Group Blog
 
All blogs
 

วอเร็น บัฟเฟตต์ ข้างบ้าน โดย ดร. นิเวศน์


ในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นกระทิงยาวนานนั้น ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เรามักพบเห็นเสมอก็คือ มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำจากตลาดหุ้น ผลตอบแทนที่พวกเขาได้รับนั้น หลาย ๆ คนสามารถทำได้สูงลิ่วอย่างไม่น่าเชื่อ จำนวนไม่น้อยสูงยิ่งกว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ ไม่ว่าจะวัดกันในช่วงเวลาไหนในเวลาที่เท่า ๆ กัน ตัวอย่างเช่น นาย ก. ลงทุนมา 10 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นที่ทำได้สูงถึงปีละกว่า 40% ในขณะที่บัฟเฟตต์เองนั้น ไม่เคยทำได้ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่พอร์ตเขายังเล็กที่การสร้างผลตอบแทนสูงยังทำ ได้ง่าย หรือในช่วง “ยุคทอง” ไหนของบัฟเฟตต์ก็ตาม ว่าที่จริงปีที่บัฟเฟตต์ทำผลตอบแทนได้ถึง 40% นั้นก็มีไม่เกิน 10 ปีในช่วงเวลากว่า 50 ปีของชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์ ดังนั้น ถ้าจะวัดกันที่ผลการลงทุนเป็นเปอร์เซ็นต์แบบทบต้นต่อปีแล้ว คนที่ทำได้สูงกว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น มีไม่น้อย เพียงแต่ว่าชื่อเขาอาจจะไม่เป็นที่รู้จักยกเว้นในกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กันอยู่ คนเหล่านี้ บางที เราก็เรียกกันว่า “วอเร็น บัฟเฟตต์ ข้างบ้าน” อย่างไรก็ตาม ระหว่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ ข้างบ้าน กับ วอเร็น บัฟเฟตต์ ตัวจริง นั้น มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่เราควรรู้

ข้อแรก ก็คือ ระยะเวลาการลงทุนของ “วอเร็น ข้างบ้าน” นั้น มักจะสั้นกว่ามาก ส่วนมากก็มักจะไม่เกิน 10 ปี ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ส่วนใหญ่อาจจะลงทุนมาแค่ 5-6 ปี แต่ผลตอบแทนอาจจะสูงกว่าที่บัฟเฟตต์ทำได้ในเวลา 10 ปี พูดง่าย ๆ บัฟเฟตต์นั้น “ชิดซ้าย” ไปได้เลย อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่ทำได้สูงลิ่วนั้น ส่วนมากมาจากเงินต้นจำนวนที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น พวกเขาก็ยังมักจะไม่รวยมาก แม้ว่าบางคนก็อาจเข้าข่าย “เศรษฐี” ย่อย ๆ ได้เหมือนกัน

ข้อสอง ผลตอบแทนของ วอเร็น ข้างบ้าน ที่ทำได้สูงลิ่วนั้น มักจะทำได้ในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมมากและต่อเนื่องยาวนาน ถ้าจะมีการปรับตัวก็เป็นการปรับตัวในระยะเวลาสั้น ๆ ถ้าคิดถึงตลาดหุ้นไทยก็คือช่วงเวลานี้ที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นต่อ เนื่องมานับสิบปีแล้วหลังจากวิกฤติในปี 2540 ที่ดัชนีหุ้นเคยตกต่ำลงไปเหลือแค่ 200 จุดต้น ๆ จนถึง 1,000 จุดในช่วงนี้ ในขณะที่ บัฟเฟตต์ ตัวจริงนั้น ผ่านสถานการณ์ตลาดหุ้นมาทุกสถานการณ์ ตั้งแต่ดีสุดถึงร้ายสุด ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี

ข้อสาม ผลตอบแทนของ วอเร็น ข้างบ้าน ปีต่อปี นั้น มักจะไม่สม่ำเสมอ บางปีก็ได้ไม่มากและบางปีอาจจะถึงกับขาดทุน แต่ในบางปีโดยเฉพาะในปีท้าย ๆ ของการวัดผลงานนั้น พวกเขามักทำผลตอบแทนได้อย่างมโหฬารคิดเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงลิ่ว ในขณะที่ วอเร็น ตัวจริง นั้น ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอ น้อยครั้งที่พอร์ตของเขาจะขาดทุน ในช่วงเวลากว่า 50 ปี เขาเคยขาดทุนไม่น่าจะเกิน 5 ปี นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า การลงทุนของบัฟเฟตต์ตัวจริงนั้นมีความเสี่ยงต่ำกว่ามาก

ข้อสี่ หุ้นที่ บัฟเฟตต์ ข้างบ้าน ลงทุนนั้น มักจะเป็นหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังร้อนแรง หรือเป็นหุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรง ซึ่งทำให้ได้ผลตอบแทนสูงลิ่วในระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะที่หุ้นที่ บัฟเฟตต์ ตัวจริง ลงนั้น มักจะเป็นหุ้นในอุตสาหกรรมปกติที่มีความได้เปรียบที่ยั่งยืน มีผลประกอบการดี และให้ผลตอบแทนที่สูงสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน

ข้อห้า วอเร็น ข้างบ้าน นั้น มักจะมีการซื้อขายหุ้นในระยะเวลาที่สั้น โดยทั่วไปมักจะถือหุ้นเฉลี่ยไม่เกินหนึ่งปี พวกเขาทำกำไรโดยการ “หมุนหุ้น” ซื้อหุ้นที่มีโอกาสดีดตัวอย่างแรงจากปัจจัยบางอย่าง เมื่อหุ้นขึ้นถึงจุดหนึ่งก็ขาย แล้วไปจับหุ้นตัวใหม่ที่น่าจะมี “Upside” หรือโอกาสในการวิ่งขึ้นสูงกว่า ในขณะที่ บัฟเฟตต์ ตัวจริง นั้น ซื้อหุ้นแล้วแทบไม่ขาย ปล่อยให้ผลตอบแทนของหุ้นโตตามผลประกอบการของบริษัท

ข้อหก ในแง่ของจำนวนหุ้นที่ถือในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ บัฟเฟตต์ ข้างบ้าน มักลงทุนตามแบบ บัฟเฟตต์ ตัวจริง นั่นก็คือ ถือหุ้นน้อยตัวหรือลงทุนแบบ Focus เพียงแต่ว่า วอเร็น ข้างบ้าน นั้น มักจะถือหุ้นน้อยตัวยิ่งกว่า หลายคนถือหุ้นเพียงตัวเดียวหรือสองสามตัวในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ หรือหุ้นตัวสองตัวก็คิดเป็น 80-90% ของพอร์ตไปแล้ว ในขณะที่ บัฟเฟตต์ ตัวจริง นั้นน้อยครั้งที่เขาจะมีหุ้นตัวใดตัวหนึ่งคิดเป็น 40-50% ของพอร์ต และนั่นคือช่วงเวลาที่พอร์ตของเขายังไม่ใหญ่มาก ในช่วงปัจจุบัน ผมคิดว่าหุ้นแต่ละตัวน่าจะมีมูลค่าไม่เกิน 10-20% ของพอร์ตของบัฟเฟตต์

ข้อเจ็ดและเป็นข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ในกรณีของ บัฟเฟตต์ ข้างบ้าน นั้น กำไรหรือผลตอบแทนที่ทำได้สำหรับบางคนก็เป็น “กระดาษ” นี่คือกรณีที่มีการแสดงผลการลงทุนของพอร์ตที่ไม่ได้ใช้เงินจริงแต่เป็นการ “แข่งขัน” ลงทุนระยะยาวตามเวบไซ้ต์ในต่างประเทศ ในกรณีแบบนี้เจ้าตัวอาจจะไม่ได้ลงเงินจริง ๆ ก็ได้ และสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนจริง ๆ คนส่วนมากก็มักจะไม่ได้เก็บสถิติอย่างละเอียดถี่ถ้วน และมักจะมีการเติมเงินและถอนเงินเป็นระยะ ดังนั้น ผลตอบแทนที่อ้างว่าทำได้ก็อาจจะไม่ถูกต้อง เหนือสิ่งอื่นใด ข้อมูลผลตอบแทนที่มีการอ้างถึงก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนและเป็นข้อมูลที่เปิดเผย พิสูจน์ได้ ตรงกันข้าม ในกรณีของ บัฟเฟตต์ ตัวจริง นั้นผลตอบแทนที่ทำได้เป็น “ข้อมูลสาธารณะ” ที่เขาต้องประกาศทุกปีในฐานะห้างหุ้นส่วนและต่อมาเป็นบริษัทมหาชน

กล่าวโดยสรุปสำหรับความแตกต่างระหว่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ ตัวจริง กับ วอเร็นบัฟเฟตต์ ข้างบ้าน ก็คือ วอเร็น ตัวจริง นั้น เขาประสบความสำเร็จในฐานะที่เป็นนักลงทุนระยะยาวที่เน้นการลงทุนในหุ้นของ กิจการที่มีผลประกอบการที่ดีสม่ำเสมอและปลอดภัยจริง ๆ ในทุกสถานการณ์ เขาไม่เก็งกำไรและมีการกระจายความเสี่ยงโดยการถือหุ้นในระดับที่เหมาะสมไม่ น้อยหรือมากตัวเกินไป ในขณะที่ วอเร็น ข้างบ้านนั้น ถึงแม้ว่าพวกเขาจะทำผลงานได้ดีเท่าหรือเหนือกว่าบัฟเฟตต์ตัวจริง แต่ความเสี่ยงก็สูง จำนวนมากนั้นมีลักษณะแบบนักเก็งกำไร ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นบูมปัญหาก็ไม่มี อย่างไรก็ตาม โชคอาจจะไม่ดีเสมอไป ดังนั้น เมื่อมาถึงจุดที่ตลาดไม่เอื้ออำนวย ผลงานของบัฟเฟตต์ ข้างบ้าน ก็มักจะด้อยลงไปมาก เช่นเดียวกัน พอร์ตที่ใหญ่ขึ้นมากก็มักไม่เอื้อให้ บัฟเฟตต์ ข้างบ้าน สามารถดำเนินกลยุทธ์เดิม ๆ ได้ง่าย และนั่นเป็นเหตุให้ วอเร็น บัฟเฟตต์ ข้างบ้าน ส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนสูงแบบเดิมต่อไปได้นานพอที่จะทำให้เขารวยมาก จนเป็นที่สังเกตของคนในสังคมวงกว้างได้
แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


วิวัฒนาการของการเก็งกำไร โดย ดร. นิเวศน์


ในช่วงที่ตลาดหุ้น กำลังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องยาวนานเป็นตลาดกระทิงนั้น หุ้นที่มักได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่นักลงทุนรายย่อย ก็คือ "หุ้นเก็งกำไร"

หุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้น เก็งกำไรนั้น ผมขอให้คำนิยามอย่างง่ายที่สุด ก็คือ เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายหมุนเวียนสูงมาก เมื่อเทียบกับหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดที่เรียกกันว่า Free Float ตัวอย่างเช่น บริษัทมีหุ้นทั้งหมด 1,000 ล้านหุ้น แต่มีหุ้นเพียง 300 ล้านหุ้น ที่อยู่ในมือของคนเล่นหุ้น หรือมีหุ้น Free Float อยู่ 300 ล้านหุ้น ที่เหลือเป็นหุ้นของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มักจะไม่ขายออกมาในตลาด ถ้าหากหุ้นตัวนี้มีปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันสูงถึง 300 ล้านหุ้น แบบนี้ก็แปลว่าคนที่เล่นหุ้นตัวนี้มีการซื้อขายเร็วมาก กล่าวคือ โดยเฉลี่ยแล้วจะซื้อและถือหุ้นเพียงวันเดียวก็ขายแล้ว พวกเขาซื้อเพราะหวังที่จะได้กำไรอย่างรวดเร็ว จากการที่ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นในวันเดียว คนที่เล่นหุ้นตัวนี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องการถือยาวเพื่อรอกำไร และปันผลที่จะตามมา

ปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงขนาดไหน จึงจะถือว่าเข้าข่ายเป็นหุ้นเก็งกำไรนั้นผมไม่สามารถบอกได้เพราะมันขึ้นอยู่ กับ "ดีกรี" ของการเก็งกำไรของหุ้นตัวนั้น ๆ ถ้าเป็นหุ้น "ตัวเล็ก" มี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นไม่ถึง 10,000 ล้านบาท แต่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นติดอันดับหนึ่งในสิบของตลาดเป็นประจำหรือบางวัน เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุดในตลาด แบบนี้ก็ต้องเรียกว่าเป็นหุ้น "เก็งกำไรรุนแรง" และนี่คือ หุ้นที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ สิ่งที่ผมจะพูด ก็คือ ข้อสังเกตของผมที่เคยเห็นหุ้นเก็งกำไรมายาวนานว่ามันมี "วิวัฒนาการ" อย่างไร

ประการแรก ที่ผมเห็นและน่าจะเป็นสิ่งที่จะยังอยู่ต่อไปอีกนาน ก็คือ หุ้นเก็งกำไรนั้นมักจะเป็นหุ้นตัวเล็กและ/หรือมี Free Float น้อย นี่เป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนและก็คงเปลี่ยนได้ยาก เพราะหุ้นที่ตัวใหญ่ หรือมี Free Float สูงนั้น เป็นเรื่องยากที่จะ "ไล่ราคา" หรือ "ทำราคา" ให้วิ่งได้เร็วหรือง่าย

ประการที่สอง ที่ผมเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลง หรือมี "วิวัฒนาการ" ของการเก็งกำไรชัดเจน ก็คือ ในอดีตนั้น "สปอนเซอร์" หรือคนที่เป็น "ผู้นำ" ในการเก็งกำไรนั้น มักจะมีเพียงรายเดียวหรือเพียงสองสามรายที่เป็น "รายใหญ่" ที่มีชื่อเสียงในตลาดหุ้น แต่ปัจจุบันนั้น คนที่เป็น "ผู้เล่นหลัก" ในหุ้นเก็งกำไรแต่ละตัวนั้น มักจะมีหลายคนหรืออาจจะเรียกว่า "เล่นกันเป็นกลุ่ม" และมักจะรวมถึงคนที่มี "ชื่อเสียง" ในวงการด้วย

ประการที่สาม หุ้นเก็งกำไรในอดีตนั้น มักจะเป็น "หุ้นเน่า" คือ เป็นหุ้นที่มีพื้นฐานทางธุรกิจที่เลวร้าย เพียงแต่อยู่ในอุตสาหกรรมที่อาจจะร้อนแรงและสปอนเซอร์หรือเจ้าของบริษัทที่ อาจจะร่วมมือด้วยช่วยกัน "สร้างข่าว" กระตุ้นราคาหุ้นตลอดเวลาพร้อมๆ กับการซื้อขายหุ้นนำเพื่อสร้างราคาหุ้นให้สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในปัจจุบัน หุ้นเก็งกำไรนั้น มักจะเป็นหุ้นที่พอมีพื้นฐานอยู่บ้าง แต่จะต้องเป็นกิจการที่มีผลประกอบการไม่แน่นอน มีช่วงเวลาที่เลวร้ายและช่วงเวลาที่ดีมากๆ สลับกันไป และช่วงเวลาที่จะนำหุ้นมาเล่นเก็งกำไร ก็คือ ช่วงที่บริษัทกำลังมีผลประกอบการที่ดีเยี่ยม หรือเป็นช่วงขาขึ้นของบริษัท

ประการที่สี่ ในอดีตนั้น การ "โปรโมทหุ้น" เพื่อกระตุ้นราคาหุ้นนั้น มักจะเป็นการ "ปล่อยข่าว" ไปตามห้องค้าแบบ "ปากต่อปาก" หรือบางกรณีก็ผ่านสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หุ้นที่ออก เป็นรายวัน แต่ในปัจจุบัน การโปรโมทหุ้นนั้น ทำกันในทุกสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางอินเทอร์เน็ต และทางโทรศัพท์มือถือที่เป็นสื่อสังคมทั้งหลาย และเนื้อหาของสิ่งที่ใช้นั้นก็ไม่ใช่เพียงแต่ "ข่าว" แต่รวมถึงการวิเคราะห์หุ้นแบบลึกซึ้ง "น่าเชื่อถือ" ที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือ ในปัจจุบัน ผู้บริหารต่างก็ออกมาช่วย "ยืนยัน" กับนักลงทุนโดยตรง ว่า กิจการนั้นกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างโดดเด่น เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากอดีตที่ลุ่มๆ ดอนๆ หรือเนือยๆ มานาน

ประการที่ห้า ในอดีตนั้น เจ้าของบริษัทมักจะต้อง "เปิดไฟเขียว" หรือเข้าร่วมในกระบวนการเก็งกำไรด้วย แต่ในปัจจุบันนั้น อาจจะไม่จำเป็น ขอเพียงเจ้าของไม่มา "ขัด" ก็พอแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด การที่หุ้นราคาดีมีสภาพคล่องสูง มันก็เป็นผลประโยชน์กับเจ้าของ ดังนั้น เจ้าของก็ไม่อยากทำลายสถานการณ์นั้นอยู่แล้ว

ประการที่หก ในอดีต หุ้นเก็งกำไรมากๆ นั้น เมื่อ "หมดรอบ" สปอนเซอร์ หรือรายใหญ่ได้ขายหุ้นทำกำไรไปแล้ว การตกต่ำลงของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรงมาก เหตุผลคงเป็นเพราะพื้นฐานของหุ้นไม่ดีตั้งแต่เริ่ม ดังนั้น นักเล่นหุ้นต้องรีบขาย "หนีตาย" ก่อนที่ปริมาณการซื้อขายจะหดหายไปเกือบหมด ในปัจจุบันนั้น เนื่องจากหุ้นเก็งกำไรหลายตัว หรือส่วนใหญ่มักมีผลประกอบการที่ยังดีอยู่ แม้ว่าราคาจะวิ่งไปเกินพื้นฐานมาก แต่การที่กำไรยังมีและน่าจะยังดำเนินต่อไประยะหนึ่ง ดังนั้น คนที่ถือหุ้นไว้ก็ยังมีความหวัง ดังนั้น การลดลงของราคาและปริมาณการซื้อขายจึงไม่รุนแรงเท่ากับหุ้นเก็งกำไรในอดีต นอกจากนั้น ระดับราคาที่สูงยังมักจะสามารถดำรงอยู่ยาวกว่าในอดีตมาก

สุดท้าย ก็คือ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน นักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จสูงในช่วงที่ตลาดบูม มักจะสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ผลตอบแทนสูงลิ่วเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ต่อปี และอาจจะหลายปีติดต่อกัน หลายคนกลายเป็น "เทพ" มีชื่อเสียงในวงการเล่นหุ้นและลงทุน สถานการณ์แบบนี้มักจะจบลงเมื่อตลาดหุ้นที่เริ่มกลายเป็น "ฟองสบู่" แตกตัวลงและราคาหุ้นตกต่ำลงอย่างหนักต่อเนื่องยาวนาน ในสถานการณ์แบบนั้น นักเก็งกำไรจำนวนมากต้องขาดทุนและเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะจากการใช้มาร์จินเล่นหุ้น จำนวนมากออกจากตลาดและกลับไป "ทำมาหากิน" อย่างอื่น แต่บางคนที่สามารถหลีกเลี่ยงหายนะ และรักษาความมั่งคั่งที่สะสมไว้ได้กลายเป็น "เสี่ย" ที่จะยังอยู่ในตลาดต่อไป และพร้อมกลับมาอีกเมื่อสถานการณ์ตลาดกลับสู่ภาวะปกติ

สำหรับนักเก็งกำไรรายเล็กที่เล่นหุ้น "รายวัน" อดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม พวกเขาคอยดูทุกเช้าว่า "เขาเล่นตัวไหน" ในวันนี้ พวกเขาพร้อมซื้อและขายทุกวันและทุกนาที ในยามที่ตลาดหุ้นยังดีและสปอนเซอร์ยังเล่นกันอยู่ พวกเขาก็มักจะมีกำไรติดไม้ติดมือไปบ้าง แต่ในช่วงที่ตลาดกำลังลงและผู้นำทยอย "ถอย" ออกจากตัวหุ้น คนจำนวนมากก็จะขาดทุน โดยรวมแล้ว นักเก็งกำไรรายย่อยก็มักจะขาดทุนโดยเฉพาะเมื่อคิดรวมถึงค่าคอมมิชชั่นที่ ต้องเสียไปค่อนข้างมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร นักเก็งกำไรรายย่อยก็จะไม่หนีหายหรือไม่หมดไป เขาพร้อมกลับมาเล่นใหม่ กับหุ้นเก็งกำไรตัวใหม่ กับ "ความหวังใหม่" เหนือสิ่งอื่นใด นี่คงเป็นจิตวิทยาที่ฝังอยู่ในยีนของมนุษย์ นั่นคือ มนุษย์นั้นมีสัญชาตญาณของการ "เก็งกำไร"

แหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


เล่นกับหุ้น IPO โดย ดร.นิเวศน์


ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นกระทิง นอกจากหุ้นในตลาดจำนวนมาก จะมีราคาปรับตัวขึ้นไปอย่างหวือหวาและปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายแล้ว ยัง มีหุ้นเข้าจดทะเบียนใหม่ที่เรียกว่าหุ้น IPO (Initial Public Offering) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หุ้น IPO เหล่านั้น หลายๆ ตัว ในวันแรกหรือช่วงแรกๆ ที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น มีราคาปรับขึ้นจากราคาขายหุ้นครั้งแรกสูงมากพร้อมๆ กับปริมาณการซื้อขายที่มโหฬาร หุ้น IPO นั้น น่าสนใจหรือไม่สำหรับ Value Investor เรามาดูกัน

ข้อแรก มองในแง่แรงจูงใจของเจ้าของบริษัทที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งที่เจ้าของต้องการนั้น นอกจากการระดมเงินเพื่อขยายธุรกิจ และการที่ต้องการลดความเสี่ยงโดยการขายกิจการบางส่วนออกไป เพื่อเอาเงินไปใช้หรือลงทุนอย่างอื่นแล้ว เขาก็ต้องการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตนเอง และการที่จะเพิ่มความมั่งคั่งได้ก็คือ ต้องการขายหุ้นให้ได้ราคาสูงสุดที่คนจะยอมซื้อได้ การที่จะทำอย่างนั้นได้ เขาก็ต้องทำให้บริษัท "ดู" น่าสนใจและมีอนาคตสดใสมากที่สุด วิธีการทำก็คือ ทำให้เห็นว่าบริษัทมีกำไรดีและ "จะ" เติบโตไปได้อีกมาก เพราะนั่นคือสิ่งที่นักลงทุนต้องการจากการซื้อหุ้น นักลงทุนยินดีที่จะจ่ายเงินสูงเพื่อซื้อ "ผลประกอบการ" และ Growth หรือ "การเจริญเติบโต" ของบริษัท

ประเด็นก็คือ การทำให้บริษัทมีกำไรดี เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากนักโดยเฉพาะถ้าจะทำเพียง 1-2 ปีก่อนเข้าตลาดหุ้น ระบบบัญชีโดยเฉพาะในเมืองไทยนั้น ผมเชื่อว่าสามารถ "เนรมิต" เรื่องนี้ได้ ส่วนในเรื่องของ Growth หรือการเจริญเติบโตของกำไรของบริษัท ผมก็คิดว่าถ้าจะทำให้เกิดขึ้นหรือทำให้น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นภายในระยะ 1-2 ปี ก็น่าจะทำได้ง่ายไม่แพ้กันโดยเฉพาะในยามที่คนเล่นหุ้นพร้อมและอยากจะเชื่อ อยู่แล้วในยามที่ตลาดหุ้นกำลังบูม

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าหุ้น IPO จะถูกกำหนดราคาขายที่สูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริงในยามที่จองหุ้น และเมื่อหุ้นเข้าตลาดแล้วราคาก็อาจจะแพงขึ้นไปอีกทวีคูณเนื่องจากผลของการ วางแผนหรือ "แต่งตัว" ให้บริษัท "ดู" มีกำไรดีและมี "อนาคต" ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก

ข้อสอง ในกรณีที่ไม่ได้มีการ "แต่งตัว" มากมายจนผิดเพี้ยนไปจากตัวตนที่แท้จริงของบริษัท สิ่งที่ผมก็ยังกังวลเกี่ยวกับหุ้น IPO ก็คือ Track Record หรือผลประกอบการของบริษัทที่ผ่านมา จริงอยู่ หลายบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนาน แต่ส่วนมากแล้ว ผลประกอบการที่ดีของบริษัทมักจะปรากฏสั้นมากอย่างมากเพียง 2-3 ปีก่อนเข้าตลาดหุ้น ดังนั้น ความสม่ำเสมอของผลประกอบการจึงไม่มีและทำให้ผมไม่แน่ใจว่าบริษัทมีความแข็ง แกร่งจริงหรือไม่

ข้อสาม หุ้นเข้าใหม่จำนวนมากมักเป็นหุ้นที่ผลิตและ/หรือขายสินค้าที่เป็นหรือมี คุณสมบัติแบบ Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่หาความแน่นอนของผลประกอบการยากแต่มักมี "จังหวะหรือโอกาสทอง" ในช่วงสั้นๆ ที่วงจรธุรกิจกำลังเป็นขาขึ้น ดังนั้น หุ้นเหล่านี้จึงมักฉวยโอกาสเข้าจดทะเบียนขายหุ้นในยามที่ตลาดเอื้ออำนวย ซึ่งจะทำให้สามารถขายหุ้นได้ราคาและราคาหุ้นสูงขึ้นไปอีกอย่างน้อยในระยะ หนึ่งหลังการเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ข้อสี่ หุ้น IPO ส่วนใหญ่นั้นมีขนาดค่อนข้างเล็กและจำนวนหุ้นที่เริ่มเข้ามาซื้อขายหมุนเวียน ในตลาดในวันแรกก็มีน้อยมาก บางบริษัทอาจจะมีเพียง 200-300 ล้านบาท หรือในกรณีของบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาด MAI นั้นอาจจะมีเพียง 100-200 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับพอร์ตหรือเม็ดเงินลงทุนของนักเล่นหุ้นโดยเฉพาะที่เป็น "ขาใหญ่" ในตลาดหุ้นที่ว่ากันว่ามีพอร์ตเป็นพันๆ ล้านบาทนั้น ก็ถือว่าหุ้น IPO นั้นสามารถที่จะถูก "ปั่น" ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด นั่นก็คือ ถ้ามีรายใหญ่ดังกล่าวแม้เพียงรายเดียวต้องการ เขาอาจจะสามารถซื้อหุ้นทั้งหมดที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด ซึ่งจะทำให้เขาสามารถ "กำหนด" ราคาหุ้นได้ว่าจะให้หุ้นมีราคาซื้อขายในวันที่เข้าตลาดที่ราคากี่บาทต่อหุ้น ดังนั้น "พื้นฐาน" ของบริษัท จึงแทบจะไม่มีความหมายหรือความสัมพันธ์กับราคาหุ้น

จากประเด็นต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น สำหรับผมแล้ว หุ้น IPO นั้น มักเป็นหุ้นที่ผมจะหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะถ้าจะถือเพื่อเป็นการลงทุนระยะยาว ราคาขายหุ้นจอง ถ้าไม่ใช่หุ้นรัฐวิสาหกิจผมเชื่อว่าน้อยครั้งที่จะถูกกว่าพื้นฐานตามที่ที่ ปรึกษาและผู้รับประกันการจำหน่ายหุ้นอ้าง ผมเชื่อตามคำพูดส่อเสียดที่ว่า IPO แปลว่า It Probably Overpriced หรือ "มันน่าจะมีราคาสูงเกินไป"

หุ้น IPO บางตัวก็อาจจะไม่เป็นอย่างนั้น การที่จะดูว่า IPO ตัวไหนอาจจะเป็นข้อยกเว้นนั้น คงต้องดูในแต่ละประเด็นที่ผมพูดถึง ถ้าดูแล้ว มี "อาการ" หลายๆ อย่างที่เข้าข่ายน่าสงสัยว่าจะเป็น "มะนาว" นั่นคือ เป็นหุ้นที่ซื้อแล้วมีโอกาสขาดทุน เพราะเป็นหุ้นที่มีการแต่งตัวมาขายอย่างน่าเกลียดเราก็ควรจะหลีกเลี่ยง ที่ยิ่งต้องระวังมากกว่านั้นก็คือ อย่าเข้าไปเล่นหลังจากที่ราคาหุ้นสูงขึ้นไปมากจากราคา IPO หลังจากที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดแล้ว

ทั้งหมดที่พูดนั้นก็คือเป็นกรณี "โดยทั่วไป" แต่ในยามที่ตลาดหุ้นเป็นกระทิงเปลี่ยวแล้วเราคิดว่าคนกำลัง "เล่น" หุ้น IPO อยู่ และเราเชื่อว่า "ตลาดยังไม่วาย" การจองซื้อหุ้น IPO ก็อาจจะมีโอกาสทำกำไรได้ดี ผมเองก็จองถ้าได้รับ "จัดสรร" มา ผมคงไม่เข้าไปซื้อในวันแรกที่หุ้นเข้าซื้อขายแน่นอนและคงไม่ซื้อในราคาสูง กว่าราคาจอง ตรงกันข้าม มีโอกาสที่ผมจะขายค่อนข้างเร็ว บางทีอาจจะเป็นวันแรกที่หุ้นเข้าตลาด ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ผมคำนึงถึงเสมอก็คือ การซื้อหุ้น IPO เป็นเรื่องของการ "เก็งกำไร" ล้วนๆ
แหล่้งที่มากรุงเทพธุรกิจ โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


Investment Diary โดย ดร.นิเวศน์


นักลงทุนนั้น ว่ากันว่าเป็นคนที่มีความทรงจำสั้นมาก เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเขาจะจำได้ติดตา เช่น วิกฤติที่ทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างหนักและเหตุผลที่ทำให้เกิดวิกฤตินั้น เมื่อเวลาผ่านไป บางทีก็ไม่นานนัก พวกเขาก็จะลืมเหตุการณ์เลวร้ายนั้นรวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น พวกเขาซื้อขายหุ้นโดยไม่สนใจประวัติศาสตร์หรือสนใจน้อยมาก นั่นทำให้ประวัติศาสตร์การเงิน “ซ้ำรอย” ครั้งแล้วครั้งเล่า เราไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์โดยเฉพาะเมื่อมันผ่านไปนานแล้ว

เพื่อที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด ในอดีต เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่ามันเกิดความผิดพลาดขึ้น ในเรื่องอื่น ๆ นั้น ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เรามักจะมองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ในเรื่องของการลงทุนนั้น บางทีเราก็ไม่รู้ว่ามันมีความผิดพลาดขึ้น เหตุผลก็คือ มีจิตวิทยาบางอย่างที่อาจจะบดบังความเข้าใจที่ถูกต้องของเรา

จิตวิทยาข้อแรกก็คือ “ดีเป็นเพราะฝีมือเรา แย่เป็นเพราะคนอื่นหรือเรื่องอื่น” หรือที่เรียกว่า Self-Attribution Bias นี่เป็นจิตวิทยาของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป อย่างเช่นเวลาที่เราเล่นกีฬา ทีมที่ชนะส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเป็นเพราะฝีมือของทีม แต่เวลาแพ้ บางทีก็โทษกรรมการหรือโทษโชคชะตา ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงก็คือ ฝีมือสู้เขาไม่ได้หรือใช้กลยุทธ์ในการแข่งขันที่ผิดพลาด เช่นเดียวกัน เวลาที่เราลงทุนและได้กำไรดีนั้น เรามักจะคิดว่าเป็นฝีมือของเรา แต่เวลาขาดทุน บางครั้งเราก็คิดว่ามันเป็นสาเหตุอื่นหรือโชคร้ายหรือเหตุบังเอิญที่เราไม่ อาจคาดได้ การไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเองนั้น ย่อมทำให้เราไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นได้

จิตวิทยาข้อสองก็คือสิ่งที่ผมอยาก จะใช้สำนวนว่า “ผมว่าแล้ว” นี่คือสิ่งที่คนเราเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะกลับไปอธิบายเหตุผลที่ ทำให้มันเกิดขึ้นหรือที่เรียกในทางวิชาการว่า Hindsight Bias นี่เป็นความลำเอียงของจิตใจที่คิดว่าเรา “แน่” เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรทั้งที่เราไม่รู้และเราไม่ได้คิดคาดการณ์เอาไว้ก่อน เรามา “รู้” ก็ตอนที่เราเห็นแล้วว่าอะไรมันเกิดขึ้น วิธีที่จะแก้ปัญหาความลำเอียงข้อนี้ก็คือ การจดบันทึกสิ่งที่เราคิดหรือคาดการณ์ไว้ก่อน เมื่อเกิดผลลัพธ์ขึ้น เราก็จะได้รู้ว่าเราคิดถูกหรือคิดผิด ในกรณีของการลงทุนนั้น เราจะเรียกมันว่า Investment Diary นี่ก็คือไดอารี่ที่เราจะจดบันทึกเกี่ยวกับความคิดหรือการวิเคราะห์ของเราใน การลงทุนในหุ้นหรืออื่น ๆ การซื้อหุ้นแต่ละตัวเราจะบันทึกว่าอะไรคือเหตุผลที่เราซื้อหุ้นตัวนั้น

เมื่อเราจดบันทึกเหตุผลของการลง ทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ตัวไหนแล้ว เราก็รอผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ภาพที่ออกมานั้น สามารถที่จะแบ่งออกได้เป็นสี่แบบด้วยกันดังต่อไปนี้

แบบที่หนึ่ง ในกรณีที่เราได้กำไร การลงทุนประสบความสำเร็จ และเหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจลงทุนถูกต้อง เช่น เราลงทุนในหุ้น ก. เพราะเราเชื่อว่ากำไรของบริษัทนี้กำลังเติบโตก้าวกระโดดในไตรมาศหน้าและจะ เติบโตต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 3-4 ปี โดยที่ราคาหุ้นที่เห็นนั้นยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับพื้นฐานที่กำลัง ดีขึ้นและราคายังต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก เราก็จดบันทึกไว้ หลังจากนั้น เมื่อกำไรในไตรมาศถูกประกาศออกมาก็เป็นจริงดังคาดและดูแล้วอนาคตก็น่าจะยัง โตต่อเนื่อง ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปในระดับหนึ่งประมาณ 20% ซึ่งสอดคล้องกับกำไรที่ดีขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ เราอาจจะสรุปได้ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องแล้ว อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ขายหุ้นออกไปเพราะเราเชื่อว่ากำไรจะยังเติบโตดีมากอยู่และในอนาคต ราคาก็จะยังปรับตัวขึ้นไปได้อีกมาก ในภาษาของนักลงทุน เรา “Right for the right reason” เราถูกต้อง นั่นอาจจะหมายความว่าเรามีฝีมือ

แบบที่สอง ในกรณีที่เราได้กำไร การลงทุนประสบความสำเร็จ แต่เหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจนั้นกลับไม่ถูกต้อง เช่น เราลงทุนในหุ้น ข. เพราะเราคิดว่ากำไรในไตรมาศหน้าจะดีมาก เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งบริษัทได้ประกาศแจกวอแร้นต์ฟรีจำนวนมาก ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างแรง เราขายหุ้นทิ้งได้กำไรงดงาม อย่างไรก็ตาม งบรายไตรมาศที่ประกาศออกมาภายหลังพบว่ากำไรของบริษัทลดลงมาก แบบนี้เราเรียกว่า “Right for the wrong reason” เราซื้อหุ้นถูกตัวด้วยเหตุผลที่ผิด พูดง่าย ๆ เราประสบความสำเร็จเพราะโชคไม่ใช่ฝีมือ อย่าหลอกตัวเองว่าตนเองเก่ง

แบบที่สาม ในกรณีที่เราขาดทุน การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ เหตุผลในการลงทุนของเราผิด เช่น เราคิดว่าบริษัท ค. กำลังจะมีผลประกอบการที่ดี เราซื้อหุ้นลงทุน ผลประกอบการออกมาปรากฏว่าบริษัทขาดทุนอย่างหนัก ราคาหุ้นตกต่ำลงมามาก เราขายหุ้นทิ้ง ในกรณีนี้เรียกว่าเรา “Wrong for the wrong reason” เราลงทุนผิดเพราะเราวิเคราะห์ผิด เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนี้

แบบที่สี่ ในกรณีที่เราขาดทุน การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ แต่เหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจลงทุนนั้นถูกต้องเป็นไปตามคาด เช่น เราซื้อหุ้น ง. เพราะคิดว่ากำไรของบริษัทในไตรมาศที่กำลังมาถึงนั้นจะเติบโตขึ้น เมื่องบไตรมาศถูกประกาศออกมาปรากฏว่ากำไรของบริษัทก็ปรับเพิ่มขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน ตลาดหุ้นเกิดภาวะวิกฤติอันเป็นผลมาจากต่างประเทศ ราคาหุ้น ง. ตกลงอย่างหนัก เราขาดทุนแต่เป็นเพราะว่าโชคไม่ดี ไม่ใช่เพราะเราคิดผิด เรา “Wrong for the right reason”

ด้วยการบันทึกเหตุผลของการตัดสิน ใจลงทุนลงใน Investment Diary และศึกษาผลลัพธ์ในสี่กรณีดังกล่าว เราก็จะได้รู้ว่าเราประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวและด้วยเหตุผลใด เรามีฝีมือหรือเราไม่เก่งเลย เราโชคดีหรือโชคร้าย สิ่งนี้จะทำให้เราสามารถเรียนรู้จากประวัติการลงทุนของเราได้อย่างถูกต้อง โดยส่วนตัวผมเองนั้น ผมยอมรับว่าไม่เคยจดบันทึกเหตุผลการลงทุนลงในไดอารี่ แต่ก็เชื่อว่าตนเองจำได้ว่าลงทุนในหุ้นแต่ละตัวด้วยเหตุผลใด ผมคิดว่าผมจำได้เพราะลงทุนในหุ้นไม่กี่ตัว สำหรับ VI นั้น ผมคิดว่าการจดบันทึกเป็นสิ่งที่ดี เหนือสิ่งอื่นใด จอร์จ โซรอส บอกว่าเขาบันทึกความคิดของเขาแบบ Real-Time นั่นคืออาจจะพูดลงในเทป เขาบอกว่ามันทำให้การลงทุนของเขาดีขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


เล่นกับฟองสบู่ โดย ดร.นิเวศน์


ความคึกคักของตลาดหุ้นในช่วงนี้ ซึ่งเห็นได้จากดัชนีราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง บวกกับปริมาณการซื้อขายที่สูงลิ่วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนทำให้คนเริ่มถามกัน มากว่าตลาดหุ้นตอนนี้เป็น Bubble หรือ “ฟองสบู่” หรือยัง

ผมคงไม่ฟันธงว่าตลาดหุ้นในขณะนี้เป็นฟองสบู่หรือไม่ ข้อพิสูจน์นั้นจะมาในภายหลัง ถ้าเวลาผ่านไป 2-3 ปี ดัชนีตลาดหุ้นตกต่ำลงกว่าปัจจุบันมาก เราก็บอกว่าตลาดในช่วงปี 2553 เป็น “ฟองสบู่” แต่ถ้าดัชนียังสูงกว่าปัจจุบัน นั่นก็หมายความว่าตลาดหุ้นในปี 2553 เป็นช่วงตลาดกระทิงที่มีเหตุผลมีพื้นฐานรองรับ การคาดการณ์ว่าตลาดในขณะนี้เป็นฟองสบู่หรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ ประสบการณ์ในอดีต ทั้งของต่างประเทศและของไทยเองก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เซียนหรือนักวิชาการ ระดับโลกก็อาจจะทำนายผิดได้ ดังนั้น ผมไม่คาดการณ์ แต่จะอธิบายจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของการเกิดฟองสบู่แต่ละ ครั้งว่าฟองสบู่หุ้นนั้น มักจะเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร

ข้อแรกก็คือ ฟองสบู่นั้น มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญระดับ “ปฏิวัติ” ของเท็คโนโลยีของโลก เช่น การเกิดและเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจไฮเท็คและ “ดอทคอม” ในสหรัฐอเมริกา หรือการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ “โครงสร้างการทำงานหรือธุรกรรมทางการเงิน” เช่นเรื่องของการบูมของการแปลงหนี้ผ่อนบ้านให้เป็นตราสารซับไพร์มในอเมริกา หรือถ้าจะพูดให้ใกล้ตัวและเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การ “เปิดเสรีทางการเงิน” ของประเทศไทยในปี 2533 หรือเมื่อ 20 ปีก่อนที่ทำให้เงินต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและก่อให้เกิดฟองสบู่ ที่ใหญ่ที่สุดในช่วงปลายปี 2536

ข้อสอง ฟองสบู่จะเกิดไม่ได้ถ้าตลาดเงิน “ตึงตัว” นั่นก็คือ อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงและเงินหายาก ฟองสบู่นั้นมักเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดเงินมีสภาพคล่องสูงและอัตราดอกเบี้ยใน ตลาดต่ำมาก การกู้เงินมักทำได้ง่าย มีการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าโดยไม่เข้มงวดในด้านของความสามารถในการใช้หนี้คืน และหลักประกันมากนัก สถาบันการเงินมักจะแข่งขันกันปล่อยเงินกู้ ทำให้ยอดการปล่อยกู้เติบโตสูงกว่าปกติ การที่เงินหาง่ายนั้นทำให้นักเล่นหุ้นสามารถเพิ่มการซื้อหุ้นได้อย่าง “ไม่จำกัด” โดยการใช้หลักทรัพย์ที่มีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหลักประกันในการขอกู้เพิ่มซึ่งก็กลับไปซื้อหุ้นต่อไปเรื่อย ๆ

ข้อสาม ฟองสบู่มักจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อฟองสบู่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 15-20 ปีมาแล้วซึ่งเท่ากับ “หนึ่งชั่วอายุคน” เหตุผลก็คือ เมื่อฟองสบู่ครั้งล่าสุด “แตก” คนในรุ่นนั้นก็ขาดทุนกันหนักมากแทบจะล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัว จำนวนมากออกจากตลาดหุ้นและสั่งสอนลูกหลานว่าตลาดหุ้นเป็นสถานที่ที่ “เลวร้าย” และไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับหุ้นเลย นักลงทุนที่ยังเหลืออยู่ก็จะระมัดระวังมากในการลงทุนและคิดว่าหุ้นมีความ เสี่ยงเสมอโดยเฉพาะเมื่อราคาปรับตัวขึ้นไปมาก ฟองสบู่ลูกใหม่ที่จะมามักจะเกิดขึ้นจากนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยประสบกับ เหตุการณ์ฟองสบู่แตกมาก่อน พวกเขาไม่เคยประสบกับ “หายนะ” ของการลงทุน ดังนั้น เมื่อตลาดหุ้นบูมมายาวนานและการ “ปรับตัวลง” ของดัชนีหุ้นเป็นครั้งคราวในระยะเวลาสั้น ๆ มักจะตามมาด้วยการ “ปรับตัวขึ้น” อย่างรุนแรงและสูงกว่าเดิมอีก ทำให้นักลงทุน “รุ่นใหม่” เหล่านี้ “ฮึกเหิม” จนนำไปสู่การเป็นฟองสบู่ในที่สุด

ข้อสุดท้าย ฟองสบู่มักเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนละทิ้งวิธีการลงทุนที่คำนึงถึง “มูลค่าที่แท้จริง” ของกิจการ สิ่งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ตลาดถูก “ยึดครอง” โดยนักลงทุนที่ขาดความรู้และประสบการณ์ในการลงทุน พวกเขาจำนวนมากเป็นคนที่อาจจะเรียกว่า “หาเช้ากินค่ำ” แต่เข้ามาเล่นหุ้นโดยที่เห็นและคิดว่าการลงทุนซื้อขายหุ้นเป็นสิ่งที่ง่าย และสามารถทำเงินได้รวดเร็วกว่าการทำงานปกติของตนเอง

ไม่ว่าแหล่งหรือสาเหตุของการเกิดฟองสบู่จะมาจากไหน แต่ฟองสบู่ทุกครั้งจะเกิดขึ้นจากนักลงทุนที่ซื้อหุ้นเพียงเพราะหุ้นมัน “กำลังจะขึ้น” กระบวนการนั้นทำให้คนโหมเข้าไปซื้อหุ้นอีกซึ่งทำให้หุ้นขึ้นไปอีก กลายเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ จนกระทั่ง “เชื้อเพลิง” ซึ่งก็คือเม็ดเงินสดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินกู้ยืมหรือมาร์จินในการซื้อขาย หุ้นหมด ซึ่งก็คือจุดที่ฟองสบู่แตก และทั้งหมดนั้นก็คือ “วงจร”ของฟองสบู่ที่มักกินเวลาหลายปี

วิเคราะห์จากสถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ ปัจจัยในการเกิดฟองสบู่ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผมเห็นว่ายังไม่ชัดเจนนัก ไล่มาตั้งแต่ข้อหนึ่งผมก็ยังไม่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างทาง เท็คโนโลยีหรือการเงินอะไรมากนัก ข้อสอง ในด้านของสภาพคล่องทางการเงินนั้น ผมคิดว่าประเทศไทยในขณะนี้มีสภาพคล่องที่สูงมากและถือได้ว่าอาจจะเป็นปัจจัย ในการก่อให้เกิดฟองสบู่ได้แม้ว่าในขณะนี้การใช้เงินกู้ยังไม่สูงมาก อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินสดที่อยู่ในกระเป๋าของนักลงทุนเองก็มีเหลือล้นและและพยายามหาการลง ทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินที่ได้ดอกเบี้ยต่ำมาก ในข้อสามนั้น ผมคิดว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่อยู่ในตลาดหุ้นวันนี้เป็นคนที่ไม่ได้สัมผัสกับ สภาวะฟองสบู่แตกในช่วงวิกฤติปี 2540 ดังนั้นมีโอกาสที่พวกเขาจะมองโลกในแง่ดีและก่อให้เกิดฟองสบู่ได้ สุดท้ายก็คือเรื่องของการมองในด้านของมูลค่าหุ้น ในข้อนี้ผมคิดว่า ตลาดหุ้นไทยยังไม่ถึงจุดที่คนไม่สนใจมูลค่าพื้นฐานของหุ้นเห็นได้จากการที่ ค่า PE ของตลาดก็ยังไม่สูงเกินไปที่ 14-15 เท่า นอกจากนั้น หุ้นที่ผลการดำเนินไม่ดีราคาหุ้นก็ยังไม่ปรับตัวขึ้นเท่าไรนัก นอกจากนั้น คนที่เข้าตลาดหุ้นเร็ว ๆ นี้ ก็ยังไม่ใช่กลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำ แต่เป็นคนที่มีเงินพอสมควร

ข้อสรุปของผมก็คือ มีปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดฟองสบู่อยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง ดังนั้น มีโอกาสที่หุ้นจะขึ้นต่อไปเป็น “กระทิงที่ยาวนาน” ทำให้คนที่ไม่อยู่ในตลาดหุ้นหรือรีบออกจากตลาดเสียโอกาสไปมาก เช่นเดียวกัน มีโอกาสที่มันจะกลายเป็นฟองสบู่ที่ทำให้คนที่มีหุ้นอยู่เสียหายหนักเมื่อพบ ว่า “ฟองสบู่แตก” และตนเองหนีไม่ทัน คำแนะนำของผมก็คือ ในภาวะแบบนี้ ควรถือหุ้นที่มีธุรกิจที่มั่นคงปลอดภัยมีกำไรดีเสมอแม้ว่าฟองสบู่จะแตก หุ้นเหล่านี้แม้ว่าในช่วงที่ตลาดขึ้นแรงต่อไปจะไม่ให้ผลตอบแทนที่ดีสุดยอด แต่ถ้าเกิดฟองสบู่แตก มันจะฝ่าอุปสรรคไปได้ ความเสียหายจะไม่ถึงกับเป็นหายนะ

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ


1  2  3  4  5  6  7  8  9  

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.