกินความจำเป็น ร่างกายรับไม่ไหว แทนที่จะมีประโยชน์ กลับกลายว่าเป็นโทษต่อตัวเราเองเสียนี่กระไร




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2550   
Last Update : 20 ตุลาคม 2550 20:59:06 น.   
Counter : 2755 Pageviews.  


มลพิษในน้ำบาดาล (นักฆ่าไร้เงา)

ปัจจุบันทั่วโลกต่างหันมาใส่ใจต่อสภาวะแวดล้อมกันมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจจะเป็นเพราะว่าคนเราพอรวยก็จะเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งต่างจากประเทศด้อยพัฒนาที่ไม่ค่อยมีเวลามาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมสักเท่าไหร่ เพราะวันๆต้องมัวเสียเวลา สาละวนกับการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลยหมดแรงที่จะมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นในประเทศที่ด้อยหรือกำลังพัฒนาก็จะประสบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอยู่บ่อยๆ ดังที่เป็นข่าวคึกโครมในหน้าหนังสือพิมพิ์ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้มีโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศจีนประสบอุบัติเหตุ ทำให้สารเบนซินทะลักลงสู่แม่น้ำและทำให้เกิดการปนเปื้อนกระจายไปทั่วคุ้งน้ำ จนกระทั่งปนเปื้อนไปถึงเขตของรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศจีน เสียหายในทันทีในสังคมโลก แต่กระนั้นก็ตามประเทศจีนก็ไม่ค่อยแคร์สักเท่าไหร่ (เฮ้อ)

ทีนี้เราลองมาคิดกันเล่นๆซิครับ สมมุติว่าถ้ามีโรงงานใดโรงงานหนึ่งเกิดมักง่าย แอบลักลอบระบายนำทิ้งจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำบาดาล เนื่องจากต้องการประหยัดต้นทุนในการบำบัดน้ำเสีย แล้วเราชาวบ้านทั่วๆไปต่างก็ไม่ทราบมาก่อน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาแอบลักลอบระบายน้ำลงใต้ดิน (ก็ของมันอยู่ใต้ดินนี่ครับ ใครจะไปมองเห็น ว่ามั้ย) และสมมุติต่อไปอีกว่ามีโรงงานน้ำดื่มอยู่ใกล้ๆและใช้น้ำบาดาลเป็นน้ำดิบในการผลิตน้ำดื่มดังกล่าว (เนื่องจากสารพิษบางตัวมันไม่มีสีและเวลามันปนกับน้ำเราก็แยกไม่ออก) ถามว่าถ้าเราดื่มน้ำดื่มจากขวด(ที่เราคิดว่าสะอาด)จากโรงงานน้ำดื่มดังกล่าว ดื่มทุกวัน แล้วจู่ๆวันหนึ่งหมอบอกว่าคุณเป็นมะเร็ง หรือไม่ก็เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ แล้วอย่างนี้ใครจะรับผิดชอบ

อย่าถามหาคนรับผิดชอบเสียให้ยากเลยครับ เพราะต่างคนก็จะเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา พอซักพัก เรื่องก็เงียบ ทุกอย่างก็จบ ทุกคนก็กลับไปทำมาหากินกันเหมือนเดิม โรงงานก็ทำกำไรต่อไป ชาวบ้านก็เสี่ยงตายกันไปตามยถากรรม ส่วนภาครัฐก็คงมัวแต่งมโข่ง สาละวนอยู่กับการออกมาตรการต่างๆเพื่อจะนำมาบังคับใช้ (แต่พอสุดท้ายก็ไม่เห็นใช้ได้ซักที อิอิ)

ดังนั้นประชาชนตาดำอย่างเราๆท่านๆ ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ว่าในพื้นที่ของท่านมีสิ่งใดที่ผิดปกติหรือเปล่าเช่นโรงงานใหญ่โตเบ้อเร่อแต่ไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสียเป็นต้น

ถ้าประชาชนร่วมใจกัน สามัคคีกัน คงช่วยได้ ไม่มากก็น้อย

ปล. วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อน เพราะเรื่องมันยาว ยิ่งเขียนยิ่งวกวน เอาไว้จะมาเล่าให้ฟังคราวหน้าก็แล้วกันครับ




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2550   
Last Update : 7 ตุลาคม 2550 17:00:35 น.   
Counter : 1052 Pageviews.  


ปริมาณน้ำจืดสำรองของโลก

หลังจากที่สหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่าภายในปีคศ.2020 ที่จะถึงนี้ อาจจะมีประชากรของโลกราวๆ 1 พันล้านคน อาจจะไม่มีน้ำที่สะอาดสำหรับใช้ในการอุปโภคและบริโภค ซึ่งก็จะส่งผลกระทบในภาพรวมโดยกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ยากจนและมีปริมาณน้ำจืดสำรองอยู่ค่อนข้างน้อย อย่างประเทศในทวีปอาฟริกา

ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาคือประชากรของประเทศเหล่านี้จะประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำ อดอยาก หิวโหย และเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดที่มีสาเหตุมาจากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด ส่วนประเทศไทยของเรานั้นถึงแม้ว่าเราจะยังพอจะมีปริมาณน้ำจืดสำรองที่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรทั้งประเทศ ไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอก็ตาม แต่เราก็จะประมาทไม่ได้ เพราะว่าในปัจจุบันปริมาณน้ำจืดสำรอง(ที่สะอาด)ของเราได้เริ่มมีปริมาณที่ลดลง และอาจจะเกิดผลกระทบในระยะยาว ซึ่งถ้าไม่มีการป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ คนที่จะลำบากใช่ใครอื่น เขาเหล่านั้นคือลูกหลานของเรานั่นเอง

ทีนี้เราลองมาดูปริมาณน้ำจืดสำรองของแต่ละประเทศ ในโลกใบนี้ดีกว่า ปริมาณน้ำจืดสำรองนี้ทางองค์การสหประชาชาติได้ประเมิณจากข้อมูลแหล่งน้ำผิวดินต่างๆ เช่นแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ ฝาย เขื่อน รวมไปถึงน้ำบาดาล (ในบางประเทศ ที่มีข้อมูลเท่านั้น) ที่ได้มาจากการสำรวจและรวบรวมข้อมูล และนำมาประมวลผลโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆประเทศ ซึ่งแต่ละปี ตัวเลขจะมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นลง ไม่แน่นอน เนื่องจากหลายปัจจัย เช่นปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ เป็นต้น

ผลสรุปออกมาเป็นดังนี้ (ข้อมูลล่าสุดเมื่อปีค.ศ. 2005)

ประเทศที่มีปริมาณน้ำจืดสำรองมากที่สุด 10 ลำดับของโลกคือ (หน่วยเป็นลูกบาศก์กิโลเมตร, cubic kilometer, km3) [ปริมาณสำรองเทียบเป็นลิตรต่อคนต่อวัน]

1. Brazil (8,233.00 ลบ.กม.) [120.77 ลิตรต่อคนต่อวัน]
2. Russia (4,498.00) [85.93]
3. Canada (3,300.00) [278.69]
4. USA (3,069.00) [27.84]
5. Indonesia (2,838.00) [34.64]
6. China (2,829.60) [5.85]
7. Colombia (2,132.00) [123.52]
8. Peru (1,913.00) [181.22]
9. India (1,907.80) [4.63]
10. Venezuela (1,233.20) [131.10]

ส่วนประเทศที่มีประมาณน้ำจืดสำรองน้อยที่สุด 10 อันดับของโลกคือ

1. Kuwait (0.02) [0.02]
2. Maldives (0.03) [0.27]
3. Malta (0.07) [0.50]
4. Bahrain (0.10) [0.37]
Qatar (0.10) [0.33]
Barbados (0.10) [1.02]
5. United Arab Emirates (0.20) [0.14]
6. Cape Verde (0.30) [1.66]
Djibouti (0.30) [1.04]
7. Cyprus (0.40) [1.13]
8. Singapore (0.60) [0.45]
Lybia (0.60) [0.26]
9. Jordan (0.90) [0.46]
10. Oman (1.00) [1.12]

ส่วนประเทศไทยของเรามีปริมาณน้ำจืดสำรองต่อปี ประมาณ 409.90 ลูกบาศก์กิโลเมตรครับ ซึ่งก็จะเท่ากับประมาณ 409.90 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือประมาณ 409,900 ล้านลิตรต่อปี หรือประมาณ 16.70 ลิตรต่อคนต่อวัน (ข้อมูลนี้ประเมิณเมื่อปี ค.ศ. 1999 ล่าสุดยังไม่มีการประเมิณ)

ซึ่งปริมาณสำรองที่ถือว่าปลอดภัยคือจะต้องมากกว่า 15 ลิตรต่อคนต่อวัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแหล่งน้ำจืดสำรองของประเทศไทยเราไม่ได้มีมากมายมหาศาลดังที่เราคิดหรือจินตนาการกันเอาไว้เลย

เพราะฉนั้นทุกครั้งที่ใช้น้ำ กรุณาช่วยๆกันประหยัดหน่อยนะขอรับ










 

Create Date : 12 สิงหาคม 2550   
Last Update : 13 สิงหาคม 2550 0:34:14 น.   
Counter : 1018 Pageviews.  


สงครามแย่งชิงแหล่งน้ำ

น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่สามารถผลิตขึ้นมาทดแทนได้ แต่จะหมุนเวียนไปตาม
วัฏจักรของมัน

ในโลกของเรามีน้ำอยู่ประมาณ 1,400 ล้าน ลูกบาศก์กิโลเมตร แบ่งออกเป็นน้ำเค็มในท้องทะเลและมหาสมุทรประมาณ 97.4 เปอร์เซ็นต์ อีก 2 เปอร์เซนต์เป็นภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ตามขั้วโลก ที่เหลือเพียง 0.6 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด หรือประมาณ 8.4 ล้าน ลูกบาศก์กิโลเมตร

ซึ่งในจำนวนนี้ 8.0 ล้าน ลูกบาศก์กิโลเมตรคือน้ำบาดาลหรือน้ำที่อยู่ใต้ดิน ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพพจน์คร่าวๆคือถ้าเราเปรียบเทียบน้ำในโลกของเราว่ามีทั้งหมดประมาณ 1 แกลลอน (ประมาณ 4 ลิตร) ปริมาณน้ำจืดที่เราสามารถนำมาใช้ได้ มีเพียงแค่ 1 ช้อนชาเท่านั้นเอง ทีนี้พอจะเห็นภาพคร่าวๆแล้วใช่ไหมครับว่าน้ำจืดนั้นมีปริมาณจำกัดจริงๆ



เมื่อไม่นานมานี้นักวิชาการทางด้านทรัพยากรน้ำจากหลายๆองค์กรทั่วโลกได้ออกมาเตือนว่าทุกวันนี้โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทางด้านแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงปัญหามลพิษในแหล่งน้ำ

และสหประชาชาติเองก็ได้ส่งสัญญาณเตือนว่าภายในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่จะมาถึงนี้อาจจะเกิดสงครามเพื่อแย่งชิงแหล่งน้ำขึ้น เหตุใดสหประชาชาติถึงได้ออกมาเตือนเช่นนี้

ทั้งนี้อาจเพราะว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญต่อทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิตบนโลกใบนี้ นอกจากนี้นักวิชาการชารอิสราเอลได้ให้ความเห็นว่าความกระหายน้ำเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงและความก้าวร้าวของมนุษย์ ซึ่งเขาได้ยกตัวอย่างจากหลายประเทศในตะวันออกกลางที่ถือว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ที่มีค่าที่สุดสำหรับพวกเขา

ดังนั้นที่ผ่านมาในอดีตการทำสงครามเพื่อที่จะได้ครอบครองลุ่มน้ำที่สำคัญต่างๆจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยชาติที่มีกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดก็จะได้ดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำไปครอบครอง



ทีนี้เราลองหันมามองประเทศไทยของเรากันบ้าง ถึงแม้ว่าประเทศไทยของเราจะอุดมสมบูรณ์ดังคำกล่าวที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่กระนั้นประโยคนี้ก็ได้กล่าวเอาไว้ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง แห่งกรุงสุโขทัยเมื่อสมัย 700 กว่าปีมาแล้ว

ในปัจจุบันประเทศไทยของเรากำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี รวมทั้งอัตราการขยายตัวของชุมชนเมืองก็เป็นไปอย่างก้าวกระโดด สิ่งปลูกสร้างต่างๆไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โรงแรม คอนโดมิเนี่ยม โรงงานอุตสาหกรรมก็ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราการใช้น้ำอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้



สมัยก่อนประเทศไทยมีประชากรอยู่ไม่มาก เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วประชากรของประเทศไทยมีอยู่ราว 6 ล้านคนทั่วประเทศแต่ในปัจจุบันประชากรในประเทศไทยมีถึง 64 ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมนักท่องเที่ยว นักธุรกิจจากทั่วทุกสารทิศที่เข้ามาประเทศไทย ดังนั้นอัตราการใช้น้ำจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ถามว่าเคยมีการบันทึกสถิติการใช้น้ำของประเทศทั้งหมดในแต่ละปีหรือไม่ อันนี้ไม่ทราบจริงๆครับว่าได้มีการบันทึกเอาไว้หรือเปล่า

แต่ถ้าเทียบเกณฑ์เฉลี่ยของการใช้น้ำอย่างคร่าวๆว่า คนหนึ่งต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือนประมาณ 15 ลิตรต่อวัน ดังนั้นภายในหนึ่งปีคนไทยทั้งประเทศต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือนประมาณ 345,600 ล้านลิตร ซึ่งตัวเลขนี้บ่งบอกว่าประเทศของเรากำลังผลาญทรัพยากรน้ำไปเรื่อยๆและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี

ถามว่าถ้าเรายังต้องการใช้น้ำอยู่อย่างนี้ทุกปี แหล่งน้ำในประเทศไทยจะหมดไปหรือไม่ แน่นอนครับว่ามันจะต้องหมดอย่างแน่ๆ และกำลังจะหมดไปในอีกไม่ช้านี้ ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวได้อ้างถึงเฉพาะปริมาณน้ำที่ต้องการในภาคครัวเรือนเท่านั้น ซึ่งยังไม่นับรวมถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ



ปัจจุบันประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อเมริกา สหภาพยุโรป ได้ย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศแม่ของตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการใช้น้ำภายในประเทศของตัวเอง รวมไปถึงปัญหามลพิษที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมลพิษด้านอากาศ ดิน และแหล่งน้ำ

ดังนั้นหลายๆบริษัทได้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาอยู่ในประเทศไทยของเราก็เพราะว่าประเทศไทยของเรามีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่เรากลับหารู้ไม่ว่าภัยร้ายกำลังคุกคามเข้ามาใกล้ตัวเราอยู่ทุกขณะ เพราะทุกๆชั่วโมงโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ดูดเอาทรัพยากรน้ำของเรา (ซึ่งมันเป็นทรัพยากรของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของผู้หนึ่งผู้ใด) ไปใช้อย่างเมามันแถมมิหนำซ้ำยังยังปล่อยน้ำเสียจากการผลิตลงสู่แหล่งน้ำต่างๆรวมไปถึงแหล่งน้ำบาดาลด้วย

ซึ่งก็จะทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมาคือนอกจากจะทำให้ปริมาณน้ำที่เรามีอยู่อย่างจำกัดลดลงไปแล้ว ยังทำให้คุณภาพน้ำของเราบางส่วนที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมเลวร้ายลงไปด้วย และถ้าหากยังคงเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แหล่งน้ำตามธรรมชาติคงจะหมดไปอย่างแน่นอน


ถ้าน้ำมันหมดรถคุณก็แค่ไม่วิ่ง แต่ถ้าน้ำหมดทุกชีวิตก็จะตาย และเมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ สงครามแย่งชิงแหล่งน้ำคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้




 

Create Date : 16 กันยายน 2549   
Last Update : 16 กันยายน 2549 22:57:27 น.   
Counter : 806 Pageviews.  


1  2  3  4  

Duke of York
 
Location :
Sheffield United Kingdom

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




If today is Monday, tomorrow will be Tuesday for sure then.
[Add Duke of York's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com