การเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสงและ ISO

การเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และ ISO

สำหรับผู้ที่เริ่มต้นถ่ายภาพ คงมีหลายๆท่านที่เคยสับสนเกี่ยวกับการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และ ISO เนื่องจากทั้งสามส่วนนี้มีผลกับความมืดและความสว่างของภาพเหมือนกัน แล้วเราควรจะเลือกปรับอะไรถึงจะเหมาะสม

ก่อนอื่นผมอยากให้ทุกท่านรู้จักแสงที่พอดีสำหรับภาพก่อน ถ้าเราเชื่อว่ากล้องวัดแสงได้ถูกต้อง วิธีง่ายๆที่ดูคือการมองเข้าไปใน View Finder ของกล้องในแถบด้านล่างจะเห็นแถบที่มีตัวเลข 0 อยู่ตรงกลาง ทางด้านซ้ายจะเป็นเลขติดลบ เช่น -1, -2 และทางด้านขวาจะเป็นตัวเลขบวก เช่น 1, 2 เมื่อเราอยู่โหมด M (Manual) เรากดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งจะมีขีดวิ่งไปวิ่งมาระหว่างตัวเลขต่างๆ โดยขนาดแสงที่พอดี ขีดดังกล่าวจะอย่ที่เลข 0 ถ้าขีดวิ่งไปทางบวกจะเป็นภาพที่ Over ถ้าวิ่งไปทางลบจะเป็นภาพที่ Under

เพื่อความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ของความเร็วชัดเตอร์ รูรับแสง และ ISO มากขึ้น โดยปรับกล้องไปที่โหมด M สมมุติว่าในขณะนี้ภาพมีขนาดแสงที่พอดี ไม่สว่างเกินไปหรือมืดเกินไป (ระบบวัดแสงอยู่ที่เลข 0) คราวนี้เรามาเริ่มปรับขนาดความเร็วชัตเตอร์กันก่อนถ้าเราปรับความเร็วชัตเตอร์เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ภาพมืดลง (เลขติดลบ) งั้นเรามาลองแก้ด้วยการปรับรูรับแสงให้กว้างขึ้นเพื่อรับแสงได้มากขึ้น ซึ่งทำให้แสงมีขนาดพอดีเท่าเดิม เรามาดูอีกตัวอย่างนึงนะครับ ขณะที่ภาพมีขนาดแสงพอดี เราปรับรูรับแสงให้แคบลงก็จะทำให้ภาพมืดลง หลังจากนั้นลองปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลงเพื่อให้ภาพสว่างขึ้นและให้แสงที่มีขนาดพอดี จะเห็นว่าทั้งความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน...........มาถึงตอนนี้ ISO กำลังเศร้า ทำคอตก “แล้วฉันหล่ะ” มาครับ มาดูตัวอย่างความสำคัญของ ISO กัน.........ลองนึกภาพว่าถ้าเราต้องการที่จะกำหนดความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/1000 เพื่อหยุดความเคลื่อนไหวของวัตถุ และเราเลือกรูรับแสงที่กว้างที่สุดที่กล้องจะทำได้แล้ว แต่ภาพก็ยังคงมืดอยู่ ISO จะเข้ามามีบทบาทในทันที โดยเมื่อเราเพิ่ม ISO จะทำให้ภาพสว่างขึ้นทันที

 

แล้วจะเลือกส่วนผสมค่าดังกล่าวอย่างไร?

ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงมีปัญหากับการเลือกค่าความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และ ISO ว่าแต่ละส่วนควรจะตั้งค่าที่เท่าใด เนื่องจากการใช้งานจะมีทางเลือกหลายทางที่ให้แสงพอดีได้เหมือนกัน.......สำหรับตัวผมเอง ผมจะดูว่าผมต้องการให้ภาพเป็นแบบไหนและเลือกใช้ความสามารถพิเศษของแต่ละตัวให้เหมาะสม

ต้องการให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของภาพเป็นหลัก

ควรเลือกที่จะกำหนดค่าความเร็วชัตเตอร์ก่อนเพื่อที่จะกำหนดการเคลื่อนไหวของภาพแล้วค่อยกำหนดขนาดรูรับแสงให้มีขนาดเหมาะสมที่จะให้แสงเป็นไปตามที่เราต้องการ เช่น ถ้าต้องการภาพหยดน้ำให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ โดยให้แสงที่พอดี เราจะกำหนดความเร็วชัตเตอร์สูงๆก่อนเพื่อหยุดหยดน้ำให้นิ่ง แต่ถ้าภาพมืดไป ค่อยกำหนดรูรับแสงให้มีขนาดกว้างขึ้นเพื่อให้ภาพสว่างขึ้นตามที่เราต้องการ แต่ถ้ากำหนดรูรับแสงกว้างสุดที่กล้องทำได้แล้ว แต่ภาพยังมืดเกินไปก็ค่อยปรับ ISO เพิ่มขึ้นเพื่อให้ภาพสว่างขึ้น

ต้องการให้ความสำคัญกับความชัดลึกหรือชัดตื้นเป็นหลัก

ควรเลือกที่จะกำหนดขนาดรูรับแสงก่อนเพื่อที่จะกำหนดความชัดลึกหรือชัดตื้นของภาพ แล้วค่อยกำหนดความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะสมที่จะให้แสงเป็นไปตามที่เราต้องการ เช่น ถ้าต้องการถ่ายภาพวัตถุให้มีความชัดลึกก็ให้เลือกกำหนดขนาดรูรับแสงให้แคบไว้ก่อน แต่ถ้าภาพมืดไป ก็ค่อยกำหนดความเร็วซัตเตอร์ให้ช้าลงเพื่อให้แสงสว่างขึ้นเป็นไปตามที่เราต้องการ เช่นเดียวกัน ถ้ากำหนดค่าความเร็วซัตเตอร์ช้าสุดแล้วทำให้ภาพสั่น (กรณีไม่มีขาตั้งกล้อง) ก็ค่อยปรับ ISO เพิ่มขึ้นเพื่อให้ภาพสว่างขึ้น

 

เพิ่มเติม กล้องมีโหมดการทำงานที่ช่วยในการกำหนดความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงให้เราใช้งานได้ง่ายขึ้น ขอยกตัวอย่างสำหรับกล้อง canon นะครับ กล้อง canon จะมีโหมด Av และ Tv โดยโหมด Av กล้องจะให้ผู้ใช้กำหนดขนาดรูรับแสงตามที่ต้องการและกล้องจะกำหนดขนาดความเร็วชัตเตอร์ที่ให้แสงที่พอดีอัตโนมัติ ส่วนโหมด Tv กล้องจะให้ผู้ใช้กำหนดขนาดความเร็วชัตเตอร์ตามที่ต้องการและกล้องจะกำหนดขนาดรูรับแสงที่ให้แสงที่พอดีอัตโนมัติ ผมอยากให้ผู้อ่านลองเปิดคู่มือของกล้องในแต่ละยี่ห้อดูและใช้ประโยชน์จากมันให้เต็มที่นะครับ

 

ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ISO

สำหรับผมแล้วนั้น ผมคิดว่าเรื่อง ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และ ISO เป็นสิ่งแรกๆ ที่อยากจะให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อน เพราะทั้งสามส่วนนี้มีความสำคัญที่ช่วยกำหนดสิ่งที่จะปรากฏบนภาพของเรา ถ้าขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งแล้วเราก็คงจะไม่สามารถถ่ายภาพได้ ซึ่งในแต่ละส่วนจะมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปแต่จะทำงานร่วมกันอย่างลงตัว นอกจากนี้การปรับส่วนประกอบใดส่วนประกอบหนึ่ง จะสร้างผลที่แตกต่างกันในภาพของเราอีกด้วย เรามาเริ่มลงรายละเอียดกันที่ละส่วนดีกว่าครับ จะได้เข้าใจกันมากขึ้น


ความเร็วชัตเตอร์

เป็นความเร็วในการเปิด-ปิดม่านชัตเตอร์ให้กับกล้อง โดยจะเป็นการกำหนดระยะเวลาที่แสงจะสามารถผ่านเข้าสู่ เซ็นเซอร์ (Sensor) โดยยิ่งมีความเร็วชัตเตอร์สูงกล้องจะเปิดและปิดเร็วทำให้ระยะเวลาที่แสงเข้าสู่กล้องน้อย ซึ่งก็จะทำให้ภาพมืดลง ในขณะที่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกล้องจะเปิดและปิดช้าทำให้ระยะเวลาที่แสงเข้าสู่กล้องมากขึ้นซึ่งทำให้ภาพสว่างขึ้น ลองนึกภาพว่าถ้าเรานำไฟฉายส่องเข้าสู่ผนัง และนำแผ่นกระดาษมากันลำแสงไว้ ระยะเวลาความเร็วชัตเตอร์คือระยะที่เรายกกระดาษขึ้นให้แสงผ่านและปิดกระดาษลงที่เดิม

ความเร็วชัตเตอร์จะมีหน่วยเป็นวินาที เช่น 1" หมายถึง 1 วินาที และเป็นตัวเลข 1 ส่วนวินาที เช่น 1/15 คือ 1 ส่วน 15 วินาที หรือ 1/30 เท่ากับ 1 ส่วน 30 วินาที ยิ่งค่าตัวเลข "ส่วน" มากเท่าใด ความเร็วชัตเตอร์ก็จะมากขึ้นเท่านั้น

หลังจากเราทราบเกี่ยวกับลักษณะความเร็วชัตเตอร์แล้ว เรามาเริ่มใช้ประโยชน์จากความเร็วชัตเตอร์กันดีกว่า ความเร็วชัตเตอร์นอกจากเรื่องการกำหนดความสว่างความมืดของภาพแล้ว ยังสามารถกำหนดความเคลื่อนไหวให้กับภาพได้ด้วย เนื่องจากภาพที่เราเห็นกันอยู่นั้นเกิดจาก แสงจากแหล่งกำเนิดแสงวิ่งกระทบวัตถุและวิ่งเข้าสู่ตาของเรา กล้องถ่ายภาพก็เช่นเดียวกันคือ แสงจากแหล่งกำเนิดแสงวิ่งกระทบวัตถุและวิ่งผ่านเข้าสู่กล้องของเรา ลองจินตนาการการถ่ายภาพคนที่กำลังวิ่งอยู่นะครับ ถ้าคนวิ่งจากจุด A ไปจุด B และเราถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำมาก เราเปิดม่านชัตเตอร์ตอนคนกำลังอยู่จุด A และปิดเมื่อคนอยู่จุด B แสงก็จะวิ่งกระทบคนและวิ่งเข้าสู่กล้องของเราตั้งแต่จุด A ไปถึงจุด B ทำให้เราได้ภาพคนทุกขณะระหว่างจุด A ไปจุด B ซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหว ในทางตรงกันข้ามถ้าเรากำหนดความเร็วชัตเตอร์ที่สูงมาก เราก็จะได้ภาพคนที่เหมือนหยุดนิ่งอยู่กับที่

ดังนั้นช่างภาพจึงใช้ความสามารถในส่วนนี้ของกล้องสร้างสรรภาพได้มากมาย เช่น การถ่ายภาพน้ำตก โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ทำให้สายน้ำดูเป็นสายและดูนุ่มนวลขึ้น

 

รูรับแสง

รูรับแสงช่วยกำหนดปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องเช่นกัน โดยการกำหนดขนาดความกว้าง-แคบในการเปิดรับแสงของอุปกรณ์ในตัวกล้องเป็นหลัก โดยยิ่งกำหนดรูรับแสงแคบจะทำให้ปริมาณแสงเข้าสู่กล้องได้น้อย ซึ่งทำให้ภาพมืดลง ในขณะที่รูรับแสงที่กว้าง จะทำให้ปริมาณแสงเข้าสู่กล้องได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ภาพสว่างขึ้น ลองจินตนาการว่าแสงคือลม เมื่อเราเปิดหน้าต่างกว้างมาก ลมก็จะเข้าสู่ตัวบ้านได้มากกว่าตอนที่เราเปิดหน้าต่างแคบๆ

โดยขนาดรูรับแสงจะเป็นลักษณะของเศษส่วนเมื่อเทียบกับทางยาวโฟกัส โดยจะมีตัวเลขบอกดังนี้ เช่น F/1.4, F/2.8, F/3.5, F/5.6,...... , F/22 ทุกท่านไม่ต้องจำให้ปวดหัวก็ได้ครับ เอาเป็นว่าค่า F/1.4 จะมีรูรับแสงที่กว้างกว่า F/2.8 ยิ่งตัวเลขมากเท่าใด ขนาดรูรับแสงยิ่งแคบลงเท่านั้น

เรามาเริ่มดูการใ้ช้ประโยชน์ของรูรับแสงกันดีกว่าครับ รูรับแสงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาพมีความชัดลึก-ชัดตื้น (Depth of field) ซึ่งสามารถอธิบายได้ง่ายๆ ดังนี้ครับ ...ถ้าเราใช้รูรับแสงแคบๆ จะทำให้ภาพมีลักษณะชัดลึก (ระยะชัดมีบริเวณกว้าง) ในทางกลับกันถ้าเราใช้รูรับแสงกว้างขึ้นก็จะทำให้ภาพมีความชัดตื้นมากขึ้น (ภาพจะมีระยะชัดสั้นลง) ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้เราสามารถทำให้วัตถุที่ถ่ายมีความโดดเด่นขึ้น เช่น การถ่ายภาพบุคคลที่ใช้รูรับแสงกว้างๆ จะทำให้บุคคลที่เราโฟกัสชัดแต่ส่วนอื่นๆ เบลอทำให้บุคคลดูโดดเด่นได้ไม่ยาก

 

ISO

เป็นการกำหนดค่าความไวแสงให้กับกล้อง ซึ่งถ้ากล้องมีความไวแสงสูง แม้ว่าแสงผ่านเข้ามานิดเดียว กล้องก็จะสามารถเก็บแสงเหล่านั้นไว้ได้ ในขณะที่ ISO ต่ำก็จะเก็บแสงได้ในปริมาณต่ำในกรณีที่แสงมีปริมาณเท่ากัน ดังนั้นถ้ากำหนด ISO สูงภาพก็จะสว่างมากขึ้นตามไปด้วย

โดยส่วนใหญ่เราจะเห็น ISO เป็นตัวเลข 100 200 หรือ 400 โดยยิ่งตัวเลขมากขึ้นเท่าใดค่า ISO ก็จะมากขึ้นตามนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว ISO จะใช้ประโยชน์ในกรณีที่อยู่ในสภาพแสงน้อย เพื่อให้เราสามารถเก็บภาพที่เราต้องการได้ แ่ต่หลายท่านคงสงสัยหรือได้ยินมาว่าให้กำหนด ISO ไว้ต่ำๆ เนื่องจากว่าการกำหนด ISO สูงๆจะทำให้ภาพเกิด Noise มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหลายๆ คนพยายามจะหลีกเลี่ยง Noise นี้โดยการกำหนด ISO ที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไป อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายๆท่านที่ชื่นชอบ Noise เช่นกัน

เขียนโดย //www.ideophoto.com




Create Date : 19 กรกฎาคม 2555
Last Update : 19 กรกฎาคม 2555 19:14:54 น. 0 comments
Counter : 15872 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

ผู้ประสบภัยจากความรัก
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add ผู้ประสบภัยจากความรัก's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com