Group Blog
 
All Blogs
 

ต้านแปรรูป กฟผ. ใครทำลายสมบัติชาติกันแน่?

มองมุมใหม่ : ต้านแปรรูป กฟผ. ใครทำลายสมบัติชาติกันแน่?

วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2549


พลันที่ศาลปกครองมีคำพิพากษา ให้พระราชกฤษฎีกาแปลงสภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
แห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เป็นบริษัทมหาชน ว่า "มิชอบด้วยกฎหมาย" กลุ่มต่อต้าน
โลกาภิวัตน์ก็ไชโยโห่ร้อง เปล่งเสียง "ชัยชนะ" กันอย่างกึกก้องว่า พวกตน
"ปกป้องสมบัติชาติ" ไว้ได้ในที่สุด

พวกเขาคัดค้านการแปลงสภาพ กฟผ. โดยอ้างว่า กิจการสาธารณูปโภคจะต้องอยู่ในมือ
ของรัฐเท่านั้น การแปลงสภาพ กฟผ. จะมีผลให้เอกชนเข้ามาผูกขาดกิจการไฟฟ้าของ
ประเทศ ทำให้ไฟฟ้ามีราคาแพงเพราะต้องบวกกำไรของเอกชน และที่เลวร้ายกว่านั้น คือ
ทุนต่างชาติอาจเข้ามายึดครอง กฟผ.ทำให้ "ทรัพย์สินของชาติ" จำนวนมหาศาลตกไปอยู่
ในมือของต่างชาติ นัยหนึ่ง กฟผ.คือ "ชาติ" และการแปลงสภาพ กฟผ. ก็คือ "ขายชาติ"

แต่ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการบิดเบือนข้อมูล ปลุกปั่นอารมณ์คลั่งชาติและเกลียดกลัวต่างชาติ
อย่างไร้เหตุผลโดยกลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์เท่านั้น โดยไม่สนใจผลกระทบทางลบที่จะเกิด
ขึ้นกับคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศและกิจการไฟฟ้าโดยรวมในระยะยาว

ข้อเท็จจริงคือ ปัจจุบัน กฟผ. ไม่ใช่ผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียวให้กับประเทศไทย แต่มีผู้
ผลิตเอกชนร่วมด้วย เพราะที่ผ่านมา เศรษฐกิจและความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย
ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น กฟผ.ไม่มีเงินทุนที่จะขยายการผลิตไฟฟ้าให้ทัน จึงต้องมีโครงการให้
ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเข้ามาลงทุนตั้งโรงไฟฟ้า แล้วป้อนไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของกฟผ.

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 24,000 เมกะวัตต์ เป็นของ กฟผ.
15,000 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 63 เป็นของโรงไฟฟ้าเอกชน 9,000 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ
37 แต่ในการผลิตไฟฟ้าจริงคิดเป็นล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ
ได้เพียงร้อยละ 47 ในขณะที่ผู้ผลิตเอกชนผลิตได้ร้อยละ 50 อีกร้อยละ 3 เป็นการซื้อ
ไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

ฉะนั้น ครึ่งหนึ่งของปริมาณไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นไฟฟ้าที่ผลิตโดยเอกชน และ
ค่าไฟฟ้าทุกวันนี้ก็ได้รวมกำไรและดอกเบี้ยของผู้ผลิตเอกชนไว้ด้วยถึงแม้จะยังไม่มีการ
แปรรูป กฟผ.เลยก็ตาม ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ เนื่องจาก กฟผ.ยังคงผูกขาดรับซื้อไฟฟ้าแต่
เพียงผู้เดียวจากเอกชน ไปขายต่อให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำให้
ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายทุกวันนี้ต้องรวมกำไรผูกขาดค้าส่งของกฟผ.เข้าไปอีกทอดหนึ่งด้วย

สถานะทางการเงินของ กฟผ. เห็นได้จากทรัพย์สินซึ่งมีทั้งสิ้น 400,000 ล้านบาท หนี้สิน
240,000 ล้านบาท มีภาระจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท
ในขณะที่มีกำไรปีละ 20,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนต่อทรัพย์สินเพียงร้อยละ
5 เท่านั้น กฟผ.ยังโอบอุ้มพนักงานเอาไว้มากถึง 30,000 คนทั่วประเทศ มีค่าใช้จ่ายบริหาร
ทั่วไปสูงถึงประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี รวมเงินเดือน โบนัส สิทธิประโยชน์ต่างๆ
ค่าตอบแทนผู้บริหาร และค่าบริหารสำนักงานอื่นๆ คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ
330,000 บาทต่อพนักงานหนึ่งคนต่อปี

ข้อสำคัญคือ หนี้สินของ กฟผ.ปัจจุบันจำนวน 240,000 ล้านบาท เป็นหนี้สินที่รัฐบาลแบก
ภาระค้ำประกันอยู่ และถูกรวมไว้ในยอดหนี้สาธารณะของรัฐบาลไทยที่เจ้าหนี้และนักลงทุน
ต่างชาติใช้คำนวณเพื่อประเมินความเข้มแข็งทางการคลังของรัฐบาลไทยด้วย

ข้อสังเกตคือ ปัจจุบัน มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรวม 63 โครงการ เป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น
300,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับประหยัดเงินลงทุนและหนี้สินของ กฟผ.และลดยอดหนี้
สาธารณะที่ค้ำประกันโดยรัฐบาลไปได้ในจำนวนเดียวกัน ถ้าไม่มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้
กฟผ.ก็จะมีหนี้สินสูงถึง 540,000 ล้านบาท มากกว่าทรัพย์สิน เท่ากับว่า กฟผ.จะอยู่ใน
สภาพล้มละลาย

ปัญหาขณะนี้คือ ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประมาณว่า ประเทศ
ไทยจะต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอย่างน้อย 30,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2554 คือ เพิ่ม
จากปัจจุบันอีก 6,000 เมกะวัตต์ เท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 6-10 โรง เป็นเงินลงทุนอีก
200,000 ล้านบาท ถ้าจะให้ กฟผ.ขยายตัวรองรับความต้องการส่วนนี้ กฟผ.ต้องมีแหล่ง
เงินทุนใหม่ที่ไม่ใช่เงินกู้ค้ำประกันโดยรัฐบาล และนี่คือสาเหตุที่ต้องแปลงสภาพ กฟผ.ให้
เป็นบริษัทมหาชนแล้วนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 เพื่อให้ กฟผ.สามารถขายหุ้นเพิ่มทุน
ระดมเงินจากประชาชนและกู้เงินจากสถาบันการเงินโดยรัฐบาลไม่ต้องค้ำประกัน

หาก บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) สามารถขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าได้เต็มจำนวนอีก
6,000 เมกะวัตต์ กฟผ.ก็จะยังคงมีส่วนแบ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศมากที่สุดคือ
ร้อยละ 70 ที่เหลือเป็นของเอกชน และเมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ใน กฟผ. ยังคงเป็นกระทรวงการ
คลัง ก็เท่ากับว่า กิจการไฟฟ้าของประเทศยังคงอยู่ในมือรัฐบาลนั่นเอง

ฉะนั้น การต่อต้านการแปลงสภาพ กฟผ. ก็คือ การทำให้กฟผ.เป็นต้นไม้แคระหรือบอนไซ
ไม่สามารถเติบโตไปหาแหล่งเงินกู้มาขยายการผลิตไฟฟ้าได้ และถ้าไม่มีผู้ผลิตไฟฟ้า
เอกชนรายใหม่เข้ามา ปัญหาที่คนไทยจะประสบในอนาคตอันใกล้คือ วิกฤตการณ์ขาด
แคลนไฟฟ้า มีปัญหาไฟฟ้าดับในวงกว้างเป็นช่วงๆ ดังที่กำลังเกิดขึ้นในจีนและฟิลิปปินส์
ปัจจุบัน

หากฝ่ายต่อต้านโลกาภิวัตน์สามารถสกัดการแปลงสภาพ กฟผ. ได้ตลอดไป รัฐบาลก็จะ
ถูกบีบให้หาทางออกที่ถูกต่อต้านน้อยที่สุดคือ ให้บริษัทเอกชนเข้ามาขยายการผลิตไฟฟ้า
เพิ่มขึ้นอีก 6,000 เมกะวัตต์แทน กฟผ. ผลก็คือ กฟผ. จะลดความสำคัญลงในฐานะผู้ผลิต
ไฟฟ้าของประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจะมีส่วนแบ่งและบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ใน สภาพเช่นนี้ แม้ว่า กฟผ.จะยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ แต่ก็แคระแกร็น ขณะที่กิจการไฟฟ้า
ส่วนใหญ่ของประเทศจะถูกแปรรูปเป็นของเอกชนเต็มรูปไปในที่สุด และค่อนข้างแน่นอนว่า
เอกชนรายใหญ่ที่เข้ามาจะมีหุ้นส่วนเป็นทุนต่างชาติ ซึ่งมีทั้งเทคโนโลยีและเงินทุนอีกด้วย

ส่วนพวกที่อ้างตัวว่า "รัก กฟผ." "ปกป้องสมบัติชาติ" และกำลังได้ดิบได้ดีอยู่ทั้งในสภาและ
นอกสภาขณะนี้ ถึงวันนั้น ก็คือผู้ทำลาย กฟผ.และ "ทำลายสมบัติชาติ" นั่นเอง

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

คณะเศรษฐศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




 

Create Date : 16 กันยายน 2549    
Last Update : 16 กันยายน 2549 3:09:54 น.
Counter : 285 Pageviews.  


my-op
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add my-op's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.