Group Blog
 
All Blogs
 
'ถนอม' ลาออก 'ชวน' ไม่ขอโทษ ปชป.เปรียบถนอม เทียบรัฐบุรุษปรีดี

(เนชั่นสุดสัปดาห์ 1 เม.ย. 2542)

กุมภาพันธ์ 2542 จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้รับเกียรติจาก นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอแต่งตั้งเป็น 'นายทหารพิเศษ' ประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ท่ามกลางความไม่พอใจจากองค์กรประชาชน ที่เห็นว่าการดำเนินการครั้งนี้ เป็นการทำร้ายความรู้สึกของประชาชน

แต่ นายชวน หลีกภัย ได้ชี้แจงว่า ดำเนินการไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม และจะไม่มีการทบทวนหรือยกเลิกคำสั่งโดยเด็ดขาด โดยให้เหตุผลว่า การแต่งตั้งครั้งนี้ จอมพลถนอม กิตติขจร จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษ หรือจะมีรายได้แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการได้รับเกียรติจากหน่วยงานหน่วยหนึ่งเท่านั้น

คำชี้แจงของนายกรัฐ- มนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม มิได้หมายความว่ากระแสสังคมจะยอมรับได้ เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยังเป็นความทรงจำอันขมขื่นของคนร่วมสมัย ที่ยากจะลบเลือน!!

ซึ่งการแต่งตั้งครั้งนี้ผ่านขั้นตอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ลงนามเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ไปเมื่อ 2 กุม-ภาพันธ์ 2542 ซึ่งมีการดำเนินการอย่างเงียบเชียบ แต่เรื่องก็มาปูดในภายหลัง

กรณีการแต่งตั้ง พล.ต.มนูญ-กฤต รูปขจร ที่ปรึกษ มท.1 ผู้ที่มีคุณูปการต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างใหญ่หลวง ดูเหมือนองค์กรประชาชนจะไม่ติดใจมากนัก แต่การแต่งตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี องค์กรประชาชน องค์กรประชาธิปไตย "ไม่สามารถยอมรับได้" เพราะ..

เหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2516 แม้จะผ่านมาร่วม 25 ปี แต่ จอมพลถนอม กิตติขจร ยังถือเป็นคนสำคัญที่เป็น 'จำเลยสังคม' ในฐานะ 'ผู้นำรัฐบาล' สมัยนั้นที่มีการใช้กำลังทั้งทหารตำรวจ พร้อมอาวุธร้ายแรง ทำการจับกุม ปราบปราม ทำร้าย..สังหาร นิสิต นักศึกษา และประชาชน จนต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

ในความรู้สึกของประชาชนไทย ผู้รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็น 'บาดแผล' ที่ลืมเลือนกันไม่ได้

จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำรัฐบาลทหารที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จยาวนานที่สุด (ร่วม 11 ปี) ทั้งในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด

นอกจากนี้ รัฐบาลจอมพลถนอม ยังได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการที่บรรดาวง-ศาคณาญาติ ต่างเข้ามามีบทบาททางการเมือง-อำนาจ กันอย่างลงตัว (ซึ่งประชาชนรู้จักกันในนาม ถนอม-จอมพลถนอม กิตติขจร, ประภาส-จอมพลประภาส จารุเสถียร, พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร)

การปกครองประเทศยุค ถนอม-ประภาส-ณรงค์ เกิดแรงกดดันทางสังคมอย่างหนักหน่วงจนก่อเป็นกระแสของคลื่นประชาชนที่ต้องการรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย ที่สุด คลื่นพลังประชามหาชนก็ชุมนุมขับไล่เผด็จการทหาร ถนอม-ประ-ภาส-ณรงค์

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพ.อ.อกณรงค์ กิตติขจร ต้องอพยพไปอยู่ต่างประเทศ รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้สั่งยึดทรัพย์ จอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พ.อ. ณรงค์ และครอบครัว

ความพยายามจะขอกลับเข้ามาในเมืองไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร หลายครั้ง แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีมติยืนยันไม่ให้เข้ามาอย่างเด็ดขาด แต่ที่สุดเดือนกันยายน 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร ก็สามารถกลับเข้าเมืองไทยโดยการบวชเป็น 'สามเณร' อันเป็น 'ชนวน' ที่นำไปสู่กระแสต่อต้านจากขบวนการประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และสุดท้ายก็นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519

หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ถูกสังหารล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ในสายตาของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ภาพของจอมพลถนอม กิตติขจร ชายชราวัย 87 ปี คือ 'จำเลยสังคม'

ซึ่งจอมพลถนอม จะยืนยันว่า พยายามชี้แจงมาตลอดว่าไม่ได้เป็นคนออกคำสั่งฆ่านักศึกษาประชาชน โดยชี้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเกมการเมือง โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือ

การที่จอมพลถนอม กิตติขจร ได้รับเกียรติจาก นายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอแต่งตั้งเป็น 'นายทหารพิเศษฯ' องค์กรประชาชน องค์กรประชาธิปไตย จึงยอมรับไม่ได้ และได้รวมตัวชุมนุมประท้วงที่ท้องสนามหลวง เรียกร้องให้นายชวน หลีกภัย แสดงความรับผิดชอบ และกล่าวคำขอโทษต่อประชาชน

สำนักสวนดุสิตโพลล์ ออกสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการแต่งตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายทหารพิเศษฯ พบว่าประชาชนร้อยละ 68.49 เห็นว่า จอมพลถนอม ไม่สมควรได้รับการแต่งตั้งฯ มีเพียงร้อยละ 11.64 ที่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งนี้

ขณะที่ สำนักเอเบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้รายงานสรุปผลการสำรวจความเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลต่อกรณีนี้ พบว่าประชาชนร้อยละ 40.4 ต้องการให้ นายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) แสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษประชาชน ขณะที่ร้อยละ 42.2 ระบุว่าความเชื่อมั่นที่มีต่อนายกรัฐมนตรี ลดลงจากกรณีดังกล่าวนี้

ไม่เพียง 'ไม่มีคำขอโทษ' นายชวน หลีกภัย ยังได้ยืนยันแข็งขันว่า สิ่งที่ตนได้ดำเนินการไปนั้น เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม และประชาชนไม่ได้เสียหายอะไร

ขณะที่องค์กรประชาชน องค์กรประชาธิปไตย ยืนยันว่า การแต่งตั้งจอมพลถนอม กิตติขจร นั้น ประชาชนได้สูญเสียหลักการสำคัญไปแล้ว นั่นคือ การสูญเสียการเคารพต่อประวัติศาสตร์วิญญาณการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และการลงโทษเผด็จการตามสมควรเท่าความผิด

เพราะบรรดาญาติวีรชนที่บาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต จากเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 และตุลาคม 2519 ไร้ค่าอย่างสิ้นเชิง เมื่อเปรียบเทียบกับ 'ความดี' ที่ จอมพลถนอม กิตติ-ขจร ได้รับจาก นายชวน หลีกภัย

24 มีนาคม ท่ามกลางแรงกดดัน คนที่ได้รับการแต่งตั้งอย่าง จอมพลถนอม กิตติขจร จำเลยของสังคมเปิดบ้านแสดง สปิริต 'ขอลาออก' จากตำแหน่งนายทหารพิเศษฯ (ต่อมา พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ก็ขอลาออกจากนายทหารพิเศษฯ) เพื่อลดกระแสความไม่พอใจของสาธารณชน

และท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนที่ยังดำรงอยู่ เกียรติภูมิ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ถูกยกย่องเทียบชั้นกับ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ซึ่งเป็น เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมายืนยันว่า การที่กองทัพเสนอแต่งตั้งจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายทหารพิเศษฯ เป็นสิทธิของทหารที่จะสมารถทำได้ และไม่ผิดอะไร และยังได้เปรียบเทียบว่า การที่ทหารยกย่องจอมพลถนอม กิตติขจร คล้ายกับการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์

"ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกกล่าวหาอย่างรุนแรง แต่เมื่อทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยกย่อง ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน..อย่างอาจารย์ปรีดี ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาก็ยกย่อง ส่วนทางทหารเขาจะยกย่องใคร ก็เป็นเรื่องของเขา ทหารเขามีสิทธิที่จะนับถือใครก็ได้ เมื่อเราไม่นับถือ ก็ไม่นับถือ อะไรถูก อะไรผิด ก็ว่ากันไป" เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวย้ำ

คำกล่าวของ พล.ต.สนั่น ขจร-ประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เสมือนเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับองค์กรประชาชน องค์กรประชาธิปไตย เพราะเป็นการเปรียบเทียบผู้นำเผด็จทหารที่ก่อการรัฐประหารเพื่ออำนาจ มาเทียบชั้นกับรัฐบุรุษผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญของสังคมไทย ชี้ว่า เป็นการไม่สมควรที่นำจอมพลถนอม เทียบกับนายปรีดี เพระนายปรีดี พยมยงค์ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นผู้หนึ่งในคณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติประชาธิปไตย เป็นผู้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อกอบกู้ชาติ เป็นรัฐบุรุษ ซึ่งมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเต็มเปี่ยม แต่จอมพลถนอม กิตติขจร นอกจากจะเป็น:-)ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ยังเป็นเผด็จการและร่วมก่อกรรัฐประหารมตั้งแต่ปี 2490

ขณะที่ นายธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปัจจุบันเป็นนักวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า การที่เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปรียบเทียบอาจารย์ปรีดีกับจอมพลถนอม สะท้อนโลกทัศน์และประวัติศาสตร์ที่น่าอดสูอย่างยิ่งของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคนี้เป็นคนเริ่มสร้างกระแสทำลายอาจราย์ปรีดี แล้วนำมาใช้เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และหวนกลับมาทำลายอีกในครั้งนี้

"คำพูดของ พล.ต.สนั่น สร้างความปวดร้าวแตกแยกให้สังคม ในขณะที่ต้องการความร่วมใจกันแก้เศรษฐกิจ.. และคำพูดทำนองนี้ของหัวหน้าและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อน อาการของคนที่ตกอยู่ในอำนาจมานาน จนหลงลืมรากเหง้าของตัวเอง" ธีรยุทธ บุญมี กล่าวย้ำ

หากย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปในยุคก่อน บรรพบุรุษของพรรคการเมืองหนึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งคนไปร้องตะโกนกล่าวหา "ปรีดีฆ่าในหลวง" ในโรงภาพยนตร์ กระทั่งกลายเป็น 'ตราบาป' ทางการเมืองของพรรคการเมืองนี้

แม้จะเป็น 'เรื่องเท็จ' และแม้จะเป็นการ 'ทาสี' ทางการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองที่ว่านี้ ปัจจุบันครองอำนาจในการบริหารประเทศอยู่ ก็ไม่เคยสำเหนียกที่จะแสดงความเสียใจ หรือขอโทษใดๆ กับการกระทำอัน 'ชั่วร้าย' ของตนเลย

กรณีการแต่งตั้ง จอมพลถนอม นอกจากจะไม่มี 'คำขอโทษ' จากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันสวนกระแสความรู้สึกของประชาชนแล้ว แกนนำคนสำคัญในพรรคประชาธิปัตย์ อย่างเลขาธิการพรรคฯ ยังเปรียบเทียบ จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร ขึ้นมายกย่องเสมือนยกย่องเทียบชั้นนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย

หรือนี่คือ 'วัฒนธรรมทางการเมืองของคนในพรรค' ที่คนรุ่นนี้ได้สืบทอดมรดกจากคนรุ่นก่อนอย่างเต็มภาคภูมิ??


Create Date : 15 ธันวาคม 2550
Last Update : 15 ธันวาคม 2550 1:48:12 น. 1 comments
Counter : 3553 Pageviews.

 
อืมมมมม


โดย: นายแจม วันที่: 30 มกราคม 2551 เวลา:8:13:17 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

my-op
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add my-op's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.