In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

สังคมไทยอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีลักษณะอย่างไร จะเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง

ความสัมพันธ์ทางชนชั้น (Class relations) ในสังคมไทย



ในทรรศนะของมาร์กซ์ ไม่ว่าจะในระบบทาส ศักดินา เอเชียติก หรือระบบทุนนิยม ในทุกระบบปัจจัยการผลิตถูกผูกขาดอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย ทำให้เจ้าของปัจจัยการผลิตมีอำนาจมากสามารถรวบเอาผลผลิตของแรงงานของผู้อื่นมาเป็นของตัว ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ทำงานโดยตรงในระบบทาส บังคับให้ส่งส่วยผลผลิตในระบบศักดินา หรือบังคับจ้างโดยให้ค่าจ้างเพียงยังชีพแล้วรวบเอามูลค่าส่วนเกินของแรงงานในระบบนายทุน ซึ่งทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้น (Class Struggle) ระหว่างชนชั้นที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตกับชนชั้นที่ไม่มีปัจจัยการผลิต การต่อสู้ระหว่างชนชั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ในการผลิต(relations of production) เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนระบบกรรมสิทธิ์และโครงสร้างส่วนบน (superstructure) แต่การต่อสู้ปฏิวัติเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ในการผลิตจะได้ผลก็ต่อเมื่อได้มีการพัฒนาพลังการผลิต (productive forces) ถึงขั้นที่พร้อมก่อน[i] และในการขัดแย้งต่อสู้ระหว่างชนชั้น ฝ่ายชนชั้นเจ้าของปัจจัยการผลิตจะใช้โครงสร้างส่วนบนสนับสนุนตัวต่อต้านกดชนชั้นที่ถูกขูดรีดไว้ องค์กรหนึ่งในโครงสร้างส่วนบนที่ชนชั้นเจ้าของปัจจัยการผลิต จะพยายามใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือของตัวคือรัฐ ในความคิดของมาร์กซิสม์ รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นเจ้าของปัจจัยการผลิต[ii]



เมื่อนำหลักทฤษฎีข้างต้น มาวิเคราะห์สังคมไทย ซึ่งเป็นระบบทุนนิยมนั้น จะสามารถแบ่งชนชั้น ออกได้ดังนี้



ชนชั้นเจ้าของปัจจัยการผลิต ชนชั้นกระฎุมพี หรือนายทุน (capitalist)
ชนชั้นที่มีปัจจัยการผลิตน้อย ชนชั้นกระฎุมพีน้อย หรือนายทุนน้อย (petty bourgeoisie) เช่น พวกอาชีพอิสระ วิศวกร เจ้าของร้านขนาดย่อม
ชนชั้นที่ไม่มีปัจจัยการผลิต ชนชั้นแรงงาน หรือกรรมาชีพ (proletariat)



โดยการแบ่งชนชั้นนี้ จะสามารถใช้เป็นมาตรวัดการได้เปรียบ เสียเปรียบในการครอบครองปัจจัยการผลิต ที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดในสังคมได้ โดยจะมาก-น้อย ตามความแตกต่างของการมีปัจจัยการผลิตระหว่างชนชั้น



ข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เมื่อ ก.ย. 2553 “การกระจายรายได้ในภาพรวมไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยโครงสร้างรายได้ปัจจุบัน กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ หรือกลุ่มประชากร 20% มีส่วนแบ่งรายได้สูงสุดถึง 55.1% ของรายได้รวม ขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด 20% มีส่วนแบ่งรายได้เพียง 4.3% ของรายได้รวม ทำให้รายได้ของคนจนสุดต่างจากคนรวดสุดถึง 12.81 เท่า ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน จึงไม่แปลกที่ผลการจัดอันดับการกระจายรายได้ของประเทศไทยรั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 50 ของโลก ความแตกต่างระหว่างจำนวนคนรวยกับคนจนยังสะท้อนได้จากจำนวนผู้เสียภาษีของประเทศ โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากที่ประเทศไทยมีประชากร 64 ล้านคน แต่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเพียง 9-10 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องจ่ายเงินภาษีจริงเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้น เพราะเมื่อหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว ทำให้คนส่วนหนึ่งมีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี จึงไม่ต้องมีภาระเสียภาษี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีคนเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้นที่จ่ายเงินภาษีเลี้ยงคนทั้งประเทศ นอกจากนี้ หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดของจำนวนผู้เสียภาษี จะพบว่า มีผู้เสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 37% เพียง 6 หมื่นคน และคิดเป็นเม็ดเงินจ่ายภาษีถึง 50%ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และในจำนวนคน 6 หมื่นคนที่เสียภาษีในอัตราสูงสุดนี้ พบว่า มีผู้ที่มีเงินได้สูงกว่า 10 ล้านบาท เพียง 2,400 คน เท่านั้น และคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนการเสียภาษีสูงถึง 34% ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยมีการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มคนรวยเพียงไม่กี่คน”[iii]



จากบทความข้างต้นซึ่งสะท้อนสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าความแตกต่างของการครอบครองปัจจัยการผลิต มีความแตกต่างกันมาก และทางออกหนึ่งที่ ชนชั้นที่ถูกเอาเปรียบในสังคมไทย ได้รวมตัวกันเพื่อแสดงออก ถึงความพยายามที่จะลดการถูกเอาเปรียบคือ การรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ต่อสู้ เรียกร้องผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ แต่ก็ทำเพียงแค่ขอบางส่วนจาก มูลค่าส่วนเกิน (surplus value) ซึ่งน้อยมากถ้าเทียบกับสิ่งที่ควรจะได้รับ โดยจะเห็นได้ว่าชนชั้นนายทุนยังเก็บมูลค่าส่วนเกินนี้ไว้ได้มาก จนก่อให้เกิดการสะสมทุน ( accumulation of capital) มากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นการยืดเวลา เพื่อรอการขัดแย้งระหว่างชนชั้นรอบใหม่ต่อไป มิใช่การขจัดการถูกเอาเปรียบจากชนชั้นนายทุน



ทั้งนี้ ประกอบกับการที่ชนชั้นนายทุนในสังคมไทย ใช้โครงสร้างส่วนบน อันได้แก่ วัฒนธรรม อำนาจรัฐ การเมือง กฎระเบียบต่างๆ ไม่ว่าจะทำให้ชนชั้นที่เสียเปรียบกลัว หรือทำให้ยอมรับการถูกเอาเปรียบ โดยใช้วาทกรรมต่างๆ ปลูกฝังอุดมการณ์ การครอบงำทางความคิด (hegemony) ตามทฤษฎี hegemony ของ Antonio Gramsci ( 1891-1937) เพื่อให้ชนชั้นที่เสียเปรียบยอมรับความเสียเปรียบ ดังเช่น สหภาพแรงงานก็พอใจเพียงแค่การมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม มิใช่เรียกร้องให้ได้ผลประโยชน์ที่ควรจะได้ทั้งหมด



ฉะนั้นถ้าต้องการให้สังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า มีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ควรต้องปรับปรุงความสัมพันธ์ทางชนชั้น โดยมีแนวทางคือ เริ่มจากทำให้พลังการผลิตดีขึ้นหมายถึง คนมีศักยภาพในการผลิตดีขึ้น พึงตัวเองได้มาก เป็นผลให้พึงคนอื่นน้อยลง ก็จะทำให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น และจะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางชนชั้น โดยหลุดจากความครอบงำจากชนชั้นที่สูงกว่า[iv]



เครดิต : พี่ปืน Pol Econ11

----------------------------------------------------------------------------------------------

[i] ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551, หน้า 159-160

[ii] ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551, หน้า 184

[iii] //archive.voicetv.co.th/content/21650

[iv] การบรรยายในชั้นเรียนเรื่อง กรอบทฤษฎีวิเคราะห์สังคม วันที่ 12 ก.ย. 2554, รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ




 

Create Date : 13 ธันวาคม 2554    
Last Update : 13 ธันวาคม 2554 13:14:11 น.
Counter : 2227 Pageviews.  

What is PolEcon continued

อะไรคือวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง
เศรษฐศาสตร์การเมืองนั้น เน้นการศึกษาว่า มูลค่าของสินค้า หรือสรรพสิ่งต่างๆนั้นถูกสร้างมขึ้นมาได้อย่างไร สร้างมาแล้ว มีการกระจาย แบ่งปัน จัดสรรกันอย่างไร

ต่อประเด็นที่ว่านี้ Adam Smith ให้คำตอบว่า มูลค่านั้นสร้างจากแรงงาน การสะสมของพลังแรงงานที่ใส่เข้าไปในวัตถุ หรือสินค้าย่อมทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ประเด็นเรื่องการจัดสรร แบ่งปันนั้น เขากลับไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนเท่าที่ควร แต่ก็บอกว่า ราคาของสินค้า สิ่งของต่างๆนั้นถูกกำหนดโดย
1. Natural Price
2. Market Price

Natural Price ของสินค้าหนึ่งๆ นั้น มาจากต้นทุนการผลิตสินค้า (Cost of Production) นั้นๆขึ้นมา โดย Smith กล่าวว่า การผลิตสินค้านั้นต้องมีองค์ประกอบของปัจจัยการผลิตอยู่ 3 ประเภท นั่นก็คือ
1. ที่ดิน (Land)
2. แรงงาน (Labour)
3. ทุน (Capital)
ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดหาปัจจัยการผลิตทั้ง 3 อย่างมาเพื่อทำการผลิตจึงเรียกรวมกันว่า ต้นทุนการผลิต

ขณะเดียวกัน Smith ยังกล่าวอีกว่า ในการผลิตสินค้าต่างๆยังมีค่าใช้จ่ายอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นมานั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายของในการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นของเจ้าของกิจการ โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นค่าตอบแทนที่เจ้าของกิจการใช้แรงงานของตัวเอง หรือ Managerial Labour ทำการผลิต โดยเรียกค่าตอบแทนในส่วนนี้ว่า กำไรปกติ หรือ Normal Profit

ดังนั้น Natural Price = Land + Labour + Capital + Management

Smith ยังสังเกตความจริงบางอย่างในชีวิตประจำวันว่า ราคาของสินค้าที่ผลิตออกมาขายนั้น บางครั้งก็สูงกว่า Natural Price บางครั้งก็ต่ำกว่า Natural Price ดังนั้น Smith จึงเรียกราคานี้ว่า ราคาตลาด (Market Price) ซึ่งจะผันแปรไปตามความต้องการ และปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในตลาด
แต่เขาก็บอกว่า ในระยะยาวแล้ว ราคาตลาด หรือ Market Price ของสินค้า จะต้องเท่ากับราคาธรรมชาติของมันเอง หรือ Natural Price ภายใต้ภาวะที่ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition)

In the long run, Market Price (MP) = Natural Price (NP)

ดังนั้นหากเกิดภาวะที่ MP สูงกว่า NP ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้านั้นจะได้รับกำไรที่เกินไปกว่ากำไรปกติที่ได้รับ นั่นคือมีกำไรเกินปกติ หรือ Supernormal Profit ซึ่งย่อมดึงดูดให้ผู้ค้ารายอื่นเข้ามาในตลาด จนกดดันให้ MP กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับ NP

และในทางกลับกัน หาก MP ต่ำกว่า NP ก็จะทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนได้ เนื่องจากได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าระดับขั้นต่ำที่จะยอมรับได้ คือ ไม่ได้รับผลตอบแทนที่เป็น Normal Profit ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทนไม่ไหวทยอยออกไปจากตลาด จนทำให้ MP ปรับตัวสูงขึ้นมาจนเท่ากับ NP ในที่สุด เมื่อถึงจุดนี้ก็จะไม่มีคนหยุดทำการผลิต

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า Adam Smith มีมิติในการมองเรื่องการจัดสรรแบ่งปัน ผลผลิตอยู่ 2 รูปแบบคือ
1. การจัดสรรผลตอบแทนตามแรงงานที่ใส่ลงไปในผลผลิต
2. การจัดสรรตามกลไกตลาด

ทัศนะของ Marx ต่อระบบการจัดสรรผลผลิตตามแนวคิดของ Adam Smith
Karl Marx นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวเยอรมัน เชื้อสายยิว ได้ทำการขบคิดประเด็นที่ Adam Smith นำเสนอ และตั้งคำถามกับตัวเองว่า

ธุรกิจต่างๆในระบบทุนนิยมนั้นสามารถเติบโตได้อย่างไร หากว่าราคาของผลผลิตในท้องตลาดซื้อขายในระดับที่เท่ากับ หรือ ใกล้เคียงกับ Natural Price ซึ่งย่อมทำให้ปัจจัยการผลิตต่างๆได้รับการจัดสรรค่าตอบแทนตามมูลค่าของผลผลิตที่ตัวเองสร้างขึ้น เจ้าของที่ดินจะได้แค่ค่าเช่า เจ้าของแรงงานอย่างลูกจ้างก็จะได้แต่ค่าจ้างตามมูลค่าของแรงงานของตัวเอง เจ้าของทุนก็ได้รับแค่ดอกเบี้ยคงที่จากทุน นายจ้างหรือผู้ประกอบการก็มีแค่กำไรปกติ ซึ่งเป็นค่าตอบแทนให้กับ แรงงานของนายจ้างเท่านั้น ซึ่งก็คือค่าใช้จ่ายในชิวิตประจำวันของนายจ้าง ซึ่งก็มีการจับจ่าย บริโภค ปัจจัย 4 เหมือนๆกับลูกจ้าง และคนทั่วๆไป แล้วส่วนที่นำมาขยายกิจการมันมาจากไหน

การที่ Adam Smith ให้คำตอบที่กำกวมระหว่างการจัดสรรตามมูลค่าของแรงงานที่ใส่ในการผลิต และ การจัดสรรตามกลไกตลาด ทำให้ Marx ต้องขบคิดอย่างหนักเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนในประเด็นนี้ โดย Marx อาศัยการสังเกต และวิเคราะห์ สังคมทุนนิยมในประเทศอุตสาหกรรมต่างๆในยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยมีการพิจารณาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์นั้น มนุษย์แต่ละคนมีความต้องการสารอาหาร หรือพลังงานขั้นต่ำเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ในระดับที่ต่างกันระหว่างชายและหญิง โดยที่

ผู้ชายต้องการพลังงานขั้นต่ำ 2500 แคลอรี่/วัน
ผู้หญิงต้องการพลังงานขั้นต่ำ 2000 แคลอรี่/วัน

พลังงานที่ใช้ยังชีพนี้ จะต้องสร้างมาจาก Basic Needs จำนวนหนึ่งเพื่อให้มนุษย์ในแต่ละสังคม สามารถอยู่รอดได้ ก็คือ บรรดาปัจจัย 4 ต่างๆ อันได้แก่ อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย โดยที่ในแต่ละสังคมนั้น รูปแบบ และ ต้นทุนที่ให้ได้มาซึ่ง Basic Needs เหล่านี้นั้นต่างกัน สังคมเมืองหนาว ต้นทุนของเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มย่อมมากกว่าเมืองร้อน เนื่องจากผ้าที่ใช้ย่อมหนากว่า และต้องมีการใส่เสื้อผ้ามากชิ้นกว่าเพื่อความอบอุ่น เราเรียกมูลค่าของ Basic Needs ที่มนุษย์ในแต่ละสังคมต้องการว่า Socially Necessary Labour

Marx วิเคราะห์ว่า มนุษย์นั้นในวันหนึ่งๆ สามารถทำงานได้เป็นเวลานานถึง 12 ชั่วโมง ที่เหลือก็ใช้ไปในการพักผ่อน ทำกิจกรรมอื่นๆหลังจากทำงานแล้ว
สมมติระดับของ Socially Necessary Labour ในเมืองไทยคือ 100 บาทต่อวัน และมีลูกจ้างคนหนึ่งสามารถสร้างมูลค่าของงานเท่ากับระดับ Socially Necessary Labour หรือ 100 บาทได้ในเวลาเพียง 4 ชั่วโมงของการทำงานเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงเขาต้องทำงาน 12 ชั่วโมง และนายจ้างของเขาก็จ่ายค่าตอบแทนเพียงแค่ระดับ Socially Necessary Labour หรือ 100 บาทเท่านั้น ซึ่งถ้าพิจารณาตามหลักของ Adam Smith แล้ว ลูกจ้างซึ่งก็คือ ปัจจัยการผลิตหนึ่ง ควรได้รับการจัดสรรผลตอบแทน หรือค่าจ้าง ตามมูลค่าของแรงงานที่ใส่ลงไปในผลผลิต ซึ่งก็คือ 300 บาท
นั่นย่อมหมายความว่า ลูกจ้างสร้างผลิตในมูลค่าที่สูงกว่าค่าจ้างที่เขาได้รับ หรือ เกินกว่า Socially Necessary Labour ดังนั้นเท่ากับว่าเขาทำงานอีก 8 ชั่วโมงที่เหลือให้กับนายจ้างฟรีๆ หรือ โอนมูลค่าของผลผลิตในส่วนนั้นมูลค่า 200 บาทไปให้กับนายจ้างนั่นเอง

ดังนั้น Marx จึงสรุปว่าธุรกิจเติบโตได้จากการสะสมกำไรที่มาจาก มูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value) นายจ้างเอาไปจากลูกจ้างหรือทำการขูดรีดมา (Exploitation) โดยส่วนเกินนี้ก็คือส่วนที่เกินมาจาก Socially Necessary Labour นั่นเอง โดยในความเป็นจริงนายจ้างจะไม่จ่ายค่าจ้างต่ำกว่านี้เนื่องจาก หากจ่ายต่ำกว่านี้ลูกจ้างก็จะไม่มีพลังแรงงานที่เพียงพอมาสร้างผลผลิตให้ตน และค่าจ้างในระดับนี้เป็นระดับที่ลูกจ้างจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จะทำให้ตัวลูจ้างปฏิเสธที่จะทำงานกับนายจ้าง

Marx นั้นได้สร้างสมการหนึ่งขึ้นมาเพื่อคำนวณว่า มูลค่าการผลิต นั้นเกิดจากอะไร โดยที่

มูลค่าการผลิต = C + V + S
โดย
C คือ Constant Value หรือมูลค่าคงที่ ซึ่งก็คือที่ดินหรือ พวกวัตถุดิบต่างๆนั่นเอง มูลค่าของสิ่งเหล่านี้ที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็เนื่องจาก ไม่มีการใส่แรงงานเข้าไป
V คือ Variable Value หรือมูลค่าผันแปร ซึ่งก็คือ มูลค่าที่เกิดจากแรงงานนั่นเอง โดยยิ่งใส่แรงงานเข้าไปมาก มูลค่าก็ย่อมสูงขึ้น
S คือ Surplus Value ซึ่งก็คือ มูลค่าส่วนเกินที่นายจ้างเอาไปจากลูกจ้างนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ก็มีการโต้แย้งจากสำนักคิดด้านเศรษฐศาสตร์กระแสหลักว่า ค่าจ้างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นค่าจ้างที่เกิดจากความพึงพอใจที่ลูกจ้างยอมรับข้อเสนอจากนายจ้าง หาใช่เกิดจากการที่นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างไม่ โดยที่เวลานายจ้างจะทำการตกลงจ่ายค่าจ้าง เพื่อจ้างลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งมาทำงานนั้น จะอยู่ภายใต้ตรรกะที่ว่า

MPP => W โดยที่ MPP = Marginal Physical Product
W = Wage

นั่นหมายความว่านายจ้างจะจ้างลูกจ้างคนต่อไปเมื่อเห็นว่า ลูกจ้างคนนั้นสามารถสร้างผลผลิตได้มากกว่าค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายออกไป
หากเปรียบเทียบมุมมองของ Marx และ เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก จะพบว่า พูดไม่ต่างกันเลยเรื่องมูลค่าที่เกิดจากแรงงานของลูกจ้าง ซึ่งก็ต่างถูกนายจ้างยึดเอาไปทั้งสิ้น โดย Marx มองว่าเกิดจากการสะสมมูลค่าส่วนเกินจากการทำงานของลูกจ้าง ในขณะที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่าเกิดจากการที่ทั้ง 2 ฝ่ายพอใจ ในค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้ต่ำกว่ามูลค่างานที่ลูกจ้างทำ ไม่ได้เป็นการขูดรีดเอาส่วนเกิน

ตัวแปรการจัดสรรทัรพยากรในทางเศรษฐศาสตร์การเมือง
ในกรอบการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบ Marx จะมองสังคมตามวิถีการผลิต (Mode of Production)






แนวคิดเรื่อง Mode of Production ของ Marx วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมการผลิตโดยดูว่า
- ใครครอบครองปัจจัยการผลิตมากกว่ากัน
- ใครทำการผลิตมากกว่ากัน

โดยการที่ใครจะได้ส่วนแบ่งมูลค่าของผลผลิตจะขึ้นอยู่กับว่า ใครในสังคมการผลิตจะเป็นผู้จัดสรร โดยผู้ที่มีอำนาจในการจัดสรรก็คือ ผู้ที่ครอบครองปัจจัยการผลิต โดย Marx เห็นว่าชนชั้นที่ครอบครองปัจจัยการผลิตนั้นย่อมมีอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคม ควบคุมอำนาจรัฐ อำนาจทางเศรษฐกิจ การสื่อสาร ความคิด กำหนดวาระทางสังคม หรือมีอำนาจควบคุม โครงสร้างส่วนบนของสังคม (Superstructure) ในยุคที่ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิต ชนชั้นศักดินาที่ครอบครองที่ดิน คือผู้จัดสรรมูลค่าการผลิต เป็นผู้กุมอำนาจรัฐ ในขณะที่สังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทุนคือปัจจัยการผลิต ชนชั้นนายทุนจึงมีอำนาจในการจัดสรรมูลค่าจากผลผลิต เพื่อใช้ในการสะสมทุน นายทุนมีอำนาจทางการเมืองผ่านระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ทัศนะของ Lenin ก็สอดคล้องกับ Marx โดยมองว่ารัฐบาลนั้นเป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมเท่านั้น รัฐบาลจึงมีความโน้มเอียงในทางนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นที่หนุนหลังรัฐบาลในแต่ละช่วงเวลา

สรุป
จากที่มีการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างเศรษฐศาสตร์การเมือง และเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก รวมทั้งแนวคืด และที่มาของกรอบความคิดที่สำคัญ และประเด็นปัญหาที่สนใจของเศรษฐศาสตร์การเมือง จึงสามารถสรุปได้ว่า

เศรษฐศาสตร์การเมือง คือ ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่มคน และชนชั้นในการจัดสรร แบ่งปัน แข่งขัน และช่วงชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมืองและสังคม




 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2554 5:02:18 น.
Counter : 2086 Pageviews.  

What is Pol Econ

อะไรคือความแตกต่างระหว่าง เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) และ วิชาเศรษฐศาตร์กระแสหลัก (Neoclassic Economics)

ประเด็นที่เป็นข้อแตกต่าง
1. จุดกำเนิดของวิชา (Origin)
2. นิยาม ความหมาย และ แนวคิดว่าด้วยเรื่องมูลค่า (Value)
3. เป้าหมายของวิชา (Goal)
4. แนวคิดเรื่องการกระจายรายได้และทรัพยากร (Income and Resource Distribution)
5. เครื่องมือหรือตัวแปรในการจัดสรรทรัพยากร (Tools of Resource Distribution)


จุดกำเนิดของวิชา (Origin)
Political Economy
ปี 1767 ริเริ่มการใช้คำว่า Political Economy โดย James Stuart concept

Economics
ปี 1830 ภายใต้แนวคิด marginal และ utility

นิยาม ความหมาย และ แนวคิดว่าด้วยเรื่องมูลค่า (Value)
แนวคิดนี้ได้รับการถกเถียงและริเริ่มโดย Adam Smith ในงานเขียนของเขา The Wealth of Nations โดยเขาได้นำเสนอแนวคิดเรื่องมูลค่าในรูปของ ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน (Labour Theory of Value) ภายใต้ทฤษฎีนี้เขาบอกว่า การที่สิ่งของสักอย่างมีมูลค่าได้นั้นเกิดจากการที่มนุษย์ได้ใส่ พลังแรงงาน (Labour Energy) เข้าไปในวัตถุ จนออกมาเป็นสินค้าที่มี “ประโยชน์ใช้สอย” ต่อสังคมโดยทั่วไป หรือที่เรียกว่ามี มูลค่าใช้สอย (Value in Use) นั่นเอง โดยที่แนวคิดเรื่องมูลค่าแรงงานนี้ Smith ได้รับอิทธิพลมาจาก John Locke อีกที

Human + Food -> Labour Power

Labour Power + A -> B โดยที่ B มีประโยชน์ใช้สอย หรือ Value in Use

ดังนั้นหากเรามีการใส่แรงงานลงไปในวัตถุดิบ หรือ สินค้ามากๆ ก็ย่อมทำให้มูลค่าของสินค้าเพิ่มสูงขึ้น คือ เพิ่มทั้ง มูลค่าใช้สอย (Value in Use) และมูลค่าอีกประเภทหนึ่งที่ Smith เรียกว่า มูลค่าในการแลกเปลี่ยน (Value in Exchange) ซึ่งเกิดจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อหาสิ่งของที่ตนเองผลิตไม่ได้ของมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจ

Labour Power + A -> B
Labour Power + B -> C

ดังนั้นมูลค่าของ C>B>A เนื่องจาก C มีการใส่แรงงานเข้าไปมากกว่า โดยแรงงานที่ใส่เข้าไปก็จะมีทั้งแรงงานอย่างง่าย (Simple Labour) เน้นการใช้แรงกายเป็นหลัก และ แรงงานที่ซับซ้อน (Complicated Labour) ซึ่งต้องใช้ทักษะในการทำงานมากขึ้น ต้องมีการใช้ความคิด หรือใช้แรงงานจากสมอง มากกว่าการออกแรงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้สินค้าแต่ละประเภทในโลกนี้จึงมีสัดส่วนของแรงงานทั้ง 2 ประเภทแตกต่างกันไป และ จะทำให้มูลค่าต่างกันไปด้วย

สำหรับมูลค่าในการแลกเปลี่ยน หรือ Value in Exchange นั้น Smith ได้มีการขบคิดถึงปัญหาบางอย่างเพิ่มเติมว่า แม้ว่ามูลค่าในการใช้สอยอันเกิดจากการใส่พลังแรงงานเข้าไปนั้นจะเป็นตัวกำหนดมูลค่าในการแลกเปลี่ยนก็ตาม แต่บางครั้งเราอาจพบกับปัญหาในโลกแห่งความจริงอย่างเช่น ทำไมน้ำซึ่งมีประโยชน์ในการใช้สอยที่มากมายจึงมีมูลค่าในการแลกเปลี่ยนซื้อขายในตลาดต่ำกว่าเพชรมาก ทั้งๆที่เพชรนั้นแทบหาประโยชน์ไม่ได้เลย

Smith ได้ให้คำตอบว่า การที่ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากมีปัจจัย 6 อย่างแวดล้อมตัวสินค้านั้นอยู่ (หากผู้เรียนได้เปิดอ่านหนังสือ The Wealth of Nations ของ Smith จริงๆ เขาจะใช้คำว่า Commodities แทนความหมายของคำว่าสินค้า ไม่ใช่คำว่า Goods อย่างที่เราใช้ในทุกวันนี้)

1. ความยากง่ายในการนำเอาสินค้านั้นออกมาสู่ตลาด
2. สินค้านั้นมีจำนวนมากน้อยเพียงไร
3. สินค้าชิ้นนั้นมีการวางขายในตลาดมากน้อยเพียงไร
4. มีคนอยากซื้อสินค้านั้นมากน้อยเพียงใด
5. คนเหล่านั้นมีเงินในกระเป๋าเท่าไร
6. คนเหล่านั้นยอมควักเงินออกมาซื้อสินค้าหรือไม่

โดยทั้ง 6 ข้อ รวมแล้วก็คือกลไกตลาด หรือมือที่มองไม่เห็นนั่นเอง โดย 3 ข้อแรกหมายถึง อุปทานของตลาด และ 3 ข้ออสุดท้ายก็คือ อุปสงค์ของตลาดนั่นเอง

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าแนวคิดเรื่องมูลค่าของ Smith ประกอบไปด้วย 2 เรื่องหลักคือ มูลค่าตามประโยชน์ใช้สอย (Value in Use) และ มูลค่าในการแลกเปลี่ยน (Value in Exchange)

สำหรับเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั้นจะมองว่ามูลค่าของสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องของความพึงพอใจของปัจเจก (Utility) ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมไม่สามารถหาเกณฑ์วัดที่เป็นรูปธรรมที่ตายตัวได้อย่างวิธีการของวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง ยกตัวอย่างเช่น ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมือง รถโตโยต้า กับ รถเบนซ์ อาจมีมูลค่าไม่ต่างกันมาก เนื่องจากมีประโยชน์ใช้สอยเหมือนกันคือ ใช้ขนส่ง มีกระบวนการผลิตที่ไม่ต่างกัน ดังนั้นมูลค่าของแรงงานที่ใส่เข้าไป จึงมีความต่างกันไม่มาก ในทางกลับกันเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก จะบอกเราว่ารถเบนซ์จะมีมูลค่าที่สูงกว่า รถโตโยต้ามาก เนื่องจากผู้คนบางกลุ่มจะให้ราคากับมันที่ความสวยงาม ความภูมิฐาน รสนิยมที่ดูดี มากกว่า ประโยชน์ใช้สอยของมันที่ใช้ในการขนส่ง เป็นต้น

ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปเรื่องความแตกต่างของ 2 แขนงวิชาในประเด็นนี้ว่า

มูลค่า (Value)

Political Economy
Value in Use และ Value in Exchange มีที่มาจาก Labour Energy เป็นหลัก
มูลค่าที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องประโยชน์ของสังคม เกณฑ์ที่ใช้สังเกตได้ง่าย เป็นรูปธรรม

Economics
Value เกิดจากความพึงพอใจส่วนบุคคล
(Utility) เป็นนามธรรมวัดได้ยาก ความต้องการที่เกิดเป็นเรื่องของสิ่งปรุงแต่งมาจากกิเลสมนุษย์




เป้าหมายของวิชา (Goal)
Political Economy
ประโยชน์ของสังคมส่วนรวม หน่วยในการวิเคราะห์จึงมองภาพรวม ของสังคม

Economics
ความพึงพอใจสูงสุดของปัจเจก ประโยชน์ส่วนบุคคลหน่วยในการวิเคราะห์ คือ ปัจเจกในฐานะผู้เล่นในตลาด




แนวคิดเรื่องการกระจายรายได้และทรัพยากร (Income and Resource Distribution)
Political Economy
ใช้กลไกภาครัฐ และประชาสังคมในการจัดสรรทรัพยาการ เพื่อความเท่าเทียมในสังคม มีระบบรัฐสวัสดิการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส

Economics
กลไกตลาด
ให้ตลาดจัดสรรทรัพยากรตามระดับอุปสงค์ และอุปทานที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในตลาด ใครมีกำลังซื้อก็จะได้รับการจัดสรรทรัพยากรจากตลาดใครแข่งขันไม่ได้ เงินไม่พอก็จะต้องออกจากระบบไป ไม่ได้รับการจัดสรรทรัพยากร


เครื่องมือหรือตัวแปรในการจัดสรรทรัพยากร (Tools of Resource Distribution)
Political Economy
Superstructure
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ วัฒนธรรม
เทคโนโลยี อำนาจรัฐ

Economics
Demand Factor, Supply Factor




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2554 4:40:02 น.
Counter : 1025 Pageviews.  

แล ดิลกวิทยรัตน์ ปาฐกถา "แรงงานไทยบนเส้นทางทุนนิยม"

ศาตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ บอกเล่าพัฒนาการของคู่หู-คู่กัดอย่าง "แรงงาน" และ "ทุน" ที่ต่อสู้ฟาดฟันกันยาวนาน ภายใต้รัฐไทย ผ่านปาฐกถาหัวข้อ "แรงงานไทยบนเส้นทางทุนนิยม"


เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ห้องประชุม 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ครั้งที่ 20 ในหัวข้อ"แรงงานไทยบนเส้นทางทุนนิยม" จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



เมื่อจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ผมรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกว่าจะไม่ต้องทำงานอะไรที่ต้องเซ็นชื่อ ต้องเข้าออกตามเวลา ต้องทำอะไรที่มีกำหนดเส้นตาย แต่ตลอดเวลาเกือบหนึ่งปีนับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ มีเหตุการณ์หลายครั้งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าผมคาดผิด ตรงกันข้ามความเครียดอันเกิดจากความตื่นเต้นแบบเดิมๆ ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มรับรู้ว่า จะต้องพูดในปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ซึ่งผมคุ้นเคยในฐานะผู้เกี่ยวข้อง ในฐานะลูกมือ ในงานอันทรงเกียรตินี้มาแต่ต้น แต่ไม่เคยคิดว่าจะได้รับเกียรติให้เป็นผู้แสดงเอง ผมจึงเครียดมาแต่บัดนั้นอาการเครียดดังกล่าวนี่มาหนักขึ้นอย่างถึงที่สุดเมื่อคืนวานนี้เอง เมื่อท่านศาสตราจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา หรือที่พวกเราเรียกท่านว่าอาจารย์ฉัตรทิพย์ ได้โทรหาผมและบอกว่า จะเป็นผู้แนะนำตัวผมให้กับผู้ฟัง ที่คิดอะไรไม่ค่อยออกอยู่แล้วก็เลยถึงกับลนว่าจะเอายังไงกันดี รู้ว่าความซึ่งท่านจะแนะนำนั้นจะน่าฟังกว่าสิ่งที่ผมจะพูดมากนัก หรือพูดไม่ได้ขนาดที่ท่านเคยฟังปาฐกถาชุดนี้คาดหวัง เพราะผมคุ้นเคยกับเรื่องที่จะพูดในแบบที่ไม่รู้จะพูดอะไรดี จับต้นชนปลายไม่ถูก มันเหมือนปลากับน้ำ จะให้ปลามาบอกว่าอยู่ในน้ำเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นถ้าจะทำได้ก็ต้องทำตัวเป็นกบ คือลงน้ำบ้าง ขึ้นบกบ้าง มองจากข้างนอกเข้ามา สลับกันมองจากข้างในออกไป เรียกว่าสวมวิญญาณนักวิชาการสลับกับการมองจากมองแง่มุมของเพื่อนผู้ใช้แรงงานเท่าที่จะเป็นได้


ผมอยากเริ่มปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ด้วยจุดยืนของอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ หรืออาจเรียกว่า สปิริตแบบสุภา ศิริมานนท์ คนที่รู้จักผลงานและตัวท่านอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ จะทราบว่า อาจารย์สุภา ท่านมีโลกทรรศน์และจุดหมายปลายทางแห่งอุดมการณ์ชัดเจน นั่นคือภราดรภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ท่านเชื่อว่า โลกที่เป็นสันตินั้น เป็นความปรารถนาของมนุษย์ แต่สันติจะพึงมีก็ด้วยการปลดปล่อยเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากการถูกกดขี่ โดยเฉพาะจากระบบสังคมที่เป็นอยู่ นั่นคือ ระบบทุนนิยม ซึ่งมีชนชั้นผู้ใช้แรงงานเป็นเหยื่อของการขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ การพูดเรื่องแรงงานไทยบนเส้นทางทุนนิยมในวันนี้ ผมเชื่อว่าเป็นการสืบทอดการเดินทางบนเส้นทางความคิดของอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ และเป็นการพูดถึงปัญหาของผู้คนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นฐานรากของแผ่นดินในปัจจุบันโดยแท้ ประเด็นมีอยู่ว่า ปรากฎการณ์ที่เป็นอยู่ในวันนี้ ต่างกันเพียงใดกับที่ท่านอาจารย์สุภาเห็น เมื่อมีชีวิตอยู่ก่อนเดือนมิถุนายน 2529 และทิศทางของเหตุการณ์ในวันนี้เป็นเช่นที่ท่านคาดหวังเพียงใดมีอะไรผลักดันให้เกิดการเคลื่อนตัวหรือความผันผวน ถ้าหากจะเป็นหรือไม่เป็นเช่นที่ท่านคาดคะเน


ในบันทึกของผู้เรียบเรียง "แคปิตะลิสม์" อันเป็นบทบรรยายให้กับนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อฤดูร้อนปี 2494 ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม อันเปรียบได้กับอนุสาวรีย์ของท่านอาจารย์สุภา หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน และพัฒนาการของความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้ดังต่อไปนี้


"ในพัฒนาการของระบบแคปิตะลิสม์นั้น สมรรถวิสัยในการผลิตได้มีการขยายตัวออกและขยายตัวออกกว้างขวางอยู่โดยไม่ยับยั้ง แต่การณ์กลับปรากฎว่า สิ่งที่คนงานและมหาชนส่วนใหญ่ได้รับเพื่อการดำรงชีพ ได้มีปริมาณน้อยลงและน้อยลงอยู่เรื่อยๆ อย่างไม่ได้ส่วนสัมพันธ์กันเลย กับอำนาจการผลิตที่ยิ่งใหญ่ขึ้นและยิ่งใหญ่ขึ้น"


จริงหรือไม่ที่ประสิทธิภาพในการผลิตของอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยม ได้เพิ่มพูนในอัตราที่มิอาจคำนวณนับได้ การผลิตรถยนต์ แม้ในประเทศไทยเองใช้เวลาไม่เกินคันละหนึ่งนาทีมิไยจะต้องเอ่ยถึงเวลาที่ใช้ในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ประสิทธิภาพการผลิตดังกล่าวนั้นได้อาศัยความโลภและความเห็นแก่ตัวอันเป็นจิตวิญญาณการพื้นฐานของฝ่ายทุนในการขับดันให้มีการขยายความสัมพันธ์ในเชิงขูดรีดต่อกันไปสู่ปริมณฑลทั่วโลก ในคราบของระบบตลาดเสรีและกระบวนการโลกาภิวัตน์ของทุนนิยม กระบวนการโลกาภิวัตน์ของทุนดังที่เห็น จึงเป็นกระบวนการล่าแรงงานราคาถูกอย่างที่มิอาจคิดเป็นอย่างอื่นไปได้


ส่วนแรงงานนั้นเล่า เมื่อเทียบกับการเติบโตของฝ่ายทุนแล้วก็เท่ากับเป็นการเดินหน้าแบบหันหลังให้กันโดยแท้ ในขณะที่ฝ่ายทุนถามว่าจะขยายการเติบโตไปลงทุนต่อที่ไหนดี ฝ่ายแรงงานถามว่าเมื่อทุนย้ายฐานการผลิตไปจีน เวียดนามแล้วเราจะอยู่อย่างไร การเติบโตของฝ่ายทุนตั้งอยู่บนการสลัดคราบของดักแด้เพื่อกลายเป็นผีเสื้อ ความรุ่งเรืองของทุนถูกจุดให้ลุกโชนด้วยพลังงานอีกชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ทรัพยากรมนุษย์" หาไม่ก็แรงงาน จนแม้การกำหนดค่าตอบแทนการทำงานก็กำหนดจาก "ประสิทธิภาพ" หรือ "ผลิตภาพ" อันเป็นมูลค่าตอบแทนวัตถุปัจจัยที่ทำกำไรให้แก่ผู้ครอบครอง หาได้กำหนดจากความจำเป็นของคนคนหนึ่งในอันที่จะรักษาชีวิตและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ไว้ไม่ คนงานนั้นมักได้รับการสวนกลับข้อเรียกร้องที่ขอเพิ่มค่าจ้างค่าตอบแทนด้วยความว่า "ถ้าค่าแรงเพิ่ม ความสามารถแข่งขันก็จะลด สู้เขาไม่ได้ก็ต้องปิดโรงงานย้ายไปที่อื่น" เวลาคนงานเรียกร้องให้รัฐเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ นายจ้างก็จะขู่รัฐว่า ถ้าเพิ่มค่าจ้างก็ต้องปลดคนงาน เหล่านี้เป็นข้อความที่ได้ยินกันจนชินหู ที่น่าสนใจคือชินหู มันชินเสียจนเข้าใจกันว่า สิ่งที่เรียกว่า "คำอธิบาย" เช่นนี้คือ ความจริง คือสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ในที่สุดข้ออ้างเช่นนี้ก็กลายเป็นความซึ่งเชื่อกันโดยทั่วไปในสังคม อันหมายความว่า การเรียกร้องของคนงานให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ขัดกับความเจริญของบ้านเมืองด้วย เหตุนั้นความเจริญของบ้านเมืองจะมีขึ้นได้ ก็ด้วยความเสื่อมโทรมของผู้ใช้แรงงาน และแรงงานก็ไม่ใช่พื้นฐานของบ้านเมือง


ปรากฎการณ์ดังกล่าวนั้นมิได้เกิดขึ้นลอยๆ อันที่จริงเป็นผลสุทธิของความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงภายในกรอบความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายแรงงาน ฝ่ายทุนและรัฐมาตลอด ทั้งในปริมณฑลที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งในระบบและนอกระบบ ผู้ที่ศึกษาความเป็นมาของขบวนการแรงงานในประเทศไทยต่างก็ทราบดีว่า นับตั้งแต่ถูกยึดโยงเข้าสู่ความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยม ผู้ใช้แรงงานก็ได้ดิ้นรนต่อสู้กับพันธนาการของทุนและรัฐตลอดมานับตั้งแต่กระทำการตามลำพังไม่ว่าจะอู้งาน หนีงาน ไปถึงการรวมตัวกันต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเฉพาะกิจ เฉพาะหน้า หรืออย่างยั่งยืนถาวร ทั้งที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อสามารถกดดันให้รัฐยอมรับการมีตัวตนของพวกตน หรือรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อต่อสู้เป็นเรื่องๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการนัดหยุดงานแบบไม่อาศัยขั้นตอนกฎหมาย หรือการรวมตัวประท้วงเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะและโดยฉับพลัน เช่นการตอบโต้การที่นายจ้างไล่ผู้นำแรงงานออก เป็นต้น


เป็นที่น่าสนใจว่านับตั้งแต่เข้าสู่ความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยม เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา พัฒนาการของความขัดแย้งและการปรับตัวระหว่างฝ่ายทุนกับแรงงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อแรกนั้นทุนยังไม่มีบทบาทในการชี้นำรัฐให้วางกฎเกณฑ์และใช้กลไกเอื้อประโยชน์ต่อพวกตนได้อย่างชัดแจ้ง การยอมรับการรวมตัวของแรงงานโดยฝ่ายรัฐเป็นแต่เพียงการสร้างภาพลักษณ์ ให้เข้าได้กับประชาคมระหว่างประเทศเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ผู้ใช้แรงงานได้จดทะเบียนสหบาลกรรมกรหรือสหภาพแรงงานดังที่สู้กันในปัจจุบัน หรือการออกพระราชบัญญัติแรงงานเมื่อปี 2499 ก็ตาม ความจริงจังในการใช้กลไกอำนาจรัฐเพื่อให้เป็นไปตามนั้นยังคงไม่มีผลอย่างแท้จริง การคุ้มครองสิทธิ์ขั้นพื้นฐานหรือการปกป้องผู้ใช้แรงงานจากการขูดรีดของทุนยังคงไม่เป็นผลอะไรนัก นายทุนยังคงอาศัยระบบอุปถัมภ์ภายใต้กลไกที่อ่อนแอของรัฐขูดรีดแรงงานเพื่อการสะสมทุนในเบื้องต้น


ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ระบบทุนนิยมสามารถคืบคลานเข้าครอบงำกลไกอำนาจรัฐได้อย่างเต็มที่ ก็เมื่อฝ่ายทุนสามารถเข้าควบคุมอำนาจรัฐแทนระบบข้าราชการและทหาร โดยการตั้งพรรคการเมืองและปรับระบบการเมืองให้เอื้อต่อการทำงานของระบบทุน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในขณะที่ฝ่ายแรงงานก็ใช้เงื่อนไขความเสรีภาพทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของฝ่ายสังคมนิยม สร้างสมอำนาจจากการรวมตัวทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ


ในท่ามกลางกระแสการเติบโตของขบวนการแรงงานนั้น ปฎิกิริยาตอบโต้ของฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐมีแตกต่างกันไป ขณะที่ฝ่ายทหาร ข้าราชการ ซึ่งกุมอำนาจรัฐอยู่แต่เดิมขัดขวางการก่อตัวด้วยการกำจัดหรือจับกุมคุมขัง ฝ่ายทุนใช้วิธีการยอมรับในบางระดับ ด้วยการดึงและแปลงให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม เช่น ให้จดทะเบียนเพื่อแลกกับสิทธิบางอย่างและข้อจำกัดบางอย่าง เช่นห้ามนัดหยุดงานผิดขั้นตอนที่รัฐกำหนด หรือในกิจการที่รัฐกำหนด ปรากฎการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้นำแรงงานบางคน หรือผู้ใช้แรงงานบางกลุ่มไม่ยอมรับการกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบดังกล่าว และพอใจที่จะรวมกันบนพื้นฐานของความสมัครใจ และบนพื้นฐานผลประโยชน์ที่หลากหลายกว่าที่ทางการกำหนด


อย่างไรก็ตาม แม้ในกลุ่มที่รวมตัวตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด ผู้คนเหล่านี้ก็พยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเปิดพื้นที่ให้ลดทอนข้อจำกัดของรัฐลง สหภาพแรงงานที่จดทะเบียนตามกฎหมายก็พยายามใช้สิทธิ์ของตนเรียกร้องให้ยกเลิกข้อจำกัดห้ามนัดหยุดงานหรือเรียกร้องให้เปิดพื้นที่ให้มีการเจรจาต่อรองในกิจการต้องห้ามได้มากขึ้น โดยการเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศ ให้สิทธิผู้ใช้แรงงานในมาตรฐานเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว


ฝ่ายทุนทำอะไรกับองค์กรแรงงานที่เป็นทางการ?

เพื่อจะได้ตัวตนทางกฎหมาย ฝ่ายแรงงานต้องยอมแลกเอาสิทธิที่จะรวมตัวกันเจรจาต่อรองภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนดเป็นเงื่อนไขที่จะจดทะเบียนให้ เงื่อนไขที่สำคัญ คือ แรงงานต้องยอมรับว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการตัดสินใจสะสมทุน กล่าวคือ กฎหมายยอมให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเรียกร้องและต่อรองปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือเรื่องปากท้อง อันได้แก่ อัตราค่าจ้างและสวัสดิการซึ่งเรียกว่าสภาพการจ้างงานเท่านั้น การเรียกร้องขอมีส่วนในอำนาจการตัดสินในบริหารและการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของธุรกิจเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือสภาพการจ้าง อันหมายความว่าต่อรองไม่ได้ การเรียกร้องสิทธิดังกล่าว หากมีผลถึงการนัดหยุดงานจนทำให้กระบวนการสะสมมูลค่าส่วนเกินสะดุดหยุดชะงัก ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะเรียกกฎหมายนี้ว่ากฎหมายแรงงานก็ตาม จะเห็นได้ว่ามองจากแง่มุมนี้ กฎหมายแรงงานจึงเป็นกลไกอำนาจรัฐที่ทำหน้าที่ประคับประคองกระบวนการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินให้ดำเนินไปอย่างเป็น "ปกติ"


อย่างไรก็ตาม การรวมตัวและการใช้สิทธิภายใต้ความเป็นองค์กรตามกฎหมาย ยังมีข้อจำกัดอีกมาก อาทิเช่น คนงานที่มีส่วนเกื้อกูลกระบวนการผลิตในระบบทุนนิยม แต่มีอำนาจต่อรองสูง เช่น ผู้ที่อยู่ในภาคราชการ การเงิน กิจการที่ถูกเรียกว่า บริการที่จำเป็นสำหรับสาธารณชน เช่น โรงพยาบาล เชื้อเพลิง เหล่านี้จะถูกห้ามไม่ให้มีสิทธิรวมตัวเพื่อนัดหยุดงาน รวมทั้งแรงงานรัฐวิสาหกิจ แม้หลักการทั่วไปแรงงานจะมีสิทธินัดหยุดงาน แต่รัฐยังมีสิทธิที่จะเข้าแทรกแซง โดยระงับใช้สิทธิดังกล่าวด้วยการใช้ข้ออ้างว่า เป็นการก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ


จะเห็นได้ว่า แม้จะได้การรับรองทางกฎหมายแต่จำนวนผู้คนและช่องทางที่จะใช้กฎหมายปกป้องให้พ้นจากการขูดรีดภายใต้ความสัมพันธ์ของระบบทุนนิยมนั้นมีน้อยมาก การจะใช้สิทธิได้แต่ละครั้ง เต็มไปด้วยเงื่อนไขซึ่งประกันว่ากระบวนการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจะไม่ถูกกระทบกระเทือนหรือทำให้สะดุด หยุดชะงัก


สำหรับแรงงานที่อ่อนแอกว่า ไม่สามารถรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรได้ก็อาจได้รับการคุ้มครองให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งรัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายเช่นนี้มา จะด้วยทนต่อแรงกดดันของขบวนการแรงงานภายในประเทศ หรือพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยตามประชาคมระหว่างประเทศก็ตาม โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันซึ่งได้เกิดขบวนการปรับภาพลักษณ์ของฝ่ายทุนด้วยการสร้างเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ อย่างใหม่ขึ้นที่เรียกว่า มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งจะโดยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ที่แน่ๆ คือ ฝ่ายทุนพยายามทำหน้าที่ค้ำประกันไม่ให้ฝ่ายตนแข่งกันขูดรีดแรงงานจนเกินไป โดยพยายามช่วงชิงบทบาทดังกล่าวมาจากองค์กรของผู้ใช้แรงงาน จะเห็นได้ว่ามาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศนั้นก็เฉกเช่นกฎหมายแรงงานนั่นเอง คือ การสร้างหลักประกัน มิให้เกิดการขูดรีดแรงงานจนก่อให้เกิดวิกฤตกับกระบวนการสะสมทุน เพียงแต่แนวคิดเรื่องมาตรฐานแรงงานมีแนวโน้มที่จะแสดงให้เห็นว่ามีเครื่องมือสร้างหลักประกันที่ได้ผลกว่า ก็คือมีกลไกการติดตามที่คล่องตัวกว่ากระบวนการทางกฎหมาย มีการลงโทษที่กระทบโดยตรงกับธุรกิจ ด้วยการคว่ำบาตรทางการค้า แม้จะแทบไม่มีการกระทำเลยก็ตาม


ในประเด็นการคุ้มครองแรงงานนี้เอง ฝ่ายทุนก็พยายามหาทางเลี่ยงด้วยการกันให้ข่ายการคุ้มครอง แคบเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ใช้กับลูกจ้างนอกระบบ ลูกจ้างชั่วคราว ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ความพยายามที่จะผลักไสให้คนซึ่งเคยหรืออยู่ในระบบ กลายเป็นคนที่อยู่นอกข่ายการคุ้มครองไป เช่น ลูกจ้างที่เคยอยู่ในระบบและได้รับการคุ้มครองมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ เมื่อถูกเลิกจ้างแม้จะได้งานเดิมทุกประการ แต่นายจ้างไม่รับกลับเข้าทำงานในโรงงาน หากแต่ส่งมอบวัตถุดิบให้ไปทำในบ้าน ในสภาพเช่นนี้ลูกจ้างผู้รับงานไปทำจะพ้นจากการคุ้มครองทั้งปวงของกฎหมาย รวมตลอดสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล จากการเป็นลูกจ้างผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมที่มีนายจ้างเป็นผู้ออกเงินสมทบส่วนหนึ่งให้


มาตรการตอบโต้การเติบโตของอำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงานที่สำคัญซึ่งฝ่ายทุนเลือกใช้ในปัจจุบัน คือ การกันตัวเจ้าของทุนออกจากการเป็นนายจ้างตามกฎหมาย ด้วยการใช้การจ้างเหมาช่วง ผลที่เกิดขึ้น คือ เจ้าของทุนไม่ต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานและความเท่าเทียมของลูกจ้างที่เข้ามาอยู่ร่วมกระบวนการผลิตเดียวกัน ทำให้ได้แรงงานราคาถูก เพราะขาดการคุ้มครองโดยกฎหมายและอำนาจต่อรอง เพราะกฎหมายไม่ยอมให้ลูกจ้างที่ต่างนายจ้างรวมตัวกัน หรือถ้ารวมตัวกันกับลูกจ้างในโรงงาน ก็จะถูกผู้รับเหมาช่วงจับย้ายไปที่อื่น ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายแรงงานจะต่อสู้ให้ได้กลไกรัฐที่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตนอย่างไร ฝ่ายทุนก็พยายามแก้ไขโดยการแยกประเภทคนงานให้พ้นไปจากการควบคุมกลไกดังกล่าวจนได้


การรวมตัวของฝ่ายแรงงานภายในระบบที่เป็นทางการอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมากในประเทศไทยคือ การรวมกลุ่มของแรงงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานกลุ่มนี้ก็เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกตั้งเงื่อนไขให้มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุดเมื่อแรกเกิดมีขึ้น ข้อกีดกันข้อแรกเกิดขึ้นเมื่อจะออกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในปี 2518 มีข้อถกเถียงกันว่า คนงานรัฐวิสาหกิจมิได้เป็นแรงงานที่ใช้ผลิตเพื่อหากำไรหากแต่มีลักษณะเป็นพนักงานของรัฐมากกว่า ซึ่งไม่ควรมีสิทธิเช่นเดียวกับการที่ข้าราชการไม่มีสิทธิตั้งสหภาพแรงงาน แต่เพราะบรรยากาศการเมืองภายในที่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างคึกคัก หรือเพราะผู้นำบางคนซึ่งต้องการจะสร้างภาพลักษณ์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับกันในนานาประเทศ จึงมีมติยอมให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเกิดได้อย่างเป็นทางการ กระนั้น ก็ได้วางข้อจำกัดไว้มากมายจนจะทำอะไรไม่ค่อยได้


ด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวยมากกว่าองค์กรแรงงานภาคเอกชนหลายประการ เช่น จำนวนแรงงานเฉลี่ยแต่ละองค์กร ความมุ่งหวังที่จะยึดสถานประกอบการแต่ละแห่งเป็นเรือนตาย การใช้ชีวิตร่วมกันมากกว่าแค่ทำงานร่วมกัน หากแต่มีที่พักอาศัยระแวกเดียวกันเช่น คนงานรถไฟ หรือใช้ชีวิตบุกป่าฝ่าดงมาด้วยกัน เช่น คนงานไฟฟ้า เหล่านี้ทำให้องค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจ มีความเข้มแข็งยากที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สามารถทำกำไรให้ใครได้ง่ายๆ การจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทนก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนประสิทธิภาพของการสร้างมูลค่าเพิ่ม องค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจถึงเป็นหนามยอกอกของผู้ที่มองด้วยสายตาของทุน หรือมองจากความสัมพันธ์ในกระบวนการผลิตมูลค่าส่วนเกิน การพยายามใช้แรงงานรัฐวิสาหกิจให้ "มีประสิทธิภาพ" ในการทำเงินให้สูงขึ้นก็ต้องแปลงแรงงานเหล่านี้ให้เป็นทรัพยากรล้วนๆ สามารถจ้างและเลิกจ้างได้อย่างใจ ไม่ติดขัดพันธะทางกฎหมายหรือข้อบังคับ เป็นการปลดปล่อยให้เกิดแรงงานเสรีพร้อมที่จะรับการจ้างด้วยค่าจ้างที่กำหนดโดยกลไกตลาด


ดังนั้น เมื่อกลไกอำนาจรัฐอ่อนลงหลังปี 2540 จึงได้มีการฉวยโอกาสแปรรูปรัฐวิสาหกิจกันขนานใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อทำลายอำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงานในรัฐวิสาหกิจ นอกเหนือจากการขยายปริมณฑลทางการค้าของระบบทุนนิยมเข้าสู่เขตหวงห้ามซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของรัฐ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและการสิ้นสุดบทบาทขององค์กรแรงงานในองค์การแห่งนั้น


หลังจากที่ได้กล่าวถึงขบวนการแรงงานในระบบทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจแล้ว ก็ควรที่จะกล่าวถึงองค์กรอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้ใช้แรงงานมองเห็นข้อจำกัดหรือหลุมพรางของความเป็นทางการและได้พยายามหลบหลีกหรือก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าวไปสู่การจัดตั้งองค์กรอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งที่เป็นเอกชนและรัฐวิสาหกิจโดยพื้นฐาน


ด้วยข้อจำกัดการรวมตัวทางกฎหมายที่ไม่ยอมให้มีการรวมตัวข้ามพ้นอาชีพเดียวกัน คนงานเอกชนได้พยายามรวมกลุ่มองค์กรโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางอาชีพด้วยการยึดเอาพื้นที่เป็นหลัก เช่น กลุ่มย่านรังสิต พระประแดง อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ กลุ่มเหล่านี้ต่างก็ร่วมมือกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้การศึกษา และการทำการเคลื่อนไหวร่วมกันอย่างมีพลัง กระนั้นก็ตาม ขบวนการแรงงานไทยที่จัดตั้งขึ้นในรูปสหภาพแรงงานนั้น ต้องเผชิญกับปัญหาพื้นฐานทางสังคมตลอดมานั่นคือ ความไม่เข้าใจของผู้คนในสังคมที่ยังต้องตกอยู่ภายใต้ทุนนิยมแบบอุปถัมภ์ ที่ยังคงเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างนายจ้างเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในบ้าน ความสัมพันธ์ในเชิงพึ่งวาน ในเชิงวัฒนธรรมและค่านิยม ไม่ควรเคร่งครัดในตัวบทกฎหมาย ไม่เน้นหนักเรื่องสิทธิหน้าที่และไม่เน้นค่าตอบแทนด้วยการคำนวณนับ เหล่านี้เป็นอุปสรรคกับขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ แรงงานนับตั้งแต่การจัดตั้ง การเคลื่อนไหว ไปถึงกระบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยเลยทีเดียว


ผู้นำแรงงานบางกลุ่มซึ่งแก้ปัญหานี้ด้วยการขยายแนวร่วมเป็นวงกว้าง ข้ามพ้นมิใช่แต่เพียงชนิดของอุตสาหกรรมดังที่กลุ่มย่านได้กระทำมา แต่เป็นการก้าวพ้นความแตกต่างของวิถีชีวิตเลยทีเดียว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การจัดตั้งกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งรวมเอาองค์กรแรงงานทั้งภาครัฐเอกชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายคนตกงาน ผู้ป่วยจากการทำงาน โรคเอดส์ ขบวนการชาวบ้านอย่างสมัชชาคนจน ฯลฯ กลายเป็นขบวนการของผู้ที่เป็นเหยื่อของระบบทุนนิยม โดยได้เคลื่อนไหวต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบของระบบทุนนิยม ที่กระทำต่อเหยื่อในรูปแบบต่างๆ อย่างคึกคัก การเคลื่อนไหวของกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทยดังกล่าวนี้ดูจะเป็นรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจในการรับมือกับระบบทุนนิยมที่มีรูปแบบการขูดรีดที่กว้างขวางและซับซ้อน ไม่ได้ขังตัวเองอยู่แต่ในโรงงานและขูดรีดด้วยการกดค่าแรงอย่างที่เป็นมาเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว หากแต่มีรูปแบบที่หลากหลายเกินกว่าองค์กรแบบสหภาพแรงงานในโรงงานจะรับมือไหว


เช่นเดียวกับแรงงานรัฐวิสาหกิจ นอกจากจะถูกขังอยู่กับระเบียบข้อบังคับของพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้ว คนเหล่านี้เมื่อรวมตัวกันจดทะเบียน เป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ยังต้องถูกจำขังอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ นับตั้งแต่การเรียกร้องอะไรไม่ได้ ไปจนกระทั่งทำอะไรไม่ได้ เช่น ห้ามนัดหยุดงาน เป็นต้น ความพยายามที่จะข้ามกำแพงเหล่านี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า นับตั้งแต่อดีต แต่ก็มักไปจบที่ผู้นำซึ่งมีความสามารถสูง ถูกดูดซับไปสังกัดองค์การทางการเมืองและพยายามใช้วิธีทางการเมืองเข้าแก้ปัญหา ซึ่งในที่สุดก็จบลงด้วยความล้มเหลว และก่อให้เกิดความแตกแยกในที่สุด อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะทำให้ขบวนการรัฐวิสาหกิจมีอำนาจต่อรองสูง และปกป้องตัวเองจากการขูดรีดของระบบทุนนิยมได้ ก็โดยการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์ชัดแจ้งประการหนึ่ง คือ การต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็คือการต่อต้านกระบวนการทำแรงงานให้กลายเป็นสินค้านั่นเอง จนกระทั่งวันนี้ สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจ อันเป็นแนวร่วมรัฐวิสาหกิจเพื่อต่อต้านการแปรรูปก็ยังคงเป็นขบวนการซึ่งมีบทบาทที่โดดเด่นของผู้ใช้แรงงานในรัฐวิสาหกิจอยู่


อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ก็ใช่ว่าจะมีแต่ความประสานสอดคล้องในผลประโยชน์และจุดยืนตลอดไปเสียทีเดียวไม่ มีความแตกต่างบางอย่างที่เป็นโจทย์ท้าทายความเข้มแข็งและความคงอยู่ของพันมิตรกลุ่มนี้อย่างสำคัญ นั่นคือ ความแตกต่างของผลประโยชน์และข้อเรียกร้องของรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูปไปแล้วบางส่วนและที่ยังไม่ได้มีการแปรรูป ปัญหาจึงอยู่ที่จุดยืนของข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหว จะประสานกันอย่างไร ?


จากที่ได้กล่าวมาแล้ว เราจะพบว่ากระบวนการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินในสังคมไทยได้มีพัฒนาการและการปรับตัวทั้งฝ่ายแรงงานและฝ่ายทุน สำหรับฝ่ายแรงงานแล้ว การรวมกลุ่มในรูปสหภาพแรงงานนับเป็นยุทธศาสตร์ขั้นพื้นฐาน แต่กลุ่มองค์กรที่เกิดขึ้นมิได้เกิดท่ามกลางความว่างเปล่า หากแต่จะต้องจ่ายต้นทุนด้วยข้อจำกัดบางอย่างที่ขัดขวางไม่ให้ขบวนการแรงงานมีความสามารถลดทอนพลังงานของระบบทุนนิยมได้อย่างมีผล กระนั้นก็ตาม ฝ่ายแรงงานก็ได้พยายามพัฒนาตัวเองให้ข้ามพ้นอุปสรรคที่ต้องเผชิญได้ระดับหนึ่งด้วยความพยายามที่จะจัดตั้งกลุ่มที่พ้นจากเงื่อนไขของรัฐ นี่คือสถานการณ์ที่เป็นอยู่


ปัญหามีอยู่ว่า สถานการณ์ที่กล่าวนี้ เป็นภาพรวมของความสัมพันธ์แบบนิยมในสังคมไทยแค่ไหน คำตอบมีอยู่ว่า เรากำลังพูดถึงภาพเล็กที่อาจชัด แต่นั่นไม่ใช่ภาพใหญ่หรือภาพรวมของเหตุการณ์ของสังคมไทยอย่างแน่นอน เมื่อเราพูดถึงการต่อสู้ของแรงงานในฐานะของสมาชิกสหภาพแรงงาน เราไม่ได้พูดถึงคนส่วนใหญ่ที่มีส่วนสร้างผลิตผล เข้าสู่ตลาดในระบบทุนนิยม ซึ่งมีอย่างน้อย 37 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างมีสิทธิ์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 9 ล้านคน และในจำนวน 9 ล้านคน นี้มีผู้ที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและใช้สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือปกป้องตัวเอง จากการขูดรีดของความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยมเพียง 5 แสนคน หรือร้อยละ 5.5 เท่านั้นเอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ให้อรรถาธิบายได้อย่างชัดเจนว่า มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ผลิตมูลค่าส่วนเกินให้กับการสะสมทุนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังที่อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ใช้คำว่า "ยิ่งใหญ่ขึ้น ยิ่งใหญ่ขึ้น" นั้น คนเหล่านี้กลับต้องตัวลีบลง สวนทางกับการเติบใหญ่ของทุนนิยมที่ไม่สามารถคำนวณ นับอัตรากันได้


กับคำกล่าวที่ว่า ความจริงในวันนี้และที่จะเกิดในวันหน้าของผู้ใช้แรงงานไทยบนเส้นทางทุนนิยมสายนี้จะเป็นเช่นไรนั้น อยากจะยกตัวอย่างที่ผมพบมาในเดือนมีนาคมเมื่อหลายปีมาแล้ว ในการบรรยายให้ผู้ใช้แรงงานคราวหนึ่ง ผมทักทายผู้เข้าฟังการอบรมด้วยความอยากเป็นกันเองว่า "เออ! ลูกใครจะสอบเข้าจุฬาบ้าง?" ผู้ฟังค่อยๆ หันหน้ามามองผม ราวกับว่าผมเป็นมนุษย์ต่างดาว เพราะถามเขาด้วยภาษาต่างด้าวที่ไม่คุ้นเอาเสียเลย


ครับ ! สำหรับผู้ใช้แรงงานแล้ว ความฝันเรื่องลูกเรียนมหาวิทยาลัยนั้น เขาเซ็นเซอร์ไปเสียตั้งนานแล้ว สังคมอะไรหนอที่ทำให้คนสิ้นหวังได้ชะงัดถึงเพียงนี้ ?




 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2554 21:48:10 น.
Counter : 495 Pageviews.  

“ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” พลิกทฤษฎีสงครามชนชั้น ไม่มี “ออคคิวพายราชดำเนิน” มีแต่ “โจรร้องจับโจร”

จากจุดเริ่มต้นของ “นักศึกษาไม่ถึง 12 คน” ที่มาปักหลักค้างคืนที่สวนสาธารณะซัคคอตติ ด้านนอกตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค (เอ็นวายเอสอี) ประเทศสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ-ความคับข้องใจในภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย”

กลายเป็นตัวจุดประกายให้คนว่างงาน คนไร้ที่อยู่ แม่บ้าน ฯลฯ ออกมาประท้วงชนชั้นนายทุนและ “ยึดวอลล์ สตรีท” ถนนที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งของชาติมหาอำนาจ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกนโยบายเอื้อมหาเศรษฐี

ผู้ร่วมขบวนการประท้วงเชื่อว่าพวกตนเป็นคน 99 % ของประเทศ ที่ถูกครอบงำ-กดขี่-เอาเปรียบจากเศรษฐีที่มีเพียง 1 %

“ออคคิวพาย วอลล์ สตรีท” กลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน “ทุนนิยมสามานย์” ที่แตกหน่อไปจุดต่างๆ ทั่วโลก โดยมีการเกิดขึ้นของออคคิวพาย นิวยอร์ก, บอสตัน, ลอสแองเจลิส เมมฟิส ฯลฯ รวมถึง “ออคคิวพาย ลอนดอน” รวมเบ็ดเสร็จกว่า 1,300 ขบวนการทั่วโลก

ท่ามกลางสงครามแห่งชนชั้น ที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัด “รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยเป็นทั้งคนคิดนโยบายประชานิยมให้”รัฐบาลคึกฤทธิ์” และ “รัฐบาลทักษิณ” คน “ทำ” จากการเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง และคน “เสนอแนะ” ในฐานะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เปิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองขึ้นอธิบายปรากฏการณ์ “ออคคิวพาย วอลล์ สตรีท” และทำนายโอกาสเกิดขึ้นกับประเทศไทย-ประเทศที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่แก้ไม่ตก

ไทยพับลิก้า : ปรากฏการณ์ออคคิวพาย วอลล์ สตรีท มีโอกาสเกิดขึ้นในไทยหรือไม่ ถ้าเกิดกลุ่มไหนจะเป็นตัวนำ

ในทฤษฎีการลุกขึ้นสู้มันมี 2 ทฤษฎี ทฤษฎีแรกบอกว่าถ้าประเทศไหนมีคนจนเยอะๆ ถูกกดขี่เยอะๆ ประเทศนั้นจะเสี่ยงต่อการมีคนลุกขึ้นสู้ ซึ่งบางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง เราจะเห็นว่าคนในอินเดียจนมาก แต่ไม่มีการลุกขึ้นสู้ เพราะมันมีคำตอบทางทฤษฎีว่าการครอบงำทางความคิด พยายามเบี่ยงเบนว่าคุณเกิดมาในวรรณะนี้ก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ หรือเรื่องบุญเรื่องกรรม หรือเรื่องทำให้คนเกิดความหวาดกลัว จะมีหนูตัวไหนเอากระพวนไปแขวนคอแมว และสังคมไทยก็ตกอยู่ภายใต้ทฤษฎีนี้เช่นกัน ดังนั้นคนจนบ้านเราก็จะเป็นไม้ซีกอย่าไปงัดไม้ซุง ทำให้คนจนมีความรู้สึกยอมจำนน ไม่ลุกขึ้นสู้

ทฤษฎีที่ 2 คือการผิดจากความคาดหวัง ทฤษฎีนี้จะอธิบายเรื่องคนชั้นกลาง ประเทศใดก็ตามที่มีคนชั้นกลางมากขึ้น และมีความแตกต่างเยอะ คนที่รู้สึกถึงความแตกต่าง มักเป็นคนชั้นกลางมากกว่าคนชั้นล่าง คนชั้นล่างถึงรู้ว่าแตกต่าง แต่มักไปคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ความสูงต่ำเป็นธรรมชาติ ความเหลื่อมล้ำเป็นธรรมชาติ เจ้านายเขามีอำนาจวาสนาเพราะทำบุญมาเยอะ จึงไม่รู้สึกถึงการลุกขึ้นมาต่อต้าน แต่คนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีฐานะพอจะรับรู้อะไรมากกว่า เขาจะเข้าใจว่าความแตกต่างนั้นเกิดจากความอยุติธรรม การคอรัปชั่น นักการเมืองสามานย์ ทุนสามานย์ อะไรก็ว่าไป พวกนี้เมื่อเห็นมากยิ่งผิดหวังมาก เราจะเห็นว่าคนที่ไปประท้วงที่วอลล์ สตรีท ไม่ใช่คนจนในสลัม ไม่ใช่คนผิวดำที่ถูกเหยียดผิว แต่เป็นคนที่มีการศึกษา เขารู้ว่าทรัพยากรมันมีอยู่ แต่พวก 1 เปอร์เซ็นต์มันเอาไป

ในบ้านเราความเหลื่อมล้ำอาจจะมาก แต่โจทย์อยู่ที่ว่าคนชั้นกลางมีความรู้สึกแตกต่างรุนแรงหรือเปล่า ไม่ว่าเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง พื้นฐานเป็นคนชั้นกลางทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเป็นคนชั้นกลางแบบไหน คนที่เป็นเสื้อแดงดูเหมือนจะเป็นคนชั้นกลางประเภทโอล์ด โมเดล แต่เป็นนิว เจเนอเรชั่น เป็นคนรุ่นใหม่นะ แต่เป็นแบบเก่าคือ พวกมีรถกระบะ มีกิจการเล็กๆ น้อยๆ อาชีพค้าขาย ไม่ใช่ชาวนา ส่วนคนเสื้อเหลืองมีนิว โมเดลมากกว่า อาจจะเป็นโอลด์ เจเนอเรชั่นนะ สูงวัย แต่เป็นทนายความ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นลูกจ้าง อย่างผู้นำ เช่น สมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นพนักงานการรถไฟ สมเกียรติ์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นครู แม้แต่ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ก็เป็นลูกจ้างรัฐ

การตระหนักรู้ของคนชั้นกลางจะเป็นตัวจุดประเด็นในการลุกขึ้นสู้ อย่างการลุกขึ้นสู้ของเสื้อเหลืองก็มีประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรม การคอรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำ การลุกขึ้นสู้ของเสื้อแดงก็อยู่ตรงนั้นเหมือนกัน แต่ไปชี้ประเด็นที่ต่างกัน ความรู้สึกของพวกออคคิวพาย วอลล์ สตรีท เป็นความรู้สึกเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยม หากดูความรู้สึกของแต่ละสีในบ้านเรา ผมมองว่าความรู้สึกของพวกเสื้อเหลืองดูจะใกล้เคียงกว่า มีปัจจัยร่วมกันมากว่า โดยมองไปที่กลุ่มทุนที่มีทั้งคอร์รัปชั่น การรวบกินประเทศไทย ขณะที่พวกเสื้อแดงมองไปที่ความเหลื่อมล้ำเรื่องอำนาจ ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำเชิงทุนนิยม

ไทยพับลิก้า : มองเป็นเรื่องทุนเก่ากับทุนใหม่ได้หรือไม่

เขาไม่พูดนะ เขายังมองว่าเป็นเรื่อง 2 มาตรฐาน พวกนั้นมีอำนาจมากกว่าเลยทำอย่างนี้ พวกเรามีอำนาจน้อยกว่าเลยถูกทำอย่างนั้น หรือการไปชี้ความแตกต่างระหว่างไพร่กับอำมาตย์ ซึ่งไม่มีสาระทางทุนนิยมเลย บอกว่าไพร่ด้อยอำนาจ ทั้งอำนาจทางการปกครอง และอำนาจในทรัพย์สิน พวกไพร่คือพวกไร้สมบัติ ไร้อำนาจ ไร้โอกาส แต่ถามว่าในหมู่ไพร่ มีไพร่ 4 หมื่นล้าน ไร้สมบัติไหม ตรงนี้สับสน บอกว่าอำมาตย์มีอำนาจมาก แต่ไม่ได้บอกว่าอำนาจนั้นคืออำนาจอะไร และอำมาตย์เป็นใครก็ไม่ชัด

อำมาตย์ตามพจนานุกรมของทางราชการหมายถึงผู้บังคับบัญชาราชการ แล้วผู้บังคับบัญชาราชการคือใคร ก็คือรัฐมนตรี วันนี้คุณเป็นรัฐมนตรี คุณเป็นอำมาตย์หรือเปล่า ดังนั้นการลุกขึ้นสู้ของคนเสื้อแดงจึงไม่ได้อยู่ในโมเดลของวอลล์ สตรีท ขณะที่พวกเสื้อเหลืองมีปัจจัยร่วมวอลล์ สตรีท มากกว่า เพราะมีเป้าหมายอยู่ที่ทุนสามานย์ คำว่าทุนสามานย์ไม่ได้แปลว่าทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) นะ แต่เป็นพฤติกรรมของทุน ซึ่งมีหลายกลุ่ม เช่น พฤติกรรมของบริษัทปตท. นี่ทุนสามานย์แท้ๆ ไม่โปร่งใสเลย ปีหนึ่งส่งออก 3 แสนล้านบาท แต่บอกว่าผลิตได้ไม่พอ ต้องนำเข้า เมื่อต้องนำเข้าทำไมต้องส่งออกด้วยล่ะ เพราะอะไร

ไทยพับลิก้า : ในเมื่อตัวละครเมื่อปี 2548 อยู่กันครบ และกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม ทั้งเสื้อเหลือง พรรคทักษิณ และทุนนิยมสามานย์ของทักษิณ หากเสื้อเหลืองจะออกมาในโมเดลวอลล์ สตรีท ต้องชูประเด็นอะไรถึงจะมีน้ำหนัก

เรื่องของทุนไง อย่างปตท. ตอนนี้มีทุนเอกชน 48 % ก็ต้องไปดูว่าเป็นใคร และมันดูดดึงทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างไร ซึ่งชัดเจนว่าเป็นกลุ่มทุนการเมือง เราจะเห็นว่ากลุ่มผูกขาดในสังคมไทยอิงกับการเมืองทั้งนั้น ดังนั้นการต่อสู้กับทุนสามานย์จะหมายถึงการต่อสู้กับบางส่วนที่เป็นผู้คุมอำนาจรัฐ เหมือนกับที่พวกวอลล์ สตรีท บอกว่าพวกทุนสามานย์วอลล์ สตรีท อยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง นักการเมืองก็ต้องออกนโยบายใหม่ ปฏิรูปนโยบายใหม่ กดดันโอบามา (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ) แต่เวลาเสื้อแดงลุกขึ้นมาต่อสู้ เขาไม่ได้ชูเรื่องทุน เรื่องความแตกต่างระหว่างทุนกับประชาชน ทั้งที่ความจริงกลุ่มทุนกับประชาชนธรรมดาครองทรัพย์สินต่างกัน 60 เท่า ไม่ว่าจะทุนเก่าทุนใหม่ มันก็เป็นทุนทั้งนั้น

ผมสรุปว่าความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยเกิดจากพฤติกรรมของทุนเป็นหลัก ซึ่งความไม่เป็นธรรมได้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ 5 ประการ ตามที่คณะปฏิรูปคิดกันคือ รายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี ความแตกต่างทางรายได้มาจากความเป็นทุนกับไม่เป็นทุน แต่เรากำลังถูกชี้ประเด็นว่าเป็นเรื่องไพร่กับอำมาตย์

ไทยพับลิก้า : แท้จริงแล้วคนที่เรียกตัวเองว่าไพร่คือนายทุนที่ประดิษฐ์วาทกรรมขึ้นมาบล็อกความคิดคนในสังคมหรือเปล่า

ไพร่คืออะไร คือผู้ไร้สมบัติ คุณไร้สมบัติหรือ เป็นวาทกรรมหลอกลวงหรือเปล่า จะเข้าทฤษฎีของเหมา เจ๋อ ตุง (ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน) ที่โจรร้องให้จับโจร บอกเฮ้ย! กูไม่ใช่โจร ไอ้คนนั้นโจรต่างหาก ถ้าคุณวิ่งตามจับโจรตามที่เขาชี้เนี่ย จะจับโจรตัวจริงได้ไหม โจรคนไหนบ้างที่บอกว่าตัวเองเป็นโจร มันใช่อย่างนั้นหรือเปล่า ผมว่าใช่นะ แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ดังนั้นถ้าถามว่าโมเดลวอลล์ สตรีท จะเกิดขึ้นในเมืองไทยไหม จะเห็นว่าร่องรอยการลุกขึ้นมาต่อสู้มันมีอยู่ แต่ว่าทิศทางที่มันต่อต้านถูกหรือเปล่า อันนี้ต้องคิด

ไทยพับลิก้า :ในเมื่อร่องรอยการต่อสู้มีอยู่ กลุ่มที่ลุกขึ้นมาสู้แล้วมีพลังที่สุดจำเป็นต้องเป็นกลุ่มที่ใหญ่สุดของสังคมไทยคือ ลูกจ้าง 17 ล้านคนหรือเปล่า

คำว่าลูกจ้าง มีลูกจ้างภาครัฐ 3 ล้านคน ลูกจ้างภาคเอกชน 11 ล้านคน และลูกจ้างภาคเกษตรอีก 3 ล้านคน รวมเป็น 17 ล้านคน แต่ลูกจ้างเหล่านี้ถูกสิ่งที่กรัมชี่ (นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี) เรียกว่าเฮจโมนี่ครอบหัวไว้ คิดไม่ออก มันถูกวาทกรรม ถูกระบบการศึกษา ถูกสื่อชี้ไปอีกทางหนึ่งให้เขาคิดไม่ออก จะมีหนูตัวไหนเอากระพรวนไปแขวนคอแมว

ไทยพับลิก้า : แต่จริงๆ คนชั้นกลางเหล่านี้คือหนู หรือไม่ใช่หนู

ก็เขาถูกทำให้คิดว่าตัวเขาคือหนู คุณเป็นยักษ์ก็ได้ ถ้าคุณคิดที่จะเป็น ในอาหรับเนี่ย คนส่วนใหญ่เขาคิดว่าตัวเองคือหนูใช่ไหม เพราะทุกคนคิดว่าตัวเองเป็นหนูไง เผด็จการถึงอยู่ได้ 40-50 ปี แต่เมื่อไรเขาคิดได้ว่าเฮ้ย! กูไม่ใช่หนูนี่หว่า กูก็เป็นเสือได้เหมือนกันนี่ ทุกอย่างก็เปลี่ยน ดังนั้นการเปลี่ยนความคิดมันถึงเป็นเรื่องใหญ่

ไทยพับลิก้า : ในขณะที่คนชั้นกลางควรรู้ว่าตัวเองไม่ใช่หนู แต่รัฐบาลพยายามตอกย้ำว่าใช่ด้วยการออกนโยบายอุดปาก ทั้งการขึ้นค่าแรง 300 บาท ขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท

ใช่ ถูกต้อง แต่คำถามคือทำได้หรือเปล่า เขาพูดไปเรื่อยๆ วันนี้ทำได้ที่ไหน คนพูดควรจะทำก่อน แต่ทำหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งเป็นความพยายามลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกสถานะให้คนข้างล่าง เพื่อทำให้คนจนลดลงหรือไม่

แล้วได้หรือยัง 300 บาท ที่พูดนะพูดได้ แต่ทำได้หรือยัง คำว่า 300 คืออะไร คนที่ไม่มีฝีมือ และทำงานวันแรก แต่นี่ได้ 300 บาท แต่เขาทำงานมา 5 ปีแล้ว ขณะที่คนทำใหม่ๆ ซิงๆ วันแรกได้ 300 บาทมีไหม มันคนละเรื่อง แต่นี่ไงวิธีทำให้คนสับสน และไม่เข้าใจ เหมือนเวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย รากหญ้าสำคัญที่สุด ลูกจ้างเป็นรากหญ้าหรือเปล่า ถ้าเป็น คุณยอมให้ลูกจ้างมีประชาธิปไตยไหม เราลืมไปแล้วว่าระบบทุนโดยพื้นฐานคือระบบเผด็จการ เพียงแต่ในประเทศที่เจริญแล้ว ระบบทุนถูกต่อต้าน ถูกต่อสู้ ทุนก็เลยยอมจำนนต่อระบบประชาธิปไตยที่เรียกว่าเดโมเครซี่ แอท เวิร์ค นั่นคือนายจ้างจำต้องยอมการมีส่วนร่วม การแสดงความคิด การต่อรองของลูกจ้างผ่านระบบสหภาพแรงงาน ถามว่าทุนไทยยอมไหม ขอโทษ พวกนายทุนเรียกหาประชาธิปไตย คุณเคยยอมให้ประชาธิปไตยมีในลูกจ้างของคุณไหม

ไทยพับลิก้า : ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนติดภาพว่าสหภาพเป็นเรื่องน่ากลัว ไม่พอใจก็สไตร์ค เลยกลายเป็นพลังที่ไม่สร้างสรรค์หรือเปล่า

คือการล้างสมองของระบบรัฐเผด็จการไง ถามว่ารัฐเผด็จการนี่มันส่งเสริมใคร คุณกลับไปดูประวัติศาสตร์สิ จำไว้เลยว่าทุนที่เรียกร้องประชาธิปไตยไม่เคยให้ประชาธิปไตยแก่คนนั้น ถามง่ายๆ ทุนในเครือข่ายชินวัตร มีกี่บริษัทที่มีสหภาพ หนังสือพิมพ์เรียกหาประชาธิปไตย มีกี่ฉบับที่มีสหภาพ แล้วคุณจะเรียกหาไปทำไม ในเมื่อตัวคุณเองยังไม่มีเลย

ไทยพับลิก้า : ในทรรศนะของอาจารย์ ทฤษฎีประชาธิปไตย กับทฤษฎีการต่อรองผลประโยชน์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ประชาธิปไตยเป็นอำนาจประชาชน เมื่อคุณให้ประชาชนมีอำนาจ อำนาจต่อรองเป็นอำนาจชนิดหนึ่งใช่ไหม แล้วคุณไม่ให้เขาหรือ ถ้าไม่ให้เขา เขาจะมีอำนาจได้อย่างไร อำนาจต่อรองเป็นอำนาจเบื้องต้นนะ คุณซื้อขายสินค้ายังต่อรองได้เลย

ไทยพับลิก้า : เวลาประชาชนต้องต่อรองกับนักการเมือง หรือลูกจ้างต่อรองกับนายทุน อะไรจะทำให้คนข้างล่างมีอำนาจในการต่อรอง

อำนาจต่อรองมีอยู่ 3 เงื่อนไขคือ ความคิด จิตวิญญาณ และการจัดตั้ง คนเราจะมีความคิดก็ต่อเมื่อมีปัญญา ดังนั้นมันเริ่มตรงนี้ ในทางพุทธ ผู้ปกครองจะมีอำนาจได้ต้องมีองค์ประกอบ 5 ตัวที่เรียกว่าขัตติยพละคือ 1. โภคพละ พลังที่มาจากทรัพย์สิน 2. พาหาพละ พลังที่เกิดจากอาวุธ 3. ปัญญาพละ พลังที่เกิดจากความคิด ความอ่าน ความรู้ 4. อมัจจพละ พลังจากการบริหารจัดการ และ 5. สามัคคีพละ พลังของการรวมหมู่ จะเห็นว่าอำนาจในการต่อรองมันมาจาก 5 พลังนี้ คุณต้องมีพลังก่อนถึงจะต่อรองได้ เขาจึงพยายามทำให้คนไร้พลังไง

คนที่ลุกขึ้นมาต่อรองส่วนใหญ่เริ่มจากคนชั้นกลาง 14 ตุลาคม 2516 ก็เริ่มจากนักศึกษาที่ก่อร่างทางความคิด ไม่ใช่ชาวนายากจนที่ไหน ทำไมชาวนาและกรรมกรยากจนไม่ลุกขึ้นมา เพราะไม่มีความคิด แม้แต่ในทฤษฎีปฏิวัติของเลนิน เขาก็ไม่เชื่อว่ากรรมกรจะลุกขึ้นมาปฏิวัติได้ ดังนั้นทฤษฎีปฏิวัติจากคนชั้นล่าง แท้จริงแล้วนำเข้ามาจากข้างนอก กรัมชี่ถึงบอกว่าการต่อสู้ต้องมีปัญญาชนอภิวัฒน์ ซึ่งทำงานกับคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะคนชั้นล่างเพื่อต่อสู้ทางความคิด ทำสงครามทางความคิด ถามว่าเวลาเราทำสงครามทางความคิด เราทำกับใคร ทำกับอะไร การใช้ทฤษฎีไพร่-อำมาตย์เป็นการทำสงครามทางความคิดไหม พูดตรงๆ นะผมไม่เห็นเสื้อแดงทำสงครามกับทุน

ไทยพับลิก้า : เป้าหมายของเสื้อแดงคือทำสงครามทางความคิดระหว่างฝ่ายซ้ายเก่ากับฝ่ายขวาหรือเปล่า

ไม่รู้ ผมไม่รู้ แต่ถ้าการเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้เสื้อแดง โมเดลวอลล์ สตรีท ไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย แต่ถ้าเสื้อเหลืองเป็นไปได้ เพราะมันมีตัวร่วมที่คล้ายๆ กันมากกว่า

ไทยพับลิก้า : ไม่ว่าเป็นเสื้อสีอะไร แต่พอมีพรรค มีทุนสนับสนุนอยู่ข้างหลัง ทำให้น้ำหนักในการต่อสู้เบาลงหรือเปล่า

ในทางทฤษฎีขณะนี้มันเป็นการช่วงชิงการนำระหว่างทุนกับราชการ ถ้าคุณบอกว่าอำมาตย์คือราชการ เราพูดได้นะในภาษาราชบัณฑิต แต่ถามว่าแล้วไพร่คืออะไร

ไทยพับลิก้า : ไพร่ไปบริหารราชการแผ่นดินอยู่

ไพร่คือสามัญชน แล้วเศรษฐีเป็นสามัญชนไหม (หยุดให้คิด) เห็นไหม มันติดปัญหาในทางทฤษฎี เศรษฐีอยากได้สายสะพายไหม เศรษฐีจำกัดเสรีภาพลูกจ้างไหม เศรษฐีเป็นพวก 1 % ไหม ถ้าเป็นโมเดลวอลล์ สตรีท พวกเศรษฐีคือ 1 % ต่างจากพวก 99 % คนที่ลุกขึ้นสู้ เขาสู้กับเศรษฐีสามานย์ 1 %

ไทยพับลิก้า : ของไทยเศรษฐีเป็นส่วนผสมของทุกกลุ่มใน 99 % ทำให้แยกลำบาก

อ่า… เรากำลังเป็นโจรร้องจับโจรหรือเปล่า ถ้าตอบในทางทฤษฎีคือปรากฏการณ์ออคคิวพาย วอลล์ สตรีท ไม่เกิด ของเราจึงไม่ใช่สงครามชนชั้น การเอา 99 คน ไปสู้กับ 1 คน มันมีภาพชนชั้นชัดเจนนะ อย่างน้อยระหว่างชนชั้นกลางที่เกิดความผิดหวังในระบบ กับชนชั้นร่ำรวย แต่ของเราไม่ใช่

ไทยพับลิก้า : คำว่าสงครามชนชั้นของไทย ถูกบัญญัติว่าหมายถึงกรรมไพร่-อำมาตย์ไปแล้ว ถ้าจะมีใครสักคนลุกขึ้นมาทำสงครามชนชั้นใหม่ ก็ต้องล้างวาทกรรมเดิมก่อน

แล้วมันมีชนชั้นอำมาตย์ หรือชนชั้นไพร่ในสังคมไทยไหม ใครคืออำมาตย์ หรือไพร่ ตอบโดยทฤษฎีได้ไหม หรือคุณตอบตามใจตัวเองล่ะ ความคิดแบบอำมาตย์มันอยู่ในหัวเศรษฐีมากกว่าราชการอีก อำมาตย์คือพวกอยากเป็นเจ้าคนนายคน อำมาตย์แปลว่าพวกราชการใหญ่ สมัยก่อนคือคนทำงานให้พระเจ้าแผ่นดิน เป็นเจ้าพระยา ถ้าบอกว่าเรายังมีระบบศักดินาอยู่ เพราะมีพระเจ้าแผ่นดิน พวกนั้นก็อำมาตย์หมด เพราะคุณได้เป็นเพราะการโปรดเกล้าฯ ไหนลองบอกมาสิว่าไพร่คืออะไร

ไทยพับลิก้า : นิยามกลุ่มไพร่อาจไม่ชัด แต่อำมาตย์ชัดเจนว่าทำให้สังคมนึกถึงหน้าพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

แล้วมันใช่หรือเปล่า คือในทางลึกๆ ไปพูดเอาไว้ก่อนว่าเนี่ย..อำมาตย์ ทำให้คนเชื่อว่าพล.อ. เปรมคืออำมาตย์ นั่นแสดงว่าสิ่งที่คุณทำ ทำให้คนเข้าใจในวาทกรรมของคุณ แต่ถูกต้องในทางทฤษฎีหรือเปล่า การสร้างวาทกรรมเป็นการสะกดจิตอย่างหนึ่ง คุณสะกดจิตคนให้ไปตามทางที่ถูกหรือเปล่า วิชาสะกดจิตเป็นได้ทั้งมารและเทพ ถ้าทำให้คนหลงผิดก็เป็นมาร ถ้าทำให้คนเข้าใจสัจจะก็เป็นเทพ ตกลงคุณคือมารหรือเทพ

ถามว่าพล.อ. เปรมเป็นอำมาตย์ไหม เป็น แล้วคนเป็นรัฐมนตรีล่ะเป็นไหม ไม่เป็น มันเป็นไปได้อย่างไร พล.อ. เปรมเป็นได้เพราะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แล้วคุณล่ะ เป็นเองอย่างนั้นหรือ ไอ้อย่างนี้มารแล้วนะ (หัวเราะ) หลายคนมาเถียงกับผม ผมถามว่าคุณจะพูดกับผมในภาษาสงคราม หรือภาษาวิชาการ ภาษาสงคราม ถ้าโกหกแล้วชนะก็โกหก หลอกลวงแล้วชนะก็หลอกลวง สงครามไม่ใช่หลักวิชาการบริสุทธิ์ แต่ใช้ทั้งการหลอกลวง ล่อลวง แต่ภาษาวิชาการนั้นสัจจะทั้งนั้น ความจริงบางครั้งอาจเป็นความสูญเสียก็ได้ ถ้าคุณเคารพความจริง คุณต้องยอมรับความสูญเสีย

ไทยพับลิก้า : การทำสงครามชนชั้นแบบออคคิวพาย สี่เสาเทเวศร์ หรือออคคิวพาย ราชดำเนิน ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

บ้านเรามีการลุกขึ้นสู้แน่ ชัวร์ หลังน้ำท่วมนี้คอยดูเถอะ แต่วอลล์ สตรีท โมเดล ไม่น่าจะเกิดในเมืองไทย ตราบใดที่เรามีพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เพราะรัฐบาลชุดนี้ต้องการแนวร่วมกับทุนอย่างเข้มข้น ต้องทำแนวร่วมกับทุนใหญ่ทั้งนั้น และต้องอาศัยทุนเพื่อทำสงครามด้วย แต่ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว ไม่รู้เหมือนกัน หรือถ้ามันจะเกิด ก็คงเกิดจากกลุ่มอื่น สมมุติเกิดจากเสื้อเหลืองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับพวกทุน ผมเชื่อว่าปะทะกับพวกเสื้อแดงแน่ ทำไปทำมาจะไม่ใช่สงครามระหว่างทุนกับประชาชน แต่เป็นสงครามระหว่างประชาชนด้วยกันเพราะความไม่เข้าใจ อันนี้อันตรายกว่า ถูกปั่นหัวให้ฆ่ากัน

ความขัดแย้งในสังคมไทยไม่ใช่ความขัดแย้งไพร่-อำมาตย์ตามวาทกรรมสงคราม ขณะนี้ถ้าพูดถึง 2 ขั้วใหญ่ๆ ข้างบนที่ขัดแย้งกันอยู่เนี่ย ก็เป็นคนในชนชั้นเดียวกัน แล้วที่เหลือไล่ลงมามีชนชั้นสูง ชนชั้นนายทุน ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่างเหมือนกัน คือแต่ละซีก มันประกอบด้วยคนหลายชนชั้นเหมือนกัน ที่อันตรายคือไอ้ข้างบนเป็นกลุ่มคนเล็กๆ เวลาทะเลาะกันก็ยุคนข้างล่างเข้าข้างเขา แต่พอเขาดีกัน เขาก็เกี้ยเซี้ยกันลงตัว และไม่ได้บอกคนข้างล่างให้รู้นะ คนข้างล่างก็ฆ่ากันต่อไป นี่คือสังคมไทย ผมคิดว่าจะมีอย่างนี้รุนแรงขึ้นในปีต่อๆ ไป

ดังนั้นโมเดลบ้านเราไม่ใช่โมเดลวอลล์ สตรีท แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนำในสังคม แล้วมาดึงเอาคนข้างล่างเป็นพวก

//thaipublica.org/2011/10/narong-no-occupy-rachadumneun/




 

Create Date : 11 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 11 พฤศจิกายน 2554 2:48:11 น.
Counter : 621 Pageviews.  

1  2  3  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.