Group Blog
 
All blogs
 
วิเคราะห์การลงทุนจากพอร์ต โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ผมได้มีโอกาสเห็นพอร์ตการลงทุน ของนักลงทุนรายหนึ่ง ที่ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 2552 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นักลงทุนรายนี้ เป็นสุภาพสตรีอายุประมาณ 50 ปีและไม่มีทายาท ทำงานเป็นพนักงานบริษัทมีเงินเดือนประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน มีภาระค่าใช้จ่ายไม่มาก วัตถุประสงค์ที่เข้ามาลงทุน คือ ต้องการมีเงินใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน โดยไม่ต้องทำงานหลังเกษียณอายุที่ 55 ปี โดยมีเงินลงทุนเริ่มต้นประมาณล้านกว่าบาท

กลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ ก็คือ Value Investing ผลลัพธ์การลงทุนสองปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะไม่ได้กำไร เหตุคงเป็นเพราะว่า "ไม่สามารถเอาชนะความโลภได้" นั่นก็คือ ยังซื้อๆ ขายๆ หุ้นเป็นประจำ ในพอร์ตมีหุ้น "ติดดอย" จำนวนมาก

การวิเคราะห์ของผมพบว่า ข้อแรก จำนวนเงินในพอร์ตประมาณล้านบาทต้นๆ มีหุ้นอยู่ถึงเกือบ 20 ตัว เฉลี่ยถือหุ้นตัวละประมาณ 60,000-70,000 บาท ตัวที่สูงที่สุดประมาณสองแสนกว่าบาท หรือประมาณ 20% ของพอร์ต นอกจากนั้น ก็ถือกระจายกันไปค่อนข้างมาก

ในความเห็นของผม การถือหุ้นถึง 20 ตัวจากพอร์ตประมาณล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เป็นนักลงทุนอาชีพ ถือว่าถือหุ้นมากตัวเกินไป ผลตอบแทนที่ออกมาจะทำให้โดดเด่นได้ยาก เช่นเดียวกัน การติดตามดูแลก็จะทำได้ไม่ทั่วถึง ควรถือหุ้นไม่เกิน 10 ตัว หรือถ้าจะให้เหมาะสมจริงๆ อาจจะถือเพียง 5-6 ตัวกระจายกันไปในหลายอุตสาหกรรมก็พอแล้ว

ประเด็นที่สอง ที่ผมเห็นจากพอร์ต ก็คือ พอร์ตมีผลตอบแทนติดลบอยู่ประมาณ 6% เรื่องนี้ประกอบกับการที่เจ้าของบอกว่า ผลการลงทุนที่ผ่านมาไม่ได้กำไร ทำให้ผมรู้สึกว่า คงมีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติ เนื่องจากในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้น ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมากว่าร้อยเปอร์เซ็นต์

การที่ลงทุนแล้ว ผลตอบแทนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดมากขนาดนี้ แสดงให้เห็นว่า วิธีการลงทุนคงมีความผิดพลาด ซึ่งความผิดพลาดที่ผมคิดข้อหนึ่ง ก็คือ การซื้อขายหุ้นบ่อย และการพยายามคาดเดาจังหวะการซื้อขายหุ้น ซึ่งสะท้อนจากพอร์ตมีผลขาดทุนอยู่ ทั้งที่ลงทุนมาสองปีแล้วช่วงที่ตลาดหุ้นสดใส

เรื่องของพอร์ตที่ขาดทุน ในความเห็นของผมเป็นเรื่องสำคัญมาก นักลงทุนแบบ Value Investment ที่มุ่งมั่นและเดินทางในสายของการลงทุนจริงๆ ไม่ควรมีพอร์ตที่ขาดทุน หลังจากที่เขาลงทุนมาแล้วหลายปีและช่วงนั้นตลาดหุ้นไม่ได้มีภาวะผิดปกติ รุนแรง

เหตุผลเพราะว่า การลงทุนควรเป็นเรื่องระยะยาว การถือหุ้นแต่ละตัวโดยเฉลี่ยไม่ควรน้อยกว่า 3-4 ปีขึ้นไป หุ้นที่ถือลงทุนเอง ควรให้ผลตอบแทนพอสมควร

ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว หุ้นที่เราถือมานานควรจะมีราคาเพิ่มขึ้น และในเมื่อพอร์ตการลงทุนของเรา ถูกถือมานานพอควร พอร์ตจึงควรมีราคา และมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่ใช่น้อยลง

ประเด็นที่สาม ที่ผมเห็นก็คือ หุ้นจำนวน 19 ตัวในพอร์ต มีหุ้นที่ขาดทุนถึง 10 ตัว หรือประมาณครึ่งหนึ่ง นี่ก็เป็นสิ่งที่อาจจะชี้ให้เห็นว่าพอร์ตนี้เป็น "พอร์ตเก็งกำไร" ที่ทำให้หุ้นมีทั้งกำไรและขาดทุนพอๆ กัน โดยปกติพอร์ตที่ลงทุนจริงๆ ไม่ควรมีหุ้นที่ขาดทุน หรือถ้าจะมีก็ต้องน้อยมาก

ดังนั้นหุ้น 20 ตัว น่าจะมีหุ้นขาดทุนไม่เกิน 5 ตัว และหุ้นที่ขาดทุน ส่วนใหญ่ควรเป็นหุ้นที่เพิ่งมีการซื้อเข้าพอร์ตมาไม่นาน หุ้นที่ซื้อมานานแล้วไม่ควรขาดทุน เพราะหุ้นที่ซื้อมานานแล้ว ยังขาดทุน เราควรจะพิจารณาว่าเราซื้อหุ้นผิดหรือไม่ และถ้าผิดเราควรจะขายทิ้งไป ไม่ปล่อยให้ค้างอยู่ในพอร์ตอย่างนั้น

ความคิดเพิ่มเติมของผม เกี่ยวกับเรื่องจำนวนหุ้นขาดทุน และหุ้นกำไรในพอร์ต ก็คือ ยิ่งเป็นพอร์ตเน้นการลงทุนมาก จำนวนหุ้นขาดทุนก็จะยิ่งน้อย เพราะพอร์ตลงทุนจริงๆ ควรเป็นพอร์ตที่ถือหุ้นยาว และถือหุ้นคุณภาพดีที่ราคาค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนหุ้นจำนวนมากนั้น แทบไม่มีโอกาสขาดทุนเลยเนื่องจากต้นทุนของตัวหุ้นจะต่ำมาก

ตรงกันข้าม ยิ่งพอร์ตหุ้นเน้นการเก็งกำไรมาก จำนวนหุ้นขาดทุนในพอร์ตจะสูง สาเหตุเพราะว่า พอร์ตหุ้นเก็งกำไร มักจะเป็นพอร์ตของหุ้นที่เราถือระยะสั้น ซึ่งในระยะสั้นแล้ว การที่หุ้นจะขึ้น หรือลงมักจะมีพอๆ กัน ทำให้เราเห็นหุ้นขาดทุนมีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง

นักเก็งกำไรบางคน โดยเฉพาะที่เป็นรายย่อย "ชอบเก็บหุ้นขาดทุนและขายหุ้นที่กำไร" ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ เราจะพบว่า ในพอร์ตเต็มไปด้วยหุ้นที่ขาดทุน

ประเด็นที่สี่ ที่ผมพบจากหุ้นในพอร์ต ก็คือ เรื่องของหุ้นแต่ละตัว ซึ่งผมพบว่า สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 5 ตัว แต่สิ่งที่หุ้นเกือบทุกตัวมีร่วมกัน ก็คือ หุ้นเกือบทุกตัวเป็น "หุ้นร้อน" ความหมาย ก็คือ หุ้นเกือบทุกตัว เป็นหุ้นที่มีราคาขึ้นลงหวือหวาในช่วงเร็วๆ นี้ ปริมาณการซื้อขายสูงลิ่วเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มเดียวกัน และมีการกล่าวขวัญกันในสื่อต่างๆ ค่อนข้างมาก

หุ้นกลุ่มแรก ก็คือ หุ้นที่ร้อนแรงและเล่นกันในระดับสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น หุ้นพลังงานและแบงก์ขนาดใหญ่

หุ้นกลุ่มที่สองคือหุ้นขนาดใหญ่ที่ "ร้อนแรงมาก" และราคาอาจขึ้นไปแล้วหลายเท่า หุ้นกลุ่มนี้มักมีผลประกอบการที่ปรับขึ้นอย่างโดดเด่น และมี STORY หรือเรื่องราวที่ดีมากๆ รองรับ หลายหุ้นอาจจะใหญ่ขึ้นมาเพราะการปรับขึ้นของราคาหุ้น

หุ้นกลุ่มที่สาม ก็คือ หุ้นขนาดกลางที่กำลังร้อนแรงในหมู่ "VI" นี่ก็คือหุ้นที่มีการพูดถึงกันในเว็บไซต์และสื่อสมัยใหม่อื่นๆ ของการลงทุนในแนว Value Investment อย่างเข้มข้น

หุ้นเหล่านี้มีการซื้อขายที่ร้อนแรงมาก ไม่ต่างจากหุ้นเก็งกำไร แต่มักเป็นหุ้นที่กำลังมีผลประกอบการโดดเด่นพร้อมๆ กับเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น

สุดท้ายก็คือหุ้นตัวเล็กที่กำลังร้อนแรง หลายๆ ตัวเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และก็เช่นเดียวกัน มักเป็นหุ้นที่กำลังมีผลประกอบการที่โดดเด่นและเรื่องราวดีๆ

ประเด็นสุดท้ายที่ผมพยายามที่จะวิเคราะห์รวบยอดว่า พอร์ตของสุภาพสตรีท่านนี้ บอกอะไรเกี่ยวกับการลงทุนของเธอบ้าง ก็คือ ผมคิดว่าข้อแรก เธอตั้งเป้าของการลงทุนสูงเกินไป การที่จะหวังให้ได้รายได้ประมาณเดือนละ 20,000 บาท หมายความว่า เธอจะต้องมีพอร์ตประมาณ 200 เท่าของรายรับประจำเดือน

นั่นแปลว่าจะต้องมีพอร์ตถึงประมาณ 4-5 ล้านบาท ซึ่งภายในเวลาประมาณ 4-5 ปีนับจากนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะทำเงินล้านกว่าเป็น 4-5 ล้านบาท

ประการที่สอง เธอมีความตั้งใจที่จะลงทุนแบบ VI และได้ติดตามหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนแบบนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเวลาและการศึกษาอาจจะยังไม่เพียงพอ ดังนั้น การหาข้อมูลตัวหุ้นที่จะลงทุนจึงอาจจะเป็นการติดตามหุ้นจากสื่อที่ "ถูกป้อน" เข้ามามากกว่าจะเป็นการออกไปค้นหาเอง

ดังนั้น เธอจึงมักลงทุนเฉพาะ "หุ้นร้อน" ที่อาจมี "กลิ่นอายของ VI" มากกว่าที่จะเป็น VI จริงๆ นั่นคือ เธออาจจะเข้าไปลงทุนหลังจากราคาหุ้นขึ้นไปถึง "ยอดดอย" ซึ่งทำให้หุ้นนั้นหมดสภาพการเป็นหุ้น VI ไปแล้ว

สุดท้ายก็คือเรื่องของจิตใจ ซึ่งเธออาจจะยังไม่พร้อม ซึ่งทำให้เธอตกอยู่ในอิทธิพลของเพื่อน และสื่อต่างๆ ในการซื้อๆ ขายๆ หุ้น ผลก็คือ เธอยังไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักลงทุนแบบ VI ตามที่ต้องการ

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ



ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.