Group Blog
 
All blogs
 

ท็อป 10 ประเทศอ่วมหนี้มากสุดในโลก


วิกฤตหนี้ในยุโรปมี ส่วนชี้ชะตาเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะกรีซที่ยังหาทางออกไม่เจอ และจุดชนวนความรุนแรงในประเทศ

ล่าสุด รัฐมนตรีคลังยูโรโซน เลื่อนการประชุม เพื่อพิจารณาความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซรอบ 2 ออกไปเป็นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หรืออาจเลื่อนยาวไปถึงช่วงหลังการเลือกตั้งของกรีซ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนเมษายน หากกรีซไม่ได้เงินช่วยเหลือ 1.3 แสนล้านยูโร เพื่อชำระหนี้พันธบัตร ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 20 มีนาคม ก็จะทำให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ และกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างยากจะหลีกเลี่ยง เพราะเท่ากับเอเธนส์เดินใกล้ภาวะล้มละลายมากขึ้นทุกที

นอกจากกรีซแล้ว สมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หลายประเทศ ก็กำลังเผชิญกับภาระหนี้มหาศาลเช่นกัน เมื่อต้นสัปดาห์ “มูดี้ส์” เพิ่งลดอันดับความน่าเชื่อถือของ 6 ประเทศยุโรป อาทิ อิตาลี โปรตุเกส สเปน แม้แต่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ทั้งสหรัฐ เยอรมนี ญี่ปุ่น ต่างก็พบวิบากกรรมหนี้กันถ้วนหน้า เพียงแต่หลายประเทศยังสามารถบริหารจัดการได้

เว็บไซต์ 24/7 วอลล์สตรีท จัดอันดับท็อป 10 ประเทศอ่วมหนี้มากที่สุด โดยใช้ข้อมูลส่วนใหญ่ในปี 2554 ซึ่งหลายประเทศมีระดับหนี้สูงมากเมื่อเทียบกับจีดีพี ที่ถูกกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับอัตราว่างงานในระดับสูง ระดับจีดีพีต่อหัวต่อปีที่ต่ำ และขีดความสามารถในการผลิตที่ลดลง แต่บางประเทศ อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น แม้จะมีหนี้สูงแต่สามารถรับมือได้ เพราะเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง

ประเทศที่เป็นแชมป์หนี้ ได้แก่ “ญี่ปุ่น” มีสัดส่วนหนี้ คิดเป็นร้อยละของจีดีพีอยู่ที่ 233.1% สูงที่สุดในหมู่ชาติพัฒนาแล้วด้วยกัน แต่แม้ปริมาณหนี้จะมหาศาล ทว่า ญี่ปุ่นสามารถบริหารจัดการให้รอดพ้นจากหายนะทางเศรษฐกิจ ไม่ซ้ำรอยกรีซและโปรตุเกส เนื่องจากแดนซามูไร มีอัตราว่างงานในระดับต่ำเพียง 4.6% และเจ้าหนี้พันธบัตรรัฐบาล 95% เป็นชาวญี่ปุ่นเอง ไม่ใช่ต่างชาติ

ขณะที่หนี้ภาครัฐอยู่ที่ 13.7 ล้านล้านดอลลาร์ ตัวเลขจีดีพีต่อคนต่อปี อยู่ที่ 33.994 ดอลลาร์ ส่วนมูลค่าจีดีพี (nominal GDP) อยู่ที่ 5.88 ล้านล้านดอลลาร์

รองแชมป์ตกเป็นของ “กรีซ” ที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ล่าสุดเอเธนส์ มีสัดส่วนหนี้ ที่คิดเป็นร้อยละของจีดีพี 168.2% เพิ่มจากเมื่อปี 2553 ที่อยู่ที่ระดับ 143%

ตัวเลขหนี้ของรัฐบาลเอเธนส์อยู่ที่ 4.89 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนจีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 28,154 ดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 3.03 แสนล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงานสูงถึง 19.2%

อันดับ 3 คือ “อิตาลี” มีสัดส่วนหนี้ ที่คิดเป็นร้อยละของจีดีพี 120.5% โดยปัญหาหนี้ มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของแดนมักกะโรนี ซึ่งจีดีพีเติบโตเพียง 1.3% ในปี 2553 จนอิตาลีต้องประกาศมาตรการรัดเข็มขัดเมื่อปลายปีที่แล้ว

หนี้ของรัฐบาลอิตาลีอยู่ที่ 2.54 ล้านล้านดอลลาร์ จีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 31,555 ดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงานที่ 8.9%

อันดับ 4 ได้แก่ “ไอร์แลนด์” ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในอียู มีอัตราเติบโตของจีดีพีเฉลี่ย 10% และมีอัตราว่างงานต่ำสุดในหมู่ชาติอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว จนกระทั่งเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจไอร์แลนด์ก็เริ่มหดตัว จนถึงปี 2553 ไอร์แลนด์ขาดดุลงบประมาณ 32.4% ของจีดีพี และยอดหนี้พุ่งกว่า 500% นับตั้งแต่ปี 2544

ล่าสุด ไอร์แลนด์ มีสัดส่วนหนี้ที่คิดเป็นร้อยละของจีดีพี 108.1% มีหนี้ภาครัฐ 2.25 แสนล้านดอลลาร์ จีดีพีต่อคนต่อปี 39,727 ดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 2.17 แสนล้านดอลลาร์ และอัตราว่างงาน 14.5%

อับดับ 5 “โปรตุเกส” ที่ได้รับแรงกระแทกจากเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างหนักหน่วง เมื่อปี 2554 แดนฝอยทองขอรับเงินช่วยเหลือจากอียูและไอเอ็มเอฟไปแล้ว 1.04 แสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณและหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาก

ปัจจุบัน โปรตุเกส มีสัดส่วนหนี้ที่คิดเป็นร้อยละของจีดีพี 101.6% มีหนี้ภาครัฐ 2.57 แสนล้านดอลลาร์ จีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 25,575 ดอลลาร์ มีมูลค่าจีดีพี 2.39 แสนล้านดอลลาร์ และอัตราว่างงานอยู่ที่ 13.6%

อันดับ 6 “เบลเยี่ยม” ล่าสุด มีสัดส่วนหนี้ ที่คิดเป็นร้อยละของจีดีพี 97.2% ทั้งนี้ ไอร์แลนด์เคยมีอัตราหนี้ต่อจีดีพีสูงถึง 135% เมื่อปี 2536 และค่อยๆ ลดเหลือ 84% ในปี 2550 แต่ภายใน 4 ปีต่อมาก็กลับเพิ่มเป็น 95%

เบลเยี่ยมมีหนี้ภาครัฐ 4.79 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนจีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 37,448 ดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 5.14 แสนล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงาน 7.2%

อันดับ 7 สหรัฐอเมริกา ขณะนี้มีสัดส่วนหนี้ 85.5% ของจีดีพี จากเมื่อปี 2544 ที่อยู่ที่ 45.6% เนื่องจากทางการวอชิงตันใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2544 พญาอินทรีมีค่าใช้จ่าย 33.1% ของจีดีพี กระทั่งถึงปี 2553 รายจ่ายเพิ่มเป็น 39.1% ของจีดีพี

ส่วนหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ นับถึงปี 2554 อยู่ที่ 12.8 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก 6.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2548 ส่วนจีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 47,184 ดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 15.13 ล้านล้านดอลลาร์ และอัตราว่างงานอยู่ที่ 8.3%

อันดับ 8 “ฝรั่งเศส” เขตเศรษฐกิจอันดับ 3 ของอียูที่มีสัดส่วนหนี้คิดเป็นร้อยละของจีดีพีอยู่ที่ 85.4% มีหนี้ภาครัฐอยู่ที่ 2.26 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 2.76 ล้านล้านดอลลาร์ สูสีกับอังกฤษ ส่วนจีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 33,820 ดอลลาร์ และมีอัตราว่างงาน 9.9%

อันดับ 9 “เยอรมนี” เขตเศรษฐกิจใหญ่สุดและแข็งแกร่งที่สุดในอียู เมืองเบียร์ มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้แก่ยูโรโซนทั้งหมด รวมถึงลงขันเงินช่วยเหลือแก่กรีซในปี 2553 แต่แม้จะมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เมืองเบียร์มีสัดส่วนหนี้ 81.8% ของจีดีพี สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน

เยอรมนี มีหนี้ภาครัฐ 2.79 ล้านล้านดอลลาร์ มีจีดีพีต่อคนต่อปี 37,591 ดอลลาร์ มีมูลค่าจีดีพี 3.56 ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงาน 5.5% ถือเป็นระดับต่ำสุดในยุโรป

อันดับสุดท้ายของทำเนียบหนี้โลก ได้แก่ “อังกฤษ” ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ 80.9% ของจีดีพี แม้จะค่อนข้างสูง แต่เศรษฐกิจเมืองผู้ดียังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับอังกฤษไม่ได้อยู่ในยูโรโซนที่ใช้เงินสกุลเดียวกัน ทำให้รัฐบาลและแบงก์ชาติมีอิสระที่จะดำเนินการใดๆ มากกว่า

สำหรับหนี้ของรัฐบาลอังกฤษอยู่ที่ 1.99 ล้านล้านดอลลาร์ จีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 35,860 ดอลลาร์ มีมูลค่าจีดีพี 2.46 ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงาน 8.4%

แหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ



girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.