Group Blog
 
All blogs
 

เกมเทคโอเวอร์ โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ในช่วงที่ตลาดหุ้น คึกคัก และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นตลาดกระทิงนั้น ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้น ก็คือ การควบรวมกิจการหรือที่เรียกกันติด ปากว่าการ "Take Over" เหตุผลที่มีการเทคโอเวอร์กันมากในยามตลาดหุ้นบูมนั้นมีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ "ราคาหุ้น" นั่นก็คือ การเทคโอเวอร์ สามารถนำมาซึ่งการ "เติบโต" ของบริษัทอย่างรวดเร็ว การเติบโตจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กำไรที่จะเพิ่มขึ้นจะผลักดันให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นตามผลกำไรที่จะเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น การเติบโตที่ "คาดว่า" ว่าจะเร็วขึ้นมากย่อมทำให้ตลาดให้ค่า PE ของหุ้นสูงขึ้นด้วย หรือพูดง่ายๆ ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหน่วยที่ทำได้ ผลก็คือ ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ หรือเรียกว่าได้ "สองเด้ง" ดังนั้น ผู้บริหาร "ระดับเซียน" ที่เก่งทางด้าน "วิศวกรรมการเงิน" จึงมักใช้โอกาสที่ตลาดเอื้ออำนวย ทำการเทคโอเวอร์อย่าง Aggressive หรือเทคโอเวอร์อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ซึ่งหลายครั้งสามารถทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างโดดเด่น โดยที่ธุรกิจหรือบริษัทที่ดำเนินการอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรนัก เพียงแต่มีขนาดใหญ่ขึ้น

มองย้อนหลังไปในช่วงหุ้นบูมสุดๆ ก่อนวิกฤติการเงินในปี 2540 ที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปถึง 1700 กว่าจุด ในช่วงนั้น คนที่จำได้ก็จะรู้ว่า "เทคโอเวอร์คิง" ไม่มีใครนอกจาก ปิ่น จักกะพาก แห่ง Fin One บริษัทเงินทุนที่ใหญ่และ Aggressive ที่สุดในการควบรวมกิจการ กลยุทธ์ของปิ่นก็คือการเทคโอเวอร์กิจการ ที่เกี่ยวกับการเงินในตลาดหลักทรัพย์โดยการ "แลกหุ้น" นั่นก็คือ ฟินวันซื้อหุ้นของบริษัทเป้าหมายจนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยสิ่งที่ใช้ในการแลก ก็คือ ฟินวันจะออกหุ้นใหม่เอามาให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป้าหมาย

ดังนั้น ฟินวันจึงไม่ต้องใช้เงินในการซื้อกิจการ และดังนั้นฟินวันจึงสามารถซื้อกิจการอื่นไปได้เรื่อยๆ แม้กิจการที่ซื้อ อาจจะใหญ่กว่าตัวเองมากอย่างธนาคารพาณิชย์เช่นไทยทนุในยุคนั้น ที่กลายเป็นบริษัทเป้าหมาย แต่โชคไม่ดี ฟินวันมีอันเป็นไปเสียก่อนที่ดีลจะสำเร็จ และเป็นการปิดฉากเกมเทคโอเวอร์ที่ร้อนแรง และมีสีสันที่สุดในตลาดหุ้นไทย

เกมเทคโอเวอร์ของฟินวันนั้น เป็นไปได้เพราะมีเงื่อนไขสำคัญ ก็คือ ราคาหุ้นของฟินวันสูงมากเมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หุ้นฟินวันมีค่า PE สูงมาก นอกจากนั้น บริษัทเป้าหมายที่จะถูกควบรวมกิจการ จะต้องมีราคาค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับกำไรของบริษัทหรือเป็นหุ้นที่มีค่า PE ต่ำ ซึ่งในยุคนั้นสถานการณ์แบบนี้ก็มีอยู่ นั่นก็คือ ฟินวันมีกลยุทธ์การทำงานที่ Aggressive เน้นการเติบโตที่รวดเร็วในทุกด้านทั้งทางด้านการดำเนินงานและการควบรวม กิจการ

ส่งผลให้หุ้นฟินวันร้อนแรงมีค่า PE สูงลิ่วเพราะคนเชื่อว่าเป็นหุ้น "Super Growth" ในอีกด้านหนึ่ง หุ้นของบริษัทการเงินอื่น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์กลับไม่เป็นที่นิยม ส่วนหนึ่งเพราะเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่นักเก็งกำไรจะเข้าไป "เล่น" หรือ "ปั่น" ได้ ทำให้หุ้นไม่เป็นที่นิยม ส่งผลให้ราคาและค่า PE ของหุ้นต่ำกว่าหุ้นฟินวันมาก
มาดูกันว่าทำไมหุ้นที่ PE สูงซึ่งทำให้มูลค่าตลาดของหุ้นสูง สามารถเทคโอเวอร์หุ้นที่มี PE ต่ำและมีมูลค่าของตลาดหุ้นต่ำได้อย่างไร

สมมติว่าหุ้น "ซุปตาร์" มีกำไร 1,000 ล้านบาท และมีหุ้นเท่ากับ 1,000 ล้านหุ้น ดังนั้นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น เนื่องจากหุ้นซุปตาร์เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และมีผู้บริหารที่โดดเด่น รวมถึงมีกลยุทธ์ในการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นตลาดให้ค่า PE ของหุ้นเท่ากับ 25 เท่า ส่งผลให้ราคาหุ้นซุปตาร์เท่ากับหุ้นละ 25 บาท คิดเป็นมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัทเท่ากับ 25,000 ล้านบาท ส่วนหุ้น "เทอร์เทิล" นั้นมีกำไร 1,000 ล้านบาท และมีหุ้นเท่ากับ 1,000 ล้านหุ้น ดังนั้นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้นเหมือนกัน แต่คนมองว่าเป็นหุ้น "เต่า" จึงมีค่า PE เพียง 10 เท่า หุ้นมีราคาเพียง 10 บาทต่อหุ้น และทั้งบริษัทมีมูลค่าหุ้นเพียง 10,000 ล้านบาท

ซุปตาร์เทคโอเวอร์เทอร์เทิลโดยการออกหุ้นใหม่ 400 ล้านหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นเทอร์เทิล ผลก็คือ หุ้นซุปตาร์หลังจากเทคโอเวอร์ จะมีหุ้นทั้งหมดเท่ากับ 1400 ล้านหุ้น มีกำไร 2000 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1.43 บาทต่อหุ้น และตลาดมองว่าหุ้นซุปตาร์ไม่ได้แย่ลงจากการเทคโอเวอร์จึงให้ค่า PE เท่าเดิมคือ 25 เท่า ผลก็คือ ราคาหุ้นซุปตาร์เท่ากับ 35.7 บาท หรือเพิ่มขึ้น 43% จากราคา 25 บาท แต่ถ้าตลาดมองว่าการเติบโตของซุปตาร์จะเร็วขึ้นอีก ดังนั้นค่า PE จึงน่าจะปรับขึ้นเป็น 30 เท่า ผลก็คือ ราคาหุ้นของซุปตาร์จะกลายเป็น 42.9 บาท หรือเพิ่มขึ้น 71.4% โดยที่กิจการของซุปตาร์และเทอร์เทิลไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย และนั่นคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับฟินวันในยามที่เกมเทคโอเวอร์กำลังดำเนินไปด้วย ดี

มีอะไรผิดไหมสำหรับเกมเทคโอเวอร์ที่บริษัท PE สูงควบรวมบริษัท PE ต่ำ แล้วทำให้ราคาหุ้นของบริษัทที่เทคโอเวอร์เพิ่มขึ้นมโหฬารในชั่วข้ามคืน?

ประเด็นก็คือ นักลงทุนอาจจะมองผิดพลาด โดยคิดไปว่าบริษัทจะยังเหมือนเดิม หรือโตเร็วขึ้นไม่ได้ช้าลง จึงให้ค่า PE เหมือนเดิมหรือสูงขึ้น คนคิดว่าบริษัท "เต่า" ที่โตช้านั้น เมื่อถูกเทคโอเวอร์แล้วจะแปลงเป็น "ซุปเปอร์สตาร์" เหมือนบริษัทที่กลายมาเป็น "แม่" ดังนั้นค่า PE ของเต่าจึงถูกปรับขึ้นจาก 10 เท่าเป็น 25 เท่าหรือมากกว่า แต่ถ้าความเป็นจริงก็คือ "ทุกอย่างเหมือนเดิม" หรือมีการเปลี่ยนแปลงในบริษัทเต่าน้อยมาก เมื่อเวลาผ่านไปคนก็จะเห็นว่า การเติบโตของบริษัทที่รวมกันแล้วไม่ได้เร่งตัวขึ้น เต่าก็ยังเป็นเต่า ซุปเปอร์สตาร์ก็โตเท่าเดิม

ดังนั้น ตลาดก็จะปรับค่า PE ของบริษัทที่รวมกันแล้วลง เช่นอาจจะเหลือเพียง 17.5 เท่าซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยของ 10 กับ 25 เท่า ผลก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทรวมก็จะเท่ากับ 1.43 คูณ 17.5 หรือก็คือ 25 บาทต่อหุ้น เท่าเดิมก่อนที่จะมีการเทคโอเวอร์ ถ้าเป็นแบบนี้ คนที่เข้ามาซื้อหุ้นซุปตาร์ในราคา 30 หรือ 40 กว่าบาทและถือไว้ก็จะขาดทุนเมื่อ "พื้นฐานที่แท้จริง" ถูกเปิดเผยมาในภายหลัง

อาจมีข้อถกเถียงว่า เมื่อเทคโอเวอร์แล้ว ซุปตาร์ สามารถลดต้นทุนหรือได้ประโยชน์จากการเพิ่มขนาดของธุรกิจ ดังนั้นพื้นฐานของเทอร์เทิลและซุปตาร์จะดีขึ้นมาก แต่นี่เป็นสิ่งที่น่าจะยังต้องพิสูจน์ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะจากตลาดในอเมริกาพบว่า การเทคโอเวอร์ส่วนใหญ่ ได้ผลตรงกันข้าม ภายหลังต้องขายกิจการที่เทคมาทิ้งพร้อมกับการขาดทุนอย่างยับเยิน

ในตลาดหุ้นไทย กรณียังไม่ชัดเพราะมีกรณีไม่มาก ราคาหุ้นที่ขึ้นไปก่อนหลังจากมีการเทคโอเวอร์ VI คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสมเหตุผลไหม เหนือสิ่งอื่นใด การคาดการณ์ในสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดเป็นเรื่องที่ VI จะต้อง "สงสัย" ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ? สำหรับผมแล้ว ถ้าแหล่งของการได้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการ ยังเป็นที่น่าสงสัย ผมก็จะไม่เข้าไปเล่นในเกมเทคโอเวอร์ โดยเฉพาะถ้าราคาหุ้นขึ้นไปสูงแล้ว

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


ราคาหุ้นที่ไม่เหมาะสม โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


โดยทั่วไปแล้วผมคิด ว่า หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีราคาหุ้นที่เหมาะสม นั่นก็คือ มูลค่าพื้นฐานของหุ้นเท่ากับราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดขณะนั้น-โดยเฉลี่ย นั่นแปลว่า การที่จะทำกำไรโดยการซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน หรือหุ้น "Undervalue" แล้วหวังว่า จะขายเมื่อราคาหุ้นขึ้นไปสู่มูลค่าพื้นฐาน และทำกำไรมากกว่าปกติ เป็นเรื่องยาก แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า หุ้นทุกตัวต้องมีราคาเท่ากับมูลค่าพื้นฐานพอดี ว่าที่จริงมีหุ้นน้อยตัวมากที่มีราคาหุ้นเท่ามูลค่าพื้นฐาน อาจจะมีหุ้นถึง 50% ที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน แต่ก็มีหุ้นอีก 50% ที่มีราคาสูงกว่าพื้นฐาน เฉลี่ยแล้วราคาหุ้นจึงเท่ากับมูลค่าพื้นฐาน

ประเด็นสำคัญ ก็คือ เราไม่รู้ว่าหุ้นตัวไหนสูงกว่าพื้นฐานหรือหุ้นตัวไหนต่ำกว่าพื้นฐาน ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำกำไร จากการหาหุ้นที่ Undervalue และนี่ก็คือ แนวความคิดของ ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ หรือ Efficient Market แบบง่ายที่สุด

ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ผมใช้คำว่า "โดยทั่วไป" นั่นแปลว่า ในบางสถานการณ์และหรือในหุ้นบางตัว ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเราจะสามารถหาหุ้นที่ Undervalue หรือ Overvalue ได้ โดยที่โอกาสที่เราจะคิดถูกมีมากกว่า 50% และทำให้เราสามารถซื้อขายหุ้นทำกำไรได้งดงามกว่าปกติ และนี่ก็คือ แนวความคิดว่า ตลาดหุ้นนั้น ยังไม่มีประสิทธิภาพพอ คนที่ศึกษาค้นคว้า และใช้หลักการที่ถูกต้องสามารถเข้าไปฉกฉวยประโยชน์จากความไร้ประสิทธิภาพนี้ ได้-อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ผมใช้คำว่า อย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อบอกให้รู้ว่า ในบางช่วงบางตอน อาจจะมีคนที่สามารถทำกำไรเกินกว่าปกติได้โดยใช้วิธีการ หรือเทคนิคบางอย่าง แต่ไม่ช้านาน วิธีการนั้นก็ "หมดสมรรถภาพ" และเมื่อเวลาผ่านไปยาวนาน ผลการลงทุนก็กลับมาใกล้เคียงกับที่ควรเป็น คือเฉลี่ยแล้ว ก็ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของตลาดหุ้น ซึ่งในกรณีอย่างนี้ เราก็ยังถือว่าตลาดหุ้นยังมีประสิทธิภาพ

กลับมาที่เรื่องของหุ้น Under หรือ Overvalue ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
คำตอบในเรื่องนี้ น่าจะเกิดจากเรื่องของจิตวิทยา ซึ่งในระยะหลัง มีการศึกษากันมากเรียกว่าวิชา "การเงินพฤติกรรม" หรือ Behavioral Finance ซึ่งบอกว่าคนเรานั้น ไม่ได้ใช้แต่เหตุผลในการลงทุนแต่เพียงอย่างเดียว บ่อยครั้งคนเราใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ ความ "กลัว" และความ "โลภ" ความกลัวการขาดทุนมากมาย อาจทำให้คนขายหุ้นแบบไม่มีเหตุผล ทำให้หุ้นมีราคาถูกกว่าพื้นฐานมาก

เช่นเดียวกัน ความโลภอาจทำให้คนซื้อหุ้น โดยไม่ได้คิดถึงพื้นฐานและ "ไล่ราคา" จนทำให้หุ้นมีราคาสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริงไปมาก และนี่ทำให้เกิดโอกาสมหาศาลสำหรับคนที่สามารถ "ใช้เหตุผล" ในการตัดสินใจลงทุนเป็นหลัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่เกิดวิกฤติซับไพร์มในอเมริกาที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาด หุ้นไทยที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มาก ตกลงมาเกือบครึ่งหนึ่ง และเป็นโอกาสของเหล่า "VI" ทั่วโลกสามารถซื้อหุ้นทำกำไรได้อย่างงดงาม เมื่อราคาหุ้นฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

หุ้นที่มีราคาไม่เหมาะสมกับพื้นฐานนั้น ยังน่าจะรวมถึงกรณีที่หุ้นถูก "ละเลย" หรือ "มองข้าม" เพราะหุ้นอาจจะมีขนาดเล็ก และคนไม่ใคร่สนใจ หรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่คนหลีกเลี่ยงไม่อยากลงทุน

กรณีแบบนี้มักจะเห็นได้ชัดจากการที่หุ้น "ขาดสภาพคล่อง" มีการซื้อขายต่อวันต่ำมาก กรณีแบบนี้หุ้นน่าจะมีโอกาส Undervalue หรือราคาหุ้นต่ำกว่าพื้นฐานที่แท้จริงมากกว่าที่จะสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง หุ้นบางตัวที่ไม่มีสภาพคล่อง ก็อาจจะมีราคาสูงกว่าพื้นฐานได้ เนื่องจากหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดมีน้อยมาก และราคา ถูก "ไล่" ไปจน "ติดมุม" และค้างอยู่อย่างนั้น

ตรงกันข้าม หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงมาก เช่น การซื้อขายต่อวันสูงเกินกว่า 1% ของ Market Cap.หรือมูลค่าตลาดของหุ้นโดยเฉลี่ย และหุ้น มี "ราคาแพง" วัดจากค่า PE ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดมาก หุ้นแบบนี้อาจเรียกว่า Glamorous Stock หรือเรียกว่าเป็นหุ้นที่ "ฟู่ฟ่า" มีเสน่ห์เร้าใจให้หลงใหล หุ้นลักษณะนี้มักจะมีราคาสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริง การศึกษาตลอดมามักจะพบว่าหุ้นที่ถูกละเลยนั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นที่ ฟู่ฟ่ามาก ซึ่งอาจเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า หุ้นที่ "ถูกละเลย" นั้น Undervalue และหุ้นที่ "ร้อนแรง" นั้น Overvalue

ราคาหุ้นที่ไม่เหมาะสม หรือความไร้ประสิทธิภาพของตลาด คนที่อธิบายได้อย่างน่าเชื่อถือมากที่สุดคนหนึ่ง น่าจะเป็น จอร์จ โซรอส เพราะเขาเป็นคนที่ "หากิน" กับความ "ไม่สมดุล" ของหุ้นและตลาดเงินตลาดทุน ว่าที่จริงเขาน่าจะได้รับฉายาว่าเป็น "เทพแห่งการเก็งกำไร" จากความแตกต่างระหว่างราคา และมูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของตราสารการเงินทั้งหลาย สิ่งที่ จอร์จ โซรอส เสนอเอาไว้อยู่ในทฤษฎีที่เขาเรียกว่า Reflexivity ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อ่านเข้าใจยากมาก แต่หลักการสำคัญ ก็คือ เขาบอกว่าทรัพย์สินทั้งหลายในตลาดนั้น มีราคาแตกต่างห่างไกลจากราคาที่ "สมดุล" หรือ ราคาที่เหมาะสมตามพื้นฐานมาก

เหตุผลก็เพราะว่าราคาตลาดของทรัพย์สินนั้น เป็นผลจากกระบวนการย้อนกลับสองด้าน หรือย้อนกลับไปมาของคนที่ "เล่น" หรือเกี่ยวข้องอยู่ในตลาด นั่นคือ คนที่เล่น หรือนักลงทุนกลุ่มแรก อาจจะเข้ามาขับเคลื่อนราคาหุ้น หรือตราสารการเงินโดยอิงกับความคิดความเข้าใจ หรือการวิเคราะห์ที่ผิด ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไป หรือตกลงมา ด้วยความคิดที่ผิด ก็จะกลับไปกระทบกับความคิดของนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่ง หรือแม้แต่ตนเอง ทำให้พวกเขาคิดผิดเพิ่มขึ้นไปอีก เช่น เข้าไปซื้อหุ้นหรือขายหุ้นเพิ่ม เนื่องจากเห็นว่าราคาวิ่งขึ้น หรือตกลงมาอย่างหนัก กระบวนการย้อนกลับไปมานี้ ทำให้หุ้นกลายเป็นฟองสบู่ หรือตกลงมาต่อเนื่อง และกลายเป็นโอกาสของคนที่เข้าไปฉกฉวยประโยชน์จากความไร้เหตุผลนี้

ราคาหุ้นที่ไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่แล้ว ผมคิดว่ามักจะเป็นอยู่ไม่นาน เพราะในที่สุดแล้ว ก็จะต้องวิ่งเข้าไปหาจุดที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อพื้นฐาน หรือผลประกอบการของบริษัท หรือคนที่ออกตราสารการเงินนั้นปรากฏออกมา เพราะเมื่อถึงเวลานั้น ความคลุมเครือเกี่ยวกับมูลค่าพื้นฐานก็จะลดลง

เช่นเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไป ความ "ฟู่ฟ่า" ของหุ้นที่มี ก็มักจะจางไป และความมีเหตุผลของนักลงทุน ก็มักกลับคืนมา และในอีกด้านหนึ่ง หุ้นที่เคย ถูก "ละเลย" เมื่อผลประกอบการออกมาโดดเด่นต่อเนื่องหลายปี ในที่สุดมันก็จะ ถูก "ค้นพบ" ราคาหุ้นก็จะปรับขึ้นมาหาพื้นฐานที่แท้จริง สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่า ความคิดของ เบน เกรแฮม ยังถูกต้องเสมอ นั่นคือ ในระยะสั้นแล้ว ตลาดก็เหมือนกับเครื่องโหวต นั่นคือ ราคาหุ้นก็ขึ้นอยู่กับ "ความเห็น" ของนักลงทุนไม่ว่าจะถูกหรือผิด แต่ในระยะยาวแล้ว ตลาดเป็นเหมือนเครื่องชั่ง ที่จะบอกว่า ราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก หรือผลประกอบการของบริษัท

ดังนั้น สำหรับ VI ที่แท้จริงแล้ว การเน้นมองหา "น้ำหนัก" หรือพื้นฐานของกิจการในระยะยาว จึงเป็นหนทางที่ปลอดภัยที่สุด ที่จะได้ผลตอบแทนที่น่าประทับใจจากการลงทุน

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


ราคาหุ้นที่เหมาะสม โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


เวลาที่เราพิจารณา หรือวิเคราะห์ว่าราคาของหุ้นตัวหนึ่งเหมาะสมหรือไม่ มันแพงเกินไปหรือถูกเกินไป เราทำอย่างไร เรารู้ได้อย่างไร Value Investor โดยเฉพาะ ที่ "เชี่ยวชาญ" เกี่ยวกับตัวเลขและการคำนวณ รวมถึงการวิเคราะห์อนาคตของกิจการ ก็จะบอกว่าเรา "รู้" เพราะว่าเราสามารถคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงหรือ Intrinsic Value ของกิจการได้ มูลค่าที่แท้จริงนั้น มีวิธีการหาได้หลายแบบ

ตัวที่ง่ายที่สุด ก็คือ การใช้ค่า PE ของหุ้น อาจจะเป็นค่า PE ในอดีตย้อนหลังไปหนึ่งปี หรืออาจจะเป็นค่า PE ที่มองไปในอนาคตหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าค่า E หรือกำไรต่อหุ้นของปีที่ผ่านมาของบริษัทเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น และบริษัทเป็นกิจการที่ "โตเร็ว" คาดว่ากำไรจะโตถึงปีละ 20% ต่อปีและจะโตไปอีกหลายปี หุ้นแบบนี้น่าจะสามารถมีค่า PE สูงถึงประมาณ 20 เท่า

ดังนั้น มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมควรที่จะเท่ากับ 1 คูณด้วย 20 หรือ 20 บาทต่อหุ้น หลังจากนั้น เราก็มาดูว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดเป็นเท่าไร ถ้าราคาหุ้นเท่ากับ 10 บาท เราก็บอกว่านี่คือหุ้นที่มีราคา "ถูก" ควรที่เราจะซื้อไว้ ถ้าราคาหุ้นเท่ากับ 20 บาทต่อหุ้น เราก็บอกว่าราคา "ยุติธรรม" และถ้าราคาหุ้นในขณะนั้นเท่ากับ 30 บาท เราก็บอกว่าหุ้นมีราคา "แพง" กว่าพื้นฐาน

ในหุ้นตัวเดียวกันนั้นเอง แต่วิเคราะห์โดย VI อีกคนหนึ่งอาจจะมองว่า บริษัทอาจจะโตขึ้น 20% ก็จริง แต่เป็นการโตแค่ปีเดียว เนื่องจากเป็นเรื่องของภาวะอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวยไม่ได้เป็นการเติบโตที่ ยั่งยืน หลังจากนั้นแล้ว การเติบโตก็เป็นปกติประมาณปีละ 10% ดังนั้น ค่า PE ของหุ้นจึงควรที่จะเป็น 10 เท่า ดังนั้น VI รายนี้ก็จะบอกว่า ถ้าหุ้นราคา 10 บาท ก็เป็นราคาที่ยุติธรรม ถ้าราคาหุ้นเท่ากับ 20 บาทก็ถือว่าแพงมาก และถ้าราคาเท่ากับ 30 บาทก็ถือว่าแพงสุดๆ ต้องรีบขายทิ้ง

VI อีกคนหนึ่งอาจมองว่าการใช้ PE ในอดีตสำหรับหุ้นตัวนี้ไม่เหมาะสม เพราะบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงใน "พื้นฐาน" อย่างสำคัญ กำไรที่เห็นยังไม่สะท้อน "พื้นฐานใหม่" ดังนั้น เขาจึงใช้ PE ในอนาคต นั่นก็คือ เขาจะคาดการณ์กำไรในอนาคตของบริษัท ซึ่งเขาคาดว่าจะทำได้ถึง 2 บาทต่อหุ้น และเขาคิดว่าบริษัทจะโตเร็วมากหลังจากนั้น คือ โตได้ถึง 20% ต่อปีไปอีกหลายปี

ดังนั้น ค่า PE ของหุ้นก็ควรจะเป็น 20 เท่า ซึ่งก็ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเท่ากับ 2 คูณด้วย 20 เท่ากับ 40 บาทต่อหุ้น ถ้าราคาหุ้นในปัจจุบันเท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น หุ้นตัวนี้ก็ถูกสุดๆ เช่นเดียวกันที่ราคา 20 บาทก็ยังถูกมาก มี Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยถึง 50% และแม้ว่าหุ้นจะราคา 30 บาทต่อหุ้น หุ้นก็ยังถูกอยู่ดีมีโอกาสกำไรได้อีก 33%

ถ้าจะถามว่าใครวิเคราะห์หรือ "ทาย" ถูก คำตอบ ก็คือ ในวันที่วิเคราะห์และตัดสินใจซื้อขายหุ้นนั้น ไม่มีใครรู้ คำตอบที่แท้จริงคงจะต้องรอเวลาอีกหลายปี และเมื่อถึงวันนั้น สถานการณ์ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปอีก เราก็คงจะพอมองออกเมื่อถึงวันนั้นว่าบริษัทเป็นอย่างไร มีกำไรเติบโตแบบไหน และใครน่าจะเป็นคนที่ "ทาย" ถูก และ แน่นอน ราคาหุ้นหลังจากที่ผ่านไปอาจจะ 2-3 ปี หรือ 3-4 ปีจะเป็นเครื่องยืนยันว่าใครน่าจะวิเคราะห์ได้ถูกต้อง แต่ประเด็น ก็คือ คนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไม่อยากรู้ว่าอีก 3 ปีราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร เขาอยากรู้ว่าราคาหุ้นตอนนี้ถูกหรือแพงและมันจะวิ่งขึ้นหรือลงไปหา "มูลค่าที่แท้จริง" และมูลค่าที่แท้จริงคือเท่าไร

และนี่จึงนำมาสู่ทฤษฎีว่าใครน่าจะวิเคราะห์ได้ถูกต้องที่สุด? VI คนที่หนึ่ง VI คนที่สองหรือคนที่สาม หรือนักเล่นหุ้นทั่วๆ ไปที่เน้นเก็งกำไรเป็นหลักที่บังเอิญเข้ามาเล่นหุ้นตัวเดียวกัน

คำตอบจากการศึกษาโดยการทดลองภายใต้สมมติฐานหนึ่ง เช่น สมมติว่าคนส่วนใหญ่ ที่เข้ามาลงทุนซื้อขายหุ้น เป็นคนที่มีเหตุผลพอสมควร และสามารถควบคุมอารมณ์ได้ในระดับปกติ เป็นคนที่ซีเรียสในการตัดสินใจลงทุน เพราะเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์ของตัวเองเป็นเดิมพัน เป็นต้น

คำตอบที่ได้ ก็คือ ไม่ใช่ VI ที่ "อนุรักษนิยม" ไม่ใช่ VI ที่ "กล้าหาญชาญชัย" ไม่ใช่ VI "ระดับเทพ" และก็ไม่ใช่ "นักเก็งกำไรตัวยง" หรือ "นักเก็งกำไรสมัครเล่น" แต่เป็น "ค่าเฉลี่ย" ของนักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นทุกคน และค่าเฉลี่ยที่ว่านี้ ก็คือ "ราคาหุ้นในตลาด" เพราะราคาหุ้นในตลาดนั้น เป็นตัวสะท้อน "ความเห็น" ของทุกคน และโดยนัยนี้ มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมของหุ้น ก็คือ "ราคาหุ้นในตลาด"

ดังนั้น หุ้นในตลาดจึงไม่มีคำว่าถูกหรือแพงกว่าพื้นฐาน หุ้นในตลาดนั้น ตามทฤษฎีและภายใต้การทดลองที่มีข้อสมมติฐานที่มีเหตุผลนั้น มีราคาที่ยุติธรรมเหมาะสมตามพื้นฐานของมัน ไม่มี "เซียน" คนไหนคำนวณมูลค่าหุ้นได้แม่นยำเท่า "ตลาด" และนี่ก็คือ ทฤษฎีที่เรียกว่า "ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ" ซึ่ง "ทรงพลัง" มาก

ทำไม "ค่าเฉลี่ย" จึงแม่น หรือเก่งกว่า "เซียน" ในการคาดการณ์มูลค่าหุ้นหรืออีกหลายๆ เรื่อง คำตอบคงยาวมาก แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า ค่าเฉลี่ยนั้นเกิดจากการนำข้อมูล ความรู้ ความสามารถในการวิเคราะห์ และอื่นๆ ของแต่ละคนมารวมกัน เปรียบคล้ายๆ กับการต่อพ่วงคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องเข้าด้วยกันแล้วช่วยกันทำงาน

ผลที่ออกมาจึงเหนือกว่าคอมพิวเตอร์ตัวเดียว ที่แม้จะเก่งและมีพลังมาก แต่ก็ไม่สามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้ทั้งหมด นี่ฟังดูหลายคนอาจจะไม่ค่อยเชื่อว่าคนหลายคนที่ไม่ได้มานั่ง "สุมหัว" กัน แต่ต่างคนต่างทำจะสามารถนำข้อมูลมารวมกันได้ แต่นี่เป็นเรื่องจริง มีการทดลองแล้วพบว่ามันจริง ผมจำไม่ได้ชัดว่าเป็นเรื่องอะไร แต่จะเป็นแนวต่อไปนี้

สมมติว่าเราต้องการทำนาย น้ำหนักตัวของคนคนหนึ่ง วิธีการ ก็คือ เราหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำหนัก อาจจะเป็นหมอหรือช่างตัดเสื้อก็ได้มาทำนายคนหนึ่ง นอกจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว เราก็ยังมีคนที่จะมาทำนายอีกเป็นหลายสิบคน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ ก็คือ คนธรรมดาที่มีน้ำหนักตัวมากบ้างน้อยบ้าง และทำงานอาชีพที่หลากหลาย แต่ไม่มีใครเชี่ยวชาญในการคิดประมาณการน้ำหนักตัว พวกเขาแต่ละคนก็จะมีความคิด หรือความรู้บางอย่างเช่นเขาอาจจะรู้ว่าน้ำหนักของตัวเองเป็นเท่าไร และถ้านำมาเปรียบเทียบกับคนที่เขาเห็น น้ำหนักตัวของคนที่เขาเห็นจะเป็นเท่าไรอย่างนี้เป็นต้น

ประเด็นสำคัญ ก็คือ เขาจะต้องตั้งใจที่จะทายให้ถูกจริงๆ เพราะการทายถูกหรือใกล้เคียงจะมีรางวัลตอบแทนให้ ผลของการประมาณการน้ำหนักตัวที่กล่าวนี้ ปรากฏว่า คนที่ทายได้ใกล้เคียงที่สุดนั้น ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือเซียนเรื่องน้ำหนักตัวครับ แต่เป็นอย่างที่พูดแล้ว นั่นคือ น้ำหนักตัวของคนที่ถูกทายใกล้เคียงกับ "ค่าเฉลี่ย" ของการทายหรือประมาณการของทุกคน เซอร์ไพรส์ไหมครับ

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพนะครับ เพราะถ้าผมเชื่อก็คงไม่มาเป็น VI เลือกหุ้นลงทุนอยู่ทุกวันนี้ ว่าที่จริง ยังมีทฤษฎีอื่นๆ ที่เชื่อว่าพฤติกรรมของคนนั้นไม่ใช่ว่าจะมีเหตุผลเสมอไป ดังนั้น ราคาหุ้นในตลาดก็อาจจะเพี้ยนไปจากมูลค่าที่แท้จริงได้ และผมจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


คุณสมบัติเซียน โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


การที่จะเป็นนักลงทุนที่ยอดเยี่ยมได้นั้น เราควรจะต้องศึกษาดูว่านักลงทุนระดับโลกหรือนักลงทุนใน “ตำนาน” ส่วนใหญ่เขามีคุณสมบัติ หรือแนวความคิดอย่างไร ต่อการลงทุน เพื่อที่ว่าเราจะได้เอาอย่างเขาบ้าง และต่อไปนี้ คือ คุณสมบัติหรือมุมมอง “ร่วม” ที่นักลงทุนเอกของโลกมี

ข้อแรกที่เป็นพื้นฐานจริงๆ ก็คือ ทุกคนวิเคราะห์หรือมองตัวธุรกิจเป็นหลัก ไม่ได้ “วิเคราะห์หลักทรัพย์หรือหุ้น” ความแตกต่างของสองเรื่องนี้ ก็คือ เซียนนั้น จะวิเคราะห์ว่าธุรกิจมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร แข่งขันกันอย่างไร ทำกำไรอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงของธุรกิจอยู่ที่ไหน ในขณะที่การวิเคราะห์หุ้นหรือหลักทรัพย์นั้น อาจจะเน้นไปที่เรื่องของความเป็นไปได้ของเหตุการณ์บางอย่าง โอกาส ผลประกอบการระยะสั้น ถ้าจะพูดถึงความเสี่ยงก็อาจจะเน้นไปที่เรื่องของความผันผวนของกิจการหรือตัว หุ้นมากกว่า

ข้อสอง เซียนนั้นมักมีวิธีการหรือแนวทางการลงทุนของตนเองที่มั่นคงแน่นอน เรียกว่ามี “สไตล์” เป็นของตนเอง พวกเขาไม่เปลี่ยนไปมา กลยุทธ์หรือแนวทางการลงทุนของพวกเขานั้นมักจะเหมือนเดิมยาวนานเป็นทศวรรษ หรือบางคนก็ตลอดชีวิต ในบางช่วงบางตอนกลยุทธ์หรือแนวทางการลงทุนของเขาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จนัก อาจจะเนื่องด้วยภาวะของตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อกลยุทธ์นั้น แต่พวกเขาก็มักไม่เปลี่ยนวิธีการเพื่อที่จะให้ “สอดคล้อง” กับสถานการณ์ พวกเขายึดมั่นกับสิ่งที่เขารู้และเข้าใจดีที่สุด เพราะเขาคิดว่า ในระยะยาวแล้ว นั่นคือวิธีการที่ให้ผลดีที่สุดกับการลงทุนของเขา ตัวอย่างก็เช่นในยุคที่หุ้นดอทคอมและหุ้นไฮเทครุ่งเรืองมากนั้น แนวทางและผลการลงทุนของบัฟเฟตต์ดูด้อยลงไปเมื่อเทียบกับเซียนที่เน้นแนวการ ลงทุนที่หวือหวา อย่างไรก็ตาม หลังจาก “ฟองสบู่” หุ้นไฮเทคแตก แนวทางของบัฟเฟตต์ก็กลับมาได้รับการยอมรับเช่นเดิม

ข้อสาม เซียนนั้นมักมีหลักการลงทุนที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย พวกเขาไม่มีสูตรหรือสมการหรือชื่อเรียกที่ต้องใช้แทนด้วยอักษรภาษากรีก ว่าที่จริงหลายคนอาจจะไม่ทำประมาณการกำไรหรือคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทใน อนาคตด้วยซ้ำ ความซับซ้อนของตัวเลขถ้าจะมีก็คงเป็นแค่การบวก ลบ คูณ หาร ถ้าจะสรุป ก็คือ หลักการลงทุนของเหล่าเซียนนั้น มักจะสามารถอธิบายได้ด้วยคำพูดไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ และการทำงานก็อาจจะใช้แค่เครื่องคิดเลขธรรมดาหรือไม่ก็ “คิดในใจ” ได้

ข้อสี่ การควบคุมอารมณ์ การมีวินัยในการลงทุน และความกล้าหาญหรือความกลัวในเวลาที่ถูกต้อง เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่เซียนหุ้นทุกคนมี เซียนหุ้นมักไม่ตื่นเต้นหรือกลัวเกินกว่าเหตุเวลาประสบกับสถานการณ์ที่ตลาด หุ้นหรือหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มร้อนแรงมาก หรือประสบกับภาวะวิกฤติที่ผู้คนต่างพยายาม “หนีตาย” จากเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ได้มีผลกระทบรุนแรงอย่างที่ถูก “สื่อ” ออกมาในโลกของการสื่อสารเช่นในปัจจุบัน พูดง่ายๆ เซียนนั้นมีจิตใจที่สงบและมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง ความอดทนและอดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุนั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากที่ทำให้เซียน ไม่ออกนอกแนว หรือกรอบความเชี่ยวชาญของตน

ข้อห้า เซียนนั้น มักเป็น Loner หรือเป็นคนที่ชอบอยู่สันโดษคนเดียวในแง่ของการลงทุน นี่ไม่ได้หมายความว่าเซียนจะไม่คุยกับนักลงทุนคนอื่นหรือไม่ปรึกษาว่าหุ้น ตัวไหนน่าลงทุน แต่เซียนมักเป็นคนที่มีความเป็นอิสระสูงในการคิดและตัดสินใจลงทุน พวกเขามีเหตุผลและความเชื่อของตนเองที่มักจะไม่ถูกชี้นำหรือชักจูงโดยคน อื่น ว่าที่จริงเซียนบางคนอย่าง จอห์น เนฟฟ์ นั้นชอบ “ทะเลาะ” ว่ากันว่า ในตอนที่เป็นเด็กนั้น เขาแทบจะ “ทะเลาะกับเสาไฟฟ้า” พอโตขึ้นก็ “ทะเลาะกับตลาดหุ้น” แต่สาเหตุที่ทำให้พวกเขาสามารถคิดและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยตน เองนั้น เป็นเพราะพวกเขาได้ศึกษาและผ่านประสบการณ์มามาก

ข้อหก เซียนนั้นเรียนรู้ความผิดพลาดของตนเองอยู่เสมอ เช่นเดียวกัน พวกเขาเรียนรู้ความผิดพลาดจากคนอื่นด้วย ซึ่งทำให้เขา “เจ็บตัว” น้อยลง การเรียนรู้ความผิดพลาดจากคนอื่นนั้น แน่นอน ต้องศึกษาจากประวัติศาสตร์ ดังนั้น พวกเขาจึงมักเป็นนักอ่านตัวยง โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์หลายๆ แขนง เช่น ประวัติศาสตร์บุคคล เศรษฐกิจ ตลาดหุ้นและอื่นๆ

ข้อเจ็ด เซียนบางคนนั้น หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นคนที่กล้าอย่างบ้าบิ่น หรืออย่างน้อยก็ต้องกล้ากว่าปกติในการรับความเสี่ยง แต่ข้อเท็จจริง ก็คือ เซียนตัวจริงทั้งหลายนั้นมักจะกล้าเสี่ยงอย่างมีเหตุผลและไม่ว่าในกรณีใด จะไม่เสี่ยงเกินไปแม้ว่าโอกาสในการที่จะชนะจะสูงกว่ามาก พวกเขารู้ว่า ความผิดพลาดและโชคร้ายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น การเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ คือ สิ่งที่จะรับประกันว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ คำว่ากล้าเสี่ยงอย่างมีเหตุผลนั้น ถ้ามองในภาพกว้าง ก็คือ เขาจะเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ เช่น ต้องมีการกระจายการถือหุ้นในระดับหนึ่งไม่ใช่ลงทุนหุ้นเพียงตัวหรือสองตัว หรือตัวเดียวเกินกว่า 50% ของพอร์ต แต่พวกเขาก็จะไม่กระจายความเสี่ยงมากเกินไป เพราะการทำแบบนั้นถึงแม้จะดูว่าความเสี่ยงลดลงแต่ผลการลงทุนก็จะแย่ไปด้วย

ข้อแปด เซียนนั้น “ทำงานหนัก” เซียนทุกคนต่างก็ทำงานมากโดยเฉพาะในการอ่านและคิด และสิ่งที่อ่านและคิดของพวกเขานั้น สุดท้ายก็อาจจะเชื่อมโยงไปสู่การลงทุน เซียนที่เป็นนักบริหารกองทุนรวมนั้น แน่นอน พวกเขายุ่งมากกับงานการลงทุน เวลาว่างของพวกเขาน้อยมากและคนทั่วไปก็จะเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นเซียนที่ทำ งานหนักมาก อย่างไรก็ตาม เซียนที่บริหารเงินของตนเองอย่างบัฟเฟตต์นั้น หลายคนก็จะมองว่าเขาไม่ได้ทำงานหนักอะไรนักหนา เลิกงานห้าหกโมงเย็นก็กลับบ้านแล้ว ไม่มีการขนงานกลับไปทำที่บ้าน เวลาของเขานั้นมีเหลือเฟือตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่นั่นคือ สิ่งที่ปรากฏจากการมองภายนอก ข้อเท็จจริง ก็คือ เขาใช้เวลาอ่านมากมาย และคนที่อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนได้เท่าเขานั้นผมคิดว่ามีน้อย มาก ว่าที่จริง แม้แต่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง เช่น เรื่องของสังคมและการใช้ชีวิต เขาก็มีความรอบรู้ไม่น้อยทีเดียว เพียงแต่ว่าเขาอาจจะไม่ได้แสดงออกมามากนัก

ทั้งหมดนั้น ก็เป็นเพียงบางส่วนของคุณสมบัติที่เซียนส่วนใหญ่หรือเกือบทุกคนมี และผมเชื่อว่าคนที่อยากจะเป็นเซียนหรืออยากจะประสบความสำเร็จในการลงทุนจำ เป็นต้องมี ดีกรีหรือระดับความเข้มข้นของแต่ละคุณสมบัติของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากันขึ้น อยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างรวมถึงจิตวิทยาหรือนิสัยส่วนตัวและสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ายิ่งเราปรับตัวเข้าหานิสัยเซียนได้มากขึ้น เราก็น่าจะลงทุนได้ดีขึ้น

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่าน
เรื่องนี้ด้วยครับ


เรียนรู้ชีวิต โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ในสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย วิชาที่ผมไม่ชอบที่สุดวิชาหนึ่ง ก็คือ ชีววิทยา เหตุผลก็เพราะมันเป็น วิชาที่ผมจะต้องท่องจำมากที่สุด โดยที่ผมไม่รู้ว่าจะจำไปทำไม ยกเว้นแต่ว่าจะต้องไปทำข้อสอบ การจำนั้น บ่อยครั้งเป็นการจำที่ไม่มีพื้นฐานอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลเลยสำหรับผม เช่น ต้องจำว่าใบไม้ชนิดไหนมี "กี่แฉก" หรือต้องจำชื่อเซลล์แปลกๆ จำนวนมาก ว่า มันมีรูปร่างและทำงานอย่างไร นี่ประกอบกับการที่ผมไม่คิดว่าจะเรียนต่อทางสายแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต ผมจึงเรียนวิชาชีววิทยาเพียงแค่ "พอผ่าน" หลังจากนั้น ผมก็เลิกสนใจความรู้ทางด้านนี้ไปเลย

ผมกลับมาสนใจเรื่องของสิ่งมีชีวิตซึ่ง แน่นอน รวมถึงมนุษย์ หรือคนเราด้วย เมื่อได้มีโอกาสอ่านหนังสือพอคเก็ตบุ๊ค ซึ่งเขียนเพื่อให้คนเข้าใจง่ายเกี่ยวกับเรื่อง "วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต" ตามทฤษฎีของ ชาร์ล ดาร์วิน หนังสือในแนวนี้เริ่มมีแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับคำอธิบายและทฤษฎีใหม่ๆ ของนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ หลังจากอ่านหลายๆ เล่มผมก็พบว่า แท้ที่จริงแล้ว เกือบทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ซึ่งรวมถึงคนด้วยนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร่างกาย จิตใจ พฤติกรรม สังคมและการเมือง นี่เป็นเรื่องน่าทึ่ง และในฐานะที่เป็น Value Investor

ผมคิดว่า นี่คือ สิ่งที่ผมอยากรู้ อย่างน้อยที่สุดมันคงช่วยให้ผมเรียนรู้ถึงพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ ผมลงทุนอยู่ และก็โดยบังเอิญ ความรู้เรื่อง Behavioral Finance หรือ "การเงินพฤติกรรม" ก็เป็นเรื่องที่กำลังได้รับการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมันสามารถอธิบายความ "ผิดปกติ" ในตลาดการเงินได้ดี มันช่วยในการลงทุนของเราไม่น้อยไปกว่าทฤษฎีการเงินสายหลักอย่างทฤษฎี "ตลาดที่มีประสิทธิภาพ" หรือที่เรียกว่า Efficient Market ที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่านักลงทุนในตลาดหุ้น เป็นคนที่มีเหตุผลและไม่ได้ใช้อารมณ์ในการลงทุน

ในความเห็นของผม ทฤษฎีวิวัฒนาการ มันมีพื้นฐานที่ง่ายมาก และนั่นคือ สิ่งที่ทำให้มันทรงพลัง ในการที่จะอธิบายเรื่องราวต่างๆ หัวใจสำคัญ ก็คือ สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกต่างก็มาจากการปรับตัว และปรับปรุงจากสิ่งมีชีวิตอื่น การปรับตัวและปรับปรุง ไม่ได้มีเป้าหมาย หรือทิศทางแต่เป็นการได้มาโดยบังเอิญ เนื่องจากการ "ผ่าเหล่า" ของยีนซึ่งเป็นตัวกำหนดว่า เราจะเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทใดและอย่างไร

หัวใจสำคัญ ก็คือ เมื่อมีสิ่งที่ "ดี" เกิดขึ้นจากการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตนั้นก็จะเก็บสิ่ง "ดี" ไว้ และส่งต่อให้ลูกหลาน คำว่า "ดี" ไม่ใช่ดีในแง่ของศีลธรรมที่เราเข้าใจกันแต่เป็นสิ่งที่ดีในแง่ของชีวิตหรือ ถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือดีในแง่ของยีน นั่นก็คือ มันทำให้ยีนเผยแพร่ไปได้มากขึ้น

การที่ยีนจะเผยแพร่ต่อไปได้หรือเผยแพร่ได้มากขึ้น สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ต้องมีภารกิจ หรือ Mission สำคัญสามอย่าง นั่นก็คือ หนึ่ง ต้องพยายามกินสิ่งมีชีวิตอื่น สอง ต้องหลีกหนีการถูกกิน และ สาม ต้อง "สืบพันธุ์" หรือส่งต่อยีนไปให้ได้มากที่สุด และนี่คือ สิ่งที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทำเป็นหลัก

สิ่งที่ทำนอกเหนือจากนี้ เป็นสิ่งประกอบเพื่อที่จะเสริมให้ภารกิจหลักบรรลุเป้าหมาย ว่าที่จริงสิ่งมีชีวิตที่ "ไม่ซับซ้อน" เช่น พวกแบคทีเรีย ไส้เดือน หรือสัตว์ "ชั้นต่ำ" ทั้งหลาย จะไม่ทำภารกิจเสริมเลย สัตว์ชั้นสูงที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ที่อยู่ในป่าเช่นเสือหรือ กวางเอง ก็ทำภารกิจเสริมน้อยมาก ในแต่ละวันคิดแต่ว่าจะกินสัตว์อื่นได้อย่างไร จะหลีกหนีการถูกกินหรือเอาตัวรอดได้อย่างไร และจะมีโอกาสผสมพันธุ์ไหม ขณะที่มนุษย์หรือคนเรานั้น เราทำภารกิจเสริมมากมายจนบางครั้ง เราลืมคิดไปว่าภารกิจหลักคืออะไร "จิตใต้สำนึก" จะเป็นคนที่ชี้นำ หรือสั่งเราเองว่าเราจะต้องตัดสินใจทำอะไร หรือทำอย่างไรที่จะทำให้เราบรรลุภารกิจหลัก

จากพื้นฐานดังกล่าว เราสามารถที่จะรู้ หรือคาดการณ์การกระทำ หรือพฤติกรรมของคนได้ถูกต้องขึ้น เช่นเดียวกัน เราสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของสังคมหรือวัฒนธรรมได้ว่า ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น ในประเด็นนี้ เราต้องนำ "สิ่งแวดล้อม" เข้ามาประกอบการวิเคราะห์ เพราะสิ่งแวดล้อมแบบหนึ่ง มีผลต่อการกิน หรือถูกกินและการสืบพันธุ์ต่างกัน ร่างกายและจิตใจมนุษย์ถูกออกแบบ หรือได้รับการปรับปรุงมาตั้งแต่โบราณนับได้ถึงสองแสนปีแล้ว
แม้จะปรับ ปรุงมาตลอด เพื่อให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในช่วงประมาณหนึ่งหมื่นปีก่อนที่เราเริ่ม เปลี่ยนจากการล่าสัตว์และหาของป่ามาทำเกษตรกรรม ทำให้ร่างกายของเรายังปรับตัวไม่ทัน ยิ่งถ้าคิดถึงการเปลี่ยนแปลงเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ยิ่งทำให้ร่างกายของเรา "เพี้ยน" ไปจากที่เหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นั่นคือ ร่างกายของเราถูกออกแบบมาสำหรับการล่าสัตว์หาของป่า แต่ต้องมาอยู่ในสังคมที่ก้าวหน้ามาก และสามารถหาอาหารได้ง่ายดายในซูเปอร์มาร์เก็ต

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร มนุษย์ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องปฏิบัติภารกิจในชีวิตสามประการ พฤติกรรมที่แตกต่างไปจากนี้ที่ไม่เป็นการเสริมกับภารกิจหลักนี้ย่อมไม่มี มนุษย์ทุกคนทำทุกอย่าง "เพื่อตนเอง" ถ้าพูดกันตามภาษาที่เราคุ้นเคย ก็คือ คนย่อม "เห็นแก่ตัว" หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีก ก็คือ "ยีนย่อมเห็นแก่ตัว" และยีนก็คือคนที่คุมคน

ดังนั้น คนจึงเห็นแก่ตัว ว่าที่จริง ถ้าคนไม่เห็นแก่ตัว ป่านนี้คนก็คงหมดโลกไปแล้ว เพราะคนจะ "ถูกกิน" หมดก่อนถึงวันนี้ อย่าลืมว่า ในสมัยแสนปีที่แล้ว มนุษย์ไม่ได้สบายแบบวันนี้ และยังต้องคอยหนีเสืออยู่ในป่า เช่นเดียวกับที่ต้อง "ถูกกิน" โดยเชื้อโรคทั้งหลายโดยที่ไม่มียารักษา

ผมเขียนมายืดยาว เป็นเรื่องที่พื้นฐานมาก การประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในฐานะ VI แต่ละคนก็ต้องทำเอง การหาความรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะในด้านของจิตวิทยาของคนซึ่งก็มีคนเขียนไว้ไม่ น้อยที่เรียกว่า "จิตวิทยาวิวัฒนาการ" ซึ่งเป็นสาขาจิตวิทยา "แนวใหม่" ที่กำลังได้รับการยอมรับ เนื่องจากสามารถอธิบายเรื่องของจิตวิทยา หรือพฤติกรรมคนได้ดีกว่าจิตวิทยาแนวเดิม

ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้ VI เข้าใจชีวิตและสังคมดีขึ้น และน่าจะทำให้มีโอกาส "กินคนอื่น" แทนที่จะ "ถูกกิน" ในสมรภูมิหุ้น เหนือสิ่งอื่นใด มันน่าจะทำให้เราไม่ "ซื่อ" จนเกินไป คิดว่ามีคนที่ "ไม่เห็นแก่ตัว" เอา "อาหาร" มาให้เรากินแทนที่เขาจะกินเสียเอง อย่าลืมว่าตลาดหุ้น ถ้าเทียบกับยุคหิน ก็คือ ป่าที่เต็มไปด้วยเสือ สิงห์ กระทิง แรด ที่ต่างก็ต้องการ "กินคนอื่น" ถ้าเผลอคุณก็มีโอกาสเป็นอาหารของพวกเขาเสมอ

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่าน
เรื่องนี้ด้วยครับ


1  2  3  4  5  6  7  8  9  

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.