LTF - RMF ลงทุนอย่างไร

  LTF, RMF เป็นกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ดังนั้นใครไม่มีภาษีให้เสียอย่าลงทุนนะจ๊ะ แต่อ่านเอาความรู้เพื่อลงทุนในกองทุนหุ้นทั่วไปได้



ก่อนที่เราจะหากองทุน LTF, RMF ดีๆ นั้นเราต้องถามตัวเองให้ชัดก่อนว่า เราจะเลือกลงทุนแบบไหน เน้นเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ เน้นถือสั้นหรือถือยาว เน้นจับจังหวะตลาดหรือลงทุนสม่ำเสมอ ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างเดียวหรือต้องการผลประโยชน์จากการลงทุนด้วย  โดยส่วนตัวผมแนะนำลงทุนระยะยาวเพื่อเป้าหมายของกองทุนที่ชัดเจนครับ คือลงทุนเพื่อยามเกษียณ ไม่ใช่แค่หวังลดภาษีอย่างเดียว และบ่อยครั้งคนส่วนใหญ่มักมองหาเพียงแค่ การได้แต้มบัตรเครดิต  การได้ของชำร่วย  หรือซื้อเพราะสะดวกในสาขาแบงค์ แต่ท่านกำลังละเลยผลประโยชน์แท้จริงที่ก้อนใหญ่มาก

เมื่อเราระบุเป้าหมายของเราชัดเจนแล้วถึงมาดูการเปรียบเทียบกองทุน โดยเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ข้อมูลเชิงคุณภาพ ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยมีหลักๆ ดังนี้

1. นโยบายของกองทุน โดยแต่ละกองทุนจะกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ใด และมีหลักการเลือกลงทุนตามกรอบใด เช่น กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก  กองทุนหุ้นเติบโต หรือกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นที่มีธรรมภิบาลดี เป็นต้น

*****************************************

LTF  คือกองทุนที่ส่งเสริมให้คนรู้จักลงทุนในหุ้น โดยซื้อแล้วขอภาษีคืนได้ แต่ต้องลง
ทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี ถ้าผิดเงื่อนไขต้องคืนภาษีพร้อมค่าปรับ โดย LTF แบ่งออกเป็น

1. Active Fund คือกองทุนที่ Fund Manager ทำหน้าที่หาหุ้นที่ดีที่สุดเข้ากอง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหนือกกว่าดัชนีหุ้นให้มากที่สุด

  
2. Passive Fund ( Index Fund) คือกองทุนที่เลือกหุ้นที่มีสัดส่วนใกล้เคียงดัชนี โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เท่าดัชนีหุ้นมากที่สุด


3. Balance Fund 70/30 เนื่องจากกองทุน LTF ต้องถือหุ้นอย่างน้อย 65% ของรอบบัญชี ดังนั้นยังไงก็ต้องรับความเสี่ยงจากหุ้นอยู่ดี กองทุนแบบ Balance Fund จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ซื้อ LTF ที่รับความเสี่ยงได้น้อย คือถือหุ้นแค่ 70% ของพอร์ตโดยส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้


RMF เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อความมั่นคงหลังเกษียณ ถ้าลงทุนจะสามารถขอภาษีคืนได้ แต่ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีและขายได้เมื่ออายุ 55 ปี และต้องลงทุนต่อเนื่องทุนปี สามารถเว้นปีได้ ถ้าผิดเงื่อนไขต้องคืนภาษีย้อนหลังได้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี โดย RMF แบ่งออกเป็นหลายสินทรัพย์ให้เลือกลงทุน เช่น  

1. Money Market Fund เป็นกองทุนที่เสี่ยงต่ำที่สุด โดยจะนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ที่มี Portfolio Duration ไม่เกิน 90 วัน หรือพูดแบบบ้านๆ คือ อายุตราสารรวมกันต้องไม่เกิน 90 วันนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่มีความเสี่ยงเรื่องราคา คล้ายๆ เงินฝากแบงค์ แต่ดอกเบี้ยสูงกว่า


2. Fixed Income Fund คือ กองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้น อาจมีความผันผวนราคาอยู่บ้าง หรือพูดง่ายๆ คือมีโอกาสติดดอย แต่เป็นดอยเตี้ย ระยะเวลาไม่นานก็หลุดดอยได้ ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประมาณ 2 เท่าแต่ความเสี่ยงก็สูงกว่า

3.Balance Fund คือกองทุนที่ผสมระกว่าตราสารหนี้และหุ้น จะผสมกันมากน้อยขนาดไหนก็ขึ้นกับนโยบายกองทุน

4. Equity Fund คือกองทุนหุ้นนั่งเอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 แบบดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ LTF

5. Sector Fund เช่นกองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนในหุ้นเฉพาะกลุ่ม

6. Alternative Fund คือกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกเช่น กองทุนทองคำ เป็นต้น

*****************************************


2. Fund Size  ยิ่งกองทุนมีขนาดใหญ่ ยิ่งบริหารจัดการยากขึ้น แต่ก็ไม่เสมอไป บางกองทุนมีขนาดใหญ่ แต่ก็มีผลการบริหารที่ดีเยี่ยมกว่ากองทุนเล็กๆ จำนวนมาก เพราะสุดท้ายแล้วมันก็อยู่ที่ฝีมือการบริหารของ Fund Manager

3. Performance ต้องมีผลการดำเนินงานที่ดี และชนะตลาดอย่างสม่ำเสมอ

4. Sharpe Ratio คือผลตอบแทนที่เกิน Risk free rate ต่อ 1 หน่วยความเสี่ยง หรือก็คือเอาผลตอบแทนกองทุนลบด้วย Risk free rate แล้วหารด้วยความผันผวนของผลตอบแทน S.D. นั่นเอง

5. Risk Level บอกถึงระดับความเสี่ยง และนโยบายการลงทุนและแนวทางการลงทุนตามกฏของ กลต.

6. Morning Star Rating จัดอันดับจากผลตอบแทนย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไปที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Morningstar Risk Adjusted Return) ที่ให้น้ำหนักกับความผันผวนด้านลบมากกว่า และปรับค่าธรรมเนียมในการซื้อขายด้วย โดยจะมีการจัดอันดับกองทุนที่ได้คะแนนสูงสุด 5 ดาวไม่เกิน 10% และ 4 ดาวไม่เกิน 22.5% และ 3 ดาวไม่เกิน 35 % ตามรูปการกระจายตัวแบบระฆังคว่ำ



พอเรารู้หลักการคร่าวๆ แล้วเรามาเริ่มลุยคัดกองทุนกันเลย โดยผมจะขอคัดเฉพาะกองทุนหุ้นเป็นหลักนะครับ แต่เนื่องจากกองทุนมันมีเยอะมาก ผมเลยจะขอใช้ตะแกรงร่อนกองทุนออกก่อน เหลือเพียงไม่กี่กองเท่านั้น โดยตระแกรงที่ว่าคือ คัดเลือกเฉพาะกองที่มีผลการดำเนินงานชนะ SET TRI (ไม่ใช่ SET Index นะ)

SET TRI ดัชนีผลตอบแทนรวม คือ การคำนวณผลตอบแทนทุกประเภทของการลงทุนในหลักทรัพย์ให้สะท้อนออกมาในค่าดัชนี ทั้งผลตอบแทนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหลักทรัพย์ที่ลงทุน (Capital gain/loss) สิทธิในการจองซื้อหุ้น (Rights) ซึ่งเป็นสิทธิที่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งมักจะให้สิทธิซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ณ ขณะนั้น และเงินปันผล (Dividends) ซึ่งเป็นส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้น โดยมีสมมติฐานเพิ่มเติมว่าเงินปันผลที่ได้รับนี้จะถูกนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ด้วย (Reinvest)



จะเห็นว่า SET TRI นั้นมีผลตอบแทนสะสมที่สูงกว่า SET Index ดังนั้นกองทุนที่ชนะ SET Index อาจจะแพ้ SET TRI ก็ได้ ภาพบนคือ SET TRI ที่คำนวนโดยตลาดหลักทรัพยืแห่งประเทศไทยที่เริ่มทำตั้งแต่ปี 2002 แต่ภาพล่างคือ SET TRI ที่ผมคำนวนเองเริ่มตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์



ดังนั้นผมจึงขอใช้ดัชนี SET TRI เป็นเครื่องมือคัดกรองทุนนะครับ โดยจะขอพิจารณาที่ บลจ. ก่อน โดยจะนำผลการดำเนินงานของกองทุน LTF แบบ Active Fund ของแต่ละ บลจ. มาถ่วงน้ำหนักด้วย Fund Size เพื่อหาผลการดำเนินงานรวมว่าแต่ละ บลจ. ว่ามีฝีมือในการบริหารงานมากขนาดไหน ซึ่งจะพบว่ามีเพียง 6 จาก 19 บลจ. ที่มีผลการดำเนินงานกองทุน LTF ชนะ SET TRI  และจะเห็นว่า บลจ. ที่มีคนซื้อมากที่สุดกว่า 3 หมื่นล้านนั้น มีผลการดำเนินงานรั้งท้ายเลยทีเดียว แสดงให้เห็นชัดว่าคนส่วนใหญ่เลือกซื้อกองทุน แต่ไม่ได้ดูผลการดำเนินงานเลย



แต่เมื่อเรามาพิจารณารายกองทุนแทนก็จะได้ตามภาพด้านล่าง พบว่ามีเพียง LTF 9 กองทุนเท่านั้นที่มีผลการดำเนินงานชนะ SET TRI



แล้วเมื่อเรานำผลการดำเนินงานของ 9 กองทุน LTF ที่ชนะ SET TRI โดยนำมาดูผลการดำเนินงานรายปี แล้วพิจารณาผลตอบแทนส่วนต่างจาก SET Index เพื่อดูความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงาน โดยจะพบว่า B-LTF และ KK LTFD นั้นมีผลการดำเนินงานที่มีความผันผวนกว่า SET Index อย่างมากโดยดูจาก S.D. หรือ Standard Deviation  ที่สูงผิดปกติ และเมื่อนำค่าเฉลี่ยของส่วนต่างจะพบว่า VALUE-D LTF ของ UOBAM มีผลการดำเนินงานโดดเด่นที่สุด



จะสังเกตุว่าแต่ละ บลจ. จะมีกองทุน LTF ส่งเข้าท้าชิง บลจ. ละ 1 กองทุนเท่านั้น แต่ของค่าย ING เก่าหรือปัจจุบันคือ UOB ที่มา Take Over ไปเข้าท้าชิงถึง 3 กองทุน และติด Top 3 ถึง 2 กองทุน คือ VALUE-D LTF และ CG-LTF และ  BIG CAP-D LTF ตามลำดับ แต่สิ่งที่เราต้องติดตามคือต่อจากนี้ไปเมื่อ UOB Take Over ING ไปแล้วจะทำให้ฝีมือการบริการของ ING เปลี่ยนไปหรือไม่

มาถึงจุดนี้ก็จะได้กองทุน LTF เด่นๆ เหลือแค่ไม่กี่กองทุนแล้ว ดังนั้นต่อจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของท่านในการเลือกกองทุนตามความเหมาะสมกับแนวทางและนโยบายที่ท่านชอบได้เลย โดยอาจพิจารณาที่ความผันผวน และผลตอบแทน หรือแม้แต่เชื่อเสียงในฝีมือการบริหารของแต่ละ บลจ. ประกอบ และในขั้นนี้แต่ละกองทุนก็มีผลการดำเนินงานที่ดีใกล้เคียงกัน จะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น

เคยมีงานวิจัยของ MorningStar กล่าวว่า การลงทุนในกองทุนที่กระจายกันเกินไปจะไม่สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ ซึ่งก็เป็นจริงเพราะทุกกองทุนก็ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน แต่ถ้าเราเลือกลงทุนในกองทุนเด่นๆ สัก 3-4 กองทุนกระจายในแต่ละปี เช่น ปีนี้ซื้อ ABLTF ปีต่อไปซื้อ B-LTF ปีต่อไปซื้อ KFLTFDIV เพื่อกระจายการลงทุนก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย ประกอบกับกับจะช่วยให้เราสามารถบริหารภาษีของเราได้มีประสิทธิภาพ เวลาที่เราจำเป็นต้องขายกองทุนบางกองออกโดยไม่ให้กระทบกับกอง LTF อื่นที่ถืออยู่ก่อนหน้าตามหลัก FIFO

สำหรับผมนั้นถ้าให้เลืกลงทุน 5 กองใน 5 ปี ผมขอเลือก

1. ABLTF
2. KFLTFDIV
3. VALUE-DLTF
4. B-LTF
5. MS-CORE LTF

By Deer Freedom

เพิ่มเติม //deerfreedom.blogspot.com/2013/09/ltf-rmf.html

ขอบคุณข้อมูลจาก
1. NOMURA iFUND โปรแกรมซื้อขายกองทุนครบทุก บลจ.
2. Morningstar บริการข้อมูลกองทุนรวม


Create Date : 04 กันยายน 2556
Last Update : 4 กันยายน 2556 15:38:33 น. 0 comments
Counter : 2825 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

ผู้ประสบภัยจากความรัก
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add ผู้ประสบภัยจากความรัก's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com